เมืองคือสิ่งปลูกสร้างที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ เมืองหนึ่งเมืองมีองค์ประกอบมากมาย ตั้งแต่ดอกหญ้าต้นเล็กข้างฟุตบาท กลุ่มตึกสูงที่พาดผ่านเส้นขอบฟ้า รถราหลากสีสันบนท้องถนน และผู้คนนับล้านที่เดินขวักไขว่อยู่ทุกซอกมุม

ท่ามกลางการพัฒนาที่รุดหน้า เราเคยตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงแสนรวดเร็วของเมืองทุกวันนี้หรือเปล่า เราเคยสงสัยไหมว่าการเติบโตของเมืองที่ใครๆ ต่างพูดกันจนชินหูนั้น ต้องเป็นไปในทิศทางใด แบบไหนจึงจะเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีของเมือง

The Cloud จึงจัดเวทีเสวนาเล็กๆ ชื่อ Talk of The Cloud 01 : สร้างบ้านแปลงเมือง’ ในวันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เวลา 17.30 – 20.30 น.

เวทีเสวนาครั้งนี้จะช่วยตอบข้อสงสัยเรื่องเมือง ผ่าน 4 โครงการพัฒนา ฟื้นฟู อนุรักษ์ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ย่าน ชุมชน และผู้คนด้วยความเข้าอกเข้าใจและปรารถนาดี โดย 4 วิทยากรจากสตูดิโอออกแบบ สถาบันการศึกษาและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ คือ

  1. โครงการธนบุรีคลองสร้างสรรค์และศูนย์เรียนรู้บางประทุน โดยอาจารย์ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ สถาบันอาศรมศิลป์
  2. โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2 โดยคุณกิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา บริษัท Shma Soen
  3. โครงการออกแบบและจัดทำแผนแม่บทการฟื้นฟูคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณแพรวพร สุขัษเฐียร ใจบ้านสตูดิโอ
  4. โครงการ Neighbourhood Bangkadi (เนเบอร์ฮูด บางกะดี) โดยคุณโฉมชฎา กุลดิลก บริษัท SC ASSET

เราจะไปนั่งฟังเสวนาครั้งนี้กันบริเวณลานดาดฟ้า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งตั้งอยู่ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก คุณจะได้สัมผัสทัศนียภาพเมืองเก่าย่านเจริญกรุง มองเห็นสเน่ห์วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ผสมผสานไปกับการพัฒนาตามยุคสมัยใหม่อย่างกลมกลืน โดยมีตึกสูงระฟ้าย่านสีลมเป็นฉากหลัง

4 โครงการที่จะได้ฟังบนเวทีเสวนา

โครงการธนบุรีคลองสร้างสรรค์และศูนย์เรียนรู้บางประทุน
เจ้าของโครงการ:
สถาบันอาศรมศิลป์
วิทยากร: อาจารย์ยิ่งยง ปุณโณปถัม

เมื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเกิดขึ้นพร้อมกันที่ริมฝั่งคลอง ฟังวิทยากรซึ่งเป็นทั้งนักออกแบบและนักอนุรักษ์จาก ‘สถาบันอาศรมศิลป์’ เล่าเรื่องการสืบสานภูมิปัญญาและชีวิตของชุมชนชาวสวนริมคลองย่านธนบุรี ให้คงอยู่คู่กับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ใน ‘โครงการธนบุรีคลองสร้างสรรค์’

และการออกแบบก่อสร้าง ‘ศูนย์เรียนรู้บางประทุน’ ศาลาไม้ไผ่หลังใหม่เอี่ยมที่กลายมาเป็นศูนย์กลางด้านกิจกรรมและจิตใจของผู้คนในชุมชนริมคลองบางประทุน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้คนในย่านตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ จากความร่วมมือร่วมใจ นำไปสู่การได้รับรางวัล Honorable Mention ในประเภท Social Responsible Architecture หรือสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนที่งาน ARCASIA Awards for Architecture ประจำปี 2018 ของศาลาไม้เล็กๆ หลังนี้

พวกเขาทำได้อย่างไร เรามาฟังคำตอบไปพร้อมกัน

โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2
เจ้าของโครงการ:
บริษัท Shma Soen
วิทยากร: คุณกิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา

กรุงเทพฯ มีเศษพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจายอยู่ทั่วเมือง ‘โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2’ เป็นตัวอย่างที่ดีมากของการเปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วนรกร้างย่านอุรุพงษ์ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยกิจกรรมที่มีประโยชน์ มีความหมาย และมีคุณค่าต่อชุมชน

เราจะได้ฟังภูมิสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมจากบริษัท ‘Shma Soen’ เล่าถึงขั้นตอนในการเปลี่ยนความแห้งแล้ง เป็นโอเอซิสที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวกลางเมืองที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบ ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ผู้คนย่านอุรุพงษ์ได้มีโอกาสบอกเล่าความคิดเห็นและสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ

โครงการนี้จึงมีพลังอย่างมหาศาลในการขับเคลื่อนเมืองไปสู่อนาคตจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ใต้ทางด่วน

โครงการออกแบบและจัดทำแผนแม่บทการฟื้นฟูคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่
เจ้าของโครงการ:
ใจบ้าน สตูดิโอ
วิทยากร: คุณแพรวพร สุขัษเฐียร

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในเมืองเชียงใหม่มีลำคลองเก่าแก่ชื่อว่า ‘คลองแม่ข่า’ ไหลผ่านใจกลางเมืองมายาวนาน นับตั้งแต่สร้างเมืองเมื่อ 700 ปีก่อน จนเมื่อการคมนาคมทางบกเข้ามาแทนที่ ท่าเรือหน้าบ้านกลายเป็นหลังบ้าน สายน้ำแห่งชีวิตที่มีความสำคัญมายาวนานหลายศตวรรษ จึงกลายเป็นเพียงทางระบายน้ำ ที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นมลพิษต่อสิ่งมีชีวิต พืชพรรณและผู้คนโดยรอบ

สถาปนิกชุมชนจาก ‘ใจบ้าน สตูดิโอ’ จะมาเล่าให้เราฟังถึงการออกแบบและจัดทำแผนแม่บทการฟื้นฟูคลองแม่ข่า ร่วมกับชาวเชียงใหม่ ไม่เพียงน้ำในลำคลองเท่านั้น แต่พวกเขาทำความเข้าใจถึงสิ่งที่มีคุณค่า ตั้งแต่สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ต้นไม้ใหญ่ รวมถึงลักษณะทางกายภาพและสังคมหลากหลายมิติที่หล่อเลี้ยงคลองแม่ข่าตลอดมา

เพื่อหมุดหมายในการเปลี่ยนทางระบายน้ำเสียแห่งนี้ ให้เป็นสวนสาธารณะยาวขนาบสองฝั่งคลองที่ยาวที่สุดในภาคเหนือ

โครงการ Neighbourhood Bangkadi (เนเบอร์ฮูด บางกะดี)
เจ้าของโครงการ:
บริษัท SC ASSET
วิทยากร: คุณโฉมชฎา กุลดิลก

การพัฒนาพื้นที่ทุกรูปแบบมีความสำคัญต่อการเติบโตของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าโครงการนั้นจะเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือสร้างพื้นที่ใหม่ เพียงแต่การพัฒนานั้นๆ ต้องเกิดจากความเหมาะสมในเชิงบริบทและความเข้าใจพื้นที่อย่างลึกซึ้ง

เราคิดว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์หรือองค์กรเอกชน ก็เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เมืองเติบโตเช่นกัน เพราะพวกเขากระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ย่านต่างๆ แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นนายทุนตัวโตลงมานั่งจับเข่าคุยกับคนตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

เราจึงชวนบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง SC ASSET มาเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ ‘Neighbourhood Bangkadi’ (เนเบอร์ฮูด บางกะดี) ที่พวกเขาร่วมมือกับ Redek ซึ่งเป็นศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อลงไปนั่งคุยกับชาวบ้านย่านบางกระดี ถึงความต้องการด้านพื้นที่สาธารณะ รวมถึงลงทุนทำการศึกษาด้าน Human-Centric เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของการอยู่อาศัยในเมืองแบบจริงๆ จังๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในโครงการนี้

มาฟังคำตอบจาก SC ASSET ไปพร้อมกัน ว่าการเติบโตของเมืองในมุมมองของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยุคนี้คืออะไร และพวกเขาตั้งใจมอบอะไรให้กับเมืองบ้าง

Talk of The Cloud 01

สร้างบ้านแปลงเมือง

วัน-เวลา

เวลา 17.30 - 20.30 น.

สถานที่

ลานดาดฟ้า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

จำนวนผู้เข้าร่วม

30 คน