ประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 66 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมากกว่า 20 ล้านคนที่อาจนับเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งเติบโตมากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่รวดเร็ว

พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย เห็นปัญหาและความทุกข์ร้อนของผู้คน สังคม และสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ บางส่วนใฝ่ฝันที่จะแก้ไขเพื่อบ้านเมืองที่ดีขึ้นสำหรับพวกเขาและคนรุ่นหลัง

แต่ใครที่เคยผ่านการลงมือทำมาบ้าง คงรู้กันดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด บางความฝันต่อให้ใช้ทั้งชีวิต ก็ไม่อาจเห็นวันที่ฝันเป็นจริงได้

เว้นแต่ว่าเราแท็กทีมกัน เรื่องยากก็อาจจะง่ายขึ้นทันตา

นั่นคือสิ่งที่ ‘Tact Social Consulting’ ธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise ของคนรุ่นใหม่กำลังทำ ผ่านการเป็นที่ปรึกษา และบริหารจัดการโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยชักชวนคนรุ่นใหม่ด้วยกันมาเป็นพลังในการขับเคลื่อน หรือที่เรียกว่า Youth Engagement

ก่อตั้งจากความฝันของ แม็ก-ชยุตม์ สกุลคู (CEO), ซึง-ปวรรัตน์ ลิสกุลรักษ์ (Chief Operating Officer หรือ COO), ป้อง-เชาวนะ วิชิตพันธุ์ (Environment Director) และบรรดาทีมคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในเรื่องเดียวกัน

Tact ธุรกิจเพื่อสังคมที่แก้ปัญหาความยั่งยืน ด้วยการสร้างคนรุ่นใหม่ที่ Take Action

ด้วยอายุเฉลี่ยของพนักงานเพียง 25 ปี พวกเขาผ่านการรับงาน ทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการศึกษา การจัดการขยะ การช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย และอื่น ๆ

หลังก่อตั้งมานาน 4 ปี และผ่านวันเวลาอันแสนสาหัสจากช่วงโควิด-19 ไปได้แล้ว เรานัดคุยกับพวกเขาถึงการเติบโตของบริษัท ที่มองไกลไปถึงการสร้างโปรเจกต์และบุคลากรด้านความยั่งยืนในระดับภูมิภาค เพื่อโลกใบนี้ที่มีความหวัง

ถ้าพร้อมแล้ว มา Take Action ไปด้วยกัน

01
Tact Team

“Tact เริ่มต้นจากการชวนนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัย แต่ละคนอาจสนใจกันคนละเรื่อง แต่สิ่งที่ยึดโยงเราเข้าหากัน คือการมองเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างให้แก้หลายอย่าง และคนรุ่นเราน่าจะทำอะไรได้บ้าง” แม็ก บัณฑิตนักกิจกรรมวัย 27 ปี จากรั้วคณะวิศวกรรมศาสตร์ เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นและพลังที่ผลักดันให้เขาสร้าง Tact ขึ้นมา

สมัยเรียน แม็กทำกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยสร้างทักษะการทำงานและความเป็นผู้นำ ตั้งแต่เป็นนักโต้วาที ประธานจัดงานใหญ่ของคณะและก่อตั้งชมรมที่มุ่งหมายจะช่วยพัฒนาชุมชน

ระหว่างลงพื้นที่ไปทำงานอาสาของชมรม อาจารย์ท่านหนึ่งพูดสิ่งที่สะกิดใจเขาขึ้นมา

“อาจารย์บอกว่าเด็กรุ่นคุณน่าจะมีพลังทำอะไรได้อีกเยอะ มากกว่าการนั่งทาสีบ้านหรือเปล่า” 

หลังจากวันนั้น แม็กกลับมาคิดหาทางช่วยพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน และพบว่างานแบบนี้ต้องอาศัยทั้งเวลาและความเข้าใจ น่าจะลองฟอร์มทีมคนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างจริงจัง ลองดูว่าพวกเขาจะทำกันได้สักแค่ไหน

เมื่อใฝ่ฝัน แม็กจึงตระเวนหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จนพบ ซึง บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ที่เคยทำงานในบริษัทระดับโลก แต่แสวงหางานที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม และ ป้อง รุ่นน้องในคณะที่ชอบอยู่กับธรรมชาติ ชวนมาเป็นหนึ่งในรุ่นบุกเบิกและร่วมทีมกันกับ Co-founders อีก 3 คน

Tact ธุรกิจเพื่อสังคมที่แก้ปัญหาความยั่งยืน ด้วยการสร้างคนรุ่นใหม่ที่ Take Action
Tact ธุรกิจเพื่อสังคมที่แก้ปัญหาความยั่งยืน ด้วยการสร้างคนรุ่นใหม่ที่ Take Action

“ตอนคุยกับแม็ก เราไม่ได้มีภาพในหัวเลยว่ามันจะมาเป็นแบบทุกวันนี้ แต่เรามองหาว่าองค์กรไหนที่จะทำให้เราได้ใช้พลังของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่อยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ในที่ที่อาจจะไม่ได้มีวิสัยทัศน์เรื่องสังคม คุยกับแม็กครั้งแรกนานกว่า 5 ชั่วโมง พอรู้สึกว่าเห็นตรงกันก็ทำ จนถึงทุกวันนี้” ซึงเล่าย้อนความ

ป้องยังเสริมว่า “ตอนนั้นพี่แม็กถามว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร ผมรู้คำตอบว่าอยากจะเป็นคนที่มีประโยชน์ เพียงแต่ก่อนหน้านี้เราไม่มั่นใจว่าจะทำงานแบบนี้แล้วอยู่รอดได้ไหม แต่พอเห็นโอกาสว่าเป็นไปได้ ก็ได้คำตอบเลย”

แต่ความเป็นไปได้นั้นก็ยังเป็นภาพที่เบลออยู่ ในตอนแรกพวกเขาไม่ได้มีโมเดลธุรกิจมากไปกว่าการรับจัดโครงการ ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษา เริ่มคิดไอเดีย วางแผน จนจัดงานสำเร็จ อาศัยเงินทุนจากสปอนเซอร์ที่เป็นบริษัทที่ต้องการทำงานด้าน CSR

แต่ถ้าไม่เริ่มสักทาง ก็คงไม่มีวันได้ลงมือทำ

02
Trust Building 

ผลงานแรกของ Tact คือการจัดโครงการ Anacoach ที่สอน Soft Skill และ Growth Mindset ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ด้วยการสร้างความเชื่อว่า พวกเขาเติบโตได้อย่างไร้ขีดจำกัด สนับสนุนโดยบริษัท Garena

“เราจัดเป็นค่ายที่ใช้เวลาหลายสัปดาห์อยู่กับน้อง ๆ และมันออกมาดีมาก เราเห็นว่ามีหลายร้อยคนที่เปลี่ยนทัศนคติกับตัวเองได้เพราะค่าย แน่นอนว่าเราคงพัฒนาไม่ได้ทุกอย่างด้วยเวลาที่มี แต่อย่างน้อยพวกเขาและทีมงานจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดคำนึงถึงสังคมอย่างแน่นอน” ซึงเล่าด้วยความปลื้มใจ พร้อมบอกว่าน้องที่เคยเป็นเด็กค่ายวันนั้น นำประสบการณ์ไปจัดค่ายให้กับรุ่นน้องของตัวเองต่อ และวันนี้กำลังสมัครเข้ามาทำงานฟูลไทม์กับพวกเขาแล้ว

ทีมที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานเหล่านี้ล้วนเป็นอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่อยากเรียนรู้ พัฒนาตัวเองและสังคม การสร้างพื้นที่ตรงนี้ของ Tact ขึ้นมา ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และปล่อยของกันอย่างสุดกำลัง

เมื่อหนึ่งงานสำเร็จ ก็สร้างความน่าเชื่อถือที่เป็นแรงกระเพื่อมให้บริษัทใหญ่ติดต่อให้ Tact ช่วยออกแบบโปรเจกต์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ปรับแต่งให้เหมาะกับบริษัทอย่างไม่ขาดสาย สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่เฉิดฉายเพิ่มไปด้วย

เช่น โครงการ Waste Runner ที่เป็นการแข่งขัน 100 วัน เฟ้นหาทีมที่สร้างสรรค์โมเดลการจัดการขยะที่ทำได้จริงในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า โดยได้รับการสนับสนุนจาก PTT Global Chemical (GC), โครงการเติมก่อนโต พาเด็กมัธยมไปค้นหาสายงาน อาชีพในอนาคตที่สร้างรายได้ และพัฒนา Growth Mindset โดยได้รับการสนับสนุนจาก SCG Foundation, โครงการ Bangkok Zero Waste Park ร่วมกับกรุงเทพมหานคร​ เพื่อทำการส่งเสริมพฤติกรรมการคัดแยกขยะของคนที่มาสวนสาธารณะ เป็นต้น

และอีกนานาโปรเจกต์จากบริษัทและองค์กรใหญ่ เช่น GC, SCG, Sea Thailand, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือว่าได้รับความไว้วางใจสูงมาก และทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย

“เวลาเราเข้าไปคุยกับผู้บริหาร เราไม่เคยวางตัวเป็นเด็กที่น่าสงสารเข้าไปขอเงินทำโครงการ แต่เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียสดใหม่ มีพลัง เข้าไปช่วยสนับสนุนองค์กรของเขาได้”

“ถ้าวันนี้คุณอยากสร้าง Engagement กับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ว่าบริษัทไหนก็ทำได้ ในขณะที่ Tact พร้อมจะทำให้เลย เพราะเราทำงานกับคนรุ่นใหม่มาตลอด”

“เป็นเด็กกว่า ไม่ได้เป็นจุดอ่อนของเรา แต่เป็นจุดแข็ง พอเรามีความตั้งใจที่ดี คนก็ไม่เคลือบแคลงใจ” ทั้งสามเผยเคล็ดลับการชนะใจผู้บริหารขององค์กรแนวหน้า

เมื่อประกอบกับการบริการที่คิดตั้งแต่ต้นจนจบ เห็นภาพปลายทางชัดเจน ไม่ได้วางตัวเป็นแค่ที่ปรึกษาเฉย ๆ แต่เข้าไปช่วยสนับสนุนให้องค์กรเดินหน้าไปตามทางที่วาดฝันไว้ได้จริง บริษัทก็ยิ่งไว้วางใจ Tact

Tact ธุรกิจเพื่อสังคมที่แก้ปัญหาความยั่งยืน ด้วยการสร้างคนรุ่นใหม่ที่ Take Action

03
Turning Point

นอกจากฝีมือแล้ว ความสำเร็จของ Tact ยังดำเนินต่อไปได้เรื่อย ๆ ตามความเฟื่องฟูของธุรกิจอีเวนต์ เช่น งานวิ่งที่แทบจัดกันไม่เว้นสัปดาห์ แต่ละงานก็ตามหาวิธีการจัดการขยะ จัดงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ Tact มีประสบการณ์อยู่แล้ว

ทุกอย่างดูไปได้สวย จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ธุรกิจแทบทรุดเลย งานส่วนใหญ่ของเราต้องจัดแบบออฟไลน์” แม็กเล่าถึงช่วงปีที่หลายธุรกิจคงสัมผัสประสบการณ์คล้ายกัน

Tact พยายามหาช่องทางสร้างกระแสเงินสดด้วยการรับโปรเจกต์ที่พอทำได้ หาลู่ทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตได้แบบ 10x รวมถึงการทำแคมเปญช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ไปพร้อมกัน เพื่อให้ธุรกิจและสิ่งที่บริษัทยึดถือยังคงดำเนินไปควบคู่กัน

แต่พอสถานการณ์ไม่ดีขึ้น โปรเจกต์ที่วาดฝันไว้ก็ไม่เกิดขึ้นจริง จนเหลือพนักงานเพียง 5 คนที่อ่อนกำลังลง กับเงินที่กำลังจะหมดไปในอีกไม่ช้า

ในจังหวะที่กำลังย่ำแย่ Tact พลิกวิกฤตด้วยการกลับไปหา Sea Thailand ซึ่งเป็นลูกค้ารายแรกของบริษัท ด้วยไอเดียการให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ คิดหาไอเดียช่วย SME ซึ่งตรงกับทิศทางของ Sea ที่อยากพัฒนา Digital Skill ให้เยาวชนพอดี จึงกลายเป็นโปรเจกต์แข่งขันทางธุรกิจชื่อ ‘Digital Opportunities for Talent (DOTs)’ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 1,000 คน ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้ามาช่วยปั้นยอดขายของ 25 กิจการที่เป็นโจทย์ในการแข่งขันให้โตเฉลี่ย 3 เท่า เป็นโปรเจกต์ที่ช่วยต่อลมหายใจให้บริษัท (และกำลังจะมีซีซั่น 2 เร็ว ๆ นี้) 

“ต้องขอบคุณโอกาสในครั้งนี้มาก ๆ หลังจากนั้นเรามีลูกค้าติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่ Tact ติดต่อไปช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ตอนนั้นหลายงานก็ขายไม่ผ่าน สิ่งนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า ไม่ได้ไม่เป็นไร ลองทำไปก่อน ช่วยใครได้ก็ช่วย เดี๋ยวสักวันจะมีคนกลับมาช่วยเราเอง”

หลังจากความตึงเครียดคลี่คลายลง แม็กและทีมกลับมาตกผลึกเรื่องโมเดลธุรกิจของ Tact และได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นว่า พวกเขาจะเดินหน้าด้วย ‘4C’ คือ

Camp หรือการจัดค่าย มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคการศึกษาหรือมูลนิธิ จัดค่ายที่พัฒนาด้าน Soft Skill และ Mindset

Case Competition หรือการแข่งขันที่ชวนคนรุ่นใหม่มาระดมสมองเพื่อหาทางออกให้สังคม

Campaign หรืองานแคมเปญสื่อสาร

และ Green Consulting หรือที่ปรึกษาและบริหารโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

04
To Be Sustainable

เมื่อสภาพสิ่งแวดล้อมของโลกเรากำลังเข้าใกล้หายนะเข้าไปทุกที ภาครัฐและเอกชนไม่อาจนิ่งเฉย ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบ และต้องเร่งปรับตัว

ปัญหาคือ หลายแห่งไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร แม้จะมีเงินทุนและบุคลากรมากมาย

Tact จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้

“ตอนนี้โลกกำลังให้ความสนใจเรื่อง ESG (Environmental, Social, and Governance) ทุกคนพร้อมจะลงทุนกับเรื่องความยั่งยืน พร้อมจะทำให้บริษัทเป็น Carbon Neutral ติดตรงที่ขาด Implementator ที่ทำให้เกิดขึ้นจริง

“แผนของเราคือการพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ปรึกษาที่เข้าใจทั้งห่วงโซ่ และเป็นแพลตฟอร์มที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่สร้างอาชีพด้านความยั่งยืนได้อย่างมั่นคง” ป้องและแม็กกล่าว เราอาจเห็นสำนักต่าง ๆ พยายามปั้นบุคลากรด้านดิจิทัลกันมากมาย แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความยั่งยืน ก็ยังถือว่ามีน้อยกว่าเยอะ

ในปัจจุบัน Tact แก้ปัญหาด้วยการให้คำปรึกษาและทำโปรเจกต์

เช่น แคมเปญการสื่อสารรณรงค์เรื่องการจัดการขยะ การจัดอีเวนต์แบบ Zero Waste และการสร้างระบบจัดเก็บ คัดแยก และจัดการขยะต่อในแต่ละพื้นที่ ซึ่งล่าสุดเพิ่งเข้าไปติดตั้งถังขยะที่สวนเบญจสิริ

ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดการขยะที่ผ่านมา ทำให้ในปัจจุบัน Tact หันมาแก้ปัญหาด้วยการให้คำปรึกษาและทำโปรเจกต์ โดยมี 2 Service หลัก ได้แก่ Zero Waste Event วางแผนและบริหารจัดการงานอีเวนต์ให้ลดปริมาณขยะที่ลงสู่หลุมฝังกลบให้ได้มากที่สุด และ Zero Waste Area สร้างระบบจัดเก็บ คัดแยก และจัดการขยะปลายทางให้กับลูกค้าองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครฯ เข้าไปพัฒนาพื้นที่สวนเบญจสิริ ติดตั้งถังขยะที่ออกแบบใหม่เพื่อกระตุ้นพฤติกรรม จัดระบบการเก็บขนแยกประเภท และสร้างระบบการเก็บข้อมูลขยะแบบออนไลน์

Tact Social Consulting : SE คนรุ่นใหม่ที่รับแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างบุคลากรด้านความยั่งยืนให้ประเทศ

แม้บางงานจะเป็นโครงการที่เริ่มต้นและจบลงตามวาระการจ้าง แต่ป้องและทีมงานมองว่าพวกเขาสร้างการเปลี่ยนแปลงระหว่างทางที่สำคัญไปด้วย ไม่ได้เป็นเพียงงานระยะสั้นที่เกิดขึ้นแล้วจบไปเฉย ๆ และไม่ได้เป็นเพียงเพื่อภาพลักษณ์ของบริษัทที่ทำงานด้วย

“ในฐานะธุรกิจเพื่อสังคมและที่ปรึกษาที่ลงมือทำจริง เราทำงานกับลูกค้าเพื่อหาทางพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นจริง ๆ แต่ก่อนเขาอาจทำ CSR แล้วได้ผลลัพธ์กลับมา 1 แต่เราจะทำให้ได้ 10 และเราไม่เคยยกยอว่าบริษัทที่เราทำงานด้วยนั้นดีที่สุดในโลกเรื่องความยั่งยืน

“เราเพียงเห็นจุดที่ว่า ภาคเอกชนหลายแห่งอยากเปลี่ยนแปลง แต่คนข้างในยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร พอมาทำงานกับเรา เขาก็ค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดตามไปด้วย ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้กันและกัน”

แต่ว่าสิ่งที่พวกเขาตั้งใจจริง ๆ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ พวกเขากำลังวางแผนที่จะพุ่งเป้าไปถึงระดับโครงสร้างของประเทศ

05
Teamwork

ก่อนจะไปถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือทีมที่แข็งแรง ทีมที่ถนัดกันคนละด้าน คอยช่วยสนับสนุนกันและกัน

“ก่อนหน้านี้ เราเคยทำตัวแบบ One-man Show มั่นใจในตัวเองมากเพราะมีประสบการณ์ที่เคยทำงานสำเร็จ แต่โชคดีที่ได้ซึงช่วยเตือนสติด้วยคำถามว่า ‘เรามองบริษัทในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างไร’ เราตอบไปว่าจะทำนู่นทำนี่ ซึงถามต่อว่าในภาพอนาคตเหล่านั้น มีทีมอยู่ตรงไหน

“การคุยครั้งนั้นเรียกสติเราเลย มันน่าจะผิดมาก ๆ ถ้า CEO ไม่เห็นภาพของทีมที่มีอยู่ไปด้วยกัน” แม็กเล่าบทเรียนที่ได้รับจากเพื่อนร่วมทีม ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะสร้างและรักษาทีมให้ดีขึ้น ช่วยกันดูแลเรื่องที่ถนัดกับซึงและป้อง

ปัจจุบัน Tact เป็นองค์กรที่มีแผนกและการทำงานเป็นระบบมากขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนได้เติบโตตามที่แต่ละคนถนัด พอเปิดรับสมัครพนักงานชุดใหม่ก็มีคนสมัครเข้ามาเพียบ

“คนกลุ่มนี้มองเห็นว่าการทำงานเพื่อสังคมสามารถสร้างรายได้ไปด้วยและเป็นสิ่งที่น่าทำ ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่ใหญ่และอิมแพคขึ้น จ้างคนเหล่านี้มากขึ้น ลองนึกดูว่าเราจะสร้างบุคลากรที่ดีและช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้ตั้งเท่าไหร่” 

Tact Social Consulting : SE คนรุ่นใหม่ที่รับแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างบุคลากรด้านความยั่งยืนให้ประเทศ

06
Tact to the Future

ความเป็นไปได้ในอนาคตของ Tact นั้นกว้างมาก 

อาจเป็นเสมือนโรงเรียนที่ปั้นคนรุ่นใหม่ พาพวกเขาออกมาเจอปัญหาสังคมจริง ๆ สอนและช่วยสร้างอาชีพขึ้นมาแก้ไขปัญหานั้น

หรือเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรด้านความยั่งยืนให้กับประเทศ เป็น Recruiter ที่ช่วยหาคนทำงานด้านนี้ให้กับองค์กร เพราะพวกเขาทำงานกับคนเหล่านี้มานับพัน

หรือแม้กระทั่งการสร้างธุรกิจใหม่ที่อาจส่งผลในวงกว้างและช่วยให้ Tact สร้างอิมแพคได้ระดับ 10x

“เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนเริ่มตั้งบริษัท การจัดอีเวนต์ยังเป็นเรื่องสนุก แต่พอเราโตขึ้น งานพวกนี้น้อง ๆ ทำกันได้แล้ว เรามองต่อว่า เป็นไปได้ไหมที่เราและ Tact จะไปจัดการปัญหาที่ใหญ่ขึ้น ในระดับที่เป็นโครงสร้างของประเทศมากขึ้น ตอนนี้เรารู้จักบริษัทใหญ่ ๆ เรามีประสบการณ์ในการทำงานหน้างาน เราหาทางเชื่อมต่อคนที่มีความรู้ คนที่มีเงินทุน และคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐได้ไหม

“หนึ่งในเป้าหมายที่ Tact กำลังมุ่งหน้าไป คือการปรับเปลี่ยนระบบจัดการขยะของประเทศนี้ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เปลี่ยนแปลงทั้งนโยบาย ระบบการบริหาร และพฤติกรรมคน โดยเร็ว ๆ นี้ เรามีโอกาสได้ร่วมกับนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนวทางการพัฒนาระบบจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางของกรุงเทพมหานคร ให้กับผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และกำลังจะมี Action ในการทำโครงการ Pilot ในเขตต้นแบบ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขยะในระดับนโยบายและโครงสร้างอย่างจริงจัง ก็นับเป็นก้าวใหญ่ที่ขยับเข้าใกล้ความฝันที่เคยฝันกันไว้อีกก้าวหนึ่ง”

07
Take Action

“ไม่เคยตั้งคำถามกับการทำสิ่งนี้เลย” แม็กตอบ เมื่อเราถามว่าเขาเคยคิดลังเล เสียดายโอกาสอื่น ๆ ที่อาจไขว่คว้าในชีวิตได้หรือเปล่า

“การทำงานนี้ทำให้เราพบกัลยาณมิตรดี ๆ ในวงการ Social Enterprise มีคนรอบข้างทั้งเพื่อน อาจารย์ และผู้ใหญ่ ที่พร้อมช่วยเหลือเรา ซึ่งไม่ใช่แค่เพราะอยากช่วยเรา แต่เพราะเราอยากให้เห็นบางสิ่งเกิดขึ้นในสังคมนี้เหมือนกัน พอยิ่งทำไปด้วยกัน ก็ยิ่งเห็นโอกาสมากขึ้นทุกปี แถมระหว่างทาง ได้เจอและเรียนรู้จากผู้บริหารขององค์กรภาครัฐและเอกชนระดับประเทศ ต้องทำอะไรหลายอย่างจนตัวเองโตขึ้นเยอะมาก นึกไม่ออกเลยนะว่าจะมีงานไหนที่ทำแล้วได้สิ่งดี ๆ กลับมาเยอะเท่านี้” 

“เราไม่เคยคิดว่าจะไปทำงานที่อื่นเหมือนกัน มีแต่มองว่าเราจะต่อยอด Tact ต่อไปได้อย่างไร ทุกวันนี้พยายามขับเคลื่อนทุกอย่างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ซึงเสริม

และนี่คือพลังของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมสู้สุดใจ ให้สุดกำลัง เพื่อสังคมดี ๆ ที่พวกเขาใฝ่ฝันถึง

ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่เชื่อเหมือนกัน หรือเป็นองค์กรที่สนใจอยากพัฒนางานด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง ลองมาแท็กทีมกับ Tact กันไหม

Tact Social Consulting : SE คนรุ่นใหม่ที่รับแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างบุคลากรด้านความยั่งยืนให้ประเทศ

Lesson Learned

  • ไม่มีใครมีคำตอบสำหรับทุกอย่างตั้งแต่แรก การลงมือทำจริง ๆ และใช้เวลาอยู่กับปัญหา จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น
  • สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างยั่งยืน ถ้าพอช่วยใครได้ ก็ช่วยเขา แม้วันนี้เราจะยังไม่ได้ทำอะไรร่วมกัน แต่ในอนาคตอาจมีโอกาสที่เราต้องพึ่งพากันและกัน
  • การทำงานร่วมกับผู้คนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ละฝ่ายมีความต้องการลึก ๆ ที่แตกต่างกัน เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจแต่ละฝ่าย และหาทางรักษาสมดุล
  • อย่าลืมทีมที่สร้างด้วยกันมา

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน