ถึงคุณจะไม่ใช่แฟนเพลงลูกทุ่ง แต่รับรองว่าคุณต้องรู้จักชื่อของ ‘ต่าย อรทัย’ อย่างแน่นอน 

เธอคือเจ้าของฉายาราชินีดอกหญ้า สาวเสียงหวานเศร้าผู้มาพร้อมเพลงช้าเนื้อหาลึกซึ้ง เป็นทั้งกำลังใจและขวัญใจสาวโรงงาน รวมถึงคนไกลบ้านทั่วประเทศ

เราได้ยินชื่อของเธอครั้งแรกตอนอายุ 8 ขวบ ได้ยินเสียงของเธอทุกวันจากเทปและซีดีที่คุณแม่เปิดตอนทำงานบ้าน รวมถึงตอนนั่งรถ และต่อมาเมื่อได้โทรศัพท์เครื่องแรกจากคุณแม่เพื่อติดต่อเวลาไปรับที่โรงเรียน ปลายสายก็ยังเป็นพี่ต่ายที่ร้องเพลงให้ฟังเสมอ

กำลังคึดฮอดพอดี ขอบคุณนะที่โทรมา ถือสายรอก่อนเด้อจ้า รับช้าก็อย่าน้อยใจ…

จากศิลปินฝึกหัดที่เทียวไปตึกแกรมมี่ทุกวัน ร้องไห้ทุกคืน ใน พ.ศ. 2545 เธอเบิกฤกษ์ตัวตนด้วยบทเพลง ดอกหญ้าในป่าปูน เป็นศิลปินคนแรกของแกรมมี่โกลด์ที่ร้องเพลงเกี่ยวกับโทรศัพท์ใน โทรหาแหน่เด๊อ จุดกระแสดาวน์โหลดเพลงอย่างถล่มทลายในยุคที่ใคร ๆ ก็ส่งความคิดถึงผ่านเสียงรอสาย ผ่านมา 2 ทศวรรษ ชื่อของ ต่าย อรทัย ยังเป็นอมตะ และนี่คือครั้งแรกที่เราจะได้พบกับเจ้าของเสียงตัวจริง

ต่าย อรทัย คุยม่วนกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด และบทเพลงดังก็มีเบื้องหลังที่เก็บซ่อนอยู่

“ยายอยู่บ้านนอก อยากเห็นหลานออกทีวี 

ประกวดร้องเพลงมานานปี ตกรอบหลายทีบ่มีท้อ”

– ฝากเพลงถึงยาย –

พี่ต่ายเป็นศิลปินแกรมมี่โกลด์มา 20 ปี มีผลงานของตัวเองมากกว่า 140 เพลง มีเพลงไหนที่ขึ้นเวทีแล้วต้องร้องแน่ ๆ บ้าง

สมัยนี้ก็ สิมาฮักหยังตอนนี้ ซังได้ซังแล้ว ถ้าหน้าเวทีขอ ไม่ร้องไม่ได้เลย เดี๋ยวไม่ได้กลับบ้าน (หัวเราะ) 

ถ้าไม่ร้องก็จะติดในใจเราด้วย บางทีแฟนเพลงตั้งใจมาเจอ เขาก็มีเพลงที่อยากฟัง แต่บางวันเวลาเล่นไม่ถึง 1 ชั่วโมง เราก็จะ โอ๊ยยย เสียดายยย ฮ้องบ่ได้เด้อออ มันเหมิดเวลาแล่ววว เขาก็จะตอบกลับมา เพลงนี้แหน่! เพลงนี้แหน่! อยากฟังเพลงนี้! แอบเสียดายที่เราเทกแคร์คนดูได้ไม่สมบูรณ์นะคะ

ตอนนี้มีผลงานมาถึง 12 อัลบั้ม ซิงเกิลอีกมากมาย เพลง ดอกหญ้าในป่าปูน ยังมีความสำคัญเหมือนเดิมไหม

กลายเป็นเพลงประจำตัวไปแล้ว (ยิ้ม) แจ้งเกิดตั้งแต่อัลบั้มแรก คนรู้จักหน้าตา ตัวตนของเราจากเพลงนี้ มีบ้างที่เป็นเรื่องราวของคนอื่น แต่ครึ่งหนึ่งของเนื้อหาเป็นเรื่องชีวิตเราที่ ครูสลา คุณวุฒิ นำมาเขียน

ตอนร้อง ดอกหญ้าในป่าปูน ครั้งแรกก็ถึงขั้นจุกจริง ๆ นะคะ ตั้งแต่ท่อนแรกก็คือใช่เลย

คนสู้ชีวิต คนที่มีเส้นทางคล้ายกัน ไม่ได้มีแค่พี่ต่ายคนเดียว ยังมีอีกหลายคนที่มีครอบครัวรออยู่ มีภาระต้องรับผิดชอบ เนื้อหาเพลงลึก ๆ เลยเชื่อมโยงคนร้องและคนฟังได้ดีในหลายบริบท ครูไม่อยากให้ฟังแล้วจบ แต่อยากให้รู้สึกว่าเป็นเพลงของทุกคนด้วย

ชีวิตมาราธอนของ ‘ต่าย อรทัย’ จากอีสานด้วยรถสองแถว สู่ราชินีดอกหญ้า ขวัญใจคนไกลบ้าน
ชีวิตมาราธอนของ ‘ต่าย อรทัย’ จากอีสานด้วยรถสองแถว สู่ราชินีดอกหญ้า ขวัญใจคนไกลบ้าน

เคยได้ยินว่าจริง ๆ แล้ว ครูสลาตั้งใจแต่งอีกเพลงให้กับพี่ต่ายเพื่อใช้ในอัลบั้มแรกด้วย

เป็นเรื่องเมื่อปลาย พ.ศ. 2544 พี่บ่าวข้าวเหนียว กับ พี่สาวบ้านเชียง ซึ่งเป็นผู้จัดการคนแรกที่ทำให้ได้พบครูสลา ทั้งสองท่านทำผ้าป่าสามัคคีให้พี่ต่าย พาแฟนคลับในรายการ อีสานส่งข่าว ไปด้วยกันที่โรงเรียนบ้านคุ้มแสนชะนี แล้วก็ชวนครูสลาไปด้วย

วันนั้นครูได้พูดคุยกับคุณยายของพี่ต่าย คุณยายทองคำ แก้วทอง บอกว่า ผมจะมารับหลานไปอยู่แกรมมี่โกลด์ด้วยนะ ยายก็บอกครูว่า จ้า ผู้ใด๋มาก็มีแต่มาเว้าแบบนี้ล่ะ แล้วกะหายไป

มันเหมือนเป็นคำที่ทำให้ครูจุก ครูตั้งใจเขียนเพลงนี้ให้ตั้งแต่อัลบั้มแรก แต่ด้วยความที่จุกอยู่ในใจ 2 – 3 ปี ยังไงก็เขียนออกมาไม่ได้ มาโผล่อีกทีอยู่ในอัลบั้มชุดพิเศษ อยู่ในใจเสมอ ชื่อเพลง ฝากเพลงถึงยาย ออกเมื่อ พ.ศ. 2547 สุดท้ายเนื้อหาเพลงแรกเลยเบนไปเรื่องการสู้ชีวิตของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง เพราะมีแรงผลักดันคือทางบ้าน ก็มาเป็น ดอกหญ้าในป่าปูน แทน

ฝากเพลงถึงยาย เป็นทั้งเพลงที่มีความหมายและยากต่อการร้องให้จบจริงไหม

ใช่ค่ะ น้อยมากที่จะร้องจนจบ (หัวเราะ) เพราะเราคิดถึงคุณยายจนสะอื้นออกมา ผูกพันกับท่านมาก ท่านเป็นมากกว่ายาย เป็นคุณแม่ เป็นทุกอย่างในชีวิต เราอยากทำอะไรท่านก็ไม่เคยห้าม มีแต่ความเป็นห่วงและกำลังใจ (ยิ้มด้วยความคิดถึง)

ชีวิตมาราธอนของ ‘ต่าย อรทัย’ จากอีสานด้วยรถสองแถว สู่ราชินีดอกหญ้า ขวัญใจคนไกลบ้าน
ภาพ : เฟซบุ๊ก Tai Orathai

“หัวใจติดดิน สวมกางเกงยีนเก่า ๆ 

ใส่เสื้อตัวร้อยเก้าเก้า กอดกระเป๋าใบเดียวติดกาย”

– ดอกหญ้าในป่าปูน –

ในฐานะลูกสาวคนโต ต้องดูแลน้องและคุณยาย การตัดสินใจจากอีสานมาเมืองกรุงคงไม่ใช่เรื่องง่าย อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้กล้าออกจากบ้านคนเดียว

มันคือจุดที่อยากให้ชีวิตดีขึ้น เราไม่พร้อมเรียนหนังสือเหมือนเพื่อน ๆ ก็เลยกะว่าจะไปสู้เอาดาบหน้า ปกติอยู่แต่บ้าน ในเมืองอุบลฯ ยังแทบไม่ได้ไป มันน่ากลัวกับการที่จะออกไปไกลขนาดนี้ เอาแค่ตอนขึ้นรถก็แทบจะไม่ไหวแล้วค่ะ แต่การจะหันหลังกลับมันไม่ง่าย โดยเฉพาะตอนคิดถึงยาย อยากให้ยายสบาย

ยังจำบรรยากาศในค่ำคืนที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้ไหม เป็นอย่างไรบ้าง

จำไม่ลืมค่ะ (หัวเราะ) ลงมากรุงเทพฯ ด้วยรถสองแถว อัดกันแน่น ๆ มีข้าวของ กระสอบข้าว จักรยาน ยัดมา นั่งปวดหลัง คิดในใจ ยามใด๋สิฮอด (หัวเราะ) รถเขาแวะรับคนตามรายทางช่วงเย็น จนเต็มก็ออกเดินทาง นอนไม่หลับเลย

มาถึงกรุงเทพฯ ตอนสว่าง เห็นเมือง รถเยอะ วุ่นวาย ทั้งง่วงนอน ทั้งเหนื่อยมาก น้ำตาตกในเลยค่ะ มันขัดกับความเป็นตัวเราที่อยู่กับไร่กับนา แต่มาแล้วก็ต้องสู้ จนได้เป็นศิลปินฝึกหัดที่แกรมมี่โกลด์ เทียวไปเรียนทุกวัน ร้องไห้ทุกวัน ก็ยังไปค่ะ

ชีวิตมาราธอนของ ‘ต่าย อรทัย’ จากอีสานด้วยรถสองแถว สู่ราชินีดอกหญ้า ขวัญใจคนไกลบ้าน

1 ปีที่กลับห้องร้องไห้ทุกวัน มีความสุขอยู่ในนั้นบ้างไหม

ความสุขคือการได้รับโอกาส ก่อนเข้ากรุงเทพฯ สิ่งนี้มันไกลเกินไปค่ะ โอกาสก็เลยเป็นความสุขในใจ เราไม่อยากทิ้งโอกาสนี้ ก็เลยสู้อยู่ทุกวันทั้งที่รู้ว่าจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ผู้ใหญ่ท่านก็ดูแลในส่วนที่ดูแลได้ แต่ผ่านมาแล้วปีสองปี เรายังไม่มีกำลังมากพอจะส่งเงินให้ทุกคนเลย จะประสบความสำเร็จไหมก็ไม่มีใครบอกเราได้ในตอนนั้น

สิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงล้วน ๆ ในวันนั้นเราภาวนาขอให้เจออะไรที่กรุงเทพฯ แล้วถ้าได้เจอตัวเองในวันนั้นอยากบอกอะไรกับตัวเองบ้าง

ด้วยความที่เราไม่มีญาติที่นี่ ก็ได้แต่ภาวนาขอให้ได้เจอคนดี ๆ อย่างเดียวเลย

ย้อนกลับไปตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ อยากขอบคุณตัวเองมากที่อดทนจนถึงที่สุด และมุ่งมั่นเรียนรู้ทุกวัน ซึ่งก็ได้ความรู้ทุกวันจริง ๆ ความท้อมีแน่นอน แต่มองให้เห็นว่าในแต่ละวันที่สู้ มันยังมีสิ่งดี ๆ ที่ได้มาด้วย

ชีวิตมาราธอนของ ‘ต่าย อรทัย’ จากอีสานด้วยรถสองแถว สู่ราชินีดอกหญ้า ขวัญใจคนไกลบ้าน
ชีวิตมาราธอนของ ‘ต่าย อรทัย’ จากอีสานด้วยรถสองแถว สู่ราชินีดอกหญ้า ขวัญใจคนไกลบ้าน

จากที่ร้องเพลงตอนกวาดบ้านถูบ้าน และที่บ้านก็ไม่มีเทปคาสเซ็ตต์เอาไว้ฟังส่วนตัว ต้องอาศัยครูพักลักจำจากวิทยุตอนเกี่ยวข้าว ดำนา พอมามีครูจริง ๆ แล้วเห็นความแตกต่างไหม

คนละเรื่องกันเลยค่ะ (ทำตาโต) มันสนุก มีความสุขคนละรูปแบบ ตอนอยู่กับยาย เพื่อน ครู เราได้คำชมที่ดีที่สุดในตอนนั้น แต่พอเข้าห้องอัดแล้วได้คอมเมนต์จากครูหลาย ๆ ท่าน โอ้โห ไม่เคยมีใครบอกเรามาก่อน ต้องขอบคุณคุณครูมาก

ส่วนใหญ่ได้คอมเมนต์แบบไหนบ้าง

พี่ต่ายจะได้รับคำชมจากครูก่อนว่ามีข้อดีอะไรบ้าง เสียงเป็นเอกลักษณ์นะ เสียงใส มีลูกคอพิเศษ เราก็ดีใจ มีแรงผลักดัน แล้วก็จะตามมาด้วยคำว่า แต่ (หัวเราะ) แต่ร้องเสียงขึ้นจมูกนะ ต้องเปิดโพรงจมูก พลังเสียงไม่มี ต้องไปออกกำลังกายนะ ร้องคร่อมจังหวะ ชอบร้องยืด ครูก็จะให้เคาะเท้าไปด้วย ก็เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่เป็นศิลปินฝึกหัดแรก ๆ

กว่าจะเป็น ต่าย อรทัย ช่วงไหนที่หนักที่สุด

ก็ต้อง 1 ปีที่เทียวจากห้องพักมาเรียนร้องเพลง ทยอยทำได้ทีละเพลง ใน 1 ปี 10 เพลงคือยาวนานมากกก วันไหนได้เพลงมาก็ดี วันไม่ดีก็ต้องแก้ไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนห้องอัดเป็น 5 ห้อง 10 ห้อง จนได้ฉายาว่า ‘อรทัย มาราธอน’ (หัวเราะ) เพราะมันไม่เสร็จ! ทั้งตัวเองด้วย ทั้งเทคนิคต่าง ๆ มากมาย 

ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะก้าวผ่านมาเลย

เบื้องหลังการอัดเสียงของ ต่าย อรทัย และ ครูสลา คุณวุฒิ

ถ้าย้อนกลับไปไกลกว่าเพลงในอัลบั้มแรกหน่อย เสียงระดับพี่ต่ายบนเวทีการประกวดระดับโรงเรียนตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

จริง ๆ เพื่อนและครูจะรู้ว่าเราร้องเพลงได้ ตอน ม.4 เป็นตัวแทนโรงเรียนนาจะหลวยไปประกวดที่โรงเรียนศรีเมืองใหม่ ปีแรกไปเก็บประสบการณ์ เจอพี่คนหนึ่งขึ้นไป ป๊าดดดด! เสียงคือดีแท้ คนนั้นก็ฮ้องเก่ง! ปีแรกก็แพ้ค่ะ (หัวเราะ)

ปีที่ 2 ก็ไปอีก แพ้เหมือนเดิม ปีที่ 3 ขึ้น ม.6 พี่ต่ายเตรียมความพร้อมอย่างดีเลยนะ ปรากฏว่าปีนั้นชนะ 2 ครั้งที่ไปแพ้ตลอด แต่รอบนี้พี่คนนั้นเรียนจบแล้วค่ะ (หัวเราะ) ถ้าพี่เขามาก็คงจบข่าวเหมือนเดิม เพื่อนทุกคนที่ไปประกวดด้วยกันรู้เลยว่า ถ้าพี่เขาขึ้นปุ๊บ เราเตรียมตัวกลับบ้านเลย เก่งมาก ๆ คมมาก คือที่สุดบนเวที

แอบอยากรู้เลยค่ะว่าพี่คนนั้นคือใคร

พี่ดอกอ้อ ทุ่งทอง ค่ะ (ยิ้ม)

ในวันนั้น เรารู้สึกว่าตัวเองไกลจากพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่ได้ 3 อันดับแรกมาก เราพยายามฟังของเขา แล้วก็ฟังกรรมการว่าทำไมเราได้คะแนนเท่านี้ มันเป็นแรงผลักให้ตัวเองอยากชนะสักครั้ง ครั้งนั้นชนะก็ยังไม่ยอม นั่นเป็นอีกส่วนที่ทำให้อยากลงไปเวทีที่กรุงเทพฯ ด้วย 

“โทรหาแหน่เด๊อ จำเบอร์โทรน้องได้บ่

น้องจะเฝ้ารออ้ายโทรหาเวลาเลิกงาน”

– โทรหาแหน่เด๊อ –

ถ้าเพลง ดอกหญ้าในป่าปูน คือเพลงนำร่อง แล้วเพลงอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้พี่ต่ายเป็นที่รู้จักขึ้นมา

พอเราอัดเพลงจนครบ ก็มีแพลนทัวร์ทั่วประเทศจากแกรมมี่โกลด์ ถือเป็นฐานสำคัญที่ทำให้ได้ไปส่งข่าวกับแฟนเพลง ได้โปรโมตตัวเอง คนก็เริ่มเห็นว่าเด็กคนนี้เป็นยังไง จนเพลงที่สองมา โทรหาแหน่เด๊อ เป็นเพลงที่ดังจริง ๆ

ช่วงแรกที่อัลบั้มออก เวลามีคนขอเพลง เราก็ลุ้นนะว่า พี่คนนี้จะขอเพลงเราหรือเปล่า ถ้าเขาบอกว่า ขอเพลงของต่ายแหน่ เราก็จะใจเต้น ตุ๊บ ๆๆ เลย (กุมมือไว้ที่อก ทำตาโต) ลุ้นเหลือเกินว่าเพลงนี้จะดังบ่ เขาอยากจะฟังเพลงหยัง เหมือนเด็กเลยค่ะ แต่เป็นเด็กที่ดีใจมาก

ชีวิตมาราธอนของ ‘ต่าย อรทัย’ จากอีสานด้วยรถสองแถว สู่ราชินีดอกหญ้า ขวัญใจคนไกลบ้าน

คิดว่าอะไรคือความพิเศษของเพลง โทรหาแหน่เด๊อ ที่สร้างชื่อให้เรา

ยุคนั้น โทรศัพท์เป็นอะไรที่ใหม่มาก พอครูสลาท่านแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโทรศัพท์ เกี่ยวกับชีวิตคน ใช้โทรบอกรัก ส่งความคิดถึงมันก็เลยโดนใจ

ที่บ้านเกิดพี่ต่ายไม่มีโทรศัพท์อยู่แล้ว แรก ๆ ก็เขียนจดหมายกลับบ้าน ถ้าจะโทรหายายก็ต้องโทรหาผู้ใหญ่บ้าน รอไป 5 นาที เพราะคุณยายต้องเดินไปรับ แต่ในยุคโทรศัพท์ คิดฮอดพ่อก็โทร คิดฮอดแม่ก็โทร คิดฮอดแฟนก็ยกหู (ยิ้ม)

“กำลังคึดฮอดพอดี ขอบคุณนะที่โทรมา

ถือสายรอก่อนเด้อจ้า รับช้าก็อย่าน้อยใจ”

– หน้าจอรอสาย –

จำได้ว่ายุคนั้น บางคนถึงกับกดรับช้า ๆ เพราะอยากให้คนโทรมาได้ฟังเพลงที่ตั้งไว้ ตอนนั้นพี่ต่ายตั้งเพลงใครเป็นเพลงรอสายคะ

เพลงตัวเองค่ะ (หัวเราะ) จริง ๆ โทรหาแหน่เด๊อ เป็นช่วงที่ยังไม่มีการดาวน์โหลด ประมาณชุดที่ 4 หน้าจอรอสาย เสียงรอสาย เสียงเรียกเข้าก็มาเลย กลายเป็นเรื่องที่พี่น้องศิลปินทุกคนต้องช่วยกันโปรโมต 

“ดาวน์โหลดเลยนะคะ *123 7001 นี่คือรหัสของต่าย โหลดได้ทุกเพลงค่ะ” เป็นศัพท์ใหม่ในการพูดโปรโมตเพิ่ม

ตั้งเพลง หน้าจอรอสาย เอาไว้ พี่ต่ายอยากให้ใครโทรมาฟังเหรอคะ

แฮ่! ให้ใครโทรมาดีนะ ก็คนนั้นแหละค่ะ เนอะ (หัวเราะ)

“ดาวเต้น ม.ต้น ลูกหลานคนจนชาวนา 

ขอร้องสายตา คนหน้าเวทีอย่าซุกซน”

– ดาวเต้น ม.ต้น –

20 ปีผ่านไป พี่ต่ายสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรหน้าเวทีบ้างไหม

เทียบกับเมื่อก่อนตอนที่ โทรหาแหน่เด๊อ ดอกหญ้าในป่าปูน กินข้าวหรือยัง ดังใหม่ ๆ อารมณ์หน้าเวทีค่อนข้างต่างกัน จากที่คนนั่งฟังนิ่ง ๆ ตอนนี้มีร้องตามกันเหมือนเพลงสมัยใหม่ทั่วไปแล้ว

เรายอมรับนะว่าบุคลิกโดยธรรมชาติเป็นคนนิ่งมาก (หัวเราะ) ร้องเพลงช้าอีก เพลงเร็วนี่แทบบ่มี ก็เลยพยายามพัฒนาโชว์มาเรื่อย ๆ ให้มีพาร์ตสนุก ๆ ด้วย

คุยกับ ‘ต่าย อรทัย’ จากศิลปินฝึกหัดผู้เปลี่ยนห้องอัดนับสิบ สู่ดอกหญ้าค้างฟ้า ผู้จุดกระแสเพลงรอสายในยุคที่มือถือบูม

แต่เพลงช้าก็นับเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของพี่ต่ายได้เลยนะคะ

ช้ามา 12 อัลบั้มหลักเลยค่ะ (หัวเราะ) ดาวเต้น ม.ต้น คือเร็วสุดแล้ว และเป็นเพลงเร็วเพลงเดียวที่ยังถูกร้อยอยู่ในรูปแบบการโชว์ ซึ่งแต่ละปี ปกติต้องไปยืมเพลงเร็วของพี่น้องศิลปินคนอื่นในค่ายหรือไปซื้อลิขสิทธิ์ค่ายอื่น เพราะหน้าเวทีต้องมีทั้งเพลงตัวเองและตามกระแสด้วย เพลงไหนที่เราร้องเข้าปากก็เลือกมาทำโชว์

ถึงจะร้องเพลงช้า ก็ได้ข่าวว่ายังมีคนตีกันหน้าเวที

ใช่ค่ะ ฮือ เพลง กินข้าวหรือยัง นี่แหละ เราขึ้นเวทีปกติ 3 – 4 ทุ่ม เราก็ร้อง กินข้าวหรือยัง กำลังเฮ็ดหยังหนออ้าย… ตุ้บ! ตั้บ! ตุ้บ! ตั้บ!

สักพักก็ต้องหยุดร้อง ข้างล่างเวทีตีกันเอาจริงเอาจังมาก โอ๊ย นี่ ต่าย อรทัย มาตีหยังกัน ไม่ใช่เพลงเร็วด้วยนะ (หัวเราะ) มีช่วงหนึ่งที่เจอหลายเวทีอยู่ค่ะ อาจจะม่วนกันมาทั้งวัน พอเจอเราเลยสนุกเกินเบอร์ไปหน่อย แต่ไม่อยากให้ทำร้ายกันเลยค่ะ ถ้าขอได้ มาร้องเพลงกับเราดีกว่า

“มื้อบุญบั้งไฟ บ่ลืมดอกอ้าย ริมฝั่งหนองหาน 

เมื่อครั้งหลายปีก่อนนั้น เฮาย้อนตำนานผาแดงนางไอ่”

– ผาแดงของน้อง –

พี่ต่ายบอกไปก่อนหน้านี้ว่า กว่าแต่ละเพลงจะผ่าน ใช้เวลานานและเหนื่อยมาก ถ้าอย่างนั้นมีเพลงไหนที่อัดเสียงไวที่สุดไหม

ซิงเกิลล่าสุด ผาแดงของน้อง มาเลย มื้อบุญบั้งไฟ มาเหมือนบั้งไฟเลยค่ะ (หัวเราะ) มาแบบจรวด เร็วทุกอย่าง ไม่ทันตั้งตัว นี่เรื่องจริงนะ

ตอนนั้น อ้ายมนต์แคน แก่นคูน ร้องเพลง นางไอ่ของอ้าย แล้วทางผู้ใหญ่เห็นว่าควรเล่าทั้งในมุมของผาแดงและนางไอ่ พี่ต่ายก็จ้วดเลยค่ะ มาห้องอัด ใส่เสียงร้องไกด์แล้วใส่เสียงจริงเลย ไม่ต้องกลับไปซ้อม ติดจรวดในวันเดียวกันเลย

คุยกับ ‘ต่าย อรทัย’ จากศิลปินฝึกหัดผู้เปลี่ยนห้องอัดนับสิบ สู่ดอกหญ้าค้างฟ้า ผู้จุดกระแสเพลงรอสายในยุคที่มือถือบูม

แล้วจากวันที่อยากเป็นเหมือน พี่นาง ศิริพร, พี่ฮันนี่ ศรีอีสาน, พี่จินตหรา พูนลาภ จนวันนี้ ต่าย อรทัย มีชื่อติดอยู่ในระดับตำนานเช่นกัน เส้นทาง 2 ทศวรรษทำให้เราเติบโตอย่างไรบ้าง

เราดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวได้ สร้างรายได้ที่ทำให้เราได้ไปทำความฝันอื่น ๆ ต่อ การเป็นนักร้องไม่ได้แปลว่าต้องจบที่อาชีพนี้ และพลังจากแฟนเพลงก็ทำให้เราได้ตอบแทนสังคมด้วย ขอบคุณมากค่ะ

ส่วนเรื่องการร้อง เราพัฒนามาตลอด คมมากขึ้น มั่นใจมากขึ้น จนมีหลายคนมาบอกเราว่า สอนหนูร้องเพลงหน่อย ก็มีบ้างที่แนะนำตามเทคนิคที่เรามี เอ้อ หรือเราก็อาจจะพอเป็นครูกับเขาได้เหมือนกันเนอะ (ยิ้ม)

หรือสมัยออกอัลบั้มที่ 2 ก็ได้รับคำชมจาก อาจารย์ไพรัตน์ ชูรัตน์ ที่เคี่ยวกรำมาตลอด 1 ปี ท่านบอกว่า เราไปทัวร์คอนเสิร์ตมาเป็นปีแล้ว ออกอัลบั้มที่ 2 มันร้องดีขึ้นนี่ (หัวเราะ) เราก็มีพลังขึ้นมาเลยค่ะ 

คุยกับ ‘ต่าย อรทัย’ จากศิลปินฝึกหัดผู้เปลี่ยนห้องอัดนับสิบ สู่ดอกหญ้าค้างฟ้า ผู้จุดกระแสเพลงรอสายในยุคที่มือถือบูม

อะไรคือสิ่งที่แตกต่างและสิ่งที่ยังเหมือนเดิมในชีวิตบ้าง

ตัวตนค่ะ ยังคงซื่อ เป็นสาวบ้าน ๆ ลูกอีสาน กินง่าย อยู่ง่าย ขี้ใจอ่อน จะมีไม่เหมือนเดิมจากวันที่เพิ่งเป็นศิลปินก็คือสุขภาพ ดังมา 4 – 5 อัลบั้ม พักไม่เต็มที่ ทุกครั้งที่จะทำอัลบั้มต้องเป็นหน้าฝน ทำไมต้องเป็นไข้และเป็นหวัดก็ไม่รู้ เครียดนะ หาทางออกไม่ได้จนป่วยเรื้อรังทุกปี เราก็พยายามดูแลตัวเองให้ดีค่ะ

ส่วนเนื้อในของงานก็มีจุดเปลี่ยน เพราะเกิดเป็นความซ้ำ แค่ 3 ปีก็มีกระแสมา ดู ต่าย อรทัย ยืนร้องเพลงนิ่ง ๆ เรารู้สึกในใจมาก ๆ เรื่องความนิ่งนี้ (ยิ้ม) ทุกคนบอกว่าถ้าไม่เปลี่ยนจะอยู่แค่นี้ สุดท้ายเราก็ต้องพัฒนา ซึ่งจะเห็นผ่านโชว์ที่มีลีลามากขึ้นค่ะ

จากดอกหญ้าในวันนั้นกลายเป็นราชินีในวันนี้ พี่ต่ายมองว่าปัจจุบันชีวิตยังเปรียบกับดอกหญ้าเหมือนเดิมไหมคะ

เหมือนเดิมจริง ๆ เรามีแค่หัวใจที่จะมาสู้ชีวิต ต่อให้ติดดินแค่ไหนก็ยังเข้มแข็ง เพื่อให้ชีวิตตัวเองเติบโตและงอกงาม 

อย่างเพลง ดอกหญ้าในป่าปูน ถ้าให้ได้ก็ขอมอบเพลงนี้ให้ตัวเองและทุกคนที่ยังมีความฝัน อยากให้มุ่งมั่น ตั้งใจ บางคนอาจสำเร็จไว บางคนอาจนานหน่อย แต่เชื่อว่าระหว่างทางทุกคนจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง และได้อะไรกลับมาแน่นอน

คุยกับ ‘ต่าย อรทัย’ จากศิลปินฝึกหัดผู้เปลี่ยนห้องอัดนับสิบ สู่ดอกหญ้าค้างฟ้า ผู้จุดกระแสเพลงรอสายในยุคที่มือถือบูม

(Little After Story)

เราบอกกับคุณแม่ว่าได้สัมภาษณ์พี่ต่ายเมื่อครั้งกลับไปหาแม่ที่จังหวัดแพร่ คุณแม่บอกว่าเป็นแฟนคลับพี่ต่ายมาตั้งแต่อัลบั้มแรก ใช้เสียงรอสายและเสียงเรียกเข้าเป็นเพลง หน้าจอรอสาย มาตลอดจนเพิ่งเปลี่ยนไป เพราะเปลี่ยนโทรศัพท์

สองแม่ลูกคุยกันสนุกสนานบนโต๊ะอาหาร โดยมีเพลงดังจากทุกอัลบั้มเปิดคลอไปด้วย เพลงช้าไม่ได้ทำให้เราร้องไห้ แต่การกินข้าววันนั้นกลับอิ่มท้องและอิ่มใจ เราคุยกันเรื่องเพลง โทรศัพท์เครื่องแรก ยาวไปจนถึงศิลปินในดวงใจคนอื่น ๆ

วันต่อมา เราสองคนแวะที่ร้านสะดวกซื้อ เห็น USB เพลงมากมายวางอยู่บนแผง แน่นอนว่าเราหยิบ USB ที่มีพี่ต่ายอยู่บนนั้นขึ้นมา เราถามแม่ว่า เอาไหม มีศิลปินหลายคนเลยนะ ซื้อได้หมดเลย แม่ตอบว่า เอาแค่ ต่าย อรทัย แม่ฟังอันเดียวพอ

แล้วเราก็เปิดเพลงพี่ต่ายตั้งแต่อำเภอหนองม่วงไข่จนถึงบ้านที่อำเภอสอง 

เมื่อหมดสงกรานต์ สิ่งเดียวที่ไม่นำกลับกรุงเทพฯ คือ USB อันนั้น

แต่เรากลับค้นพบว่า สิ่งที่ทำให้กรุงเทพฯ กับแพร่ และเรากับแม่เหมือนอยู่ใกล้กันไม่ห่าง คือเพลงเดิม ๆ ของผู้หญิงที่ชื่อว่า ต่าย อรทัย ที่ทำให้เรานึกถึงวัยเด็ก เหมือนมีคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ เสมอ

แอบเนาะแต่เว้าบ่เก่งจึงฝากเพลงช่วยบอกแทนใจ ทุกวันฟังเพลงรอสายความหมายก็คือห่วงหา

คุยกับ ‘ต่าย อรทัย’ จากศิลปินฝึกหัดผู้เปลี่ยนห้องอัดนับสิบ สู่ดอกหญ้าค้างฟ้า ผู้จุดกระแสเพลงรอสายในยุคที่มือถือบูม

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล