9 พฤศจิกายน 2020
12 K

เดือนก่อน ดิฉันมอบหนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ของตนเองให้รุ่นพี่ที่เคารพท่านหนึ่ง 

วันก่อน เรานัดทานข้าวกัน รุ่นพี่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ (และอ่านหนังสือ ริเน็น จบแล้ว) ก็ยิงคำถามมาเป็นชุด

“มันจะทำได้จริงเหรอ ธุรกิจพวกนี้จะอยู่รอดมีกำไรได้อย่างไร และจะไปกู้เงินธนาคารไปทำอะไรดีๆ กับสังคมแบบนี้ยังไง ถ้ามัวแต่ไปช่วยซัพพลายเออร์ ช่วยพนักงาน ช่วยสังคมได้” 

ที่สำคัญ ธุรกิจควรเริ่มทำดีกับผู้อื่นตั้งแต่วันเริ่มต้นเลยหรือเปล่านะ 

ดิฉันกลับไปหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามคุณพี่ โดยการนั่งอ่านประวัติศาสตร์ของร้านขนมเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีอายุกว่า 148 ปี (ถึง ค.ศ. 2020)

ร้านขนม 148 ปี

ร้านทาเนะยะ (Taneya) เป็นร้านขนมญี่ปุ่นชื่อดัง ก่อตั้งใน ค.ศ. 1872 ในจังหวัดชิกะ สินค้าขายดีของทางร้านคือขนมฟุคุมิเทนบิน เป็นขนมที่ด้านนอกเป็นแป้งกรอบ มีถั่วแดงกับโมจิอยู่ตรงกลาง

เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
เวลากัดจะรู้สึกข้างนอกกรอบ ข้างในเหนียวนุ่ม รสชาติอร่อยมาก
เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
ภาพ : taneya.jp/okashi/monaka/fukumi.html 

“เราปรับรสชาติขนมเล็กน้อยมาโดยตลอด แต่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าชมว่า รสชาติอร่อยไม่เปลี่ยนเลยนะ นั่นคือความใส่ใจในแบบของพวกเราครับ” 

ร้านทาเนะยะสังเกตเสมอๆ ว่าคนในแต่ละยุคสมัยชื่นชอบรสชาติแบบใด ตัวอย่างเช่นปัจจุบัน คนไม่ค่อยทานหวานมากนัก ทางร้านก็ค่อยๆ ปรับรสชาติให้หวานน้อยลง จนลูกค้าแทบไม่สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง 

ตัวท่านประธานบริษัทเองก็ถูกฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า ห้ามทานอาหารนอกบ้าน ห้ามทานอาหารรสจัด เช่น กิวด้ง (ข้าวหน้าเนื้อ) หรือผงโรยข้าว ลิ้นที่รับรสชาติต้องละเอียดอ่อน และสัมผัสความแตกต่างแม้เพียงน้อยนิดได้ 

ประสบความสำเร็จทั้งขนมญี่ปุ่นและขนมฝรั่ง

ค.ศ. 1951 ร้านทาเนะยะตัดสินใจลองทำขนมตะวันตก เช่น ขนมเค้ก จำหน่ายบ้าง จุดเริ่มต้นมาจากการที่มีสถาปนิกชื่อดังชาวอเมริกันอาศัยอยู่ใกล้ๆ ร้าน จนทางตระกูลทาเนะยะได้สนิทสนมและเริ่มสนใจวัฒนธรรมตะวันตก

ใน ค.ศ. 1979 ร้านทาเนะยะได้ออกแบรนด์ใหม่ ชื่อ Club Harie โดยจำหน่ายเค้กบามคูเฮน หรือเค้กทรงกลมที่เนื้อแป้งอัดแน่นเป็นชั้นๆ คล้ายๆ วงไม้สไตล์เยอรมนี 

เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
ภาพ : clubharie.jp

 

Club Harie ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ที่คนญี่ปุ่นเคยมองว่า เค้กชนิดนี้แข็งกระด้าง ไม่อร่อย ความนุ่ม หอมอ่อนๆ ทำให้เกิดกระแสเค้กบามคูเฮนและแบรนด์ Club Harie ก็ประสบความสำเร็จมาก 

เมื่อร้านขนมหันมาทำการเกษตร 

ช่วงปลายยุค 1990 ทาเนะยะเริ่มสนใจเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ในอดีตทาเนะยะมีซัพพลายเออร์ตามจังหวัดต่างๆ เช่น ถั่วแดงจากฮอกไกโด เกาลัดจากคิวชู สิ่งที่พวกเขาห่วงคือ มีคนประกอบอาชีพเกษตรกรรมลดลง หากไม่มีใครปลูกผักผลไม้ ร้านขนมอย่างทาเนะยะก็จะไม่มีวัตถุดิบ และอาจไม่สามารถทำขนมขายต่อไป

ทาเนะยะจึงลองเรียนรู้เกษตรกรรมดู วัตถุประสงค์คือ การต้องการเข้าใจเกษตรกรมากขึ้น ต้องการพิสูจน์ว่าการเกษตรในยุคปัจจุบันยังมีหนทางอยู่ และในอนาคต อาจต่อยอดพัฒนาการเกษตรร่วมกับภาคเกษตรได้ 

ใบโยโมกิ เป็นพืชพันธุ์แรกที่ทาเนะยะตัดสินใจปลูก เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมของขนมญี่ปุ่นหลายชนิด พวกเขาไม่ใช้ยาฆ่าแมลงใดๆ เนื่องจากต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นให้สะอาด บริสุทธิ์ที่สุด 

แต่พอปลูกๆ ไป ปรากฏว่าแมลงมากินใบไม้เยอะมาก จนลามไปถึงสวนของชาวบ้านบริเวณนั้น ทำให้ชาวบ้านต้องไปร้องเรียนกับที่ว่าการเขต แต่สุดท้าย ทาเนยะก็จัดสัมมนา อธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ 

ทางบริษัทอธิบายถึงขั้นว่า เราอยากทำของที่เรามั่นใจว่า คนในครอบครัวตนนั้นจะทานได้อย่างปลอดภัย และต้องการรักษาธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นหลังๆ พวกเขาย้ำแล้วย้ำอีกจนชาวบ้านเริ่มเห็นประโยชน์ และค่อยๆ ยอมรับในที่สุด ปัจจุบัน ชาวบ้านบางคนก็หันมาปลูกใบโยโมกิแบบปลอดสารพิษเช่นเดียวกัน 

“เราต้องการพิสูจน์ให้คนเห็นว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นทำได้จริง ขายได้จริง เกษตรกรบางคนกลัวว่าจะยุ่งยาก ขายสินค้าไม่ได้ราคา ก็เลยไม่มีใครสนใจทำเรื่องนี้ พวกเราเลยต้องลองพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นด้วยการกระทำครับ ลองปลูกเอง ลองเก็บเกี่ยวเอง ลองกินเอง ลองขายเอง” ท่านประธานยามาโมโต้แห่งร้านทาเนยะกล่าว

บริษัทขนมที่กู้เงินไปทำนา

นอกจากลองปลูกสมุนไพรเองแล้ว ทาเนยะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างมหาวิทยาลัยเกียวโตในการทำวิจัยเรื่องป่าไม้และธรรมชาติรอบๆ ทะเลสาบในเมืองอีกด้วย พวกเขาเชื่อว่า วัตถุดิบที่ดีมาจากดินดีและน้ำสะอาด ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ เกิดขึ้นมาจากป่าที่อุดมสมบูรณ์

ใน ค.ศ. 2008 รัฐบาลท้องถิ่นออกมาประกาศขายศูนย์ออกกำลังและโรงแรมที่สร้างแต่ขาดทุน คุณพ่อของท่านประธานยามาโมโต้จึงเข้าซื้อที่ดินแปลงใหญ่ขนาดสนามเบสบอลโคชิเอ็น 3 สนามแห่งนี้ไว้ สองพ่อลูกวางแผนกันว่า จะแปลงพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่นาและผืนป่าธรรมชาติ 

ตอนที่พวกเขาไปขอกู้เงินจากธนาคาร นายธนาคารถึงกับถามว่า ทำไมร้านขนมเก่าแก่ถึงตัดสินใจทำนา ท่านประธานจึงอธิบายว่า หากไม่มีข้าว เราก็ไม่สามารถตีแป้งโมจิ ไม่สามารถทำไดฟุกุ เราจึงต้องการเรียนรู้ เข้าใจวิธีการปลูกข้าว และมุ่งสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรออกมาให้ได้ 

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2015 ร้านทาเนยะเปิดสวนขนาดใหญ่ชื่อ La Collina ซึ่งแปลว่าเนินเขาในภาษาอิตาลี 

คอนเซปต์ของสถานที่แห่งนี้คือ ‘การเรียนรู้จากธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับธรรมชาติ’

โจทย์ที่ทางร้านทาเนยะให้กับดีไซเนอร์ คือความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ที่นี่ไม่ใช่ธีมปาร์กหรือสวนสาธารณะที่มีดอกไม้สวยงามไว้ถ่ายรูป แต่เป็นที่ที่ผู้คนมาสัมผัสธรรมชาติแบบแท้จริงได้

เมื่อมองไปรอบๆ La Collina เราจะเห็นทุ่งนาผืนใหญ่ มีด้านหลังเป็นผู้เขา ตรงกลางเป็นร้านขนมเล็กๆ ที่ทำหลังคาเป็นต้นหญ้า ดูกลมกลืนไปกับเนินเขาด้านหลัง

เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
ร้านขายขนมอันกลมกลืน
ภาพ : taneya.jp/la_collina/blog/ 
เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
ทุ่งหญ้า ทุ่งดอกไม้ ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลต่างๆ มาฤดูไหนก็สวย
ภาพ : taneya.jp/la_collina/blog/
เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
อาคารที่ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้เด็กน้อยได้สนุกสนานกับการสังเกตและเรียนรู้
ภาพ : shiga.kyochika.com/entry/shiga-spot-lacollina/

ในบริเวณนี้มีพื้นที่ทำนา ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร ร้านขายขนมและเครื่องดื่ม พร้อมของที่ระลึก

แขกที่มาสามารถแวะชิมขนมทั้งขนมญี่ปุ่นของร้านทาเนะยะ หรือขนมฝรั่งของร้าน Club Harie เมนูขึ้นชื่อ ได้แก่ เค้กบามคูเฮนที่อบสดๆ ขนมโดรายากิไส้ครีมสด ซอฟต์ครีม 

เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
ภาพ : shiga.kyochika.com/entry/shiga-spot-lacollina/ 
เทคนิคของ Taneya ร้านขนมที่ปรับรสชาติตลอด 148 ปี แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึกว่าเปลี่ยน
ภาพ : tyairopanda.com

ท่านประธานยามาโมโต้เล่าว่า “พื้นที่ร้านค้ามีเล็กนิดเดียวครับ ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาทุ่งหญ้าหมด ถ้าเราทำร้านใหญ่กว่านี้ หรือดึงร้านอื่นมาที่นี่ คงทำเงินได้ดีกว่านี้แน่ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา เราไม่ได้อยากขายสินค้าอะไรที่นี่ เราอยากให้ผู้คนได้รู้จักวิถีชีวิตแบบทาเนะยะ

“หากเราไล่ตามแต่กำไร ผมคิดว่าเราคงล้มละลายสักวันแน่ๆ ตระกูลผมสอนกันมาว่า มีสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการทำกำไร นั่นคือการคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนรอบๆ ตัวมีความสุข แม้กำไรจะไม่ได้สูงมากนัก แต่เราเชื่อว่า เราจะอยู่ได้ยั่งยืนกว่าครับ”

ปีแรกที่สวน La Collina เปิดให้บริการ มีผู้มาเยี่ยมชม 1.5 ล้านคน ปีที่สอง 2 ล้านคน ปีที่สาม เพิ่มเป็น 3 ล้านคน กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมที่สุดในจังหวัดชิกะ 

ธรรมชาติ ความเรียบง่าย และขนมอร่อยๆ สักชิ้น อาจเป็นสิ่งที่คนยุคใหม่กำลังโหยหาอยู่ก็เป็นได้ 

พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้สร้างมาเพื่อทำกำไร แต่ทำเพื่อส่งผืนดินธรรมชาติสู่คนรุ่นหลัง ท่านประธานยามาโมโต้มีความฝันว่า เขาอยากทำให้เมืองนี้เป็นเมืองแห่งออร์แกนิก นี่เป็นสิ่งที่ร้านขนมแห่งหนึ่งจะส่งสิ่งดีๆ นี้ให้คนรุ่นหลังถัดๆ ไปได้ ส่งต่อวัตถุดิบดีๆ ขนมดีๆ และธรรมชาติอันบริสุทธิ์

Lesson Learned

  1. ในช่วงแรกสุดของการทำธุรกิจ ร้านทาเนะยะมิได้กระโดดไปทำเกษตรกรรมเลย แต่พวกเขามุ่งทำขนมที่ดี มีคุณภาพ รักษารสชาติและคุณภาพให้สม่ำเสมอ
  2. เมื่อแบรนด์ติดตลาด ธุรกิจไปได้รอดแล้ว จึงนำเงินมาวิจัยด้านการเกษตรและรักษาสิ่งแวดล้อม 
  3. ลักษณะการทำเพื่อสังคมหรือช่วยธรรมชาติของทาเนะยะนั้น ไม่ได้ทำยิ่งใหญ่ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ทำธุรกิจ 
  4. รูปแบบที่ทำเป็นลักษณะสั่งสมองค์ความรู้ ได้แก่ การเรียนรู้วิถีเกษตรและทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย
  5. เมื่อสั่งสมความรู้ได้พอเพียงก็เผยแผ่ให้ประชาชน 
  6. ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เน้นที่การทำให้ทุกส่วน ทั้งหน่วยวิจัย แปลงเกษตร ร้านขนม เนินเขา อยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่หวือหวา ไม่สร้างกระแส แต่อยู่ได้จริง

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย