อันที่จริงผมไม่ควรเอาชื่อเพลงอย่าง You’ll never walk alone มาตั้งเป็นชื่อบทสัมภาษณ์ เพราะเดี๋ยวจะชวนเข้าใจผิดว่าเนื้อหาเอนเอียงไปทางสโมสรใดสโมสรหนึ่ง

(หากจะมีเหตุผลที่สนับสนุนชื่อนี้อยู่บ้าง ก็คงเป็นการที่ เดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ ‘มาดามเดียร์’ ของแฟนฟุตบอลชาวไทยเป็นแฟนหงส์แดง)

แต่ที่ตั้งใจเอาชื่อเพลงมาใช้เป็นชื่อเรื่อง เพราะผมรู้สึกว่าความหมายของมันช่างตรงกับชีวิตการทำเพจที่ชื่อ ‘ขอบสนาม’ ของ เบลล์-อรรถพล ไข่ทอง

ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำเพจ เขาไม่ได้เดินเดียวดายบนเส้นทางที่ตัวเองเชื่อ อย่างน้อยก็มีเพื่อนที่ร่วมหัวจมท้ายตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ และพอมีคนเห็นค่าในสิ่งที่เขาทำ

หากใครติดตามเพจของชายวัยเพียง 26 ผู้นี้อย่างสม่ำเสมอย่อมเห็นจุดเด่นที่ทำให้เพจนี้แตกต่างจากเพจฟุตบอลที่มีอยู่เกลื่อนโลกออนไลน์

แทนที่จะนำเสนอผ่านตัวอักษรและภาพนิ่ง เพจนี้กลับใช้วิธีอ่านให้ฟังด้วยน้ำเสียงและอารมณ์ขันเฉพาะตัว และนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เพจของเขามีคนติดตามล้นหลาม ตัวเลขคนไลก์เพจขึ้นหลักล้านอย่างรวดเร็ว และกำลังเดินทางสู่ 4 ล้านในอีกไม่ช้า

ซึ่งข่าวล่าสุดที่อาจทำให้ใครหลายคนอาจประหลาดใจ คือข่าวคราวการเข้ามาเทกโอเวอร์พร้อมนั่งแท่นผู้บริหารเพจขอบสนามของอดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยชุดแชมป์ซีเกมส์อย่าง เดียร์-วทันยา

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมไม่ใช่จำนวนเงินที่ฝ่ายหนึ่งยื่นเสนอให้อีกฝ่ายหนึ่ง แต่ผมสนใจวิธีคิดของทั้งสองฝ่ายก่อนจะเกิดดีลสะเทือนไท์ไลน์เฟซบุ๊กมากกว่า

อะไรทำให้คนสองคนที่มองเผินๆ ช่างแตกต่างกันสุดขั้วโคจรมาเจอกัน ชายหนุ่มทำอย่างไรให้เพจที่แรกเริ่มมีเพียงโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์อย่างละเครื่องก้าวมาสู่จุดนี้ หญิงสาวคิดอะไรจึงตัดสินใจเทกโอเวอร์เพจที่คนติดตามส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม และก้าวข้างหน้าของขอบสนามจะเป็นอย่างไร

คำตอบของทุกคำถามที่ว่า อยู่ในบรรทัดถัดไป

คุณสองคนเริ่มสนใจฟุตบอลกันตั้งแต่เมื่อไหร่

เดียร์: จริงๆ เดียร์ดูฟุตบอลมาเรื่อยๆ นะ เพียงแต่ว่าช่วงเรียนหนังสืออาจจะดูตามเป็นเทศกาล เช่น ฟุตบอลโลก ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ อย่างตอนฟรองซ์ 98 ที่บราซิลมีโรนัลโด้ โรนัลดินโญ่ ตอนนั้นเดียร์เรียนอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว

เบลล์: ส่วนผมอยู่ ป.2 (หัวเราะ)

เดียร์: ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อยู่หอดูฟุตบอลกับเพื่อน แต่ที่มาดูจริงจังจริงๆ ก็คือช่วงสัก 9 – 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสามีเป็นคนบ้าบอลมาก แล้วพื้นฐานเราเป็นคนดูบอลอยู่แล้ว พอเจอคนบ้าบอลในไลฟ์สไตล์ก็เลยกลายเป็นคนดูฟุตบอลตามไปด้วย เวลาเขาดูแมตช์ไหนก็นั่งดูตามไปตลอด

ตอนนั้นเวลาดูคุณเข้าใจฟุตบอลมากแค่ไหน

เดียร์: จำได้เลยตอนมหาวิทยาลัยเพื่อนบอกเราว่า ‘ดูบอลสิๆ’ เดียร์ดูไม่เป็น ก็เลยบอกเพื่อนว่า ถ้าอย่างนั้นสอนเราดูสิ ว่าต้องดูยังไง เพื่อนก็บอกว่า ‘ไม่ยากเลย มึงเลือกเลย มีแค่ 2 ทีม มึงจะเลือกทีมไหน เชียร์ทีมไหน’ (หัวเราะ) นั่นคือครั้งแรกที่เริ่มดูบอล ก็เลยรู้สึกว่ามันสนุก หลังจากนั้นมันก็ค่อยๆ รู้เองว่า อ๋อ อันนี้คือล้ำหน้านะ อย่างนี้ไม่ได้นะ คือเราเริ่มดูจากความสนุกมากกว่าที่จะมาซีเรียสทางด้านเทคนิคว่าเบสิกคืออะไร

เบลล์: ส่วนผมโตมากับฟรองซ์ 98 ตอนนั้นริกกี้ มาร์ติน โก โก โก อาเล อาเล้ อาเล ทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วตอนนั้นผมอยู่ ป.2 มันเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มจำความได้ ดูบราซิล ดูโรนัลโด้ นั่นแหละคือนักฟุตบอลที่ผมรู้จักคนแรก ต่อเนื่องมา ปี 99 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ทริปเปิ้ลแชมป์ ชนะบาเยิร์น มิวนิค นัดชิงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และผมก็เริ่มชอบฟุตบอลตั้งแต่ตอนนั้น

แล้วแปลกมาก ผมเป็นคนประเภทชอบดูสถิติ ชอบศึกษา ฟุตบอลโลกครั้งไหนใครเป็นคู่ชิง เตะกันที่สนามอะไร เราชอบศึกษาอะไรแบบนี้ พวกความรู้ ข้อมูล ชอบฟังชอบอ่าน มันทำให้วันนี้เรามีคลังคำมาใช้เยอะ พี่โทน คุง (พีระณัฐ จำปาเงิน) เป็นต้นแบบของผม ทำให้ผมรู้สึกว่าการพากย์บอลมันไม่ใช่แค่การมาอธิบายสถิติ 5 นัดที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องของการเอาเรื่องในโลกแห่งความจริง ไปบวกไปใส่ เอาภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปใส่

แล้วตอนเริ่มทำเพจขอบสนามคิดอะไร เพราะเพจฟุตบอลก็มีคนทำเยอะอยู่แล้ว

เบลล์: ผมเริ่มจากการเป็นครีเอทีฟของพี่บี้ เดอะสกา แต่จริงๆ แล้วผมชอบกีฬา ระหว่างทำงานประจำก็ไป เปิดเพจขอบสนาม เราก็คิดว่าทำยังไงให้มันเป็นรายได้ แค่เดือนหนึ่งสักสองสามพันก็พอแล้ว แต่ช่วงแรกแรงกดดันยังไม่มากพอ ผมก็ทำแค่เอาภาพข่าวมาแปะลงไป แล้วก็เอาเนื้อข่าวยาวๆ 20 – 30 บรรทัดมาลง พอทำไปสักครึ่งเดือน คนไลก์ไม่กระเตื้องเลย เพราะเราทำไม่แตกต่าง เพจอื่นเขาก็มีนี่หว่า ที่เอาภาพมาแล้วเนื้อข่าวสิบบรรทัดยี่สิบบรรทัด

แล้วจุดเปลี่ยนของเพจคือจุดไหน

เบลล์: จุดที่ผมเริ่มจับสังคมออนไลน์ได้คือวันที่ผมตั้งใจดึงดูดคนด้วยการจัดกิจกรรมแจกเงิน แล้วคนเขาไม่อ่านกติกาที่ผมเขียน คือผมเขียนแค่ประมาณ 9 – 10 บรรทัดเองนะ กติกาง่ายๆ เลย ให้คนดูทายสกอร์และคนยิง กติกาไม่ยาว แจกเงิน 500 บาท ปรากฏคนเขียนกันมาแต่สกอร์ เป็นร้อยเป็นพันคน คือเขาอยากได้รางวัลนะ แต่ไม่อ่าน ผมก็เลย อ๋อ นี่ไง คนไม่อ่านกัน ที่เราทำมาตลอด 15 วันมันไร้ค่า ไปเขียนยาวๆ มันไม่มีคนอ่าน ผมเลยคิดว่า ถ้าสมมติเรามาอ่านให้เขาฟังแทนล่ะ ถ้าคอนเทนต์เราจะเข้าถึงหูเขา โดยที่เขาไม่ต้องมาโฟกัสจะเป็นยังไง เขาอาจจะเปิดคลิปเราแล้วนั่งกินกาแฟไปด้วยหรือทำอย่างอื่นไปด้วยก็ได้ ผมจึงเริ่มเอาข่าวมาอ่าน หลังจากนั้นยอดก็พุ่งเลย เพราะมันไม่เคยมีใครทำมาก่อน มันคือความแปลกใหม่ในวันนั้น

ตอนนั้นผมทำคล้ายๆ เป็นสถานีข่าวเลย 11 โมง ลงคอนเทนต์ขอบสนามท็อปเท็น เพราะผมมองว่า 11 โมงคือเวลาพักเที่ยงของทั้งวัยรุ่นและเด็ก ผมเลยลงตอนนั้นเพื่อให้เขาได้ดู ได้พัก แล้วทุกๆ ต้นชั่วโมงก็จะทำเหมือนข่าวต้นชั่วโมงของสำนักข่าว แล้วทุกๆ 2 ทุ่มให้มันเป็นช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ก็เอาคอนเทนต์ดีๆ ลงไป

คุณเรียนรู้วิธีทำเพจจากไหน ใครสอน

เบลล์: ประสบการณ์สอน คือการทำเพจมันไม่มีการสอนอย่างเป็นทางการ ไม่มีสื่อที่ไหนเปิดให้เรียน มันเป็นประสบการณ์ล้วนๆ ในการคลุกคลีตรงนี้ ย้อนกลับไปที่ชื่อเพจขอบสนาม มันไม่ใช่ชื่อที่เราคิดกันสั่วๆ นะ ผมคิดมาอย่างดีว่ามันต้องเป็นชื่อที่ครอบคลุม ใช้ได้กับทุกชนิดกีฬา แล้วเสิร์ชง่ายจำง่าย มี 3 พยางค์ ไม่มีวรรณยุกต์หรือสระ เพราะเด็กไทยเราพิมพ์แค่ ‘คะ’ กับ ‘ค่ะ’ ยังผิดเลย ถ้าชื่อขอบสนามชื่อยาวคนก็คงจำไม่ได้ แล้วมันก็จะไม่ใช่แบรนด์แล้ว แต่กลายเป็นชื่อยาวๆ ที่คนคุ้นหูเท่านั้น

สำหรับผม ในวันแรกที่ทำ ผมคิดแค่ว่าเพจกีฬามึงแตะล้านได้ก็โคตรเท่แล้ว คือมันเป็นสิ่งเฉพาะนะ คุณไม่ได้เป็นเพจที่พูดเรื่องสาธารณะอย่างเพจอีเจี๊ยบหรือเพจไทยรัฐที่ได้คนอ่านทุกหมู่เหล่า กีฬาสำหรับผมในวันนั้น ผมรู้สึกว่ามันคือตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ผมทำมา 3 เดือนก็ครบล้าน แล้วพอมันทะลุล้านเหมือนเราไม่ต้องโฟกัสจำนวนคนแล้ว รู้ตัวอีกที 2 ล้าน แป๊บๆ 3 ล้าน มันไม่น่าเชื่อเลยว่าทุกๆ เดือนยังมีคนกดไลก์เพจหลักหมื่น

ผมยังจำได้ว่าวันแรกสุดที่ผมทำเพจขอบสนามแล้วมีโฆษณาเข้ามา มันคือโฆษณาเครื่องทำน้ำแข็ง เขาสงสารผม เขากลัวผมหยุดทำ เราได้เงินมา 15,000 บาท ก้อนแรกเราแบ่งกัน 3 คน คนละ 5,000 บาท ผมจำแม่นเลย ยังจำชื่อจำทุกอย่างได้ ไม่รู้ตอนนี้เขาไปอยู่ไหนแล้ว

ตอนได้เงินก้อนแรกรู้สึกยังไง

เบลล์: โหย ดีมากเลย เสียงที่คุณอ่านมันส่งผลกลับมาแล้วเว้ย เขาพูดกับผมเลยว่า ที่ผมซื้อโฆษณาคุณเพราะกลัวคุณเลิกทำ แล้วก่อนที่ผมจะปล่อยโษณาผมคิดหนักมาก คนดูเขาจะว่ายังไงวะ เขาจะแอนตี้เรามั้ย เพราะเราเคยเห็นเพจอื่นขายของแล้วคนด่า ภาวนาฉิบหาย พอปล่อยไปปุ๊บ ผ่านไป 10 นาทีเข้าไปอ่านคอมเมนต์ มีคนบอกว่า ‘ขอบสนามมีโฆษณาแล้วเว้ย ดีใจด้วยเว้ย’ หรืออีกคนบอก ‘เย้ ดีใจด้วย’ เฮ้ย คนดูรักเราว่ะ คนดูดีใจกับเราไปด้วย ทั้งที่เราเป็นคนได้เงินนะ แสดงว่าตลอดสองสามเดือนแรกที่กูทุ่มไปมีคนเห็น

คือเพื่อนผมที่ทำด้วยกันอีก 2 คนนี่ลาออกจากงานประจำมาทำเลยนะ เงินเดือนไม่มี 3 เดือน ผมอยู่กับเพื่อน คุยกันว่า เรายังไม่รู้วันข้างหน้าเป็นยังไง แต่เราทำด้วยกันนะ แล้วหาร 3 ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครนึกออกว่ามันคืออะไร ไม่มีใครเห็นผีเหมือนที่ผมเห็นคนเดียว แค่ผมเล่าให้เพื่อนฟังแล้วเพื่อนเชื่อผม แต่พอผ่านไปเดือนหนึ่งผมก็เลยลาออกตาม เพราะเห็นใจเพื่อนที่มานั่งรอเรา ผมจะเหยียบเรือสองแคมไม่ได้ ตอนลาออกแม่ผมด่าเละเลย ทำงานประจำอยู่ดีๆ

ตอนนั้นบอกแม่ว่าอะไร

เบลล์: ลาออกมาทำเพจ (หัวเราะ) ซึ่งภาษามันตลกมาก มันคืออะไรวะ แล้วคือมึงทำงานประจำอยู่ มีสวัสดิการ มีประกันสังคม ลาออกมาอยู่บ้าน แล้วตอนนั้นเราจะอธิบายแม่ยังไงได้ ผมเพียงแค่เชื่อว่ามันน่าจะเกิด มันดังแน่ เพียงแต่ว่าต้องทำตอนนี้ ถ้านานกว่านี้อาจจะมีคนที่คิดออกเหมือนเรา แม่ด่าเละแต่ผมไม่สน 3 เดือนแรกผมยอมทุ่ม ทำด้วยความเชื่อล้วนๆ

แล้วอย่างเดียร์ที่อยู่กับสื่อมาตั้งแต่ยุคแอนะล็อก คุณเข้าใจสื่อออนไลน์ไหม

เดียร์: ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีอะไรที่แตกต่างไป คือสุดท้ายแล้วมันก็อยู่ที่ตัวคอนเทนต์อยู่ที่ตัวบริบทอยู่ดี ว่าคุณต้องการจะสื่อสารอะไร

เดียร์ว่าคนทำคอนเทนต์ทุกคนตอนนี้กำลังถกกันเรื่องสื่อและการเปลี่ยนแปลงของสื่อเยอะมาก แต่ว่าหลังจากที่ถกกันไปไม่รู้กี่รอบ ทั้งกับคนที่มีประสบการณ์ในแอนะล็อกมาอย่างยาวนานหรือคนรุ่นใหม่ก็ดี สุดท้ายแล้วไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปยังไง เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปยังไง content ก็ยัง is king อยู่วันยังค่ำ ประโยคที่ว่า Content is king. ก็ยังใช้ได้เสมอ มันเป็นสัจธรรมไปแล้ว

ถ้าอย่างนั้นเพราะอะไรคนทำคอนเทนต์บางคนจึงอยู่ไม่ได้

เดียร์: เพราะเขาไม่ได้ปรับตัวตามไง สมมติคุณทำนิตยสาร คุณจะมา copy แล้ว paste ลงในออนไลน์ แล้วมาปล่อยในเฟซบุ๊กมันไม่ได้ เพราะว่าจริตของคนในการอ่านของเฟซบุ๊กมันไม่เหมือนกัน เวลาคนอ่านเฟซบุ๊กมันผ่านการ scroll อย่างนิตยสารหรือโทรทัศน์กว่าคุณจะเข้าเรื่องคุณอารัมภบทเอิงเอยตั้งเท่าไหร่ แต่ว่าเฟซบุ๊กไทม์ไลน์คุณไหลตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคุณต้อง punch ตั้งแต่บรรทัดหรือวินาทีที่เท่าไหร่ล่ะ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวตาม แต่ส่วนตัวที่ไปคุยกับคนทำงานคอนเทนต์ใน traditional media หลายคนเขาไม่เข้าใจเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าไม่เข้าใจหรือว่าปฏิเสธ

แต่สิ่งที่ลองเทสต์จากหลายๆ อัน สุดท้ายคนก็ยังต้องการคอนเทนต์ที่ผ่านมุมมองในการเขียนผ่านตัวบุคคลอยู่นะ มันยังเป็นคอนเทนต์ที่มี engagement ดีที่สุดถ้าเทียบกับคอนเทนต์ที่แค่บอกว่าใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร คือความต้องการลึกๆ ของคนยังมี แต่คุณทำเหมือนเดิมไม่ได้

ในฐานะคนทำเราจะรู้ได้ยังไงว่าคนเสพสื่อสมัยนี้ต้องการอะไร

เบลล์: ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นคนทำเลย ผมคิดว่าผมเป็นคนดู เราต้องดูว่าคนดูอยากดูอะไร ผมไม่ชอบการเวิ่นเว้อ ไม่ชอบการเปิดรายการเพื่อดึงเวลาให้ได้ 2 นาที ก่อนจะมาเข้าพอยต์ เปิดมาเรามีเวลาไม่เท่าไหร่เพื่อให้คนดูสนใจ ผมเป็นคนที่คิดว่าเน็ตทุกคนมีค่า ดาต้าเหมือนทอง สมมติคุณทำวิดีโอมา 10 นาที คุณมั่นใจแล้วเหรอว่าคุณจะดึงคนที่เขาใช้ 3G ได้ เราอาจจะมีปัญญาซื้อเน็ตเดือนละ 10 – 20 GB แต่ทุกคนไม่ได้รวยเหมือนคุณนะ

สมมติว่าเขาดูเราครั้งแรกบนรถไฟฟ้า แน่นอนเขาใช้ 3G อยู่ ถ้าเปิดมาคลิปยาว 10 นาที เขาปิดเลย สมมติว่า 10 นาทีนั้นเราทำดีมาก แต่จบแล้ว เรื่องระยะเวลาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงคน เขาตัดสินเราตั้งแต่ระยะเวลาก่อนแล้ว ยุคนี้คลิปจึงต้องสั้น ผมทำคลิป 3 นาที เพื่อให้คนฟังก่อนว่าเราพูดถึงอะไรวะ 3 นาทีนั่นคือโอกาส แต่ถ้าวันที่เราประสบความสำเร็จแล้ว จะทำคลิปที่นานขึ้นก็ได้ เพราะว่าคนเขาเชื่อมั่นไง ว่าสิ่งที่เรานำเสนอดีแน่ ถึงนานก็จะดู แต่ถ้าเกิดเราเป็นหน้าใหม่ ต้องทำอะไรที่กระชับ ฉับไว ให้คนรู้จักง่ายๆ

ภาพเพจขอบสนามที่เดียร์รู้จักในตอนแรกเป็นยังไง

เดียร์: จริงๆ ตอนแรกเดียร์ไม่รู้จักเพจ (หัวเราะ)  ไม่ใช่น้องเขาไม่ดัง แต่ส่วนตัวเดียร์เป็นคนไม่เล่นเฟซบุ๊ก แต่หลังจากที่เดียร์นัดเพจต่างๆ มาเจอตอนก่อนจะไปแข่งซีเกมส์ ก็เลยได้นั่งตามดู ซึ่งพอได้เห็นคอนเทนต์และวิธีการเล่าเรื่องของเขา ทุกอย่างมันเป็นไปตามคอนเซปต์ที่เราอยากจะทำพอดี ตอนแรกเราอยากจะทำสำนักข่าวกีฬาออนไลน์ วางคอนเซปต์สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เล่าเรื่องแบบใหม่ คาแรกเตอร์แบบใหม่ ทุกอย่างทำในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การเอาเนื้อหามา copy แล้ว paste ในโลกออนไลน์ ซึ่งขอบสนามมีคอนเทนต์ของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ทำให้เดียร์เห็นขอบสนามแล้วชอบ เราเห็นสิ่งที่จะต่อยอดไปได้

แล้วภาพ ‘มาดามเดียร์’ ในหัวเบลล์เป็นยังไง

เบลล์: โอ้โห คนรักทั้งประเทศเลยว่ะ เพราะเวลาผมลงข่าวพี่เดียร์ คนมันไม่ได้พูดถึงเนื้อบอลเลยไง ตอนที่ฟุตบอลทีมชาติไทยแพ้ เขาบอกว่า ถ้าไม่มีมาดามเดียร์กูด่าเละแล้ว (หัวเราะ) ผมเลยรู้สึกว่าคนนี้ภาพลักษณ์บวกมากๆ เลย แต่ตอนนั้นยังไม่ได้โฟกัสว่าพี่เขาเป็นใคร

ตอนที่ได้รับข้อเสนอขอซื้อเพจขอบสนาม คุณตัดสินใจนานมั้ย

เบลล์: 5 นาที ซึ่ง 5 นาทีที่ผมคิดคือ หลังจากนี้เป็นยังไงบ้าง ผมต้องเปลี่ยนอะไร

ไม่กลัวเลยเหรอว่าเพจจะเปลี่ยนไป จะสูญเสียอิสระในการทำ

เบลล์: ก่อนหน้านั้นเราได้คุยกันก่อนแล้ว คือที่ผ่านมาเคยมีคนติดต่อมาก่อนพี่เดียร์ แต่แปลกมากที่ผมรู้สึกว่าครั้งนี้มันเป็นเรื่องจริง เพราะตอนที่ผมคุยกับคนเก่า ผมไม่เห็นแววตาความอยากทำจากเขา เหมือนเขามีเงินมาก แค่จะเอาผมไปเป็นลูกน้อง ไม่มีแพสชันความอยากทำ แต่ตอนผมคุยกับพี่เดียร์ ผมเห็นตั้งแต่แววตา ว่าเขาไม่ได้แค่มาโพล่งไอเดียให้ฟังแล้วกลับบ้าน แต่มันคือการบอกว่าเขาอยากทำอย่างนี้ แล้วเป้าหมายคล้ายๆ กันเลย คือทำให้ใหญ่กว่าเดิมในรูปแบบที่ใหม่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความฝันของผมอยู่แล้ว เรื่องเงินไม่เกี่ยวเลย เพราะที่ผมทำทุกวันนี้ก็โอเคในระดับหนึ่ง แต่ผมมองว่ามันคือความสนุก

คือผมไม่ได้ทำเพจให้รวยแล้วก็จบ แต่ผมคิดว่าขนาดเราเริ่มจากนั่งอัดเสียงในห้องคนเดียว โทรศัพท์เครื่องเดียว คอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ยังได้ขนาดนี้ ถ้ามีพี่เดียร์เข้ามา พร้อมกับทัพนักข่าวหรือคนที่มีคุณภาพในการทำเว็บไซต์ดีๆ มันจะพุ่งขนาดไหน

แต่แฟนๆ หลายคนก็กังวลว่าผู้บริหารคนใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงจนเพจขอบสนามไม่เหมือนเดิม

เดียร์: เราคงไม่ไปเปลี่ยนเพราะว่าคอนเทนต์ที่เขาทำมันดีอยู่แล้ว แต่เราคงเข้าไปช่วยเรื่องของการขยายงานว่าจะขยายอะไรไปได้เพิ่ม สิ่งที่ขอบสนามมีคือคอมมูนิตี้ของตัวเอง มีแบรนด์ที่ชัดเจน มีคอนเทนต์ที่แข็งแรง ซึ่งพอมีสิ่งเหล่านี้มันสามารถสร้างโอกาสอะไรต่อยอดไปได้อีกมากมาย

จริงๆ ชื่อ ‘ขอบสนาม’ เบลล์เขาตั้งใจคิดมาให้มันไม่จำเป็นต้องเป็นสนามฟุตบอลอย่างเดียวอยู่แล้ว มันยังเป็นสนามอื่นๆ ได้อีกหลายสนาม ซึ่งเดียร์มองว่าขนาดฟุตบอลเป็นกีฬาที่คนนิยมสูงสุด แต่นักฟุตบอลตอนนี้คนก็จะรู้จักหลักๆ แค่ทีมชาติชุดใหญ่ พอเป็นชุดอื่นเราจะเห็นความแตกต่างชัดเจนมาก แล้วลองนึกไปถึงกีฬาประเภทอื่นสิ

ตอนที่เดียร์ไปซีเกมส์เราเจอกับนักกีฬาทีมชาติทุกประเภทกีฬา แล้วเรารู้เลยว่า กีฬาประเภทอื่นเรื่องงบประมาณนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย มันหนักหนาจริงๆ ซึ่งถามว่างบจะมาจากอะไร มันก็มาจากกระแสความนิยม ซึ่งความตั้งใจเดียร์คือนอกจากเรื่องฟุตบอลก็อยากรู้ว่า เราจะไปทำอะไรกับกีฬาประเภทอื่นได้อีก

เบลล์: มีสิ่งที่ผมฝันมาตลอดแล้วอยากให้เกิดขึ้นจริงๆ ถ้าผมได้มาร่วมงานกับพี่เดียร์คือผมอยากนำเสนอนักฟุตบอลไทยให้เป็นที่รักมากกว่านี้ ผมอยากทำสิ่งนี้มากที่สุด เพราะผมรู้สึกว่าตอนที่ผมเล่าเรื่องราวของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือ ลิโอเนล เมสซี่ เขาอยู่ไกลห่างเราตั้งเป็นพันกิโล แต่เขาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยได้หมดเลย ซึ่งนักฟุตบอลไทยเองก็น่าจะทำอย่างนั้นได้

เกือบ 3 ปีนับจากวันแรกที่ทำเพจ มีกี่วันที่เบลล์ไม่ได้พากย์เสียง เคยนับบ้างไหม

เบลล์: ผมว่าน่าจะไม่ถึง 30 วันที่หยุด เพราะมีงานที่ต่างประเทศและป่วย แต่ถึงผมจะไปต่างประเทศผมจะพยายามพกคอมพิวเตอร์ไปอ่านข่าวส่งมาให้คนฟังเหมือนเดิม เพราะผมไม่อยากหายไป ช่วงแรกๆ เวลาป่วยเราเขียนบอกกันตรงๆ เลย ผมเคยไลฟ์ยกมือไหว้คนดูด้วยซ้ำตอนที่ผมป่วย เพราะผมรู้สึกผิดที่ทำให้เขาต้องรอ ไม่ได้ดูตอนใหม่

แล้วงานของผมมันยากตรงที่ต้องทำทุกวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งพอเป็นคอนเทนต์ที่ต้องสนุกผมก็ต้องบริหารความรู้สึกของตัวเอง ให้เรามีความรู้สึกสนุกตลอด เพราะถ้าวันไหนผมเครียด ไม่มีความสุขที่จะตื่นมาทำ เท่ากับว่าต้นขั้วมันเป็นตัวลบแล้ว มันก็จะส่งพลังลบออกมาเช่นกัน

คิดว่าอะไรทำให้เพจขอบสนามยืนระยะมาได้จนวันนี้

เบลล์: เวลาผมพากย์หรืออ่านข่าว ผมรู้สึกว่านั่นไม่ใช่งาน แต่มันเป็นการทำสิ่งที่เรารักและมีคนชอบ มันคือตัวตนและชีวิตของผมไปแล้ว ผมหยุดไม่ได้ นอกจากจะป่วยหรือตายเท่านั้น ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ

หลังจากที่ขอบสนามดัง ผมเห็นว่ามีเพจเยอะมากที่พยายามทำตาม ซึ่งผมดีใจนะ แสดงว่าเราดีพอให้คนมาตาม แต่หลายๆ คนทำได้ไม่นาน เพราะว่าสำหรับผม ยากที่สุดในการทำงานคือการยืนระยะยังไงให้ได้เป็นปี คุณจะมีแพสชันที่อยากจะตื่นมาทำงานเป็นปีเลยเหรอถ้าถูกบังคับ มันยากมากนะ แต่ผมไม่ได้ถูกบังคับ เพราะว่าผมอยากตื่นขึ้นมาทำเอง หลายคนอาจจะอยากมาทำเพราะว่าอยากดังแบบไอ้นี่ จะได้รวย แต่อาจลืมมองว่าที่เราทำเราไม่ได้อยากทำเพื่อหวังตังค์ แต่เราทำเพราะใจ เพราะแพสชัน ผ่านการวางแผน ตกผลึกมาแล้ว ตอนนี้ผมก็แค่ต้องแข่งกับตัวเองไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะทำพรุ่งนี้มันต้องเท่ากันหรือดีกว่าเมื่อวาน ห้ามแย่กว่า

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan