14 กุมภาพันธ์ 2018
6 K

ความรัก ความสูญเสีย การให้อภัย และความไม่จีรัง ดูจะเป็นสิ่งที่เดินมาเคียงกัน ซึ่งแม้แต่คนที่คิดจะรักยังต้องยอมจ่าย และไม่มีสิทธ์เลือกว่าจะรักได้โดยไร้น้ำตา

บางคนถึงกับกล่าวว่า อยากรัก ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำตา แต่ใช่ว่าในโลกนี้จะไม่มีน้ำตาแห่งความปลื้มใจที่ฝากรอยยิ้มไว้กลบบาดแผล

ความรัก ดูจะเป็นเรื่องที่คลุมเครือที่สุดในโลก และมันยังคงเป็นอย่างนั้น

ใครว่านิยามของความรักที่คาลิล ยิบราน เขียนไว้ในหนังสือ ปรัชญาชีวิต คือการให้นิยามความรักบริสุทธ์ได้อย่างชัดเจนที่สุด?

ไม่มีใครกล้าฟันธง

แต่จะว่าไป เพราะความคลุมเครือ ความไม่แน่ใจ และยากที่จะอธิบายนี่แหละ คือเสน่ห์ที่ทำให้หลายคนตกหลุมรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น

ที่สำคัญ ความรักไม่เคยสนว่าคุณจะเป็นใครหน้าไหน

หญิงรักหญิง ชายรักชาย คือความรักที่มีค่าน้อยกว่าความรักรูปแบบอื่นๆ หรือไม่?

ใคร (และมีสิทธิ์อะไร) มาตัดสิน?

เหมือนกันกับความรักระหว่าง ‘เชน’ กับ ‘พิช’ จากภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา ที่ชวนตั้งคำถามว่า หรือจริงๆ แล้วความรักไม่เคยมีเส้นแบ่งของคำว่าเพศสภาพ เพราะแม้แต่คนที่เคยเข้าใจว่าตัวเองรักได้แค่เพศตรงข้าม ยังอาจเกิดความรักกับเพศเดียวกันได้ในสักวันหนึ่ง  

จะเพศอะไร สำคัญตรงไหน ตราบใดที่หัวใจนั้นมีรัก?

ก่อนวันวาเลนไทน์เพียง 2 วัน เรามีโอกาสสัมภาษณ์ผู้กำกับและทีมนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา ในวันที่หนังเรื่องนี้ฉายรอบไทยแลนด์พรีเมียร์

มะลิลา

แม้จะเป็นการพูดคุยกันแบบ round table สั้นๆ เพียง 30 นาที แต่นี่คือบทสนทนาว่าด้วยมุมมองความรัก การจัดการกับความสูญเสีย การให้อภัยทั้งกับตัวเองและคนรัก และความไม่จีรังของชีวิตที่ต่อให้ยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็กลบความตายไว้ไม่มิด ผ่านทรรศนะของ นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นำเสนอประเด็น LGBT ได้อย่างมีสุนทรียะและแหลมคม ร่วมด้วย โอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์ ผู้รับบท ‘พิช’ ศิลปินนักทำบายศรีที่พยายามเยียวยาความเจ็บปวดในชีวิตผ่านการทำบายศรีที่เขารัก สมทบด้วย โอ๋-สำเร็จ เมืองพุทธ รับบท ‘พระสันชัย’ (หรือที่ในเรื่องเรียกว่า ‘หลวงพี่ผู้พัน’) พระพี่เลี้ยงของเชน และสุดท้ายจะขาดใครไปไม่ได้นอกจาก เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ รับบท ‘เชน’ เจ้าของสวนมะลิ ผู้ใช้ชีวิตอยู่กับวังวนของความสูญเสีย และพยายามจะตั้งหลักใหม่กับ ‘พิช’ ผู้ชายคนเดียวที่เขารัก

หากมองว่าการสร้างสรรค์ภาพยนตร์สักเรื่องคือกระบวนการทำความเข้าใจชีวิต วงสนทนาวงนี้จึงขับเคลื่อนด้วยบุคคลทั้งสี่ที่ใช้ มะลิลา เป็นตัวค้นหาคุณค่าของลมหายใจที่ขับเคลื่อนด้วยความรัก

จุดประสงค์หาใช่การเฟ้นหาบทสรุปหรือนิยามของความรัก ความสูญเสีย และการให้อภัย

แต่คือการพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นไป เพื่อให้ความรักที่อยู่ในอ้อมกอดของเราในวันนี้ ดีขึ้นกว่าเดิม

ทีมมะลิลา

หลังผ่านการกำกับและการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ มุมมองและความรู้สึกที่คุณมีต่อความรักเปลี่ยนไปอย่างไร

เวียร์: ถ้าเอาตัวผมคนเดียว ถามว่าตอนนี้ผมมองยังไง ผมมองคล้ายเดิม แต่สำหรับสังคมอื่นๆ ที่ผมได้เห็น หรือตัวละครที่ผมเล่น ผมก็ได้เรียนรู้ความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง คือถ้าผมไปเจออะไรอย่างนี้ ผมก็จะรู้แล้วว่า อ๋อ มันไม่ได้มีความรักแค่แบบเดียวอยู่แล้วในโลกใบนี้ ตอนนี้ผมได้รู้เพิ่มว่ามันเป็นไปได้เหรอกับความรักในรูปแบบนี้ที่… (นิ่งคิด)

นุชี่: ที่ผู้ชายคนหนึ่งจะรักผู้ชายอีกคนหนึ่งได้มากขนาดนี้?

เวียร์: ใช่ไง ถูกต้อง ผมรู้สึกว่ามันเป็นไปได้อย่างนั้นเลยเหรอ ถึงขั้นบวชให้

นุชี่: เพราะเธอไม่เคยเห็นผู้ชายที่รักผู้ชายด้วยกัน?

นุชี่ อนุชา เวียร์ ศุกลวัฒน์

เวียร์: ไม่เคยเห็นอยู่แล้ว อาจจะเคยเห็นแต่ไม่ได้ลงไปสัมผัส แต่ตอนนี้ต้องเข้าไป เพราะเราเป็นตัวละครตัวนั้น มันก็ดี ผมว่าจริงๆ แล้ว มนุษย์เป็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อ คือแม้แต่ตัวเราเองเรายังไม่รู้เลยว่าเราจะสามารถรู้สึกแบบนั้นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจจะไปได้ไกลกว่านั้นอีก เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย แต่มันก็เป็นไปได้ เอาเป็นว่าเราก็อย่าไปตัดสินอะไรเลยดีกว่าว่าคุณจะรู้สึกได้แค่นี้ ได้เท่านี้ เพราะทุกอย่างมันเป็นไปได้มากกว่าที่เราคิด ผมรู้สึกอย่างนั้น

โอ: สำหรับโอ ตัวละคร ‘พิช’ ตัวนี้ผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายมา เพราะฉะนั้น คนที่ผ่านประสบการณ์พวกนี้มา โอว่าเขาจะมองโลกอีกแบบหนึ่ง เหมือนอย่างตอนที่พ่อตัวเองไม่สบายหนักๆ (ในชีวิตจริงของโอ อนุชิต) เราก็รู้สึกได้ว่าเขามีความเปลี่ยนแปลง เขาตามใจตัวเองมากขึ้น เขาฟังคนรอบข้างน้อยลง เหมือนพอเขารู้ว่าเขาอาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน เขาก็ยิ่งตามใจตัวเองเข้าไปใหญ่ เขาคงทำเพื่อคนอื่นมามากแล้ว ส่วนตัวละครตัวนี้อาจไม่ถึงขั้นเอาแต่ใจ แต่เขาเข้าใจโลกในแบบที่เขาเข้าใจ เพราะฉะนั้น เมื่อเขาเห็นคนอื่นทุกข์ร้อนกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เขาจะรู้สึกว่าถ้ามาเจออย่างฉัน เธอจะเข้าใจเลยว่าไอ้เรื่องพวกนี้มันขี้ปะติ๋ว สิ่งนี้ทำให้เราเข้าใจมุมมองของคนอื่นมากขึ้นว่า เออเนอะ เรื่องบางเรื่องมันอาจจะเป็นเรื่องเล็กสำหรับเรา แต่จริงๆ แล้ว สำหรับคนอื่นมันคือเรื่องใหญ่มาก เพราะฉะนั้น เราก็จะไม่ไปตัดสินคนอื่นว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกอย่างสามารถสำคัญได้กับทุกๆ คน

โอ อนุชิต โอ อนุชิต

โอ๋: สำหรับผม ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ตัวละครมันน้อย มุมมองความรักที่ผมเจอในหนังเรื่องนี้คือ ถ้าโลกนี้มีกันแค่สองคนหรือสามคน อย่างพระที่เดินธุดงค์ด้วยกัน ผมมองว่าความรักคือการทำดีต่อกัน

คือผู้ชายคนหนึ่งทำดีกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ถ้าความรักเขามีมาก เขาก็ทำดีมากๆ สิ่งที่เขาเสียสละให้มันคือความดีที่เขาอยากทำให้ อย่างที่พระเชนบวชให้ เพราะเขาคิดว่ามันคือสิ่งที่ดีที่เขาทำให้คนที่รักได้ อย่างพิชทำบายศรี เพราะเขาคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เขาทำให้ นี่คือความรักที่ผมเห็น แล้วพอหลวงพี่ไปธุดงค์ด้วยกัน เขาก็มีความดีต่อกันเหมือนพี่ดูแลน้อง เป็นความรักอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างคนต่างดูแลกัน ผมเห็นความรักในหนังเรื่องนี้เป็นความดี สุดท้าย คนที่ตายจากกัน จะเหลือความรักก็คือความดีที่เขาเคยทำไว้

โอ๋ สำเร็จ เมืองพุทธ

นุชี่: คือเราก็ทำหนัง LGBT มานาน เราคิดว่าสิ่งที่เราจะนำเสนอในนี้ อย่างน้อยมันได้เห็นตัวละครที่แทบจะปราศจากเพศ หรือมีความลื่นไหลทางเพศ เพราะว่าเราพบเจอผู้ชายหลายคนที่เป็นอย่างนั้น แม้กระทั่งเราเองก็เป็นอย่างนั้น อย่างตัวนี้ (หันหน้าไปทางเวียร์) เขาเล่นเป็นตัวละครที่เคยมีความรักมาก่อน เราอาจจะมองว่าเขาเป็นเกย์ ถูกไหม แต่พอเขาแต่งงาน เขามีเมีย มีลูก เราถึงมองว่าเขาเป็นผู้ชาย ถูกไหม เขาบอกด้วยนะว่าถ้าเกิดไม่มีเหตุการณ์พลิกผันในชีวิต เขาก็คงจะอยู่กินกับผู้หญิงคนนั้นต่อไปแหละ เขาก็คงไม่ได้มาเจอพิชอีกแล้ว เขาก็คงจะหยุดอยู่ที่ความเป็นผู้ชาย แต่พอมีเหตุการณ์พลิกผัน เขากลับลื่นไหลมาเป็นเกย์อีกรอบ และพอพลิกผันอีกทีหนึ่ง เขาเป็นเพศบรรพชิต มันเลยมองว่ามันไม่จำกัดเพศน่ะ เรื่องนี้อย่างน้อยจะเห็นแง่มุมนั้น

คือเรามองว่าผู้ชายบางคนมีคุณสมบัตินี้โดยที่เขาไม่รู้ตัว จริงๆ แล้วคุณสามารถรักได้ แต่ด้วยความที่แต่ละคนก็อยู่ในพื้นที่ที่ต่างกัน มันมีกำแพงบางอย่าง ซึ่งเราก็ไปว่าเขาไม่ได้ มันเป็นสิทธ์ของแต่ละคนว่าเขาจะมองยังไง เราไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนความคิดได้ แต่เราแค่จะบอกว่ามันมีทางเลือกแบบนี้ ส่วนคนที่เป็นแบบนี้ก็ไม่ได้ผิด มันเกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แย่ และเราว่าจริงๆ หนังเรื่องนี้มันก็พูดถึงความรัก ความอาลัย มันเป็น emotional feeling ส่วนตัวของผู้กำกับมากกว่าที่รักคนคนหนึ่งมากและอยากจะเจอเขาเหลือเกิน อยากเจอเขาอีกครั้ง

ประเด็นต่อไปคือความสูญเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวละครหรือแม้แต่ผู้กำกับเองก็ต้องเผชิญระหว่างการทำหนัง หลังผ่านกระบวนการเหล่านั้น คุณมีความเข้าใจหรือจัดการกับความสูญเสียทั้งกับความรักและชีวิตได้ดีขึ้นไหม

นุชี่: เออเนอะ ความรักย่อมต้องสูญเสีย เป็นของที่คู่กัน เราว่ามันไม่ได้เป็นความรู้สึกที่ก้าวผ่านไปได้ง่ายๆ แม้กระทั่งหนังเรื่องนี้มันก็ไม่ได้ง่าย คือตอนจบ สำหรับเรานะ เราคิดว่าตัวละครอาจจะรู้สึกดีขึ้น แต่ความรู้สึกนั้นก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด ความสูญเสียมันก็ยังอยู่ ยังมีเอฟเฟกต์กับเราอยู่ แม้ว่าทำหนังเรื่องนี้จบ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการปลดปล่อย (หัวเราะ) ไม่ มันก็ยังคงอยู่นั่นแหละ และเอาจริงๆ หนังมันก็บอกอย่างนั้น ไม่ง่ายหรอกที่จะบรรลุธรรมหรือเข้าใจมัน เราอาจจะเข้าใจในเรื่องของอนิจจังว่าในที่สุดคนเราก็ต้องตายอยู่แล้ว แต่การที่จะทำใจให้ก้าวข้ามผ่านตรงนั้นไปได้ มันก็ไม่ง่าย

นุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ

คนเราจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านความสูญเสียในอดีตไหม เพื่อที่จะรักได้ต่อ

นุชี่: อันนี้ฉันไม่รู้ ฉันตอบไม่ได้ มันซับซ้อนเกินไป (หัวเราะ)

โอ: โอว่าจำเป็น ไม่อย่างนั้นเราก็เริ่มใหม่กับคนอื่นไม่ได้ถ้าเราไม่ก้าวข้ามผ่านความรักในอดีต มันจะมีการเอาไปเปรียบเทียบหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วท้ายที่สุด ในมุมมองผม ความรักครั้งใหม่ก็จะไม่ success ถ้าไม่ข้ามไปนะ

นุชี่: อันนี้ตอบ realistic มาก

เวียร์: เขาอาจจะผ่านมา ถึงตอบได้

นุชี่: (หันไปทางเวียร์) แล้วเธอคิดว่าเข้าใจความสูญเสียในชีวิตได้มากขึ้นไหมหลังจากเล่นบทนี้

เวียร์ ศุกลวัฒน์ เวียร์ ศุกลวัฒน์

เวียร์: คือเอาตรงๆ นะ ชีวิตผมก็ไม่ได้ง่าย กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ ผมมีการสูญเสียมากมาย แต่ว่าผมอาจจะไม่ได้ต้องสูญเสียคนรักเหมือนตัวละครตัวนี้ แต่ผมก็เคยสูญเสียพี่ชายแท้ๆ ของผมที่ผมรักนะ ผมมีความรู้สึกอยู่แล้ว แต่ว่าผมก็ก้าวผ่านจุดนั้นมาได้ กับแม่ผม กับพ่อผม แต่มันก็คงมีอยู่ลึกๆ เพราะทุกครั้งที่ผมไม่มีสติ ผมก็จะชอบคิดถึงเขาบ้าง

มี (เน้นเสียง) ไม่ได้แบบลบเลือนไปเลย แต่เราอยู่กับมันได้ คือตัวละครตัวนี้ไม่ได้สอนหรอกว่าจะจัดการกับปมปมนี้ยังไง ผมเชื่อว่าเราทุกคนมีวิธีการจัดการในแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน อย่างผมรู้สึกว่าผมเก่งขึ้น จัดการอะไรเก่งขึ้น ตั้งแต่ผมไปนั่งสมาธิกับทีมงาน ผมรู้สึกว่าชีวิตผมดีขึ้น จัดการกับความกลัวเนี่ย ผมสบายเลยตอนนี้

นุชี่: งั้นการรับมือกับความสูญเสียของเธอก็อาจจะดีขึ้น?

เวียร์: ดีขึ้น เพราะผ่านมาแล้ว มันเกิดขึ้นไปแล้ว สูญเสียหลายอย่างแล้ว เออ… มันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ

โอ๋: พอมาเล่นหนัง จากตอนแรกที่เราอ่านบท เราตีความอีกแบบหนึ่ง แต่พอเราได้ไปเวิร์กช็อปด้วยกัน แนวคิดผมก็เปลี่ยนไปเลย ผมว่าการสูญเสีย เราไม่ต้องก้าวผ่าน ไม่จำเป็น แค่เราเรียนรู้ว่าเราจะอยู่กับการสูญเสียนั้นยังไง อย่างตัวหลวงพี่ หลวงพี่สูญเสีย แต่หลวงพี่พยายามทำความเข้าใจกับมันว่าการสูญเสียมันเป็นยังไง แล้วอยู่กับมัน ดังนั้น การที่เขาแสวงหาคือแสวงหาความหลุดพ้น คือเขาพยายามทำความเข้าใจกับความสูญเสียที่เขามีมา

นุชี่: ซึ่งบางทีก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง

โอ๋: ใช่ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ยากนะที่คนที่สูญเสียไปแล้วจะเข้าใจได้จริงๆ

เวียร์: จิตแข็งก็ทำได้ แต่พอจิตอ่อนๆ ก็แย่

นุชี่: ใช่ ไม่ใช่เรื่องง่าย

เวียร์, ศุกลวัฒน์

เป็นไปได้ไหมว่าสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจความสูญเสียจนก้าวผ่านมันไปหรืออยู่กับมันได้อย่างมีความสุขขึ้นคือ การให้อภัย ทั้งกับตัวเองและคนรัก

นุชี่: คือเรารู้สึกว่าหนังเนี่ย จริงๆ มันก็ตั้งใจจะเล่าอย่างนี้ ว่าเวลาที่เราสูญเสียคนที่เรารักไป มันก็ไม่เคยพอหรอกในสิ่งที่เราทำ เราจะรู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ดีพออยู่เสมอ คือเธออาจจะบอกว่าวันนี้เราเตรียมพร้อมแล้ว เราทำดีที่สุดแล้ว แต่เหมือนว่าจริงๆ แล้วกูกำลังหลอกตัวเองอยู่หรือเปล่า จริงๆ มันมีที่ดีกว่านี้ แต่อีกอันหนึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า nothing is perfect ซึ่งมันก็จะ ponder กันอยู่อย่างนี้ มันเป็นความ guilty ที่เราอาจจะสลัดไม่ออก

โอ: ทุกคนก็คงมีวิธีจัดการของตัวเอง

นุชี่: ไม่รู้ ถ้าในเรื่องนี้ก็คงบอกว่าต้องประคองสติ แต่ว่าในหนังเรื่องนี้ก็ตั้งคำถามสำคัญนะว่า ที่สุดแล้ว พุทธศาสนาช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้นจริงๆ หรือเปล่า เพราะในตอนท้ายที่สุดหนังมันก็ไม่ได้บอก คือมันแล้วแต่การตีความของคนดู เรายังไม่กล้าฟันธงเลยว่าจริงๆ แล้วพุทธศาสนาช่วยหรือไม่ช่วย ใครจะไปตอบได้ขนาดนั้น

เวียร์: เหมือนแบบ คนอกหักแล้วบวช แล้วสรุปบวชแล้วช่วยได้ไหม หรือมันอยู่ที่คน

นุชี่: หนังมันพูดถึงความเชื่อ ใช่ไหม ทีนี้ก็ต้องทำบายศรี เป็นการตั้งคำถามกับความเชื่อด้วยส่วนหนึ่ง แต่หนังมันก็ตั้งคำถามที่สำคัญว่า ศาสนาพุทธช่วยจริงหรือเปล่า ศาสนามีประโยชน์ต่อสังคมจริงหรือเปล่า อาจจะเห็นในแง่มุมนี้ ซึ่งเราเองก็ตอบไม่ได้ หรือว่าถ้าฉันตอบได้ ฉันก็ไม่บอกหรอก หนังมันต้องให้คนดูเป็นของเขาเองสิคะ ตอนจบมันไม่จำเป็นต้องบอก ใช่ไหม

เวียร์, ศุกลวัฒน์

ประเด็นสุดท้าย จากหนังตัวอย่างที่ตัดออกมา ผมว่าในหลายๆ ตอนของภาพยนตร์เรื่องนี้มีกลิ่นอายของ ‘ความตาย’ อย่างชัดเจน ทำไมคุณต้องเอาความตายเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรัก

เวียร์: (หันไปทางนุชี่) ทำไม! ทำไมถึงเอาความตายเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรัก (ขึ้นเสียง)

นุชี่: เพราะฉันเป็นคนที่มี death drive ไง ฉันเป็นคนสนใจเรื่องความตายอยู่แล้ว  

เวียร์: ตายแล้วไปไหน… อย่างนี้เหรอ (หัวเราะ)

นุชี่: มันไม่ใช่อย่างนั้น แต่เราคิดว่าความตายเป็นสิ่งที่เราหลงใหลอย่างหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะก้าวข้ามความกลัวความตายนี้ไป เรามองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็น ultimate ของมนุษย์ ความตายมันคือที่สุดแล้ว และมนุษย์ก็มีความเปราะบางที่ตรงนี้แหละ คือบางคนตอนนี้อาจจะยังไม่ได้นึกว่า อ๋อ ฉันไม่เห็นจะกลัวตายเลย แต่พอถึงใกล้ๆ ขึ้นมา เราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะเกิดความรู้สึกอะไร

เวียร์: ถึงตอนนั้นมันเปลี่ยน

นุชี่: มันคือการจี้จุดอ่อน จะรู้เลยแหละว่าตอนนั้นเราจะเป็นยังไง ซึ่งเราว่าเรามีประสบการณ์ที่เป็นอย่างนั้นมาแล้ว คือถึงตอนนั้นทุกอย่างมันหมดความสำคัญจริงๆ จะว่าเราเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ถ้าต้องทำตามความรู้สึกนั้น ความตายจึงเป็นสิ่งลึกลับที่เราอยากจะนำเสนอ

การพยายามทำความเข้าใจความตายช่วยประคับประคองความรักไหม

โอ: ช่วยสิ เพราะท้ายที่สุดเราก็รู้ว่าทุกคนก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ข้างๆ เราก็ไม่สามารถอยู่ไปตราบชั่วนิจนิรันดร์อยู่แล้ว อย่างตอนที่คุณพ่อเสีย ลึกๆ เรารู้สึกโล่งมากเลย เพราะเราเห็นแล้วว่าตอนที่เขาป่วยหนักเขาทรมานขนาดไหน เราว่ามันก็คงเป็นอะไรที่คล้ายๆ กันคือเราก็ต้องตาย แล้วอย่างที่บอก เราก็รักพ่อมากใช่ไหม เพราะฉะนั้น วันที่พ่อเสีย ไอ้ความเสียใจก็มี แต่เรากลับรู้สึกดีใจลึกๆ เพราะถ้าเห็นว่าตอนที่เขาอยู่เขาทรมานขนาดไหน เราจะรู้สึกว่าเขาสบายแล้วจริงๆ

โอ อนุชิต

สุดท้าย ความรักในรูปแบบนี้ ได้สอนให้คุณรักคนในชีวิตจริงได้ดีขึ้นอย่างไร

โอ: จริงๆ ความรักก็คือการที่เราอยากให้คนที่เรารักมีความสุข มีแต่สิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น มันก็ก้าวข้ามผ่านเรื่องเพศไปอยู่แล้ว มันก็แค่เรารักคนนี้ เราก็ทำทุกอย่างเพื่อให้เขาเจริญเติบโต เจริญในหน้าที่การงาน มีความสุข เป็นความปรารถนาดี

โอ๋: พอเราเล่นหนังเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าชีวิตมันสั้น เราไม่รู้ว่าตื่นมา คนรอบตัวเราใครจะไปบ้าง แล้วการทำความดีกับคนที่เรารัก เรามีเวลา เรารีบทำ เพราะไม่รู้ว่าเราหรือเขาจะไปก่อนกัน แค่นั้น

นุชี่: ฉันก็มั่นใจว่ามันมีหลากหลาย เราไม่ต้องซีเรียสเรื่องเพศหรอก it doesn’t matter เพราะเราว่ามันก็มีหลายคนที่จะรักเราได้

เวียร์: ทุกคนก็มีคุณค่าของตัวเองอยู่แล้ว คือผมไม่เคยตัดสินใครนะ แล้วหลังจากที่ผ่านการกระบวนการของหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าผมมีความสุขขึ้นจากหลายๆ อย่างมากๆ แล้วผมก็ไม่ได้มองว่าอะไรคือเกย์ หรืออะไรพวกนี้อยู่แล้ว ทุกอย่างเท่ากัน ทัดเทียมกัน ความรักทุกอย่างดีหมด ส่วนใหญ่ดีครับ ถ้าไม่อกหักนะ (หัวเราะ) อกหักก็ดีครับ บ่อยๆ ยิ่งดี จะได้ชิน

Writer

Avatar

กรกฎ อุ่นพาณิชย์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจและ 2 ช่องทางยูทูบ คือ Outsiders Journal เล่าเรื่องไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม การกินดื่ม และการเดินทางผ่านมุมมองของ ‘คนนอก’ และช่อง Americano Taste เล่าเรื่องแฟชั่นและสไตล์ที่เป็นมากกว่าแค่เสื้อผ้า และจะบอกทุกคนว่า ‘สไตล์คือความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่การเล่นแต่งตัวไปวันๆ’ นอกจากงานเขียน กรกฎยังหัดเย็บสูทเองในเวลาว่าง เพื่อเตรียมทำร้านตัดเสื้อในอนาคต

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล