‘เหมือนได้มาเที่ยวเลย’

นี่คือประโยคแวบขึ้นมาในความคิด ของคนที่เกิดและโตในเมืองชลบุรีแท้ ๆ ขณะมือกำลังจับพวงมาลัยแน่น แล่นรถยนต์คู่ใจผ่านทิวเขาลูกน้อยใหญ่ สีฟ้าสดของท้องทะเลส่องเป็นประกายระยิบระยับชวนมองอยู่ปลายสายตา 

ต้องยอมรับตามตรงว่า แม้จะเรียกตัวเองเต็มปากว่าเป็น ‘คนชลบุรี’ แต่การขับรถเกือบ 100 โล ผ่านตัวเมืองชล บางแสน บางพระ ศรีราชา และพัทยา จวนถึงสัตหีบไม่ไกล ก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนความคุ้นชินให้กลายเป็นความตื่นเต้นได้ง่าย ๆ อาจเพราะทะเลสัตหีบให้ความรู้สึกที่ต่างกับทะเลบางแสน น้ำใส หาดทรายเยอะ เลือกปักหมุดในแผนที่ออนไลน์ได้ตามใจ ทั้งหาดชื่อคุ้นหูอย่างหาดทรายแก้ว หาดดงตาล หาดนางรำ และหาดนางรอง จนถึงหาดชื่อแปลกหูอย่างหาดม้าน้ำ และหาดบ้านอำเภอ แถมแต่ละหาดก็ยังให้บรรยากาศชวนพักผ่อนหย่อนกายในเสน่ห์ที่ต่างกัน 

Tali-Yailai Hostel เปลี่ยนบ้านเกือบร้อยปีเป็นที่พักสัมผัสวิถีชาวเลสัตหีบ ชลบุรี

เราขับเคลื่อนรถ 4 ต่ออีกนิด ขับเข้าไปในชุมชนสัตหีบเพียงไม่ไกล ตึกรามบ้านช่องรูปทรงคุ้นตา ส่งกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นชาวเลฟุ้งกระจายอยู่ในทุกอณู บ้างเป็นร้านชำ บ้างขายอาหารทะเลตากแห้ง เราจอดรถสนิท เดินทอดน่องสอดส่องร้านรวงอยู่ได้ไม่นาน สายตาสะดุดกับบ้านไม้หลังใหญ่ ขนาดประมาณ 3 คูหา เมื่อเทียบกับตึกแถวทั่วไป รูปทรงดั้งเดิม สีฟ้าอ่อนสบายตา มีลวดลายฝูงปลาน่ารักแวกว่ายอยู่บนผนัง ทำเอาต้องรีบจ้ำเข้าไปมองในระยะถนัดตา 

“ที่นี่บ้านเกิดพี่ พี่เป็นคนสัตหีบ” 

Tali-Yailai Hostel เปลี่ยนบ้านเกือบร้อยปีเป็นที่พักสัมผัสวิถีชาวเลสัตหีบ ชลบุรี

นี่คือประโยคเริ่มต้นบทสนทนาที่ เปิ้ล-สุนทรี​ เกียรติพงษ์ถาวร บอกกับเรา

เจ้าบ้านเกิดและเติบโตที่นี่ หลังช่วงมัธยมต้นก็ย้ายไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เรียนจบและทำงานเป็นโบรกเกอร์ คร่ำหวอดอยู่ในสายงานหลักทรัพย์ ทั้งเครียด ทั้งหนัก ก่อนจะเกษียณอายุงานและกลับมาดูแลทรัพย์สินของครอบครัว 

“เราเป็นผู้บริหารโบรกเกอร์ พอกำลังจะเกษียณ ก็เริ่มคิดแล้วว่าจะดูแลทรัพย์สินอย่างไร อย่างพื้นที่ตรงนี้ได้มาจากแม่ เป็นบ้านเก่าอายุเกือบร้อยปี ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องของเงินแล้ว แต่วัตถุประสงค์ของเราคือ ทรัพย์สินอะไรที่มีค่าใช้จ่าย เราจะต้องเปลี่ยนมันให้มีประโยชน์มากขึ้นและอยู่กับเราได้นาน ๆ อีกอย่างเราไม่อยากปล่อยให้บ้านโทรม”

ลูกสาวคนสุดท้องของบ้านเผยความตั้งใจ โดยอาศัยประสบการณ์จากหน้าที่การงาน และคงถึงเวลาแล้ว ที่เราจะชวนคุณแง้มประตูบ้านเก่าในรูปโฉมใหม่ นั่งฟังเรื่องราวการแปลงสินทรัพย์เป็นที่พักสุดอบอุ่นในชุมชนสัตหีบแห่งนี้

Tali-Yailai Hostel เปลี่ยนบ้านเกือบร้อยปีเป็นที่พักสัมผัสวิถีชาวเลสัตหีบ ชลบุรี

พ่อสาลี่ แม่วิไล

ตาหลี-ยายไล โฮสเทลเกิดขึ้นบนบ้านเก่าอายุเกือบร้อยปี ตั้งตระหง่านในชุมชนสัตหีบ

แล้วทำไมต้องเป็นตาหลี-ยายไล เราถาม

“พ่อพี่ชื่อสาลี่ แม่พี่ชื่อวิไล เขาหนีสงครามโลกครั้งที่ 2 มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ คนแถวนี้เขาเรียกพ่อพี่ว่าตาหลี เรียกแม่ว่ายายไล เป็นชื่อที่รู้จักกันในชุมชน พี่เลยรู้สึกว่าถ้าสร้างที่นี่ แล้วลูกหลานเราทำต่อไปได้ ชื่อพ่อชื่อแม่ก็จะอยู่ที่นี่ไปตลอด คนก็จะรู้จักตาหลียายไล ถึงหน้าตาเป็นยังไงไม่รู้ เราไม่กล้าเอารูปมาติด เดี๋ยวคนกลัว” ลูกสาวหัวเราะ

“แต่ชื่อฟังดูโฮมมี่ เป็นชื่อพ่อชื่อแม่เรา พี่ไม่กลัวโดนล้อหรอก” น้ำเสียงชวนสนุกของพี่เปิ้ลเล่าที่มาน่ารัก ๆ ของชื่อโฮสเทล “อีกอย่างพี่น้องของเราจะได้มีงานทำ เรามีพี่น้องเยอะ ตั้ง 11 คน พี่เป็นคนที่ 11 อยากให้พวกเขาทำงานที่มีความสุข แล้วบ้านเขาอยู่กันแค่นี้เอง เดินเข้าซอย ข้ามถนนมาทำงานได้เลย

“พอพี่คิดว่าจะทำโฮสเทลแค่ 9 ห้อง ก็มาคิดกันต่อว่าจะเป็นคอนเซ็ปต์อะไรดี สมัยก่อนพ่อพี่ทำปลาเค็ม ข้างนอกเลยเพนต์รูปปลา ส่วนแต่ละห้องเป็นปลาแต่ละชนิดที่พบในน่านน้ำสัตหีบ ตกแต่งด้วยสีที่ต่างกัน” เธอเล่าทีละสเต็ป

พอได้คอนเซ็ปต์แล้ว ก็ถึงเวลาลงมือจริง!

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะรีโนเวตบ้านเก่ามาทำ เพราะอยากให้เห็นทรงเดิมของบ้าน แต่สุดท้ายทำไม่ได้ เพราะบ้านเก่ามาก เสาเป็นไม้ทั้งหมด ข้างล่างเป็นทราย ตอนพายุเข้า หลังคาบ้านร่วงลงมาเกือบโดนมอเตอร์ไซค์ สิ่งเหล่านี้มันบังคับให้เราต้องรื้อ แต่ก็ยังอยากคงทรงบ้านไว้ให้เหมือนเดิมที่สุด เพราะที่นี่เป็นที่พึ่งทางใจของเรา” 

ถ้าสร้างใหม่ทั้งหมด ภาพบ้านในความทรงจำ ภาพที่คิดไว้ กับภาพที่เกิดขึ้นจริง เหมือนกันไหม เราสงสัย

“ภาพที่ออกมาเหมือนตามที่เราคิดทุกส่วนเลย ตัวโฮสเทลเป็นบ้านเก่า ข้างในถูกแบ่งห้องใหม่ อยากให้ข้างในรู้สึกเหมือนบ้าน อยู่สบาย แล้วก็เซอร์ไพรส์หน่อยตรงเคาน์เตอร์ข้างหน้าสวยกว่าที่คิด อินทีเรียเขาดีไซน์ให้ใช้กระเบื้องแบบนี้ ตารางเมตรละ 3,500 แต่ออกมาแล้วสวย สวยได้ใจเราเลย” พี่เปิ้ลเล่าถึงผลลัพธ์ด้วยหน้าตาภาคภูมิใจ ก่อนจะเอ่ยปากชวนเราเดินไปคุยไป ผ่านพื้นไม้ทั้งใหม่และเก่าจากบ้านหลังเดิม เปิดประตูดูปลาหลากชนิดในห้องพักด้วยกัน

Tali-Yailai Hostel เปลี่ยนบ้านเกือบร้อยปีเป็นที่พักสัมผัสวิถีชาวเลสัตหีบ ชลบุรี
Tali-Yailai Hostel เปลี่ยนบ้านเกือบร้อยปีเป็นที่พักสัมผัสวิถีชาวเลสัตหีบ ชลบุรี

ตาหลี ยายไล โฮสเทล

ห้องพักทั้ง 9 ห้องของที่นี่ ถูกกำหนดด้วยสีและปลา 9 ชนิดที่มีในน่านน้ำสัตหีบ ไล่ตั้งแต่ปลาตะกรับ ปลาอมไข่ ปลาตะคอง ปลาปักเป้า ปลากะรัง ปลาข้างเหลือง ปลาการ์ตูน ปลาโฉมงาม และปลากระโทง

เพียงแค่เปิดประตูเข้าไปในห้องแรก ก็หลุดพูดคำว่าน่ารักออกมานับไม่ถ้วน ทั้งสีสันที่แต่งแต้ม คานไม้บนเพดาน หน้าต่างสุดคลาสสิก และลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของ Ping Hatta ก็ทำให้หัวใจพองโตขึ้นอย่างรู้สาเหตุ

“คนที่เพนต์คือ ปิ๊ง หัตถะ ปิ๊งเป็นเพื่อนของลูกสาวพี่ตั้งแต่สมัยอนุบาล เขาจบแฟชั่นดีไซน์ ปัจจุบันทำงานวาดภาพประกอบอยู่ในนิวยอร์ก วาดภาพให้ British Vogue ด้วย พี่เลยฉกตัวเขามาเลย บอกว่าปิ๊งมาทำงานให้แม่เถอะ (หัวเราะ) ปลาทุกตัวเลยถูกดีไซน์ออกมาในสไตล์ของปิ๊ง แล้วเราค่อยจ้างคนมาวาดตามที่เขาดีไซน์ไว้ให้ พอทุกอย่างเสร็จแล้ว เราชอบทุกมุมเลย” พี่เปิ้ลเล่าให้ฟังทันทีที่คำว่าน่ารักหลุดออกจากปากเราเป็นครั้งที่ 2 3 และ 4

ห้องแต่ละห้องตกแต่งคล้ายคลึงกัน ต่างกันเพียงข้าวของเครื่องใช้เล็กน้อยเท่านั้น บางห้องมีโซฟา บางห้องประดับแชนเดอเลียร์ บางห้องเปิดหน้าต่างเห็นวิวทะเล บางห้องเห็นวิวชุมชน และดีเทลอีกอย่างที่เราว่าน่ารักดี คือยาแนวในห้องน้ำ ที่พี่เปิ้ลตั้งใจคุมโทนสีให้ตรงตามสีห้องทุกประการ ส่วนกุญแจห้องรูปก้างปลาก็เป็นอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะทั้งดีไซน์ดี แถมยังน่าเอ็นดู! ตัวปลาขยับข้อต่อไปมาได้เหมือนก้างปลาจริง ๆ ที่สำคัญ พี่พนักงานไม่ต้องเสียเวลาอ่านเลขว่าห้องไหนเป็นห้องไหน เพราะออกแบบมาให้มีสีเดียวกับห้องพักแต่ละห้องไปด้วยเลย คุมธีมและคุมโทนสุด ๆ 

Tali-Yailai Hostel เปลี่ยนบ้านเกือบร้อยปีเป็นที่พักสัมผัสวิถีชาวเลสัตหีบ ชลบุรี
โฮสเทลคอนเซ็ปต์ปลาในน่านน้ำสัตหีบของครอบครัวตาหลี-ยายไล ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ สอนเรื่องการออม

แม้เป็นโฮสเทลที่ให้ความรู้สึกเป็นกันเองเหมือนบ้าน แต่พี่เปิ้ลใส่ใจทุกรายละเอียด ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้จนถึงอาหารการกิน เริ่มตั้งแต่แขกเข้ามาเช็กอิน จะได้รับคุกกี้หน้าตาน่าอร่อยคนละชิ้นในแบรนด์ตาหลีโกปี๊ และในห้องพักก็ครบครันด้วยน้ำดื่ม 2 ขวด น้ำอัดลม 2 กระป๋อง ฝักบัวอีก 2 แบบ ทั้ง Rain Shower และแบบธรรมดา ไดร์เป่าผมที่เตรียมไว้ หมอน 4 ใบจัดวางบนเตียงขาวสะอาด จานชามช้อนส้อมในส่วนกลาง ก็วางไว้ให้หยิบยืมอย่างไม่เคอะเขิน แถมยังมีจักรยานอย่างดีไว้คอยบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะปั่นไปทะเลหรือปั่นชมชุมชนก็สนุกและได้ออกกำลังขา

“เราอยากตั้งราคาให้คนจับต้องได้ มาพักในราคาเท่านี้ แต่ได้ห้องพักคุณภาพ 5 ดาว” พี่เปิ้ลเล่ายังไม่ทันจบ ว่าแล้วก็ลุกไปหยิบคุกกี้ที่ว่ามาให้เราชิม ขอบอกว่าอร่อยมาก! เนื้อคุกกี้เข้ากันดีกับช็อกโกแลตเยิ้ม ๆ ที่แทรกข้างใน 

“เวลาคนชม ป้า ๆ ในครัวเขาก็จะหน้าบานเลยล่ะ พี่ ๆ น้อง ๆ ของเราทำอาหารอร่อยทุกคน แต่ว่าเขาทำอาหารฝรั่งไม่เป็น พอดีกับที่แฟนของลูกสาวพี่มีเพื่อนเป็นเชฟ เขาเลยมาสอนให้ อาหารเช้าก็จะเตรียมไว้ให้เลือก 2 แบบ มีทั้งอเมริกันเบรกฟาสต์ แล้วก็เซ็ตข้าวต้มโบราณ ข้าวต้มจะมาพร้อมกับข้าว 3 อย่างที่เปลี่ยนไปตามแต่ละวัน” พี่เปิ้ลเล่าพร้อมเปิดภาพเซ็ตข้าวต้มที่เพียงเห็นก็รับรู้ถึงความใส่ใจของเจ้าบ้าน โดยไม่ต้องเอ่ยปากพูดอะไร

นอกจากอาหารเช้า 2 สไตล์ ยังมีไลน์อาหารบุฟเฟต์น่าหม่ำ ทั้งข้าวเหนียวหมูเส้น ปาท่องโก๋ กล้วย พ่วงกาแฟสำเร็จรูป น้ำมะนาวและน้ำยาอุทัยที่มีบริการตลอดทั้งวัน พี่เปิ้ลบอกเหตุผลแสนใส่ใจไว้ว่า ที่เตรียมไว้เยอะ เพราะกลัวคุณมาแล้วไม่อิ่ม ความพิเศษอีกอย่างของที่นี่ คือ ถ้วยชามลายปลาและหางปลาสั่งทำขึ้นเฉพาะจาก จ.ลำปาง

โฮสเทลคอนเซ็ปต์ปลาในน่านน้ำสัตหีบของครอบครัวตาหลี-ยายไล ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ สอนเรื่องการออม
โฮสเทลคอนเซ็ปต์ปลาในน่านน้ำสัตหีบของครอบครัวตาหลี-ยายไล ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ สอนเรื่องการออม
โฮสเทลคอนเซ็ปต์ปลาในน่านน้ำสัตหีบของครอบครัวตาหลี-ยายไล ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ สอนเรื่องการออม

ตาหลี ยายไล แอกทิวิตี้

ตาหลียายไล โฮสเทล ตั้งตระหง่านอยู่ในจุดที่เป็นแลนด์มาร์ก เพราะหากยืนอยู่หน้าที่พัก เพียงเดินออกไปทางซ้ายไม่ไกล ก็เจอชายหาดเรียงรายให้เลือกเดิน ทั้งหาดดงตาล หาดสวนสน หาดเทียนทะเล และหากเดินไปทางขวา ก็ได้ซึบซับวิถีชีวิตชาวสัตหีบ ผู้คนค้าขายเดินกันขวักไขว่ ทักทายกันเยี่ยงครอบครัว และมีวัดหลวงพ่ออี๋ให้สักการะ 

“เพราะเราอยากให้แขกมาที่นี่แล้วรู้สึกเหมือนมาพักที่บ้าน ได้สัมผัสความโลคอล ได้ไปตลาด ได้ไปวัดหลวงพ่ออี๋ ได้ใส่บาตรหน้าโฮสเทล แต่ในขณะเดียวกันการมาพักที่นี่ ถ้าเกิดแขกอยากทำกิจกรรมอะไร สัตหีบก็มีซัพพอร์ตหมดเลย มีทะเลที่เดินไปได้ น้ำใสมาก มีสอนยิงปืน วินเซิร์ฟ เรือใบ พายซัพบอร์ด มีอุทยานเต่าสำหรับครอบครัว มีชุมชนที่ขายของอร่อย และโฮสเทลก็อยู่ใกล้ตลาดเช้า ใกล้ถนนคนเดิน พี่ว่ามันช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนนะ” เธอย้ำ

สำหรับใครที่ไม่อยากปั่นจักรยาน ไม่อยากขับรถ แต่ยังอยากซึมซับวิถีชีวิตท้องถิ่นแบบสนุก ๆ ตาหลียายไล โฮสเทล ยังมีรถปลา-รถสองแถวแบบคลาสสิก เพนต์รูปปลาเข้าธีม จอดไว้คอยบริการรับ-ส่งตามสถานที่ต่าง ๆ 

โฮสเทลคอนเซ็ปต์ปลาในน่านน้ำสัตหีบของครอบครัวตาหลี-ยายไล ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ สอนเรื่องการออม
โฮสเทลคอนเซ็ปต์ปลาในน่านน้ำสัตหีบของครอบครัวตาหลี-ยายไล ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ สอนเรื่องการออม

ตาหลีโกปี๊

“ในเมื่อโฮสเทลชื่อตาหลียายไล ถ้ามีร้านกาแฟก็จะต้องชื่อตาหลีโกปี๊ เพราะพ่อพี่ชอบกินกาแฟมาก จำได้ว่าตอนเล็ก ๆ นะ พ่อบอกตลอดว่าให้ไปซื้อโกปี๊ให้หน่อย” พี่เปิ้ลเฉลยที่มาน่ารักของชื่อร้านกาแฟที่กำลังก่อสร้าง 

“พี่อาจจะเป็นคนที่คิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่น อย่างตอนกำลังวางแปลนร้านกาแฟ พี่บอกว่าอยากเปิดโล่งให้เห็นวิวด้านหลัง แฟนพี่ก็บอกว่าเปิดทำไม มันเห็นแต่หลังคาบ้าน” แล้วพี่เปิ้ลว่ายังไงคะ-เราถามทันที

“พี่ก็บอกไปเลย ไม่เคยเห็นหรอ ศิลปะหลังคาบ้านน่ะ อีกอย่างพี่อยู่ที่นี่มาทั้งชีวิต ไม่เคยเห็นอ่าวสัตหีบมุมสูงเลย สัตหีบไม่ใช่อ่าวเงียบ ๆ มีเกาะเฉย ๆ แต่เรือเต็มเลย เข้าออกตลอด ตอนเช้าก็สวย กลางคืนมีไฟยิ่งสวย”

ตาหลีโกปี๊เป็นร้านกาแฟขนาด 3 ชั้น ที่ตั้งใจให้แขกมาชมความสวยงามของทะเลสัตหีบในมุมกว้าง เสิร์ฟขนมง่าย ๆ และเครื่องดื่มรสสดชื่นที่ Take Away หยิบจับ ดื่ม กิน และลุกไปนั่งมองวิวได้สบาย เจ้าบ้านกระซิบว่า ร้านกาแฟอาจเปิดช่วงสาย ๆ และปิดในตอนเย็น หลังจากนั้นจะเปิดให้แขกที่มาพัก ดื่มด่ำบรรยากาศตรงหน้าอย่างเต็มที่

“อีกเหตุผลที่พี่อยากทำร้านกาแฟ เพราะอยากมีห้องสัมมนาไว้จัดให้เด็ก ๆ ที่นี่รู้จักเรื่องการออมเงิน จัดเป็นคลาสเล็ก ๆ ให้มาเรียนรู้ฟรี ๆ เป็นกิจกรรมที่อยากสนองความรู้สึกตัวเองยามเกษียณ” เธอเฉลยแพลนในภายภาคหน้า

ตาหลี ยายไล แฟมิลี่

“บ้านพี่มีพี่น้องเยอะใช่ไหม ถ้าไม่มีโควิดจะรวมตัวกันไปเที่ยวญี่ปุ่นปีละครั้ง เป็นทัวร์พันปี คืออายุรวมกันพันปี และทุกเทศกาลปีใหม่จะรวมตัวกันที่บ้านพักที่เขาใหญ่ แต่หลัง ๆ มานี้เรามารวมตัวกันที่นี่แทน ลูกสาวพี่กลับชอบที่นี่มากกว่าเขาใหญ่อีก ระยะเดินทางใกล้ อบอุ่นกว่า และทุกจุดที่นี่มีเรื่องราวในตัวของมันเอง พวกเราผูกพันกับที่นี่ เพราะมันคือบ้านของเรา พอลูกหลานมาสัตหีบ เขาบอกเลยว่า ที่นี่น่ะ ​A Lot of Yai มียายเต็มไปหมดเลย” เธอหัวเราะ

เมื่อบทสนทนาจวนจะจบ เรื่องราวแสนสนุกที่พี่เปิ้ลเล่าให้เราฟัง รวมถึงสถานที่ในบรรยากาศอบอุ่นที่นั่งอยู่ ชวนเรานึกจินตนาการย้อนไปถึงสัตหีบในหลายสิบปีก่อน ร้อยเรียงเรื่องราวต่าง ๆ เข้าด้วยกัน กลายเป็นภาพที่ชัดเจนจวบจนทุกวันนี้, แล้วในสายตาพี่เปิ้ล ชุมชนสัตหีบเปลี่ยนไปยังไงบ้างนะ ในฐานะที่เธอเกิดและเติบโตที่นี่ (เราสงสัย)

“วิถีชีวิตคล้ายเดิมเลย ยังมีความเป็นชุมชน มีความเป็นโลคอล เป็นชนบทของคนตะวันออก พี่อาจจะเป็นคนที่อินคนเดียวก็ได้นะ บังเอิญมันมีอดีตกับเรา แต่พี่คิดว่าหลาย ๆ คนชอบมากนะ บางคนมาพัก หายกันไปแต่เช้า ไปเดินตลาด ซื้อขนมครก ซื้อของฝาก มันเหมือนอยู่บ้านจริง ๆ พี่ไม่ได้พูดเองนะคำนี้ แต่คนที่มาพักเป็นคนบอกไว้” 

สำหรับเราแล้ว การได้ก้าวเท้ามาที่ตาหลียายไล โฮสเทล ไม่ได้มอบเพียงความรู้สึกตื่นเต้น เหมือนการได้มาเที่ยวทะเลในครั้งอื่น ๆ เท่านั้น แต่กลับมอบความรู้สึกอบอุ่น ชุบชูหัวใจเราให้พองโต ตั้งแต่เริ่มกล่าวทักทาย 

‘เหมือนได้กลับบ้านเลยแฮะ’ เรารู้สึกอย่างนั้น

โฮสเทลคอนเซ็ปต์ปลาในน่านน้ำสัตหีบของครอบครัวตาหลี-ยายไล ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ สอนเรื่องการออม

Tali-Yailai Hostel

ที่ตั้ง : 80 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (แผนที่)

โทรศัพท์ : 08 1814 5356

Facebook : Tali-Yailai Hostel

Writer

Avatar

นิธิตา เอกปฐมศักดิ์

นักคิดนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้สนใจงานคราฟต์ ต้นไม้และการออกแบบเป็นพิเศษ แต่สนใจหมูสามชั้นย่างเป็นพิเศษใส่ไข่

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน