รู้น่า ว่าเราไม่ควรตัดสินใครเพียงภายนอกจนกว่าจะได้ทำความรู้จัก ยิ่งถ้าเขาคนนั้นหนวดเครารุงรัง และมีท่าทีที่เกรี้ยวกราดอยู่ตลอดแบบโจรร้ายในป่า ก็อย่าเพิ่งตัดสินเขาจนกว่าจะได้ยินเขาจะพูดในสิ่งที่คิดออกมา

เหมือนที่เรารู้จัก ‘หมวดฤทธิ์’ ในละครเรื่อง อังกอร์ 2018

จากตัวละครที่เราไม่เคยจดจำได้มาก่อนในเวอร์ชันแรก บทพูด “กูนึกแล้วว่ามันต้องหลอกกู เพราะมันรู้ว่ากูสงสัยมัน มันต้องไม่พูดความจริงกับกู เพราะกูรู้ว่ามันหลอกกู ถ้ากูลงใต้ กูคงไม่โดนมันหลอก แต่เพราะกูรู้ว่ามันต้องหลอกกู กูถึงได้มาที่นี่ ทีนี้มึงเข้าใจหรือยัง” ในฉากการไล่ล่าหลอกกันไปหลอกกันมา ทำให้ The Cloud อยากคุยกับ ตั๊ก-นภัสกร มิตรธีรโรจน์ ถึงแม้ละครจะอำลาจอไปแล้ว แต่ตัวเลขผู้ชมนับล้านที่คลิกชมฉากที่เราพูดถึงก็ยังน่าสนใจอยู่ดี (ลำพังแค่ผู้เขียนก็กดเข้าไปดูซ้ำๆ นับพันครั้ง)

ตั๊ก นภัสกร

ความน่าสนใจแรกคือ แม้จะรู้มาบ้างว่าตั๊ก นภัสกร เป็นนักแสดงเจ้าบทบาท แต่ก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะเห็นเขาในบทบาทผู้ร้ายที่ติดตลกโดยไม่ตั้งใจมาก่อน ความน่าสนใจที่สอง สาม และสี่ มาจากการสนทนาที่ทำให้เรารู้จักเขามากกว่าประวัติส่วนตัวในเว็บไซต์ข้อมูลคนดัง

ก่อนจะเป็นตั๊ก นภัสกร ศิลปิน นักแสดง ผู้จัดละคร ผู้กำกับและคนเขียนบท ตั๊กเป็นนักเรียนการโรงแรมของมหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดล เคยฝึกงานอยู่ในห้องอาหาร Ma Maison ของโรงแรมฮิลตัน ซึ่งเป็นห้องอาหารฝรั่งเศสที่ดีที่สุดในยุคนั้น ก่อนที่เชฟจะเสนอตำแหน่งและเงินเดือนไม่น้อยให้ตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่เขาเลือกที่จะเรียนมหาวิทยาลัยตามความต้องการของครอบครัว และเริ่มต้นเป็นนักแสดงละครเวทีเมื่ออายุ 22 หลังจากเป็นลูกศิษย์หน้าชั้นของ ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน ในวิชาเลือกของมหาวิทยาลัย และเข้าสู่วงการละครโทรทัศน์ในปี 2540 ตามลำดับ นอกจากจะมีรายการทำอาหารของตัวเอง เราก็ยังพบหน้าเขาในโทรทัศน์อยู่เสมอ

ตั๊ก นภัสกร: ร้อยวิธีออกแบบคาแรกเตอร์ผู้ร้าย และเบื้องหลังฉากดังที่รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก

เมื่อพูดคุยกัน จึงได้รู้ว่าเขาจริงจังกับการทำงานแสดงอย่างที่คิด แต่เขาสนุกกับตัวละครร้ายๆ ของเขามากกว่าที่คิด

ตั๊ก นภัสกร อาจจะไม่ใช่นักแสดงที่รับบทผู้ร้ายที่เหี้ยมหาญหรือเก่งกาจที่สุดในวงการบันเทิงบ้านเรา แต่ความตั้งใจยิ่งจากเขาส่งพลังให้ตัวละครเขาพิเศษน่าจับตามองเสมอ สำหรับคนที่พลาดรับชมเขาในบทของหมวดฤทธิ์ เราขอแนะนำให้เกาะขอบจอโทรทัศน์ให้ดี เพราะตลอดปีนี้เราจะได้เห็นตั๊กในละครถึง 5 เรื่อง แถมยังเป็นบทร้ายทั้งนั้น ตัวละครผู้ร้ายมันน่าหลงใหลแค่ไหนกันนักเชียว มาฟังกัน

ตั๊ก นภัสกร: ร้อยวิธีออกแบบคาแรกเตอร์ผู้ร้าย และเบื้องหลังฉากดังที่รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก

บทพูด ‘กูรู้ว่ามันหลอกกู เพราะกูสงสัยสัยมัน’ ในฉากไล่ล่าระหว่างจ่าเข้มและหมวดฤทธิ์ของละคร อังกอร์ 2018 ที่เป็นไวรัลในโซเชียล ทีมเขียนบทเขียนแบบนั้นจริงๆ ใช่ไหมคะ

มันยาวมากเนอะ ระหว่างที่อ่านอยู่หลายรอบเราก็พยายามทำความเข้าใจว่าคนเขียนบทต้องการอะไร และเรื่องต้องการสื่อตัวละครนี้ไปในทางไหน จริงๆ ไม่ได้อยากเล่นให้ตลกนะ หมวดฤทธิ์เป็นตัวละครที่จริงจังและอาจจะจริงจังจนไร้สติ ความเป็นคนที่มุ่งมั่นทำอะไรสักอย่างจนลืมคิดถึงอย่างอื่นก็อาจจะเป็นเหตุผลของตัวละครตัวนี้ ตอนที่อ่านบทของฉากนี้เราพยายามเคี้ยวทีละคำ ได้แก่ วรรคแรก ‘กูนึกแล้วว่ามันต้องหลอกกู’ สอง ‘มันต้องไม่พูดความจริงกับกู’ และสาม ‘เพราะมันรู้ว่ากูสงสัยมัน’ หลักๆ แค่นี้เอง

เป็นเหตุและผลกัน ‘เพราะมันรู้ว่ากูสงสัยมัน มันต้องไม่พูดความจริงกับกู เพราะมันรู้ว่ากูต้องสงสัยมัน ถ้ากูลงใต้ กูคงไม่โดนมันหลอก แต่เพราะกูรู้ว่ามันต้องหลอกกู กูถึงได้มาที่นี่ ทีนี้มึงเข้าใจหรือยัง’ ประโยคมันมีแค่นี้เอง

แค่นี้?

ใช่ ตอนเล่นมันพูดทีเดียวใช่ไหม เลยเป็นความรู้สึกที่ต้องพุ่งออกมา ความรู้สึกมันคือ ‘ก็กูนึกแล้วว่ามันต้องหลอกกู’

ขอสารภาพตามตรงว่าเราวนดูฉากนี้หลายสิบรอบมาก พยายามทำความเข้าใจว่าตั้งใจให้เป็นละครตลกหรือเปล่า ตอนนั้นผู้กำกับ (เฉิดบุญ ภักดีวิจิตร และ กฤษณพงศ์ ราชธา) เขาบรีฟคุณยังไง

ผู้กำกับไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่านั้นเลย หน้ากองทุกอย่างจริงจังมาก ณ ตอนนั้นเป็นอารมณ์ของตัวละครจริงๆ

ตั้งแต่เรื่อง ลูกผู้ชายไม้ตะพด (2555) ก็ดูเหมือนว่าคุณจะรับบทบาทตัวร้ายเป็นหลักเลย

ใช่ แต่เราพยายามไม่ให้คาแรกเตอร์ซ้ำกัน แม้จะเป็นตัวร้ายแต่ไม่แปลว่าร้ายเหมือนกันหมด บางตัวละครอาจจะเกรี้ยวกราดแบบไร้สมอง เกรี้ยวกราดแบบแค้น ตะบึงตะบัน ตะบี้ตะเบง อยู่อย่างนี้ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น กับอีกแบบหนึ่งคือร้ายลึกๆ ร้ายที่อยู่ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้ม มีหลายแบบ แบบตรง แบบลึก แบบตลก แบบซ่อนเร้น แบบเศร้าโศก เยอะไปหมดเลย เราก็ต้องหาวิธีการเข้าไปถึงตัวละคร

ก่อนหน้านี้ก็เคยเล่นเป็นพระเอกละครตอนเย็น เล่นเป็นพระรถในเรื่อง พระสุธน-มโนราห์ (2544) ช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนตัวเองไปสู่พระเอกละครหลังข่าว เราก็รู้ตัวว่าไม่อยากเป็นพระเอกแล้วแต่อยากเป็นตัวร้อยเรื่อง ร้อยอารมณ์ ความรู้สึก เหตุและผลของเรื่องราวเข้าด้วยกัน อาจจะไม่ใช่พระเอกหรือตัวร้าย แต่เป็นบทที่มีความสำคัญ เราอยากรับบทแบบนั้น

ตั๊ก นภัสกร: ร้อยวิธีออกแบบคาแรกเตอร์ผู้ร้าย และเบื้องหลังฉากดังที่รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก

เป็นพระเอกดีๆ อยู่ แล้วตอนไหนที่คิดไม่อยากเป็นพระเอกแล้ว

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเป็นลูกศิษย์ของครูเล็ก ภัทราวดี ครูเล็กเคยพูดว่า คนเราเล่นบทอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพระเอกนางเอก อยู่ที่เราจะมองว่าตัวละครนั้นสำคัญกับเรื่องแค่ไหน เราก็จำมาใช้เสมอ เวลาที่เห็นครูเล็กเล่น เห็นวิธีการทำความรู้จักตัวละครและการสร้างเรื่องราว

ในการทำงาน การทำการบ้านกับตัวละครเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพื่อให้เรารู้จักตัวละครตัวนี้เราควรจะปูพื้นฐานเขาอย่างไร ในบทบาททุกบทบาทที่ได้รับ เราจะคิดเสมอว่า เขาคนนี้คือใคร มีโคตรเหง้าศักราชอย่างไร ทั้งหมดนี้ต้องหา ต้องศึกษา ด้วยตัวเองจากบทที่อ่าน ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกต้อง มันเหมือนวิธีคิดเลข มีผลลัพธ์เท่ากับ 5 คำถามคือ โจทย์ของผลลัพธ์ข้อนี้คืออะไร

อาจจะ 2+3 หรือ 1+4?

ใช่ บางคนอาจจะบอกว่า 1×5 และเลข 1 นั้นอาจจะเป็น ๑ หรือ I แบบโรมัน ถ้าเป็นเลขไทยก็คิดต่อว่าทำไมต้องเลขไทย เหมือนกันกับการวิเคราะห์ตัวละคร คนที่เขาตบคนนู้น เตะคนนี้ ฆ่าคนนั้น ร้องไห้เพราะพ่อ เขาเป็นคนแบบไหนกันแน่ คิดยังไง พ่อเลี้ยงแบบไหน ตามใจหรือชอบบังคับ คิดไปถึงว่าลักษณะทางกายภาพเป็นยังไง ออกกำลังกายมั้ย บู๊มากมั้ย งานอดิเรกเป็นยังไง ชอบเข้าป่า มีความรู้เรื่องอาวุธปืนเป็นอย่างดี รู้เส้นทางการเดินป่าเป็นอย่างดี ดูไปถึงวิธีการเดิน เดินยกขาสูงตลอดเวลา

เรื่องเหล่านี้สำคัญยังไง คนดูจำเป็นต้องรู้มากน้อยแค่ไหน

คนดูไม่จำเป็นต้องรู้หรอก แต่เราที่เป็นนักแสดงต้องรู้ เป็นรายละเอียดที่จะทำให้เราทำงานเป็นตัวละครนั้นสนุก เพื่อตัวเราเองจะได้จับตัวละครนั้นได้ หลายคนอาจจะเข้าใจว่าแค่อ่านบทจบแล้วลุกขึ้นมาเล่นได้เลย ใช่ๆ ลุกขึ้นมาเล่นได้เลย แต่เดี๋ยวก่อน ตัวละครตัวนี้กำลังคิดอะไร คิดแบบไหน

ความคิดเหล่านี้ปลูกฝังมาจากการแสดงละครเวที ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น เราเคยทำงานกับ คุณยุทธนา มุกดาสนิท เล่นเรื่อง จุมพิตนางแมงมุม (2542) เป็นเรื่องที่เราร้องไห้จริงๆ แม้ละครเล่นจบไปแล้ว 1 เดือน เราก็ยังร้องไห้อยู่ ในเรื่องเราเล่นเป็นนักโทษที่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายคนหนึ่งในคุก ซึ่งตอนหลังเขาเป็นคนช่วยชีวิตเรา เรื่องอาจจะโหดไปสำหรับเราในตอนนั้น แต่สิ่งที่ตามมาคือ เราได้บทเรียนว่าแค่ไหนที่เราควรเข้าไปให้ถึงความรู้สึกก้นบึ้งของตัวละคร ทำความเข้าใจตัวละครตัวนี้ว่าต้องเศร้าขนาดไหน ต้องโศก หดหู่ หรือเจอคำตัดสินในสังคมอย่างไร มีคนรัก มีกลุ่มสหายร่วมอุมดมการณ์ มีความลับที่ต้องปิดบัง จะเห็นว่าในตัวละครหนึ่งตัวมีความรู้สึกมากมายเต็มไปหมด มันยากมาก

คนส่วนใหญ่ชอบเข้าใจว่าละครโทรทัศน์ ละครเวที ละครวิทยุ ภาพยนตร์ ต่างกัน

ผมจะบอกว่าไม่ต่างหรอก เหมือนกันหมดเลย แก่นของความรู้สึกที่ ‘เป็น’ ตัวละครตัวนั้น และเมื่อคุณเป็นตัวละครตัวนั้น คุณจะทำทุกอย่างเป็นตัวละครตัวนั้น มากกว่าจะมานั่งคิดว่าเชื่อในตัวละคร มันต่างกันนะ ถ้าเชื่อ แปลว่ายังมีตัวตนเราอยู่ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างคือวิธีการแสดง อาจจะเป็นเรื่องกายภาพและท่าทางทั้งหมด แต่ก็ขึ้นกับคาแรกเตอร์ด้วย

ละครโทรทัศน์ปัจจุบันเป็นกล้องเข้าแคบ บวกกับคนทุกวันนี้ดูโทรทัศน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ สังเกตเลยว่าสมัยนี้นักแสดงละครโทรทัศน์จะเริ่มเล่นนิ่งขึ้นเหมือนภาพยนตร์ ซึ่งทุกคนสอนว่าอย่าเล่นเยอะ ให้นิ่งๆ ด้วยความที่ภาพยนตร์ฉายบนจอที่ใหญ่มาก เมื่อกล้อง Close Up ไปที่ใบหน้า คนดูจะเห็นแววตาชัดเจน

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของนักแสดงและผู้จัดท่านหนึ่งบอกว่า เมื่อก่อนชาวบ้านดูละครผ่านจอเล็ก คนจึงต้องเล่นใหญ่มากเพราะเดี๋ยวมองไม่เห็น เทียบกับปัจจุบันที่คนดูผ่านโทรศัพท์ กลายเป็นว่าต้องเล่นน้อยๆ แทนหรอคะ

ใช่ สมัยนี้ใช้มุม Close Up เยอะ

สมัยก่อนถ่ายภาพกลาง-ไกล-เต็มตัว เห็นพระเอกนางเอกจับมือกัน น้อยมากที่จะเห็นหน้าพระเอกใกล้ๆ หรือสายตาซึ้งๆ มีน้อยมากๆ ดังนั้น ต้องเล่นใหญ่มาก ละครเวทีก็เหมือนกัน มีไม้มีมือเยอะแยะไปหมด ไม่งั้นคนดูแถวหลังไม่เห็น มันคือระยะของคนดูที่ทำให้การแสดงเปลี่ยนแปลงไป

บทบาทของตัวร้ายเรื่องไหนที่เปลี่ยนวิธีคิดคุณ

หุย ตอง จา จากเรื่อง เซนสื่อรักสื่อวิญญาณ เป็นตัวร้ายที่พูดช้าๆ แต่คิดเร็ว ทุกอย่างคมแต่ช้ามาก เป็นตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ต้องมาเป็นวิญญาณอยู่ในยุคปัจจุบัน เราได้เรียนรู้ว่าคนร้ายๆ ไม่จำเป็นต้องเกรี้ยวกราด แต่นิ่งๆ เย็นๆ และเศร้า เป็นตัวร้ายที่เศร้าซึ่งเราชอบนะ

ทำไมถึงชอบตัวร้ายที่เศร้า

เราสนใจในความลึกของความเศร้า ความลึกของความร้ายที่บีบให้คนเกิดความแค้นและตามล่า

ในฐานะคนดูละคร เราควรจะเห็นใจหรือคิดกับพวกเขายังไง

คนร้ายไม่เคยคิดว่าตัวเองร้าย

ระหว่างที่ทำเรื่องร้ายๆ ไม่มีคนร้ายคนไหนในโลกคิดว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่เลวร้ายนะ เขาคิดว่าสิ่งนั้นมันถูกเขาถึงทำ และในตอนสุดท้ายที่มีคนมาตัดสินว่าเขาร้าย เขาก็ขอโทษ ถ้าเขารู้ว่าร้ายเขาจะไม่ทำ เพราะถ้าคิดว่าตัวเองร้ายเขาจะรับตัวเองไม่ได้

แปลว่าโดยเนื้อแท้แล้ว มนุษย์ทุกคนหรือตัวละครทุกตัวไม่มีใครอยากทำเรื่องไม่ดี

ถูกต้อง นั่นคือคีย์เวิร์ดของตัวร้าย

ขอถามอีกทีว่า ในฐานะคนดูเราทำอะไรได้บ้าง

ไม่ต้องทำอะไร การดูละครที่ถูกต้องคือ อย่าไปคิด

การตีความไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่การดูแล้วรู้สึกต่างที่จำเป็น และไม่ว่าจะรู้สึกอะไรนั่นคือสิ่งที่ถูกในความรู้สึกของคุณ เหมือนกันกับงานศิลปะ ดูอะไร รู้สึกอย่างไร พอแล้ว ถ้าเกิดความสงสัยให้ทิ้งมันไว้ บางครั้งความสงสัยก็เป็นเสน่ห์ของตัวละครตัวนั้น จนบัดนี้เรายังสงสัยว่า ‘ตกลงมันเป็นอะไรแน่วะ’ เป็นกลวิธีของผู้กำกับและคนเขียนบทเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้ละครน่าสนใจมากขึ้น จุดจบเป็นอย่างไร มีต่อหรือส่งผลต่อเรื่องต่อไปหรือเปล่า คงจะดีเราจะมีคนเขียนบทละครลุ่มลึกหรือชวนคิดเยอะๆ

บทแบบไหนที่คุณจะไม่รับเล่นเลย

บทที่ไม่มีน้ำหนักเลย อ่านเสร็จเราจะถามทีมงานกลับว่าบทนี้เขียนมาทำไม เขาก็ตอบไม่ได้ หรือตอบว่ามีเพื่อสนุกๆ ในเมื่อเป็นบทที่ไม่มีก็ได้ เราก็ไม่รู้จะใช้พลังกับสิ่งนั้นทำไม เราก็จะบอกกลับไปว่าขออนุญาตไม่รับ

ในขณะที่หน่วยชี้วัดความนิยมของบทพระเอกคือเสียงกรี๊ด ความอินฟินจิกหมอน หรือสมญานามสามีแห่งชาติ กับบทตัวร้ายคุณมีจุดวัดผลในใจไหมว่าเล่นดีแล้วหรือไม่ดี

สมัยก่อนคงวัดจากเปลือกทุเรียนเนอะ ก็มีคนบอกเหมือนกันว่า ‘เล่นได้เลวสุดๆ เลย’ ก็คิดในใจว่าตกลงเล่นดีหรือไม่ดีเนี่ย จริงๆ ไม่มีอะไรวัดหรือมีรางวัลมาการันตีบทบาทผู้ร้ายยอดเยี่ยม เราก็คือนักแสดงสมทบคนหนึ่ง ยุคนี้อาจจะมีคนพูดถึงในโซเชียลบ้างเราก็ขอบคุณมากๆ แค่นี้แหละ ดีใจมากๆ แล้ว เราแสดงบทบาทของเราเต็มที่ทุกเรื่องซึ่งอยู่ที่ผู้ชมตัดสิน เราจะมาขีดว่านี่ฉันทำดีแล้วคงไม่ได้ เพราะมันไม่มีคำว่าดีที่สุดหรอก มีหลายครั้งเลยที่เราอยากกลับไปเล่นแก้ใหม่ ดังนั้น จึงพยายามทำให้ดีที่สุดทุกครั้ง

ทุกวันนี้คนจำชื่อเราไม่ได้เลย แต่จำตัวละครที่เราเล่นได้ ซึ่งเราชอบนะ

เวลาเราจะบอกใครสักคนว่าคนนี้เป็นนักแสดงที่เก่งจัง คำว่าเก่งในที่นี้เรากำลังมองหาอะไร

เรามักจะชื่นชมครูทุกคนของเราว่าเก่งมาก เพราะว่าพวกท่านมีความเป็นศิลปิน ท่านสร้างคาแรกเตอร์ด้วยตัวท่านเอง ด้วยความรู้ ประสบการณ์ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากครูทุกคนก็คือ ‘อย่าหยุด’ จะเห็นว่าคนที่เก่งมาก เขาไม่เคยหยุดที่จะสร้างสรรค์ตัวละครให้มีความหลากหลาย เพิ่มบทบาท เพิ่มอรรถรส จนตัวละครมีชีวิตจริงๆ

นอกจากพรสวรรค์และความเก่ง การจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ต้องเตรียมพร้อมแค่ไหน

ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดเหมือนกันมั้ย เราคิดว่าเป็นเรื่องของวินัย คำนี้ครูเล็กชอบพูดมากและมันฝังอยู่ในหัวของเรา ตัวเราทั้งหมดนี้คืออุปกรณ์การแสดง เราต้องเตรียมตั้งแต่สุขภาพ อ่านบทพอมั้ย นอนพอมั้ย แข็งแรงพอมั้ย ถึงต้องตื่นมาแต่เช้าเพื่อออกกำลังกาย สวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิให้สงบ แล้วจึงเริ่มทำงาน

พอมาถึงจุดนี้แล้ว งานที่ผ่านมาทำให้คุณตั้งคำถามกับชีวิตบ้างมั้ยคะ

มี มีคำถามครับ คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือ ‘ทำอะไรต่อดี’ เชื่อมั้ยว่าเกิดขึ้นตลอดเวลา สมมติว่าเล่นละครเรื่องนี้อยู่แล้วเจอสิ่งที่อยากรู้มากๆ เราก็จะอยากรู้และอยากจะเรียนเรื่องนั้น อย่างช่วงนี้อยากเรียนดนตรี ที่ผ่านมาก็เล่นดนตรีนะ เป็นนักตีกลองสะบัดชัย สมัยอยู่ภัทราวดีเธียเตอร์เคยทำงานกับ พี่นาย-มานพ มีจำรัส, พี่เล็ก-ภัทราวดี มีชูธน และ กบ-ราชศักดิ์ เรืองใจ เป็นโปรดักชันกลองเรื่องแรกของภัทราวดีเธียเตอร์ ชื่อเรื่อง Eclipse สุริยุปราคา (2547) เราหัดตีกลองวันละ 8 ชั่วโมง โดยมีกบ ราชศักดิ์ เป็นคนสอน จากตีไม่เป็นจนเป็น ตีจนมือมีเลือดอาบ

หรืออย่างเรื่องรำไทย เราเพิ่งมาหัดเรียนรำไทยตอนอายุ 27 เพราะตอนที่ไปแสดงที่เบอร์ลิน เขาขอให้โซโลแล้วเรานั่งเสียดายว่าเรารำไทยไม่เป็น ก็เลยเลิกทุกอย่างแล้วกลับมาหัดรำไทยตอนอายุ 27 และตอนนี้เรียนปี่ อยากเรียนมานานแล้ว เพราะเราอยากเข้าใจเพลงไทย เดี๋ยวจะไปขอเรียนระนาดต่อเพื่อเข้าใจโน้ต โดยตั้งใจเรียนเปียโนไปพร้อมกันด้วย แล้วค่อยกลับมาเรียนปี่เพิ่มเติม ก่อนหน้านี้เราเรียนโขนและเราอยากเข้าใจดนตรีด้วย

ทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ คนชอบกินกาแฟเขายังไม่เห็นต้องปลูกกาแฟเองเลย

เราอยากจะทำโชว์ ถ้าเราไม่เข้าใจทั้งหมดเราจะบอกจะสอนคนอื่นต่อได้อย่างไร อาจจะไม่ได้รู้ลึกทั้งหมดหรอก เราไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนั้นสิ่งเดียว แต่เมื่อเราเป็นผู้ปรุงเราก็ควรจะรู้จักวัตถุดิบของเราเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากแสดงแล้วทุกวันนี้เรายังเป็นครูสอนพื้นฐานโขน แก่เด็กๆ ที่วัดมหาธาตุด้วย เพราะท้ายที่สุด สิ่งที่เราอยากทำคืออยากเป็นครู อยากสอนสิ่งที่เราเป็นให้แก่คนรุ่นใหม่ เหมือนที่ครูทุกคนสอนเรา

จะว่าไป คุณเป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรสุดทางมากๆ

มันก็ควรสุดทางมั้ย เราเกิดมามีชีวิตเดียวนะ ถ้าทิ้งค้างไว้ในใจคงเสียดายแย่

แต่คนเรามีเวลาเยอะขนาดที่จะทำทุกอย่างที่อยากทำได้เหรอคะ

เพราะเราไม่มีเวลาเยอะ เราถึงต้องรีบทำ คนชอบบอกว่ามีเวลาอีกตั้งหลายปี ไม่หลายนะ นี่แป๊บเดียวตอนนี้ 46 กำลังจะ 47 ปีแล้ว ไม่มีใครรู้เรื่องวันพรุ่งนี้ ดังนั้น ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำให้เต็มที่ทุกวัน เรากับแม่คุยกันบ่อยเรื่องนี้ว่าถ้าเราไม่เจอกันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นสบายมาก เราเตรียมตัวทุกวันดีกว่า

มาถึงวันนี้ งานการแสดงมีความหมายกับชีวิตคุณยังไง

มันเป็นชีวิตเรา ถามว่ามีความหมายกับเรามั้ย มีความหมายอยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วโดยไม่ได้คิดว่าจะเลิกเมื่อไหร่ ถ้าวันหนึ่งไม่ได้แสดง (นิ่งคิด) เราคงไปอยู่วัดสักที่

ย้อนกลับถึงตอนที่คุณบอกว่า ก่อนจะเลือกรับแสดงบทบาทใดๆ คุณมักจะตั้งคำถามถึงเหตุผลของการมีอยู่ของตัวละครนั้นๆ แล้วกับชีวิต ณ วันนี้ เวลานี้ ถ้าถามเหตุผลของการมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ของคุณ คำตอบนั้นคืออะไร

ทำประโยชน์ให้ตัวเอง เพื่อให้ตัวเองเป็นประโยชน์แก่คนอื่น

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan