“No risk, no art.” หรือ “ไม่มีความเสี่ยง ก็ไม่มีศิลปะ”

คือคำที่ปะทะเราเป็นอย่างแรกหลังจากที่ไล่สายตาผ่านอีเมลตอบรับของ มิเกล บาร์เซโล (Miquel Barceló) ศิลปินชาวสเปน ผู้มีผลงานแสดงมาแล้วทั่วโลก เหมือนกับตัวเขา ที่ออกเดินทางไปเรื่อยๆ ไม่มีปักหลัก ณ ที่ใด และค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ ในการทำงานตลอดเวลา

ผลงานชิ้นเอกของมิเกลอาศัยอยู่เต็มพื้นที่เพดานห้องประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเขากำลังจะมีผลงานแสดงที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

ใช่, อ่านไม่ผิด, แม่น้ำเจ้าพระยา

© Agustí Torres, 2008

© Jean Marie del Moral, 2015 PARIS

ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นชีวิตศิลปิน มิเกลเริ่มออกเดินทางในช่วง ค.ศ. 1980 ไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา โดยตั้งสตูดิโอเป็นฐานที่ปารีส มุมมองจากการเดินทางไปมาหรือจะเรียกว่าพเนจรของเขา ถูกแสดงออกมาในผลงานที่แตกต่างกันออกไป เป็นพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่ง

“ในการเดินทางไปแต่ละที่นั้นให้มุมมองที่แตกต่างกัน การที่มาเลือกการแสดงในไทยครั้งนี้ กลางแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์ในการจัดการแสดง เพราะชีวิตเปรียบดั่งแม่น้ำที่มีความไม่สม่ำเสมอ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และก็หายไปในที่สุด” มิเกลเล่าถึงโปรเจกต์ล่าสุด

นอกจากแม่น้ำ สิ่งที่เห็นในผลงานของเขาบ่อยๆ ก็คือทะเล

เขาอธิบายว่า ความงามของท้องทะเล คือ “Something like life.” หรือ “สิ่งที่มีชีวิต” มีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง อยู่ตลอดเวลา

แต่นอกจากความงดงามแล้ว ทะเลยังทำให้เขานึกถึงบ้านเกิดที่เกาะมาญอร์กา เพราะไม่ว่าจะออกเดินทางไปสักกี่ที่ เขาก็ยังวนกลับมาทำงานที่เกี่ยวกับบ้านเกิดของเขา

© Jean Marie del Moral, 1988 MALI

© François Halard, 2017 IVRY

“I am an island boy.” เขานิยามตัวเองด้วยรอยยิ้มว่าอย่างนั้น ซึ่งก็คงไม่แปลกที่เราจะเห็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติได้บ่อยๆ ในผลงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทะเลหรือสัตว์และพืชพันธุ์หลากชนิดที่ผุดสะพรั่งอยู่เต็มเกาะ

ลูกไม้หล่นใต้ต้น เราคิดอย่างนั้นเมื่อย้อนมองชีวิตของเขา มิเกลเติบโตในครอบครัวที่มีคุณแม่เป็นจิตรกร เขาเลยได้สายเลือดศิลปินมาเต็มๆ

มิเกลเติบโตมาในช่วงที่สเปนถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการภายใต้อำนาจของจอมพลฟรังโก้ เขาไปเรียนต่อในเมืองใหญ่อย่างบาร์เซโลนาในปี 1974 ก่อนที่ 1 ปีหลังจากนั้นผู้นำฟรังโก้จะเสียชีวิต อำนาจจึงถูกส่งต่อมาที่พระเจ้าฆวน การ์โลส และสเปนก็เปลี่ยนการปกครองจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในช่วงวัยรุ่นของมิเกล

หลังจากที่เรียนในวิทยาลัยด้านศิลปะ วัยหนุ่มของมิเกลก็เต็มไปด้วยอิทธิพลจากศิลปินชั้นครู ตั้งแต่ศิลปินสมัยใหม่อย่าง Jackson Pollock ย้อนไปจนถึงศิลปินคลาสสิกอย่าง Diego Velázquez, Tintoretto และ Édouard Manet ดังที่เห็นในผลงาน Déjeuner sur l’herbe II ที่เขานำแรงบันดาลใจมาจากรูป Déjeuner sur l’herbe ของ Édouard Manet ซึ่งเป็นรูปที่สร้างกระแสฮือฮาในปารีสเมื่อมันออกมา เพราะเป็นรูปหญิงโสเภณีนั่งพักผ่อนอยู่กับสุภาพบุรุษที่แต่งตัวเต็มยศ 2 คนในสวนที่ไม่ห่างจากตัวเมือง เขาบอกว่า “รูปนี้เป็นรูปที่สร้างประวัติศาสตร์ตรงที่มันให้ความรู้สึกถึงศิลปะสมัยใหม่และสมัยเก่าร่วมกัน”

© Agustí Torres, 2015

© François Halard, 2016 IVRY

หลังจากการเดินทาง แอฟริกาเป็นสถานที่ที่มีอิทธิพลกับเขาเสมอมา ผลงานที่เด่นชัดที่สุดของเขาก็มาจากแรงบันดาลใจในที่เขาพบในแอฟริกานั่นก็คือผลงานบนเพดานของ Human Rights and Alliance of Civilizations Chamber ที่ UN’s Palace of Nations ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเหมือนประติมากรรมหลากสี เกาะอยู่ และห้อยตัวหยดไหลลงมาจากเพดาน ครอบคลุมทั้งห้องประชุมทรงกลม เหมือนเวลามองขึ้นไปบนผนังถ้ำ ที่มีหินย้อยนับไม่ถ้วน

“ภาพของถ้ำนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่เดินทางไปทะเลทรายสะฮารา ถ้ำคือสถานที่ที่ทุกคนสามารถมองเห็นถึงความแตกต่างกันในแต่ละตำแหน่งของห้อง เหมือนถึงความหลากหลายของมนุษย์บนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับการทำงานของ UN ที่ต้องคำนึงถึงมุมมองจากหลายๆ ด้าน”

© Agustí Torres, 2008

กว่าจะออกมาเป็นผลงานได้แต่ละชิ้นต้องผ่านกระบวนการทำงานก่อน สิ่งที่น่าสนใจยอกจากตัวผลงานของมิเกลคืออุปกรณ์ที่เขานำมาใช้สร้างผลงาน ซึ่งไม่ใช่แค่พู่กัน เกรียง แปรง หรืออุปกรณ์ที่ศิลปินทั่วไปใช้กัน แต่เขานำเอาวัตถุต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในวิธีการที่คาดไม่ถึง อย่างเช่นผลงานที่เขาแสดงที่มาญอร์กา เขาได้แสดงการสร้างผลงานจิตรกรรมให้คนดูสดๆ พร้อมดนตรีประกอบ ด้วยอุปกรณ์อันแปลกประหลาดตั้งแต่ ลูกบอลจุ่มสีที่ถูกโยนให้กระทบผ้าบ้าเหมือนเป็นการละเล่น ฟองน้ำหรือลูกกลิ้งขนาดมหึมาที่ต้องเสียบไม้แล้วถูบนผืนผ้าใบ วัตถุยาวๆ เหมือนหนวดปลาหมึกที่ถูกตีลงบนผืนผ้าใบ สีดำบนผ้าใบนั้นเผยให้คนดูเห็นเพียงไม่กี่นาทีก่อนที่ดนตรีจะจบ และหายไปในพริบตา

“สิ่งที่พิเศษคือผ้าใบเมื่อเปียกจะเป็นสีดำ สิ่งที่เห็นเป็นสีดำแท้จริงแล้วเป็นเพียงน้ำเปล่า และก็หายไปเมื่อผ้านั้นแห้ง” มิเกลพูดถึงผลงานของเขา

เมื่อเราถามว่า ทำไมถึงกล้าที่จะทดลองการสร้างผลงานด้วยวิธีใหม่ๆ คำตอบที่ได้ก็คือคำตอบที่มาปะทะกับเราอย่างที่ว่าไว้

“No risk, no art.” หรือถ้าไม่มีการเสี่ยง ก็ไม่มีศิลปะ ก่อนที่จะขยายว่า “การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจะต้องผ่านการลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน ศิลปินทุกคนมีความถนัด มีเทคนิคที่ใช่ เป็นสิ่งที่เฉพาะของตัวเอง”

การทดลองของเขาเองก็ผ่านอะไรมานับไม่ถ้วน ถ้าจะให้เล่า เราก็คงจะเล่าถึงครั้งหนึ่งที่มิเกลเคยกล่าวว่า “ผมไม่กินปลาหมึกมานานแล้ว ถ้าจะต้องให้กินปลาหมึกก็คงกินแมวเสียดีกว่า” เพราะความผูกพันกับทะเลที่เคยดำน้ำและให้อาหารปลาหมึกมาก่อน ด้วยความสนใจนี้เขาจึงเคยฉีดหมึกของปลาหมึกเข้าตัวเอง เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าสัตว์เหล่านี้สื่อสารผ่านผิวหนังอย่างไร

© François Halard, 2017 IVRY

© Santiago Santos / Universidad de Salamanca

© André Morin

ศิลปะของมิเกลมีความแตกต่าง หลากหลาย ทั้งรูปแบบและวิธีนำเสนอ ไม่ว่าจะภาพวาด ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ไปจนถึงการแสดงสด เช่นเดียวกับชีวิตคนที่มีขึ้น มีลง ผันเปลี่ยนไปตลอด เขากล่าวว่า “ศิลปะชิ้นหนึ่ง ย่อมเป็นแรงบันดาลใจก่อให้เกิดผลงานศิลปะชิ้นต่อๆ ไป และทุกๆ ผลงานที่สร้างย่อมก่อให้เกิดผลงานชิ้นใหม่ๆ เช่นกัน”

การแสดงผลงานชิ้นใหม่บนแม่น้ำเจ้าพระยาในงาน Sansiri presents Miquel Barceló: DESPINTURA FÒNICA ที่จะจัดแสดงในวันที่ 1 – 2 พฤศจิกายน ณ ท่าเรือธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ก็คงเป็นหนึ่งในการเติบโตของเขา ซึ่งเราเองก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าการสร้างผลงานบนผ้าใบยาวกว่า 20 เมตรจะเป็นอย่างไร แต่เราคิดว่า นี่คงเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตเขา

สุดท้ายเมื่อถามเขาว่าการเติบโตของเขามาถึงจุดไหนแล้ว คำตอบของเขาคือ

“เวลาจะเป็นคำตอบว่าเราเติบโตมาเท่าไหร่”

© Oscar Orengo, 2011 MALI

Sansiri presents Miquel Barceló: DESPINTURA FÒNICA

วันที่ 1-2 พฤศจิกายน

รายละเอียด :

ผู้สนใจทั่วไปร่วมชมนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินและผลงานของเขาได้ที่ ท่าเรือธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย

วันที่ 1 พฤศจิกายน สำหรับคนในแวดวงศิลปะ หรือผู้ที่สนใจงานศิลปะชมงานแสดงบนเรือ

วันที่ 2 พฤศจิกายน สำหรับสื่อมวลชนและ VIP ชมงานแสดงบนเรือ เริ่มออกจากท่าเรือธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อยเวลา 15.30 น.

รายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com/sansirifamily

Writer

Avatar

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ

เจ้าของเพจ ‘ศิลปะเข้าใจยากจริงหรือ’ อยากให้คนเข้าใจศิลปะ-วัฒนธรรมมากขึ้น แต่ก็อยากกินของอร่อยแล้วก็อยากมีเงินชอปปิ้งด้วย

Photographer