ตามไปดูเชฟสาวอายุ 20 กว่าๆ เล่าประวัติศาสตร์วังหน้า ช่วงที่เกิดก่อนเธอเกือบ 200 ปี ผ่านอาหาร 1 มื้อ

โครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คณะทำงานนำทีมโดย คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน เล่าประวัติศาสตร์วังหน้าด้วยวิธีแปลก ใหม่ และสด

คุณใหม่บอกว่า “อยากให้มองประวัติศาสตร์วังหน้าจากหลากหลายมิติ” คุณใหม่จึงเชิญคนเก่งจากสารพัดวงการ ทั้งศิลปิน ช่างเขียนรูป นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักพฤกษศาสตร์ นักร้องประสานเสียง นักทำหนัง ร็อกเกอร์ เชฟ สถาปนิก นักภาษาศาสตร์ ฯลฯ มาดูร่องรอยประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของชาติไทย แล้วสร้างชิ้นงานตามความถนัด

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า

เชฟที่คุณใหม่ไว้วางใจให้ทำงานนี้คือ เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ Top Chef Thailand คนแรกของประเทศไทย (เป็นผู้เข้าแข่งขันที่อายุน้อยที่สุดในตอนนั้น) ด้วยวัยเพียง 26 ปี เชฟตามตั้งใจเล่าเรื่องประวัติศาสตร์วังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์จากมุมมองของเชฟรุ่นใหม่ ผ่านวัฒนธรรมของอาหารชาววัง หรือที่สมัยก่อนเรียกกันว่า ‘กับข้าวเจ้านาย’

ผู้เข้าชมโครงการวังหน้านฤมิตฯ จะได้รับอาหารตำรับโบราณห่อเล็กๆ ฝีมือเชฟตาม สำหรับนำกลับบ้านพร้อมสูตรอาหาร ซึ่งมีทุกวันตลอดนิทรรศการ ตามด้วยไฮไลต์ในวันที่ 27 เมษายน 2562 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คือการจัดเลี้ยงมื้อพิเศษในรูปแบบ Chef’s Table เชฟตามรังสรรค์อาหารจานใหม่จากตำรับเก่าแก่สมัยศตวรรษที่ 19 ส่วนเมนูจะมีอะไรบ้าง มาชิมกันได้ในทริป Walk with The Cloud 16 : วังหน้านฤมิตฯ ในวันนั้น

การทำอาหารเลี้ยงแขกหลายสิบคนว่ายากแล้ว ยังต้องเล่าประวัติศาสตร์ผ่านอาหารให้ได้อีก ลองมาฟังเชฟตามว่า เธอคิดอะไร และค้นพบอะไรเกี่ยวกับ ‘เพื่อนร่วมอาชีพ’ ยุคเกือบ 2 ศตวรรษที่แล้ว

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า

อินเตอร์แท้แต่โบราณ

โจทย์คือ ทำอาหารที่เล่าประวัติศาสตร์วังหน้า ดังนั้น แน่นอนว่าต้องเป็นอาหาร ‘ชาววัง’ ไม่ใช่อาหารชาวบ้าน

เชฟตามเล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำงานว่า “เริ่มจากตอนเข้าไปที่วังหน้า เพื่อเข้าไปเห็นและสัมผัสบรรยากาศ ตอนนั้นก็คิดไปไกลมากเลยว่าจะใช้กลิ่นของอาหารสมัยก่อน กลิ่นเขาน่าจะเป็นประมาณไหน ก็เริ่มศึกษาตำราอาหารโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วตันมาก เพราะไม่มีสูตรอาหารที่แน่นอนว่ามาจากช่วงนี้เป๊ะๆ พยายามค้นแค่ไหนก็ได้เป็นบันทึกของฝรั่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ที่ได้ไปเข้าเฝ้าฯ และได้ทานอาหารที่วังหน้า เขาก็บันทึกไว้ว่าได้ทานอาหารอะไร ส่วนใหญ่เป็นอาหารฝรั่ง มีอาหารไทยไม่กี่อย่าง ก็เลยรู้ว่าความนิยมชมชอบในของที่เป็นตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวครอบคลุมไปถึงอาหารด้วย”

จุดเด่นข้อหนึ่งที่เชฟตามศึกษาและเลือกสื่อสารผ่านอาหารของเธอคือ ความ ‘อินเตอร์’ ของอาหารชาววัง

อาหารชาววังมีพัฒนาการที่น่าสนใจ เชื่อมโยงกับสภาพสังคมของสยามในแต่ละช่วง อาจารย์สุนทรี อาสะไวย์ ระบุไว้ในงานวิจัย กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววังกับการเป็นทุนวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวบนตัวเกาะรัตนโกสินทร์ ตอนหนึ่งสรุปได้ว่า บันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรเรื่องการทำอาหารชาววัง ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 6 มีทั้งหมด 4 ตำรับ ได้แก่

  1. ตำรับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี – เป็นตัวแทนสมัยรัชกาลที่ 2
  2. ตำรับท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ – เป็นตัวแทนสมัยรัชกาลที่ 5
  3. ตำรับหม่อมส้มจีน ราชานุประพันธ์ (บุนนาค) – เป็นตัวแทนสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน
  4. ตำรับท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร (ไกรฤกษ์) – เป็นตัวแทนสมัยรัชกาลที่ 6

สตรีสูงศักดิ์ทั้งสี่นี้เป็นเจ้าของตำรับอาหารที่บ่งบอกพัฒนาการอาหารชาววังอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่ตำรับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ ที่ยังคงตำรับอาหารดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ก็มีลักษณะ ‘อาหารนานาชาติ’ เช่น จีน แขก มอญ ลาว เขมร และญวน ให้เห็น ส่วนตำรับของท่านผู้หญิงเปลี่ยนและหม่อมส้มจีนมีจุดเด่นสำคัญคือ มีอิทธิพลของอาหารฝรั่ง และมาเปลี่ยนอีกครั้งในตำราของท่านผู้หญิงกลีบในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เห็นอิทธิพลของอาหารจีนเด่นชัดเป็นพิเศษ

อย่างที่บอกว่า ตำรับอาหารชาววังสะท้อนสภาพสังคมสยามในแต่ละช่วงได้ดี

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า

ตำรับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ ปรากฏหลักฐานในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ที่รัชกาลที่ 2 พระราชนิพนธ์เพื่อชมฝีมือทำกับข้าวของพระอัครมเหสี (คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ) สะท้อนความ ‘สารพัดวัฒนธรรม’ ในครัวชั้นสูงยุคต้นรัตนโกสินทร์ เพราะกล่าวถึงชื่ออาหารและเครื่องปรุงที่ไม่ใช่ของท้องถิ่นของสยาม เช่น แกงมัสมั่น ลุดตี่แกงไก่ ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ (อาหารอินเดีย) ตับเหล็กลวก รังนกนึ่ง ขนมจีบ (อาหารจีน) และระบุชื่อน้ำปลาญี่ปุ่น ลูกพลับจีน ยี่หร่า ฯลฯ ที่ล้วนแต่เป็นเครื่องปรุงอาหารต่างชาติ

“ตอนค้นคว้า ไปเจอพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน เล่าเรื่องอาหารและขนม พอได้ฟังเพลงนี้ก็ อ๋อ นี่คือวิธีการที่เขาบันทึก เขาไม่ได้เขียนเป็นสูตรอาหาร แต่ว่าเป็นการร้องเพลง เหมือนเล่าเรื่องผ่านเพลง ตามคิดว่าพอยิ่งค้นคว้าก็พบว่าเรื่องอาหารมีอะไรมากกว่าสูตร แต่เหมือนเป็นไดอารี่ของคนเขียนสูตรอาหาร” เชฟตามเล่า

ตำรับของท่านผู้หญิงเปลี่ยนในยุครัชกาลที่ 5 ปรากฏอิทธิพลอาหารจากสายสกุลของท่านและสามี (สกุลบางช้าง ชูโต และบุนนาค) คืออาหารมอญและแขกเปอร์เซีย และมีอาหารจีนและฝรั่ง เพราะช่วงนั้น (รัชกาลที่ 4 – 5) ชาวจีนและฝรั่งตะวันตกกำลังมีบทบาทสำคัญในสังคมสยาม

ตำรับหม่อมส้มจีนเน้นแกงและกับข้าว เช่น แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ แกงเผ็ด และมีเนื้อสัตว์ป่าประกอบมากกว่าตำรับของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ซึ่งอาจเป็นเพราะหม่อมส้มจีนท่านชำนาญอาหารประเภทนี้เป็นพิเศษ และเป็นจานโปรดของสามีท่าน (พระยาราชานุประพันธ์) และสมาชิกในครอบครัว

ในขณะที่ตำรับสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ท่านผู้หญิงกลีบเขียนมีอิทธิพลอาหารจีน อาจารย์สุนทรี อาสะไวย์ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะสกุลไกรฤกษ์ของท่านผู้หญิงกลีบเป็นสกุลชาวจีน และในสมัยนั้น อิทธิพลชาวจีนในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ บางส่วนเลื่อนฐานะเป็นชนชั้นสูงในสังคมไทยมากยิ่งกว่าช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชาวไทยเชื้อสายจีนเข้ารับราชการในพระบรมมหาราชวังมากขึ้น ส่งผลให้อาหารจีนหลายอย่างถูกปรุงขึ้นโต๊ะของชนชั้นสูง

“สิ่งที่ตามอยากสื่อคือเรื่องราวของคนสมัยก่อน เรื่องราวของผู้หญิงสมัยนั้น ตำราอาหารเป็นเหมือนไดอารี่ของเขา เขาเขียนไว้หมดว่าทำไมทำสูตรนี้ช่วงนี้ เป็นเพราะช่วงนี้มีวัตถุดิบนี้เยอะ หรือช่วงนี้อากาศร้อนเป็นพิเศษ เขาจะจดไว้หมดเลย ก็อยากให้คนเข้าใจเรื่องราววิถีชีวิตสมัยนั้น” เชฟตามสรุป

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า

น้ำพริกแห้งและ Chef’s Table

หากไม่ว่างไปชิม Chef’s Table วันที่ 27 เม.ย. ไม่ต้องเสียใจ เพราะเชฟตามเตรียม ‘น้ำพริกแห้ง’ ที่บรรจุเรื่องราวและกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ยุครัชกาลที่ 4 – 5 พร้อมสูตรอาหารไว้ให้นำกลับบ้าน จะไปชมงานวันไหนก็ได้รับของขวัญห่อเล็กๆ นี้

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า

“เมนูที่เลือกมาทำเนี่ย ตอนเจอสูตรแปลกใจมาก เพราะมาจากตำรา แม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ท่านใช้ปลาแซลมอนมาทำน้ำพริก เราก็ เฮ้ย การใช้ของจากประเทศอื่นมาทำอาหารเป็นการบอกลักษณะของสังคมช่วงวังหน้าในสมัยนั้นได้ดีมาก เลยคิดว่าตำรับนี้น่าจะเหมาะสมมากที่สุด” เชฟตามกล่าวถึงน้ำพริกแห้งที่เตรียมไว้ให้ผู้ชมนิทรรศการ

“เป็นการดัดแปลงจากหลนปลาแซลมอนกระป๋อง เชื่อไหมว่าเขาใช้ปลาแซลมอนกระป๋องมาทำหลน ก็ไม่คิดว่าคนไทยจะใช้ปลาแซลมอนกระป๋อง จนมาเจอจากสูตรยุคนั้นจริงๆ เขาคงใส่เรือมากับการค้าขายในยุคนั้น” เชฟตามกล่าว

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า

คนทำอาหารในครัวบ้านตั้งแต่สมัยโบราณจนปัจจุบันยังนิยมทำกับข้าวโดยใช้ความชำนาญ กะด้วยสายตา ใส่เกลือหยิบมือหนึ่ง โน่นอีกช้อน นี่อีกเหยาะ ท่านผู้หญิงเปลี่ยนนับเป็นบุคคลแรกที่เขียนตำราอาหารโดยใช้วิธีชั่ง ตวง วัด ตามแบบตะวันตก แต่ใช้มาตรวัดของไทย (บาท สลึง เฟื้อง ไพ) เพื่อให้เป็นมาตรฐาน

เมื่อเชฟสาวที่จบการศึกษาจากโรงเรียนการครัวตะวันตกสมัยใหม่ The International Culinary Center ในมหานครนิวยอร์ก มาอ่านตำราท่านผู้หญิงเปลี่ยน เล่นเอามึนไปเหมือนกัน “บางสูตรท่านเขียนว่า พริกแห้งหนัก 6 สลึง ข่าหนัก 1 เฟื้อง เราก็ เอ่อ…จะทำยังไงดีเนี่ย” เชฟตามหัวเราะชอบใจ

แต่ขึ้นชื่อว่าคนทำอาหาร เชฟตามคิดหาวิธีจนได้ โดยให้ความเคารพต่อสูตรดังเดิม แถมอร่อยเสียด้วย เธอทำน้ำพริกที่ว่ามากระปุกใหญ่ให้ The Cloud ชิม

“ตามปรับสูตรหลนปลาแซลมอนกระป๋องมาเป็นน้ำพริกแห้ง แทนที่จะใช้กะทิก็ใช้มะพร้าวคั่ว ในเมื่อสูตรเดิมคือหลน หลนมีกะทิ เราดัดแปลงเป็นน้ำพริกแห้ง ใช้มะพร้าวขูดเอามาคั่วแทน ในสูตรเดิมใช้ปลาแซลมอนกระป๋อง เราใช้ปลาแซลมอนสด แล้วเอามาคั่วจนแห้ง ความเค็มมาจากกะปิ ไม่มีน้ำปลา ไม่มีอะไรเลย เราก็ยังทำตามสูตรท่าน ใช้กะปิเหมือนกัน” เชฟตามอธิบายวิธีคิดในการปรับสูตรท่านผู้หญิงเปลี่ยน

“ตามจะไม่เติมอะไรลงไปที่เขาไม่ได้ใช้ ใช้วัตถุดิบที่เขาใช้ในสูตรอยู่แล้ว แต่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ของเราลงไปเพื่อปรับรสให้ถูกปาก เช่น ใช้มะพร้าวคั่วแทนกะทิ ไม่เปลี่ยนสูตรเก่ามากจนเกินไป ใช้วัตถุดิบตามเขา ใช้กรรมวิธีคล้ายเขา แต่แค่ปรุงให้ถูกปากคนสมัยใหม่มากขึ้น”

ดูหน้าตาอาหารแล้วคงใช้เวลาทำนานพอสมควร

“นานค่ะ” เชฟตามยอมรับ “เพราะทุกอย่างต้องคั่วแยกกัน คั่วรวมไม่ได้ เพราะขนาดและเวลาที่ต้องคั่วต่างกันทุกอย่าง ต้องทำหอมเจียว ทำพริกชี้ฟ้าทอดเพิ่มความเผ็ด ทุกอย่างทำแยก แล้วค่อยเอามารวมกับน้ำซอสที่ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำตาลมะพร้าว และกะปิ” เชฟตามบรรยาย พร้อมตักน้ำพริกแจก

ชาว The Cloud ฟังไปกินไป น้ำพริกแห้งปลาแซลมอนของเธอกลมกล่อมลงตัว จนคุณใหม่ผู้ไม่ค่อยชอบอาหารทะเลยังออกปากชมว่าอร่อย

ตำราอาหารของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ให้ภาพอาหารไทยในลักษณะ ‘ครบสำรับ’ ตามวิธีการกินแบบชาววัง คือมีทั้งข้าว แกง กับข้าว เครื่องจิ้ม ของหวาน เครื่องว่าง จึงเป็นอีกคุณสมบัติเด่นที่เชฟตามอยากถ่ายทอดผ่านมื้อพิเศษในรูปแบบ Chef’s Table เชฟตามขออุบไว้ก่อนว่ามีเมนูอะไรบ้าง “จริงๆ แล้วยังคิดอยู่เลย คิดอยู่เป็นเดือนๆ เป็นงานที่ยากมาก” เชฟตามยิ้ม

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า

“Chef’s Table อยากทำเป็นสำรับ ตามวิธีเสิร์ฟแบบตะวันตกคือเป็นคอร์ส แต่ละเมนูจะดึงมาจากสูตรโบราณที่เรานำมาปรับใหม่ให้ดูทันสมัย ให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ แต่รสชาติจะไม่ปรุงแต่งมากเกินไป ตามเคยทำอาหารตามสูตรโบราณเป๊ะๆ กินเข้าไปแล้วแบบ…ไม่คุ้นเลย ไม่เข้าใจ นี่คืออร่อยเหรอ แต่นี่แหละคือรสชาติที่บ่งบอกยุคสมัยนั้นๆ” เชฟตามกล่าว

“เมื่อเวลาผ่าน รสนิยมการกินของคนก็เปลี่ยน ทำยังไงให้เราดึงการกินแบบโบราณมาเชื่อมกับคนสมัยใหม่ได้ หวังว่า Chef’s Table จะแสดงถึงการผสมผสานรสชาติและวัตถุดิบของคนสมัยก่อน รวมถึงวิธีการกินและเสิร์ฟอาหาร วิธีการแบ่ง จิ้ม หรืออะไรก็ตามที่เราอาจไม่คุ้นเคยในสมัยนี้ ตามอยากรื้อฟื้นสิ่งที่อาจจะลืมกันไปแล้ว

“ตามว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านอาหารนั้นสนุกมาก อยากเชิญชวนให้อ่านหนังสืออาหารสมัยโบราณกัน เพราะคนเขียนตำราโบราณเขามีบุคลิกที่ชัดเจน ซึ่งเขาใส่ลงไปในสูตรอาหารด้วย เหมือนเป็นสูตรลับ เสน่ห์ปลายจวัก บ่งบอกตัวตนของเขา มันมากกว่าการอ่านสูตรอาหาร เป็นการเล่าเรื่องชีวิตของเขาด้วย”

วันที่ 27 เมษายน 2562 เตรียมตัวพบกับมื้อประวัติศาสตร์ที่ไม่เพียงเล่าประวัติศาสตร์วังหน้า แต่ยังบ่งบอกตัวตนของคนทำอาหารคลื่นลูกใหม่ที่ยังหลงใหลการครัวโบราณ

“สูตรของตามอาจไม่ได้ดั้งเดิม ไม่ออเธนติก (Authentic) เพราะเราปรับให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ แต่เป็นความจริงใจผ่านอาหาร คนรุ่นก่อนเขาตั้งให้มันเป็นแบบนี้ เราก็จะสื่อออกมาเป็นแบบนี้”

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, วังหน้า

เอกสารประกอบการเขียน

งานวิจัย กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววังกับการเป็นทุนวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวบนตัวเกาะรัตนโกสินทร์ โดย สุนทรี อาสะไวย์ จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 7 (พ.ค. 2554 ) หน้า 80-101.

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan