The Cloud X SC Asset

 

เมืองถูก ‘แปง’ และ ‘เปลี่ยนแปลง’ อยู่ตลอดเวลา

จากกลุ่มบ้านเรือนไม่กี่หลัง คลองร่องสวน และทุ่งนาป่าเขา พัฒนาเป็นตึกสูงเสียดฟ้าขนาดมหึมาเรียงตัวเบียดเสียดบรรจุผู้คนนับล้านเอาไว้ เราเชื่อว่าหลายคนก็คงสงสัยไม่ต่างกัน ว่าการพัฒนาที่ว่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่ที่ทิศทางใด

The Cloud จึงจัดเวทีเสวนาเล็กๆ ในชื่อ ‘Talk of The Cloud 01 : สร้างบ้านแปลงเมือง’ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 บริเวณลานดาดฟ้า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งตั้งอยู่ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก 

การพัฒนาเมือง

ในเสวนาครั้งนี้เราได้รับคำตอบเรื่องการพัฒนาย่าน ชุมชน และผู้คน ให้เติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองผ่าน 4 โครงการพัฒนา ฟื้นฟู อนุรักษ์ โดย 4 วิทยากรจากสตูดิโอออกแบบ สถาบันการศึกษา และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่หลายคนรู้จักกันดี

และได้ทำความเข้าใจเรื่องการ ‘สร้างบ้านเมือง’ และการ ‘เปลี่ยนแปลงเมือง’ ซึ่งนำไปสู่การ ‘เติบโตของเมือง’ ซึ่งไม่ใช่แค่การพัฒนา แต่ต้องปรับปรุงและฟื้นฟูทุกองค์ประกอบของพื้นที่และเสน่ห์ของวิถีชีวิตดั้งเดิม เพื่อให้ผสมผสานไปกับการพัฒนาตามยุคสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน

ใครที่พลาดโอกาสมาฟังเสวนาไม่ต้องเสียใจ เพราะเราได้บันทึกคำตอบจากวิทยากรทั้ง 4 ท่าน มาให้อ่านบนหน้าจอต่อไปนี้แล้ว

 

โครงการธนบุรีคลองสร้างสรรค์และศูนย์เรียนรู้บางประทุน

เจ้าของโครงการ: สถาบันอาศรมศิลป์
วิทยากร: อาจารย์ยิ่งยง ปุณโณปถัม

การพัฒนาเมือง

ธนบุรีคลองสร้างสรรค์

กรุงเทพฯ เคยมีฉายาว่าเวนิสตะวันออก และธนบุรีในอดีตก็เต็มไปด้วยคลอง ร่องสวน มากมาย คลองมีความสำคัญใน 4 มิติคือ เป็นโครงข่ายพื้นที่สีเขียวและที่รับน้ำที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีชุมชนดั้งเดิม ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมที่เข้มแข็ง รวมถึงมีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต อันยาวนาน ทำให้เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ทุกวันนี้คลองยังอยู่ แต่การเข้ามาของถนนและความเป็นเมืองสมัยใหม่ ทำให้คลองหน้าบ้านซึ่งเคยเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คน กลายภาพเป็นระบบระบายน้ำหลังบ้านแสนสกปรกที่ไม่มีใครสนใจ

คำตอบของการพัฒนาพื้นที่ริมคลองให้ยังคงคุณค่าในทุกมิติอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนของโครงการธนบุรีคลองสร้างสรรค์ คือ Thonburi Creative Canal Platform ซึ่งประกอบไปด้วย

01 Big Data Platform การสร้างระบบฐานข้อมูลสภาพกายภาพคลอง เช่นภาพ Canal View 360 องศา แบบเดียวกับ Street View บนฐาน Online Map ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลซึ่งแสดงรายละเอียด คุณค่า และศักยภาพ ของคลองแต่ละสาย

02 Social Platform การสร้างฐานการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้กับคนทั่วไปในสังคมผ่านโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ โดยเผยแพร่ชุดความรู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ ไปจนถึงกิจกรรมการมีส่วนร่วมต่างๆ เช่น กิจกรรมล่องเรือทัศนศึกษาทางคลอง เพื่อให้คนนอกพื้นที่สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้ทางสื่อออนไลน์

03 Creative District Solution จาก 2 แพลตฟอร์มข้างต้น เมื่อคนในและนอกพื้นที่ผู้สนใจการอนุรักษ์และฟื้นฟูคลองมีโอกาสได้ทำความเข้าใจและมาพบกัน จะนำไปสู่การพัฒนาฟื้นฟูคลองและพื้นที่ชุมชนริมน้ำในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยนวัตกรรมในการร่วมมือและร่วมทุนที่ต่อยอดต้นทุนทางกายภาพ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ของพื้นที่ ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่ Win-Win Solution ของทุกคนในเมือง (Collaborative City)

การพัฒนาเมือง

ศูนย์เรียนรู้บางประทุน

จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองบางประทุน ซึ่งรวมตัวกันเป็น ‘กลุ่มรักษ์บางประทุน’ เพื่อบอกเล่าคุณค่าของคลองและชุมชนชาวสวนดั้งเดิมให้ทั้งคนในและคนนอกชุมชนรับรู้ ต่อมาสถาบันอาศรมศิลป์ได้เข้ามาช่วยชาวบ้านเก็บข้อมูลชุมชนในมิติต่างๆ ทำให้ได้รู้ว่าฝั่งธนบุรียังหลงเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่มีภูมิปัญญาอยู่มากมาย

จากการเก็บข้อมูลพัฒนาไปสู่การจัดกิจกรรมร่วมกันของนักศึกษาสถาบันอาศรมศิลป์และชาวบ้านบางประทุน และท้ายที่สุดต่อยอดมาสู่โปรเจกต์พัฒนาพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมประจำชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับกิจกรรมอย่างเป็นหลักเป็นแหล่ง

จากเพิงก๋วยเตี๋ยวริมท้องร่องซึ่งเป็นจุดตัดการสัญจรของทุกคนในชุมชน ชาวบ้านและทีมสถาบันอาศรมศิลป์ช่วยกันสร้างศูนย์เรียนรู้เล็กๆ ขึ้นที่นี่ ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนถึงการสร้างโมเดล 1:1 และเริ่มลงมือก่อสร้างเอง

ไม่ต้องรอให้สร้างเสร็จ พื้นที่นี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ทันทีที่เริ่มกระบวนการ เพราะชาวบ้านได้รื้อฟื้นภูมิปัญญาเกี่ยวกับไม้ไผ่และการปูพื้นด้วยดินท้องร่องที่เคยมีกลับมาใช้อีกครั้ง เป็นการเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่าไปยังเด็กรุ่นใหม่ที่มาช่วยกันก่อสร้างศูนย์เรียนรู้บางประทุน

การพัฒนาเมือง

การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัย 4 ปัจจัยหลัก คือ

01 คนในอยู่ได้ อยู่ดี ศูนย์เรียนรู้บางประทุนคือตัวอย่างของปัจจัยนี้ คนในพื้นที่ดั้งเดิมอยู่อย่างเข้าใจในบริบทดั้งเดิมและเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลง

02 คนนอกมาดี คนที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่เรียนรู้และทำความเข้าใจบริบท อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์เดิม ของพื้นที่และคนในพื้นที่ดั้งเดิม เพื่อให้การเข้ามากลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับพื้นที่เดิมให้มากที่สุด

03 สร้างแนวร่วม เชื่อมเครือข่าย ไม่เฉพาะคนในและคนนอกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ แต่จะต้องไปสร้างความเข้าใจเพื่อสร้างแนวร่วมและเครือข่ายกับกลุ่มคนนอกพื้นที่ทั่วๆ ไปด้วย เพื่อความร่วมมือและการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองไปในทิศทางเดียวกัน

04 การมองการเชื่อมโยงระดับเมือง จากกระบวนการมีส่วนร่วมทางความคิดและออกแบบ การอนุรักษ์และพัฒนาจะต้องไม่จบแค่ในพื้นที่เล็กๆ แต่ละพื้นที่อีกต่อไป แต่ต้องเชื่อมโยงถึงกันเป็นโครงข่ายระดับเมือง

อาจารย์ยิ่งยงและทีมสถาปนิกชุมชนของสถาบันอาศรมศิลป์ศึกษาและทำโครงการเกี่ยวกับคลองต่างๆ มากว่า 5 ปี โดยที่ผ่านมาเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูคลองในแต่ละพื้นที่ย่อย จนถึงโครงการล่าสุดอย่าง ‘ธนบุรีคลองสร้างสรรค์’ ที่เน้นความต่อเนื่องเป็นภาพใหญ่ของการอนุรักษ์และฟื้นฟูโครงข่ายคลองฝั่งธนบุรีทั้งหมด 

 

โครงการ Neighbourhood Bangkadi (เนเบอร์ฮูด บางกะดี)

เจ้าของโครงการ: บริษัท SC ASSET
วิทยากร: คุณโฉมชฎา กุลดิลก

การพัฒนาเมือง

‘คนนอกมาดี’ หนึ่งในปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง SC ASSET ผู้สร้างที่อยู่อาศัยอย่างหมู่บ้านจัดสรร คือคนนอกที่เดินเข้าไปร่วมใช้งานพื้นที่กับชาวบ้านในชุมชนเดิม สิ่งที่ SC ASSET พยายามเสมอมาในการเข้าไปอย่าง ‘คนนอกมาดี’ และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อย่างเข้าใจบริบทพื้นที่และชุมชนที่อยู่อาศัยเดิม

ไม่ใช่แค่เข้าไปในพื้นที่อย่างเข้าใจเท่านั้น แต่การเข้าไปต้องช่วยแก้ไขปัญหาและยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ด้วย

 

อยู่ไหว

…ชีวิตดีๆที่ลงตัว?

ทุกวันนี้ชีวิตคนเมือง ก็โอนะ… โอโห จะทนไม่ไหวแล้ว!! ปัญหามากมาย ต้องอยู่ให้เป็น แต่รู้ไหมว่า #ทนไหวไม่ใช่ทางออก มาพบคำตอบของพื้นที่สาธารณะ ที่คิดจากชีวิตของคนในย่านจริงๆ ที่ #Neighbourhoodบางกะดี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: www.scasset.com/theneighbourhood#รู้ใจ #SCAsset #LivingSolutionsProvider

SC Asset 发布于 2018年10月1日周一

‘อยู่ไหว’ หนังสั้นที่สร้างจาก Insight จริง ซึ่งบอกเล่าความเคยชินในการอยู่กับปัญหาของคนกรุงเทพฯ มองในแง่ดีก็ถือว่าดีที่ทุกคนพร้อมจะปรับตัวให้อยู่ร่วมกับปัญหาได้ แต่จริงๆ แล้วปัญหาเหล่านั้นสมควรได้รับการแก้ไขไม่ใช่หรือ?

กรุงเทพฯ เติบโตและขยายตัวกว้างไกลออกไปยังเขตชานเมือง แต่ยังมีจุดศูนย์กลางกระจุกตัวอยู่ที่เมืองชั้นใน ทำให้ทุกวันนี้เรายังต้องเดินทางไกล ฝ่ารถติดเข้ามาในเมืองชั้นในอยู่ทุกวี่วัน หลักการในการเติบโตของเมืองที่ อาจารย์นิรมล กุลศรีสมบัติ แห่งศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เคยกล่าวไว้คือ เมืองต้องการ Sub-center หรือศูนย์กลางย่อย กระจายตัวอยู่ตามโซนต่างๆ ของเมือง

“ในฐานะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์อยู่แล้ว เราจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองได้ยังไงบ้าง” นี่คือสิ่งที่ SC ASSET ตั้งคำถาม

เมืองคือผลรวมของหลากหลายย่านที่เชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียว การพัฒนาย่านให้มีประสิทธิภาพจะทำให้เมืองเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คำตอบของ SC ASSET ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองที่ดีคือ “เราจะพัฒนาย่านให้เติบโตแข็งแรงไปพร้อมกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเรา”

 

Neighbourhood บางกะดี

เมื่ออยากร่วมพัฒนาย่าน บริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง SC ASSET จึงทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของย่านและชุมชน โดยลงไปทำรีเสิร์ชและกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

โดยเก็บตัวอย่างจากผู้อยู่อาศัยและผู้คนในย่านบางกะดีกว่า 500 คนถึงสิ่งที่ชุมชนและพื้นที่นี้ต้องการ จากนั้นแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งจากพื้นที่ขายมาออกแบบพัฒนาจริงตามงานวิจัย เพื่อช่วยแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในย่านบางกะดี

Wish Box ถ้าแถวบ้านมีคงดีไม่น้อย

สำหรับเรา…เสียงของคุณจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงพบกับ #Neighbourhoodบางกะดี พื้นที่จาก SC Asset ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชน ร่วมกันออกความคิดเพื่อนำไปออกแบบ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันเพราะบ้านที่ดี…ไม่ได้จบอยู่แค่ในรั้ว ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการได้ที่: www.scasset.com/TheNeighbourhood #SCAsset #LivingSolutionsProvider #รู้ใจ #ForGoodMornings

SC Asset 发布于 2018年10月21日周日

โดยร่วมมือกับ Redek ศูนย์บริการงานวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำงานวิจัยในการพัฒนาย่านบางกะดี ภายใต้แนวคิด Human-centric ซึ่งมีกรอบงานวิจัย (Research Methodology) 3 ด้าน คือ

01 Future Living Trends การศึกษาแนวโน้มการอยู่อาศัยในอนาคต เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มด้านการดูแลสุขภาพ  

02 Site & Program Analysis การศึกษาพื้นที่และคนที่อยู่ในพื้นที่ย่านนั้นๆ ถึงตัวตนและพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึก

03 User Behaviour Analysis การศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค โดยใช้หลักการของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

การพัฒนาเมือง

การพัฒนาเมือง

การพัฒนาพื้นที่ทุกรูปแบบมีความสำคัญต่อการเติบโตของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าโครงการนั้นจะเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือสร้างพื้นที่ใหม่ เพียงแต่การพัฒนานั้นๆ ต้องเกิดจากความเหมาะสมในเชิงบริบทและความเข้าใจพื้นที่อย่างลึกซึ้ง

โครงการ ‘Neighbourhood บางกะดี’ และสิ่งที่คุณโฉมชฎาเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นเครื่องการันตีว่าทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่คนตัวเล็กๆ ไปจนถึงนายทุนตัวโตอย่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ล้วนมีบทบาทร่วมกันในการพัฒนาเมืองและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืน

 

โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2

เจ้าของโครงการ: บริษัท Shma Soen
วิทยากร: คุณกิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา

การพัฒนาเมือง

สวนสาธารณะ

สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มีอยู่เพียง 35 สวน รวมเป็นพื้นที่ 3,651 ไร่ ในขณะที่ห้างสรรพสินค้ามีอยู่ถึง 170 แห่ง ส่งผลให้ปริมาณพื้นที่สีเขียวต่อคนในกรุงเทพฯ มีเพียง 6 ตร.ม. เท่านั้น ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีปริมาณพื้นที่สีเขียวถึง 66 ตร.ม. ต่อคน

กรุงเทพฯ มีพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประมาณอยู่ถึง 75,320 ไร่ คิดเป็น 8% ของพื้นที่ทั้งหมด ในขณะที่พื้นที่สวนสาธารณะ 3,651 ไร่ นั้นคิดเป็นเพียง 0.387% สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่รกร้างน้อยกว่าหลายเท่าตัว

หนึ่งในพื้นที่รกร้างที่ว่า คือพื้นที่ใต้ทางด่วน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ๆ น่าสนใจ เพราะเชื่อมโครงข่ายเมืองเข้าไว้ด้วยกัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่ใต้ทางด่วนอยู่ทั้งสิ้นถึง 4,500 ไร่ หรือเท่ากับสวนลุมพินี 12.5 สวน คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถพัฒนาพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนเหล่านี้ ให้กลายมาเป็นพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับเมืองและผู้คนในชุมชนได้

“สิ่งเหล่านี้ฟังดูเหมือนจะเป็นปัญหา แต่ถ้ารู้วิธีจัดการกับพื้นที่รกร้างเหล่านั้น ปัญหาก็จะกลายเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้” คุณกิรินทร์เริ่มอธิบาย

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่การออกแบบ การใช้ประโยชน์ของชุมชนและสร้างการตระหนักที่ดีเรื่องพื้นที่รกร้างให้กับคนในสังคม

การพัฒนาเมือง

ลานกีฬาพัฒน์ 2

โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2 บริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ ถนนพระรามที่ 6 เกิดขึ้นเพื่อนำพื้นที่รกร้างข้างซอยพญานาคซึ่งเดิมเป็นแหล่งรวมขยะ สุนัขจรจัด มาพัฒนาด้วยแนวคิด ‘ลานบ้าน ลานดิน’ โดยเติมกิจกรรมอเนกประสงค์หลายชนิดให้กับชุมชน ทั้งลานกีฬา ตลาด พื้นที่ศิลปะวัฒนธรรม และสวนสาธารณะชุมชน

โดยใช้กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับผู้คนในชุมชนทั้ง 5 ที่อยู่โดยรอบคือ ชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวใต้ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก ชุมชนวัดบรมนิวาส และชุมชนคลองส้มป่อย

กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมในครั้งแรก เริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับชุมชนถึงโครงการที่จะเกิดขึ้น จากนั้นจึงเริ่มหาความต้องการรูปแบบการใช้พื้นที่ๆ เหมาะสมร่วมกับชุมชน

การทำงานร่วมกับชาวบ้านในอีกหลายครั้งต่อมา คือการปรับแบบจากการรับฟังความคิดเห็นของชาวชุมชน พร้อมกับหาแนวทางให้ชาวชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการลานนี้หลังจากเกิดการใช้งาน เพื่อให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนลานกีฬาแห่งนี้

การพัฒนาเมือง

การปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วนพงษ์ในครั้งนี้นอกจากเป็นการสร้างความเป็นธรรมชาติ ความมีชีวิตชีวา ของสังคมเมืองให้มีความร่มรื่น สามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้มาใช้บริการในฐานะพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของเมืองแล้ว

‘โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2’ ยังถือเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ถือเป็นพื้นที่รวมคนและพื้นที่สันทนาการระดับย่านที่มีผลลัพธ์ในระดับเมือง จากการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเดิมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นเพื่อสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของผู้คน

 

โครงการออกแบบและจัดทำแผนแม่บทการฟื้นฟูคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่

เจ้าของโครงการ: ใจบ้าน สตูดิโอ
วิทยากร: คุณแพรวพร สุขัษเฐียร

การพัฒนาเมือง

คลองแม่ข่า

คลองแม่ข่าคือลำคลองเก่าแก่ที่ไหลผ่านใจกลางเมืองเชียงใหม่มายาวนาน นับตั้งแต่สร้างเมืองเมื่อ 700 ปีก่อน เดิมคลองแม่ข่ามีบทบาทเป็นตัวเชื่อมคูเมืองและแม่น้ำปิงเข้าหากัน และทดน้ำจากดอยสุเทพเข้าสู่แปลงนาของชาวบ้าน

จนเมื่อเชียงใหม่เริ่มพัฒนาเป็นสังคมเมือง มีการค้าขายมากขึ้น และการคมนาคมทางบกเข้ามาแทนที่เรือกสวนไร่นา ท่าเรือหน้าบ้านกลายเป็นหลังบ้าน สายน้ำแห่งชีวิตที่มีความสำคัญมายาวนานหลายศตวรรษจึงกลายเป็นเพียงทางระบายน้ำที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นมลพิษต่อสิ่งมีชีวิต พืชพรรณ และผู้คนโดยรอบ

การพัฒนาเมือง

Imagine Maekha

โครงการออกแบบและจัดทำแผนแม่บทการฟื้นฟูคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเล่นว่า Imagine Maekha ซึ่งไม่ใช่การจัดทำแผนบำบัดน้ำเน่าเสียในคลองเท่านั้น แต่เป็นการวางแผ่นแม่บทในการฟื้นฟูคลองในทุกมิติ ทั้งในแง่การเป็นสิ่งแวดล้อมของเมือง การเป็นตำแหน่งแห่งที่ของโบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรม การเป็นเส้นทางสัญจรและที่อยู่อาศัยของผู้คน และโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

คณะทำงานประกอบไปด้วย 4 ภาคส่วนด้วยกันคือ ภาครัฐ ภาคเศรษฐกิจ ภาคการศึกษา และภาคีเครือข่าย โดยมีแนวความคิดในการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่คือ สร้างพื้นที่สาธารณะของเมือง จัดพื้นที่อยู่อาศัยและกฎระเบียบร่วมกัน เก็บรักษาพื้นที่ที่มีคุณค่า สร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจของเมือง และเชื่อมเส้นทางเข้ากับพื้นที่สถานสำคัญ

การพัฒนาเมือง

ในส่วนของการจัดพื้นที่อยู่อาศัย เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีชุมชนแออัดเพิ่มถึงปีละ 7 – 8% โดยมีบ้านเป็นเพิงไม้ ปลูกในพื้นที่หวงห้าม เขตโบราณสถาน ที่ดินสาธารณะ กว่าพันหลังคาเรือน แนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่หลากหลายตลอดแนวคลองแม่ข่าเป็นสิ่งที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น โดยอาศัย 5 แนวทางซึ่งจะใช้แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ ดังนี้

01 Remove รื้อย้ายออกจากพื้นที่

02 Relocation รื้อย้ายไปพัฒนาในที่ดินใกล้เคียง

03 Upgrading ปรับปรุงในที่ดินเดิมบางส่วน

04 Reblocking ปรับปรุงในที่ดินเดิมทั้งหมด

05 Land Sharing แบ่งปันที่ดินร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน

และมีแนวทางในการลดภาวะน้ำเสียที่จะเข้าโรงบำบัดน้ำเสีย ด้วยการแยกน้ำผิวดินอย่างน้ำฝนออกจากน้ำสกปรกที่มาจากการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำผิวดินจะไหลมาระบายที่คลองแม่ข่าโดยตรง ในขณะที่น้ำสกปรกที่ถูกบำบัดจะไหลไปลงที่แม่น้ำปิง

หลายสิบหลายร้อยปี เมื่อเวลาผ่าน ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เช่นกันกับเมืองเชียงใหม่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทั้งหน้าตาเมือง ความเชื่อ ความหมายของเมือง และผู้คนในเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือเรื่องราวของทักษาเมืองที่ยังคงอยู่ เป็นเหมือนจิตวิญญาณของเมืองที่เรามองไม่เห็น แต่ทุกคนรับรู้และสัมผัสได้

เช่นเดียวกับ ‘Imagine Maekha’ ซึ่งมีหมุดหมายปลายทางที่ใหญ่ที่สุด คือการทำให้คลองแม่ข่า กลับมามีความสำคัญ ถูกรับรู้และสัมผัสได้จากผู้คนอีกครั้ง

การพัฒนาเมือง

เมื่อฟังวิทยากรทั้ง 4 ท่านพูดจบ แม้จะเป็นโครงการในต่างพื้นที่และต่างบริบท แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือทุกการเปลี่ยนแปลงของเมือง มี ‘คน’ เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ทั้งคนในพื้นที่ผู้รักและหวงแหนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไปจนถึงคนนอกที่อยากเข้าไปร่วมกันพัฒนาพื้นที่ด้วยความปรารถนาดี

งาน ‘Talk of The Cloud 01 : สร้างบ้านแปลงเมือง’ มีที่มาจากความตั้งใจให้คนเข้าใจและมองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของเมืองในอนาคตไปด้วยกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าเมืองจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครแต่ขึ้นอยู่กับเราทุกคนในเมือง

 

ติดตามวิดีโอบันทึกภาพย้อนหลังได้ที่นี่

Talk of The Cloud 01 : สร้างบ้านแปลงเมือง

Talk of The Cloud 01 : สร้างบ้านแปลงเมืองช่วงที่ 1 โครงการธนบุรีคลองสร้างสรรค์และศูนย์เรียนรู้บางประทุน โดยอาจารย์ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ สถาบันอาศรมศิลป์ช่วงที่ 2 โครงการ Neighborhood Bangkadi (เนเบอร์ฮูด บางกะดี) โดยคุณโฉมชฎา กุลดิลก บริษัท SC ASSET ช่วงที่ 3 โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2 โดยคุณกิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา บริษัท Shma Soenช่วงที่ 4 โครงการออกแบบและจัดทำแผนแม่บทการฟื้นฟูคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณแพรวพร สุขัษเฐียร ใจบ้าน สตูดิโอ

The Cloud 发布于 2018年11月29日周四

Talk of The Cloud

Writer & Photographer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน