กลาง พ.ศ. 2564 ท่ามกลางกระแส T-POP ที่กำลังเป็นที่พูดถึง มีรายการหนึ่งถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นเวทีสำคัญที่เหล่าศิลปินทั้งหน้าใหม่และเก่าอยากมาเยือน 

ตัดภาพไปที่คนฟังเพลง ฝ่ายนั้นก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน ในที่สุดประเทศไทยยุคนี้ก็มีรายการให้ศิลปินปล่อยของกับเขาสักที!

แต่ความพิเศษไม่ได้หยุดอยู่แค่ตรงนั้น

รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วทีมงานไม่ได้ตั้งใจทำแค่รายการโชว์ร้องเพลง ไม่ได้ตั้งใจเสิร์ฟแค่ความบันเทิงในคืนวันเสาร์ให้คนที่นั่งเฝ้าทีวี แต่พวกเขาคิดไปถึงการ ‘เขย่า’ วงการเพลงบ้านเราที่กำลังเริ่มออกตัว ให้ไปได้ไกลแสนไกลกว่าเดิม ด้วยบริษัทที่ตั้งใจเปิดแยกออกมาจาก เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ อย่าง ทีป๊อป อินคอร์ปอเรชั่น ด้วย

บริษัทนี้จะสร้างคอมมูนิตี้ให้เหล่าศิลปินและผู้สนับสนุนได้อยู่ร่วมกัน โดยมีความหวังอย่างยิ่งว่า จะช่วยรัน Ecosystem ของอุตสาหกรรมเพลงให้สมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมส่งออกสู่นอกประเทศในภายภาคหน้า

พวกเขามีแนวคิดในการออกแบบรายการอย่างไร ตั้งใจผลักดันชุมชนไปในทางไหน และมีมุมมองต่อการสนับสนุนศิลปินไทยอย่างไรบ้าง กร-ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัล บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน), กรรมการบริษัท ทีป๊อป อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด และค่ายเพลง XOXO Entertainment รวมถึง เอก้า-ดร.สหพร ยี่ตันสี Group Head ฝ่ายผลิต บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) อยู่ตรงนี้กับเรา พร้อมเล่าทั้งหมดอย่างไม่มีกั๊ก

T-POP Stage Show รายการดนตรีไทยป๊อป ที่มีภารกิจสร้างคอมมูนิตี้เขย่าวงการเพลงไทย

ระบบนิเวศของเสียงเพลง

เอก้าเป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำรายการหลากหลาย แต่อย่างหนึ่งที่โดดเด่นของเธอก็คือ Music Content ด้วยความที่เป็นนักเต้น ชอบดูการเต้น จึงมีศิลปินเต้นเป็นความชื่นชอบส่วนตัว ซึ่ง The Mask Singer, X Factor, Wall Song หรือ T-POP Stage Show ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของโปรดิวเซอร์ผู้รักเสียงเพลงคนนี้

สำหรับกร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เขาเป็นผู้บริหารของเวิร์คพอยท์ที่ตอนนี้มาดูแลเรื่อง T-POP ด้วย

T-POP Stage Show เริ่มจากก่อนโควิด เราไปต่างประเทศค่อนข้างถี่ ไปสัมมนาของ Google ของ Facebook แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีคนเก่ง ๆ ทั้งโลกมารวมกัน” กรเริ่มเล่าที่มาที่ไป “ทุกครั้งที่ไปก็จะมีคนมาทัก The Mask Singer สนุกดี The Rapper สนุกดี คนที่นู่นเขาก็ดูเราผ่านออนไลน์นี่แหละ เลยรู้สึกว่าถ้าคอนเทนต์ไทยไปต่างประเทศ ดนตรีอาจจะจำง่ายสุด แล้วเราก็คิดว่าถ้าทำคอมมูนิตี้ขึ้นมาก็จะง่ายขึ้นอีก”

เวิร์คพอยท์ได้เปิดบริษัท ทีป๊อป อินคอร์ปอเรชั่น ขึ้นมาเพื่อเป็นคอมมูนิตี้ ซึ่งชุมชนนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง เราจะค่อย ๆ ล้วงลึกไปทีละอย่าง

T-POP Stage Show รายการดนตรีไทยป๊อป ที่มีภารกิจสร้างคอมมูนิตี้เขย่าวงการเพลงไทย

“ง่ายที่สุดเลยคือรายการทีวี ก็เลยทำ T-POP Stage Show ขึ้นมา ให้เอก้ามาช่วยทำ เนื่องจากเดี๋ยวนี้มันไม่มีรายการเพลงแล้ว” กรบอกว่าเมื่อก่อนยังเคยมีบ้าง ถ้ายุค โลกดนตรี หรือ 7 สีคอนเสิร์ต ก็จะเป็นเวทีให้วงมาเล่นทุกเสาร์-อาทิตย์ ส่วนยุค MTV, Channel V คือมีวีเจมาพูดแล้วก็โยนเข้าเพลง สุดท้ายรายการหายไปเพราะศิลปินมีช่องทางโปรโมตเป็นของตัวเอง แต่หากเป็นอย่างนั้น ศิลปินจะได้แค่พื้นที่ของตัวเอง ไม่ไปสู่คนอื่น พวกเขาจึงคิดว่าควรทำสเตจกลางไว้

นอกจากรายการ หลายคนอาจเห็นว่าพวกเขาทำค่ายเพลงเล็ก ๆ ชื่อ XOXO Entertainment ขึ้นมาด้วย

“จะได้รู้ว่าค่ายเขาเจอปัญหาอะไรกัน” กรบอกเหตุผล จริง ๆ แล้วค่ายเพลงมาก่อนรายการเล็กน้อย แต่อยู่ในแผนเดียวกัน “ตอนไปต่างประเทศ เราถามประเทศอื่นว่า Ecosystem ของอุตสาหกรรมเพลงเป็นยังไง เขาก็บอกว่า เกิร์ลกรุ๊ปยากที่สุด เพราะมีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องเพลง เสื้อผ้า หน้า ผม การซ้อม สารพัดสิ่ง ก็เลยคิดว่า เอ้า! งั้นลองของที่ยากที่สุดไว้เลย”

T-POP Stage Show รายการดนตรีไทยป๊อป ที่มีภารกิจสร้างคอมมูนิตี้เขย่าวงการเพลงไทย

ที่กรหมายถึง คือวง 4EVE (ที่มี 7 คน) ศิลปินเบอร์แรกของค่ายที่มาจากรายการ 4EVE Girl Group Star กลางปี 2020 ตอนนี้ 4EVE ก็เป็นชื่อแรก ๆ ที่คนนึกออก เมื่อพูดถึงเกิร์ลกรุ๊ปเลือดใหม่ที่มีคุณภาพ

“แล้วเราก็มีแอปพลิเคชันเอาไว้สื่อสาร ให้คนเห็นว่าแต่ละอาทิตย์มีศิลปินคนไหนปล่อยเพลงใหม่บ้าง ช่วงนี้ศิลปินลงอะไรในโซเชียลมีเดีย เอาไว้แสดงยอดสตรีมมิ่งทาง Spotify ยอดสตรีมมิ่งทาง YouTube แล้วก็เอาไว้ให้คนโหวต”

การโหวตนำไปสู่การจัดอันดับในรายการ แรก ๆ มีเพียงโหวตฟรี แต่เมื่อแฟน ๆ เรียกร้องอยากควักกระเป๋า การโหวตแบบเสียเงินจึงเกิดขึ้น แต่ก็มีการกำหนดจำนวนเงินในแต่ละวันเอาไว้ ไม่ให้แฟนคลับใช้เงินเยอะเกินความพอดี

“เวลามีคนจัดรางวัลโหวต คนจัดเขามักจะเอาศิลปินที่มีแฟนเยอะ ๆ ไป เพื่อให้แฟนตามไปโหวตเสียสตางค์ให้ แต่ตัวศิลปินไม่ได้อะไร พอเราทำเลยคิดว่าถ้าจะมีโหวต เราจะแชร์กลับไปที่ค่ายเพลง ศิลปินจะได้มีรายได้จากสิ่งนี้ด้วย เผลอ ๆ บางคนรายได้ค่าโหวตเขาดีกว่ารายได้สตรีมมิ่งอีกนะ” มากไปกว่านั้น พวกเขายังมีงาน Award ประจำปี (จัดต้นปี) และ Festival (จัดปลายปี) ขึ้นมา นอกเหนือไปจาก Stage ในแต่ละอาทิตย์ เพื่อให้ Ecosyetem แข็งแรงขึ้นไปอีกด้วย

T-POP Stage Show รายการดนตรีไทยป๊อป ที่มีภารกิจสร้างคอมมูนิตี้เขย่าวงการเพลงไทย
T-POP Stage Show รายการดนตรีไทยป๊อป ที่มีภารกิจสร้างคอมมูนิตี้เขย่าวงการเพลงไทย

T-POP เป็นคำกลาง ๆ แปลว่าเพลงป๊อบไทย ทำไมต้องเป็นเวิร์คพอยท์ที่เป็นคนหยิบมาทำ – เราถาม

“คงคล้าย ๆ กับตอนทำ The Rapper มั้ง Rapper, Hiphop เขามีกันมานานแล้ว แค่ไม่มีคนช่วยระเบิดให้เขา T-POP ก็คล้ายกัน ต้องมีใครสักคนมาตะโกนให้ทุกคนฟัง ซึ่งเวิร์คพอยท์อาจจะเสียงดังหน่อย ก็เลยเป็นเราที่ช่วยตะโกน”

ถ้าในอนาคตคนอื่นทำรายการ T-POP บ้างล่ะ?

“ตอนทำ The Rapper ก็มีรายการอื่นนะ พร้อมกันเลยด้วย แต่ก็คุยกันว่า เออ! มีก็มาพร้อม ๆ กันเลย เพราะจุดประสงค์เราคือการเขย่าอุตสาหกรรมเพลง”

โชว์ลีลาอลังการ

กว่าจะมาเป็นรายการเพลงเพลิน ๆ แบบที่เราเห็นตอนนี้ โจทย์แรกที่กรและเหล่าผู้ใหญ่ให้มา คืออยากทำรายการสเตจโชว์สำหรับศิลปิน โปรดิวเซอร์มือทองอย่างเอก้าจึงลองดีไซน์ในหัวออกมาหลายตัวเลือก ไม่ว่าจะเป็น 1 สัปดาห์ ศิลปิน 1 คน เหมือนคอนเสิร์ตสมัยก่อน หรือแบบเกาหลีที่มีศิลปินหลากหลายใน 1 สัปดาห์ 

แต่ด้วยข้อจำกัดว่ารายการทีวีไทยไม่ได้มีความยาว 3 ชั่วโมงแบบเกาหลี จึงออกมาเป็นการแบ่งเป็น 3 ช่วง T-POP ในตำนาน, T-POP ที่มีชื่อเสียง, T-POP หน้าใหม่ และมี Special Stage ในบางครั้ง เพื่อนำศิลปินที่ไม่เคยร้องเพลงด้วยกันมาร่วมสร้างผลงานมาสเตอร์พีซ แต่เมื่อทำซ้ำไปเรื่อย ๆ แพตเทิร์นอย่างนั้นก็เริ่มจะน่าเบื่อ ทุกวันนี้รูปแบบรายการก็ยืดหยุ่นกว่าเดิมมากแล้ว

T-POP Stage Show รายการดนตรีไทยป๊อป ที่มีภารกิจสร้างคอมมูนิตี้เขย่าวงการเพลงไทย

กรบอกว่าสิ่งที่น่าประทับใจที่สุดสำหรับคนเบื้องหลังอย่างเขา คือศิลปินรุ่นใหม่เกือบทุกคนที่ปล่อยเพลงใหม่ อยากมาปล่อยของในรายการนี้กันมาก

ไม่ใช่แค่เหล่าศิลปินที่อยากมา สำหรับเราที่เป็นฝ่ายแฟนคลับและผู้ติดตามก็รู้สึกว่า T-POP Stage Show เป็นเวทีสำคัญเช่นกัน เมื่อก่อนที่รายการยังไม่เกิดขึ้น แฟนคลับต้องรอศิลปินไปโชว์บนเวทีแคบ ๆ ของรายการข่าวเช้าบ้าง รายการพูดคุยสัพเพเหระบ้าง รอชมศิลปินไปเล่นเกมโชว์ในรายการวาไรตี้บ้าง

“เรามีเกมโชว์เยอะ เห็นได้ชัดเลยว่าศิลปินบางคนเขาเคอะเขินกับการเล่นเกม แต่อันนี้เป็นการร้องเพลง เขาเลยสนุก ก็เลยอยากมากัน เขาอยากแสดงให้สิ่งที่เขาถนัด” กรเล่า

“สำหรับศิลปินบางคน เขาบอกว่านี่คือที่ที่ทำให้คนเห็น เพราะว่ามันคือทีวี บางคนเขามีกลุ่มของเขา เขาทำในยูทูบของตัวเองก็ได้ ไปงานคอนเสิร์ตของตัวเองก็ได้ แต่นี่เป็นอีกที่หนึ่งที่ทำให้คนดูทีวีเห็น” เอก้าเสริม ทั้งคู่บอกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นที่ของวัยรุ่น หากได้มาออกทีวี ฐานแฟนก็จะมีโอกาสขยายเพิ่มขึ้นอีก

“สิ่งหลัก ๆ ที่เราอยากสื่อสารกับคนดู คืออยากบอกว่ามีเพลงแบบนี้อยู่ นึกถึง T-POP ไม่ใช่ว่าต้องนึกถึงพี่เบิร์ดตลอดเวลา จริง ๆ แล้วยังมีศิลปินคนอื่น ๆ ที่พอเราเปิดเพลงในรถแล้วพ่อแม่หรือคนทั่วไปยังไม่รู้ เราอยากจะสื่อสารว่าจริง ๆ แล้วเขาเก่ง” เขาอยากให้คนดูรายการแล้ว ‘อ๋อ’ ขึ้นมาว่า คนร้องเพลงนี้เขาหน้าตาแบบนี้นี่เอง!

T-POP Stage Show รายการดนตรีไทยป๊อป ที่มีภารกิจสร้างคอมมูนิตี้เขย่าวงการเพลงไทย
T-POP Stage Show รายการดนตรีไทยป๊อป ที่มีภารกิจสร้างคอมมูนิตี้เขย่าวงการเพลงไทย

ยุคแรกเริ่ม เอก้าเสพเพลงไทย ร้องเต้นเอนจอยเพลงของศิลปินอย่าง แคทลียา อิงลิช, ญาญ่าญิ๋ง หรือ แร็พเตอร์ มาก่อน เมื่อถึงยุคหนึ่งที่คนไทยหันมาเล่นกีตาร์ ทำวงดนตรี แล้วศิลปินแดนซ์ ๆ แบบเดิมหายไป เธอก็หันไปฟังเพลงเกาหลีตามสมัยนิยม พอวันหนึ่งเพลงไทยแนว ‘คล้าย ๆ’ อย่างนั้นคืนชีพ จึงเรียกความสนใจเธอกลับไปได้อีกครั้ง

“เราสบายใจที่ฟังแล้วเข้าใจความหมาย แต่ก่อนฟังเพลงเกาหลีเราก็ได้แค่ซึมซับจังหวะ ต้องฟังประมาณ 345 รอบถึงจะร้องได้ใกล้เคียง” เธอหัวเราะร่า “เราเลยคิดว่าเพลงไทยก็มีเสน่ห์ของตัวเองนะ ศิลปินไทยเองก็เก่งด้วย พอรู้ประวัติแล้วอยากบอกทั้งโลกเลยว่า นี่คือคนไทย ดูวิธีการเขียนเพลงของเขาสิ”

จริง ๆ แล้วกระแสเพลงไทยคลื่นใหม่กับรายการ T-POP Stage Show เริ่มขึ้นพร้อม ๆ กัน โปรดิวเซอร์เอก้าเล่าให้เราฟังว่า เมื่อ 9 ปีที่แล้วที่พวกเขาทำวง Gaia จะทำอะไรก็ดูเหมือนจมหายไปเสียหมด แต่พอยุค BNK48 มาถึง กลายเป็นว่าคนไทยเริ่มกลับมาฟังเพลงไทยอย่างไม่น่าเชื่อ และเพลงแบบวงไอดอลก็กลับมาเป็นเทรนด์

เจาะลึกเบื้องหลังการวางแผนผลักดัน T-POP รันระบบนิเวศวงการเพลงของทีมเวิร์คพอยท์ กรณ์ ชลากรณ์ และ เอก้า สหพร

“แต่ตอนนี้ทั้งวงการเพลงมันคึกคักขึ้น ไม่ได้เจาะจง Genre ไปขนาดนั้นนะ” ผู้บริหารอย่างกรเห็นต่าง “สังเกตดี ๆ รายการนี้อินดี้ก็มา แรปเปอร์ก็มา บอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปก็มา ป๊อปสีลูกกวาด ก็มา R&B ก็มา”

แล้วตกลง T-POP คืออะไรกัน?

“สำหรับเด็ก ๆ เขาคาดหวังให้ T-POP เป็นแบบ K-Pop เนื่องจากเด็ก ๆ วันนี้เขาอาจจะโตมากับ K-Pop ส่วนอีกยุคหนึ่งที่โตมากับ BNK48 ก็อาจจะบอกว่า เฮ้ย ไม่ใช่นะ ต้องรวมไอดอลไปด้วย พวกฝั่ง Pop Rock ก็จะเฮ้ย แล้วพวกฉันอยู่ไหนวะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งหมดคือ T-POP หรือ Thai Pop นี่แหละ

“อย่าเพิ่งไปแยกว่ามันเป็นแนวอะไร เราต้องรวมกันแล้วหาสักชื่อมาเรียก คนนอกประเทศจะได้หันมา พอไม่มีชื่อเรียกมันจะไปแค่เป็นส่วน ๆ” เขาหมายถึงศิลปินหลายคนที่เคย ‘โกอินเตอร์’ ไม่ว่าจะเป็น T-BONE ที่เคยไป Glastonbury เป็น Thaitanium ที่เคยไป World Tour เป็น ทาทา ยัง, คริสติน่า อากีล่า ที่เคยได้รางวัล MTV หรือศิลปินยุคใหม่อย่าง Phum Viphurit หรือ MILLI ที่มีกระแสพูดถึงในต่างประเทศ 

“มันจะไม่เกิดอะไรขึ้นกับวงการ ถ้าไม่มีคอมมูนิตี้เป็นก้อน มันจะสำเร็จเป็นชิ้น ๆ แล้วหายจากกัน”

เสียดายจริง ๆ ถ้าจะเป็นแบบนั้นตลอดไป

เจาะลึกเบื้องหลังการวางแผนผลักดัน T-POP รันระบบนิเวศวงการเพลงของทีมเวิร์คพอยท์ กรณ์ ชลากรณ์ และ เอก้า สหพร

ถึงเวลาตีให้ฟู

T-POP Festival ที่กำลังจะเกิดขึ้น (ที่จริงก็เกิดขึ้นวันแรก วันที่ลงบทความนี่แหละ) ทีมงานตั้งใจรวมรวมศิลปิน T-POP ทั้งหมดเท่าที่จะจัดการไหว มาทำโชว์แบบ Full Scale ด้วยกันในงาน โดยแบ่งเป็นหลาย ๆ เวทีให้เลือกเสพตามใจชอบ ซึ่งนอกจากส่วนของโชว์ ยังมีพื้นที่จัดบูทศิลปิน มีการออกร้านขายของ มีมาสคอตให้ถ่ายรูปกันสนุกสนานในบรรยากาศเทศกาลด้วย เฟสติวัลเป็นอย่างสุดท้ายที่พวกเขาเติมขึ้นมาเพื่อให้ระบบนิเวศของเสียงเพลงนี้แข็งแรง กรเชื่อว่าหากข้างในประเทศแข็งแรงแล้ว การจะไปข้างนอกก็คงไม่ใช่เรื่องยาก

“ตอนนี้ T-POP กลายเป็นคำฮิตไปแล้วนะ ใคร ๆ ก็พูดถึง แต่ก่อนยังไม่ติดหู สตรีมมิ่งต่าง ๆ ก็เลยมีแต่เพลย์ลิสต์ K-Pop, J-Pop ส่วนศิลปินไทยก็ใช้ชื่อรวม ๆ อย่างฮิตติดกระแส แต่หลัง ๆ นี่แทบทุก สตรีมมิ่งมีเพลย์ลิสต์ T-POP แปลว่าคำมันเริ่มได้แล้ว

“เหลือแค่เราต้องตีให้ฟูไปอีก” เขามุ่งมั่น 

เจาะลึกเบื้องหลังการวางแผนผลักดัน T-POP รันระบบนิเวศวงการเพลงของทีมเวิร์คพอยท์ กรณ์ ชลากรณ์ และ เอก้า สหพร

“คำฮิตแล้ว แต่การซัพพอร์ตยังไม่เยอะ ยุคนั้นเพลงไทยแข็งแรงเพราะขายเทปเป็นร้านตลับ พอมายุคนี้ที่สนับสนุนกันทางสตรีมมิ่ง มันยังไม่พอกับ Ecosystem ศิลปินจะทำเพลงร้อยล้านวิวได้สักกี่เพลงในรอบปี เราต้องสนับสนุนสินค้าเขาด้วย เพื่อให้รายได้ถึงศิลปิน”

กรเล่าว่าศิลปินยุคนี้มักจะอยู่ได้ด้วยการทัวร์ผับ ซึ่งการจะเข้าไปอยู่ในผับไทยได้ ประเภทของเพลงมักถูกจำกัด หากไม่นั่งชิลล์ ก็ต้องเป็นเพลงร็อกหน่อยหรือโจ๊ะหน่อย แล้วพอรายได้อยู่ที่การร้องเพลงกลางคืน อายุศิลปินก็จะสั้น เนื่องจากต้องวิ่งกันหลายสิบงาน กว่าจะเพียงพอในการหล่อเลี้ยงค่ายเพลงให้อยู่รอด ฉะนั้น การขายสินค้า ขาย Physical Album ให้ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

“เราถึงต้องทำคอมมูนิตี้ พอมีเฟสติวัลก็ขายง่ายขึ้น เขาอาจจะซื้อด้วยบรรยากาศ” ในช่วงเวลานี้ที่วงการเพลงไทยกำลังรีบูต เบื้องหลังอย่างพวกเขากำลังคิดกันหัวแตก ว่าจะมีทางไหนบ้างที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ คลั่งไคล้ และจ่ายเงินให้ได้อย่างที่ทำกับศิลปินต่างประเทศ “ตอนนี้เขายังไม่รู้สึกอินกับ Ecosystem ความรู้สึกมันต้องสร้างกันเยอะ”

เราคิดตามสิ่งที่เขาพูด พลางนึกไปถึงอุตสาหกรรมไอดอลของเกาหลีหรือญี่ปุ่นที่มีการ ‘ขายอัลบั้ม’ กันอย่างจริงจัง และแฟนคลับก็พากันซื้อคนละเป็นตั้งเพื่อผลลัพธ์บางอย่าง เป็นต้นว่ายอดขาย บัตรเข้าร่วมกิจกรรม หรือของสะสมบางอย่างที่มากับอัลบั้ม ความอินนั้นจะพาให้ศิลปินอยู่รอดได้ก็จริง แต่เมื่อคิดให้รอบด้าน สิ่งเหล่านี้ก็ออกจะขัดแย้งกับประเด็นแห่งยุคสมัยอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่น้อย นั่นอาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมเพลงไทยควรคำนึง

“สุดท้าย เรื่องนี้สำคัญ” กรกล่าว “ในการอยากสนับสนุนน่ะ บางครั้งความคาดหวังมันไปเร็วเกินไปหน่อย บางทีเพลงนี้ขออีกหน่อย บางทีทำไมค่ายนี้เขาไม่ซัพพอร์ตศิลปิน ทำไมถ่ายวิดีโอไม่สวยเลย เขากำลังค่อย ๆ ไปนะ ใจเย็นกันนิดหนึ่ง

“ความยากของเราคือรัฐยังไม่ได้กระโดดมาอย่างเต็มตัวเหมือนอย่างญี่ปุ่น เกาหลี แต่ถ้าพูดแบบพยายามทำความเข้าใจ การจัดสรรงบประมาณมาตรงนี้อาจจะยากสำหรับรัฐ เพราะว่าเรื่องอื่นยังลำบากอยู่ เขาอาจจะกลัว พอจะสนับสนุน เขาก็จะไปในวิถีของเขา ซึ่งอาจจะไม่ได้เข้าใจในบริบทว่ามันเป็นอีกเจเนอเรชันหนึ่งแล้ว

เจาะลึกเบื้องหลังการวางแผนผลักดัน T-POP รันระบบนิเวศวงการเพลงของทีมเวิร์คพอยท์ กรณ์ ชลากรณ์ และ เอก้า สหพร

“อยู่ดี ๆ จะรอให้ทุกคนกลายเป็น MILLI ถึงไปอ้างสิทธิ์ในความเป็นเชื้อชาติ มันไม่ได้นะ ทำไมเราไม่เริ่มที่ผลักดันไปพร้อมเขา” เอก้าเสริม

เราเฝ้ารออย่างมีความหวังว่าสักวันหนึ่งวงการเพลงไทยจะเฟื่องฟู คนฟังก็สนุกสนานกับแนวเพลงที่หลากหลาย ศิลปินก็ได้ทำอาชีพที่ชอบด้วยรายได้ที่เหมาะสม และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอ

“อยากให้ช่วยกันหันมาดูศิลปินไทย เพลงไทยกันเยอะ ๆ นะ ชอบก็ฟังไม่ชอบก็ข้าม เชื่อว่าหาไปเรื่อย ๆ จะเจอสักวงที่ชอบ” กร ผู้บริหารนักผลักดัน T-POP พูดส่งท้าย

เจาะลึกเบื้องหลังการวางแผนผลักดัน T-POP รันระบบนิเวศวงการเพลงของทีมเวิร์คพอยท์ กรณ์ ชลากรณ์ และ เอก้า สหพร

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์