“ตอนแรกเราเข้าใจว่าเราไม่มีวัฒนธรรม เพราะเราไม่ใช่เมืองหลวง ไม่เคยเป็นราชธานี แต่ในช่วงหลายปีมานี้มันมีกระแสหวนหาอดีต ภูเก็ตเป็นเมืองแรกๆ ที่หันกลับไปมองว่าตึกรามบ้านช่อง อาหาร และสิ่งที่เรามีอยู่แล้วนั่นแหละคือวัฒนธรรมของเรา จริงๆ ภูเก็ตแตกต่างจังหวัดอื่นโดยสิ้นเชิง อาหารก็คล้ายทางปีนัง กระเถิบไปอีกสองสามจังหวัดเราจะไม่ค่อยเจออะไรแบบนี้แล้ว

“ถึงภูเก็ตอ่อนแอเรื่องศิลปะ เราไม่มี art college ไม่มีหอศิลป์ แต่ความแข็งแรงของวัฒนธรรมภูเก็ตสะท้อนผ่านอาหารการกิน”

ตี่-วีระชัย ปรานวีระไพบูลย์ สถาปนิก นักธุรกิจ และสมาชิกกลุ่ม So Phuket อธิบายไอเดียเบื้องหลังโครงการ F. A.T. Phuket (Food Art Old Town) ที่แต่งเติมผนังย่านเมืองเก่าด้วยกราฟฟิตี้สีสันสดใส ในปี 2015 ภูเก็ตเพิ่งได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ Creative City of Gastronomy จากยูเนสโก ชาว So Phuket เลยจับจุดแข็งเรื่องการกินที่ผูกพันกับวิถีคนภูเก็ต 12 หมวดมาเป็นโจทย์ให้ศิลปินเพ้นต์กำแพงเป็นอาหารตา ลวดลายมีชีวิตชีวาบอกใบ้อาหารจานเด็ด 88 รายการให้ผู้คนแกะรอยความอร่อยของไข่มุกอันดามัน

ไปภูเก็ตครั้งหน้า อย่ามองหาภาพสตรีทอาร์ตเพียงอย่างเดียว เรารวมเมนูห้ามพลาดจากแต่ละหมวดมาไว้ที่นี่แล้ว

1.เจอเต่าแดง กินเต่าแดง

ณ ปากซอยรมณีย์ ถนนถลาง น้องมาร์ดี เด็ก 3 ตาของ Alex Face กลายร่างเป็นเต่าแดงตัวใหญ่ ที่แขนขาเขียนว่าแก้ว แหวน เงิน ทอง พร้อมหางลายสมหวัง ภาพนี้มาจากความเชื่อเรื่องเทศกาลพ้อต่อหรือ Hungry Ghost Festival ที่วิญญาณคนตายจะออกมาเที่ยวบนโลกมนุษย์ ชาวบ้านจะแขวนโคมเพื่อนำทางดวงวิญญาณ และตั้งโต๊ะเซ่นอาหารเซ่นไหว้พร้อมขนมอังกู๊โก้ย หรือขนมเต่าทาสีแดง ในช่วงเทศกาลเดือน 7 ตามปฏิทินจีน ช่วงนั้นจะหาเต่าตัวใหญ่ทานได้ฟรี แต่ถ้าอยากลองชิมเต่าแดงเพื่อสิริมงคลนอกเทศกาล ก็หาซื้อขนมถั่วเขียวรูปเต่าตัวเล็กๆ รสหวานนุ่มนวลได้ในตลาดเช้าตลอดทั้งปี แนะนำว่าควรตื่นเช้าไปลอง เพราะในตลาดยังมีของกินสนุกๆ อีกเพียบ

2. ชมนก กินนก

รักกิจ ควรหาเวช ศิลปินสไตล์ Geometric ซ่อนสีสันและรูปทรงของขนมเด็ก 12 อย่างไว้ในภาพนกตัวใหญ่ที่ถนนถลาง ขนมที่กินหลังเลิกเรียนและขนมโบราณต่างๆ ของภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำวัยเด็ก เช่น ก้องทึ๋ง (ขนมตุ๊บตั๊บ) ซิต่าวซ้อ (ขนมหน้าแตก) ขนมปลา ของอร่อยเหล่านี้ส่วนใหญ่หาซื้อได้ที่ร้านอาตั๊กแก ถนนดีบุก หรือร้านเค่งติ๊น ย่านบางเหนียว เราขอแนะนำขนมนก ขนมปังกรอบรูปนกจากร้านเค่งติ๊น วิธีกินให้อร่อยต้องจับนกจุ่มในช็อกโกแลตร้อนก่อนส่งเข้าปาก รสหวานมันกับความกรอบจะกลมกล่อมเข้ากันดีเป็นที่สุด

3. กินเจสู้เสือ

อีกภาพของรักกิจอยู่ที่หน้าโรงแรมสินทวี ถนนพังงา เป็นภาพหน้าเสือขนาดใหญ่ สีสันของพยัคฆ์สุดเท่นี้มาจากเทศกาลกินเจอันโด่งดังของภูเก็ต ในภาพซ่อนตะเกียง ประทัด กล่องไม้ขีด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถือศีลกินผัก ใครอยากทานอาหารมังสวิรัติ แนะนำให้ไปถนนระนองที่มีร้านอาหารเจเรียงราย ขอแนะนำผัดหมี่เจร้านเจี๊ยะฉ่าย รสชาติดีและราคาเป็นมิตร หรือจะลองเมนูอื่นๆ เช่น จับฉ่าย หรืออาจาด (ยำแตงกวาใส่เห็ดหูหนูกับผงกะหรี่) ก็ดีงามไม่แพ้กัน ที่สำคัญควรไปถนนระนองช่วงเช้าหรือกลางวันเพราะอาหารหมดเร็ว

4. เดินตลาดเช้า เข้าร้านเสี่ยวโบ๋ย

ตลาดดาวทาวน์มีทั้งของสด อาหาร และสิ่งของต่างๆ ขายจนคึกคักตลอดวัน ลองเลี้ยวเข้าไปถามหาภาพเด็กเข็นรถเข็น ทุกคนจะชี้ไปที่กำแพงรูปน้องมาร์ดีสวมชุดย่าหยาสีชมพู สะท้อนวิถีตลาดเช้าหรือบ่านซ้านของเมืองตื่นเช้า งานนี้จะเลือกกินข้าวต้มฮกเกี้ยน โรตีแกง หรือข้าวยำ ก็เหมาะสมตามธรรมเนียม แต่เราเลือกพุ่งไปร้านจ่วนเฮี้ยง ร้านเก่าแก่ที่ขายเสี่ยวโบ๋ยหรือติ่มซำมาเกือบร้อยปี ทีเด็ดอยู่ตรงขนมจีบ ฮะเก๋าร้อนๆ หอมนุ่ม และน้ำจิ้มปรุงเองที่นัวอร่อยเหนือจิ๊กโฉ่วธรรมดา มี 2 สาขาที่ถนนพูนผลและถนนชนะเจริญ ถ้าอยากกินก็ต้องตื่นเช้าเช่นเคย เพราะร้านจะเปิดแค่ 6 โมงเช้า – 11 โมงเท่านั้น

5. กินเปาะเปี๊ยะยามบ่าย ทักทายฝูงสัตว์

มื้อสำคัญมากของชาวภูเก็ตคือมื้อบ่าย เพราะเป็นเวลาชุมนุมสภากาแฟหรือสภาโกปี๊ เหนือเครื่องดื่มและจานอาหารคาวหวานสารพัดคือบทสนทนากระชับความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโอ้เอ๋ว อาวโป้ ตูโบ้ หรือฉิ้งฉ้างทอด P7 ซ่อนสีและสัญลักษณ์ของมื้อบ่ายในลำตัวฉูดฉาดของเสือตัวนี้ ไปมองหาพี่เสือได้ที่ทางเข้าลานจอดรถโรงแรมสินทวี ถนนพังงา แล้วอย่าลืมไปชิมเปาะเปี๊ยะสด จานฮกเกี้ยนคลาสสิกประจำมื้อบ่ายมารับประทาน เราได้ชิมแป้งนุ่มๆ ไส้มันแกวผัดราสซอสกลมกล่อมนี้หน้าโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว อร่อยประทับใจ แต่สายข่าวแนะนำให้ไปชิมอีกเจ้าที่ตลาดใต้ต้นฉำฉาด้วย เพราะนอกจากปอเปี๊ยะรสชาติเด็ดขาด แถวนั้นยังมีร้านอาหารพื้นเมืองอีกมากมาย

6. ดูนกปิกนิกเล่นน้ำ ตามไปโซ้ยก๋วยเตี๋ยวกุ้ย

เจ้านกตาโตที่จับเชือกตามเต่าลงทะเลเป็นผลงานของ ‘มือบอน’ (ไม่ได้ว่า เขาใช้ฉายานี้จริงๆ) บอกเล่ากิจกรรมเดินเต่าของชาวภูเก็ตบนฝาผนังร้านจี๊ดราดหน้ายอดผัก ซอยโรงแรมเพ้งหมินเก่า ถนนพังงา โดยสมัยก่อนชาวบ้านจะออกไปปิกนิกเล่นน้ำที่ชายหาด เฝ้าดูเต่าวางไข่เวลากลางคืน และบางครั้งก็เก็บไข่เต่ามากินหรือมาขาย สมัยนี้ไม่มีกิจกรรมนี้แล้วเพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลง แต่อาหารห่อไปปิกนิกยังคงอยู่ ไม่ว่าจะผัดไทย หมี่หุ้น หรือก๋วยเตี๋ยวกุ้ย จานเส้นผัดซอสกับถั่วงอกและเต้าหู้ ขอย้ำตรงนี้ว่าต้องไปกินที่ร้านกิมแจ้ ถนนพูนผล ซอย 9 เพราะร้านเก่าแก่นี้นอกจากผัดแบบออริจินัลอร่อย ยังมีจานพลิกแพลงใส่เนื้อสัตว์ และห่อหมกกับเกี้ยนทอดที่อร่อยจนลืมไม่ลงด้วย

7. เปิดครัวบ้านป้า กินปลาทอดเครื่อง

บนผนังตึกร้านซินเซ่งหลอง หัวถนนพังงา มีคุณป้าหน้าตาใจดีนั่งอยู่ที่โต๊ะกับข้าว งานเพนต์แบบ realistic นี้เป็นของ พิชิต ไปแดน สังเกตได้ว่าคุณป้าแต่งตัวแบบย่าหยา สวมเสื้อลูกไม้ติดกระดุมผ่าหน้า นุ่งผ้าปาเต๊ะ และท่าทางจะทำกับข้าวอร่อย ครัวในบ้านของภูเก็ตมีจานเด็ดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมูฮ้อง หอยพงผัดขิง น้ำชุบคั่ว แกงตูหมี้ แต่งานนี้เราขอแนะนำปลาทอดเครื่องจากร้านข้าวแกงโกฮวดที่ถนนวิชิตสงคราม ดูภายนอกร้านนี้หน้าตาธรรมดา แต่รสชาติแต่ละจานบอกเลยว่าเข้าขั้นจอมยุทธ์ ตักเข้าปากแล้วได้กำซาบความเป็นภูเก็ตอย่างแท้จริง ควรเก็บร้านนี้เป็นมื้อกลางวัน เพราะเขาเปิดแค่ 8 โมง – บ่าย 3 ก่อนสั่งอย่าลืมถามว่าวันนี้ได้วัตถุดิบอะไรมา แล้วเลือกความอร่อยตามหน้างาน

8. เห็นลุงผัดโอต๊าว เลยตามไปกินเจ้าอร่อย

ผลงานอีกภาพของ พิชิต ไปแดน อยู่ข้างๆ คุณป้าในครัวที่ถนนพังงา ภาพคุณลุงผัดโอต๊าวสะท้อนวัฒนธรรมอาหารรถเข็นแผงลอยที่รสเด็ดเทียบชั้นจานเหลา โอต๊าวคือหอยนางรมทอดใส่เผือกที่ใช้แป้งเหนียวนุ่ม คนละสูตรกับหอยทอดภาคกลาง แต่ความดีงามมีมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จานนี้ขอแนะนำร้านรถเข็นหน้าโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว เคี้ยวแล้วมีความสุขจนบรรยายสรรพคุณไม่ถูก

9. เฮงรับตรุษจีน กินขนมฮวดโก้ย

สัตว์สีขาวดำตัวยาวของโลเลบนผนังตึกร้านสินดี ปากซอยโรงแรมเพ้งหมินเก่า ถนนพังงา คือสิงโตเหนียน สัตว์ประหลาดดุร้ายในตำนานของจีนที่กลัวเสียงดัง แสงสว่าง และของสีแดง เทศกาลตรุษจีนจึงต้องติดโคม จุดประทัด ใช้ของสีแดงต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองการปราบปิศาจและต้อนรับปีใหม่ รวมถึงกินของอร่อยประจำตรุษจีน เช่น ลักฉ่าย (ผักแห้ง 6 อย่าง) ขนมเข่ง ขนมรา ขนมท่อนไต้ และขนมฮวดโก้ยหรือขนมถ้วยฟูที่มีความหมายดี เป็นสิริมงคล นอกเทศกาลก็หาซื้อมากินเพิ่มโชคลาภความเฟื่องฟูได้ที่ตลาดเช้า

10. ไหว้เทวดา ตามหาเตเหลี่ยว

ภาพหุ่น 3 ตัวนี้อยู่ตรงทางเข้าศาลเจ้าแสงธรรม ถนนพังงา เป็นฝีมือศิลปินชาวรัสเซีย Ludmila Letnikova เล่าเรื่องหุ่นกาเหล้ที่นิยมเล่นหลังตรุษจีน 9 วัน เพื่อไหว้บูชาเทวดา เป็นมหรสพหุ่นที่มีตัวแสดง 3 ตัว คือ เซ่งกั่งเอี๋ย ผู้รับราชโองการจากสวรรค์ ใบหน้าสีแดง หุ่นจอหงวน หน้าตาหล่อเหลา และฮูหยินส้อหยกหลาน ผู้เป็นตัวแทนร้องเพลงบูชา สิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานนี้คืออาหารเซ่นไหว้เทวดา เช่น อ้อย เจดีย์น้ำตาล ผลไม้ต่างๆ และเตเหลี่ยว หรือที่คนไทยเรียกว่าขนมจันอับ มีทั้งขนมถั่วตัด งาตัด ข้าวพอง ลองซื้อจากร้านเค่งติ๊น หรือร้านขนมพื้นเมืองอื่นๆ แล้วมากินคู่กับชาจีนร้อนๆ รับรองว่าอร่อยเข้ากันแน่นอน 

11. มองบ้านบ้าบ๋า คว้ากะละแมเข้าปาก

ลวดลายแบบชิโน-โปรตุกีสที่ต่อกันเป็นทรงบ้านนี้เป็นผลงานของ BeerPitch บนผนังทางเข้าลานจอดรถโรงแรมสินทวี ถนนพังงา สื่อถึงความสุขและงานวิวาห์แบบบ้าบ๋าที่ใช้ขนมหวาน 12 อย่างในงาน เช่น ขนมเทียน ขนมชั้น ขนมบูหลู และที่ขาดไม่ได้คือกะละแมหรือกันแมเหนียวหนุบหนับ สื่อถึงความรักของหนุ่มสาวที่หวานชื่น แน่นเหนียว ยืนนาน ถ้าอยากให้ความรักแน่นแฟ้นตามความเชื่อ ก็หาซื้อขนมหวานหอมนี้ได้จากร้านอาตั๊กแก ถนนดีบุก และในตลาดเช้า

12. ฉลองการเกิดด้วยอิ่วปึ่ง

ปิดท้ายด้วยเทศกาลการกำเนิดซึ่งเคยเป็นภาพแรกของโครงการ F.A.T. Phuket แต่ปัจจุบันภาพน้องมาร์ดีบนกำแพงธนาคารชาร์เตอร์เก่าหรือพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์บนถนนพังงา ถูกลบไปแล้ว หลังชาวเมืองแสดงความเห็นว่าไม่เหมาะสม ในภาพน้องมาร์ดีถือเสี่ยหนาหรือปิ่นโตจีน ตามประเพณีการคลอดลูกของชาวจีนภูเก็ต เมื่อเด็กอายุครบ 1 เดือน พ่อแม่จะทำอิ่วปึ่ง หรือข้าวเหนียวผัดแบบฮกเกี้ยน ใส่กุ้งแห้งฝอย โรยหมูแดง หอมเจียว ห่อใบไผ่ ตบท้ายด้วยไข่ย้อมสีแดง ไปแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องเพื่อส่งข่าวการเกิด แล้วคนอื่นๆ จะใส่ข้าวสาร ไข่ดิบ เงินก้นถุงหรือทองใส่เสี่ยหนาคืนให้ครอบครัวที่เพิ่งมีสมาชิกใหม่ ปัจจุบันแม้ไม่ได้ปิ่นโตก็หาอิ่วปึ่งกินได้ในภูเก็ต ทั้งในตลาดเช้าและร้านขนมพื้นเมืองทั่วไป

ภาพ: So Phuket 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล