สู้ ซ่า – ผมคิดถึงคำสองคำที่ว่าหลังสนทนากับ ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ

ในยุคที่เพลงไทยสากลยังไม่เกิดขึ้น เธอเริ่มฟังเพลงร็อกจากวงดนตรีสากลและซึมซับสิ่งที่ได้ฟังไว้กับตัว

ในยุคที่อาชีพนักร้องยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม-โดยเฉพาะเจาะจงที่ผู้หญิง อัญชลีเลือกเดินบนเส้นทางนักร้องกลางคืนแทนที่จะเลือกเส้นทางเกี่ยวกับการเงินและการธนาคารที่ร่ำเรียนมา

ในยุคที่นิตยสารอยู่ในช่วงขาลง หลายหัวทยอยปิดตัว วันหนึ่งเธอประกาศตัวเป็นบรรณาธิการของนิตยสารแจกฟรีที่ชื่อ Pet Hipster ทั้งที่ออกตัวว่างานหนังสือไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความสนใจของเธอมาก่อน

จากการคุยกับเธอเพียงไม่นานเรื่องการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในวงการที่เธออยู่อาศัย เราพบว่าเธอทั้งสู้และซ่าไม่น้อย ในความหมายของการยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อโดยไม่ให้ปัจจัยภายนอกมาสั่นคลอนสิ่งที่ทำ

ที่สำคัญคือ เธอสามารถยืนระยะมาอย่างยาวนานจนปัจจุบันอายุนำหน้าด้วยเลข 6 ก็ยังดูไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป

ในวัยที่หลายคนยึดเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน เธอยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งงานร้องเพลง และงานนิตยสารที่รับผิดชอบ

เมื่อมีโอกาสได้พบกัน ผมจึงเลือกจะชวนนักร้องผู้นี้พูดคุยถึงวงการที่เธอเกี่ยวข้องในทุกวันนี้ ทั้งวงการดนตรีและสิ่งพิมพ์

และเหนืออื่นใด ท่ามกลางผู้คนในวงการที่ลบเลือนหายไป ผมอยากรู้ว่าอะไรทำให้เธอยังยืนอยู่ตรงนี้

ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ

พ.ศ. 2527

“รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นำเรามาถึงจุดนี้ได้”

คล้ายหลายๆ ครั้งที่บทสนทนามักเริ่มต้นที่อดีต

“ตอนเด็กๆ อย่าพูดถึงความฝันเลย” นักร้องตรงหน้าออกตัวทันทีเมื่อผมชวนย้อนความหลังว่าการเป็นนักร้องคือความใฝ่ฝันในวัยด็กใช่ไหม

“ตอนเด็กๆ เราไม่รู้หรอกว่าเราฝันอยากเป็นอะไร ชอบอะไรยังไม่รู้เลยตอนนั้น แต่เมื่อก่อนคุณพ่อชอบฟังเพลง เมื่อก่อนก็จะมีเพลงสุนทราภรณ์ แล้วก็ไล่มาถึงเพลงฝรั่งในยุคสมัยที่มี เอลวิส เพรสลีย์ มี The Beatles ซึ่งตอนนั้นดังมาก เริ่มมีพวกร็อกเบาๆ มาเรื่อยๆ เราก็เลยได้รับอิทธิพลจากการฟังเพลงช่วงนั้นมา ทีนี้พี่สาวเขาก็เริ่มเล่นโฟล์กซอง เราเริ่มชอบ ก็เลยหัดจับคอร์ดกีตาร์จากเขา ก็เริ่มเล่นเป็น จนกระทั่งโตขึ้นมาหน่อยพี่ชายเริ่มมีวง แล้วไม่รู้จะไปชวนใครก็มาชวนเรา แล้วก็บังคับให้เราเล่นเบส (หัวเราะ) จนกระทั่งเรามีวงเป็นเรื่องเป็นราว

“ช่วงนั้นกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย หลังจากนั้นเราก็มีออดิชันที่โรงแรมมณเฑียร ปรากฏว่าวงเราผ่านก็เลยได้ไปเล่นในช่วง Happy Hour ถามว่าฝันมั้ย ไม่ได้ฝันจะเป็นนักร้อง เหมือนกับที่ไม่เคยฝันจะเป็นอะไรแล้ว รู้ตัวอีกทีก็เป็นความจริง”

ทุกวันนี้อาชีพนักร้องอาจเป็นความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาว แต่ ณ ปี พ.. นั้น อาชีพนี้ยังเป็นงานที่ผู้คนไม่ยอมรับ

เต้นกินรำกิน-เราคงได้ยินคำนี้มาจนชินหู

“ไม่ต้องอะไร แม่เราไม่ชอบเลย ตอนแรกเขาคิดว่าเป็นแค่ช่วงเราเรียนแล้วเล่นสนุกๆ แต่หลังจากเรียนจบเราก็ยังร้องเพลงอยู่ ไม่ยอมไปทำงาน

“ในสังคมตอนนั้นอาชีพนักร้องคือเต้นกินรำกินสำหรับผู้หญิง มันไม่ใช่อาชีพที่คนนิยมแบบตอนนี้ หนึ่ง มันไม่มั่นคง มันก็อยู่แค่นั้น สอง เป็นอาชีพกลางคืน มันก็ไม่เหมาะอยู่แล้ว ฉะนั้น สมัยก่อนจะมีนักร้องผู้หญิงไม่กี่คนเอง มีเราอยู่ในนั้นคนหนึ่ง พ่อกับแม่เขาก็พยายามให้เราไปสมัครงานตามบริษัทเงินทุน เพราะเราเรียนจบการเงินการธนาคารมา บางแห่งก็มีเรียกไปสัมภาษณ์ แต่เราก็ไม่ไป แล้วบอกที่บ้านว่าไม่ผ่าน (หัวเราะ) หรือไปก็อาจจะไม่ผ่านจริงๆ ก็ได้ แต่เราไม่ได้อยากทำงานอย่างนั้น”

นักร้องสาวยืนยันความเชื่อความชอบของตัวเองมาได้เกือบ 2 ปี จนมาถึงจุดหักเหสำคัญจนทำให้เธอมีอัลบั้มแรกในชีวิต

“ตอนนั้นเริ่มเริ่มไปออกรายการโทรทัศน์ เพราะมีคนติดต่อให้เราไปร้องเพลงในรายการพิเศษวันหยุดชื่อ น้ำแข็งใส่น้ำหวาน ซึ่งเป็นรายการร้องเพลง ก็เริ่มมีคนสนใจว่าเด็กผู้หญิงคนนี้เป็นใครนะ ร้องเพลงดี ก็เริ่มมีแมวมองมา แล้วก็ได้ไปเล่นหนังอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นหนังฟอร์มเล็กๆ เรื่อง ถามหาความรัก แล้วก็เป็นช่วงนั้นแหละที่มีแมวมองมาติดต่อมาอยากให้เราทำอัลบั้ม จนกลายเป็นอัลบั้มแรกชื่อ หนึ่งเดียวคนนี้

“เราก็ถือว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนำเรามาถึงจุดนี้ได้”

ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ ปุ๊ อัญชลี

พ.ศ. 2528

“ถ้าตอนนั้นปฏิเสธไปเราคงเสียใจ”

อัลบั้มแรกของเธอที่ชื่อ หนึ่งเดียวคนนี้ โด่งดังเหนือความคาดหมาย ผลักให้ชื่อของ อัญชลี จงคดีกิจ เป็นที่พูดถึง จนกลายเป็นกระแส ‘อัญชลีฟีเวอร์’ อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนมีงานถ่ายแบบและภาพยนตร์เข้ามาในตอนนั้น

ขณะเดียวกันกับที่แบรนด์เครื่องดื่มอย่าง Pepsi กำลังขับเคลื่อนแคมเปญใหญ่ระดับโลก โดยการคัดเลือกนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์แต่ละประเทศเพื่อมา Featuring กับซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง Tina Turner 

และไฮไลต์สำคัญของชีวิต ปุ๊ อัญชลี ก็เกิดขึ้นในช่วงนั้น เมื่อเธอได้รับการคัดเลือกจาก เป๊ปซี่ ประเทศไทย ให้ร่วมถ่ายมิวสิกวิดีโอร่วมกับทีน่า

โฆษณาเป๊ปซี่

“ตอนนั้นเป็นโปรเจกต์ใหญ่มากที่ทีน่าจะตระเวนไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อถ่ายโฆษณาตัวนี้ร่วมกับนักร้องแต่ละประเทศ โดยในทวีปเอเชียมี 5 ประเทศที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งเขาก็เลือกเฉพาะประเทศที่ยอดขายดี แล้วประเทศไทยเป๊ปซี่ถือว่ายอดขายดีมาก” อัญชลีย้อนเล่าถึงความป็อปของแบรนด์เป๊ปซี่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน

“สิ่งที่เราภูมิใจมากคือเป็ปซี่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ส่งรายชื่อนักร้องเป็นผู้หญิงไป เมืองนอกเขาไม่เอานักร้องผู้หญิง เขาเลือกผู้ชาย ทั้งหมด 5 ประเทศในเอเชียมีเราเป็นผู้หญิงคนเดียว ซึ่งเขาก็บอกว่าเราเหมาะกับทีน่า เทอร์เนอร์ ที่สุด เพราะว่าตอนนั้นบ้านเราอาจจะยังไม่มีนักร้องผู้ชายที่เป็นร็อกชัดเจน

ทีน่า เทอร์เนอร์ ปุ๊ อัญชลี

“ตอนแรกเรากลัวมากว่าจะทำได้มั้ย เหมือนเราสวยในซอยอย่างเดียวแล้วต้องไปประกบทีน่า เทอร์เนอร์ อะเธอ (หัวเราะ) ตัวเราก็เล็กนิดเดียว แล้วเรื่องเสียงอีก ทีน่าเป็นคนที่สุดยอดแล้ว ตอนแรกเราปฏิเสธ ตอนนั้นเราวิตกจริต เราเป็นคนขี้กลัวมาก เราก็คิดว่าไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวคนจะรู้ความจริงว่าฉันไม่เก่ง พ่อเราก็เดือดร้อนใจมาก เพราะมีเพื่อนร่วมงานคุณพ่อมาบอกว่า ‘รู้มั้ยว่าถ้าปฏิเสธปุ๊จะพลาดสิ่งสำคัญไปเลย เขาจะเสียใจภายหลังนะ’ พ่อก็เลยมาอ้อนวอน แล้วสุดท้ายพอได้คุยกับทางทีมความกลัวก็ลดลง เพราะรู้สึกว่าเขามั่นใจว่าเราทำได้ ก็ตกลง

“แล้วถ้าตอนนั้นปฏิเสธไปเราคงเสียใจ”

ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ

พ.ศ. 2561

“ไม่ว่าวงการอะไร มันต้องมีประวัติศาสตร์ของวงการ”

เมื่อชวนคุยถึงความแตกต่างของนักร้องใน พ.. นี้กับเมื่อวันวาน นักร้องที่ผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัยก็บอกอย่างเข้าใจว่าแต่ละยุคมีความยากง่ายแตกต่างกันไป

ถ้าให้มองภาพรวม เราว่ายุคของเราง่ายกว่า ความกดดันน้อยกว่า ในแง่ของการแข่งขัน สมัยนี้มีช่องทางเยอะ และเป็นยุคที่ผู้คนใฝ่ฝันจะเป็นนักร้องนักแสดง เพราะเป็นอาชีพที่นำความสำเร็จมาได้เร็วที่สุดไม่ว่าจะชื่อเสียง เงินทอง และที่เราว่ายากกว่าตรงที่เด็กสมัยนี้เก่งกว่าสมัยก่อนเยอะในเรื่องดนตรี เรื่องความรู้ เรื่องการศึกษา อย่างเรื่องการเรียนดนตรีเรานี่ไม่มีเลย สมัยก่อนนักดนตรีเรียนโดยการฟังอย่างเดียว แล้วแกะเอา

“เมื่อก่อนมีที่ไหนโรงเรียนดนตรี ไม่มี แต่ทุกวันนี้อายุไม่เท่าไหร่ร้องเพลงเป็นแล้ว เก่งแล้ว เต้นได้แล้ว เพราะฉะนั้นยากตรงนี้ การแข่งขันสูง แล้วคนเก่งระดับเดียวกันเยอะมาก 10 คนร้องเก่งไปแล้ว 5 สมัยก่อน 10 คนเด่นคนสองคนมันก็โดดขึ้นมาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้เลย คุณต้องเก่งจริงๆ เก่งพื้นๆ ไม่ได้ ความยากมันต่างกันตรงนี้

แล้วอะไรทำให้เธอสามารถยืนระยะมาจนถึงทุกวันนี้ได้-ผมสงสัย

“ประการหนึ่งคิดว่าเป็นแฟนเพลงด้วย ที่เขาไม่ลืมเรา แล้วเราก็ยังพอมีผลงานออกมา แม้ไม่ได้บ่อย แต่ถ้าผลงานเราออกมาแล้วเขาชอบ เราก็จะได้แฟนเพลงอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มใหม่ขึ้น มันก็เหมือนเป็นการต่อลมหายใจไปอีก แล้วโชคดีที่เราอยู่ในยุคที่เพลงเรโทรกลับมา ไม่สังเกตหรือว่าศิลปินสมัยก่อนช่วงที่ผ่านมาขายดีมาก ทั้งคอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งคนต้องการฟังเพลงยุคเรา เพลงที่เขาเติบโตมา

“สำหรับเราเรื่องดนตรีมันไม่ทิ้งกัน เด็กรุ่นใหม่ยังนึกถึงเรา รุ่นเราก็ยังนึกถึงรุ่นก่อนหน้า มันมีคุณค่า เพราะถ้าไม่มีรุ่นก่อนหน้าก็ไม่มีวันนี้ มันต้องมีประวัติศาสตร์ของวงการ ไม่ว่าวงการอะไร วงการสิ่งพิมพ์ก็ต้องมีเหมือนกัน แม้ว่ามันจะซาไปแต่วันหนึ่งคนก็ต้องกลับมาระลึกถึง อะไรที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าที่จะเป็นเทคโนโลยีทั้งหมด ความเป็นคนยังต้องการสิ่งที่สัมผัสได้ ระลึกถึงความสัมพันธ์ มันเป็นอะไรที่สืบทอดกันได้”

อัญชลี จงคดีกิจ

พ.ศ. 2561

“แม้จะเล็กน้อยแต่เราได้ทำสิ่งที่คนคนหนึ่งทำได้”

ในขณะที่นิตยสารทยอยปิดตัว ผมจึงค่อนข้างประหลาดใจที่ในวันหนึ่งเธอลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ใครหลายคนบอกลาบอกเลิก

“เราไม่ได้มีแพสชันเกี่ยวกับหนังสือ เราแค่มีแพสชันเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง” นักร้องผู้เป็นบรรณาธิการนิตยสารสัตว์เลี้ยงชื่อ Pet Hipster ออกตัวเมื่อผมไถ่ถามถึงเส้นทางใหม่ที่ทำให้เธอดูกระชุ่มกระชวยอีกครั้ง

“จุดเริ่มต้นคือมีคนที่เขารู้ว่าเรารักสัตว์ชวนเรามาทำ ซึ่งพอได้คุยกับเขาแล้ววัตถุประสงค์เขาดีมาก คือเขารักสัตว์ เขาอยากกระตุ้นคน อยากให้มีหนังสือดีๆ เล่มหนึ่งที่ได้เห็นความเป็นไปของกลุ่มคนที่มีความรักสัตว์ เขาอยากทำเพราะความรัก พร้อมที่จะควักกระเป๋า เพื่อที่จะทำสิ่งนี้ ฟังแค่นี้ก็จับใจแล้ว และเขามาเชิญให้เกียรติเราเป็นบรรณาธิการ เราก็โอเค ลองทำดูแล้วกัน

“เราก็เอาเรื่องราวเกี่ยวกับคนเลี้ยงสัตว์มานำเสนอว่า คนในสังคมควรจะมีเมตตากับสัตว์ที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน เราอยากให้เรื่องพวกนี้ไปแตะต้องสังคมและเด็กๆ ในยุคนี้บ้าง เพราะบางทีเขาอาจจะไม่ได้มองรอบข้าง เขาอาจจะไม่ได้มองหมาจรจัดด้วยความเมตตา แต่ถ้าหนังสือเรามีส่วนไปกระตุ้นหรือทำให้เกิดจิตสำนึก ค่านิยมที่ดีขึ้นในเรื่องการรักสัตว์ การดูแลเอาใจใส่ เมตตา แล้วก็รับผิดชอบร่วมกัน แม้จะเล็กน้อย แต่เราก็ได้ทำเท่าที่คนคนหนึ่งทำได้ เท่าที่หนังสือเล่มหนึ่งจะทำได้”

อัญชลี จงคดีกิจ

ทุกวันนี้ในวัย 62 เธอยังคงทำงานราวคนหนุ่มสาว

อายุเป็นเพียงตัวเลขอาจเป็นประโยคที่คลิเช่ไปเสียหน่อย แต่ผมก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ เมื่อได้นั่งฟังเธอร้องเพลง หรือเห็นแววตาของเธอขณะเล่าเรื่องสิ่งที่ทำ

“ทุกวันนี้ความสุขความทุกข์หรือสิ่งที่มีความหมายเปลี่ยนไปมั้ยจากแต่ก่อน” ผมชวนเธอคุยสิ่งที่ไม่อาจสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า

“เปลี่ยนมาก เปลี่ยนไปตามวัย เปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราเติบโตขึ้น ตอนเด็กๆ มีความรู้สึกว่าอยากรวย เพราะครอบครัวเราไม่ด้รวย คุณแม่ลำบาก คุณพ่อทำมาหากินอย่างหนัก กว่าจะเลี้ยงลูก 5 คนจนเติบโต เราเลยมีความรู้สึกว่าความรวยนี่สำคัญ คิดว่ามีอาชีพอะไรบ้างที่ทำแล้วรวย คิดแบบเด็กๆ ไปโรงเรียนเห็นคนนั่งรถยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ก็อยากได้อยากมีอย่างเขา นั่นคือความสุขสมัยเราเป็นเด็ก จนเราเรียนหนังสือ เราก็อยากจะมีอาชีพที่ประสบความสำเร็จ อยากมีชื่อเสียง มันจะได้นำมาซึ่งสิ่งที่เราอยากได้

“ทีนี้พอมาถึงยุคที่เราประสบความสำเร็จแล้ว ถึงจุดที่เรามีทุกอย่างที่ต้องการ เรากลับเกิดความกลัวว่า เราจะอยู่อย่างนี้ไปอีกนานไหม เราจะมีอย่างนี้อีกนานไหม อาชีพที่เราประสบความสำเร็จมันจะอยู่ได้อีกนานมั้ย แล้วมันก็มีความรู้สึกว่าความสุขมันแป๊บเดียวเองหรือนี่ การได้เป็นคนมีชื่อเสียงมันแป๊บเดียวเองหรือนี่ ก็เริ่มคิดในใจว่าอะไรคือความสุข แล้วผ่านมาสักระยะ เราก็มีการต่อสู้ดิ้นรนกับความรู้สึกตัวเอง กับสิ่งที่ต้องเจอ กับการแข่งขัน จนกระทั่งเรามาเป็นคริสเตียนทัศนคติความสุขก็เปลี่ยนไป ความสุขแท้จริงมันก็อยู่ในใจของเราเอง ต่อให้มีของหรือไม่มีของ ถ้าเรามีจิตใจที่มีสันติสุขที่แท้จริงมันก็ไม่มีอะไรมาทำให้ความสุขลดลงได้ นี่คือความสุขที่แท้ เพราะฉะนั้นความสุขของเรามันไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยภายนอกแล้ว มันขึ้นอยู่กับใจของตัวเอง”

“แล้วทุกวันนี้สิ่งที่ขับเคลื่อนในการทำงานคืออะไร ในเมื่อไม่ได้อยากได้อยากมีแล้ว” ผมชวนให้เธอทบทวน

“ความรัก” เธอตอบทันที “การที่มีคนที่ยังเห็นคุณค่าเรา คนยังอยากฟัง ทำให้เราทำต่อไปได้ การที่มีคนที่รักเรา คนที่ยังเห็นคุณค่าของเรา นั่นก็คือแรงขับเคลื่อนพอแล้ว คุณไม่ต้องโด่งดังอะไรมากมายแล้ว ขอให้รักษาความสุขของคนรอบข้างที่เขายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรา ให้คุณค่ากับเรา นี่ก็เพียงพอแล้วสำหรับชีวิต

“คนอายุ 60 จะเอาอะไรมากกว่านี้” เธอทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ไม่จำเป็นต้องตอบ

อัญชลี จงคดีกิจ อัญชลี จงคดีกิจ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล