19 มิถุนายน 2020
17 K

กาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ความเร่งรีบของวิถีชีวิตคนเมืองทำให้พื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ค่อยๆ ถูกกระแสการพัฒนาบังคับให้ต้องปรับตัวและวิ่งให้ทันเวลาที่กำลังเดินหน้า รวมถึงย่านเมืองเก่าด้วยเช่นกัน

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

‘หลานหลวง ลูกหลวง และนางเลิ้ง’ ชื่อเหล่านี้คงคุ้นหูแต่อาจไม่คุ้นเคยกับใครหลายคน ถนนและชุมชนเก่าแก่ย่านนี้เป็น Buffer Zone หรือพื้นที่กันชนระหว่างเขตเมืองเก่าพระนครที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวกับกรุงเทพฯ ชั้นในที่เป็นเขตเศรษฐกิจทันสมัย บริเวณนี้ยังคงเอกลักษณ์อบอุ่นน่ารักดั้งเดิม ขณะกำลังเติบโตรุดหน้าไปเรื่อยๆ ในจังหวะที่ไม่เร็วจนน่าใจหาย เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของวิถีชีวิตกรุงเทพฯ ที่มีสีสัน แต่ไม่ปรุงแต่งหรือพลุกพล่านด้วยนักท่องเที่ยวจนเกินไป 

 เราอยากชวนไปเดินเรียนรู้สถานที่เก่า 10 แห่งที่ยังเก็บสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความทรงจำของชุมชนไว้ ไม่ว่าจะเป็นร้านรวง พิพิธภัณฑ์ วัดญวน ตลาด และบ้านของเหล่าศิลปินแขนงต่างๆ ซึ่งยังเก็บเสน่ห์เก่าแก่ของกรุงเทพฯ ไว้เข้มข้นครบถ้วน 

ลองเดินเล่นเลียบถนนในย่านโบราณ พูดคุยกับผู้คน และอุดหนุนข้าวของท้องถิ่นต่างๆ แล้วจะรู้ว่าชีวิตชีวาของนางเลิ้ง มาจากจิตวิญญาณเก่าแก่ของผู้คนที่ผูกพันกับย่านนี้ตลอดมา

01 

สะพานเทวกรรมรังรักษ์

ประตูสู่ย่านนางเลิ้ง

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

เริ่มต้นด้วยการข้ามสะพานเทวกรรมรังรักษ์ หนึ่งในเส้นทางสัญจรชื่อเพราะที่ได้รับพระราชทานนามให้พ้องคล้องกัน อันหมายความถึงสะพานที่สร้างโดยเทวดาจำนวน 5 องค์ ตลอดแนวคลองผดุงกรุงเกษม คลองรอบกรุงที่ขุดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนตัวสะพานสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2443 เนื่องในโอกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 47 พรรษา ดังที่มีคำจารึกไว้บนสะพานถึงจุดประสงค์ของการสร้างสะพานแห่งนี้ ถึงแม้สะพานได้ปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2517 แต่ก็ยังคงทำหน้าที่เดิม คือเป็นประตูสู่ย่านนางเลิ้งเหมือนเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว

02 

วัดสมณานัมบริหาร

วัดอนัมนิกายศูนย์รวมใจชุมชนญวน สะพานขาว

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง
10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ริมคลองผดุงกรุงเกษม บนถนนลูกหลวง มีวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ หากมองเข้าไปแวบแรกจะเห็นอาคารมีหน้าบันประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันสวยงาม มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่ต่างอะไรกับวัดไทย แต่มองอีกทีก็คล้ายกับวัดจีน เพราะหลังคาชั้นรองลงมาประดับด้วยกระเบื้องและเครื่องตกแต่งแบบศิลปะจีน อันที่จริงแล้วอาคารศิลปะลูกผสมไทย-จีนนี้คืออุโบสถของวัดญวน สะพานขาว วัดในอนัมนิกายซึ่งเป็นพุทธศาสนานิกายมหายานที่นับถือกันในหมู่คนเวียดนาม

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ศูนย์รวมใจของชุมชนชาวญวนอพยพที่สร้างมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ‘วัดสมณานัมบริหาร’ ดังปรากฏหลักฐานจากหน้าบันที่ประดับตราพระราชลัญจกรจุลมงกุฎ รวมถึงผ้าทิพย์ด้านล่างและป้ายด้านหน้าอุโบสถว่า ‘ทรงพระราชทานนาม วัดสมณานัมบริหาร’ เป็นตัวบ่งบอกความสำคัญของวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากอุโบสถแล้ว ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น เจดีย์ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทด้านหลังอุโบสถ ที่บริเวณรอบทางขึ้น ใช้บรรจุอัฐิของชาวญวนในชุมชนสะพานขาว ที่ว่ากันว่าอพยพมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น หรือผู้ที่สนใจเรื่องวิถีท้องถิ่น ชุมชนรอบๆ วัดมีบ้านทำกระดาษกงเต็กที่ฝีมือไม่ธรรมดา เพราะนำไปใช้ในงานกงเต็กหลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และรัชกาลที่ 9 ใครเคยไปเยี่ยมทั้งวัดจีนและวัดไทยแล้ว ลองมาทำความรู้จักวัดญวนบ้างก็น่าสนใจไม่น้อย

416 ถนนลูกหลวง แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 05.00 – 16.00 น.

03 

ตลาดนางเลิ้ง

ตลาดบกแห่งแรกของไทย

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง
10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ตลาดเก่าแก่ที่เติบโตขึ้นพร้อมกับการขยายเมือง เมื่อตัดถนนนครสวรรค์ (เดิมชื่อว่าถนนตลาด เพราะเป็นที่ตั้งของตลาดนางเลิ้งแห่งนี้) ทำให้เริ่มมีการย้ายสถานที่ค้าขายจากตลาดน้ำมาเป็นตลาดบนบกแทน ‘ตลาดนางเลิ้ง’ จึงกลายเป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศ เป็นศูนย์รวมพ่อค้าแม่ขายมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และพระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตลาดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2443

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ตลาดอายุร้อยกว่าปีแห่งนี้มีจำหน่ายทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป สถานที่ฝากท้องของทั้งคนในชุมชนและขาจรที่ผ่านมา ขึ้นชื่อทั้งของคาวสูตรดั้งเดิมที่ควรหาโอกาสมาลองชิมสักครั้งอย่างร้านไส้กรอกปลาแนม ขนมเบื้องญวน และก๋วยเตี๋ยวแคะ แล้วตามด้วยของหวานอย่างขนมไทยโบราณที่มีให้เลือกทานหลากหลายร้าน ที่ขาดไม่ได้คือกล้วยแขก ของขึ้นชื่อย่านนางเลิ้งที่มีให้เลือกซื้อกันหลายร้าน สำหรับตลาดในปัจจุบันปรับปรุงใหม่สะอาดน่าเดิน แต่ยังคงกลิ่นอายความเก่าแก่จากตึกรามบ้านช่องที่อยู่รอบๆ

04 

นางเลิ้งอ๊าร์ต

ร้านทำล็อกเก็ตหินแห่งแรกของประเทศไทย

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ย้อนกลับไปในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (สมัยอยุธยาตอนปลาย) แฟชั่นเครื่องประดับล็อกเก็ตใส่ภาพคนรักได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชนชั้นสูง จนกลายมาเป็นเครื่องประดับสุดป๊อปที่สาวๆ ล้วนต้องมีสร้อยหรือริบบิ้นกำมะหยี่สำหรับคล้องล็อกเก็ตรูปคนรัก 

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ในประเทศไทย เทรนด์การคล้องล็อกเก็ตภาพถ่ายเริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากพระองค์เสด็จประพาสยุโรป สมัยก่อนแฟชั่นแสนโรแมนติกนี้ต้องสั่งทำจากเมืองนอกเท่านั้น ‘นางเลิ้งอ๊าร์ต’ จึงเกิดขึ้นเป็นร้านถ่ายรูปและเป็นร้านทำจี้ภาพถ่าย (Portrait Pendant) หรือที่เรียกกันติดปากว่า ล็อกเก็ตหินแห่งแรกของประเทศไทย

 ด้วยกรรมวิธีการผลิตด้วยมือชิ้นต่อชิ้น ทำให้ลูกค้าต้องรอคิวอย่างน้อย 2 เดือน รวมไปถึงการกรอกรายละเอียดสั่งงานตามความต้องการ โดยเลือกได้ตั้งแต่ขนาด รูปทรงจี้ สีพื้นหลัง สีเสื้อผ้า รวมไปถึงเปลี่ยนสูทได้เหมือนภาพถ่าย นอกจากนี้ยังมีบริการใช้พู่กันจีนจิ๋วสำหรับระบายแต่งแต้มสีหน้า เส้นผม แววตา เก็บรายละเอียดทุกอย่างให้คมชัดเหมือนจริงมากที่สุด ถึงแม้เวลาจะผ่านไปนับร้อยปี รูปภาพบนจี้เหล่านี้ก็ยังชัดเจนไม่เลือนรางตามกาลเวลา

05 

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นิทรรศการเรื่องรัชกาลที่ 7 ในห้างเก่าอายุกว่าร้อยปี

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง
10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

‘ห้างยอน แซมป์สัน แอนด์ ซัน’ (John Sampson & Son Limited) ห้างฝรั่งที่จำหน่ายผ้าและรองเท้าจากประเทศอังกฤษ ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ต่อมากลายเป็นห้างสุธาดิลก จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและสุขภัณฑ์ เมื่อห้างหมดสัญญาลงได้ใช้เป็นที่ทำการของกรมโยธาธิการ โดยอาคารแบบตะวันตก 3 ชั้นที่สร้างจากเงินพระคลังข้างที่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังนี้ถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2545

ภายในมีนิทรรศการถาวรให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยที่ชั้น 3 จัดแสดงฉลองพระองค์จริงของรัชกาลที่ 7 ซึ่งหาชมไม่ได้ทั่วไป มีห้องภาพยนตร์ ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ ใช้ฉายหนังหายากและภาพยนตร์ส่วนพระองค์ รวมถึงมีศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าฯ ที่ให้บริการทั้งห้องสมุด โสตทัศน์ และไมโครฟิล์มเอกสารเก่า บอกเลยว่าคนรักมิวเซียมไม่ควรพลาด เพราะที่นี่ยังมีนิทรรศการหมุนเวียนทุก 6 เดือน ชวนให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่ามาเยี่ยมชมอยู่เรื่อยๆ

2 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์)

06 

บ้านเต้นรำ

โรงเรียนสอนเต้นลีลาศในยุคโก๋หลังวัง

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง
10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

 บ้านไม้คลาสสิกอายุกว่า 90 ปีหลังนี้ อดีตเป็นศูนย์กลางการเต้นลีลาศที่นิยมของคนยุค 1960 ช่วงมิตร ชัยบัญชา หรือช่วงยุคเอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) โดยเปิดเป็นโรงเรียนสอนเต้นลีลาศในกระทรวงศึกษาธิการที่นับว่าหายากแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เป็นบ้าน ไม่ใช่คลับ บาร์ หรือโรงเรียนสอนเต้นโดยตรง ทำให้ที่แห่งนี้มีความเป็นเอกลักษณ์จนหลายคนเรียกว่า Ballroom Dance House

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

จากบ้านที่เคยอาศัยร่วมกันกว่า 36 คน สู่โรงเรียนสอนเต้นที่ข้าราชการ นักธุรกิจชื่อดังผู้มีความสนใจในจังหวะการเต้นลีลาศต้องมาเรียนกันถึงถิ่นนางเลิ้งเท่านั้น จนมีคำกล่าวถึงบรรยากาศภายในบ้านว่า “พื้นไม้บ้านเต้นรำต้องเรียบ มีเงาสะท้อนจนเห็นกางเกงในผู้หญิงที่ใส่กระโปรงได้” ที่สำคัญบ้านหลังนี้ยังเป็นที่แวะเวียนมาของศิลปินชื่อดังมากมาย เช่น สุรพล โทณะวนิก เจ้าของเพลง ใครหนอ ก็เคยมาอยู่กินที่บ้านเต้นรำแห่งนี้

ปัจจุบันบ้านเต้นรำที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายยุค 60 อยู่ในการดูแลของ เอ้ย-ธาริณี ตามรสุวรรณ ซึ่งเปลี่ยนแปลงบ้านหลังนี้จากโรงเรียนสอนเต้นลีลาศสู่การเป็นพื้นที่สาธารณะ ทั้งจัดแสดงงานศิลปะและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นิสิต นักศึกษา ใครที่สนใจประวัติบ้านเต้นรำ เรื่องราวเกี่ยวกับการเต้น และโครงสร้างของอาคารโรงเรียนสอนเต้นลีลาศหลังนี้ติดต่อก็เพื่อขอเข้ามาศึกษาได้เลย

133 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

เวลาทำการ : สอบถามได้ที่เบอร์ 08 4008 8103

07 

บ้านนราศิลป์

บ้านฝ่ายคอสตูมโขนและโทรทัศน์เจ้าแรกของประเทศไทย

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง
10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

 บ้านโขนละครที่ก่อสร้างตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) นอกจากทำเครื่องโขน เครื่องละคร ส่งให้ทางกรมศิลปากร โรงละครแห่งชาติ หรือสถาบันอื่นๆ ตามคำสั่งซื้อแล้ว บ้านนราศิลป์ยังเป็นคอสตูมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ให้ช่อง 4 บางขุนพรหม โทรทัศน์ช่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย

ใน พ.ศ. 2511 บ้านนราศิลป์ยังมีส่วนร่วมในเบื้องหลังการแสดงโขนธรรมศาสตร์ ของอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช การแสดงโขนครั้งนี้ทำให้บ้านนราศิลป์กลายเป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่องการเช่าชุดรำ ปักชุดละครโขน และเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยยุคแรกๆ ในชื่อ ‘นราศิลป์ภาพยนตร์’

ปัจจุบันคณะนาฏศิลป์ที่มีประสบการณ์นับร้อยปีแห่งนี้ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนนางเลิ้ง หลานหลวง โดยเปิดให้ประชาชนที่มีความสนใจ เรียนรู้การปักชุดละคร ทั้งละครชาตรี โขน ก็มาเรียนที่บ้านนราศิลป์ได้ทุกวันเสาร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

173 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

เวลาทำการ : เปิดเวิร์กช็อปทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 – 18.00 น.

วันธรรมดา โทรติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 09 9149 5294 (คุณปู)

08 

ตรอกละครชาตรี

ชุมชนคนละครย่านหลานหลวง

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ถัดจากบ้านนราศิลป์มาไม่ถึงสิบก้าว มีซอยเล็กๆ ที่ปากซอยมีป้ายไม้เขียนว่า ‘ครูพูน เรืองนนท์ มีลคร หนังตลุง ลิเก พิณพาทย์ไทยมอญ’ ภายในซอยแบ่งเป็นบ้านหลายหลัง ซอยนี้เป็นที่อยู่ของเครือญาติตระกูลเรืองนนท์ที่สืบเชื้อสายละครโนราชาตรีจากนครศรีธรรมราช อพยพขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนส่งต่อวิชามาสู่ครูพูน เรืองนนท์ หัวหน้าคณะละครนานาชนิด ทั้งละครชาตรี หนังตลุง รวมถึงคณะปี่พาทย์ เป็นคณะที่มีชื่อเสียงมากในพระนคร สืบทอดมาจนถึงทายาทที่แต่ละบ้านประกอบอาชีพเกี่ยวกับการแสดงละครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านครูทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นคณะละครชาตรี ใกล้ๆ กันเป็นบ้านครูพิณ เรืองนนท์ เป็นวงดนตรีปี่พาทย์ 

  ‘ตรอกละครชาตรี’ เป็นชุมชนใหญ่ที่รวบรวมศิลปินทั้งนักแสดงและนักดนตรี ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงรับงานแสดงอยู่ เรียกได้ว่ามาที่นี่ที่เดียว One Stop Service สามารถออกงานได้เลย 

09 

สถานที่ปรุงยาไทยถนอม บุญยะกมล

ร้านยาแผนโบราณที่สืบทอดสูตรจากแพทย์ประจำพระองค์รัชกาลที่ 6 

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง
10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ร้านขายยาแผนโบราณที่สืบทอดสูตรปรุงยาจาก พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) แพทย์ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เปิดกิจการขายยาสามัญประจำบ้าน และขึ้นชื่อเรื่องยารักษาเด็ก ในอดีตมีชื่อเสียงมากจนพูดได้ว่า ชาวหลานหลวง นางเลิ้ง ไม่มีใครที่ไม่รู้จักยาของหมอถนอม ทั้งยากวาดลิ้นเด็ก ยาแสงหมึก ยาขับน้ำคาวปลา ยาแสงจันทร์ หรือยาตราฤาษี

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ยาแผนโบราณของทางร้านถนอม บุณยะกมล ยังใช้กรรมวิธีการผลิตโบราณ ทั้งการบรรจุทำซอง ยังคงเป็นกรรมวิธีที่ใช้คนทำซองต่อซองอยู่ เมื่อเวลาผ่านไปสูตรยาบางสูตรของทางร้านไม่ได้ผลิตต่อ เพราะหาส่วนผสมบางชนิดไม่ได้ และบางชนิดปัจจุบันเป็นของต้องห้าม ทำให้ร้านขายยาแผนโบราณถนอม บุญยะกมล ปิดให้บริการทางการแพทย์เป็นระยะเวลาร่วม 1 ปีแล้ว แต่อย่าเพิ่งเสียใจ เพียงเดินไปเคาะกระจกร้านขายยาสักนิด ก็จะเจอกับทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านยาแห่งนี้ คือ ครรชิต มกรสุต ผู้จะพาเราย้อนอดีตไปพบกับบรรยากาศร้านยาแบบดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ใส่เครื่องยาแผนโบราณ ทั้งขวดโหลดองยา ยาเม็ดที่ผ่านการผสมแล้ว รวมไปถึงวัตถุดิบทำยาแผนโบราณในอดีต ทั้งกระดองเต่า กระดูกอีกาเผือก ลิ้นทะเล กระดูกงู ขนเม่น และอีกสารพัดที่ทายาทรุ่นที่ 3 พร้อมจะพาเราไปเรียนรู้

10

สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์

สะพานขาวแห่งย่านนางเลิ้ง

10 สถานที่เก๋าที่ยังคงเสน่ห์เมืองเก่าของ ย่านนางเลิ้ง

ปิดท้ายด้วยสะพานอีกแห่งหนึ่งในเซ็ต ‘สะพานเทวดาสร้าง’ เช่นเดียวกัน นั่นคือสะพานจตุรภักดิ์รังสฤษดิ์ (สังเกตชื่อที่คล้องจองกัน เทวกรรมรังรักษ์-จตุรภักตร์รังสฤษดิ์) หรือที่คนในละแวกนี้เรียกกันว่า ‘สะพานขาว’ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญเมื่อข้ามคลองผดุงกรุงเกษมเข้าสู่ถนนหลานหลวง สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับการบูรณะในช่วง พ.ศ. 2496 บริเวณนี้เป็นย่านการค้าที่คึกคักมาตั้งแต่สมัยโบราณและสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะใครที่อยากมาช้อปปิ้งผลไม้ ก็ต้องมาที่ตลาดมหานาคและตลาดสะพานขาว แหล่งค้าปลีกและส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่อยู่เชิงสะพานขาวแห่งนี้

Writers

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Avatar

พาฝัน หน่อแก้ว

เด็กวารสารศาสตร์ ผู้ใช้ชีวิตไปกับการเดินทางตามจังหวะเสียงเพลงโฟล์คซองและ R&B จุดอ่อนแพ้ทางของเซลล์ทุกชนิด

Photographers

Avatar

รัชชานนท์ วงศ์อภิชาติ

ชอบถ่ายรูปและสเก็ตช์ตึก ชีวิตวนเวียนอยู่ในเอเชียตะวันออก ไปคาเฟ่ทุกสุดสัปดาห์ รักน้องหมา มีเพจท่องเที่ยวที่นานๆ จะอัปเดตชื่อ Nonfinite_

Avatar

ปัณฑารีย์ วจิตานนท์

เชื่อว่าความทรงจำอยู่ในภาพถ่าย สะสมกลักฟิล์มบางครั้ง ทำประจำคือไปคอนเสิร์ต