ต่าย-ธีระ ฉันทสวัสดิ์ เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ที่ทำงานมาแล้วหลายบทบาท ตั้งแต่การเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นรุ่นบุกเบิกของวงการ อาจารย์ที่มุ่งมั่นอยากสอนให้นักออกแบบไทยทำรีเสิร์ชมาใช้ในการออกแบบได้ ผู้ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบที่เชี่ยวชาญการทำงานกับผู้ประกอบการ OTOP เจ้าของฉายามือปราบโอทอป และล่าสุดยังเป็นเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขาการออกแบบส่งเสริมสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ประสบการณ์มากมายเช่นนี้ อาจทำให้หลายคนเกร็งก่อนเจอหน้า แต่หากได้พูดคุยกับธีระ จะพบว่าเขาเป็นคนทำงานอย่างทุ่มเท และรักงานออกแบบที่ทำอยู่อย่างแท้จริง ตลอด 7 ปีให้หลัง เขาทำงานในฐานะนักออกแบบเพื่อชุมชน ลงไปทำความเข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ อยากพัฒนาสินค้าให้ได้ไปต่อด้วยกัน และลงมือพลิกโฉมด้วยสายตาอันเฉียบคม นั่นไม่ได้เป็นการประโคมใส่ตัวตนของเขาลงไป หากแต่เป็นออกแบบอย่างเคารพองค์ความรู้เดิม เสริมทักษะใหม่ๆ ให้ชาวบ้าน ที่สำคัญ ต้องไม่ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตใคร

ก่อนเริ่มบทสนทนาในวันนี้ หนึ่งในคำขอจากเราคือ ให้เล่าเรื่องราวเบื้องหลังการทำงาน วิธีคิด การลงพื้นที่ ตลอดจนปัญหาและการแก้ไขในแบบธีระ อย่างตรงไปตรงมา

แน่นอนว่าคำตอบของเขาคือ ‘ยินดี’ อย่างไม่ต้องสงสัย

ธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนที่พาสินค้า OTOP ทั่วไทยไปถึงจีน ญี่ปุ่น อิตาลี

ก่อนจะเป็นนักออกแบบชื่อ ต่าย ธีระ

ธีระเริ่มต้นเล่าว่า เขาไม่ได้สนใจประเด็นการออกแบบเชิงสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรก ด้วยความที่มีโอกาสไปเป็นนักเรียนนอก ในวันที่ยังไม่ค่อยมีคนไทยไปเรียนต่างประเทศมากนัก ทำให้เขามีอีโก้ในตัวสูงไม่เบา แต่การเข้าเรียนสาขาออกแบบแฟชั่นที่ Central Saint Martins มหาวิทยาลัยด้านศิลปะชั้นนำของประเทศอังกฤษ ได้ช่วยปรับวิธีคิดของเขาในฐานะนักออกแบบให้เข้ารูปเข้ารอย

“ตอนเข้าไปเรียนปีหนึ่ง เราใช้คำว่าตกเลยนะ เต็มร้อยได้สี่สิบเจ็ดถึงสี่สิบเก้า” คนตรงหน้าเล่าติดตลกถึงก้าวแรกสู่การเป็นนักออกแบบ 

“เราถามอาจารย์ว่าทำไมคะแนนถึงน้อย รวมแล้วผ่านเกณฑ์มานิดเดียว จนได้ไปฟังเพื่อนๆ นำเสนองานตอนจบปีหนึ่ง ถึงได้อ๋อว่าเขาทำรีเสิร์ชกันก่อน หลังจากนั้นเราถึงปรับตัวได้ ตอนขึ้นปีสองทำคะแนนได้เก้าสิบแปดเต็มร้อย เป็นคะแนนสูงสุดที่ Central Saint Martins เคยมีในตอนนั้น”

เมื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทยในฐานะเจ้าของแบรนด์แฟชั่นได้สักพัก เขาเห็นว่านักศึกษาด้านการออกแบบในไทยไม่ค่อยใช้กระบวนการวิจัยในการออกแบบ ทั้งที่เป็นกระบวนการสำคัญ ทำให้เห็นถึงวิธีคิด ที่มาที่ไปของดีไซน์ นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ธีระวิ่งรอกไปสอนวิธีการทำวิจัยการออกแบบแฟชั่นในมหาวิทยาลัยถึง 6 แห่ง 

แต่ดูเหมือนว่างานสอนเพียงอย่างเดียว เติมเต็มความไฮเปอร์ของอาจารย์คนนี้ไม่ได้ จึงนำไปสู่บทบาทใหม่ในฐานะนักออกแบบเพื่อชุมชน

ธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนที่พาสินค้า OTOP ทั่วไทยไปถึงจีน ญี่ปุ่น อิตาลี

“เมื่อประมาณเจ็ดปีที่แล้ว เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ของมหาวิทยาลัย เรารู้สึกว่าทำไมมันเคว้งจัง” ธีระย้อนความไปในวันที่เขามีงานสอนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว 

“ว่างจนตื่นบ่ายสอง กิน ดูซีรีส์ นอนตีสอง ว่างจนเรารู้สึกเสียดายความรู้ตัวเอง เราควรได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กว่านี้”

แล้วคืนหนึ่งกลางปิดเทอมใหญ่ ความเสียดายเวลาว่างทำให้นักออกแบบชื่อดังตัดสินใจโพสต์ลง Facebook ว่า อยากไปทำงานออกแบบกับชุมชน การโพสต์ครั้งนั้นผันวิถีชีวิตของเขาไปอีกทางโดยไม่คาดคิด

“เราโพสต์ก่อนนอน แล้วตื่นมาเจอว่าคนแชร์ไปเยอะมาก อินบ็อกซ์แทบแตก” เราคงภาษาที่ธีระเล่าไว้ทุกเม็ดทุกหน่วย เพราะฟังแล้วสนุกเหลือเกิน

“มีคนมาชวนไปทำงานเต็มไปหมด แต่เมื่อต้องเลือก เราเลยเลือกไปเพชรบูรณ์เป็นที่แรก”

แม้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เสนอส่งรถตู้มารับถึงบ้าน แต่เขายืนยันขอนั่งรถทัวร์ไปเอง เพราะอยากช่วยประหยัดงบ

และการนั่งรถทัวร์ข้ามคืนไปเพชรบูรณ์เพื่อลงพื้นที่เป็นครั้งแรกในวันนั้น ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานมือปราบโอทอป

ธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนที่พาสินค้า OTOP ทั่วไทยไปถึงจีน ญี่ปุ่น อิตาลี

ก้าวแรกสู่สังเวียน

เมื่อดีไซเนอร์มือฉกาจจากลอนดอน ต้องไปตะลอนลงพื้นที่ทำงานกับชาวเขาโดยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ผลลัพธ์ที่ได้คือ

“โปรเจกต์แรกนี่เฟลมาก” เมื่อคำนี้ออกจากปาก คนนั่งฟังเกือบตกเก้าอี้ “เพราะโปรเจกต์นั้นทำงานกับชาวเขา ซึ่งเป็นแนวเอิงเอย สโลวไลฟ์ เขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลืออะไร แต่เราไปยัดเยียดให้เขาเอง”

“หลังไปลงพื้นที่ เราออกแบบรองเท้าขึ้นมาเซ็ตหนึ่ง เป็นลายที่ดัดแปลงจากลายเขียนเทียนของชาวเขา ซึ่งออเดอร์ถล่มทลายมาก มี Buyer จากญี่ปุ่นมาขอซื้อ แต่ความพีกคือ พอไปสั่งงานชาวบ้าน เขาบอกว่าเขาไม่ทำ

“เหตุผลเขาคืออะไรรู้ไหม” เราส่ายหน้า

“เพราะเราไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขาหมดเลย เขาเคยเขียนแบบหนึ่ง เราไปให้เขาเขียนอีกแบบ แต่ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาทำไม่ได้ สุดท้ายต้องปิดงานแล้ว เลยต้องใช้อำนาจรองผู้ว่าฯ กดดันให้เขาทำลายผ้าออกมา แล้วเรานำไปตัดเย็บเป็นรองเท้าต่อ”

กลุ่มอาชีพสตรีบ้านเล่าเน้ง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
กลุ่มอาชีพสตรีบ้านเล่าเน้ง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 
ลายเขียนเทียนประจำถิ่น ผ่านมือดีไซเนอร์ ต่าย ธีระ กลายเป็นผ้าเขียนเทียนลวดลายร่วมสมัย
ลายเขียนเทียนประจำถิ่น ผ่านมือดีไซเนอร์ ต่าย ธีระ กลายเป็นผ้าเขียนเทียนลวดลายร่วมสมัย
ภาพผลงานรองเท้าเจ้าปัญหาที่ชาวเขาไม่ยอมเย็บ แต่เป็นความทรงจำสำคัญของต่าย
ภาพผลงานรองเท้าเจ้าปัญหาที่ชาวเขาไม่ทำผ้าให้เพื่อตัดเย็บเป็นรองเท้า แต่เป็นความทรงจำสำคัญของธีระ

เหมือนอย่างที่ว่า ‘ความล้มเหลวย่อมมาก่อนความสำเร็จเสมอ’ สิ่งที่อาจารย์ต่ายสอนเราทางอ้อมด้วยเรื่องเล่าจากประสบการณ์นี้คือ อย่าพยายามไปยัดเยียดความช่วยเหลือให้ใคร และนั่นคือสิ่งที่นักพัฒนาชุมชนมือใหม่นำมาปรับใช้กับโปรเจกต์ต่อๆ ไปเช่นกัน

เคล็ดลับมือปราบโอทอป

หลังโปรเจกต์แรกกับชาวเขาที่เพชรบูรณ์ได้ยอดขายถล่มทลาย แม้เหน็ดเหนื่อยแทบตายกว่าจะได้งานไปส่งลูกค้า แต่นั่นทำให้ธีระเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป จนโครงการและผู้ประกอบการติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามาอุ่นหนาฝาคั่ง

อีกหนึ่งงานที่ฟังแล้วทึ่ง คือการลงพื้นที่ไปไกลถึงปัตตานี ในวันที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปิดและไม่มีใครกล้าเข้าไป ธีระหยิบความประทับใจในบ้านเรือนเก่าที่มีสีสันเฉพาะตัว มาออกแบบเป็นลายผ้าทอสำหรับผ้าพันคอ และเสื้อทรงหลวมใส่สบาย ที่ทำราคาขายได้หลักหมื่น 

ลายผ้าทอฝีมือพี่เพ็ญ ผู้ประกอบการจากปัตตานี ตัดเป็นเสื้อแล้วขายได้ตัวละ 12,500 บาท
ลายผ้าทอฝีมือ Jutatip ผู้ประกอบการจากขอนแก่น ตัดเป็นเสื้อแล้วขายได้ตัวละ 12,500 บาท
ชิ้นงานบาติกจากกลุ่มพัฒนาวี เปลี่ยนมุมมองของผ้าบาติกให้กลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นสุดชิค
ชิ้นงานบาติกจากกลุ่มพัฒนาวี เปลี่ยนมุมมองของผ้าบาติกให้กลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นสุดชิค

แต่อาจารย์ต่าย (ของชาวบ้าน) มีตัวคนเดียว ช่วยทุกคนคงไม่ไหวจริงไหม

“เราต้องเลือกแล้วล่ะ” เขาตอบเรียบง่าย “เราเลือกทำงานกับผู้ประกอบการณ์โอทอปที่ได้สี่ถึงห้าดาวเป็นหลัก เหตุผลคือ เขามีความพร้อมแล้วระดับหนึ่ง เขาอยากพัฒนาต่อ เขารู้ว่าถ้าเขาเชื่อเรา ของเขาจะขายได้”

“ปัญหาของคนไทยคือเราขี้เกียจ” ธีระสะท้อนให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา “โอทอปไทยยังไม่พัฒนาไปไหน เพราะผู้ประกอบการหนึ่ง สอง หรือสามดาวหลายเจ้า หวังแค่ค่าเสียเวลาตอนมาเข้าอบรมสัมมนา ซึ่งแม้เราไปด้วยใจ ออกแบบอะไรให้ไป เขาไม่ทำต่อก็ไร้ค่า”

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว นักออกแบบที่อยากทำงานกับชุมชนคนนี้เลยเอาเรี่ยวแรงไปลงกับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีใจ มีความพร้อม อยากผลักตัวเองไปให้ไกลกว่าเดิม เพราะเขารู้สึกอิ่มใจเมื่อได้รู้ว่าความพยายามที่ลงทุนไปนั้นไม่เสียเปล่า และช่วยให้คนจำนวนหนึ่งมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้

“เราพยายามออกแบบงานให้ร่วมสมัย เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนอายุน้อย เด็กลงมาหน่อย ไม่ใช่ว่าแบบดั้งเดิมมันขายไม่ได้นะ แต่อยากขยายโอกาส เพราะยึดหลักว่าออกแบบอะไรต้องขายได้ และต้องช่วยให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”

ด้วยหลักคิดแบบนี้ ทำให้งานออกแบบเครื่องแต่งกายให้สวมใส่ง่าย เป็น Everyday Look ที่มีพื้นฐานมาจากรูปแบบดั้งเดิม ลวดลายเดิม หรือกระบวนการผลิตเดิมที่ชาวบ้านทำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็น Traditional ที่จับต้องสวมใส่ยาก หรือราคาสูง ซื้อลำบาก 

จากสีสันลวดลายของหินที่ไอซ์แลนด์ สู่ผ้าทอฝีมือหนิงดีไซน์ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พลิกภาพของผ้าทอไทยแบบเดิม
จากสีสันลวดลายของหินที่ไอซ์แลนด์ สู่ผ้าทอฝีมือหนิงดีไซน์ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พลิกภาพของผ้าทอไทยแบบเดิม
ทะเลทรายกับภูเขาน้ำแข็ง หลอมรวมกันในผืนผ้าบาติกของดญาบาติก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
ทะเลทรายกับภูเขาน้ำแข็ง หลอมรวมกันในผืนผ้าบาติกของฅญาบาติก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธีระได้ออกไอเดียลดต้นทุน ให้ชาวบ้านเอาเศษผ้าใยกัญชงสีเรียบๆ ที่เหลือในสต็อกของป้านวล บ้านห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่ มาแต่งเติมดีเทลด้วยการถักโครเชต์ จนได้ออเดอร์จากลูกค้าจีนไปมากมาย ถึงขั้นมีดีไซเนอร์จากอิตาลีมาขอเหมาไปทุกเดือน เรียกว่าขายหมดตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำด้วยซ้ำ

ชิ้นงานที่ถูกตาต้องใจดีไซเนอร์อิตาลี
ชิ้นงานที่ถูกตาต้องใจดีไซเนอร์อิตาลี

ผลที่ได้ก็น่าพอใจ ความเรียบง่ายทำให้สินค้าแฟชั่นจากผ้าไทยฝีมือชุมชน ซึ่งผ่านสายตาดีไซเนอร์ฝีมือฉกาจ ขายดีในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แค่ปรับสีนิด เปลี่ยนลายหน่อย ก็สร้างรายได้ได้ต่อเนื่อง แม้ในปัจจุบันนี้ที่อยู่ในช่วงโรคระบาด หลายชุมชนอาจขาดงาน แต่ผู้ประกอบการพันธมิตรของนักออกแบบชื่อธีระยังคงมีงานชุกชุมต่อเนื่อง

การมอบความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนให้กับคนที่พร้อมช่วยเหลือตัวเองต่อไป จึงเป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่เราจับได้ว่า ธีระใช้ในการคัดกรองโปรเจกต์ที่จะลงทุนลงแรงไป

ท้อเป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร

แน่นอนว่าการทำงานกับชุมชนทำให้เราต้องเจอคนหลายประเภท 

คนน่ารักก็มีมาก ตั้งแต่ชาวบ้านที่เตรียมอาหารต้อนรับใหญ่โต เมื่อทราบข่าวว่า ‘อาจารย์ต่าย’ จะไปสอนพวกเขาพัฒนาสินค้า แม่ๆ ป้าๆ ที่เตรียมของฝากสารพันเอาไว้ให้ไม่เคยขาดทุกครั้งที่ลงพื้นที่ จนถึงผู้ประกอบการที่คุยถูกคอจนกลายเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกันไปแล้ว

แต่คนเอาเปรียบก็มีไม่น้อย

“ช่วงแรกๆ ที่ไปบรรยาย บรรดาผู้ประกอบการเขาถ่ายรูปเราแชร์ไปในกลุ่มไลน์ของเขาตามปกติ” เขาแชร์เหตุการณ์ในวันที่ยังรู้ไม่เท่าทันให้เราฟัง “ไม่นาน มีหน่วยงานกลุ่มหนึ่งขับรถมาถึงสถานที่อบรม มาถ่ายรูป มีเอกสารมาให้เซ็นด้วย เราไม่รู้อะไร ให้เขาถ่ายและเซ็นไป แต่มารู้ทีหลังว่าเขาเอาเราไปแอบอ้าง เบิกเงินส่วนที่เขาไม่ได้ทำงาน”

ธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนที่พาสินค้า OTOP ทั่วไทยไปถึงจีน ญี่ปุ่น อิตาลี

ระหว่างที่เราอ้าปากค้าง อาจาร์ต่ายเล่าต่ออีกว่า “ผู้ประกอบการไม่น่ารักก็มี เราช่วยออกแบบให้ฟรี แต่เขากลับเก็บเงินค่าผ้าที่ส่งมาให้เราขึ้นตัวอย่าง บางทีเราออกแบบลายผ้าไปให้นานนม แต่เขาไม่ยอมทอเพราะบอกว่ามันยากก็เจอมาแล้ว เราก็เสียความรู้สึกนะ”

อย่างไรก็ตาม นโยบายของธีระคือ ไม่ทน เพราะมองว่าเปลืองพลังงาน เลือกโฟกัสกับกลุ่มที่พร้อมลงทุนทั้งวัสดุและเวลากับเขา เพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ

“เราบอกกับชาวบ้านที่ทำงานด้วยเสมอว่า ถ้าเจอคนใจดี เราต้องเกรงใจเขา ไม่ใช่เอาเปรียบ จะได้รู้จักกันนานๆ”

จากแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ไม่เคยเข้าใจบริบทชุมชนใดๆ เมื่อผ่านร้อนผ่านหนาวกับโปรเจกต์ชุมชนมาอย่างยาวนาน สิ่งหนึ่งที่ธีระปรับและเปลี่ยนบทบาทไปอย่างเห็นได้ชัด คือการลดอีโก้และเพิ่มความเข้าอกเข้าใจ

“บางทีเรานั่งฟังในงานสัมมนาที่นักวิชาการท่านอื่นไปสอนชาวบ้าน เอาสถิติ เอาสามเหลี่ยมพีระมิดอะไรไปสอนพวกเขา เราบอกเลย เขาไม่สนใจ” นักออกแบบมากประสบการณ์เล่าติดตลก “เขาอยากได้อะไรที่เข้าใจได้ จับต้องได้”

ธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนที่พาสินค้า OTOP ทั่วไทยไปถึงจีน ญี่ปุ่น อิตาลี
มู้ดบอร์ดที่ต่ายใช้สื่อสารกับผู้ประกอบการ
มู้ดบอร์ดที่ต่ายใช้สื่อสารกับผู้ประกอบการ

“เราสื่อสารด้วยภาพ โทนสีส้มไล่ถึงสีน้ำตาลเป็นแบบนี้ มีตัวอย่างให้ดู แม่ๆ ป้าๆ เขาจะเอามือถือขึ้นมาถ่าย แล้วพยายามไปย้อมสีตามให้ได้ตามนั้น” มือปราบโอทอปยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ก่อนเล่าต่อไปว่า “แทนที่จะสอนเรื่องกลุ่มเป้าหมาย เราสอนให้เขาสังเกตลูกค้าที่เดินมาซื้อของเรา ขอถ่ายรูปคู่กับเขา ดูว่าเขาใส่เสื้อผ้าสีอะไร ทรงไหน แล้วเราก็ทำแบบนั้น”

นอกจากการวิธีการสื่อสารแล้ว วิธีคิดในการออกแบบก็สำคัญไม่แพ้กัน การหาบาลานซ์ระหว่างความเป็นเรากับความเป็นเขา เป็นอีกความท้าทายที่ดีไซเนอร์ชุมชนต้องก้าวผ่าน

“ดีไซเนอร์มักกลัวว่าถ้าทำงานออกแบบแบบเรียบๆ มันกระจอกเกินไป ให้ก้าวข้ามตรงนั้นไป ที่สำคัญคือชาวบ้านเขาขายได้หรือเปล่า” อาจารย์ต่ายว่า “บางอย่างที่เขาเสนอมา อย่าเพิ่งปฏิเสธ สีน้ำตาลหม่นๆ ที่เราว่าไม่สวย ลองให้เขาทำออกมาจำนวนน้อย แล้วไปลองขายดูก่อน มันขายได้แหละ แม้จะช้า แต่อย่าทำให้ความเห็นของเขาสูญเปล่า”

สำหรับเรา นี่คือเคล็ดลับสำคัญทีเดียวที่ทำให้โปรเจกต์งานชุมชนประสบความสำเร็จไปได้ คือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดว่าเราเหนือกว่าเขา ให้กลายเป็นเรากำลังทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์อะไรใหม่ขึ้นมา

ตัวตนที่ไม่เคยหายไป

ถึงอย่างนั้น ต้องลดความเป็นตัวเองลงไปแค่ไหนถึงพอ-เราถาม

อาจารย์ต่ายให้คำตอบเราว่า ‘การลดไม่ใช่การเลิกเป็นตัวเอง’ ด้วยการเล่าให้ฟังถึงโปรเจกต์หนึ่งที่เขาใช้พักใจ

“เรามีโอกาสได้ไปทริปดูแสงเหนือแล้วประทับใจแสงสีมากๆ ทั้งใบไม้ ต้นไม้ที่เจอระหว่างทาง สีและแสงมันสวย ทุกอย่างมีผลกับจิตใจเราหมด จนอยากเอามาทำเป็นคอลเลกชันโชว์” เขาเล่าด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย

“เราทำรีเสิร์ชเพื่อจะหาคีย์เวิร์ดให้เจอ แล้วเล่าให้ชาวบ้านฟังว่าเจออะไรมาบ้าง ชาวบ้านเขาก็ทำผ้าบาติกมา แล้วเราก็เพิ่มฟอยล์เข้าไป เพื่อให้ได้เอฟเฟกต์แบบที่เราอยากได้”

ว่าแล้วเขาก็เปิดคลิปวิดีโอสั้นๆ จากรันเวย์ของคอลเลกชันนั้นให้เราได้ชม ซึ่งจากสายตาของนักออกแบบด้วยกันที่แม้ไม่ใช่สายแฟชั่น เรามองว่านั่นคือการสื่อสารถึงแพสชันและตัวตนของดีไซเนอร์ที่ชื่อว่า ต่าย ธีระ ออกมาได้อย่างแสนสมบูรณ์

ธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนที่พาสินค้า OTOP ทั่วไทยไปถึงจีน ญี่ปุ่น อิตาลี
ธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนที่พาสินค้า OTOP ทั่วไทยไปถึงจีน ญี่ปุ่น อิตาลี
ลายผ้าที่ได้แรงบันดาลใจจากแสงเหนือในความทรงจำของดีไซเนอร์ต่าย ใช้เทคนิคฟอยล์ผสมในการสร้างมิติแสง
ภาพแฟชั่นโชว์คอลเลกชันพิเศษที่เต็มไปด้วยแพสชัน ในงาน ELLE FASHION WEEK 2019
ภาพแฟชั่นโชว์คอลเลกชันพิเศษที่เต็มไปด้วยแพสชัน ในงาน ELLE FASHION WEEK 2019

การลดอีโก้ในงานที่ทำเพื่อชุมชน ไม่ได้ทำให้แพสชันในตัวตนของนักออกแบบหายไปไหน แต่ทำให้เข้าใจคำถามสำคัญของสิ่งที่ตัวเองกำลังออกแบบอยู่ต่างหาก

ก่อนจบบทสนทนา เขาบอกเราว่าไม่ได้สนใจรางวัลหรือคำยกยอใดๆ ที่ได้รับ มากไปกว่าการที่คนเริ่มทดแทนภาพ ‘ต่ายดีไซเนอร์’ ด้วยภาพ ‘อาจารย์ต่ายผู้ทำงานกับชุมชน’ ไปทีละน้อย 

และหากจะให้สรุปบทเรียนจากคลาสดีไซน์ของอาจารย์ต่ายอีกครั้ง ด้านล่างนี้คือคู่มือการทำงานชั้นยอด ระดับเล่มบนแผง Best Seller

ธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบเพื่อพัฒนาชุมชนที่พาสินค้า OTOP ทั่วไทยไปถึงจีน ญี่ปุ่น อิตาลี

5 เคล็ดลับสำหรับนักออกแบบสายชุมชน ที่อยากให้คนทำงานรุ่นหลังรู้ก่อนลงสู่พื้นที่

01 รู้จักเสียดายเวลา

“เรามีความรู้ตั้งมากมาย เราน่าจะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กว่านี้” 

02 อย่ายัดเยียด จงให้กับคนที่พร้อมรับ

“เราพูดกับคนไม่พร้อมไปก็เปลืองน้ำลาย เปลืองเวลา เอาเวลาไปช่วยคนที่เขาอยากไปต่อดีกว่า”

03 ไม่ต้องทนกับคนเอาเปรียบ

“ถ้าเจอคนใจดี เราต้องเกรงใจเขา ไม่ใช่เอาเปรียบเขา จะได้รู้จักกันนานๆ”

04 ลดอีโก้ เพิ่มความเข้าใจ

“เวลาชาวบ้านเสนออะไรมา อย่าเพิ่งไปปฏิเสธเขา ลองก่อน อย่าให้ทุกอย่างมันเสียเปล่า”

05 ไม่มีใครเหนือกว่าใคร

“ปรับเปลี่ยนวิธีคิดว่าเราเหนือกว่าเขา ให้กลายเป็นเรากำลังทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์อะไรใหม่ขึ้นมา”

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน