สิ้นเสียงประกาศรายการแสดงสุดท้ายบนเวที Japan Expo in Thailand 2017 โน้ตดนตรีญี่ปุ่นดังขึ้น ชายหนุ่มในชุดสูทสองชิ้นเนี้ยบกริบ 5 คนเดินเรียงแถวออกมาช้าๆ ด้วยท่าทางแบบหุ่นยนต์ เสียงโห่ร้องด้วยความยินดีของผู้ชมชาวไทยดังกึกก้อง การรอคอย WORLD ORDER สิ้นสุดลงแล้ว

หาก Takashi Jonishi, Yusuke Morisawa, Akihiro Takahashi, Hayato Uchiyama และ Ryuta Tomita ลงจากเวทีแล้วถือกระเป๋าทำงานสีดำข้ามถนนหรือขึ้นรถไฟในโตเกียว เขาคงกลมกลืนไปกับซาลารี่แมนนับล้านที่ขับเคลื่อนญี่ปุ่นให้เป็นเจ้าเศรษฐกิจ สีหน้าเรียบเฉยกับท่าเต้นแข็งแรงแต่ไร้ชีวิต เปลี่ยนความเคร่งขรึมของมนุษย์เงินเดือนแดนอาทิตย์อุทัยให้เป็นความบันเทิง

เผชิญหน้า WORLD ORDER บอยแบนด์สวมชุดพนักงานเงินเดือนจากญี่ปุ่น เผชิญหน้า WORLD ORDER บอยแบนด์สวมชุดพนักงานเงินเดือนจากญี่ปุ่น

ฉันมองการแสดงของพวกเขาด้วยความประทับใจเต็มเปี่ยม ระเบียบวินัยแข็งขัน ความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นหัวใจของการเต้นที่ Genki Sudo อดีตนักร้องนำของวงที่ผันตัวไปเป็นโปรดิวเซอร์ของวงคิดขึ้น เก็นกิเป็นอดีตนักมวยชื่อดังที่ประสบความสำเร็จมหาศาล ลีลาเปิดตัวก่อนขึ้นสังเวียนของเขาสนุกสร้างสรรค์เสมอ เมื่อเกษียณจากตำแหน่งนักกีฬา แชมป์นักสู้กลับเข้าสู่แสงไฟอีกครั้งในฐานะนักร้องวงบอยแบนด์ในปี 2009

“ซาลารี่แมนญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ขยันขันแข็ง ใส่สูทไปทำงานอย่างตั้งใจทุกวัน WORLD ORDER ตอกย้ำและล้อเล่นกับภาพลักษณ์คนทำงาน และสะท้อนภาพทุนนิยมด้วย ที่อเมริกา ภาพคนใส่สูทคือคน old fashioned ที่ทำงานด้านการเงิน หรือคนที่ประสบความสำเร็จในยุคเก่า เราจับเรื่องนี้มาเล่นเป็นธีมหลักของวง”

เผชิญหน้า WORLD ORDER บอยแบนด์สวมชุดพนักงานเงินเดือนจากญี่ปุ่น เผชิญหน้า WORLD ORDER บอยแบนด์สวมชุดพนักงานเงินเดือนจากญี่ปุ่น

อากิฮิโระ ทากาฮาชิ นักร้องนำคนปัจจุบันและเพื่อนร่วมงานอธิบายเรื่องราวของวงในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ห้องรับรองหลังเวที พวกเขายิ้มอายๆ ตอบคำถามอย่างสุภาพ และค้อมศีรษะแทบตลอดการสนทนา สมาชิก WORLD ORDER เห็นพ้องต้องกันว่าสังคมรวมหมู่ที่เน้นความเป็นกลุ่มก้อนของแดนปลาดิบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่พวกเขาเลือกนำเสนอเรื่องนี้อย่างสร้างสรรค์

“เนื้อเพลงของเราค่อนข้างจริงจัง แต่เราไม่ได้ตั้งใจสื่อสารเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เราต้องการให้คนที่ดูมีอิสระในการตีความสิ่งที่เห็นจากการร้องการเต้น เพราะสิ่งที่เราพูดส่วนใหญ่เป็นเรื่องนามธรรม”

ทาคาชิ โจนิชิ และ เรียวตะ โทมิตะ กล่าวเสริม เพลงดังอย่าง World Order, Machine Civilization หรือThe Next Phrase พาพวกเขาออกไปเต้นตามที่สาธารณะทั่วญี่ปุ่น กระจายไปทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ไม่ว่าไปออกสเต็ปที่ไหนบนโลก ใครต่อใครล้วนเหลียวมองพวกเขาด้วยสายตาทึ่งปนงุนงง

เผชิญหน้า WORLD ORDER บอยแบนด์สวมชุดพนักงานเงินเดือนจากญี่ปุ่น เผชิญหน้า WORLD ORDER บอยแบนด์สวมชุดพนักงานเงินเดือนจากญี่ปุ่น

“ตั้งแต่เต้นมา เรายังไม่เจอใครที่ไม่ชอบการเต้นแบบ Robotic Dance เลย ปัจจัยอีกอย่างคือทั่วโลกจับตามองวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่แล้ว พอสิ่งที่เรานำเสนอแสดงวัฒนธรรม ก็เลยได้รับการตอบรับอย่างดี” ยูสุเกะ โมริซาวาเอ่ยสมทบ

ฉันเหลือบมองชุดสูทสีกรมท่าที่ติดกระดุมเรียบร้อยทุกเม็ด แล้วถามสิ่งที่สงสัยเต็มแก่ในใจออกไปว่าเครื่องแต่งกายของพวกเขามีเทคนิคพิเศษซ่อนอยู่รึเปล่า แต่ละคนถึงเต้นได้เก่งกาจจนถึงขั้นตีลังกา บรรดาชายหนุ่มต่างหัวเราะ

“สูทธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษเลยครับ เลยเต้นยากมาก พวกเราเป็นนักเต้น Street Dance มาก่อนทั้งนั้น เวลาเต้นก็ใส่เสื้อผ้าแบบสบายๆ พอรู้ว่าจะต้องใส่สูทเต้น ตอนแรกทุกคนก็ไม่ชอบ ออกจะต่อต้านนิดๆ แต่พอเต้นไปเรื่อยๆ ก็ชิน”

จากช่วงแรกเริ่มถึงปัจจุบัน WORLD ORDER มีทั้งงานเพลง งานโฆษณา และยังร่วมร้องเพลงกับศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปวงอื่นๆ อย่าง AKB48 หรือ SKE48 พอมาแสดงที่เมืองไทย เลยได้เต้นเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย กับสาวๆ วง BNK 48

“สนุกตั้งแต่ต้นจบจบเลยครับ” ฮายาโตะ อุชิยามา ที่เงียบขรึมตลอดการสนทนาเอ่ยขึ้นพร้อมรอยยิ้ม นอกจากแสดงในงานเอ็กซ์โป การมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้พวกเขายังมีภารกิจแอบแฝง คือการถ่ายทำ MV เพลง Find the Light หนุ่มๆ ชุดสูทเต้นกันจริงจังเต็มที่ลานน้ำพุห้างสยามพารากอน สกายวอล์กหน้ามาบุญครอง เกาะกลางถนน ไปจนถึงกลางซอยคาวบอยย่านอโศก

“เราอยากจะเต้นในที่ที่สะท้อนความเป็นไทย นึกถึงสถานที่ที่มีไฟเยอะๆ และถ่ายสวยในเวลากลางคืน ซึ่งที่เหล่านี้สะท้อนภาพลักษณ์ของเมืองไทยในรูปแบบหนึ่ง”

ฉากหลังพลุกพล่านของสถานที่เที่ยวโด่งดังในไทยเป็นตัวเลือกที่ดีในความคิดของฉัน สัญลักษณ์ทุนนิยมญี่ปุ่นฉายทับลงบนภาพจำของเมืองไทยอย่างพอดิบพอดี ขณะที่ทุนนิยมขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง  WORLD ORDER ดูจะสะท้อนความเป็นไปเหล่านี้ด้วยอารมณ์ขันพอดิบพอดี ตัวแทนซาลารี่มังผู้เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียงประดุจเครื่องจักร แต่บทเพลงที่อ่อนโยนที่พวกเขาขับร้อง บ่งบอกว่ากลไกเศรษฐกิจก็มีหัวใจ

ภาพ : World Order, JEDUCATION

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง