“กลัวมั้ย”

โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ถามผมในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ที่ซึ่งช่างภาพชาวปัตตานีบอกผมว่า ก่อนหน้าราวสัปดาห์เพิ่งมีการวางระเบิดไม่ไกลจากจุดที่เราอยู่

ผมยิ้ม ส่ายหน้า ก่อนตอบไปเพียงว่า “ไม่กลัว” แต่ในใจคิดว่า เป็นผมหรือเปล่าที่ต้องเป็นผู้ถามคำถามนี้กับเธอ

ครั้งนี้ผมและเธอเดินทางมาเยือนยะลาเพื่อร่วมเปิดตัวหนังสั้นเรื่อง คิดถึง (Still on my mind) ที่เธอเป็นผู้กำกับ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในโครงการ ‘เที่ยวให้สุด ปักหมุด สุดแดนใต้’ ที่พยายามนำเสนอภาพของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีกมุมเพื่อให้ผู้คนอยากลองเดินทางมาเยือนสักครั้ง โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ

ภาพที่คนนอกไม่ได้เห็น เสียงที่คนนอกไม่ได้ยิน ความงามที่คนนอกไม่ได้สัมผัส-เธอมีหน้าที่ส่งต่อสิ่งเหล่านี้

หญิงสาวตรงหน้าบอกว่าการถ่ายทำหนังสั้นเพียงครึ่งชั่วโมงเรื่องนี้ทำให้เธอต้องลงมาเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 4 ครั้ง-ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 และเพียงครั้งแรกเธอก็ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เธอยอมรับ เสียงระเบิดมีจริง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าที่นั่นไร้ซึ่งเสียงอื่น

เสียงชาวเมืองคุยกันเรื่องความฝันได้ยินหรือไม่ เสียงน้ำทะเลที่ซัดสาดกระทบหาดทรายสวยงามได้ฟังบ้างไหม เสียงดนตรีจากวงออร์เคสตราที่บรรเลงด้วยเด็กชายหญิงไม่แบ่งแยกศาสนาเคยฟังหรือเปล่า

เราได้นั่งคุยกันอีกครั้งยาวๆ ถึงเบื้องหลังหนังสั้นเรื่องนี้ที่ร้านกาแฟบรรยากาศดีในจังหวัดปัตตานีซึ่งข้างๆ มีป้อมทหารตั้งอยู่

คงเป็นอย่างที่เธอว่า ยังมีความงามอีกมากมายที่ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความไม่สงบ ซึ่งความงามที่ว่าไม่ใช่เพียงเรื่องสถานที่เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงชีวิตต่างๆ ที่ยังเคลื่อนไหวและดำเนินต่อไป

โดนัท มนัสนันท์, หนังสั้น คิดถึง, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ก่อนที่จะมาทำหนังสั้นเรื่องนี้ความทรงจำของคุณต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นยังไง

ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน เราก็คิดว่ามันคงไม่ปลอดภัย เพราะเราเป็นคนอ่านข่าว เราก็เห็นข่าวตลอด เอาง่ายๆ พอตัดสินใจว่าจะลงมา ด่านแรกคือครอบครัว ทุกคนเป็นกังวลหมดว่าจะมายังไง จะไปได้เหรอ ก็ยิ่งทำให้เราคิดว่า หรือมันจะไม่โอเค

จริงๆ โปรเจกต์นี้เกิดจาก พี่เป๊ก (สัณณ์ชัย เองตระกูล) เขาทำโปรเจกต์ ‘เที่ยวให้สุด ปักหมุด สุดแดนใต้ แล้วเขาอยากให้โดนัททำอะไรให้เขาสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่เขาบอกว่า โดนัทต้องไปเองก่อน เพราะว่าพี่เขาเล่าให้ฟังไม่ได้ว่า 3 จังหวัดเป็นยังไง โดนัทต้องไปเห็นเอง ซึ่งส่วนตัวก็เป็นคนที่ถ้าเราไม่เห็นเองเราจะคิดไม่ออก ก็เลยลงไปนราธิวาส ยะลา และปัตตานี

ก่อนไปก็เสิร์ชคำว่า ‘ตากใบ’ ในกูเกิล โอ้โห ไม่มีรูปอื่นนอกจากรูปเหตุการณ์รุนแรง คืออินเทอร์เน็ตมันเคลียร์อะไรพวกนี้ไม่ได้ ครั้งแรกก็กังวลเหมือนกัน แต่อย่างที่บอก ถ้าเราไม่เคยเห็นเราจะไม่รู้ว่าเราอยากจะถ่ายอะไร ที่แรกที่โดนัทไปก็คือสะพานคอยร้อยปีที่ตากใบ พอไปถึงก็ยังมีป้อมทหาร แต่ไม่มีทหารที่จุดนั้น บรรยากาศก็จะเงียบๆ ไม่ค่อยมีคน

คุณไม่กลัว

ไม่กลัว เราก็บอกกับทีมว่าอยากไปตลาด อยากเห็น ซึ่งพี่อาร์ม ผู้ช่วยผู้กำกับ ก็จะบอกว่า บางจุดอาจไม่เหมาะที่จะไป ซึ่งตรงสะพานที่ไปจะเป็นแม่น้ำที่เรานั่งเรือได้ ทีมก็ถามว่า โดนัทจะดูแค่นี้ หรือว่าจะข้ามไป เราก็บอกว่าเราดูแค่นี้ พอแล้ว นึกออกแล้วว่าเป็นยังไง ซึ่งทุกคนก็กังวลมากหากเราเกิดอยากจะข้ามไปดูจริงๆ

คือ 3 จังหวัดยังมี Red Zone อยู่ ไม่ใช่ว่าทุกที่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างตอนที่เราตัดสินใจจะทำหนังสั้นแล้วติดต่อคนมาเล่น ทุกคนก็กลัวหมด แล้วเราก็ต้องพูดตรงๆ ว่าเราไปมาแล้ว เราพูดไม่ได้ว่ามันปลอดภัยมากๆ แต่วันนี้กับ 10 ปีที่แล้วมันไม่เหมือนเดิม แล้วสิ่งที่โดนัทเห็นคือทุกคนพยายามจะ Move On

มีกฎหรือข้อห้ามอะไรบ้างไหมตอนลงพื้นที่

ห้ามกลับเข้าโรงแรมหลัง 17.30 น. เราต้องกลับกันก่อนพระอาทิตย์ตก แต่พอมาบ่อยๆ ก็เริ่มกลับ 2 ทุ่มบ้าง เริ่มชิลล์ขึ้น แต่ถ้าคุยกับชาวบ้านเขาก็จะบอกว่า 3 ทุ่มหนูก็ยังขับรถกลับบ้านอยู่ แต่เราเป็นคนนอกพื้นที่ ต้องระวัง และเราก็คุยกันว่าเราจะไม่ไปกดเอทีเอ็ม กดกันมาให้เสร็จจากกรุงเทพฯ ป้ายสุดท้ายที่เรากดเอทีเอ็มได้คือสนามบิน เราจะไม่เดินไปไหนตอนกลางคืน ดึกๆ ไม่ต้องอยากกินอะไรกันนะ แต่มันก็เป็นแค่การระวังแหละ เราก็ต้องมีกติกากันในทีม

โดนัท มนัสนันท์, หนังสั้น คิดถึง, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แล้วตอนลงไปเข้าใกล้เหตุร้ายบ้างไหม

พอเสร็จจากยะลา วันที่ 2 เราเดินทางไปปัตตานีก็เจอระเบิด เขาเรียกว่าเป็นชุดระเบิดปูพรม

ตอนที่รู้ว่ามีระเบิดคิดอะไร

ตกใจ ตอนนั้นเราอยู่ในโรงแรมก็ยังไม่ได้คิดอะไร พอดีเป็นช่วงถือศีลอด ก่อนจะมีระเบิดเราก็ได้เห็นว่าเราะมะฎอนที่นี่เป็นยังไง เราก็รู้สึกดี แต่พอนั่งกินข้าวอยู่สักพักก็มีเสียงดังคล้ายพุ ห่างประมาณ 1 กิโลเมตร ข่าวก็เริ่มออกว่ามีระเบิดที่ไหนบ้าง เราก็ดูปฏิกิริยาคน เจ้าหน้าที่ในโรงแรมก็เดินมาบอกว่า มีระเบิดนะครับ ให้อยู่ในนี้ก่อนอย่าเพิ่งไปไหน เดี๋ยวจะบอกอีกทีหนึ่งตอนที่เรียบร้อย ทุกคนก็กินข้าวกัน ใช้ชีวิตกันปกติ

พอทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เราก็ออกมาจากโรงแรม มานั่งคุยกันว่าพรุ่งนี้เราจะไปไหน แล้วก็มีระเบิดดังใกล้เรามาก เหมือนอยู่ข้างหลังเลย เราก็ตกใจมาก แล้วมีคุณลุงคนหนึ่งนั่งซ่อมจักรยานอยู่ข้างๆ เขาหันมาบอกว่า โดนัทไม่ต้องตกใจลูก เขากู้ระเบิด ไม่มีอะไร แล้วแกก็ซ่อมจักรยานแกต่อ

ตอนที่ระเบิดรู้สึกมั้ยว่าเมืองก็ยังมีปัญหาอยู่

เรารู้อยู่แล้วว่าเมืองยังมีปัญหาอยู่ เราก็อ่านข่าว แล้วคนในพื้นที่เขาก็บอกว่า มันก็เป็นปกติในช่วงเวลานี้ และเราก็เห็นว่าทุกคนยังไปต่อ ยังใช้ชีวิตอยู่

อย่างที่เราคุยกันตอนนี้คือในร้านกาแฟที่ปัตตานี ถัดจากร้านเรามีป้อมตำรวจ ทหาร ตอนเราถ่ายทำที่ร้านนี้ มอนิเตอร์เราอยู่ข้างทาง ทหารก็ถือปืนเดินกันเต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้มันคือส่วนหนึ่งของที่นี่ มันแค่นั้นเอง แล้วอย่างที่บอกว่าเราไม่ได้โลกสวย ถามว่ามันปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์มั้ย มันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามันดีขึ้น แล้วมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

เราบอกทุกคนเหมือนกันหมดว่า เราพูดไม่ได้ว่ามันโคตรปลอดภัย เรารู้ว่ามันมีอยู่ แต่ทุกที่มีปัญหา แค่ที่นี่อาจจะชัดหน่อย เราก็มีเรื่องตลกที่พูดแซวกับเพื่อนกับทีมว่า เราก็ห้อยพระมา แต่ว่ารอบนี้เราไม่ได้ห้อยแล้ว

โดนัท มนัสนันท์, หนังสั้น คิดถึง, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดนัท มนัสนันท์, หนังสั้น คิดถึง, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แล้วเจออะไรที่น่าสนใจตอนลงพื้นที่

จริงๆ เราชอบนราธิวาสนะ หาดนราทัศน์สวยมาก โคตรสวย ตอนเย็นเราเห็นแม่ลูก เห็นครอบครัว พากันมานั่งริมทะเล เห็นชีวิตของคน แล้วในเมืองก็มีแกลเลอรี่ เป็นเมืองที่น่ารักมาก เราไปตลาดมุสลิมทุกคนรู้จักเราหมด ให้น้ำให้ขนมจนเราสงสัยว่าพวกเขาดูทีวีกันด้วยเหรอ เขายังดูเราได้อยู่อีกเหรอ พี่เขาดูเราตอนไหนถึงรู้จักเรา สำหรับเรา ภาพจำที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงมันก็หายไป

หลังจากไปนราธิวาสเราก็ไปยะลาต่อ ซึ่งก่อนจะมายะลา โปรดิวเซอร์เขาก็ส่งบทสัมภาษณ์น้องมุสลิมที่อยู่วงออร์เคสตร้ายะลามาให้อ่าน เราก็เลยอยากไปเห็น แล้วพอเราได้เห็นน้องๆ วงออร์เคสตร้าเยาวชนยะลา มันรู้สึกมหัศจรรย์มากๆ

วงออร์เคสตร้าวงหนึ่งพิเศษยังไง

เราว่ามันเรียบง่ายมาก แค่นั้นเอง เด็กออกมาเล่นดนตรีด้วยกัน แค่นั้น แล้วนี่คือชีวิตเขา เราก็สงสัยว่าเขามาอยู่ตรงนี้กันได้ยังไง ทำไมถึงมาอยู่กันตรงนี้ ก็เลยไปตามอ่านว่าจุดกำเนิดของวงนี้คืออะไร เป็นมายังไง เราก็เลยรู้ว่าวงออร์เคสตร้าก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ทำให้คนมารวมกัน ทำให้เด็กที่ผ่านเหตุการณ์มาเหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน 3 จังหวัดจะมีความเป็นพหุวัฒนธธรม คือผสมผสานกันระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาพุทธ ซึ่งวงก็ทำให้ไทยพุทธไทยมุสลิมมาอยู่ด้วยกันในวง มันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความสามัคคี

เหมือนบทสนทนาในหนังที่บอกว่า ออร์เคสตร้ามันเล่นชิ้นเดียวไม่ได้ มันต้องเล่นเป็นวง มันคือความสามัคคี ต้องทำด้วยกัน แล้วถึงเวลาที่เด็กๆ เขามาเล่นดนตรี เขาไม่ได้แบ่งว่าเธอเป็นผู้หญิง เธอเป็นผู้ชาย เธอเป็นพุทธ เธอเป็นมุสลิม ทุกคนเล่นดนตรีด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทางจังหวัดมอง แล้วมันให้แรงบันดาลใจเรามากๆ เราก็เลยอยากให้คนได้เห็น พอกลับไปกรุงเทพฯ เราก็รู้แล้วว่าเราอยากทำเรื่องเยาวชนในวงออร์เคสตร้าที่ได้เห็น

โดนัท มนัสนันท์, หนังสั้น คิดถึง, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ได้ถามเด็กๆ มั้ยว่าเขากลัวความรุนแรงหรือเปล่า

ไม่เคยถามนะ ซึ่งวันที่เรามาถ่ายก็มีระเบิดที่ยะลา

อย่างที่ในหนังบอกว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง คือเด็กในวงก็มีหลายคนที่สูญเสียครอบครัว คนรัก จากเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่เรารู้สึกว่าสำหรับวงออร์เคสตร้ามันไม่มีอะไรมาแบ่ง ทุกคนมารวมกันเพราะดนตรี แล้วเราอยากให้คนเห็นว่าคนที่นี่เขาน่ารักแค่ไหน เขามีความฝัน มีความหวัง มีน้องที่อยากไปเรียนต่อวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วเราเองเป็นคนที่อยู่ได้เพราะว่าแรงบันดาลใจจากคนอื่น เรื่องของคนอื่นมันจะส่งแรงบันดาลใจให้เราทำอะไรสักอย่าง เราก็เลยรู้สึกว่าน้องๆ เยาวชนกลุ่มนี้ก็น่าจะอินสไปร์คนอื่นได้ แล้วก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เป็นภาพที่ดีที่เราจะเล่าออกไป ถ้าคนถามว่าเราเห็น 3 จังหวัดเป็นยังไง ก็เป็นแบบหนังเรื่องนี้ ในหนังไม่มีอะไรปรุงแต่ง

แล้วตอนที่ได้เจอเด็กๆ มีบทสนทนาไหนที่กระทบใจคุณบ้างไหม

หนังสั้นเรื่องนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากน้องผู้หญิงคนหนึ่ง น้องเป็นมุสลิมแล้วก็เล่นดนตรี ซึ่งจริงๆ แล้วศาสนาอิสลามเขาก็มีข้อกำหนดเรื่องการเล่นดนตรีอยู่ เราก็คุยกัน น้องก็บอกว่า การที่เขาได้มาเล่นมันทำให้เขาลืมทุกอย่าง แล้วเขาก็บอกว่า เขาก็รู้ว่าวันหนึ่งเขาจะเลิกเล่น แล้วเดี๋ยวเขาก็จะไปขอโทษ แต่เขาบอกว่า การที่เขาได้มาอยู่ในวงมันไม่มีการแบ่งน่ะ ไม่มีแบ่งผู้หญิง ผู้ชาย หรือแบ่งศาสนา แล้วเขาบอกว่า เขามีความสุข

แล้วน้องซึ่งเป็นต้นกำเนิดเรื่องไม่เคยเล่นดนตรีให้แม่ดู บอกว่าไม่อยากให้แม่เห็น แต่เมื่อวานที่ฉายรอบแรกแม่น้องก็มาดูหนัง

เราว่าดนตรีหรือศิลปะมันทำให้คนได้อยู่ด้วยกัน หนังมันก็เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ ดนตรีก็เหมือนกัน ศิลปวัฒนธรรมมันเชื่อมคน

โดนัท มนัสนันท์, หนังสั้น คิดถึง, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความยากของการเล่าเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร

มันก็ละเอียดอ่อน เราต้องระมัดระวัง พยายามอ่านเยอะๆ อ่านพวกบทสัมภาษณ์ต่างๆ อ่านข่าวของคนในพื้นที่ เราจะได้รู้ว่าอะไรเราพูดได้หรือไม่ได้ อย่างเราเองจะเล่าเรื่องเด็กเล่นดนตรี แล้วเราจะเล่าเหตุการณ์ยังไง เราคุยกันว่าเราจะพูดถึงเหตุการณ์แต่ไม่ต้องมีเลือดก็ได้ มันก็มีวิธีเล่า เจตนาของเราคืออยากให้คนเห็นด้านอื่นอยู่แล้ว เรามองชาวบ้านที่นี่ มองน้องๆ แล้วเรามีความสุข เขามีความสุขกันมาก เราไม่ได้มาเห็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วรู้สึกเศร้าจังเลย ในรอบ 2 เดือนนี้เรามา 5 ครั้งแล้ว แต่ละครั้งก็อยู่ 3 วัน 5 วัน 7 วัน

แต่ละครั้งที่มา มอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนไปมั้ย

ยิ่งอยู่เรายิ่งรู้สึกดี เรายิ่งรู้สึกคิดถึง มันเหมือนชื่อหนัง มาร้านกาแฟเจอคนรู้จักตอนที่เราถ่าย ได้เจอเด็กๆ มันคิดถึงจริงๆ มันนึกถึงเขาอยู่ตลอด เมื่อวานมีคนจาก อ.บ.ต. ของตะโละกาโปร์ มาดู เราก็จำได้ว่าตะโละกาโปร์มันสวยขนาดไหน มันโคตรสวยเลย

สุดท้ายคุณกำลังทำหนังสั้นที่โปรโมตการท่องเที่ยว แล้วคุณกล้าใส่เรื่องความรุนแรงในพื้นที่ลงไปในหนังไหม

เราใส่ลงไปนะ ตัวละครพ่อในเรื่องก็จากไปด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ว่าสุดท้ายทุกคนก็ไปต่อ

มันเป็นเรื่องที่อยู่ในใจเขานะ เราว่าไม่มีใครลืมหรอก ไดอะล็อกที่น้องพูดก็เอามาจากบทสัมภาษณ์ที่เขาพูด เราก็ไม่กล้าเขียนอะไรจากจินตนาการของเรา เพราะเราอยากให้หนังสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของเขา เราเชื่อเลยว่าทุกคนที่สูญเสีย ทุกอย่างยังอยู่กับเขา แต่เขาต้องไปต่อ มันทำได้แค่นี้ เราแค่พยายามทำให้คนได้เห็นทุกด้าน ตอนจบมันก็จะเงียบๆ นิดหนึ่ง เพราะเราก็รู้ว่าสิ่งนี้มันก็ยังอยู่ แต่มันดีขึ้น

สุดท้าย เราคงไม่ได้ชวนคนมาเที่ยวที่นี่กันเยอะๆ นั่นไม่ใช่เจตนาของเรา แต่เราอยากให้คนเห็นภาพอื่น เมื่อวานที่เราไปถ่ายรูปกันในยะลา เห็นมั้ย ก็มีทัวร์มาเที่ยวนะ มันไม่ได้ง่ายที่จะโน้มน้าวให้คนมา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราอยากให้เขาเห็นภาพอื่น แล้วถ้าเขาอยากมา เดี๋ยวเขามาเอง

โดนัท มนัสนันท์, หนังสั้น คิดถึง, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอขอบคุณ: มูหมัดซอเร่ เดง

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล