หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ กวาง-เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ ลูกชายคนเล็กของครอบครัวก็ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจของที่บ้าน
เขาคือนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง พร้อมเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ตามทันกระแสโลก กวางเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทันทีที่เหยียบเท้าเข้าไปในบริษัทปั๊มน้ำมันของตระกูล
ยังไม่ทันนั่งลงบนเก้าอี้หนังบุนวมอย่างดี พ่อแม่ของกวางก็เดินเข้ามาในห้อง ใบหน้าของทั้งคู่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม พ่อเดินมาหากวาง โอบกอดลูกชายคนเก่งก่อนจะกระซิบว่า
“ถ้าทำธุรกิจครอบครัวแล้วมันจะง่ายดายเบอร์นี้ เอ็งจะเปิดเพจทำไมไอ้หนุ่ม”
จากทั้งหมดที่เล่ามามีเรื่องจริงแค่ 3 ข้อ คือกวางเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ กลับมาทำงานที่บ้านด้วยความตั้งใจ และเปิดเพจเป็นของตัวเอง ส่วนที่เหลือเป็นจินตนาการของผู้เขียนที่สั่งสมจากการดูซีรีส์เกาหลีมาเกิน 1 ทศวรรษ
เพจที่ว่านั้นมีชื่อว่า ‘ทำที่บ้าน’ พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวที่เหล่าทายาทธุรกิจครอบครัวต้องพบเจอ มีทั้งเรื่องสนุกคลุกเสียงหัวเราะ และเรื่องเศร้าเคล้าหยดน้ำตา จากวันแรกในปี 2020 สู่วันนี้ในปี 2024 เพจของกวางก็มีผู้ติดตามทะลุ 200,000 คนแล้ว กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่เหล่าผู้ประกอบการรุ่นสองรุ่นสามมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
บ่ายวันหนึ่งในฤดูร้อน (เป็นพิเศษ) เราชวนกวางมาแชร์บทเรียนในฐานะผู้สืบทอดกิจการ ในวันที่ความรับผิดชอบ ความกดดัน และความสัมพันธ์ในครอบครัวหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณมีความทรงจำอะไรกับธุรกิจของที่บ้านบ้าง
เราเกิดที่ลพบุรีในช่วงที่ปั๊มกำลังก่อสร้างพอดี พอโตมารู้ความหน่อยก็จะไปเดินตรวจงานกับพ่อ เอามือไพล่หลังตามเขา (หัวเราะ) เล่นดินเล่นทรายกับพี่ ๆ หรือบางทีก็ตีแบดฯ เตะฟุตบอลกันในลานปั๊ม
สมัยก่อน ปตท. ยังไม่มีร้านสะดวกซื้อ แม่ก็จะตั้งออฟฟิศอยู่ในร้านมินิมาร์ตเล็ก ๆ อีกอย่างคือบ้านเราก็อยู่ในพื้นที่ปั๊มด้วย สำหรับเราแล้ว ปั๊มไม่ใช่แค่ธุรกิจที่หาเงินได้ แต่เป็นทุกอย่างเลย
เคยไปช่วยงานในปั๊มบ้างไหม
ตอนเด็ก ๆ เวลานั่งเล่นเกมในออฟฟิศ แม่ก็จะบอกให้ช่วยดูร้านแทน เก็บเงิน ทอนตังค์ เอาเอกสารไปให้คนนู้นคนนี้ หรือกระทั่งเติมน้ำมัน แม้จะทำไปเพราะโดนสั่งให้ทำ แต่ก็ทำให้เรารู้จักการค้าขาย และเป็นประสบการณ์ที่ติดตัวเรามาจนถึงตอนนี้
ในเมื่อมีธุรกิจของที่บ้านอยู่แล้ว ทำไมตอนเข้ามหาวิทยาลัยถึงไม่เลือกเรียนคณะเกี่ยวกับบริหารธุรกิจ
ตอนอยู่มัธยม เราไม่เคยคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเลย พ่อแม่ก็ไม่บังคับ เขาให้อิสระในการมีชีวิตของลูก ๆ มาก พี่คนโตเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ส่วนพี่คนกลางเรียนนิติศาสตร์ และด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด คนครึ่งห้องแห่ไปสอบหมอ เราก็ไปสอบด้วย พอสอบไม่ติดก็คิดว่าเรียนอะไรดีวะ ในเมื่อชอบเลข ชอบฟิสิกส์ งั้นเรียนวิศวกรรมศาสตร์ละกัน
แล้วตอนที่เรียนอยู่ มีความคิดจะกลับมาทำธุรกิจไหม หรือคิดเริ่มจะกลับมาทำตอนไหน
บอกตรง ๆ ว่าประตูความฝันในการเป็นวิศวกรของเราปิดลงตั้งแต่ขึ้นปี 2 เพราะเรียนยากมาก ไม่เอนจอยเลย แต่ที่ยังเรียนต่อจนจบเพราะเราชอบสังคมที่นี่ พอไม่เป็นวิศวกรก็คิดต่อว่าจะทำอะไรดี เราชอบค้าขาย งั้นลองทำเลยแล้วกัน ตอนนั้นที่จุฬาฯ มีสหกรณ์ เราก็เป็นดีลเลอร์รับน้ำเต้าหู้จากที่หนึ่งไปวางขาย หรือตอนที่รุ่นพี่ขายแว่น Ray-Ban เราก็รับไปขายต่ออีกทอด กลายเป็นรายได้ช่วงเรียนไปโดยไม่ตั้งใจ
พ่อแม่ไม่เคยถามว่าเรียนจบแล้วจะทำอะไร ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้บอกเขาว่าจะกลับทำงานที่บ้านนะ เราแค่กลับบ้านไปเหมือนทุกครั้งในช่วงปิดเทอม ช่วยงานเขาเล็ก ๆ น้อย ๆ เหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคืออยู่นานขึ้น ไปอบรมกับเขาบ้าง รู้ตัวอีกทีเราก็เข้าไปทำงานเต็มตัวแล้ว
ตอนเข้าไปทำแรก ๆ มีปัญหาอะไรที่ไม่เคยเจอตอนทำงานเล็ก ๆ แล้วมาค้นพบตอนนั้นบ้าง
เราไม่ต่างอะไรกับทายาทหลายคนเลยที่มีปัญหาของธุรกิจครอบครัวเยอะแยะเต็มไปหมด เรื่องแรกที่เรารู้สึกได้ว่ามีปัญหาเลยคือเรื่องงาน เราเรียนรู้เลยว่ากลับมาช่วยกับกลับมาทำน่ะ ต่างกันในเรื่องความคาดหวังทั้งจากตัวเองและครอบครัว
ตอนกลับมาช่วยก็ไม่มีอะไร แต่พอกลับมาทำปุ๊บ มันจะมีความคาดหวังมาแล้วว่า เฮ้ย ลูกเรียนวิศวฯ มานะ ลูกต้องกลับมาพัฒนาสิ่งที่เราทำต่อเดิมอยู่ให้มันดีขึ้น ลูกต้องมีไอเดียใหม่ ๆ รูปแบบวิธีการทำงานใหม่ ๆ แล้วเราก็แบกรับมันไปโดยไม่รู้ตัว
ด้วยความที่ธุรกิจครอบครัวเป็น SMEs เนอะ ไม่มีระบบ Training หรือสอนงานใด ๆ ทั้งนั้น เราต้องเรียนรู้งานทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมดเลย เคยมีรอบหนึ่ง แม่ให้ทำใบหัก ณ ที่จ่ายให้ลูกค้าคนหนึ่ง โอ้โห เชื่อไหมว่าแก้แล้วแก้อีก เพราะเราไม่รู้ว่าหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร คิดยังไงวะ
พอเราค่อย ๆ เรียนรู้งานไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเข้าใจแล้ว ทีนี้เริ่มอยากเปลี่ยนแปลงให้การทำงานเป็นสไตล์เรามากขึ้น สมัยก่อนแม่จะมีสมุดปกแข็งเล่มใหญ่ ๆ ตีตาราง จดเวลาเข้า-ออกของพนักงาน เราก็อยากเปลี่ยนให้มันไปอยู่ใน Excel จะได้ตรวจง่ายขึ้น ทีนี้แม่ก็เริ่มละ แล้วแม่จะตรวจยังไงล่ะลูก
แม่สะดวกแบบนี้
ใช่ เพราะเขาทำแบบนี้มา 20 ปี ธุรกิจก็รันมาได้ แปลว่าวิธีการของเขามันต้องถูกระดับหนึ่งล่ะ ในมุมของเขาเราเลยเป็นใครมาจากไหน อยู่ ๆ จะมาเปลี่ยนทุกอย่างในทันทีเลย พอคุยกันไม่สำเร็จ ทำอะไรก็ไม่ได้ เลยรู้สึกว่า อ้าว แล้วเรากลับมาทำไมวะ จะทำงานที่มันเป็น General เบ๊เหมือนเดิมเหรอ เขาใช้ให้ไปทำอะไรเหมือนเดิมเหรอ อยากจะแตะตรงนู้นตรงนี้ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย
อีกปัญหาหนึ่งที่เจอคือเรื่องชีวิตและความสัมพันธ์ ขณะที่เรากลับมาทำงานที่ลพบุรี เพื่อนและสังคมของเราอยู่ที่กรุงเทพฯ หมดเลย มันเคว้งคว้างมาก
พอเจอปัญหาเหล่านี้ มีจุดไหนไหมที่รู้สึกว่า ไม่เอาแล้ว กลับไปอยู่กรุงเทพฯ ดีกว่า
จริง ๆ ไม่เคยมีเลยนะ (นิ่งคิด) อาจจะเพราะรู้ว่าพี่ทั้ง 2 คนของเราไม่ทำตรงนี้แล้วแน่ ๆ แล้วเราผูกพันกับปั๊มนี้ มันไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่มันเป็นบ้าน เป็นที่วิ่งเล่น เป็นลานเตะบอล เป็นที่ที่เราเติบโตมา พี่พนักงานบางคนเลี้ยงเรามาด้วยซ้ำ และปัญหาที่เราเจอไม่ได้ใหญ่โต หรือ Breakdown อย่างรุนแรง มันแค่สะสมกันในแต่ละด้านมากกว่า
แล้วเพจ ‘ทำที่บ้าน’ เริ่มต้นขึ้นได้ยังไง
พอเราเจอปัญหาที่เล่าไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์กับที่บ้าน หรือว่าเรื่องชีวิตเราเอง เราก็ไปหาพอดแคสต์ฟัง หาหนังสือมาอ่าน ปรากฏว่าไม่มีตำราเล่มไหนบอกได้เลยว่าไอ้คนที่เป็นทายาทในการรับช่วงต่อธุรกิจมันต้องทำตัวยังไง เลยรู้สึกว่า เออ งั้นเราอาสาเป็นคนที่หยิบยกเรื่องราวพวกนี้ออกมาพูดแล้วกัน เลยเป็นที่มาของเพจ ‘ทำที่บ้าน’ ซึ่งเนื้อหาในตอนแรกจะหนักไปที่เรื่องดราม่า บ่นพ่อบ่นแม่ในเพจ (หัวเราะ) หยิบเอาอินไซต์ (Insight) มาบอกเล่ามากกว่าให้ทางออก อย่างเรื่องห้องนอนเป็นเซฟโซน หรือตื่นเช้าเรากับตื่นเช้าแม่ไม่เท่ากัน
ตอนนั้นรู้สึกดี 2 อย่าง หนึ่ง คือได้ระบาย กับสอง คือรู้ว่าเราไม่ได้เจอเรื่องแบบนี้คนเดียวนี่หว่า เพราะทุกครั้งที่เราโพสต์อะไรออกไป มันจะมีคนมาคอมเมนต์เล่าเรื่องบ้านของตัวเองด้วยเสมอ
พอทำเพจไปสักพักก็เริ่มมี Inbox มาปรึกษาปัญหาชีวิต เราก็จะเป็นคนตอบเองทั้งหมด มีอยู่หลายครั้งที่เราจัดการแย่มาก เพราะเราไม่ค่อยฟังเขา เลือกจะยัดเยียดวิธีแก้ปัญหาให้เขาไปเลย ถ้าเจอเรื่องนี้ผมจะทำแบบนี้ หรือลองทำแบบพี่คนนี้ดูสิ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาของแต่ละบ้านมันไม่เหมือนกัน มันมีความซับซ้อนหลายเลเวล หลายเฉดสีมาก ๆ
เวลาต่อมาเพจเริ่มขยายคอนเทนต์มากไปกว่าการเล่าอินไซต์ เรามีโอกาสไปพูดคุยกับทายาทหลาย ๆ คน ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาเราทำผิดมาโดยตลอด เลยเปลี่ยนวิธีให้คำปรึกษาเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ เรามี LINE OpenChat ให้คนโยนโจทย์เข้ามา แล้วสมาชิกช่วยกันออกความคิดเห็น
สมมติว่าปัญหาคือผู้ใหญ่ไม่รับฟัง เสนออะไรไปก็โดนปัดตก มันก็มีทั้งคนที่ค่อย ๆ ใช้ความละมุนละม่อม ค่อย ๆ เปลี่ยนทีละนิด กับอีกคนหนึ่งที่เป็นสายไฟต์ ต้องไฟต์จนกว่าจะชนะ ถามว่าวิธีไหนคือวิธีที่ถูก ไม่มีหรอก เพราะเขาก็ประสบความสำเร็จทั้งคู่ แต่คนที่มีปัญหาจะได้เห็นหลาย ๆ มุมมองแล้วเลือกไปปรับใช้ได้
ตอนที่ตอบแบบยัดวิธีแก้ปัญหาให้ เคยคิดไหมว่าทำไมเราต้องมาตอบด้วยวะ เงินก็ไม่ได้ แถมเป็นปัญหาของชาวบ้านอีก
เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำเพจไปทำไม คำตอบที่ได้ในตอนนั้นคือ ‘อยากช่วยคนกลับบ้าน’ เราเห็นตัวเองในคนเหล่านั้น ตอนที่เคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำยังไง เราเลยอยากช่วยเขาให้ได้มากที่สุด แม้ตอนนั้นมันจะเป็นวิธีการที่ผิดไปสักหน่อย
อีกอย่างคือธุรกิจ SMEs ไทย 80 เปอร์เซ็นต์คือธุรกิจครอบครัว ลำพังแค่แข่งกันเองก็ยากมากแล้ว ปัจจุบันยังมีทุนใหญ่ ต่างประเทศ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ พากันกระโดดลงมาในตลาดอีก เราเลยอยากช่วยให้มันมีความแข็งแรงมากขึ้น
ขอ Top 3 ปัญหาที่เหล่าทายาทเจอบ่อยที่สุด
ปัญหาธุรกิจครอบครัวมีแพตเทิร์นของมันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขย-สะใภ้ กงสี สถานการณ์ของธุรกิจ ไปจนถึง Generation Gap บอกได้เลยว่าใครที่กลับไปช่วยที่บ้าน จิ้มเลยอยากเอาก้อนไหน (หัวเราะ)
แต่ถ้าให้พูดถึง Top 3 เราว่าเรื่องแรกคือการไม่ได้รับการยอมรับ ปัญหาเรื่องนี้แปลกอยู่อย่างคือมันไม่เลือกขนาดธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นทายาทธุรกิจมหาชน หรือ SMEs ก็เจอเรื่องเดียวกัน ในช่วงแรกที่เราคุยกับทายาทเยอะ เขาก็จะมาบ่นว่าพ่อแม่ไม่ให้โอกาสเลย เสนออะไรไปก็ไม่ฟัง แต่พอทำเพจไปได้สักพักหนึ่ง เรามีโอกาสไปคุยกับผู้ใหญ่ เขาก็แชร์ปัญหานี้ในมุมของเขาเหมือนกันว่าทายาทกลับมา ยังไม่ทันทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่อยากจะเปลี่ยนทุกอย่างในทันที ดังนั้นนี่คือปัญหาในคนละมุมมอง อย่าลืมว่าธุรกิจครอบครัวมีความเสี่ยงกว่าธุรกิจทั่วไปตรงที่ว่า ถ้าเกิดล้มขึ้นมา มันล้มทั้งบ้าน การตัดสินใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ต่อมาคือปัญหาด้านความสัมพันธ์ พอกลับมาทำที่บ้าน เขาก็จะมีวิธีวัดผลในแบบของเขา สำหรับคนรุ่นก่อน ธุรกิจคือชีวิตของเขา การมาแต่เช้าหรือทำงานทุกวันเท่ากับขยัน ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนะ แต่คนรุ่นใหม่อาจจะเชื่อเรื่องของ Work-life Balance ธุรกิจกับชีวิตมันควรแยกกันนะ เราก็ต้องมีเวลาไปใช้ชีวิตบ้างสิ ให้เราเฝ้าร้าน อยู่กับที่ร้านทุกวันเลยมันก็ไม่ได้รึเปล่า แล้วก็นำไปสู่การทะเลาะกัน
สุดท้ายคือเรื่องกงสี ผลตอบแทนไม่เป็นธรรม คนทำก็ทำไป คนไม่ทำก็ยังได้เงินอยู่
ปัจจุบันคอนเทนต์ของเพจเปลี่ยนจากการนำอินไซต์มาแลกเปลี่ยน สู่การให้ข้อคิด คำแนะนำ หรือไปสัมภาษณ์ทายาทมาลง คุณทำเองคนเดียวเลยรึเปล่า
คุยเองหมดเลย แต่บางทีบางหัวข้อก็จะมีนักเขียนช่วยเรียบเรียงต่อ การทำคอนเทนต์ของเพจเราจะยึดโยงอยู่ 2 คำคือว่า ‘ธุรกิจ’ กับ ‘ครอบครัว’
คำว่าธุรกิจก็จะมีคอนเทนต์ How to วิธีการบริหาร จัดการธุรกิจ ส่วนคำว่าครอบครัว เราจะมีซีรีส์หนึ่งเรื่องว่า ‘Aging so happy’ ล้อมาจากคำว่า Aging Society เราจะหยิบเอาปัญหา Generation Gap มาขยาย หาวิธีการอยู่รวมกันของคน 2 รุ่น แล้วก็ซีรีส์ ‘Connext’ ที่เราจะไปสัมภาษณ์ทายาทในหลาย ๆ ธุรกิจ ดูว่าพวกเขามีปัญหาอะไร แก้ไขยังไง และสิ่งที่เขาตกผลึกได้จากการกลับมาทำงานที่บ้านคืออะไร เราพยายามจะไม่เล่าเคสที่ทุกคนอาจจะหาเจอได้ตามสื่อ แล้วหาเคสที่เป็นทายาทธุรกิจที่ไม่ได้ใหญ่โตมาเล่า เพราะเชื่อว่าทุกคนที่กลับมาช่วยงานที่บ้านล้วนมีเรื่องราวดี ๆ เยอะแยะเต็มไปหมดเลย
ตอนแรกก็เริ่มจากคอนเนกชันของเรา ก่อนจะขยายไปที่คอมมูนิตี้ เขาจะแนะนำกันต่อว่าเพื่อนคนนี้มีสตอรีน่าสนใจยังไง ส่วนใหญ่คนที่เราเลือกมาเล่าจะเป็นคนธรรมดาที่ทำธุรกิจระดับ SMEs เพราะบางทีถ้าเราเลือกคนระดับมหาชนมา นักอ่านอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ Relate กับเขา
ส่วนใหญ่ลูกเพจเป็นคนเจนฯ ไหน
ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นสองหรือรุ่นลูก เพราะเป็นช่วงที่ธุรกิจกำลังถึงจุดอิ่มตัวพอดี เป็นความท้าทายว่าเขาจะพามันไปในทิศทางอื่น ๆ ได้ไหม
นอกจากคนที่กลับมาทำเพราะใจอยากแล้ว ก็มีหลายเคสที่กดดันให้ทำด้วย
เยอะเลย มีน้อง ๆ หลายคนมาคุยกับเราเหมือนกันว่าเขาไม่อินเลย ไม่อยากทำ แต่เราก็พยายามบอกเขาว่าคนที่เป็นทายาทธุรกิจแตกต่างกับคนทั่วไปอย่างเดียวเลย คือเรามีทางเลือกในชีวิตมากกว่าคนอื่นหนึ่งทาง คือการกลับไปช่วยธุรกิจของที่บ้าน
พอใช้คำว่าทางเลือกแปลว่าไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ ซึ่งก็มีหลายคนที่ตัดสินใจไม่กลับไปช่วยธุรกิจครอบครัว แต่เลือกที่จะเดินตามความฝัน แล้วมันก็ไปได้ดีและประสบความสำเร็จ
ใครที่กำลังลังเลว่าจะกลับไปช่วยดีไหม เราขออย่างเดียว ขอให้ลองทำเรื่องนี้สักนิดหนึ่งก่อน อาจจะทำงานไปช่วยไปด้วยพร้อม ๆ กันก็ได้ เพราะการที่ธุรกิจอยู่มาได้ 20 – 30 ปี มันต้องมีทองอยู่ในนั้น อยู่ที่ว่าเราจะหามันเจอแล้วต่อยอดได้ไหม แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องกลับไป
มีอะไรอยากแนะนำเหล่าทายาทที่กำลังจะมารับช่วงต่อบ้างไหม
เราเข้าใจว่าทายาทหลาย ๆ คนเวลากลับไปรับช่วงต่อมันจะมาพร้อมความคาดหวัง รุ่นพ่อแม่ทำไว้ดี ถ้าเราทำได้เหมือนเดิมก็เท่ากับเสมอตัว เลยพยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่การทำธุรกิจครอบครัวไม่ใช่พิธีกรรมแบบเรานั่งโต๊ะผู้บริหารปุ๊บ ธุรกิจเป็นของเราปั๊บ มันใช้เวลาในกระบวนการเปลี่ยนถ่าย เราแนะนำให้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากพ่อแม่ก่อน พอเขามั่นใจในตัวเราแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะง่ายขึ้นทันทีเลย
แล้วปัจจุบันพ่อแม่รู้หรือยังว่าคุณทำเพจ
ตอนแรกไม่รู้ จนกระทั่งเราออกหนังสือ ทำที่บ้าน ยากกว่าทำธุรกิจ คือทำธุรกิจครอบครัว : How to Work in a Family Business ไปเมื่อปี 2020 เลยปิดไม่มิดละ ตอนนี้บางทีเวลาลงคอนเทนต์ในเพจ เขาจะมาถามว่าหมายถึงพวกเขาเหรอ เราก็ต้องรีบปฏิเสธไปว่าไม่ใช่ ไม่งั้นเขาจะนอยด์ แต่ถ้าเป็นคอนเทนต์บทเรียนดี ๆ เรายกเครดิตให้เขาหมดเลย (ยิ้ม)
Facebook : ทำที่บ้าน