ชื่อของ ‘พี่ปรุง เอสเอ็ม’ เป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลเมื่อครั้งที่พา เตนล์ (TEN) หนุ่มไทยคนเดียวจากวง NCT บอยแบนด์น้องใหม่ที่โดดเด่นด้วยคอนเซปต์รูปแบบใหม่ จาก SM Entertainment มาเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อรับใช้ชาติประจำปี
ข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตบอกว่า พี่ปรุง เอสเอ็ม หรือ ปรุง-ทัชระ ล่องประเสริฐ เป็นคนไทยคนเดียวที่ทำงานกับ SM Entertainment ค่ายเพลงเบอร์หนึ่งของเกาหลีที่มีศิลปินในสังกัดอย่าง TVXQ!, Girls’ Generation, BoA, Super Junior, SHINee, EXO, Red Velvet, NCT
ข้อมูลจากแหล่งเดียวกันยังบอกอีกว่าพี่ปรุงเป็นครูสอนภาษาไทยให้ศิลปินฝึกหัดในค่ายเพลงดังกล่าว และดูแลการตลาดเพลงเกาหลีของค่ายที่ทำกับประเทศไทยและภูมิภาคทั้งหมด
นอกจากนี้พี่ปรุงยังเป็นบัณฑิตดีกรีเกียรตินิยมจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เคยทำงานในสำนักงานกฎหมาย เป็นผู้ประกาศข่าว เป็นตัวแทนคนไทยในรายการวาไรตี้ชื่อดังของเกาหลี
พี่ปรุงเป็นใครกันแน่ เราสงสัย
นอกจากเรื่องเนื้องานที่ทำกับค่ายเพลงระดับโลกค่ายนี้ เราพบว่าเส้นทางและมุมมองต่อสิ่งที่ผ่านมาของพี่ปรุงน่าสนใจไม่แพ้กัน
จากที่เคยคิดว่าพี่ปรุงเป็นคนโชคดีได้ทำงานในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ วันนี้ได้รู้แล้วว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งขนาดไหน
โชคดีที่พี่ปรุงอยู่กรุงเทพฯ พอดีในช่วงวันหยุดสงกรานต์ แต่ต่อให้พี่ปรุงอยู่เกาหลีตอนนี้เราก็จะหาทางพูดคุยมาให้จงได้ เพราะเราอยากให้ทุกคนได้รู้จักผู้ชายคนนี้ ระหว่างพูดคุย เราก็แอบวางแผนไว้แล้วว่าจะขอจบบทสนทนาด้วยการทวงถามถึง ‘น้ำใจน้องพี่สีชมพู~’ เผื่อว่าพี่ปรุงจะใจดียอมให้เราติดสอยห้อยตามไปเสิร์ฟน้ำหรือทำงานเช็ดถูที่บริษัท
เอาล่ะ อันยองฮาเซโยค่ะ
โดยตำแหน่งแล้วหน้าที่ของคุณซึ่งเป็นคนไทยคนเดียวใน SM Entertainment ค่ายเพลงอันดับหนึ่งของเกาหลี ได้แก่อะไรบ้าง
จริงๆ ทำเยอะมาก เพราะเป็นคนไทยคนเดียว และเป็นคนเดียวที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น อะไรที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและภูมิภาคนี้เราต้องทำทั้งหมด ทั้งเป็น Strategic Planner เป็น Marketing Communicator เป็น Coordinator เป็น Operation เป็น Project Manager เป็น Local Manager ซึ่งไม่ใช่ผู้ดูแลศิลปินเป็นหลักนะ แต่ดูแลศิลปินเมื่อมาประเทศไทย
ขอสารภาพว่านอกจากเรื่องการเป็นคนไทยคนเดียวที่ทำงานกับค่ายเพลงใหญ่แล้ว เราสนใจเรื่องราวก่อนหน้านี้ที่คุณเป็นนักเรียนกฎหมายมาก่อน
ย้อนกลับไปสมัยเรียน เราเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมมาก เพราะเราเชื่อในการลองทำและค้นหาคุณค่าในตัวเอง แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดถึงสิ่งที่มากกว่าคือช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ เราตัดสินใจออกเดินทางไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้คนเดียวเป็นเวลา 45 วันโดยใช้เงินที่เก็บเงินจากการทำงานพาร์ตไทม์ การเดินทางครั้งนั้นจุดประกายให้เราคิดฝันอยากลองทำงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศสักครั้งหนึ่ง
ก่อนจะกลับมาทำงานเป็นทนายในบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย เรามีโจทย์ในใจว่าจะทำสิ่งนี้ให้ครบปี จนเมื่อผ่านไป 6 เดือน เราเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ ระหว่างนั้นเราก็ลองค้นหาสิ่งอื่นที่คิดว่าน่าจะทำได้ เช่น สมัครเป็นสจ๊วตสายการบิน สมัครงานผู้ประกาศข่าว ไปพร้อมๆ กับสมัครสอบทุนเรียนต่อด้านการตลาด โดยระหว่างนั้นก็ลงแข่งทำแผนการตลาดเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้ตัวเองก่อนเรียนต่อ ในจังหวะนั้นเราก็เริ่มต้นเป็นผู้ประกาศข่าว แต่แม้ว่าจะชอบงานนี้มากแค่ไหน เราก็ถามตัวเองขึ้นมาระหว่างทางว่าเรามั่นใจในเส้นทางหรือสายอาชีพนี้มากแค่ไหน
ยุคนั้นภาพจำของการไปเรียนต่อและทำงานที่เกาหลีมันไม่ได้ชัดเจนเท่ากับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือแม้กระทั่งจีนและญี่ปุ่น อะไรทำให้คุณมั่นใจเลือกไปเรียนต่อที่เกาหลีใต้
เราก็คิดหนักพอสมควรนะ เพราะเกาหลีเมื่อ 6 ปีก่อนมันไม่เหมือนตอนนี้ แต่มีคำพูดหนึ่งของอาจารย์ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกตุวดี Marumura) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์เกดเป็นอีกคนที่คล้ายเรา เขาเป็นอีกคนที่กล้าก้าวออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ที่ต้องไปเรียนต่อที่อเมริกาหรืออังกฤษ โดยการตัดสินใจไปญี่ปุ่นและตั้งใจจนประสบความสำเร็จ เป็นกูรูเกี่ยวกับที่นั่น ตอนนั้นอาจารย์บอกว่าไปที่ไหนก็ได้ แต่มั่นใจให้ได้ว่ากลับมาแล้วจะประสบความสำเร็จ
ก่อนจะเป็น ‘พี่ปรุง เอสเอ็ม’ รู้มาว่าคุณ เดบิวต์เข้าสู่วงการด้วยการออกรายการโทรทัศน์ของเกาหลีระหว่างที่เรียนด้วย จริงๆ แล้วเป็นการจับพลัดจับผลูหรือความตั้งใจ
เป็นความตั้งใจนะ ที่ผ่านมาเราเคยจัดรายการวิทยุ ทำงานเบื้องหน้าเบื้องหลังมาบ้าง ช่วงที่หากิจกรรมระหว่างเรียนเราก็อยากทำในสิ่งที่ชอบและถนัด เราเริ่มจากสร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการไปสมัครทำงานพิเศษของช่อง Arirang TV พอได้รู้จักคนมากขึ้น เขาก็ชวนไปแคสต์รายการ Abnormal Non-Summit เป็นรายการที่ตั้งหัวข้อขึ้นมาให้ผู้ร่วมรายการซึ่งเป็นตัวแทนจากชาติต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยใช้ภาษาเกาหลี ซึ่งหัวข้อที่เราได้รับหลากหลายมาก มีตั้งแต่การอุ้มบุญ เพศที่สาม ซึ่งมีส่วนที่เราต้องพูดเพิ่มเติมในรายการโดยอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวกับกฎหมายไทยเพื่อให้คนต่างชาติเข้าใจ
ดูเหมือนเป็นโอกาสที่ดี แต่เป็นงานที่ทำให้เราเครียดมากเหมือนกัน จากคนที่ไม่รู้ภาษาเกาหลีเลย เพิ่งเรียนได้ปีครึ่ง แล้วต้องมาพูดภาษาเกาหลีในรายการทีวี แม้จะเป็นรายการที่มีแต่คนต่างชาติ แต่ทุกคนก็อยู่เกาหลีมาร่วม 10 ปี แถมเรื่องที่ได้รับก็อ่อนไหวมาก ถ้าพูดผิดอาจจะโดนตำหนิได้จากทุกทาง
ลำพังให้อภิปรายหัวข้อเหล่านี้เป็นภาษาไทยก็ยากแล้ว คุณผ่านมันมาได้อย่างไร?
นี่เป็นจุดที่ทำให้ภาษาเกาหลีเราพุ่งทะยานมากๆ เพราะต่างจากภาษาเกาหลีที่เคยเรียนในชั้นเรียน มีประโยคหนึ่งของเกาหลีที่บอกว่า “คำว่า ‘ทำไม่ได้’ ของคุณคืออะไร ถ้าหากคุณบอกว่าทำไม่ได้ แต่อีกคนหนึ่งทำได้ล่ะ” ประโยคนี้มันฝังในใจเลย และยิ่งทำให้เราพยายามจนได้ไปยืนในรายการนั้น สำหรับเรา เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเมื่อได้รับโอกาสเราต้องทำให้ถึงที่สุด อย่ายอมปล่อยมือเด็ดขาด
คุณเรียนรู้อะไรจากการทำงานในครั้งนั้นบ้าง
ทำให้รู้วิธีการทำงานกับคนเกาหลีได้เร็วกว่าเพื่อนนักเรียนทุนด้วยกัน และเป็นเราเองที่เลือกจะหาอะไรทำตลอด สำหรับเรามันคือโอกาสที่สร้างด้วยตัวเอง เมื่อรวมกับโอกาสที่เขายื่นให้ เราก็จะมีโอกาสที่มากกว่าคนอื่น คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเก่งกาจ แต่ไม่ใช่เลยนะ เราเหมือนเด็กนักเรียนทุนทุกคน สำคัญก็คือเรามีเป้าหมายอย่างไร จะทำให้ตัวเองพิเศษกว่าคนอื่นได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องเหนื่อยเป็นพิเศษ
รวมถึงเรื่องการเรียนรู้เรื่องการเข้าสังคมคนเกาหลี หรือเรื่องวัฒนธรรมการทำงานกับคนเกาหลี จะช่วยให้เราเริ่มมีตัวตนเข้าไปอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกันกับพวกเขา จะทำให้การไปสมัครงานหรือใช้ชีวิตพบเจอคนทั่วไปง่ายขึ้น
เคยได้ยินเรื่องสังคมรวมกลุ่มของคนเกาหลี สำหรับชาวต่างชาติแล้วเรื่องนี้ทำให้คุณใช้ชีวิตลำบากมั้ย
เกาหลีจะมีคำว่า 눈치 (นุนชี) หรือสายตาที่จับจ้องสอดส่องตลอดเวลา และ 우리끼리 (อูรีกีรี) แปลว่า เฉพาะพวกเรา (Only Us) นั่นทำให้สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่เป็นกลุ่มก้อน ไปด้วยกัน เหมือนที่คนไทยเรามี ‘บ้านฉัน’ เกาหลีมี ‘บ้านเรา’ ไม่ว่าจะคิดหรือทำอะไรเขาจะเป็นไปในแนวเดียวกัน การทำหรือคิดในสิ่งที่แตกแยกไปจากกลุ่ม จะทำให้คนมองว่าคุณไม่ใช่พวกเดียวกัน จนในที่สุดจะรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคม
ตัวอย่างง่ายๆ เลยจะเห็นว่าเทรนด์แฟชั่นการแต่งตัวของคนเกาหลีสวย สไตล์ดี ทุกคนดูแต่งตัวเป็น สีไม่ฉีกไปจากกันเหมือนฮาราจุกุ ในความเป็นจริงคือทุกคนคิดมาแล้วว่าจะแต่งตัวแบบไหนเพื่อให้กลมกลืน เพราะต่อให้คุณดูดีแต่โดดเด่นสะท้อนความคิดตัวเองมากเกินไป ก็จะทำให้คนอื่นมองจนเจ้าตัวเริ่มไม่มั่นใจ นี่คือตัวอย่างนิยามคำว่า 눈치 นี้
จะเห็นว่าวัฒนธรรมแบบนี้ทำให้การคิดหาวิธีทำการตลาดนำกระแสเป็นเรื่องสนุก คาดการณ์ความต้องการของตลาด เพราะถ้าชอบคนเขาก็จะชอบเหมือนกันหมด ถ้าไม่ก็ไม่เลย ไม่เหมือนบ้านเราที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และความต้องการที่แตกต่างกันไป
ฟังดูแล้วการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนก็เป็นเรื่องดีนะคะ แล้วมวลรวมของความเครียดในสังคมเกาหลีนั้นมาจากไหน
ด้วยสังคมเกาหลีเป็นสังคมที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทุกคนแข่งกันทำให้ตัวเองขึ้นไปเหนือเส้นมาตรฐาน เกาหลีมีคำว่า สเปก ที่ชี้วัดลักษณะพิเศษของคนหนึ่งคน ฐานะ การศึกษา หน้าที่การงาน และอื่นๆ
จริงๆ เขาก็ไม่ได้เหยียด แต่เขามีลักษณะสังคมที่มีค่านิยม ความเชื่อ และบริบท ที่เป็นแบบนี้มานาน เพื่อให้อยู่รอดบางทีเราก็ต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งประมาณหนึ่ง จะได้ไม่รู้สึกแย่เกินไป จะว่าไปชาติไหนๆ ก็เป็นนะ ดังนั้น มันอยู่ที่ทัศนคติของเราแล้วล่ะ เราอยากให้เขามองเราอย่างไรก็ปฏิบัติแบบนั้น ถ้าเรารู้แล้วว่าเขามองคนที่การแต่งตัว บางทีเราก็ต้องยอมรับ อย่าไปเปรียบเทียบแล้วทำให้ตัวเองดูด้อยค่า ซึ่งมากไปกว่าการพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขา คือการเปิดใจ แล้วลองเข้าไปในโลกของเขาบ้าง
ซึ่งวิธีการของคุณก็คือ…
เราไปเข้าร่วม English Talking Club เป็นคลับที่นักเรียนจากต่างประเทศมาเปิดสอนภาษาอังกฤษฟรี มันไม่ใช่แค่การสร้างคุณค่าให้ตัวเองในสังคมเขานะ แต่มันคือการหาอะไรที่เหมาะสมกับเรา เช่น ถ้าชอบกีฬาก็ไปเข้าร่วมชมรมกีฬา ไม่ใช่รอให้ใครเปิดประตูชวนเราเข้ากลุ่มเขา แต่เราต้องเปิดประตูให้ตัวเองซึ่งจะช่วยให้เป็นที่ยอมรับง่ายขึ้น
อย่าหาว่าถามละเอียดเลยนะคะ แต่เพราะไม่ค่อยมีเรื่องนี้ให้อ่านจากที่ไหน เราสนใจวัฒนธรรมการแข่งขันในทุกๆ วงการของเกาหลี อย่างเรื่องสมัครงานนั้นโหดเหมือนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบที่เราเห็นในสารคดีมั้ยคะ
ที่เกาหลี บริษัทใหญ่ๆ จะเปิดรับพนักงานปีละ 2 รอบ ได้แก่รอบ Spring และรอบ Autumn ดังนั้น การแข่งขันจึงสูงมาก ต้องเตรียมตัวอย่างแม่นยำ เพราะถ้าพลาดแล้วต้องรอสมัครรอบใหม่เลย เช่นกัน เรามีเวลาแค่ 2 รอบนี้เท่านั้น และวีซ่าก็ใกล้หมด เลยต้องทำให้ได้
ขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ส่งเรซูเม่ก่อน โดยจะต้องเข้าไปกรอกฟอร์มในระบบ พร้อมตอบคำถามเป็นความเรียง 7 – 8 ข้อ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีคำถามแตกต่างกันไป ตัวอย่างของคำถาม เช่น ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่ มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร จงบอกลักษณะนิสัยพร้อมข้อดีข้อเสียของคุณ โดยแต่ละรอบมีผู้สมัครราว 2 หมื่นคน และฝ่ายบุคคลเขาอ่านคำตอบจริงๆ นะ จากนั้น เมื่อผ่านรอบแรก ผู้สมัครต้องสอบข้อเขียนและข้อสอบ IQ, EQ และสอบสัมภาษณ์อีก 2 รอบ รวมทั้งสิ้น 5 รอบ กว่าจะได้งาน 1 ตำแหน่งจะเห็นว่าการได้งานทำที่เกาหลีเป็นเรื่องไม่ง่าย ดังนั้น คนเกาหลีจึงไม่นิยมเปลี่ยนงาน
ของบริษัท SM ก็เช่นกัน มีรอบยื่นเรซูเม่ สอบข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์ 2 รอบ
ฟังดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เคยเข้าใจว่าคุณได้รับการทาบทามเข้าไปทำงานที่ SM หลังจากที่ทีมงานเห็นคุณในรายการ
หลังจาก SM รู้จักเราจากรายการ เขาก็ติดต่อเข้ามา แต่ติดต่อมาให้เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้กับเด็กฝึกหัดและศิลปินในค่าย ก่อนจะชวนให้ลองเข้ามาสมัครงานในตำแหน่งพนักงานประจำ แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะยอมรับคนต่างชาติเข้าไปทำงาน ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ
จำได้เลยว่าวันแรกที่เข้าไปทำงานมีโทรศัพท์เข้ามาถามหัวหน้าทีมของเราว่าเราเป็นใคร รับเข้ามาทำงานได้อย่างไร คิดดูว่าจากคนทั้งหมด 400 คน มีใครมาจากไหนไม่รู้ และชื่อยังยาวมากอีก คนทั้งบริษัทจึงตั้งคำถามว่าเราจะมาทำอะไรที่นี่
ขณะที่งานในเกาหลีหายากขนาดนั้น คุณก็ยังสอบผ่าน ได้รับข้อเสนอดีๆ จากบริษัทมากมาย อะไรทำให้คุณปัดทุกตัวเลือกตกไปแล้วยอมเลือก SM
มีเรื่องหนึ่งที่คนไม่รู้คือ เรารอคำตอบรับจากทาง SM ถึง 4 เดือน รู้ซึ้งเลยว่าการรอคอยไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนั้นมีบริษัทยาตอบรับ แล้วก็มีบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ จากอเมริกาที่ให้เงินดีมาก พูดง่าย ทำงานง่าย เพราะเป็นวัฒนธรรมแบบตะวันตก แต่ตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้ารอคำตอบจาก SM ก็อาจจะได้ทำงานกับที่นี่ ในอุตสาหกรรมที่ชอบ ได้ทำงานกับบริษัทที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศนี้ แต่ไม่ว่าจะถามใคร ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีนั้นโหดที่สุด มีคนเข้าออกหมุนเวียนมากมายเต็มไปหมด
แต่ในที่สุดเราก็ได้เข้าไปทำงานสมใจ ก่อนจะตามมาด้วยรายละเอียดมากมายรายทาง เช่น การขอวีซ่าทำงาน เพราะบริษัทเองก็ไม่เคยรับคนต่างชาติทำงานเป็นพนักงานประจำมาก่อน ก่อนหน้านี้จะมีแต่ศิลปินหรือการจ้างงานลักษณะสัญญาจ้างระยะสั้น ซึ่งเราก็ต้องไปทำเรื่องสอบวีซ่าให้ผ่าน จะเห็นว่าไม่ง่ายเลย
การเริ่มงานในเส้นทางนี้ทำให้คุณรู้สึกเสียดายสิ่งที่เรียนมาหรือเปล่า
ด้วยเนื้องานที่มีการติดต่อทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน มีเรื่องสัญญา ทำให้เราไม่เสียใจเลยที่เรียนกฎหมายมา ทุกวันนี้เรารีวิวกฎหมายเอง ช่วยในกระบวนการทำงานหากส่วนนั้นต้องเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น แล้วเราก็ยังทำมาร์เก็ตติ้งได้ด้วย จะเห็นว่าการเปลี่ยนสายงานของเรากลายเป็นเรื่องที่เสริมคุณค่าในตัวเราให้มากขึ้นกว่าเดิม เราถึงบอกเสมอว่าอย่ากลัวที่จะเปลี่ยนสาย
ที่เกาหลีมีปัญหาเรื่องการทำงานไม่ตรงสายที่เรียนมามั้ย
ไม่เลย เรียนจบอะไรมาก็สามารถสมัครงานได้หมด เพื่อนร่วมงานเราจบประวัติศาสตร์ ทุกองค์กรมีความคิดเหมือนกันว่าไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมา เมื่อเข้ามาทำงานทุกคนเริ่มจากศูนย์เหมือนกันหมด แต่เขาจะดูทัศนคติและความเข้ากันกับองค์กร ความรู้ความสามารถพิสูจน์แล้วที่การสอบข้อเขียนดังนั้นเขาจะไม่สงสัยในตัวเราอีก เพราะมีความรู้พื้นฐานตามที่องค์กรต้องการแล้ว
แต่ส่ิงที่นอกเหนือไปกว่านั้นคือทัศนคติ เขาดูความเข้ากันจริงๆ นะ ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เพราะเป็นเรื่องประสบการณ์ที่ผ่านมา พื้นฐานนิสัย ความคิดที่มีมากกว่า
อะไรคือความหนักหนาของการทำงานในบริษัทที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลี
ด้วยบริบทของการทำงานในสังคมเกาหลี แม้องค์กรใหญ่ๆ จะตั้งใจเปลี่ยนให้เป็นระดับสากล แต่ด้วยทุกคนในองค์กรยังเป็นเกาหลี ทุกอย่างจึงดำเนินด้วยภาษาเกาหลี จะมีภาษาอังกฤษบ้าง แต่การสื่อสารทุกอย่างใช้ภาษาเกาหลีทั้งหมด เราก็ต้องทำงานพิสูจน์ความสามารถตัวเองนานพอสมควร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นเรื่องภาษาของเรา ลำพังภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานก็ยากอยู่แล้ว เมื่อเจอภาษาเกาหลีเพื่อการทำงานเข้าไปก็ยากไปอีก ทางเดียวก็คือมองให้เป็นเรื่องสนุก มองปัญหาที่เจอเป็นความท้าทาย เพราะที่นี่เขาจะไม่มาจับมือสอนเราทุกขั้นตอน แต่เป็นเราที่ต้องทำตัวให้พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา
อะไรคือข้อดี-ข้อเสียของการเป็นคนไทยคนเดียวในบริษัท SM Entertainment
เขาจะมีความสงสัยในตัวเราว่าเราจะทำงานได้มั้ย การพิสูจน์ตัวเองให้เขาเห็นยากมาก และที่ผ่านมาเราเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองประมาณหนึ่ง
มีช่วงที่เราคิดว่า ทำไมเราต้องมาเจอสถานการณ์แบบนี้ด้วย ถ้าเราอยู่ในองค์กรที่ใช้ภาษาไทยหรืออังกฤษในการสื่อสารคงจะดีเสียกว่า คงจะได้เรียนรู้งานมากกว่านี้ ทำงานได้ดีกว่านี้ แรงที่เคยใส่ไปเท่าไหนได้ผลลัพธ์เท่านั้น แต่ตอนนี้แม้จะทุ่มไป 150 ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ 60 ทุกอย่างมันยากเพราะแค่คำว่าภาษา แต่เราก็ต้องยอมรับอุปสรรคนี้ เพราะเป็นข้อตกลงว่าถ้าภาษาไม่ได้ก็ทำงานไม่ได้ แทนที่จะทำงาน 1 2 3 เหมือนทุกคน เราต้อง 1 1.1 1.2 1.3 เพื่อไป 2 เหนื่อยมาก
มีจุดที่ทำให้คิดอยากออกบ้างมั้ย
มีนะ ตอนนั้นคิดทุกวัน
แล้วอะไรทำให้กลับมาสู้ต่อ
เราก็กลับมาที่จุดเดิม คิดถึงวันแรกที่เราอยากเข้าที่นี่มากๆ ช่วงเวลา 4 เดือนที่ต่อสู้ก่อนจะเข้ามาที่นี่ มันยากมากนะ ดังนั้น เราจะไม่ยอมแพ้เพราะแค่เราไม่เก่งภาษาเด็ดขาด จะว่าไปการพิสูจน์ตัวเองของเรามันก็ไม่ได้เกิดจากตัวเราอย่างเดียวนะ มันขึ้นกับโอกาสที่เจ้านายเห็นว่าเราน่าจะทำได้และมอบโอกาสนี้มาให้
ช่วงที่เราทำงานกับ SM ได้ 5 เดือน เรายังไม่เคยไปร่วม Business Trip มาก่อน แต่ครั้งนั้นต้องไปเชียงใหม่กับทีมงานเกาหลี 40 คน โดยที่เราต้องจัดการทุกอย่างคนเดียว อย่างที่รู้ว่าการทำงานที่นี่ค่อนข้างจริงจัง รายละเอียดเยอะ มีทั้งงานเตรียมตัวและดูแลจัดการหน้างาน ดูแลศิลปิน เราต้องอยู่กับพวกเขา 5 วันที่เชียงใหม่เพื่อถ่ายทำรายการที่ชื่อว่า NCT LIFE in CHIANG MAI ทุกอย่างต้องเป๊ะมาก มีติดต่อประสานงาน กันคนและแฟนคลับ ไปพร้อมๆ กับถ่ายรายการ แปลภาษา เป็นพิธีกร ทำทุกอย่างทั้งเบื้องหลังและหน้ากอง ซึ่งหลังจากผ่านงานนี้มาได้ก็เริ่มมีความมั่นใจและเริ่มเป็นที่ไว้ใจมากขึ้น
สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเมื่อคุณทำงานที่นี่
นิสัยเปลี่ยนไป จากเป็นคนที่อะไรก็ได้ เดี๋ยวนี้เข้มงวดมากขึ้น ชัดเจนว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้ ถ้าบางเรื่องไม่เป็นไปตามที่พูด เราก็จะถามกลับว่าที่ไม่ได้นั้นเพราะอะไร ต้องทำอย่างไร ถ้าไม่ได้แล้วมีวิธีแก้ไขอย่างไร
มีเรื่องตลกมากคือเราติดนิสัยนี้ไปใช้ที่บ้าน ช่วงที่ไปเที่ยวหัวหินกับครอบครัว หลังสอบถามราคารถสองแถว เราก็ถามเขาว่าเมื่อคิดราคาที่แพงกว่าปกติแล้ว ปลายทางมีที่ร่มยืนหลบฝนไหม หรือบริการอื่นๆ ตามมาหรือเปล่า เพราะเราเห็นว่าฝนกำลังจะตก ถามจี้เขาจนแม่ต้องบอกให้ใจเย็นๆ
อะไรคือข้อดี-ข้อเสียของสไตล์การทำงานแบบเกาหลี
มันทำให้เรารอบคอบมากขึ้น คิดละเอียดมากขึ้น แต่แน่นอนว่ามันเหนื่อย ช่วงนี้ที่ต้องติดต่อกับองค์กรในไทย บางทีเราก็ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการทำงาน เพราะคนที่ไม่เข้าใจก็จะคิดว่าทำไมเยอะจัง หรือถามว่าย้ำคิดย้ำทำไปหรือเปล่า แต่สำหรับเรามันคือการทำงาน
หลายครั้งเราก็สงสัยว่าคำว่าเยอะมันคืออะไร ถ้าเยอะกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง อันนี้เข้าใจได้ แต่ถ้าเยอะในเรื่องการทำงานอย่างมืออาชีพ แล้วมาบอกว่าเราเยอะ อันนี้ยอมรับไม่ได้
เรารู้สึกว่าการทำให้เท่ากับมาตรฐานมันก็ดี แต่การที่จะอยู่เหนือทุกคนได้คุณต้องทำให้มากกว่านั้น เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่การทำงานในเกาหลีสอนเรา จากชาติที่ไม่มีอะไรมาก่อน การจะก้าวไปสู่จุดที่อยากให้คนยอมรับ คุณต้องทำงานให้มากไปกว่ามาตรฐาน คุณต้องทำงานให้หนัก คุณต้องเข้มงวดเพื่อทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดมีน้อยที่สุด
จากคนที่ไม่ได้สนใจ K-Pop มาก่อน การทำงานในวงการนี้เปลี่ยนความคิดของคุณเรื่องไหนบ้าง
สิ่งหนึ่งที่ยอมรับเลยคือการทำงานนี้มันทำให้เรามองน้องๆ ที่ชื่นชอบ K-Pop เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ที่เปลี่ยนไปคือไม่ใช่แค่เข้าใจ แต่เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนทั่วไปที่อาจจะเคยชอบหรือไม่ชอบ K-Pop ได้เปลี่ยนมุมมองและมีความเข้าใจใหม่
เมื่อทำงานแล้วเราได้เห็นกระบวนการว่าเขาทำแบบนี้ถึงประสบความสำเร็จ เราก็มีโจทย์ในใจว่าแล้วบ้านเราล่ะ? เราจะทำอะไรได้บ้าง จริงอยู่เราเห็นข้อแตกต่าง แต่มันเทียบกันไม่ได้เพราะกระบวนการคิดและทำของเขาและเรามันต่างกัน แต่เราจะนำข้อดีมาปรับใช้อย่างไรให้สิ่งที่บ้านเราเคยมีกลับมามี และทำให้มันดีขึ้น ที่ทำได้ตอนนี้คือทำหน้าที่ที่ได้รับอย่างดีที่สุด เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อไป
รู้มาว่าที่วงการเพลงเกาหลีให้ความสำคัญกับเรื่องแบรนดิ้งมาก
ไม่ใช่แค่วงการเพลง แต่เราจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ ในเกาหลี ยอมลงทุนกับเรื่องแบรนดิ้งมากๆ แม้จะขาดทุนในเชิงตัวเลข แต่หากสิ่งนั้นนำมาซึ่ง Brand Value ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ ที่มองการวัดผลทางตัวเลขเป็นสำคัญ
และเพื่อทำทุกวิธีทางที่เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแล้ว เขาจะพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นจาก Database หรือ Big Data ทั้งลักษณะกิจกรรมแบบนี้ การทำการตลาดแบบนี้ การทำเพลงแบบนี้ ผลจากสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นข้อมูลชั้นดี อย่างที่บอกวิธีการทำงานแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับค่ายเพลง SM นะ แต่เป็นกับทุกอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้
เพราะอะไรเรื่องนี้ถึงสำคัญ
ถ้ามองย้อนกลับไปเราจะเห็นว่าเกาหลีเป็นประเทศที่เปลี่ยนตัวเองจากเกษตรกรรมมา สู่อุตสาหกรรมโลหะหนัก สู่เทคโนโลยี สู่ IT Base นั่นแปลว่ามีการเตรียมการ มีการวางแผนล่วงหน้าระยะยาวตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเทียบกับบ้านเรา ที่ยึดปฏิบัติในสิ่งที่คิดว่าดีอยู่แล้ว จนไม่ได้ต่อยอดหรือกล้าทำอะไรจากกรอบเดิมๆ ที่มี ขณะที่เกาหลีจะยอมลงทุนทำสิ่งใหม่ไปก่อนตามข้อมูลที่มีเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่า มันจึงตอบว่าทำไมการทำงานของเกาหลีเครียด เพราะเขาทำงานในความคิดว่าทำให้ดีที่สุด ผิดพลาดไม่ได้ และไม่มีอะไรจะเสีย
เช่นการทำเพลงสักเพลง ไม่ใช่แค่ว่าทำเพลงออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แต่การจะขึ้นมาเป็นค่ายเพลงอันดับหนึ่งของเอเชียได้ ก็ต้องเป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ตามใคร วิธีการก็คือการคาดการณ์ล่วงหน้าจากข้อมูลชุดใหญ่ที่มี ทั้งจากบริษัทและหน่วนงานราชการ โดยบริษัทจะทำการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแน่นหนาเพื่อให้เห็นแนวโน้มตลาดในอนาคตทั้งหมดและป้องกันการผิดพลาดให้มากที่สุด
เรื่องการฟังเพลงพอถึงจุดหนึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่ตามฟังเพลงของศิลปินรุ่นใหม่แล้ว ที่เกาหลีเขามีปัญหานี้หรือเปล่าคะ
ที่เกาหลีเขาพยายามสร้างให้เกิดสังคมการฟังเพลงแบบครอบครัวหรือการรับคอนเทนต์ร่วมกันแม้จะต่างเจเนอเรชัน เช่น สมมติเราตามฟังเพลง Super Junior ตอนนี้มี EXO แม้อนาคตเราจะไม่ได้ตามฟังเพลงเกาหลีวงใหม่ๆ ต่อ แต่ลูกเราที่ฟังเพลงด้วยกันก็จะได้รับอิทธิพลจากตรงนั้น และตามฟังเพลง EXO หรือวงอื่นๆ ต่อไป เป็นการส่งต่อ ดังนั้น เวลาไปดูคอนเสิร์ตก็จะสามารถดูร่วมกันได้ เป็นแผนที่มีมานานแล้วก่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลเสียอีก สังเกตได้จากการเดบิวต์วงใหม่แต่ละครั้ง จะมีจุดที่เชื่อมต่อกัน เพื่อให้กลุ่มคนฟังโตไปด้วยกัน ผูกพันไปด้วยกัน
การมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่ดี สำคัญกับสังคมหรือประเทศยังไงบ้าง
เราคิดว่าเพราะสื่อค่อนข้างมีอิทธิพลต่อคนนะ แม้บ้านเราจะมีปัจจัยแทรกซ้อน แต่ที่เกาหลีจะเข้มงวดและมีอิทธิพลสูงมากจนนำความคิดคนได้
และการเข้ามาทำงานเป็นสื่อของเกาหลีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากขั้นตอนระบบระเบียบ เขามีกฎเกณฑ์การคัดเลือกที่เข้มงวด เพราะการแข่งขันที่สูงมาก และคุณต้องเป็นกระบอกเสียงให้สังคมได้จริงๆ เขาจึงต้องการคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถในการวิเคราะห์ เขียนข่าว และนำเสนอ สิ่งที่สะท้อนสังคมให้มากที่สุด จะเห็นว่าสื่อเกาหลีเล่นงานจนประธานาธิบดียังต้องลงจากตำแหน่ง สื่อเขามีสิทธิและเสรีภาพขนาดที่ว่าคุ้ยข่าวจนรู้ว่าปาร์คกึนเฮไปทำหน้า นวดหน้า กี่โมง หรือทำอะไรอยู่ขณะที่เรือล่ม นักข่าวไม่ใช่แค่เขียนข่าวแล้วออกรายงาน แต่เขาสืบข่าว ในขณะเดียวกันต้องรู้ไว้ว่าถ้าคุณเป็นบุคคลในข่าว มีที่ยืนในสังคมแล้ว คุณทำผิดไม่ได้เลยนะ
นั่นคือเรื่องของวงการสื่อ ส่วนอุตสาหกรรมบันเทิงซึ่งเป็นหนึ่งในวงการสื่อ เป็น Soft Power เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนทัศนะ พฤติกรรม และการกระทำของฝ่ายตรงข้ามได้ โดยส่งผลให้เกิดแรงดึงดูดเป็นที่สนใจ และกลายเป็นที่ยอมรับในที่สุด ซึ่งเกาหลีใต้เป็นชาติที่เก่งเรื่องนี้ ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อทุกอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อความงาม อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมบันเทิง และอื่นๆ จะเห็นว่า ส่งผลถึงกันไปหมด โดยสรุปคือเป็นเรื่องที่ดีนะถ้าอุตสาหกรรมบันเทิงแข็งแรงมากพอ
เดี๋ยวนะ นี่เราเล่าลึกไปมั้ย
ไม่เลยค่ะ กำลังสนุก
ทำให้นึกถึงโจทย์ของบ้านเราในยุคหนึ่งที่ถามว่าอะไรคือ T-Pop ความเป็นไทยคืออะไร คนไทยอาจจะยึดติดว่าต้องใส่อะไรที่คิดว่าไทยลงไป แต่จริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นเลย
กลับมาที่ K-Pop อะไรคือซาวนด์ของ K-Pop ในเมื่อก็คล้ายกันกับ F4 ของไต้หวัน หรือเพลงของญี่ปุ่น ดังนั้น มันคือภาษาหรือเปล่า หรือมันคือหน้าตาของศิลปินที่ดูแล้วรู้ว่านี่คือ K-Pop หรือเป็นสไตล์หรือเปล่า คำถามคือสุดท้ายแล้วความเป็นไทยคืออะไร