18 พฤศจิกายน 2020
11 K

The Cloud x ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลายครั้งคำพูดที่เราใช้กันจนติดปากก็กลายเป็นนายของความคิด อย่างคำพูดเปรียบเปรยเชิงเชื้อชาติที่มักจะหล่อหลอมวิถีคิดและการมองโลกของเรามาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงคนทมิฬ คนไทยจำนวนหนึ่งจึงยึดติดอยู่กับความเชื่ออย่างหนึ่ง กระทั่งมองข้ามสายสัมพันธ์ที่โยงใยคนทมิฬกับคนไทยมานานนับพันปี ทั้งที่คนสองกลุ่มมีส่วนที่เหมือนกันมากกว่าต่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปนิสัยใจคอ ความคิดความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมการกินอยู่

อารยธรรมทมิฬเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมทั้งหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสุวรรณภูมิ ภาษาทมิฬเป็นภาษาโบราณที่เก่าแก่มากที่สุดภาษาหนึ่งในโลก ภาษาที่สืบทอดมาแต่โบราณคือสิ่งที่ยึดโยงลูกหลานชาวฑราวิทที่ต้องถอยร่นลงใต้จากถิ่นฐานเดิมในลุ่มแม่น้ำสินธุไว้ด้วยกัน ‘ทมิฬกัม’ จึงเป็นชื่อเรียกดินแดนของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาหลัก ตั้งแต่ปลายแหลมสุดของชมพูทวีปข้ามไปจนถึงตอนเหนือของลังกาทวีป 

ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม
ภาพ : Madras School of Industrial Arts
ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม
ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม

เจระ โจฬะ ปาณฑัย และปัลลวะ เป็นชื่อของอาณาจักรในเขตทมิฬกัมที่คนไทยคุ้นเคย อาณาจักรทมิฬเหล่านี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการค้าในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเริ่มทวีความสำคัญขึ้นมาตั้งแต่ช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล ด้วยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของทมิฬกัม พ่อค้าชาวทมิฬโบราณจึงสามารถสร้างเครือข่ายการค้าที่เชื่อมโยงครอบคลุมไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งถ่ายสินค้า พันธุ์พืช และอารยธรรมระหว่างดินแดน 

หากปราศจากกองเรือจากทมิฬกัม พืชพรรณอย่างพริก มะเขือเทศ หรือมะนาว คงเดินทางมาไม่ถึงสุวรรณภูมิ ถ้าชาวทมิฬไม่ได้ลงหลักปักฐานในสุวรรณภูมิและนำอารยธรรมของตนเข้ามาเผยแผ่ ทั้งศาสนา ภาษา วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งอาหาร ไทยก็คงไม่ได้มีหน้าตาอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านมาร่วมทำความรู้จักกับอาหารทมิฬ ที่อาจจะช่วยให้เราเข้าใจคนทมิฬและดินแดนทมิฬมากขึ้น

ข้าวในวัฒนธรรมทมิฬ

ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม

คนทมิฬและคนอินเดียทางภาคใต้รับประทานข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับคนไทย ข้าวของอินเดียใต้มีสายพันธุ์หลากหลาย และแตกต่างจากข้าวพันธุ์บาสมตีที่ปลูกกันทางตอนเหนือของประเทศ คนทมิฬให้ความสำคัญกับอาหารอินทรีย์มาก จึงนิยมข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าข้าวที่ปลูกกันเป็นอุตสาหกรรม 

ข้าวที่คนทมิฬถือว่าเป็นสุดยอดของสายพันธุ์ข้าว เป็นข้าวเมล็ดผอมยาวสีดำและมียางเหนียวชื่อว่า ‘คาวูนี อะรีสี’ หรือข้าวต้องห้าม เชื่อกันว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่พ่อค้าชาวทมิฬนำเข้ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ครั้งโบราณ สมัยก่อนสงวนไว้สำหรับตั้งสำรับถวายเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ในปัจจุบันนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อย 

อีกสายพันธุ์หนึ่งคือข้าวหอมสีขาวที่ชื่อที่ว่า ‘ทุอายะมัลลี’ หรือข้าวขาวมะลิ เมล็ดสั้นป้อมและสีขาวนวลเหมือนกับดอกมะลิตูม ข้าวเหล่านี้นอกจากนำมาหุงรับประทานเป็นข้าวสวยแล้ว ชาวทมิฬก็ยังนิยมนำมาแปรรูปเป็นอาหารและขนมจากแป้งข้าวเจ้าหลากชนิด

‘อิดลี’ และ ‘อิดดีอัปปัม’ เป็นอาหารเช้าที่คนทมิฬนิยม ทั้งสองจานทำมาจากแป้งข้าวเจ้าหมักกับถั่วไว้ค้างคืนจนเกิดยีสต์ตามธรรมชาติ อิดลีมีรูปร่างคล้ายขนมถ้วยฟูของคนไทย ส่วนอิดดีอัปปัมก็คือเส้นขนมจีนของเราดีๆ นั่นเอง 

ทั้งนี้มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อาหารของอินเดียคนหนึ่งสันนิษฐานไว้ว่า อาหารจานข้าวทั้งสองอย่างนี้อาจมีต้นกำเนิดมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนทมิฬนิยมรับประทานอิดลีและอิดดีอัปปัมกับเครื่องเคียงที่ทำจากมะพร้าวและซัมปาร์ ที่ผู้เขียนมักเรียกว่าแกงส้มมะรุมแบบทมิฬ ด้วยหน้าตาและรสชาติไม่ต่างกัน ครั้งหนึ่งที่เมืองเจนไน ผู้เขียนเคยรับประทานอิดดีอัปปัมกับแกงเผ็ดปลาฉิ้งฉ้าง ที่หากหลับตาก็จะนึกว่ากำลังรับประทานขนมจีนกับแกงตูมี้ของภูเก็ต

ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม
ภาพ : Mdsmds0 
ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม
ภาพ : Viewfinder 18 
ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม
ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม

ข้าวสำคัญกับชีวิตคนทมิฬมาก ในเทศกาลปีใหม่ทมิฬที่เรียกว่า ‘ไทปองกัล’ หรือ ‘ปองกัล’ ราวกลางเดือนมกราคมของทุกปีต้องมีอาหารจานข้าวเป็นนางเอกคนสำคัญของงาน ข้าวใหม่ที่หุงกับนมและน้ำตาลอ้อยในหม้อดิน ต้มให้เดือดจนน้ำนมล้นเอ่อออกมา ถือเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิต

สำรับข้าวทมิฬ

ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม
ภาพ : Rajesh dangi

สำรับข้าวทมิฬ หรือ ‘สัปปาฑู’ ประกอบด้วยกับข้าวและเครื่องเคียง 5 หรือ 6 อย่างเป็นอย่างน้อย คือ คูฬัมบู โปริยัล ระซัม ซัมปาร์ อัปปาลัม อูรุกาย ปายาซัม และทายีร์ โดยในมื้อพิเศษกับข้าวในสำรับข้าวทมิฬอาจมีจำนวนถึง 20 อย่างเลยทีเดียว กับข้าวทมิฬรสชาติเข้มข้นครบรสคล้ายกับอาหารไทย ไม่หนักเครื่องเทศมากจนฉุน กับข้าวหลายชนิดที่พบทางภาคใต้ของไทยก็มักมีญาติหน้าตาคล้ายๆ กันอยู่ที่ทมิฬนาฑู

คูฬัมบู ก็คือแกงเผ็ดอย่างในสำรับอาหารไทยนั่นเอง เป็นกับข้าวจานหลักของมื้อ คูฬัมบูนั้นมีมากมากหลายชนิด มีทั้งที่เป็นน้ำแกงใสหรือน้ำแกงข้นจากกะทิหรือนม รสชาติต้องปรุงให้ออกเปรี้ยวร้อนด้วยน้ำมะขามเปียกกับพริกหรือพริกไทย

โปริยัล คืออาหารจานผัดหรือทอด ส่วนมากแล้วเป็นผักสีเขียวรสสัมผัสกรุบกรอบ อย่างกระเจี๊ยบ มะระขี้นก หรือถั่วฝักยาว ผัดไฟแรงด้วยน้ำมันเล็กน้อย ปรุงรสด้วยเกลือ ขมิ้น พริกแห้ง ลูกผักชี หรือเมล็ดผักกาด

ทมิฬ ชาวอินเดียที่นำพริก มะนาว กาแฟ เข้าเมืองไทย และมีตำรับอาหารอร่อยคล้ายชาวสยาม
ภาพ : Kalaiselvi Murugesan

ระซัม และ ซัมปาร์ เป็นน้ำแกงที่ออกรสเปรี้ยว หวาน และเผ็ด ระซัมนั้นคนไทยเชื้อสายทมิฬมักเรียกว่า น้ำพริกไทย ด้วยเป็นน้ำแกงใสรสชาติคล้ายต้มส้มที่ปรุงรสด้วยพริกไทยและน้ำมะขามเปียก ในขณะที่ซัมปาร์เป็นแกงผักที่ปรุงน้ำให้ข้นด้วยถั่วซีก มักจะใส่บวบและฝักมะรุมอ่อน

อัปปาลัม เป็นแผ่นข้าวเกรียบที่ช่วยเพิ่มรสสัมผัสให้แก่มื้ออาหาร ในร้านอาหารอินเดียมักเรียกชื่อกันตามอย่างคนอังกฤษและคนปัญจาบีว่า ปัปปาดัม หรือ ปาปัด รับประทานเรียกน้ำย่อยหรือคู่กับมื้ออาหารก็ได้ไม่ว่ากัน ส่วนอูรุกาย คือผักดองเค็มรสเผ็ดที่ใช้เสริมรสอาหารเหมือนกับน้ำพริกในสำรับไทย

สำรับข้าวทมิฬมักจบด้วย ปายาซัม และ ทายีร์ เสมอ ปายาซัมก็คือขนมหวานที่แต่เดิมทำจากข้าวหุงกับนมและน้ำตาล ตามแบบข้าวมธุปายาสในตำนานพุทธประวัติ ในปัจจุบันหมายถึงขนมหวานโดยทั่วไป ทายีร์หรือนมเปรี้ยวที่เอาไว้รับประทานเป็นลำดับท้ายสุดนั้นช่วยดับรสเผ็ดและย่อยอาหาร ก่อนล้างปากด้วยกาแฟที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของอินเดียใต้ 

เชื่อกันว่านักบุญมุสลิมซูฟีจากอินเดียได้ลักลอบนำเมล็ดกาแฟออกจากเยเมนเข้ามาปลูกในรัฐกรณาฏกะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากนั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงรับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟมาจากพ่อค้ามุสลิมทมิฬที่เข้ามาค้าขายผ่านทางคาบสมุทรมาลายูอีกทอดหนึ่ง ผู้คนในแถบบ้านเราจึงเรียกกาแฟว่า โกปี ตามอย่างสำเนียงภาษาทมิฬ

ทมิฬในความเป็นไทย

หากเราลองก้าวข้ามพรมแดนแห่งอคติดูสักครั้ง ก็จะพบว่าวัฒนธรรมไทยทมิฬและวัฒนธรรมไทยมีส่วนที่คล้ายคลึงกันมากกว่าต่าง คนทมิฬเป็นน่ารักและใจดี ต่างจากคำพูดเปรียบเปรยที่คนไทยใช้จนติดปาก ปฏิสังสรรค์ระหว่างทมิฬกัมและสุวรรณภูมิแต่ครั้งโบราณก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ยากจะระบุว่าใครเป็นเจ้าของ 

คำไทยหลายคำ เช่น ทองคำ เนย เจียระไน ฯลฯ ล้วนเป็นคำเดียวกันกับคำที่ใช้ในภาษาทมิฬ ประเพณีการกินเจที่ไม่พบในเมืองจีนก็มาตรงกับประเพณีนวราตรีของคนทมิฬ ตรงกันแม้กระทั่งข้อห้ามของวัตถุดิบ ที่สำคัญ รสชาติอาหารของคนทมิฬก็ยังคล้ายกับอาหารของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าอาหารของคนอินเดียด้วยกันในภูมิภาคอื่น

อ่าวเบงกอลจึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนสินค้า แต่คือเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมที่สำคัญของภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ ในตัวคนไทยจึงมีคนทมิฬ และในตัวคนทมิฬจึงมีคนไทย

หากภาพในจินตนาการยังไม่แจ่มชัด และอยากสำรวจวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคอ่าวเบงกอลเพิ่มเติมผ่านการเดินทาง อาหาร ผู้คน ศิลปะการแสดง และคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา รวมทั้งผู้ที่เคยพำนักอาศัยในกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล และซุ้มวัฒธรรมจากประเทศสมาชิกบิมสเทค (BIMSTEC) วันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2563 นี้ ขอเชิญชวนร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ได้ในงาน The Bay of Bengal : อ่าวเบงกอล แรงบันดาลใจสู่ความยั่งยืน ณ ลานชั้น 1 ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ (เวลา 11.00 – 20.00 น.) จัดโดยศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยประสานงานเครือข่ายคลังสมองด้านนโยบายบิมสเทค (BIMSTEC Network of Policy Think Tanks) และศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer

Avatar

จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

นักนิเทศศาสตร์ที่หันมาทำงานด้านเอเชียใต้ศึกษา เรียนรู้โลกผ่านการเดินทาง เรื่องราวของผู้คน และสำรับอาหาร