“Hello everybody! We are T-Bone. Enjoy with us… and enjoy yourself, man!”

หากคุณเป็นแฟนเพลงของ T-Bone คงคุ้นเคยกับประโยคนี้เป็นอย่างดี เพราะเกือบทุกคอนเสิร์ต ‘แก๊ป’ นักร้องนำมักต้องเอ่ยข้อความนี้เพื่อทักทายผู้ชมเสมอ

ทันทีที่บทเพลงอย่าง เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม, แรงดึงดูด, กอด, กลิ่น, โต๋ ล่ง ตง, One Love วันรัก หรือ มาลัยยอดรัก บรรเลงขึ้น ผู้ชมต่างร้องตามได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนก็ตาม

และต่อให้ไม่เคยฟังมาก่อนก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะด้วยจังหวะดนตรีที่สนุกสนาน ทำให้ใครหลายคนออกท่าออกทางแบบไม่เกรงใจใคร จนอดสงสัยไม่ได้ว่า พวกเขามีพลังพิเศษอะไรถึงดึงดูดและกระตุ้นอารมณ์ผู้คนได้มากมายเช่นนี้

ไม่เพียงแค่นั้น T-Bone ยังโด่งดังไปไกลถึงระดับนานาชาติ ได้ร้องเพลงไทยในเวทีทั่วโลกมาแล้วมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘Glastonbury Festival’ เทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ

หากแต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือการที่พวกเขาลงหลักปักฐานแนวเพลงเร็กเก้-สกา ขึ้นในเมืองไทย จนกลายเป็นต้นแบบให้ศิลปินรุ่นหลังหลายวงเดินตามจนถึงปัจจุบัน

และในวาระที่ T-Bone กำลังเข้าสู่ขวบปีที่ 30 ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ถือจังหวะดี ชักชวนสองพี่น้องแกนหลักของวง กอล์ฟ-นครินทร์ ธีระภินันท์ และ แก๊ป-เจษฎา ธีระภินันท์ มาร่วมพูดถึงเรื่องราวความฝัน ความคิด และความรักที่มีต่อวงการดนตรีที่ไม่เคยจางหายไปไหนเลย

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

01
ทางแยกที่เชื่อมต่อกัน

แม้จะเป็นพี่น้องที่คลานตามกันมา แต่ใครหลายคนมักพูดว่า ทั้งคู่แทบไม่มีอะไรคล้ายกันเลย

กอล์ฟและแก๊ปเกิดในครอบครัวตำรวจสันติบาล ตอนเด็ก ๆ ทั้งคู่อาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัดตลอด ช่วงแรก ๆ ก็อยู่ที่สงขลา จากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่เพชรบุรี ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนต่อชั้นมัธยม

ความต่างที่ชัดเจนที่สุดของทั้งคู่ คงเป็นเรื่องความคิดและบุคลิกภาพ โดยเฉพาะแก๊ป ซึ่งค่อนข้างเป็นศิลปินสูงและคิดนอกกรอบอยู่ตลอดเวลา

“พี่กอล์ฟเขาเป็นคนเรียบร้อย ไม่ค่อยออกนอกลู่นอกทาง แต่ผมเป็นขบถ หนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็กเลย” แก๊ปเอ่ยพร้อมเสียงหัวเราะ

หากสิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน คือ ‘ความหลงใหลเรื่องดนตรี’

กอล์ฟเริ่มหัดเล่นดนตรีตั้งแต่ 10 ขวบ เพราะเห็นเพื่อนข้างบ้านที่สงขลาเดินถือกีตาร์ผ่านไปมาอยู่ตลอด พอเลิกเรียนก็ฟังเขาเล่น จนกลายเป็นความประทับใจ อยากมีกีตาร์เป็นของตัวเอง ซึ่งแม่ก็สนับสนุน ยอมซื้อมาให้หัดเล่น ต่อมาเมื่อเข้ากรุงเทพฯ ก็เริ่มตั้งวงดนตรีกับเพื่อน เล่นตามกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ส่วนแก๊ปก็สนใจเพลงอยู่บ้าง แต่ยังไม่ถือว่าจริงจังเท่าใดนัก จนช่วงที่ย้ายมาเมืองหลวง มาอาศัยอยู่กับน้าสาว พอดีเธอเพิ่งกลับมาจากสหรัฐอเมริกา จึงขนแผ่นเสียงดี ๆ ติดมาด้วย ทั้ง Queen, Stevie Wonder และ The Beatles แก๊ปจึงถือโอกาสลองหยิบมาเปิดฟังดูแล้วติดใจเรื่อยมา

ยิ่งเติบโตขึ้น โลกการฟังเพลงของสองพี่น้องก็ยิ่งเปิดกว้าง พวกเขาเป็นแฟนตัวยงของรายการวิทยุ อย่าง จิ๊กโก๋ยามบ่าย และ ไนท์สปอต รวมทั้งเป็นลูกค้าขาประจำของเทปก๊อปปี้ยี่ห้อดัง ‘พีค็อก’

“เราซื้อตั้งแต่สมัยเป็นรถกระบะจอดที่คลองถม ไปขนกัน เพราะสมัยก่อน หากอัลบั้มไหนไม่ได้รับความนิยมพอ ก็จะไม่ปั๊มเทปขายในเมืองไทย อย่าง Pink Floyd กว่าจะได้ฟังกัน เขาออกกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว” แก๊ปเท้าความ

“เราซื้อตั้งแต่ม้วนละไม่กี่สิบบาท จนขยับเป็น 20 แล้วถ้าซื้อ 4 ม้วนแถมม้วนหนึ่ง” กอล์ฟว่าตาม

“เหมือนเขามีแผ่นเสียงเยอะเลยทำออกมา แล้วเขากล้าผลิตงานที่คนอื่นไม่กล้า อย่างเร็กเก้ ผมก็รู้จักจากเทป ม้วนแรกคือ The Police หรืออย่าง Bob Marley น้องสาวผมซื้ออัลบั้ม Babylon by Bus มาแล้วไม่ชอบ แต่คิดว่าพี่แก๊ปน่าจะชอบก็เลยเอามาให้” แก๊ปเล่าจุดเริ่มต้นของเขากับเพลงสไตล์จาเมกา

หลังเรียนจบชั้นมัธยมต้น สองพี่น้องก็ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่วิทยาลัยช่างศิลป โดยได้แรงบันดาลใจมาจากน้าสาวคนเดิม ซึ่งกอล์ฟสอบอยู่ 2 ครั้งถึงเข้าได้ ส่วนแก๊ปใช้เวลาถึง 4 ปีจึงสอบติด

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

ระหว่างนั้น แก๊ปตัดสินใจออกจากบ้าน ไปอยู่กับเพื่อนแถวสลัมย่านกิ่งเพชรบ้าง บุคคโลบ้าง หาเช้ากินค่ำ เคยใช้ชีวิตด้วยการซื้อขนมปังมาทาสังขยาขาย แถมยังเคยอยู่ใกล้ชิดกับยาเสพติดอีกต่างหาก แต่โชคดีที่รอดพ้นมาได้ เพราะเพื่อนที่เสพชี้หน้าบอกว่า ‘ห้ามแตะต้องโดยเด็ดขาด’ ก่อนที่สุดท้ายจะหวนกลับมาเรียนในสถาบันตามที่ตั้งใจไว้

ชีวิตที่วิทยาลัยช่างศิลป ถือเป็นจุดเปลี่ยนของสองพี่น้องเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะคนพี่ ซึ่งพบว่าความหมายที่แท้จริงของศิลปะนั้นลึกซึ้งและกว้างไกล และศิลปะแขนงที่ดึงดูดเขาได้มากกว่าก็คือ ‘ดนตรี’

“ตอนที่เลือกมาทางดนตรี เพื่อนหลายคนก็ตกใจ เพราะศิลปะเราก็ไปได้ดี แต่ผมรู้สึกว่าทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกันไม่ได้ อีกอย่างคือผมโชคดีที่มีครูประจำชั้นที่ดี นั่นคือ อาจารย์มณเฑียร บุญมา แกเป็นศิลปินหัวก้าวหน้ามาก เอาความเป็นไทย เอาอะไรหลายอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้เข้ามาอยู่ในงาน แต่ที่สำคัญที่สุดคือแกทำให้รู้ว่า เรามีตัวเลือก มีวิธีแสดงผลงานที่หลากหลายมาก”

ช่วงนั้นกอล์ฟเริ่มเรียนดนตรีแจ๊สจริงจังกับปรมาจารย์หลายคน ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์สำราญ ทองตัน หรือ อาจารย์ประทักษ์ ใฝ่ศุภการ ขณะเดียวกันก็รวมตัวกับเพื่อนอย่าง เมย์-ภควัฒน์ ไววิทยะ และ เก๋-จิโรจ วรากุลนุเคราะห์ ตั้งวงดนตรีเล่นภายในวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเล่นเพลงบลูส์และแจ๊ส ขณะที่ฝั่งน้องชายก็มีวงของตัวเองต่างหาก โดยมีมือกลองคนเดียวกันคือ หนุ่ม-พิรศุษม์ พัฒนะจินดารักษ์ เนื่องจากตอนนั้นทั้งวิทยาลัยมีแค่หนุ่มคนเดียวที่มุ่งมั่นทางสายนี้ จึงรับเหมาตีให้หมดทุกวง

หลังเรียนจบ กอล์ฟมุ่งสายดนตรีเต็มตัว โดยไปร่วมเล่นกับนักดนตรีรุ่นใหญ่ แต่ปัญหาคือ ภาพลักษณ์ที่ดูเรียบร้อยเกินไป เหมือนข้าราชการเล่นดนตรี แถมบางคนก็บอกว่าเขาเล่นดนตรีไม่รู้เรื่อง ไม่นานก็ต้องออกจากวง แต่กอล์ฟก็ไม่ท้อเพราะอยากได้ประสบการณ์ และเข้าใจดีว่าพื้นฐานความชอบของแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่จำเป็นที่มือกีตาร์ทุกคนต้องเล่นเหมือนกัน กระทั่งตอนหลังจึงมาตั้งวงของตัวเอง เล่นในเกสต์เฮาส์ของเพื่อนที่ซอยงามดูพลี ด้านหลังโรงแรมมาเลเซีย

ขณะที่แก๊ปก็มีเส้นทางที่ฉีกไปอีกแนว โดยหลังเข้าวิทยาลัยช่างศิลปไปได้พักหนึ่ง เขาก็พบว่าการศึกษาในระบบไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเท่าใดนัก ด้วยคิดว่าศิลปะอยู่ในหัวใจ ต่อให้ไม่เรียนก็ทำงานได้ รวมทั้งตอนนั้นแก๊ปได้รับโอกาสจากผู้คนในแวดวงแฟชั่นให้มาช่วยออกแบบเสื้อผ้า เพราะฉะนั้น พอใกล้จะเรียนจบ เขาจึงตัดสินใจเดินไปหาอาจารย์เพื่อขอลาออก

“ตอนนั้นเหลืออีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว ผมก็ไปบอก อาจารย์เกริกบุระ ยมนาค ซึ่งเป็นคนเขียนภาพประกอบลงนิตยสาร ดิฉัน ว่า ผมไม่เรียนแล้ว แกก็มองหน้าแล้วบอกว่า อีกเดือนเดียวเองนะ ผมก็บอกว่า ไม่รอแล้ว จะทำงานเลย แกก็บอกว่า เออ…ไปเลย มึงไปแล้วได้ดีแน่”

จากนั้นแก๊ปทำงานประจำเป็นดีไซเนอร์ รวมถึงเริ่มต้นแบรนด์กางเกงยีนส์ของตัวเองในชื่อ ‘T-Bone’ ซึ่งได้ไอเดียมาจากชื่อของนักดนตรีเพลงบลูส์ชื่อ T-Bone Walker

ท่ามกลางเส้นทางการเติบโตที่แตกต่างกัน ไม่น่าเชื่อว่า วันหนึ่งชีวิตของทั้งคู่จะกลับมาบรรจบกัน พร้อมกับวงดนตรีใหม่ที่กอล์ฟขอยืมชื่อมาจากผลิตภัณฑ์ของน้องชายนั่นเอง

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

02
เส้นทางสู่จังหวะเร็กเก้

วงดนตรีเพลงบลูส์ของกอล์ฟที่ซอยงามดูพลีนั้นค่อนข้างประสบความสำเร็จ ฝรั่งที่มาพักในเกสต์เฮาส์ต่างชื่นชอบ เป็นเครื่องยืนยันว่า เขาร่วมเล่นดนตรีกับคนอื่นได้ โดยระหว่างนั้นมีเพื่อนฝูงมาร่วมแจมอยู่ตลอด รวมถึง แก๊ป น้องชาย ซึ่งมาร่วมร้องแบบสนุก ๆ

“มันเหมือนเรามาถูกทางแล้ว เพราะเวลาเราเล่นกับคนอื่น ข้อดีคือเราได้แชร์ความรู้สึกร่วมกัน แต่ขณะเดียวกันก็ยังได้ขัดเกลาตัวเองด้วย ยิ่งเราทำเยอะ ก็ยิ่งเห็นทิศทางชัดเจนขึ้น อย่างเรื่องหนึ่งที่ผมเช็กได้เลยคือ เวลาเราเล่นกับใคร หากเป้าหมายของเขาเป็นเรื่องทำมาหากินมากกว่าความสุขจากการกระทำ ผลจากการรวมกันจะต่างกัน อย่างเช่นวงเด็ก ๆ ที่เป็นเพื่อนกัน สังเกตดู เขาจะมีพลังมาก ต่อให้เล่นไม่ดีก็ตาม ซึ่งประสบการณ์นี้ ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการจัดการ วิธีการเลือกบุคคลที่จะมาเล่นด้วย” กอล์ฟฉายภาพ

หลังจากนั้น กอล์ฟก็เริ่มนำวงไปออดิชันเล่นตามร้านต่าง ๆ เช่น Round Midnight Pub ตรงซอยหลังสวน และ Bluemoon แถวเกษรพลาซ่า ปรากฏว่าได้รับคัดเลือก และเมื่อทางร้านถามถึงชื่อวง กอล์ฟก็นึกถึงชื่อ T-Bone เลยตั้งเป็นชื่อขัดตาทัพไปก่อน

พอตอนหลัง แก๊ปก็เริ่มมาร่วมสนุกกับ T-Bone บ่อยขึ้น ผู้ชมเองต่างชื่นชอบสไตล์การร้องของเขา จนในที่สุดแก๊ปก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และมาเป็นนักร้องนำเต็มตัว

“ไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักดนตรีเลย ตอนนั้นผมรู้สึกเบื่อกลางวัน เบื่อรถติด ตอนกลางคืนโคตรสบาย แต่ก่อนรถไม่เยอะขนาดนี้ ไปไหนก็สะดวก นั่งรถเมล์ผ่านโรงหนัง ดูเสร็จก็มาทำงาน ซ้อม กลับบ้าน ตื่นบ่าย เป็นอีกชีวิตหนึ่ง ไม่วุ่นวายกับใคร” แก๊ปย้อนความทรงจำ

การมีแก๊ปเป็นนักร้องนำส่งผลให้แนวทางของ T-Bone เปลี่ยนไปพอสมควร พวกเขาเริ่มนำเพลงเร็กเก้ อย่างผลงานของ Bob Marley มาเล่นมากขึ้น เพราะแก๊ปสนใจเพลงสไตล์นี้

“เหตุผลที่สนใจเร็กเก้คงมาจากวิถีชีวิต เพราะการเดินทางท่องเที่ยว แสวงหา เจอผู้คน แล้วแต่ก่อนเราไม่ได้มีเพลงดี ๆ ฟัง นอกจากฝรั่งที่มาเที่ยว เขารู้ว่าเราชอบ เขาก็ให้เทปก่อนจะไป หรือทรงผมเดรดล็อกส์ มันก็มาเองโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ไปถัก มันเป็นของมันเอง บอกไม่ได้ แต่ไม่พยายามที่จะเป็น”

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย
30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

แม้ตอนนั้นทั้งวงจะมีแค่สองพี่น้องเท่านั้นที่ฟังเพลงเร็กเก้ แต่ข้อดีของการนําดนตรีสไตล์นี้มาเสริมก็คือ ทำให้วงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้ไปเล่นตามร้านดัง ๆ อาทิ Saxophone Pub & Restaurant, Blue Jeans มีแฟนเพลงประจำคอยติดตามอยู่เสมอ

ช่วงนั้นเองที่กอล์ฟเริ่มอยากเข้าใจถึงรากเหง้าของสิ่งที่ทำมากขึ้น จึงลัดฟ้าไปเรียนต่อด้านดนตรีที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปี โดยปล่อยหน้าที่ดูแลวงให้เป็นของน้องชาย

และเมื่อ พ.ศ. 2535 ก็มีจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เข้ามาหาพวกเขา เมื่อแก๊ปพบกับ จิก-ประภาส ชลศรานนท์ นักแต่งเพลงชื่อดังของยุค

เวลานั้นจิกเพิ่งลาออกจากค่าย KITA Records เพื่อมาเปิดสังกัดของตัวเอง MUSER Music & Service โดยสิ่งหนึ่งที่ค่ายน้องใหม่มองหาคือ ศิลปินที่แปลกแหวกแนวจากท้องตลาด เช่น ก่อนหน้านี้ค่ายได้นำนักโฆษณาหญิง แหม่ม-สุรัสวดี เชื้อชาติ มาร้องเพลงบลูส์ ในชื่อ Mama Blues หรือนำดีเจและรีมิกเซอร์หนุ่มจาก Smile Radio สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ มาทำโปรเจกต์ที่ชื่อ Z-MYX

T-Bone ก็เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่จิกเล็งไว้ เพราะยุคนั้นทั้งวงการไม่มีใครที่เล่นเพลงสไตล์นี้เลย เขาจึงชักชวนนักแต่งเพลงรุ่นน้อง ตู๋-ปิติ ลิ้มเจริญ มาดู T-Bone เล่นที่ Saxophone Pub & Restaurant

พอเล่นเสร็จ ตู๋ก็เดินเข้ามาหาแก๊ปแล้วบอกว่า “จิกอยากคุยด้วย”

“พี่จิกถามว่าทำเพลงไทยไหม ชอบมากเลย คือตอนนั้นเราเล่นแต่เพลงฝรั่ง ไม่เล่นเพลงไทย เพราะร้านไม่ให้เล่น ก็คิดอยู่พักหนึ่งว่าจะเอายังไงดี ก่อนจะตอบตกลงไป”

หากแต่การทำเพลงในสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ เพราะกระบวนการผลิตทั้งหมด ค่ายจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ตั้งแต่เนื้อร้อง ทำนอง เรียบเรียง ศิลปินแทบไม่ได้มีส่วนร่วมสักเท่าใดนัก อย่างในชุดแรก แก๊ปได้แต่งเองแค่เพลงเดียวคือ จากป่าแด่สืบ

หรือก่อนปรากฏตัวต่อสาธารณชน ก็ควรมีอะไรที่ดึงดูดสายตาผู้ชมได้ โดยเริ่มแรก T-Bone มีสมาชิกอยู่ 5 คน คือ แก๊ป นักร้องนำ, กอล์ฟ มือกีตาร์, หนุ่ม เพื่อนจากวิทยาลัยช่างศิลป ซึ่งเปลี่ยนจากกลองมาเล่นเพอร์คัชชัน, เจี๊ยบ-กนกศักดิ์ อิ่มสำอางค์ มือเบส และ ป๋อง-สมโภชน์ ชื่นศิริ มือกลอง ต่อมาทางค่ายจึงแนะนำ เปิ้ล-ธรรมนูญ ทัศโน มือกราฟิกหนุ่มหล่อให้มาร่วมวงอีกคนในตำแหน่งเพอร์คัชชัน

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

“เปิ้ลเป็นคนดู T-Bone มาก่อน พอพี่เขาแนะนำว่าอยากให้มาอยู่ด้วย เราก็ อ้าว มึงเองเหรอ ซึ่งจริง ๆ แล้ว เปิ้ลเล่นดนตรี ร้องเพลงไม่ค่อยได้ เราก็ต้องมาช่วยกันฝึก แต่ข้อดีคือเขาเป็นคนน่ารัก นิสัยโอเค ก็เลยอยู่ด้วยกันได้” แก๊ปเล่าถึงอดีตสมาชิกวง

อัลบั้ม จังหวะนี้ใจดีเข้ากระดูกดำ วางแผงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 นับเป็นครั้งแรกของวงการเพลงไทยที่ขายความเป็นเร็กเก้อย่างจริงจัง โดยมีเพลงเด่น อาทิ สมาคมเชื้อโรคแห่งประเทศไทย, คนหน้าลิง และ เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม ซึ่งเพลงหลังนี้ ค่ายมอบหมายให้เปิ้ลเป็นคนร้อง

หากแต่ในมุมมองของกอล์ฟและแก๊ป ความเข้มข้นของเร็กเก้ในเพลงอัลบั้มนี้ถือว่าเจือจางมาก ไปได้ไม่สุดทางเมื่อเทียบกับช่วงที่เล่นในผับ แถมเวลานั้นยังต้องทำเรื่องที่ไม่อยากทำหลายเรื่อง เช่น ออกสื่อเยอะ ๆ หรือไปร่วมเล่นรายการเกมโชว์

แต่ทั้งคู่ก็เข้าใจดีว่า นี่คือสูตรสำเร็จของอุตสาหกรรมเพลงในยุคเกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งผลที่ได้รับก็ถือว่าตามเป้าหมาย เพราะยอดขายเทปชุดนั้นสูงถึง 300,000 ม้วน และยังส่งผลให้ T-Bone กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศจนถึงวันนี้

ด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่มีใครเข้าใจงานเพลงของพวกเขาเท่ากับตัวเอง กลายเป็นแรงผลักดันให้ T-Bone พยายามมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือ หาลายเซ็นที่ชัดเจนขึ้น

ผลงานชุดที่ 2 อัลบั้ม คุณนาย…สะอาด เมื่อ พ.ศ. 2537 T-Bone ย้ายมาอยู่ในสังกัด Warner Music Thailand หลังจากจิกเลิกบริษัทและขายกิจการให้ค่ายเพลงอินเตอร์ โดยมีสมาชิกใหม่อีก 2 คน คือ สาม-สุภัค ใจเพ็ชร มือคีย์บอร์ด รวมถึงเร็กเก้เด็กนามว่า ออลันโด้ มาร่วมร้องและบรรเลง ซึ่งความจริง ออลันโด้ปรากฏตัวมาตั้งแต่มิวสิกวิดีโอในอัลบั้มแรกแล้ว

ในชุดนี้วงมีโอกาสร่วมสร้างสรรค์งานมากขึ้น ทั้งการเขียนเนื้อร้องและทำนอง การเรียบเรียง รวมถึงการบันทึกเสียงแบบเล่นสดในห้องอัด เพื่อให้ได้อารมณ์และความรู้สึกร่วมกับบทเพลงมากที่สุด

แต่ถึงอย่างนั้น ระหว่างทางก็ยังมีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เช่น ค่ายกำหนดกรอบมาให้ว่าเนื้อเพลงควรเป็นอย่างไร ซึ่งบางเพลงพวกเขาก็รู้สึกว่าโตกว่าวัยไปมาก อัลบั้มนี้จึงเป็นเสมือนการทดลองที่ยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร แถมยอดขายก็น้อยกว่าชุดแรกอย่างเห็นได้ชัด

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

พอปลายปีเดียวกัน T-Bone ก็ออกผลงานชุดที่ 3 อัลบั้มเล็กชิ้นสด พร้อมปรับเปลี่ยนสมาชิกบางส่วน โดยออลันโด้และมือเบสกับมือกลองได้ขอลาออกไป กอล์ฟกับแก๊ปจึงชักชวนสองพี่น้องตระกูลปานพุ่ม ซาร์-วิบูลย์ กับ เล็ก-อริญชย์ ซึ่งคุ้นเคยกันตั้งแต่สมัยเล่นในผับมาร่วมงานด้วย

อัลบั้มนี้ T-Bone เริ่มกลับมามีเพลงดังอีกครั้ง อาทิ แรงดึงดูด ซึ่งถูกนำไปใช้ประกอบโฆษณาขนมยี่ห้อหนึ่ง หรือ โต๋ ล่ง ตง ซึ่งแก๊ปได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงพื้นบ้านที่ชื่อ แมงตับเต่า

แต่ในมุมกลับกัน พวกเขารู้สึกเบื่อหน่ายกับระบบค่ายใหญ่ที่ไม่ให้อิสระในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ แก๊ปจึงไปช่วยเพื่อนทำค่ายเพลงที่ชื่อ Eastern Sky Records ที่ผลิตผลงานอย่างวงเหมี่ยวเอ๋อ และ Paradox อัลบั้ม Lunatic Planet

ทว่าระหว่างที่สมาชิกวงกำลังตัดสินใจกันว่าจะเดินต่อทางไหนดี เช้าวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2539 ก็เกิดข่าวใหญ่ขึ้นกับพวกเขา เพราะหลังเสร็จคอนเสิร์ตที่เพชรบูรณ์ ‘เปิ้ล มือเพอร์คัชชัน’ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต T-Bone จึงถือโอกาสหยุดพักสักระยะ เพื่อรอเวลาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

03
สู่ตัวตนที่ชัดเจน

“…กอดกันหน่อยได้ไหม ให้ฉันได้ชื่นใจสักที…”

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า อัลบั้มกอด เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 คือผลงานที่เป็นหลักไมล์สำคัญสะท้อนตัวตนและลายเซ็นของ T-Bone อย่างชัดเจน โดยอัลบั้มนี้ พวกเขาย้ายสังกัดมาอยู่ที่ Sony Music Entertainment (Thailand) เนื่องจากทั้งกอล์ฟและแก๊ปเริ่มทำงานประจำที่นี่ในฐานะคนเบื้องหลัง

สิ่งที่แตกต่างของอัลบั้มกอด เมื่อเทียบกับ 3 อัลบั้มก่อนคือ พวกเขาคิดและสร้างงานตามแนวทางที่อยากทำได้เต็มที่ อย่างโจทย์หนึ่งที่ทั้งกอล์ฟและแก๊ปรู้สึกมาตลอดคือ เพลงของ T-Bone เหมือนไม่มีพวก เวลาเปิดตามสถานีวิทยุก็หาเพลงเล่นต่อยาก หรือเวลาไปแสดงคอนเสิร์ตก็มักรู้สึกว่า เพลงสไตล์เร็กเก้ดึงอารมณ์คนได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงน่าจะเสริมด้วยเพลงสกา เพราะสกาคือต้นรากของเร็กเก้อีกที แต่มีจังหวะเร็วกว่าและใช้เครื่องเป่าเข้ามาช่วย ผู้ฟังน่าจะสนุกและอยากลุกขึ้นมาเต้นมากขึ้น

อีกอย่างคือช่วงนั้น Sony Music Entertainment (Thailand) กำลังจะเชิญวง Tokyo Ska Paradise Orchestra มาเปิดคอนเสิร์ตร่วมกับ T-Bone ที่ MBK Hall พวกเขาจึงต้องเร่งมือทำอัลบั้มนี้ให้ทัน ก่อนที่วงจากญี่ปุ่นจะมาถึงประเทศไทย

โดยภาคดนตรี T-Bone ได้เสริมความแข็งแกร่งของวง โดยชวน ปาเดย์ภาวัช ศิวะนันท์ อดีตสมาชิกวง Sepia มาเล่นแทนมือเบสคนเดิมที่ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส รวมถึงเรียบเรียงไลน์เครื่องเป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้รับผิดชอบส่วนนี้ก็คือ โก้-เศกพล อุ่นสำราญ มือแซ็กโซโฟนจากวง Boy Thai และสุดท้ายคือเพิ่มเสียงประสานของนักร้องหญิง ทำให้อารมณ์ของอัลบั้มนี้ฉีกแนวไปจากเดิมมาก

ส่วนเรื่องเนื้อเพลง หลายเพลงก็เพิ่งเริ่มต้นขึ้นระหว่างเริ่มบันทึกเสียงนั่นเอง

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

“บางครั้งก็นั่งนึกเอาเลย หรือบางทีก็มาจากคำเพราะ ๆ ที่จดไว้ คือไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราวหรอก เช่น ดูข่าวแล้วรู้สึกว่าคำนี้เจ๋งดี ก็เอามาสร้างเป็นเรื่อง อีกอย่างคือผมจะไม่อ่านหนังสือก่อนเขียนเพลง เพราะเคยเห็นคนลอกงานจากหนังสือ นิยาย กวี หรือแปลงเพลงฝรั่ง ซึ่งผมไม่ทำ สิ่งที่ผมเขียนมักจะเกิดขึ้นในชั่วขณะนั้นมากกว่า เช่น มีอะไรกดดันถึงเขียนออกมาได้” แก๊ปอธิบาย

“อย่างเพลง กอด ทำเร็วมาก ผมทำเมโลดี้เสร็จประมาณ 10 นาที เพราะเราต้องเล่นกับ Tokyo Ska Paradise เลยคิดว่าควรมีเพลงอะไรที่เป็นไทย ๆ บ้าง ซึ่งตอนที่คิดยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ แก๊ปมาทำให้สมบูรณ์ขึ้น แล้วก็เขียนคำร้อง ซึ่งลงตัว ณ เวลานั้นมาก เพลงนอกจากนั้นก็คิดที่ห้องอัดหมดเลย ทั้ง คำถาม และ ภาพลวงตา ข้อดีอย่างหนึ่งของอัลบั้มนี้คือทำให้เราแข็งแรงขึ้น เพราะหลังจากอัลบั้มชุดนี้ เรารู้สึกว่าเพลงดีหมดเลย” กอล์ฟเท้าความ

กอดถือเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ T-Bone ทั้งในแง่ยอดขายและคุณภาพของผลงาน มีเพลงดังหลายเพลง อาทิ กอด, กลิ่น, ดาวตก (เพ้อ), คิดถึงลมหนาว และ ทะเลและเวลา รวมทั้งยังได้มีโอกาสไปแสดงที่ญี่ปุ่น

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การที่พวกเขาทลายกรอบความเชื่อเดิม ๆ ด้วยการนำเพลงภาษาไทยไปแสดงต่อหน้าชาวต่างชาติ และยังดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้

“ผมเลิกร้องเพลงฝรั่งนานแล้ว เพราะว่าเนื้อเพลงไม่ใช่เรื่องของเรา บางคนถามว่า พี่แก๊ปเมื่อไหร่จะร้อง Bob Marley สักที ผมก็ตอบไปว่า ร้องทำไม เขาพูดถึงเรื่องของเขา อย่างมีฝรั่งมาดู คุณพูดเรื่องอะไร ไปพูดจาเมกาทำไม แค่นี้เขาก็รู้แล้วเราก๊อปปี้เขา แต่สิ่งที่ผมเป็นมันก็แค่ทรงผม แล้วเขาถามผมว่าเป็นไลฟ์สไตล์เหรอ ไม่ใช่…กูแค่แต่งเดรดล็อกส์” แก๊ปกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

สนทนากับ ‘กอล์ฟ-แก๊ป’ สองพี่น้อง T-Bone เร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย ที่ยังสนุกกับการสร้างสรรค์เพลงร่วมสมัยตลอดเวลา
30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

หลังโปรเจกต์กอดผ่านไปได้ด้วยดี พวกเขาก็มีงานใหม่ตามมาทันที เป็นมินิอัลบั้มชื่อ เบาหวาน โดยนำเพลงจากอัลบั้มกอด มาทำใหม่ในรูปแบบอะคูสติก อย่างไรก็ตาม ทั้งกอล์ฟและแก๊ปเริ่มรู้สึกอึดอัดกับระบบและการจัดการบางอย่างของบริษัท จึงตัดสินใจขอลาออก และรวบรวมสมัครพรรคพวกมาร่วมกันสร้างสรรค์งานเพลงตามแบบฉบับของตัวเอง

Hualampong Riddim ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2542 โดยมี 2 กำลังหลักคือ กอล์ฟ กับ โหน่ง-วิชญ วัฒนศัพท์ อดีตสมาชิกวงละอองฟอง ซึ่งเข้ามาเป็นมือคีย์บอร์ดคนใหม่ของ T-Bone

จุดเด่นของค่ายเพลงเล็ก ๆ นี้ คือการบันทึกเสียงสด ซึ่งแม้จะมีข้อผิดพลาดหรือไม่สมบูรณ์ แต่ก็เต็มไปด้วยพลังและความเป็นตัวตน โดยงานที่ออกมาก็มีตั้งแต่สายเร็กเก้-สกา อย่าง Skalaxy หรือ ส้ม-อมรา ศิริพงษ์ ศิลปินสกาหญิงคนแรกของเมืองไทย สายเพลงป๊อปอย่าง About Pop หรือเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง The Photo Sticker Machine

“โหน่งเป็นคนที่เก่งมาก เขามีซาวนด์ที่เป็นของเขา ซึ่งสิ่งที่เขามีนั้น ผมไม่มี ส่วนที่ผมมี เขาก็ไม่มี มันเลยเกิดการผสมผสานกัน เป็นซาวนด์อีกแบบ ซึ่งสำหรับผมแล้ว ค่ายนี้เป็นเหมือนอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งของดนตรีไทย ซึ่งช่วยให้วงการดนตรีพัฒนาขึ้น” กอล์ฟย้อนถึงตำนานค่ายเพลงในยุคอินดี้เฟื่องฟู

เช่นเดียวกับแก๊ป ซึ่งเริ่มหันมาบุกเบิกเพลงอีกแนวที่เรียกว่า ‘ดั๊บ’ (Dub) ในนามของ Ga-Pi

เพลงดั๊บมีรากฐานมาจากเร็กเก้อีกที โดยเสน่ห์ของดนตรีประเภทนี้เกิดจากขั้นตอนการมิกซ์เพลง โดยใช้เอฟเฟกต์เพื่อเพิ่มความน่าสนใจเข้าไป ทำให้เกิดเสียงที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ โดยผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมเสียงจะมีอุปกรณ์มิกเซอร์ เป็นสื่อกลางในการนำเสนอ ซึ่งนอกจากผลงานของตัวเองแล้ว แก๊ปยังอยู่เบื้องหลังวงดนตรีรุ่นน้องหลายวง เช่น Srirajah Rockers

“ผมสนใจดั๊บเนื่องจากต้องเรียนรู้เรื่องการมิกซ์เร็กเก้เอง เพราะในประเทศนี้ไม่มีใครทำให้ผมได้ แต่ผมทำแนวอื่นไม่เป็นนะ เก่งแต่แนวนี้ ผมจะสร้างตัวเองให้เป็น Dub Master เพื่อจะได้เป็นแนวทางและมาตรฐานต่อไป เหมือนเวลาเราอยากได้ซาวนด์แบบนี้ คุณก็ต้องไปหาโปรดิวเซอร์คนนี้ ไม่ใช่ใครก็ได้ เพราะผมเชื่อว่าโปรดิวเซอร์คนหนึ่งอาจจะทำเพลงได้ทุกแนว แต่ไม่มีใครเก่งทุกแนว” แก๊ปอธิบาย

แต่ถึงจะมีภารกิจอื่นให้ทำมากมาย ทั้งคู่ก็ไม่เคยทิ้ง T-Bone โดยยังคงเดินสายเล่นสดตามผับบาร์ต่าง ๆ อยู่ตลอด รวมถึงหาทางพัฒนาผลงานให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในนั้นคือการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน นอกจากโหน่งแล้วก็ยังมี เป้-ณัฐพล เฟื่องอักษร มือแซ็กโซโฟน ต่อมาเมื่อเป้ลาออก ก็ได้ อ้น-พิสุทธิ์ ประทีปะเสน มาแทน เช่นเดียวกับมือเบส หลังปาเดย์ย้ายไปร่วมงานกับวงฟองน้ำ แก๊ปก็ชวน นอ-นรเทพ มาแสง มือเบสวง Pause มารับหน้าที่แทน แล้วยังมี ปุ๊ก-ธนบูรณ์ เทพบุตร มาเล่นเทิร์นเทเบิล

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

ในยุคของ Hualampong Riddim เป็นช่วงที่ T-Bone เคลื่อนไหวค่อนข้างมาก ตั้งแต่อัลบั้ม Live ซึ่งบันทึกเสียงจากคอนเสิร์ตที่ร้าน Sidewalk Cafe ถนนข้าวสาร ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้ฟังได้เห็นดนตรีของวงในยุคปัจจุบัน คอนเสิร์ต FaT Live ครั้งที่ 2 มนต์รักเพลงสกา ณ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก และอัลบั้มเต็มชุดที่ 5 Enjoy Yourself รวมถึงยังมีผลงานร่วมกับศิลปินสาว Palmy อีกด้วย ทำให้แนวเพลงแบบ T-Bone เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

หากแต่บุคคลที่ทั้งคู่ยกให้เป็นผู้มีส่วนในการผลักดันวงมากที่สุด ก็คือ เต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

“เต็ดให้โอกาสเราเยอะมากเลย ทำให้เราได้เข้าไปอยู่ในซีนต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยเขาทำวิทยุ Hotwave ทำ FaT Radio จัดคอนเสิร์ตใหญ่ให้ แม้งานดนตรีดั๊บครั้งแรกของประเทศ ก็เกิดขึ้นในงาน Big Mountain Music Festival ซึ่งถ้าเต็ดไม่สนับสนุนตั้งแต่วันนั้น ไม่มีทางที่จะเกิดเวทีเร็กเก้ที่เป็นตัวของตัวเองได้ เหมือนตอนนี้เรามีฮิปฮอปไทยที่แข็งแรง เราก็มีเร็กเก้ไทยที่แข็งแรงเช่นกัน” แก๊ปเล่าให้ฟัง

“อย่างตอนพวกผมไปเทศกาลดนตรีที่อังกฤษ 2 ครั้ง เขาก็ไปกับเราด้วย ผมว่าเขามีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นอะไรเหล่านี้ ที่สำคัญที่สุดคือ เขาเป็นนักฟังเพลง ซึ่งตรงนี้คือสุดยอดเลย” กอล์ฟช่วยเสริม

และนอกจากการเป็นต้นแบบในประเทศแล้ว ในช่วงนี้เองที่ T-Bone กลายเป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงไปไกลถึงเมืองนอก โดยมีโอกาสได้ไปแสดงตามเทศกาลต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ Glastonbury Festival เทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548

จุดเริ่มต้นมาจากการที่ T-Bone มักได้รับเชิญให้ไปแสดงตามเกาะต่าง ๆ และช่วงคืนคริสต์มาส พ.ศ. 2547 ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ พวกเขาไปเล่นดนตรีอยู่ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พอดีในงานนั้นมีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งทำงานอยู่ที่ BBC อยากระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงเสนอไปยังสถานีขอจัดกิจกรรมแล้วนำ T-Bone มาร่วมเล่นด้วย ซึ่งสไตล์การเล่นของวงก็ไปเข้าตาผู้จัดเทศกาลดนตรีพอดี จึงเชิญให้มาร่วมแสดงด้วย นับเป็นวงไทยวงแรกที่ได้รับโอกาสใหญ่เช่นนี้

“มันเหมือนชิงโชคเลยนะ ลองนึกภาพเวลาที่ดนตรีมีคนประมาณแสนกว่าคนอยู่ในที่เดียวกัน มีเวทีตั้งไม่รู้กี่สิบเวที” กอล์ฟเปิดฉาก

“เราไม่ได้เล่นเวทีหลักนะ ก่อนจะไปเวทีหลักจะมีเต็นท์ เหมือนเต็นท์ละครสัตว์ แล้ววงต่าง ๆ ก็จะไปเล่นอยู่ในนั้น ซึ่งกว่าจะถึงเวทีใหญ่โคตรนานเลย” แก๊ปเล่าต่อ

“ถ้าคนชอบเขาจะหยุด แต่ถ้าไม่ชอบก็จะเดินไปเต็นท์อื่น ซึ่งเราโชคดีมากที่คนหยุด เพราะวงก่อนหน้าเราเป็นแร็ปแอฟริกัน ไม่มีคนเลย แล้วเวลาเล่นเทศกาลใหญ่ ๆ เขาไม่ได้ซาวนด์เช็กนะ ตั้งปั๊บเล่นเลย แต่ฝรั่งที่นั่นทำงานโปรมาก ทุกอย่างที่เราส่งให้ไป เขาทำตามนั้นเลย ไม่มีบิด เล่นมา 2 ครั้ง ทุกอย่างโอเค ต่อให้ดึกแค่ไหนก็เอาอยู่” กอล์ฟช่วยเสริม

“แล้วตอนนั้นเราเล่นเพลงไทยหมด ไม่มีฝรั่งเลย แต่ทุกคนก็ชอบ” แก๊ปทิ้งท้าย

จากนั้นพวกเขาก็ได้ไปร่วมงานนานาชาติอีกหลายหน เช่น WOMAD Festival ที่สิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. 2549 ก่อนกลับไปเล่นที่ Glastonbury Festival อีกครั้งในปีถัดมา

แต่ถึงได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนประเทศ ทว่าด้วยความที่เป็นวงเล็ก ๆ การเดินทางแต่ละครั้งจึงยากลำบากมาก แต่พวกเขาก็ไม่เคยท้อ จนกระทั่งพาวงดนตรีไทยไปหยัดยืนบนเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

“เราไปเมืองนอกทุกครั้งเป็นหน้าตาประเทศนะ แต่การสนับสนุน ผมทำเองหมด ซึ่งเหนื่อยมาก ต้องไปขอนั่นขอนี่ บางทีก็สงสัยว่าทำไมต้องไปขอด้วย เหมือนถอยกลับไปสัก 50 ปี ซึ่งที่พูดนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เราประสบด้วยตัวเองเท่านั้น แม้แต่คนรุ่นนี้ก็เหมือนกัน จริง ๆ เราควรมีกองทุนที่ช่วยเหลือเขา หากเป็นโปรเจกต์ที่ดีก็ดันไปเลย เป็นการคิดแบบระยะยาว” กอล์ฟผู้พี่อธิบาย

ขณะที่แก๊ปยกตัวอย่างงาน WOMAD Festival ซึ่งเป็นเทศกาลเวิลด์มิวสิก เขาได้พบกับวงหญิงล้วนวงหนึ่งจากเกาหลีใต้ที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์และความสามารถ

“เขาเล่นกลองโบราณกัน ตอนที่เจอมีกลองเต็มไปหมดเลย 50 กว่าใบ เราก็ถามว่ามายังไง รัฐบาลจัดเครื่องบินมาให้ลำหนึ่ง ขนกลองกับสมาชิกเกือบ 40 คน แล้ววงนี้พลังงานดีมาก คนกรี๊ดสลบ นี่เป็นตัวอย่างว่าเขาให้คุณค่ากับศิลปะ คนทำงานก็มีอาชีพได้ ทั้งที่เขามาหลังเราอีก

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

“ปัจจุบันนี้เรามีคนทำศิลปะเก่าแบบร่วมสมัยเต็มไปหมด เราควรไปสนับสนุนเขา เพราะเขาไม่ได้ทำลายศิลปะ แต่แค่คิดไปข้างหน้า เพื่อให้มันอยู่ได้ยาวขึ้น เหมือนดนตรีเร็กเก้ ทุกวันนี้ที่จาเมกาไม่มีใครเล่นแล้ว คนที่เราชอบตายหมดแล้ว ให้ผมไป ผมไม่ไปหรอก แต่สิ่งที่ยังอยู่คือจังหวะเร็กเก้ ซึ่งกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั้งในยุโรป ในเอเชีย ที่ญี่ปุ่นหรือไทย ผมก็เล่นอยู่หลายงาน ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่าเราสามารถทำได้ หากได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่”

อย่างไรก็ตาม แม้จะร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ทางดนตรีอย่างต่อเนื่อง แต่ในแง่ธุรกิจแล้วเป็นอีกเรื่อง เนื่องจากในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่เติบโต การทำดนตรีต้องพึ่งพาการผลิตเทป ซีดี และการใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นหลัก ซึ่งทุกอย่างล้วนมีต้นทุน ทั้งค่าพิมพ์ปก ค่าปั๊มแผ่น แถมยังต้องเผชิญกับแผ่น MP3 ที่ครองเมืองอีกต่างหาก ส่งผลให้กอล์ฟเป็นหนี้ก้อนโต สุดท้ายกอล์ฟจึงตัดสินใจวางมือ และส่งต่อค่าย Hualampong Riddim ให้โหน่งดูแลเต็มตัวแทน

“เป็นความผิดของผมเองที่ทำไม่เป็น เราเอาคนที่มีความตั้งใจมาทำด้วยกันแล้วมันล้มเหลว ผมก็ต้องรับผิดชอบ แต่ในมุมของดนตรี ผมรู้สึกดี ไม่เคยผิดหวังหรือเสียดายเลย เพราะถ้าลองไปเปิดเพลงหัวลำโพงยุคนั้น ก็จะพบว่ามันก็เป็นของมันแบบนี้ ซึ่งผมประทับใจมาก” กอล์ฟสรุป

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

04
วงดนตรีที่ไม่มีวันตาย

เกือบ 3 ทศวรรษบนถนนดนตรี T-Bone ถือเป็นผู้บุกเบิกเร็กเก้-สกาของเมืองไทย เปิดโลกการฟังที่แตกต่างให้แก่วงการดนตรี และยังมีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นใหม่อีกมากมาย จนหลายคนยกให้เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ พวกเขาไม่เคยหยุดสร้างสรรค์และพัฒนาตัวเองเลย

อย่างอัลบั้มเต็มชุดที่ 6 Bone In Da House เมื่อ พ.ศ. 2555 พวกเขาได้ชักชวนคนรุ่นใหม่หลายคนเข้ามาร่วมทีม ทั้ง ซันนี่-ณัฐพล มานิกัมปิลไล มือเบส, กุ๊ก-ธีรัช เลาห์วีระพานิช มือบาริโทนแซ็กโซโฟนและอัลโต้แซ็กโซโฟน, ฤษฎ-สฤษฎ ตันเป็นสุข มือทรัมเป็ต และสมาชิกหญิงคนเดียว จ๋า-ชญาณี มหาศรี เล่นคีย์บอร์ด รวมทั้งได้นักดนตรีชั้นนำชาวอังกฤษ Mike Pelanconi ซึ่งทำวงเร็กเก้-สกา ในชื่อ Prince Fatty มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ ตลอดจนมีศิลปินระดับโลก อย่าง Dennis Alcapone และ Horseman มาร่วมแจมอีกด้วย

สำหรับพวกเขาแล้ว อัลบั้มนี้คือความลงตัวและความสมบูรณ์แบบ เปิดเทียบกับเพลงเร็กเก้-สกา ระดับสากลได้อย่างไม่อายใคร แม้ว่ายอดขายอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าก็ตาม

“ผมว่ามันไปอีกสเต็ปหนึ่งของวงการเร็กเก้เมืองไทย ผมเพิ่งกลับมาฟังเมื่อไม่กี่วันก่อน เพื่อจะแกะเพลง เพลงหนึ่ง ฝรั่งมิกซ์มาให้สิบยี่สิบเทคเลยนะ เขาส่งมาให้ผมฟัง โอ้โห ดีว่ะ แต่มันเพิ่งมาฮิตเอง คืออัลบั้มนี้อาจจะมาเร็วไปนิดหนึ่ง แต่ผมว่าเป็นอัลบั้มที่ดีมาก และสิ่งที่แก๊ปเขียน ทั้งคอนเซ็ปต์ วิธีคิด วิธีการมันแจ๋วมาก เป็นตัวเขามาก แล้วเรารวบรวมอะไรที่มีความเป็นไทยไว้เยอะเลย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกภูมิใจ” พี่ใหญ่ของวงเล่าความรู้สึก

“อย่างล่าสุด Prince Fatty เพิ่งมาบอกผมว่า ตอนนี้มึงมีชื่อเสียงที่เม็กซิโกมากเลยนะ เขากรี๊ดมึงมากเลย ไม่รู้เป็นไปได้ยังไง” แก๊ปเล่าเสริม

“อาจเพราะเมื่อ 2 ปีก่อน มีสกาวงหนึ่งเป็นท็อปของโลกเลย ชื่อ The Slackers จัดไลฟ์ช่วงโควิด-19 แล้วผู้จัดการก็ติดต่อเข้ามา บอกว่าในเอเชียมีคนแนะนำ T-Bone เราก็เลยได้เล่น หลังจากนั้นก็มีพวกเม็กซิกันส่งอีเมลเข้ามา อยากเชิญไปทำอัลบั้ม ผมก็เลยไปเช็ก ปรากฏว่าเขารู้จักเราเยอะเหมือนกัน” กอล์ฟสรุป

หากจะว่าไปแล้ว ปัจจัยหลักที่ทำให้งานของ T-Bone ไม่เคยล้าสมัย คงเป็นเพราะช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา พวกเขาคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกอล์ฟ ซึ่งแบ่งเวลาส่วนหนึ่งของชีวิตไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนกีตาร์แจ๊สอยู่ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

“ผมมีสิ่งที่ผมอยากจะให้คนได้เรียนเยอะ เอาตรง ๆ นะ ผมว่าสิ่งที่ผมเป็น ทั้งเรื่องกีตาร์หรือวิธีคิด วิธีเล่น ไม่มีใครเหมือนผม เพราะสมัยก่อนทุกคนมักบอกว่า ผมเล่นกีตาร์ไม่รู้เรื่อง บางคนถึงขั้นบอกเลยว่าดนตรีที่ผมเล่น มันหยาบ แต่ผมก็คิดในใจว่าอีกสักสิบยี่สิบปี คนจะพูดต่างกัน

“ช่วง 10 กว่าปีนี้ ผมโตมากับเด็กมหาวิทยาลัย แทบไม่มีเพื่อนรุ่นเดียวกันเลย สิ่งหนึ่งที่ผมไกด์เขาคือ อย่าเล่นกีตาร์อย่างเดียว แต่ควรทำเพลงแล้วหัดนำเสนอสิ่งที่เป็นตัวเองออกมาด้วย เพราะการได้ทำงานของตัวเอง เราจะมีความคิด อย่างตอนหลังผมเลยไปเล่นกับเด็กผมนี้ เล่นแจ๊ส เล่น Experimental ไม่มีเงินผมก็เล่นหมด เพราะอยากไปยืนกับเขา แล้วไกด์เขา ฟังเขา มันเหมือนต่อชีวิตผม และทำให้เราสามารถทำงานที่อยู่ร่วมกับเด็กได้”

ส่วนแก๊ป แม้ไม่ได้สอนหนังสือ แต่ก็ใกล้ชิดกับศิลปินรุ่นน้องหลายคน เขามีส่วนช่วยทำเพลง ดูแลการผลิต เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงอย่าง Rootsman Creation, Fyah Burning, Pinn Ball รวมถึงได้ร่วมมิกซ์เพลงให้กับ The Skints วงเร็กเก้ชื่อดังจากเกาะอังกฤษด้วย

สิ่งหนึ่งที่แก๊ปสัมผัสได้คือ คนรุ่นใหม่มีความสามารถและความมุ่งมั่นสูง หลายคนทำผลงานได้ดีกว่าเขาเองเสียอีก อาจเพราะปัจจุบันมีองค์ความรู้และตัวอย่างมากมายให้เข้าถึง ไม่เหมือนสมัยที่ T-Bone เริ่มต้นซึ่งมีวัตถุดิบจำกัดมาก แต่ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ก็มีจุดอ่อนเรื่องประสบการณ์ ความอดทน และการแสวงหาแรงบันดาลใจที่น้อยกว่า ซึ่งเขาแนะนำและต่อยอดตรงนี้ได้ เพื่อให้เกิดผลงานที่ดีขึ้น

“ผมเคยเป็นคนที่ไม่ฟังคนอื่น เพราะมั่นใจในตัวเอง มึงต้องฟังกูเพราะกูผ่านมาก่อน แต่พอเปลี่ยนความคิด ฟังน้อง ๆ เราก็จะเห็นและเข้าใจเขามากขึ้น ซึ่งบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วย เราก็อธิบาย แต่จะไม่ไปเปลี่ยนตัวตน ให้เขาเป็นเหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยากให้งานนี้ยาวขึ้น ตัดคำนี้ออก เชื่อพี่ คำนี้อาจจะทำให้อายุของเพลงสั้นลง แต่เขาอาจจะไม่ทำก็ได้ ซึ่งการที่เราฟังเขาก่อน มันจะทำให้เราพัฒนาตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องพูดภาษาเหมือนเขาหรอก เพราะถึงยังไงเราก็พูดกันไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว ผมไม่ทันเด็ก แต่เราต้องเข้าใจว่าเขาตั้งใจจะสื่อสารอะไร”

ด้วยแนวคิดแบบนี้เอง ทำให้ T-Bone กลายเป็นวงดนตรีที่ไม่เคยตกยุคเลย ยืนยันได้จากกลุ่มแฟนเพลงที่แวะเวียนไปชมคอนเสิร์ตล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ บางคนอายุน้อยกว่าวงเป็น 10 ปี แต่ทุกคนก็ยังคงสนุกและร่วมแบ่งปันอารมณ์และพลังงานระหว่างกันได้อย่างลงตัว

แต่ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง นอกจากการสร้างงานแล้ว อีกความท้าทายที่ต้องรับมือให้ได้คือ เทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้าไม่เคยหยุด เพราะถึงเทคโนโลยีจะช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่อีกมุมก็ทำให้คุณค่าบางอย่างของงานศิลปะหายไปเช่นกัน

30 ปี ‘T-Bone’ จากแบรนด์กางเกงยีนส์สู่ตำนานเร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย

“เรื่องหนึ่งที่ผมเคยพูดไป 2 – 3 ครั้งแล้วคือ ตอนเด็ก ๆ เราเคยลากเสื่อไปดูลิเก ดูหนังตะลุงตามวัด พอถึงยุคหนึ่งที่มีเทปวิดีโอ ตลกก็ลงม้วน ลิเกก็ลงม้วน คราวนี้ไม่มีคนเดินออกไปดูแล้ว รอเทปอย่างเดียว เทคโนโลยีเริ่มฆ่าลิเก ฆ่าหนังตะลุง จนถึงวันนี้เสียงเพลงลอยอยู่ในอากาศ แล้วผมจะทำเพลงอะไรขาย ทำแล้วคุณจะเปิดกับอะไร เพราะตอนนี้รถไม่มีที่เสียบเทป บางคันไม่มีที่เสียบซีดี ทุกคนใช้บลูทูธ แสดงว่าศิลปะดนตรีมันเป็นเรื่องฟรีแล้ว อย่างล่าสุด ผมทำดาวน์โหลดเพลงดั๊บ ไปเช็กดูไม่มีใครซื้อด้วยนะ ขนาด 10 กว่าบาท เพราะทุกคนสตรีมมิ่งกันหมดแล้ว ผมไปดูว่ามีประเทศไหนฟังเพลงเราบ้าง เต็มไปหมดเลย แต่มีซื้อแค่ 2 – 3 คน มันชัดเจนว่าเราขายอะไรไม่ได้” แก๊ปชี้ภาพ

เพราะเหตุนี้ สิ่งที่ T-Bone พยายามรักษาไว้เสมอคือ เสน่ห์ของการแสดงสด เนื่องจากเป็นสิ่งที่ซื้อหาไม่ได้ ต้องสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น

“มันเป็นเรื่องของโมเมนต์ที่ทุกคนอยู่ด้วยกัน แล้วเรามาแชร์พลังและสปิริตที่มีอยู่ ต่อให้คุณไปกด YouTube หรืออะไรก็ตามก็ไม่เหมือนคุณไปอยู่ตรงนั้นเอง ทั้งความรู้สึก การปรบมือพร้อมกัน มันสื่อสารกันหมด ซึ่งสิ่งนี้ทำยากและเลียนแบบไม่ได้ อีกอย่างคือ เราอิมโพรไวซ์ตลอด เราไม่เคยฟิกซ์ ทุกครั้งที่เราเล่นแล้วมันสนุก เพราะเราชาเลนจ์ตัวเองอยู่เสมอ” กอล์ฟอธิบายบ้าง

อย่างเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 พวกเขาก็เพิ่งทดลองทำอะไรใหม่ ๆ นั่นคือนำเพลงของ T-Bone มาทำในอีกรสชาติหนึ่ง เพื่อแสดงในคอนเสิร์ต Golf Gap T-Bone ไม่ใส่ถุง Arootstic Session

“ส่วนตัวผมชอบอะคูสติก พอเหลือแค่เรา 2 คน แล้วพบว่ามันทำอะไรได้เยอะมาก เหมือนเราแก้ผ้าเพลงตัวเอง ไม่เหลืออะไรเลย เป็นอะไรที่ท้าทายมาก ไม่มีเทคโนโลยีเลย คือฟังง่าย แต่ในความง่ายก็มีความซับซ้อน แล้วเสียงของแก๊ปก็เพราะมาก เข้ากันไปหมด เลยกลายเป็นเรื่องดี” กอล์ฟอธิบาย

“อีกอย่างคือ ในสถานการณ์ที่การโชว์คอนเสิร์ตทำได้ไม่เต็มที่ ก็เหมือนบังคับให้เราต้องทำอะไรสักอย่าง ผมเลยคิดโปรเจกต์ Arootstic ขึ้นมา แล้วมีศิลปินอย่าง Srirajah Rockers, Rootsman Creation กับ T-Bone มาทำงานอะคูสติกวงละเพลงสองเพลง เพื่อที่เราจะไปเล่นที่ไหนก็ได้” แก๊ปช่วยเสริม

สนทนากับ ‘กอล์ฟ-แก๊ป’ สองพี่น้อง T-Bone เร็กเก้-สกาวงแรกของเมืองไทย ที่ยังสนุกกับการสร้างสรรค์เพลงร่วมสมัยตลอดเวลา

เช่นเดียวกับการทำงานเพลงในอัลบั้มถัดไป พวกเขาตั้งใจจะหันมาให้ความสำคัญกับการแชร์พลัง แชร์มุมมอง แชร์ความคิดมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการคัดเลือกสมาชิกที่จะมาร่วมเล่นด้วย ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ขอยิ้มเก่ง และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขก็เพียงพอแล้ว

ปัจจุบัน T-Bone มีสมาชิก 9 คน คือ แก๊ป ร้องนำและเล่นกีตาร์, กอล์ฟ เล่นกีตาร์, หนุ่ม เล่นเพอร์คัชชัน, กุ๊ก เล่นบาริโทนแซ็กโซโฟนและอัลโต้แซ็กโซโฟน, ฤษฎ เล่นทรัมเป็ต, จ๋า เล่นคีย์บอร์ด แล้วยังมีสมาชิกใหม่อีก 3 คน ประกอบด้วย รุ่ง-รุ่งธรรม ธรรมการ มือทรอมโบน, หนึ่ง-ปฏิรูป สุภัทรดิลกกุล มือกลอง และ โย-ภาคี นาวี มือเบส

“ตอนนี้เราไม่ได้สนใจความเก่งมาก แต่ต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน และทีมเวิร์กที่ดี รู้จุดอ่อนจุดแข็ง โยนกันไป โยนกันมา แล้วโตไปด้วยกัน ผมว่านี่เพอร์เฟกต์สุด” กอล์ฟย้ำความเชื่อ

เพราะในมุมมองของใครหลายคน T-Bone อาจเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้มาก่อนกาล เป็นตำนาน หรือเป็นอะไรก็ตาม แต่สำหรับสองพี่น้องแล้ว วงดนตรีเล็ก ๆ นี้มีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น

“มันไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่คือชีวิต เคยมีคนถามผมว่าเป็นนักดนตรี แก่แล้วจะทำอะไร ผมก็ตอบไปว่า สิ่งแรกเลยคือต้องไม่คิดแบบนี้ แต่ต้องคิดว่า สิ่งที่ทำมาทั้งชีวิตนี้ก็ทำต่อไปสิ คือต้องแก่แบบมีคุณภาพ และไหน ๆ มันจะตายแล้วก็ควรไปให้สุดเลย ให้จบแบบดีที่สุด ไม่ใช่แบบแย่ที่สุด คือให้ตายอย่างพีคที่สุด ตายแบบมีความสุข” กอล์ฟเล่าเป้าหมายของตัวเอง

“ผมมีไอดอลนะ ผมอยากจะเป็น Lee Perry (ศิลปินเพลงเร็กเก้-สกา ชาวจาเมกา) แล้วตอนตาย ก็อยากตายแบบเขา คือหลับแล้วตายเลย แต่เขาก็อยู่มาถึง 70 กว่านะ โดยระหว่างนั้นก็ดั๊บมาเรื่อย นี่แหละคือสิ่งที่ผมจะเป็น” แก๊ปกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของสุดยอดวงดนตรีเร็กเก้-สกา ที่ยังคงยืนหยัดคู่วงการเพลงไทยมาอย่างยาวนาน โดยยังคงความตั้งใจจะสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ สู่ผู้ฟังไม่เปลี่ยนแปลง

ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก T-Bone
ขอบคุณ ร้านแผ่นเสียง recoroom ณ โครงการ GalileOasis ที่เอื้อเฟื้อสถานที่สัมภาษณ์

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์