21 พฤศจิกายน 2017
4 K

“ใช่พี่รึเปล่านะ ที่ผมคุยเรื่องการมีกับไม่มี” เต๋อส่งข้อความมา หลังจากที่เราเจอกันประมาณ 1 สัปดาห์

“ใช่” เราตอบกลับไป

วันนั้นเราถามสารทุกข์สุกดิบ คุยกันเรื่องหนังเรื่องใหม่ของเขา รวมถึงเรื่องการมีอยู่และการไม่มีอยู่ เรารู้จัก เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ในคลาสที่มหาวิทยาลัย ในวันนี้ที่เขามีอายุ 33 ปี เขาครุ่นคิดเรื่องความตาย แต่ไม่ใช่การสิ้นสุดของชีวิตในเชิงหดหู่ เป็นเรื่องน่ากลัว หรือน่าขับไส แต่คือระบบเกิดดับที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ ในฐานะคนเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ เต๋อเลือกบันทึกความคิดในช่วงนี้ลงในภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 5 ของเขา

นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นการปลุกสปิริตในการทำหนังอิสระ เป็นบทสรุปในรอบ 5 ปีของการมีอยู่ของผู้กำกับชื่อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ในวงการภาพยนตร์ไทย Die Tomorrow อาจบอกเป็นนัยว่า วันที่เหลือคือ ‘โอกาส’ ของการมีชีวิตอยู่อย่างงดงามและมีความหวัง

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

01

การมีอยู่ของสปิริตแบบเดิม / การไม่มีอยู่ของบริบทแบบเดิม

ดูคุณยังกระหายที่จะทำหนังอิสระ

ตลอดเวลา ผมโอเคกับการทำหนังทั้งสองฝั่ง ทั้งสตูดิโอ ทั้งอินดี้ ขึ้นกับเรื่องที่เรามีอยู่ในหัว ซึ่งก็มีอยู่ทั้งสองแบบ มีทั้งเรื่องแบบที่ควรทำกับ GDH มันน่าจะสนุกดี มันต้องการเซ็ตอัพที่ใหญ่หน่อย บางเรื่องที่ทดลองมากๆ ก็อยากลองทำดูว่าจะเวิร์กหรือเปล่า ทุกอย่างมีหน้าที่ของมัน เราไม่ได้รู้สึกว่ามีสิ่งนี้แล้วไม่ควรมีสิ่งนี้ ขึ้นกับว่าเราเอาสิ่งนี้ไปใช้ทำอะไร ในจุดประสงค์ไหน เหมือนเวลาดูหนัง ผมดูได้ทุกแบบ แต่คงไม่ดูหนังยุโรปทุกวัน ในวันที่เครียดมาก ผมขอหนังสนุกๆ ฮอลลีวูดเลย ก็เพลินดี ใครอยากดูอะไรในเวลาไหนก็ไปเลือกเอา เราทำหนังกับสตูดิโอแล้วก็กลับมาทำแบบอินดี้บ้าง กระโดดข้ามไปข้ามมาได้ ไม่ใช่ครั้งที่แล้วทำใหญ่ ครั้งต่อไปต้องใหญ่กว่าเดิม ขึ้นกับเรื่องที่เราสนใจในเวลานั้นว่าเป็นแบบไหนมากกว่า เวลาผมทำหนัง เรื่องมักจะมาจากประสบการณ์ส่วนใดส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตของผมทุกเรื่อง ถ้าวิธีการเล่าหรือเนื้อหาที่เราอยากทำ มันเหมาะกับการทำแบบเล็กๆ ก็กลับมาทำแบบอินดี้ แค่นั้นเอง

เลือกยังไงว่า เรื่องนี้จะเล่าสเกลไหน

อยู่ที่เรื่องกับวิธีการเลย เรื่องเกี่ยวกับอะไร อยากเล่าแบบไหน แล้วประเมินว่าเล็กหรือใหญ่ได้ สมมติเรามีโปรเจกต์หนังพีเรียด เรารู้ว่าทำเล็กไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณไม่สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมนั้นขึ้นมาด้วยงบที่น้อยได้ ก็ต้องไปสู่ระบบสตูดิโอ ซึ่งเรื่องต้องโดนคนส่วนใหญ่ได้ ถ้าอยากทำแนวพีเรียดจริงๆ ก็ต้องเลือกเรื่องที่คนเชื่อมโยงได้

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

วิเคราะห์จากประสบการณ์

ใช่ อย่าง Die Tomorrow เราก็เกรงใจพี่ที่สตูฯ (ยิ้ม) เพราะเขาไม่น่าทำนะ อย่าไปเสนอให้เขาลำบากใจเลย เรามีอีกเรื่องที่เราเสนอเขาไปแล้วด้วยแหละ ซึ่งเล่าเรื่องแบบปกติ แต่เรื่องนี้มันแบบ… ก็ไม่ได้ทดลองอะไรขนาดนั้นนะ เพียงแต่โครงสร้างของหนังเป็นเหมือนอัลบั้มเพลงที่มี 12 เพลง ถามว่า 12 เพลงเชื่อมต่อกันไหม ไม่เชื่อม แต่ถามว่า อยู่ในหัวข้อเดียวกันไหม ใช่

ความรู้สึกตอนทำ 36 กับ Die Tomorrow เหมือนกันไหม

เหมือน ทีมงานน้อยเหมือนเดิม (หัวเราะ) ทำกันเองจริงๆ สองสามคนเหมือนเดิม มีผม มีโปรดิวเซอร์ กับคนช่วยอีกคนหนึ่ง นู่นนี่นิดหน่อย ความต่างคือ สเกลไม่เหมือนกัน ตอน 36 ยกคอมพิวเตอร์ไปฉายที่หอศิลป์กรุงเทพฯ กันเองก็เหมือนจะหนัก แต่ควบคุมได้ คนดู 60 คนต่อรอบ ฉาย 5 รอบ ก็สองสามร้อยคน ทำกันเอง ขนของกันเอง ก็ไม่ได้วุ่นวายมาก หลังจากนั้นไปฉายที่ Alliance Française (สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ) ใหญ่ขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังควบคุมได้อยู่ รอบละสองร้อย

อันนี้ยากขึ้น 10 เท่า ครัั้งนี้เข้าโรงหนัง เราต้องทำ post-production ซึ่งมีรายละเอียดเยอะแยะมากมาย โชคดีหน่อยตรงที่เราทำเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 5 เราผ่านกระบวนการนี้มาหลายครั้งแล้ว อาจจะไม่ได้เป๊ะมาก แต่รู้ว่าขั้นตอนต่อไปคืออะไร แต่มันก็เยอะอยู่ดี เช่น งานของโปรดิวเซอร์ก็เหมือนอยู่ในกองมากกว่า วันหนึ่งก็ต้องมาทำความเข้าใจว่า เราเตรียมฮาร์ดดิสก์ให้เขา 2 ลูก ลูกนี้เก็บไฟล์นี้ อีกลูกเก็บไฟล์นั้น ถ้าเป็นระบบบริษัทปกติจะมี Post producer ที่รู้ว่าไฟล์ต้องเป็นแบบนี้ ไฟล์ซับไตเติ้ลต้องเป็นแบบนี้ เสียงแบบนี้ แต่เรานี่แบบ เฮ้ย เดี๋ยวต้องให้เมสเซนเจอร์ไปส่งฮาร์ดดิสก์ก่อน อ้าว ลืมไฟล์นี้ ต้องส่งกลับไปใหม่ ก็เลยเหมือนต้องลงมาทำเองทั้งหมด พวกเราต้องเปลี่ยนบทบาทในแต่ละวันเป็นแผนกต่างๆ (ยิ้ม) ไม่ซ้ำกัน แต่ก็อย่างที่บอก โชคดีหน่อยที่พอจะมีความรู้อยู่บ้าง ไม่ใช่ว่าทำ 36 แล้วกระโดดมาทำใหญ่ขนาดนี้ อันนั้นตายแน่นอน

Die Tomorrow Die Tomorrow

ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานที่ยากขึ้นบ้าง

รู้สึกดีที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถ้าเราไม่ทำหนังเองก็คงไม่ได้เจอ เหมือนเรารู้มา 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว การทำเรื่องนี้ทำให้เรารู้มากขึ้นเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ อาจยังไม่รู้ทั้งหมด เช่น เราอาจไม่รู้ว่าผู้บริหารโรงหนังคิดยังไง แต่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าฝั่งโรงหนังเขามองหนังแบบนี้ เขาจัดรอบด้วยวิธีคิดแบบนี้ เขามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่เรามีความสุขที่ได้รู้ ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะคุณจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ยังไง ถ้าไม่ลงมือทำหนัง

เป็นเสน่ห์ของการทำหนังอินดี้

ความรู้สึกคล้ายๆ ตอนทำ 36 นะ แต่ก็ไม่ใช่ มันเป็นก้อนความรู้สึกก้อนใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ถ้าผ่านไปได้นะ ครั้งหน้าคงไม่มีอะไรยากไปกว่านี้อีกแล้ว นอกจากจะฉายแบบ IMAX สามมิติ (หัวเราะ)

การทำหนังอินดี้ให้ความสุขกับคุณเหมือนหนังสตูดิโอไหม

(หยุดคิด) ไม่ต่างครับ ไม่ว่าจะทำเล็กใหญ่ เราก็ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ คำถามยอดฮิตสมัยทำฟรีแลนซ์ฯ คือ สตูดิโอเขาบังคับอะไรรึเปล่า คำตอบคือ เขาไม่ได้บังคับอะไร เขาบอกว่า ก็ทำเรื่องนี้แหละ ตลกประมาณนี้แหละ ไม่ต้องฮาสุดๆ แบบผู้กำกับพี่ๆ เขาก็ได้ ซึ่งเราโอเคมากๆ ถ้าเป็นเวทีคอนเสิร์ต จะขึ้นเวทีงาน Big Mountain หรือเล่นงาน Cat ก็ให้ความสุขกับผมได้เท่ากัน

เต๋อ นวพล เต๋อ นวพล

02

การมีอยู่ของความสนใจส่วนตัว / การไม่มีอยู่ของแรงกดดัน

ทำไม Die Tomorrow ถึงเป็นเรื่องส่วนตัวที่สุด

หัวข้อด้วยมั้งฮะ พอเราพูดถึงความตาย หมายถึงเรากำลังพูดถึงชีวิตว่าเราคิดยังไงกับชีวิต เรามองโลกยังไง การใช้ชีวิต แล้วก็ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ พอพูดเรื่องความตายก็สะท้อนเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด

หนังเรื่องอื่นๆ เป็นทัศนคติที่เรามีต่อเรื่องภายนอก The Master ทัศนคติของเราคือ การเกิดดับของพ่อค้าวิดีโอ ความไม่แน่นอนของชีวิต Mary Is Happy, Mary Is Happy คือ ชีวิตมัธยมหรือ coming of age เรื่อง 36 พูดถึงความทรงจำ แต่เรื่องนี้คือชีวิต ตัวหนังก็สร้างจากเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตคนนี้คนนั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับความตาย เลยรู้สึกว่ายิ่งใกล้เข้าไปอีก หมายถึงเป็นเรื่องของคนรอบๆ แล้วหนังก็ค่อนข้างบาง ค่อนข้างธรรมดา เหมือนแค่ฉายภาพนั้น

เราทำเรื่องนี้ให้เป็นหนังอิสระด้วย ก็เลยทำแบบนี้ได้ แค่ไม่ทำเกินงบ ไม่ต้องมาคิดว่าจะขาดทุนไหม ถ้าจะขาดทุนก็ต้องโปรโมตให้ดูสนุกกว่านี้ อันนี้แบบ ฉายก็ฉาย จบ เทรเลอร์ก็ตัดแค่นั้นเลย เรื่องนี้เลยออกมาเป็นตัวเองที่สุดแล้ว  

Die Tomorrow Die Tomorrow

เป้าหมายของการสื่อสารเรื่องส่วนตัวแบบนี้คืออะไร

มันตอบสนองพื้นฐานของทุกคนอยู่แล้ว การที่เราได้แสดงความคิดของเราว่า เราคิดแบบนี้นะ ไม่ต่างจากตั้งสเตตัส เพียงแต่ผมทำออกมาเป็นหนัง เป็นก้อนความทรงจำที่บันทึกเอาไว้ว่าเราเคยคิดแบบนี้นะ

วิธีการเล่าเรื่องก็ดูจะส่วนตัวมาก

ใช่ ตามใจตัวเองที่สุดแล้ว เพราะเป็นหนังอินดี้น่ะครับ ทำไปเถอะ เดี๋ยวไม่ได้ทำ (หัวเราะ) ผมไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่ต้องพิชิต ถ้าเราต้องปลดหนี้ด้วยหนังเรื่องนี้ ทุกอย่างจะเปลี่ยนเลย เราต้องออกแบบใหม่ ซึ่งไม่ผิดนะ แต่เรื่องนี้เราทำแบบเหมือนมีผ้าใบมาให้แล้วลองวาดอะไรก็ได้ ซึ่งนานๆ จะได้ทำแบบนี้ เพราะงานส่วนใหญ่ที่เราทำมีเป้าหมายตลอด เช่น ต้องทำให้เวิร์ก 5 วินาทีแรกต้องปัง หรือ ‘ต้องไวรัลนะครับ’ จนบางทีเราลืมความรู้สึกของการทำหนังไปแล้ว

แต่นี่เป็นเหมือน Drawing therapy วาดอะไรก็ได้ไม่มีผิดไม่มีถูก เมื่อมีโอกาสแบบนี้ก็ทำไปเถอะ อย่าคิดมากเลย เลยลองเลือกวิธีเล่าแบบที่เราอยากเห็นมันเกิดขึ้นบนจอหนัง

Die Tomorrow Die Tomorrow

เลยเป็นเรื่องที่รู้สึกสบายที่สุดเท่าที่เคยทำมา

ตอนที่ออกไปถ่าย เรารู้สึกเหมือนไปปิกนิก ไปตีแบด เป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากๆ ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้น ถ้าคุณต้องทำหนังที่มีงบประมาณสูงมาก ไม่มีทางชิลล์เอาต์ได้ ต่อให้เขาบอกว่า อย่าเครียด แต่เราก็จะแบบ เอาเงินเขามาแล้ว 25 ล้านว่ะ ต้องทำให้ดีที่สุด

นับเป็นบันทึกสรุปของการทำหนังของคุณในช่วงแรกได้ไหม

ในรอบห้าหกปีที่ผ่านมาค่อนข้างพิเศษเพราะผมได้ทำหนังปีละเรื่อง เหมือนเป็น episode มันคือ season นี้ จะว่าเหมือนบทสรุปของก้อนนี้ก็ได้ เมื่อถึงจุดที่เราขึ้นงานชุดใหม่ เราก็อาจจะลองหาอะไรใหม่ๆ ตอนนี้ความสนใจของผมเริ่มเปลี่ยนไป อยู่ดีๆ ก็อยากทำหนังพีเรียดยุค 70 – 80 มันเป็นยุคที่น่าสนใจ หรือบางทีอาจจะถอยไปไกลมาก แต่ไม่ใช่หนังสงคราม อาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ การเดินทางไปที่หนึ่งต้องใช้เวลานานมาก สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขทาง space and time ที่น่าสนใจ และเล่าเรื่องด้วยบริบทของปัจจุบันได้ สมัยก่อนกว่าข่าวข่าวหนึ่งจะไปถึงอีกคนนี่ใช้เวลานานมากเลยนะ มันเป็นไอเดียที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำมาก่อน  

อาจเพราะ 5 ปีที่ผ่านมาเราทำเรื่องที่เราสนใจในวัย 20 – 30 ปีหมดแล้วอย่างรวดเร็ว input ถูกใช้เร็วมาก เพราะทำถี่มาก เรื่องที่อัดอั้นว่าอยากเล่าในช่วงวัยหนุ่มมันหมดแล้วอะ มันถึงเรื่องความตายแล้วนะ (หัวเราะ) โคตรปลายทาง เร็วมากเลยอะ

ถ้าผมทำหนังเมื่อ 10 ปีก่อน กว่าจะทำหนังเรื่องหนึ่งต้องใช้เวลา 3 ปี ทำ 5 เรื่องต้องใช้เวลา 15 ปี ถ้าผมเริ่มทำหนังตอนอายุ 30 ผมจะทำเรื่องที่ 5 ตอนอายุ 45 แต่ตอนนี้ผมทำเรื่องที่ 5 ตอนอายุ 33

เต๋อ นวพล

03

การมีอยู่ของชีวิต / การไม่มีอยู่ของลมหายใจ

Die Tomorrow เกิดจากความหมกมุ่นเรื่องความตาย

หนังเรามีสิ่งนี้ทุกเรื่องเลย พูดเรื่องมี-ไม่มี เพียงแต่จะมาในรูปแบบไหน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงหลงใหลสิ่งนี้ มันดูเศร้า แต่เราดันชอบเห็นซ้ำไปซ้ำมา มองมันแบบกึ่งๆ เข้าใจ รู้สึกว่าการมี-ไม่มีมันสะเทือนมั้ง มันทำให้เราคิดเรื่องชีวิตตัวเอง คิดถึงคนอื่น หนังเราวนๆ อยู่กับเรื่องพวกนี้ อย่างเรื่อง 36 ก็ใช่ เพราะพูดถึงคนที่เคยรู้จักกันในช่วงหนึ่งที่วันหนึ่งก็หายไป อาจจะไม่ได้ตาย แค่ไปอยู่ที่อื่น แต่เราก็ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน ฟรีแลนซ์ฯ ชัดสุดเพราะมาเป็นงานศพเลย เป็นไอเดียที่เราคิดว่าถ้ามีงานศพทำแบบนี้ดีกว่า ก็เลยมีซีนนี้ขึ้นมา แต่หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่า ความตายมีอะไรมากกว่านั้น

เหตุการณ์ไหนทำให้คิดเรื่องความตายอย่างจริงจัง

ไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น อาจเป็นเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น แม่ชอบเดินมาบอกว่า ‘เอกสารเกี่ยวกับบ้านทั้งหมดอยู่ตรงนี้นะ’ ทำไมพูดบ่อยจัง แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนะ เรานั่งทำงานอยู่ที่บ้านเฉยๆ สิ่งนี้ก็มาถึงง่ายๆ อย่างนั้นเลยเหรอ เวลาไปงานศพ เราก็แค่รู้สึกว่ามันมีอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องสำคัญ คือ การที่แม่เดินมาบอกแต่แม่ยังอยู่ พอแม่มาพูด เลยสำนึกได้ว่า เออ วันหนึ่งเราอาจจะไม่ได้อยู่กับเขาแล้ว

พอสนใจเรื่องความตายแล้ว มีผลต่อวิธีการใช้ชีวิตยังไงบ้าง

มันช่วยกำหนดวิธีการใช้ชีวิต สำหรับผมถือว่าดีขึ้นเลย วิธีการทำงาน รับงาน การคิดนู่นนี่ บางทีมันช่วยให้เราสบายขึ้น อย่างเรื่องงาน เราอยากทำงานที่เราชอบ มีความสุขกับมัน เรียนรู้จากมันได้ ไม่ใช่ทำแต่งานง่ายๆ เพราะเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ถ้าต้องตายในหน้าที่ ก็ขอให้เป็นหน้าที่ที่เราชอบ เรามีความสุขกับมันเถอะ ก็เลยพยายามเลือกงานที่โอเค

เต๋อ นวพล

แล้วในแง่ของความสัมพันธ์

(หยุดคิดครู่หนึ่ง) บางทีนั่งทำงานเครียดๆ อยู่บ้านแล้วแม่เดินมาชวนคุย เราไม่ค่อยได้ฟังเท่าไหร่ (หัวเราะ) พอตระหนักถึงเรื่องนี้ บางวันเรารู้สึกเหมือนยังไม่ได้คุยกับแม่เลย ก็จะแวะไปคุยนิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่การบังคับตัวเองนะ แต่ตระหนักว่าอย่าลืมสิ่งนี้ ไปทำงานทั้งวันกลับมาถึงบ้านก็แวะไปหาแม่หน่อย ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยคิดเลย

เมื่อก่อนเราอาจจะโกรธบางคน ตอนนี้ก็ช่างเถอะนะ จบๆ ไป เคยไปทำอะไรให้คนอื่นเสียใจก็พยายามไปคุยหรือขอโทษ แต่ก็ยังทำไม่ได้หมดนะ สุดท้ายมันก็แค่นี้ ไม่มีใครอยู่ข้ามชาติ เราเจอกันแค่ช่วงเดียวเท่านั้น

สำหรับคุณ ความตายคืออะไร

คือกฎปกติที่คุณควรจะรู้ ทุกคนก็รู้ตั้งนานแล้วแหละ แต่พยายามลืมๆ มันไป เป็นเหมือนคู่มือการใช้ชีวิตอันแรก ซึ่งกำหนดการใช้ชีวิตของคุณทุกๆ อย่างเลย คนเราทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตาย แค่นั้นแหละ ทำงาน กินข้าว จะได้อยู่รอด ความตายมันกำหนดวิธีคิด การกลัวความตายทำให้เราเป็นคนแบบหนึ่ง หรือการไม่กลัวความตายก็ทำให้เราเป็นคนแบบหนึ่ง ความตายคือขีดที่บอกว่าชีวิตคุณมีจำกัด คุณต้องบริหารจัดการมัน แล้วแต่ว่าคุณจะใช้ชีวิตอย่างไร

ถ้ารู้ล่วงหน้า อยากเขียนสเตตัสสุดท้ายในเฟซบุ๊กว่าอะไร

อยากให้มันตลกๆ (หัวเราะ) อย่างน้อยคนเข้ามาอ่านเจออันแรก ก็จะเอนเตอร์เทนนิดหนึ่ง อย่างน้อยกูก็มีประโยชน์อะไรสักอย่าง (ยิ้ม)

เต๋อ นวพล

Writer

Avatar

พิมชนก พึ่งบุญ ณ อยุธยา

อินโทรเวิร์ด ที่ชอบ 'คุย' กับคน เพื่อสำรวจความคิดและถ่ายทอดเรื่องราวบันดาลใจ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan