เพียงช่วงข้ามคืน ชื่อของ คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล ก็ถูกพูดถึงไปทั่วโลกออนไลน์

หลายคนอาจจะรู้จักเธอจากบท ‘แนนโน๊ะ’ ใน เด็กใหม่ THE SERIES GIRL FROM NO WHERE ภาพยนตร์ชุดพล็อตเรื่องอินเตอร์ ว่าด้วยนักเรียนหญิงบุคลิกแปลกประหลาดที่ย้ายโรงเรียนทุกครั้งหลังจากฝากบทเรียนสำคัญให้เพื่อนร่วมชั้น ครูพละ และคนที่มีส่วนให้โลกนี้พิกลพิการ

หลายคนอาจรู้จักเธออยู่แล้วจากผลงานในวงการบันเทิง ซิตคอม ละครค่ำ ภาพยนตร์ แคตวอล์ก ตามหน้านิตยสาร หรือแม้แต่เพลงป๊อปของกลุ่มเด็กสาวเนื้อหาฟังสบาย

‘คิทตี้ ชิชา’ ไม่ใช่เด็กสาวหน้าใหม่ในวงการบันเทิงบ้านเรา อย่างที่เราเคยเข้าใจ

ข้อมูลในโลกออนไลน์เปิดเผยข้อมูลการศึกษา ผลงาน และเรื่องราวส่วนตัวของเธอ มากเกินกว่าที่เราร้องขอ และด้วยหน้าที่การงานของเรา เราไม่อาจปักใจเชื่อข้อมูลนั้นจนกว่าจะพูดคุยตัวเป็นๆ กับเธอ

‘แนนโน๊ะ’ พิธีล้างบาปของ คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล

ระหว่างสนทนา เราพบความเกี่ยวข้องกันอย่างบังเอิญระหว่าง ‘คิทตี้’ และ ‘แนนโน๊ะ’

สถานภาพ ‘เด็กใหม่’ ของ ‘คิทตี้’ ที่ย้ายจากโรงเรียนอินเตอร์มาเรียนโรงเรียนไทย การเป็นเด็กใหม่ในค่ายเพลงวัยรุ่นชื่อดัง น้องใหม่ในกองถ่ายหนัง การย้ายจากโรงเรียนคนทำงานเบื้องหน้าไปเป็นคนทำงานเบื้องหลัง 

‘คิทตี้’ และ ‘แนนโน๊ะ’ หลงใหลการสังเกตความเป็นไปของคนและสิ่งรอบตัว

และการมีอำนาจในมือคอยควบคุมความเป็นไปของโลก เหมือนที่ ‘แนนโน๊ะ’ เป็นลูกสาวซาตาน ขณะที่ ‘คิทตี้’ เป็นนักเขียนบทภาพยนตร์อิสระที่มีอำนาจชี้ขาดตัวละครที่เธอสร้าง 

นอกจากวิธีคิดและวิธีทำงานของ ‘คิทตี้’ ในบทบาท ‘แนนโน๊ะ’ เราชวนเธอคุยเรื่องชีวิตอีกด้านหนึ่ง ชีวิตในโรงเรียนจริงและโรงเรียนชีวิต

ก่อนเริ่มต้นบทสนทนามีข้อมูลเกี่ยวกับคิทตี้ที่คุณต้องรู้ก่อน 2 ข้อ

ข้อแรก คิทตี้เป็นชื่อเล่นที่พ่อแม่ตั้งให้  

ข้อสอง อย่าถามอายุจริงของคิทตี้ ให้เกียรติชุดนักเรียนทั้ง 11 ชุด (จาก 13 โรงเรียน) ของเธอด้วยค่ะ

‘แนนโน๊ะ’ พิธีล้างบาปของ คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล

ย้อนกลับไปสมัยเรียน คุณเป็นเด็กนักเรียนแบบไหน

เป็นเด็กดื้อเงียบ ไม่ชอบถักเปียมาโรงเรียน ชอบเดินเหยียบส้นรองเท้า ครูเห็นก็ไม่ชอบเท่าไหร่ มีวันหนึ่งครูโยนรองเท้าเราจากชั้นสี่ลงไปในถังขยะ ซึ่งแม่นมาก เราก็แสบ วิ่งลงไปเก็บให้เขาเห็น ใส่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันต่อมาครูโยนทิ้งเหมือนเดิม คราวนี้ราดน้ำตามลงไปด้วย ทำให้ต้องเดินกลับบ้านทั้งถุงเท้า เจอใครทุกคนก็ถาม แต่เราก็เล่าได้ไม่เต็มปาก

จากที่เคยมั่นใจว่าเราไม่ผิด ก็เริ่มรู้สึกผิดนิดๆ เมื่อต้องเล่าให้ทุกคนฟังว่า ‘ที่ไม่มีรองเท้าใส่เป็นเพราะคิทตี้ใส่รองเท้าเหยียบส้นค่ะ ครูเลยเอารองเท้าไปทิ้ง’

นิสัยแบบเด็กผู้ชายเลย

ใช่ๆ ส่วนหนึ่งเพราะเรามีพี่น้องและญาติๆ เป็นผู้ชายเกือบทั้งหมด แล้วเราเรียนอินเตอร์มาก่อน เราเคยชินกับการใส่อะไรไปโรงเรียนก็ได้ ไม่มีใครบังคับว่าเป็นผู้หญิงต้องใส่กระโปรง อีกเรื่องคือ สมัยเรียนติดเกมมาก ติดถึงขั้นหลับในห้องเรียน แต่ก็เรียนรู้ว่าถ้าจะหลับในห้อง คืนก่อนนั้นเราต้องมีคำตอบทุกอย่างในสมุดการบ้าน เผื่อฉุกเฉินโดนปลุกขึ้นมาจะได้ตอบครูได้

การเป็นเด็กอินเตอร์ที่ย้ายมาเป็นเด็กใหม่ในระบบโรงเรียนไทย เจออะไรบ้าง

แรกๆ ยังตื่นเต้นอยู่ ครูถามอะไรเราก็อยากยกมือขึ้นตอบ จนเริ่มรู้สึกได้ว่าเพื่อนในห้องเริ่มส่งพลังเกลียดชังมา สงสัยว่าเราเป็นอะไร ทำไมต้องตอบครูตลอดเวลา หลังๆ จึงเรียนรู้ว่าอยู่นิ่งๆ ไม่ตอบคำถามก็ได้ เดี๋ยวกริ่งก็ดังแล้ว ต่อให้ขัดกับตัวตนที่เคยเป็น แต่เรารู้ว่าเราเปลี่ยนใครหรือเปลี่ยนทั้งระบบไม่ได้ ถ้าเราจะอยู่ที่นี่เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับที่นี่

อะไรคือข้อดีของการปรับตัวเมื่อเราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม

ข้อดีคือ เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวในช่วงเวลาที่เรายังเด็กมากๆ ทำให้เข้าใจว่าในชีวิตข้างหน้าเราจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอีกนับครั้งไม่ถ้วน และเพื่อให้เราอยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนไป เราคงต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เข้ากับคนและสิ่งแวดล้อมนั้น

คิทตี้ได้เรียนรู้อะไรจากการเรียนที่โรงเรียนจิตรลดาบ้าง

ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน ในโรงเรียนนี้คุณทุกคนมีค่าเท่ากันหมด คนที่โรงเรียนมีตั้งแต่ลูกหลานของข้าราชการระดับสูง นักการเมือง นักการทูต นักธุรกิจ อาจารย์และพนักงานในโรงเรียน ทุกคนใส่ชุดนักเรียน ใช้กระเป๋า รองเท้า และทำผมแบบเดียว ตอนอยู่ชั้นประถมมีระเบียบเปิดกระเป๋าสตางค์ ห้ามไม่ให้นักเรียนพกเงินเกิน 60 บาทด้วย สิ่งนี้ก็ทำให้เราไม่เป็นคนตัดสินหรือให้ค่าคนจากองค์ประกอบภายนอก

สิ่งที่ประทับใจคือ โรงเรียนเราเล็กมากๆ เพื่อนนักเรียนทั้งชั้นมีกันอยู่ 100 คน แม้เรียนจบและแยกย้ายกันไปพวกเราก็ยังติดต่อกันอยู่เสมอ อย่างช่วงนี้ที่มีโปรโมตละคร เด็กใหม่ คิทเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดเรื่องสมัยเรียน ซึ่งเราเป็นห่วงว่าสิ่งที่เราพูดไปอาจจะกระทบจิตใจเพื่อนบางคนที่เคยแกล้งกัน ล้อเล่นกัน จนเขาอาจจะคิดมากว่าตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตวัยเรียนของใครมีปัญหา นั่นคือสิ่งที่เพื่อนในรุ่นเป็นห่วงกันและกัน

ที่ผ่านมาคือบรรยากาศของการเป็น ‘เด็กใหม่’ ในชีวิตคนอื่น แล้วกับคนใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา คุณมีวิธีรับมือยังไง

ไม่ค่อยมีคนใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตเรานะ ส่วนมากคิทเป็นคนชอบอยู่ในมุมมืดๆ มากกว่าการเป็นศูนย์กลางความสนใจของใคร เราชอบนั่งอยู่ห่างๆ แต่คอยมอง คอยสังเกต

อะไรคือสิ่งที่คุณเลือกมอง เลือกสังเกต

จริงๆ นอกจากการแสดง อาชีพหลักของเราคือ คนเขียนบทและที่ปรึกษาบทภาพยนตร​์ เราสนใจเรื่องคนในมุมที่เหมือนกับพระจันทร์ นั่นคือ คุณจะเห็นคนคนหนึ่งเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่งของเขา เราไม่มีทางที่จะเห็นทุกด้านพร้อมกันหมด

เราชอบไปนั่งที่ J Avanue ทองหล่อ 15 ตอนดึกๆ ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือร้านรวงที่คนมาเที่ยว เรารู้สึกว่าเจ๋งดีเหมือนกัน เพราะเพียงเดินข้ามไปอีกฝั่งของถนน เราจะเจอกับคนแต่งตัวสวยงามมาเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อน ขณะที่มองดูฝั่งทางนี้ เราเห็นคนเมาอ้วกแตก คนทะเลาะกับแฟน ไม่เหลือความสวยงามที่แสดงออกตอนแรก ทุกคนแค่เป็นตัวเอง ไม่เก๊ก ไม่มีเกราะกำบัง

สายตาช่างคิดช่างสังเกตของคุณมันเริ่มมาจากไหนและตั้งแต่เมื่อไหร่

เป็นนิสัยที่เป็นมานานแล้ว เริ่มจากเราเล่นเป็นเกมฆ่าเวลา จำไม่ได้ว่าเล่นครั้งแรกกับใคร

ลักษณะคือเป็นเกมแต่งเรื่องให้กับคนที่เราบังเอิญเจอ เช่น นั่งอยู่บนรถไฟฟ้ามองเห็นคนคนหนึ่ง ดูจากเวลาที่เขาใช้ในการเดินทางเขาน่าจะมีอาชีพฟรีแลนซ์ ดูจากการแต่งตัวและสัมภาระที่ไม่มากมาย เขาน่าจะไม่ใช่ช่างภาพ แต่เป็นศิลปินที่ทำงานวาดรูปอยู่ในสตูดิโอของตัวเอง เป็นต้น ความสนุกมันเริ่มจากตอนนั้น

มีครั้งไหนบ้างที่การสังเกตความเป็นไปรอบตัวมีผลกระทบต่อชีวิตเรา

หลายครั้งเลย คนเราชอบคิดว่าชีวิตของตัวเองแย่ที่สุด แต่มันไม่จริงหรอก ชีวิตของทุกคนมันก็แย่เหมือนกันหมดแหละ ทุกคนมีความทุกข์ในแบบของตัวเองทั้งนั้น

ความเข้าใจเรื่องความทุกข์ยากของคนนี่มาจากประสบการณ์ตรงหรือมาจากไหน

เราชอบอ่านหนังสือและดูหนัง เลยทำให้ความคิดเราแก่แดด

ชอบที่สุดคือเรื่อง Requiem for a Dream (2000) ของ Darren Aronofsky ผู้กำกับ Black Swan หนังเรื่องนี้ทำให้คิทกลัวและไม่กล้าลองยาเสพติดทุกชนิด เชื่อมั้ยว่ามีคนบอกว่าบ้าหรือเปล่า หรือมองมันเป็นเหตุผลโง่ๆ แต่สำหรับเราที่ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ดูแล้วกลัวมาก เพราะผลลัพธ์ของมันร้ายแรง แม่เข้าโรงพยาบาลบ้า ลูกชายโดนตัดแขน ลูกสาวต้องไปขายตัวแลกยา วิธีการเล่าของหนังเรื่องนี้ไม่ได้มาถึงแล้วบอกว่ายาเสพติดเป็นสิ่งไม่ดีนะจ๊ะ แต่หนังพาเราไปเห็นข้อดีงามของสิ่งเหล่านี้ แล้วอยู่ดีๆ ก็ทิ้งดิ่งลงมาเหมือนเล่นรถไฟเหาะ จำได้เลยว่าตอนที่ดูจบเรายังรู้สึกว่า ‘จริงหรอวะ พูดเป็นเล่นน่า’

ก่อนหน้าที่จะมาเจอกับคุณ เราไปพบกับคุณเจ๋อ ภาวิต จาก GMM Grammy และคุณเล็ก ดมิสาฐ์ แห่ง SOUR Bangkok คุยเรื่องวิธีคิดเบื้องหลัง เด็กใหม่ และการคัดเลือกนักแสดงที่คุณสร้างการจดจำด้วยการร้องเพลงขณะที่แสดงบทถูกข่มขืนเพื่อกระตุ้นให้ตัวละครถูกฆ่า ถามตรงๆ ได้ไหมว่าตอนนั้นคิดอะไรอยู่ถึงแสดงออกมาแบบนั้น

เราเห็นบทแล้วอยากเล่นมาก ในชีวิตไม่เคยอยากได้บทไหนเท่านี้มาก่อน และก็คิดว่าถ้าเราทำเหมือนคนอื่นเราจะไม่มีทางได้บทนี้แน่ๆ เราเป็นคนชอบแหกคอก ก็เลยคิดว่ามันต้องมีช่องว่างสิ

เริ่มจากถามทีมที่ทำ Casting ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากได้ คำตอบคือ เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ผู้ชายในบทนั้นอยากฆ่าเรา แล้วนึกย้อนถึงหนังหรือการ์ตูนที่เคยดู ก็พบว่าตัวละครแบบนี้ไม่ได้ถูกฆ่าโดยบังเอิญ แต่ตั้งใจทำให้ถูกฆ่าแน่ๆ และจากสถานการณ์นี้เราทำอะไรได้บ้าง ทางเลือกปกติคือ นิ่ง ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นคนที่กระทำเราคงสบายใจดี ไม่ได้รู้สึกอยากฆ่า เราจึงเลือกอีกทาง นั่นคือ ร้องเพลง London Bridge Is Falling Down ออกมา จังหวะนี้นักแสดงผู้ช่วยที่แสดงฉากนี้ด้วยกันก็ตกใจ สาปแช่งออกมาว่า ‘ร้องเพลงทำไมวะ’

คุณใช้วิธีคิดนี้กับฉากอื่นๆ ด้วยมั้ย

เพราะชีวิตคนเราไม่ได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เช่น คนเราบอกว่าไม่อยากคุย แต่จริงๆ อยากคุย เราจึงพยายามเข้าใจว่าตัวละครต้องการอะไร หรือกำลังคิดอะไรอยู่

แพสชันในการทำงานเรื่อง เด็กใหม่ ของคุณมาจากไหน

มาจากการที่คิทรู้ตัวเองว่าเรามีโอกาสต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากที่จะได้รับบทนี้ เพราะช่วงปีที่ผ่านมามีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเราเยอะ เรารู้ว่าหากทีมงานต้องเลือกใครสักคนมารับบทนำ เราคงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไหร่ เพราะภาพลักษณ์เรา แค่เห็นคนก็เกลียดแล้ว

ทีมคัดเลือกนักแสดงถามเราว่า ‘เราเป็นคนยังไงกันแน่ ทำงานด้วยยากมั้ย’ วันนั้นรู้สึกว่าไม่ได้แน่ๆ ต่อให้เรื่องที่เขาได้ยินมาไม่ใช่เรื่องจริงเลย แต่คนก็จดจำเราในภาพนั้นไปแล้ว เราจึงอธิบายเท่าที่เราทำได้ และผลก็ออกมาว่าเราได้รับโอกาส มันน่าเหลือเชื่อมาก เพราะเราไม่ได้มาจาก 0 แต่เรามาจากติดลบ วินาทีนั้นเรารู้ตัวเลยว่าเราต้องทำให้ดีที่สุด ให้สมกับที่ทีมงานทุกคนตกลงปลงใจเลือกเรา เป็นสัญญาใจที่เราต้องยอมรับและแบกไว้ตลอด 9 เดือนที่ทำงานนี้ แนนโน๊ะไม่ใช่เราคนเดียว แต่คือทีมงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่

แนนโน๊ะเรียกร้องให้คิทตี้ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เรื่องแรก ด้วยความเหนือจริงของแนนโน๊ะ บวกกับตารางถ่ายที่โหดมาก มีถ่ายทุกสัปดาห์ และระหว่างถ่ายก็มีฟิตติ้งและเวิร์กช็อปไปด้วย ทำงานไม่มีวันหยุดเลย ทำงานเสร็จตี 3 นอนอีกวัน มะรืนตื่นมาไปฟิตติ้ง ขณะที่ทุกคนแสดงจบในตอน เราต้องไปต่อให้ครบ 13 ตอน

เรื่องที่สอง มีเวิร์กช็อปที่เราต้องปรับร่างกายจากการตีความแนนโน๊ะว่า ถ้าสิ่งมีชีวิตนี้ไม่กิน ไม่นอน ไม่ต้องการอะไรเลยในชีวิต สิ่งมีชีวิตนี้จะเคลื่อนที่ยังไง ซึ่งไม่ใช่การเคลื่อนที่อย่างซอมบี้แน่ๆ เพราะแนนโน๊ะมีความเกลียดชังเป็นแรงจูงใจ

ยังไง?

ทางพี่เล็ก ดมิสาฐ์ และทีม SOUR Bangkok ซึ่งเป็นครีเอทีฟของ เด็กใหม่ ค่อนข้างละเอียด จึงเป็นหน้าที่ของ ครูบิว (อรพรรณ อาจสมรรถ) กับ ครูโน่ (กรินทร์ ใบไพศาล) จาก Bew’s Act Things มาช่วยปรับเรื่องการแสดงให้ โดยเฉพาะปรับเรื่องของร่างกาย ทำยังไงให้คุ้นเคยกับการเคลื่อนไหวอีกแบบ อย่างตัวแนนโน๊ะจะกะพริบตาน้อย มีวิธีใช้สายตาเหมือนงู คือมองแล้วนะ แต่ก็เหมือนมองให้ลึกลงไปอีก ไม่ว่าเราจะยิ้มหรือจะทำอะไร ตาแนนโน๊ะจะเหมือนงู ต่อให้ยิ้มตาก็ยังมองแข็งอยู่

สรุปแล้วแนนโน๊ะคืออะไรกันแน่

ในช่วงที่เวิร์กช็อปมีการตีความร่วมกันหลายฝ่ายว่า ‘แนนโน๊ะ’ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่แก่ แต่ก็ไม่เด็ก ไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน อาจจะนั่งอยู่ในห้องสีดำมืด มีหน้าที่สังเกตความเป็นไปของมนุษย์ วันดีคืนดีก็ขอพ่อผู้เป็นซาตานลงมาเล่นกับมนุษย์ ไม่ได้มีความไร้เดียงสา เพราะเห็นความเป็นไปของมนุษย์จนชิน เห็นการข่มขืนมาล้านๆ ครั้ง เห็นการฆ่าแกงกัน เห็นว่ามนุษย์เราไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่จะตั้งคำถามว่า ‘ทำไมใจร้ายกันจังวะ’

ติดคาแรกเตอร์มาใช้ในชีวิตจริงด้วยแน่ๆ เลยใช่ไหม

ใช่ๆ ตั้งแต่เล่นเรื่องนี้ ใครเจอเราก็จะทักว่าเหมือนเรามากับมวลมืดบางอย่าง

สำหรับคุณการแสดงมีความหมายยังไง

คิทมองว่างานแสดงเป็นงานพาร์ตไทม์ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะทำมันไม่เต็มที่นะ งานแสดงไม่ใช่งานตามสั่ง แต่คืองานที่ใช้ความรู้สึกใส่ลงไป ถ้าเราไม่อยากทำจริงๆ คนดูเขาก็ดูออกนะ เราจึงเลือกเล่นเฉพาะบทที่เรารู้สึกกับมันจริงๆ

อาชีพนักแสดงเป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพในโลกที่อนุญาตให้เราได้ลองเป็นคนอื่น โดยที่ไม่ต้องพยายามโกหกเพื่อจะเป็นใคร เราแค่แสดงออกมา และซึมซับช่วงเวลานั้นไว้ วันนี้เป็นคุณหนู พรุ่งนี้เป็นคนจน มะรืนเป็นคนติดยา อีกวันเป็นคนพิการ หลายครั้งทำให้เรากลับมามองชีวิตตัวเอง

มีบทบาทแบบไหนที่อยากลองเล่นอีกบ้าง

อยากเล่นเป็นคนพิการ เรามักจะประทับใจการแสดงของนักแสดงฮอลลีวูดเวลาเขารับบทผู้พิการ อย่างเรื่อง Don’t Breathe (2016) ที่ Stephen Lang เล่นเป็นคนตาบอด คนที่มองไม่เห็น สัมผัสที่มือเขาต้องดีมากขนาดไหนเขาจึงจะเคลื่อนที่ได้อย่างนั้น สงสัยมาตลอดเลยว่าเขาเล่นได้ยังไง เพราะมากกว่าการทำความเข้าใจตัวละคร นี่คือเป็นบทที่ใช้ร่างกายทั้งเรื่อง

อีกบทบาทคือ บทของคนที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในการแสดงมีกฎว่าห้ามลอกเลียน ห้ามทำตาม แต่ถ้าโจทย์ของบทบาทแบบนี้ คุณต้องแสดงให้เหมือนที่สุด เช่น หนังเรื่อง Rush (2013) ที่ Chris Hemsworth แสดงเป็น James Hunt นักแข่งรถได้เหมือนมาก หรือเรื่อง The Disaster Artist (2017) ที่ James Franco เล่น เขาขึ้นเฟรมช็อตต่อช็อตเลยว่าเล่นเหมือนขนาดไหน น่าสนใจมาก เพราะใช้ทักษะการแสดงคนละแบบเลย

คุณเริ่มรู้ตัวเมื่อไหร่ว่าหลงใหลทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

ช่วงที่ไม่ได้เป็นนักร้องแล้ว บังเอิญมีโอกาสไปฝึกงานกองถ่ายหนัง แล้วเราเป็นคนชอบดูหนัง ชอบดูเบื้องหลังของหนังใหญ่ๆ พอได้มาเห็นบรรยากาศจริง เห็นคนทำงาน เห็นนักแสดง เราชอบความรู้สึกนี้ อย่างปีที่แล้วไปช่วย พี่ต้อม (ยุทธเลิศ สิปปภาค) ทำ บุปผาอาริกาโตะ สนุกดี ได้ขับรถรับส่งนักแสดงจากสนามบินไปกองถ่ายที่ญี่ปุ่น (เพิ่มเติม: งานคิทตี้ในหนังเรื่อง บุปผาอาริกาโตะ คือ Assistant Production Manager)

กับงานเขียนบทภาพยนตร์ คุณต้องทำอะไรบ้าง

ช่วงที่ไม่ได้แสดงหนังและละคร เราทำงานเกี่ยวกับบทหนัง งานส่วนแรกคือเป็นที่ปรึกษา (Script Consultant) หน้าที่คืออ่านบทหนังของคนอื่นแล้วเขียนให้ความเห็น ประเมินภาพรวมของหนังว่าตรงกับกลุ่มเป้าหมายมั้ย ซึ่งเป็นงานแรกของเราในสายนี้ ตอนนั้นทำให้กับเรื่อง ตุ๊กแกรักแป้งมาก ตอนที่เห็นชื่อขึ้นใน End Credit แล้วน้ำตาไหลเลย ภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการสร้างหนังเรื่องหนึ่งขึ้นมา

งานส่วนที่สองคือ ครีเอทีฟ คิด Big Idea ทำทรีตเมนต์หรือบทหนังคร่าวๆ โดยยังไม่ลงรายละเอียดบทสนทนาหรือสถานที่ ส่วนที่สามคือ เขียนบทหนังเต็มๆ เรื่อง ซึ่งตอนนี้กำลังทำบทหนังให้กับทาง Transformation Films อยู่

หนังที่กำกับและเขียนบทโดยคิทตี้จะออกมาหน้าตาเป็นยังไง

เราค่อนข้างได้อิทธิพลจากงานของ Sofia Coppola มาก โดยเฉพาะเรื่อง Lost in Translation (2003) และ The Virgin Suicides (1999) ชอบทั้งในด้านความรู้สึกและมุมมองความเป็นผู้หญิง เหมือนที่หลายคนรู้โซเฟียมีความเฟมินิสม์เยอะมาก สอดแทรกลงไปในงานชัดเจน และต้องการจะสื่อว่าผู้หญิงก็มีความรักได้ เพียงแต่ฉันเป็นเจ้าของความรู้สึกนั้น ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงความรู้สึกฉัน เราว่าเท่มากเลยนะ

ถ้าได้ลองทำหนังของตัวเองสักเรื่องเราคงทำหนังอารมณ์ The Virgin Suicides เราสังเกตว่าปีที่ผ่านมามีผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้าเยอะมากขึ้น อาจจะฟังดูรุนแรง แต่เราก็แอบเห็นด้วยว่า คนเราอาจจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็น่าจะเลือกตอนจบของชีวิตเราเองได้ เช่น วันที่ป่วยหนักๆ ไม่รู้ว่าจะไปจากโลกนี้เมื่อไหร่ แต่ถ้าเราเลือกวันสุดท้ายของเราเองได้ ก่อนถึงวันนั้นเราจะออกไปเจอกับทุกคนที่รัก ปรับความเข้าใจกัน มันก็คงเป็นการบอกลาที่สวยงามนะ คิทก็ไม่แน่ใจหรอกแค่รู้สึกแบบนี้

ได้ยินว่าคุณชอบ Lost in Translation ของ Sofia Coppola มากถึงขั้นไปพักโรงแรมเดียวกันที่ญี่ปุ่น

ตอนนั้นเราอีเมลไปที่ Park Hyatt Tokyo ว่าอยากได้ห้องพักที่สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน พักในเรื่อง Lost in Translation เขาก็บอกว่าห้องที่ใช้ถ่ายจริงเป็นห้องที่สร้างขึ้นมา และมีการรีโนเวตไปหลายรอบแล้ว แต่ในโรงแรมมีห้องที่คล้ายกันมาก เห็นวิวเดียวกันกับฉากในเรื่องอยู่ ไปถึงเราก็พยายามตั้งกล้องถ่ายตัวเองนั่งริมหน้าต่าง

มะรืนจะเดินทางไปญี่ปุ่นอีกรอบ เป็นทริปโตเกียว 4 วัน 3 คืน ตั๋วบวกที่พักราคา 10,000 บาท เห็นราคาแล้วใจสั่น ไม่ไปไม่ได้แล้ว

คุณมักจะทำอะไรเมื่อต้องออกเดินทาง

กับเรื่องเที่ยวเราเป็นนักวางแผนจริงจังมากๆ จริงจังเหมือนบริษัททัวร์ (คิทตี้กำลังเปิดภาพพรีเซนเทชันสำหรับทริปอิตาลีให้เราดู) เราเป็นคนนิสัยเหมือนเด็กผู้ชายเล่นเกม ชอบวางแผน ชอบคำนวณว่าแต่ละวันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ที่ทำการบ้านหนักเพราะอยากรู้สึกปลอดภัย ไม่อยากพลาดสิ่งที่ตั้งใจจะทำ ปีที่แล้วไปชายฝั่งอามาลฟี (Amalfi Coast) ที่อิตาลี เป็นครั้งแรกที่เจอแดดร้อนแต่น้ำเย็นเจี๊ยบ ชอบความรู้สึกนี้มาก

ทุกครั้งที่เดินทางเราจะเขียนโปสการ์ดส่งกลับมาหาตัวเอง เป็นนิสัยที่แม่ปลูกฝังเรามาตั้งแต่เด็กๆ เพราะท่านเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศอยู่ตลอด กลับมาบ้านเจอหน้ากันแป๊บเดียวก็ต้องออกไปทำงานแล้ว ไม่ได้มีเวลานั่งเล่าให้ฟัง จึงใช้วิธีเขียนโปสการ์ดส่งกลับมาเล่าเรื่องแทน

โปสการ์ดจากแม่เต็มไปด้วยเรื่องราวเสมอ หลายครั้งข้อความจากโปสการ์ดก็ทำให้ของฝากจากที่ต่างๆ มีความหมายขึ้นมา เช่น โปสการ์ดจากบังกลาเทศ เป็นรูปนักเรียนยากจนกำลังเรียนหนังสือ ในโปสการ์ดแม่เขียนเล่าว่าจะซื้อดินสอฝีมือเด็กๆ ที่นี่ไปฝากเรา ก่อนจะลงท้ายว่า ในชีวิตนี้พ่อแม่ไม่มีอะไรจะให้นอกจากความรู้

รู้ตัวมั้ยว่าชีวิตคุณลึกลับพอๆ กับแนนโน๊ะเลย

เหตุผลที่เรารักความเป็นส่วนตัว เพราะเรารู้ตัวว่าถ้าเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ได้ เราก็ไม่ขอเป็นเลยละกัน หมายความว่าเราอาจจะโพสต์รูปทั่วๆ ไปในโซเชียล แต่เราจะเขียนบรรยายความรู้สึกที่มีต่อทุกสิ่งรอบตัว เช่น ‘รถคันหน้าเป็นอะไร ทำไมไม่ขยับเสียที’ ที่ผ่านมาเราไม่ได้แสดงความเกี้ยวกราดลงในโซเชียลเท่าไหร่ แต่ต่อให้มีเราก็ลบมันไม่ทันหรอก

ในทางกลับกัน เรากลับเห็นถ้อยคำที่เกรี้ยวกราดใส่คุณเต็มโลกออนไลน์ไปหมด

เรานั่งอยู่ตรงนี้ เราไม่มีทางรู้ว่าใครพูดถึงเรายังไงบ้าง แต่รู้ว่ามันต้องเยอะมาก ขนาดที่ว่าถ้าทุก 1 คำเท่ากับแผล 1 แผล ตอนนี้คงไม่เหลือที่แล้ว มันเยอะมากเลยนะ อยู่ดีๆ ก็มีเรื่องเราในกระทู้พันทิป แต่ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เขาพูดเหมือนรู้จักเรา เหมือนสนิทกับเรา เคยคิดว่าถ้าเราไม่จิตแข็งประมาณหนึ่งเราคงช็อกตายไปแล้ว เราควรจะทำยังไงกับตัวเองที่อยู่ดีๆ ก็โดนคนทั้งประเทศด่าแรงๆ บางคนไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำ แต่ด่าที่เราหูกาง บอกให้เอาหูไปเก็บ

ณ เวลานั้นที่เราถูกต่อว่า ถ้าเขาแสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่เราทำไม่เหมาะสม น่าเกลียด เราก็ยอมรับว่าสิ่งที่ทำมันเลวร้าย เข้าใจได้ แต่การถูกพูดถึงว่า ‘หูกาง’ ‘ฉีดคางมา’ ‘ไม่ต้องมาทำข่าวคนอย่างนี้หรอก’ บ้างก็ว่า ‘แรด’ บางทีเราก็ไม่เข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน มันมารวมกันได้ไง

เคยคิดจะออกมาโต้แย้งหรืออธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นมั้ย

ก่อนหน้านั้นเราเคยคิดอยากจะพูดอะไรเหมือนกัน แต่เรียนรู้ว่าแก้ตัวไปก็โดนด่าอยู่ดี อยู่นิ่งๆ ดีกว่า ถ้าเวลาจะทำให้คนเห็นใจเราขึ้นมา ก็ต้องให้เวลามาทำงาน

‘แนนโน๊ะ’ พิธีล้างบาปของ คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล
คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล : บทสนทนาว่าด้วยเรื่องความเกรี้ยวกราด แอปเปิ้ลอาบยาพิษ อาชีพนักเขียนบทภาพยนตร์เต็มเวลา และ Sofia Coppola

เหมือนแนนโน๊ะกำลังพาคุณมาล้างบาปหรือเปล่า

ใช่ เวลาผ่านไปมีคนกลับมาชื่นชมเรา ซึ่งเราไม่ได้ลืมนะว่าเราเคยทำผิดอะไรไว้

ถ้าถามว่าเราคิดยังไงกับเรื่องในวันนั้น เราจะไม่ตอบว่า ช่วยไม่ได้ ตอนนี้ดังแล้ว นั่นจะไม่ใช่คำตอบของเรา เพียงแต่เรารู้สึกเราขอโทษที่วันนั้นเราวู่วามเกินไป เราจะฝืนความเป็นตัวเองมั้ย คงไม่ แต่จะหาทางแก้ปัญหาที่ดีกว่านั้น เราคงบอกพี่ๆ นักข่าวว่าหนูไม่ได้เตรียมใจมาตอบคำถามที่งานนี้ หนูจึงให้สัมภาษณ์ไม่ได้จริงๆ เราจะไม่เดินออกไปจากวงแบบที่ทำในวันนั้น

ในซีรีส์ เด็กใหม่ แนนโน๊ะเป็นลูกสาวซาตานที่มาจัดการเปลี่ยนบางอย่างโลกมนุษย์ ชีวิตจริงคิทตี้มีอะไรอยากเปลี่ยนมั้ย

อยากเปลี่ยนให้ทุกคนมีจิตสำนึกขึ้น ทั้งเรื่องการเคารพตัวเองและเคารพคนอื่น คิทมองว่าสมัยนี้คนเราเคารพกันและกันน้อยลง หลายครั้งเราแสดงความคิดเห็น เราสบถด่า กันง่ายเหลือเกิน เราสาปแช่งคนอื่นกันบ่อยขึ้น เราไม่แคร์ความรู้สึก เราคิดว่ามันเป็นแค่ตัวหนังสือ มันน่าเศร้านะ คุณไม่รู้หรอกว่าวันนั้นเขาเจออะไรมา

อะไรคือสิ่งที่แนนโน๊ะฝากคุณมาบอกทุกคน

แนนโน๊ะเหมือนคนที่ยื่นแอปเปิ้ลอาบยาพิษให้ แล้วทำให้เห็นว่าคนที่อ่อนแอที่สุด เขาไม่ได้อ่อนแอเพราะอยากอ่อนแอ แต่เขาแค่ไม่เคยได้พลังอำนาจมา และถ้าเขาได้อำนาจนั้นมา เขาอาจจะเป็นคนที่เลวกว่าคนที่มีพลังอำนาจนั้นอยู่แล้วเสียอีก

การที่เราเป็นคนที่ดี ไม่ใช่การกระทำเพียง 1 – 2 วัน แต่มันใช้เวลาทั้งชีวิตที่เราจะไม่เลือกเดินทางผิด เราต้องพิสูจน์ไปเรื่อยๆ เป็นคนดีมาตลอด ทำผิดครั้งเดียวทำไมคนต้องรุมด่าเรา แนนโน๊ะกำลังจะบอกว่า ถ้าคุณจะเป็นคนดี คุณต้องเป็นคนดีไปให้ได้ตลอดทั้งชีวิต

คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล : บทสนทนาว่าด้วยเรื่องความเกรี้ยวกราด แอปเปิ้ลอาบยาพิษ อาชีพนักเขียนบทภาพยนตร์เต็มเวลา และ Sofia Coppola

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan