เสน่ห์ของ ‘สาวชาววัง’ ไม่ได้มีเพียงจริตประณีตงดงามตามแบบผ้าพับไว้ เมื่อเราได้ลองออกไปตามรอยวิถีชีวิตแบบกุลสตรีในรั้ววัง ตั้งแต่ประทินผิว กินข้าว ทำงานคราฟต์ จนถึงช้อปปิ้ง จึงค้นพบว่าเสน่ห์ที่แท้จริงของพวกเธอคือความเฉลียวฉลาด ช่างคิด ช่างประดิดประดอย

ภายใต้ข้อจำกัดทั้งระเบียบอันเคร่งครัดที่ทำให้ไม่สามารถออกนอกเขตรั้ววังได้ตามอำเภอใจ เหล่ากุลสตรีชาววังสามารถหยิบยกสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัวมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันน่าทึ่งและใช่ว่าจะหาได้ทั่วไป สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความอดทนและความตั้งใจสูง ทั้งยังซ่อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ไว้ภายใต้กลิ่นอายความประณีตที่อยากให้คุณได้ลองออกไปสัมผัส และรู้จักวิถีนุ่มนวลแยบยลในชีวิตกุลสตรีไทย

1

เรียนรู้วิถีชีวิตสาวชาววังผ่านหนังสือ หอมติดกระดาน

หอมติดกระดาน, ชาววัง, ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, รัชกาลที่ 5, ซีเอ็ด, ศูนย์หนังสือจุฬาฯ หนังสือ, กลิ่นหอม, วิถีชีวิต, โบราณ, เครื่องนุ่งห่ม, หอมติดกระดาน, ชาววัง, ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย

‘หอมติดกระดาน’ คำนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของสตรีชาววังสมัยโบราณ ซึ่งมีที่มาจากความหอมในเครื่องนุ่งห่มของสาวชาววัง เมื่อนั่งบนกระดานแผ่นใด ครั้นลุกจากไป ความหอมนั้นก็ยังคงอบอวลซึมลึกติดอยู่บนกระดานแผ่นนั้น

ก่อนจะออกไปตามรอยความหอมติดกระดาน เราอยากให้คุณมาทำความรู้จักวิถีชีวิตโดยละเอียดตั้งแต่การกินอยู่หลับนอน การแต่งกาย การปฏิบัติตัว ไปจนถึงการช้อปปิ้งของสาวชาววัง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านหนังสือ หอมติดกระดาน เขียนโดยศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย บอกเล่าเรื่องราวชีวิตสาวชาววังด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพลิดเพลินใจไปกับประวัติศาสตร์และเบื้องหลังความประณีตงดงามตามแบบฉบับสาวชาววัง ซึ่งสิ่งที่คุณจะได้จากหนังสือเล่มนี้มีมากกว่าความหอมติดกระดาน เพราะกลิ่นอายความเป็นสาวชาววังอาจซึมลึกลงไปในหัวใจของผู้อ่านโดยไม่รู้ตัว

ชื่อหนังสือ | หอมติดกระดาน
ผู้เขียน| ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย
ราคา | 180 บาท
หาซื้อได้ที่ | ศูนย์หนังสือจุฬาฯ หรือ SE-ED Book Center
2

แต้มความหอมติดกระดานด้วยน้ำปรุง ‘เย็นอุรา (yen-u-ra)’

เย็นอุรา, yen-u-ra, น้ำปรุง, น้ำหอม, โคโลญจน์, คุณหญิงผอบ ณ ถลาง, ไทย, ธรรมชาติ, เสน่ห์, หอม, ชาววัง, เย็นอุรา, yen-u-ra, น้ำปรุง, น้ำหอม, โคโลญจน์, คุณหญิงผอบ ณ ถลาง, ไทย, ธรรมชาติ, เสน่ห์, หอม, ชาววัง,

การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้นำการแลกเปลี่ยนสินค้าและเงินตราเข้ามาเท่านั้น แต่ยังรวมวัฒนธรรมที่หลั่งไหลเข้ามาด้วย วัฒนธรรมการใช้น้ำหอมของชาวตะวันตกในสมัยนั้นทำให้ชาวไทยเริ่มสนใจการทำน้ำหอมแบบฉบับของเราเอง จนเกิดเป็น ‘น้ำปรุง’ หนึ่งในกลิ่นหอมที่ซึมลึกจนเป็นที่มาของคำว่า ‘หอมติดกระดาน’

ความหอมจากน้ำปรุงเป็นเอกลักษณ์อย่างไทยของสาวเจ้าชาววัง บอกได้เลยว่าน้ำหอมแบบไทยนั้นดีงามไม่แพ้ใคร และหอมนานติดทนกว่าน้ำอบที่ติดผิวเพียงระดับโคโลญจน์

ตำรับความหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของน้ำปรุงแบรนด์ ‘เย็นอุรา’ น้ำหอมฉบับสาวชาววัง สืบทอดสูตรกันมาถึง 4 รุ่น จากคุณหญิงผอบ ณ ถลาง นางข้าหลวงตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎปิยมหาราชปดิวรัดา (หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์) เป็นกลิ่นหอมแบบไทยจากธรรมชาติ แตะพรมตามเนื้อตัวเพียงเล็กน้อยก็ได้กลิ่นนุ่มนวลชวนหลงใหล ความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนในการกลั่นความหอมจากธรรมชาติสู่เครื่องแต่งตัวและร่างกาย เป็นเสน่ห์ที่หอมติดเนื้อจนต้องเหลียวหลังตามแน่นอน

เย็นอุรา, yen-u-ra, น้ำปรุง, น้ำหอม, โคโลญจน์, คุณหญิงผอบ ณ ถลาง, ไทย, ธรรมชาติ, เสน่ห์, หอม, ชาววัง, ดอกไม้

น้ำปรุงสูตรชาววังของ ‘เย็นอุรา’ มีกลิ่นดั้งเดิม ซึ่งเป็นตำหรับแท้เคียงกายสาวชาววัง ที่สกัดจากใบเนียมและดอกไม้มากถึง 13 ชนิด และยังมีกลิ่นพิเศษที่รังสรรค์มาจากดอกไม้นานาพรรณ เช่น ดอกส้ม ดอกมะลิ ดอกปีป ดอกกุหลาบเปอร์เซีย และปรับให้เหมาะสำหรับคนแพ้ง่ายคือปราศจากสารเคมีรุนแรง หากใครสนใจน้ำหอมแบบไทยที่คุณภาพล้นขวดก็ซื้อได้เลย

เย็น-อุ-รา (yen-u-ra)

น้ำปรุงตำรับคลาสสิก ขวดละ 580 บาท
ติดตามข่าวสารการออกร้านหรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่
Facebook |   เย็นอุรา / yen-u-ra
Instagram |  @ yen_u_ra
3

ร้อยมาลัยและทำเครื่องแขวนดอกไม้สดที่ HOMEiam Studio

เครื่องแขวนดอกไม้สด, workshop, HOMEiam Studio, ผู้หญิง, ชาววัง, อุบะ, รริน ภัทรพรไพศาล, วิทยาลัยในวังหญิง, กุลสตรี, ดอกไม้, เครื่องแขวนดอกไม้สด, workshop, HOMEiam Studio, ผู้หญิง, ชาววัง, อุบะ, รริน ภัทรพรไพศาล, วิทยาลัยในวังหญิง, กุลสตรี, ดอกไม้,

งานดอกไม้สดอยู่คู่กับชาววังมาอย่างยาวนาน ด้วยวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา ซึ่งเอื้อให้เกิดพิธีกรรมที่ใช้ดอกไม้เป็นส่วนสำคัญในพระราชพิธีต่างๆ แม้กระทั่งการใช้ประดับตกแต่ง เป็นของขวัญหรือของชำร่วย ไม่ว่าจะเป็นการทำเครื่องแขวน ร้อยมาลัย ทำพานพุ่ม ฉะนั้นสตรีชาววังจึงต้องเรียนรู้งานฝีมือในด้านนี้มิให้ขาดตกบกพร่อง

งานดอกไม้สดของสาวชาววังแตกต่างจากงานดอกไม้สดทั่วไป ด้วยขั้นตอนที่ละเอียดพิถีพิถัน อย่างการใช้ ‘อุบะทรงเครื่อง’ สำหรับมาลัยข้อพระกรและงานเครื่องแขวน ซึ่งมีกรรมวิธีที่แตกต่าง และอลังการกว่าอุบะทั่วไปที่เรียกว่า ‘อุบะพู่’

ส่วนการร้อยมาลัยข้อพระกรจะมีลวดลายและการตกแต่งที่สวยงามอลังการกว่า เช่น การใช้มาลัยแบนมาประดับ หรือใช้กลีบกุหลาบมาพับแล้วร้อยเข้าทีละกลีบแทนการใช้ดอกมะลิแบบมาลัยทั่วไปเครื่องแขวนดอกไม้สด, workshop, HOMEiam Studio, ผู้หญิง, ชาววัง, อุบะ, รริน ภัทรพรไพศาล, วิทยาลัยในวังหญิง, กุลสตรี, ดอกไม้,

มากกว่าทักษะงานฝีมือ งานดอกไม้ต้องอาศัยทั้งความอดทน ความละเอียด และการบริหารจัดการเวลาที่ดี เพราะแต่ละขั้นตอนล้วนใช้เวลานาน สวนทางกับข้อจำกัดเรื่องเวลาของดอกไม้สด ฉะนั้น หัวใจสำคัญของการทำงานฝีมือนี้คือความตั้งใจและการเอาชนะใจตัวเอง หากจะกล่าวว่า เป็นการเรียนรู้ปรัชญาชีวิตผ่านการร้อยดอกไม้ไปในตัวก็คงไม่ผิด

หากคุณอยากทำความรู้จักกับงานอันแสนประณีตและละเอียดอ่อนนี้ เราขอแนะนำ HOMEiam Studio โดย คุณเปิ้ล-รริน ภัทรพรไพศาล ช่างดอกไม้สด รุ่นที่ 23 จากวิทยาลัยในวังหญิงหรือโรงเรียนผู้ใหญ่พระตำหนักสวนกุหลาบ

จุดประสงค์หลักของคุณเปิ้ลคือการสืบสานงานดอกไม้สดแบบฉบับกุลสตรีชาววังที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน โดยทำให้งานดอกไม้สดแบบชาววังเป็นวิชาความรู้ที่เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะหลายคนอาจไม่มีเวลาและโอกาสเข้าไปศึกษากับวิทยาลัยในวังหญิงโดยตรง

คอร์สเรียนของที่นี่จะจัดลำดับขั้นตั้งแต่พื้นฐาน เริ่มจากการเลือกสรรพรรณดอกไม้ การเตรียมดอกไม้ กระทั่งว่าดอกไม้ชนิดนี้สามารถใช้ทำอะไรได้บ้างเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับงานดอกไม้อื่นๆ ได้ หรือหากมีเวลาน้อย ช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม จะมีกิจกรรมเวิร์กช็อปสั้นๆ ซึ่งสามารถติดตามได้ในเว็บไซต์ อินสตาแกรม หรือเพจเฟซบุ๊กของ HOMEiam Studio

เมื่อเรียนรู้เรื่องงานดอกไม้สดไทย นอกจากทักษะและปรัชญา เรายังสามารถทำเป็นของขวัญอย่างวันแม่ที่จะถึงนี้ หรืออาจใช้สำหรับบูชาพระ ใช้ประกอบพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ได้อีกด้วย

HOMEiam Studio

ที่อยู่ | 55/66 ถนนคลองลำเจียก แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
Facebook | HOMEiamStudio
Instagram | @homeiam_studio
Website | www.homeiamcooking.com
ติดต่อ | 0831186555
หากสนใจงานฝีมือและการทำอาหาร คุณเปิ้ลยังเขียนบล็อกเล่าเรื่องราวการเรียนในวิทยาลัยในวังหญิงรวมทั้งประสบการณ์ด้านอาหารและงานดอกไม้สดไว้ใน www.homeiam.com
4

เดินเล่นชมไม้ดัดและเขามอที่วัดคลองเตยใน

วัดคลองเตยใน, ไม้ประดับ, สวน, อยุธยา, จีน, ญี่ปุ่น, ไม้ดัด, ไทย, เขามอ, โบราณ วัดคลองเตยใน, ไม้ประดับ, สวน, อยุธยา, จีน, ญี่ปุ่น, ไม้ดัด, ไทย, เขามอ, โบราณ

เมื่อพูดถึงไม้ประดับหรือสวนกระถาง บอนไซ และสวนขวด คงเป็นหนึ่งในงานอดิเรกสุดฮิตและเป็นที่รู้จักของคนสมัยนี้ แต่หากย้อนเวลากลับไป ผู้คนในวังแม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ก็มีงานอดิเรกลักษณะนี้เช่นกัน เพียงแต่เป็นการทำไม้ดัดและเขามอประดับประดาในกระถางลายครามให้สาวชาววังได้เดินชม

เท้าความไปในสมัยอยุธยา ไม้ดัดเริ่มเข้ามาครั้งแรกโดยชาวต่างชาติทั้งจีนและญี่ปุ่น ซึ่งในสมัยนั้นติดต่อกับผู้คนในวังเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเห็นชาวจีนและญี่ปุ่นนำไม้ดัดมาประดับบ้านเรือน ก็เริ่มมีการเล่นไม้ดัดในไทย พัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นไม้ดัดไทย และได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

วัดคลองเตยใน, ไม้ประดับ, สวน, อยุธยา, จีน, ญี่ปุ่น, ไม้ดัด, ไทย, เขามอ, โบราณ

ซึ่งไม้ดัดมีทั้งหมด 9 แบบแตกต่างกันออกไป แต่แบบที่เราเห็นทั่วไปในปัจจุบันเรียกว่า ไม้ดัดญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แบบดังกล่าว ส่วนเขามอได้รับอิทธิพลจากจีนและญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน แต่เขามอของไทยจะแตกต่างออกไป เพราะไม่ได้ปลูกลงดินหรือจัดเป็นสวน แต่ใช้หินก้อนเล็กมาประติดประต่อกันจินตนาการเป็นรูปร่างต่างๆ แทน

ทั้งไม้ดัดและเขามอตามตำราแบบโบราณของไทยสมัยนี้เริ่มหาชมได้ยาก ซึ่งผู้สืบทอดในปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่คนเท่านั้น โดยหนึ่งในนั้นคือพระราชสิทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน แวะไปไหว้พระและชมสวนงดงามในกระถางที่นี่ได้เลย

วัดคลองเตยใน

ที่อยู่ | 472 ถนน ณ ระนอง แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
ติดต่อ | 022493364
5

คลายร้อนกับเมนูข้าวแช่ตำรับวังละโว้ ที่ ‘ร้านหลายรส’

ร้านหลายรส, วังละโว้, ข้าวแช่, ฤดูร้อน, สำรับชาววัง, พิมพร อิ่มประไพ, อุไร เกษมสุวรรณ, หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา, กะปิ, ร้านหลายรส, วังละโว้, ข้าวแช่, ฤดูร้อน, สำรับชาววัง, พิมพร อิ่มประไพ, อุไร เกษมสุวรรณ, หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา, กะปิ,

เมื่อฤดูร้อนมาถึง สาวชาววังจะเริ่มทำข้าวแช่ เมนูคลายร้อนแสนชื่นใจ แม้ว่าเดิมทีต้นตำรับข้าวแช่นั้นมาจากชาวมอญ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในสำรับชาววังก็มีการปรับสูตรข้าวแช่ใหม่ โดยเพิ่มพริกหยวกและหัวหอมยัดไส้ลงไปด้วย ซึ่งตำราข้าวแช่ของแต่ละวังจะมีสูตรและความพิเศษแตกต่างกันออกไป

ส่วนใหญ่แล้วสาวชาววังมักจะทำข้าวแช่เฉพาะช่วงฤดูร้อน ด้วยเหตุผลว่าวัตถุดิบบางอย่าง เช่น พริกหยวก จะมีมากในช่วงฤดูร้อน และข้าวแช่เป็นอาหารที่รับประทานแล้วเย็นชื่นใจ เหมาะกับหน้าร้อนมากกว่าหน้าหนาวและหน้าฝน ฉะนั้น การหาข้าวแช่รับประทานในฤดูกาลอื่นจึงกลายเป็นเรื่องยาก

แต่หากใครอยากรับประทานข้าวแช่ตำรับชาววังที่พร้อมเสิร์ฟตลอดทั้งปี เราขอแนะนำให้รู้จักกับ ‘ร้านหลายรส’ กับข้าวแช่ตำรับวังละโว้ สูตรที่ คุณโด่ง-พิมพร อิ่มประไพ เจ้าของร้านคนปัจจุบัน สืบทอดมาจากคุณแม่ คือ คุณอุไร เกษมสุวรรณ ผู้ทำอาหารในห้องต้นเครื่องของวังละโว้ และเป็นน้องสาวของ หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา ซึ่งเป็นชายาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือพระองค์ชายเล็ก

ร้านหลายรส, วังละโว้, ข้าวแช่, ฤดูร้อน, สำรับชาววัง, พิมพร อิ่มประไพ, อุไร เกษมสุวรรณ, หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา, กะปิ,

จุดเด่นของข้าวแช่ตำหรับวังละโว้คือกะปิสดที่ไม่ได้ผ่านการกวน แต่นำกะปิมาปรุงกับเครื่องสมุนไพรต่างๆ ทั้งตะไคร้ หอมแดง กระชาย และปลาป่น ตำในครก ก่อนจะเอากะปิที่แห้งหมาดๆ นั้นมาปั้นเป็นก้อนไปตากลม แล้วนำไปชุบไข่ทอด

แค่กะปิก็ใช้เวลานานโข แต่ในจานนั้นยังมีทั้งพริกหยวกยัดไส้หมูและกุ้ง หัวหอมแดงแกะเปลือกยัดไส้ปลาแห้ง หัวไชโป๊วผัดไข่ เนื้อฝอย และสิ่งที่คุณโด่งเพิ่มจากตำหรับชาววังคือปลาหวานที่รสชาติกลมกล่อม โดยตัดรสหวานและเค็มของจานนี้ด้วยผักและผลไม้แกะสลัก ทั้งมะม่วง แตงกวา กระชาย หอม พริก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนใช้เวลา ความละเอียดและพิถีพิถันมาก

ไม่เพียงเครื่องเคียงที่ละเอียดลออหลายขั้นตอน เพราะข้าวแช่ก็ละเอียดประณีตไม่แพ้กัน โดยจะหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ก่อนจะนำมาขัดให้ยางออก เพื่อไม่ให้น้ำขุ่นแบบข้าวต้ม แล้วนำข้าวที่ยังไม่สุกดีไปนึ่งอีกครั้ง โดยน้ำที่ใช้นึ่งก็ต้องเป็นน้ำลอยดอกมะลิ ส่วนน้ำที่ใช้รับประทานกับข้าวแช่นั้นจะทำแยกออกมาอบควันเทียน ใส่มะลิ กลีบกุหลาบ และกระดังงาลนไฟ เพื่อให้มีกลิ่นหอมชื่นใจ เสิร์ฟพร้อมกับน้ำแข็ง โรยกลีบดอกไม้

วิธีการรับประทาน แนะนำให้ทานทีละอย่างโดยไม่ผสมกัน เพื่อให้ได้อรรถรสและรับรสชาติของเครื่องเคียง รวมทั้งกลิ่นหอมของข้าวแช่ได้อย่างเต็มที่ เมื่อได้รับประทานข้าวแช่ชาววังจึงได้ทั้งความชื่นตาและชื่นใจ หากเทียบขั้นตอนอันพิถีพิถันทั้งหมดกับราคาชุดละ 280 บาท นั้นนับว่าคุ้มค่าเกินราคาเลยทีเดียว

นอกจากข้าวแช่แล้วที่นี่ยังมีอาหารไทยหลายเมนูทั้งคาวหวานต้นตำหรับชาววัง เช่น ข้าวอบสับปะรดเสวย และน้ำสมุนไพรเย็นชื่นใจเลือกสรรวัตถุดิบมาอย่างดีอีกด้วย

ร้านอาหาร ‘หลายรส’

ที่อยู่ | ซอยสุขุมวิท 49 (ตรงข้ามโรงพยาบาลสมิติเวช) กรุงเทพฯ
เวลาทำการ | 10.30 – 21.00 น.
ติดต่อ | 023913193
6

แวะซื้อใบชาที่ห้างใบชาอ๋องอิวกี่ที่แยกสี่กั๊กเสาชิงช้า

ห้างใบชาอ๋องอิวกี่, เสาชิงช้า, ถนนเขื่อนขัณฑ์นิเวศน์, จีน, ร้าน, นพพร ภาสะพงศ์, ชา, พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ห้างใบชาอ๋องอิวกี่, เสาชิงช้า, ถนนเขื่อนขัณฑ์นิเวศน์, จีน, ร้าน, นพพร ภาสะพงศ์, ชา, พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

สมัยก่อนแหล่งช้อปปิ้งสำคัญของสาวชาววังคือบริเวณถนนเขื่อนขัณฑ์นิเวศน์ ซึ่งยังอยู่ภายในเขตพระบรมมหาราชวัง ส่วนภายนอกเริ่มมีพ่อค้าจากต่างประเทศมาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปิดห้างร้านต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าจากประเทศของตน

โดยเฉพาะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหนึ่งในห้างร้านที่มีชื่อเสียงและเปิดมาจนถึงปัจจุบันคือ ‘ห้างใบชาอ๋องอิวกี่’ โดยชาทั้งหมดนั้นนำมาจากประเทศจีน เข้ามาจำหน่ายครั้งแรกปลายสมัยรัชกาลที่ 5

แต่เนื่องจากธรรมเนียมอันเคร่งครัดทำให้การขออนุญาตออกมาเดินเลือกซื้อสินค้านอกเขตพระราชวังเป็นเรื่องยาก ห้างร้านต่างๆ จึงพยายามส่งตัวอย่างหรือแบบสินค้าเข้าไปให้เลือกสรร หรือหากเจ้านายจะเสด็จฯ ออกมาเลือกซื้อข้าวของ สาวชาววังจึงจะสามารถขอติดตามออกมาข้างนอกด้วยได้ ซึ่ง คุณนพพร ภาสะพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของห้างใบชาอ๋องอิวกี่เล่าว่า

ห้างใบชาอ๋องอิวกี่, เสาชิงช้า, ถนนเขื่อนขัณฑ์นิเวศน์, จีน, ร้าน, นพพร ภาสะพงศ์, ชา, พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

“คุณป้าตอนเด็กๆ เคยเห็นสาวชาววังนั่งรถม้าออกมาถึงหน้าร้าน ส่วนวังที่ไกลก็จะพายเรือมาตามคลอง ลงมาซื้อชา พอซื้อของเสร็จกลับไป บ้านยังหอมอยู่เลย เพราะเสื้อผ้าก็อบร่ำมา”

ใบชาของที่นี่นอกจากจะเป็นสินค้าต่างประเทศที่ยอดนิยมสำหรับสาวชาววังในสมัยก่อนแล้ว ยังเป็นสินค้าที่ส่งเข้าไปในวังตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นใบชาห่อกระดาษ จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นภาชนะกระป๋องหรือแบบกล่องอย่างที่เราเห็นกันทั่วไป ซึ่งปัจจุบันห้างใบชาอ๋องอิวกี่ยังคงส่งใบชาจากเมืองจีนเหล่านี้ไปที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานอีกด้วย

ห้างใบชาอ๋องอิวกี่

ที่อยู่ |  63 ถนนบำรุงเมือง แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เวลาทำการ | 08.00 – 17.00 น.
Facebook | Ong Tea By Bee
ติอต่อ | 022221748
7

ผ่อนคลายสบายอารมณ์กับการนวดแบบราชสำนักที่ ‘ธรรมานามัยคลินิก’

สาวชาววัง สาวชาววัง

ตะลอนตามรอยชาววังกันมาทั้งวัน เราจึงอยากพาคุณมาหยุดพักกายสบายใจที่ “ธรรมานามัยคลินิก” คลินิกที่ใช้การนวดเพื่อรักษาและส่งเสริมสุขภาพ โดยนวดแบบราชสำนักคือเป็นศาสตร์การนวดแบบสุภาพตามธรรมเนียม เน้นการกดจุดด้วยมือ ไม่ใช้ศอก เข่า หรือแม้กระทั่งการหันปลายเท้าไปทางศีรษะของคนที่ถูกนวด ซึ่งแตกต่างจากการนวดทั่วไปที่เรียกว่า การนวดแบบเชลยศักดิ์

ที่นี่นำการนวดแบบราชสำนักมาปรับใช้กับการรักษา โดยวัดความดันและประเมิน สอบถามอาการและซักประวัติอาการเจ็บป่วย ก่อนนวดแบบแพทย์แผนไทย ส่วนเตียงสำหรับการนวดแบบราชสำนัก เดิมต้องเป็นเตียงวางราบบนพื้น ส่วนผู้นวดจะนั่งพับเพียบ แต่เนื่องจากต้องปรับให้เหมาะกับการรักษาจึงเปลี่ยนมาใช้เตียงทั่วไปแทน

ข้อดีของการนวดแบบสำนัก คือ เมื่อใช้มือนวดทำให้สามารถตรวจร่างกายไปด้วยได้ ทำให้ทราบอาการและรักษาได้อย่างตรงจุด เมื่อเริ่มหายดี คุณหมอก็ยังมีท่าออกกำลังกายที่เน้นภูมิปัญญาไทย เช่น ฤๅษีดัดตน โยคะ ให้กลับไปทำที่บ้านโดยสอดแทรกเรื่องสมาธิเข้าไป เพื่อรักษาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ แต่หากไม่มีอาการใดที่ต้องรักษาก็จะแนะนำให้นวดเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ซึ่งที่นี่รักษาโดยแพทย์แผนไทยเฉพาะทาง ในบรรยากาศผ่อนคลายคลอเสียงเพลงและกลิ่นหอมแบบไทยๆ ซึ่งก่อนนวดมีน้ำหมักผลไม้เย็นๆให้ดื่ม และปิดท้ายด้วยการรับประทานของว่างและจิบชาขิงร้อนๆ เพื่อสุขภาพหลังการนวดอีกด้วย

สาวชาววัง

ธรรมานามัยคลินิก

ที่อยู่ | เลขที่ 1 ซอยพหลโยธิน 3 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
เวลาทำการ | 10.00 – 21.00 น. (ควรนัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ)
ติดต่อ | 020406400

8

ยกสำรับสูตรชาววังจาก ‘ห้องอาหารแก้วเจ้าจอม’

สาวชาววัง สาวชาววัง

เสน่ห์สำรับฉบับชาววังไม่ใช่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามน่ารับประทาน แต่หัวใจสำคัญคือความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน รวมทั้งเรื่องราวที่ร้อยเรียงรังสรรค์แต่ละเมนูออกมา

เรามุ่งตรงไปที่ห้องอาหารแก้วเจ้าจอม ซึ่งตั้งอยู่ในโรงแรมสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันไปไกลว่า หากอยากลิ้มรสเมนูอาหารสูตรชาววังแท้ต้องมาที่นี่ ซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ผู้ดูแลงานห้องเครื่องต้นของเสวย และยังทรงมีพระอัจฉริยภาพแบบฉบับสาวชาววัง คิดค้นสูตรอาหารใหม่ตำรับชาววัง

เมนูที่แรกที่เราอยากแนะนำคือ ‘ยำไก่อย่างเต่า’ ซึ่งมีที่มาจากการได้รับบรรณาการเนื้อสัตว์อย่างหนึ่ง ซึ่งคาดว่าเป็นเนื้อตะพาบหรือเนื้อเต่า โดยนำมายำดับกลิ่นคาว เมื่อมีการโปรดให้ยำเช่นนี้อีก จึงดัดแปลงมาใช้เนื้อไก่แทน ซึ่งแม้จะฟังดูเป็นเมนูง่ายๆ สามารถทำตามได้ไม่ยาก แต่ต้องบอกเลยว่า สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารชาววังคือการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี มีความละเมียดละไม และประณีตทุกขั้นตอนตั้งแต่การปรุงจนถึงการรับประทาน           

จากหนังสือหอมติดกระดานตอนหนึ่งกล่าวว่า “…ชาววังมิใช่รู้จักแต่ประดิดประดอยอาหารให้สวยงามน่ารับประทานเพียงอย่างเดียว ยังเชี่ยวชาญในการดัดแปลงอาหารจากอย่างหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง โดยคำนึงถึงหลักประหยัด…”

สาวชาววัง

เมนูดังกล่าวคือ ‘แกงรัญจวน’ ซึ่งเป็นการนำน้ำพริกกะปิและเนื้อที่เหลือจากผัดพริก มาต้มในน้ำซุป ใส่เครื่องปรุงต่ออีกนิด ตบท้ายด้วยสมุนไพร จึงได้เป็นเมนูใหม่ที่มีกลิ่นหอมรัญจวนสมชื่อ หากใครสนใจที่จะลิ้มลองกับข้าวตำรับชาววัง พร้อมเดินชมสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามใกล้เคียงกับในอดีต ก็สามารถเข้ามาได้ที่ห้องอาหารแก้วเจ้าจอม โรงแรมสวนสุนันทาแห่งนี้ หรือเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในวันที่ 7 – 11 พฤศจิกายน 2561

ห้องอาหารแก้วเจ้าจอม

ที่อยู่ | โรงแรมสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เขตดุสิต กรุงเทพฯ
เวลาทำการ | 10.30 – 22.00 น. (แนะนำให้จองโต๊ะล่วงหน้า)
ติดต่อ | 022430574

Writers

Avatar

ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

มนุษย์ที่กำลังเติบโตในทุกๆ ด้าน ยกเว้นความสูง ชอบเดินเป็นงานอดิเรก หลงรักเสียงเพลงและเป็นแฟนหนังสือมูราคามิ

Avatar

โยษิตา ชัยชนะ

สาวใต้จากภูเก็ต นักศึกษาฝึกงานตำแหน่งอีเว้นท์ที่อยากลองงานเขียน เพราะรักการอ่าน ชอบทะเลและเสียงคลื่นที่บ้านพอๆ กับที่ชอบสีชมพู

Photographer

Avatar

นัทธมน แก้วแป้นผา

เด็กภาพยนตร์ที่ชอบการถ่ายภาพมากกว่าดูหนัง