ผู้คนอายุน้อยหลากหลายสัญชาติเดินกันขวักไขว่ ทักทายพูดคุยกันตามทางเดินห้องเรียน

บางคนเปิดประตูเข้าไปใช้ห้องอ่านหนังสือส่วนตัวเพราะต้องการใช้สมาธิ

บางคนเดินเลยไปถึงบาร์ที่เต็มไปด้วยขนมและบอร์ดเกมให้ยืมเล่น

บางคนก็ยังยืนคุยอยู่กับผู้สอนที่เพิ่งบรรยายจบไปเมื่อครู่

มหาวิทยาลัยบรรยากาศสดใสนามว่า ‘Harbour.Space’ ที่เรามาในวันนี้ เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในอาคารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอีกทีหนึ่ง

ความแปลกใหม่ของระบบการเรียน เป็นเหตุผลที่ทำให้เรามายืนอยู่ที่นี่ในวันนี้ ทั้งการเรียนไปพัฒนาสตาร์ทอัพของตัวเอง การเรียนแบบทีละวิชาอย่างเข้มข้น จบวิชาหนึ่งค่อยต่ออีกวิชาหนึ่ง การที่ผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสายงานที่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาโทหรือเอก รวมถึงมีระบบการให้ทุนสำหรับนักศึกษาที่มีความสามารถ ทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากแพสชันของหญิงสาวจากยูเครน ผู้เคยขาดโอกาสทางการศึกษา

Svetlana Velikanova อดีตเด็กยากจนยูเครน สู่นักพัฒนาการศึกษาผู้เชื่อมั่นในศักยภาพเด็กไทย

“สวัสดีค่ะ! ฉันชื่อ Lana เป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Harbour.Space University” 

สตรีในเชิ้ตขาวนามว่า Svetlana Velikanova หรือที่ใคร ๆ เรียกง่าย ๆ ว่า ‘Lana’ นั่งลงข้าง ๆ เราในโต๊ะจีนมื้อค่ำ และกล่าวแนะนำตัวอย่างเรียบง่ายหลังจากที่ไปเผชิญรถติดกรุงเทพฯ มา เธอดูกระตือรือร้นพร้อมจะพูดคุยมาก ๆ จนเรารู้สึกอุ่นใจว่าบทสนทนานี้จะราบรื่นไปด้วยดี

อยากรู้แล้วสิว่าคนที่คิดหลักสูตรนอกกรอบนี้ขึ้นมา ผ่านประสบการณ์ชีวิตและการศึกษาอย่างไรมาบ้าง

เด็กหญิงผู้ไม่มีกางเกงยีนส์ใส่

Svetlana เกิดและเติบโตที่ยูเครน ในเมืองยากจนอย่าง Mariupol จนเมื่อปี 2014 เกิดสงครามในเมือง ทำให้เธอต้องจากประเทศมา เราออกจะแปลกใจนิดหน่อย เพราะ Harbour.Space มีต้นตอมาจากประเทศสเปน เลยพาลนึกไปว่าผู้ก่อตั้งจะมาจากสเปนด้วย

“เมืองที่ฉันอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มันเป็นเมืองอุตสาหกรรมมาก ๆ เลย ผู้คนต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไปทำงานที่โรงงานเย็บผ้า โรงงานถ่านหิน โรงงานเหล็ก” เธอเล่าถึงบรรยากาศของบ้านเกิดให้เราภาพตาม ในขณะที่พักจากทานอาหาร

สมัยเด็ก ๆ ก่อนที่แม่จะแต่งงานกับพ่อ แม่เลี้ยงเดี่ยวของเธอทำงานเป็นคุณครูอนุบาล นั่นทำให้ Svetlana โตมากับการนั่งฟังแม่พูดเรื่องการพัฒนาเด็ก

“อย่าเป็นครูเด็ดขาด” แม่เตือนเธอแบบนี้เสมอ “งานครูหนักมากนะ เธอต้องรักการเป็นครูจริง ๆ อย่าเป็นครูโดยที่ไม่รักวิชาชีพ”

Svetlana Velikanova อดีตเด็กยากจนยูเครน สู่นักพัฒนาการศึกษาผู้เชื่อมั่นในศักยภาพเด็กไทย

Svetlana เติบโตมาในสังคมคอมมิวนิสต์ และศึกษาในโรงเรียนแสนธรรมดาค่อนไปทางแย่ในระบบของโซเวียต ทำให้เธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำ ตรงกันข้ามกับตอนนี้ที่นั่งคุยกับเราด้วยภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อลื่นไหลจนเบรกไม่อยู่

“ในโรงเรียนของเรา ไม่มีใครคิดถึงความสำเร็จ ไม่มีใครคิดถึงอนาคต ไม่มีใครมีความหวัง” พูดจบเธอก็หัวเราะอีกครั้งตามประสาคนร่าเริง เราได้แต่นิ่ง ไม่ได้ร่วมหัวเราะไปกับเธอ เพราะสิ่งที่เพิ่งได้ยินไม่ได้น่าขำเท่าไรนัก

“เราแม่ลูกต้องใช้ชีวิตอยู่ในหอ สหภาพโซเวียตไม่นิยมชมชอบแม่เลี้ยงเดี่ยวหรอก เขาชอบครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ลูก ถ้าคุณเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว คุณจะเป็นคนสุดท้ายที่รัฐจะจัดหาสวัสดิการอะไรมาให้ ทั้งที่อยู่หรือการศึกษาลูก ฉะนั้น ฉันก็เลยโตมาในสภาพแวดล้อมที่แย่กว่าเด็กคนอื่นไปอีก”

ชีวิตวัยเด็กของเธอเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้คำว่าลำบากเลยก็คงไม่มากไป หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 แม่ของเธอก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แม้ว่าจะทำงานไม่ได้หยุด แต่ตลอด 6 ปี ตั้งแต่ 1991 จนถึง 1997 แม่ของเธอไม่ได้รับเงินเดือนแม้สักนิด

“เราซื้ออะไรไม่ได้เลย ได้แต่รอ รอ รอ ต่อคิวเพื่อจะได้ทุกอย่างมา ตอนเด็ก ๆ ฉันเคยหิวมากจนต้องขโมยอาหารมากิน ฉันก็เลยดร็อปเรียนหลายครั้งเพื่อมาทำงานจิปาถะที่พอจะหาได้

“ตอนนั้นฉันบอกแม่ว่า แม่ หนูไปโรงเรียนไม่ไหวแล้วนะ หนูต้องใส่ชุดสหภาพโซเวียต แต่คนอื่นเขาใส่กางเกงยีนส์ ทุกคนจะหัวเราะหนู” เธอเล่าถึงอดีต “ที่สำคัญ ฉันต้องทำงานหาเงินมาซื้อข้าวกินด้วย”

การที่เธอหยุดเรียนมาทำงานเป็นฝันร้ายของแม่เลยก็ว่าได้ แม่ถึงขั้นอ้อนวอนให้เธอกลับเข้าระบบการศึกษาอีกครั้ง แต่สำหรับเธอแล้ว สถานการณ์บีบให้เธอต้องเลือกระหว่างการเรียนและปากท้อง หากทำงาน เธอก็มีข้าวกิน แต่หากเลือกเรียนหนังสือ ก็ต้องอดข้าว บางทีชีวิตก็ไม่ได้ให้ทางเลือกกับคุณมากนัก

Svetlana Velikanova อดีตเด็กยากจนยูเครน สู่นักพัฒนาการศึกษาผู้เชื่อมั่นในศักยภาพเด็กไทย

“ถึงอย่างนั้นฉันก็กลับไปเรียนจนจบไฮสกูลนะ พอเรียนจบฉันก็ไปเป็นดีเจในคลื่นวิทยุประจำเมือง ถึงจะต้องแข่งขันเพื่อให้ได้เข้าไป แต่พวกเขาก็เลือกฉัน เพราะฉันตลกแล้วก็พลังเยอะ” กระทั่งตอนนี้ เธอก็ยังดูตลกและพลังเยอะ เหมาะกับอาชีพดีเจอยู่อย่างนั้น

หลังจากที่ทำงานไปได้สักพัก เธอก็ย้ายไปที่สำนักงานใหญ่ซึ่งอยู่ที่ Moscow ตามที่เธอต้องการ และพบกับคำพูดที่จะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

“ถ้าคุณให้บทเรียนชีวิตกับฉันได้สักหนึ่งอย่าง คุณจะพูดว่าอะไรเหรอ” Svetlana เอ่ยปากถามหัวหน้าในคลื่นวิทยุที่เธอเคารพ

“ถ้าคุณมีโอกาส จงเรียนภาษาอังกฤษ” เขาตอบอย่างหนักแน่น

จงเรียนภาษาอังกฤษ

Svetlana Velikanova อดีตเด็กยากจนยูเครน สู่นักพัฒนาการศึกษาผู้เชื่อมั่นในศักยภาพเด็กไทย

ใช้การศึกษาเป็นตั๋วเดินทาง

เมื่อเติบโตอายุได้ 18 ปี Svetlana แต่งงานกับชายอายุมากกว่า 13 ปี ผู้อาสาช่วยทำความฝันของเธอให้เป็นจริง และความฝันของเธอในตอนนั้นก็คือการเรียนภาษาอังกฤษ ตามที่ได้รับคำแนะนำจากหัวหน้า

“ฉันได้เจอผู้คนที่น่าสนใจมากมายในโรงเรียนสอนภาษา และทุกคนอยากไปเรียนต่อที่อังกฤษหรืออเมริกา! การศึกษามันแพงมากเลยนะคุณ ฉันจะเอาเงินจากไหนมาเรียนตั้ง 50,000 ยูโรต่อปี และต้องเรียน 4 ปีกว่าจะจบ” เธอเล่าอย่างใส่อารมณ์ “จนกระทั่งเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งบอกฉันว่าที่ฟินแลนด์เรียนฟรี ถึงจ่ายก็จ่ายน้อยมาก ลองไปเรียนดูสิ ฉันก็เลยได้ไปเรียน International Business Administration and Economics ที่ฟินแลนด์”

ภาษาอังกฤษทำให้เด็กหญิงชาวยูเครนคนนี้ได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง ระหว่างเป็นนักศึกษา เธอได้พบกับ ‘คนเจ๋ง ๆ’ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CEO ของ Nokia ในยุคที่กำลังบูมมาก ๆ หรือบริษัทระดับโลกอื่น ๆ แต่คนชอบคิดวิเคราะห์อย่างเธอ ก็ตั้งคำถามกับระบบการเรียนของฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่าการศึกษาดีที่สุดในโลกเหมือนกัน

“มันแปลกนะ ไม่มีใครถามเราเลยว่าเราคิดยังไงกับวิชาที่ได้เรียนไป ทั้ง ๆ ที่เราเรียนแบบท่องจำหนังสือ แล้วถ้าสิ่งที่อยู่ในหนังสือมันไม่จริงล่ะ ทำไมเราไม่เคยได้ถกเถียงกันบ้าง

“ฉันเริ่มคิดว่าวันหนึ่งการศึกษาจะต้องเปลี่ยนไป และถ้ามีโอกาส วันหนึ่งฉันจะเปิดมหาวิทยาลัยที่แตกต่างจากที่เคยมีมาก่อน ที่ที่จะรับฟังความเห็นของนักเรียน ที่ที่นักเรียนจะพูดคุยกับครูได้” เธอพูดด้วยสายตาที่เป็นประกาย “ตอนนั้นฉันไม่มีเงินหรือความกล้าจะเปิดหรอกนะ แค่คิดไว้ในหัว”

Svetlana Velikanova อดีตเด็กยากจนยูเครน สู่นักพัฒนาการศึกษาผู้เชื่อมั่นในศักยภาพเด็กไทย

ด้วยความคิดว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเพราะไม่มีเงิน Svetlana จึงอยากทำงานธนาคาร หลังจากเรียนจบจากฟินแลนด์เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Banking ที่สวิตเซอร์แลนด์และบาร์เซโลนา แล้วเรียนจบมาทำงานธนาคาร City Bank อย่างใจหวัง

“พอย้ายไปทำที่ Morgan Stanley ฉันเริ่มได้เงินเยอะมาก ๆ และกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านในตอนนั้น” จุดเปลี่ยนอีกจุดได้เกิดขึ้นแล้ว “ลองจินตนาการดู จากที่ไม่มีอะไรเลย อยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นเศรษฐี! ฉันช็อกมาก”

สิ่งที่ Svetlana ทำหลังจากที่ตกใจกับความร่ำรวยของตัวเอง คือเธอเริ่มให้เงินผู้คนที่ไม่รู้ภาษาไปเรียนหนังสือ และส่งเสริมให้คนที่มีเงินใช้เงินไปกับการส่งเสริมการศึกษาของผู้อื่นด้วย

“ฉันคิดว่าไอเดียนี้มันเจ๋งมากนะ!” เธอระเบิดคำพูดอย่างตื่นเต้น “ฉันเป็นคนมั่นอกมั่นใจคนหนึ่ง เลยคิดไปถึงว่า ถ้าฉันไปโน้มน้าวให้ Bill Gates ที่มีเงินแสนล้าน ใช้เงินสนับสนุนการศึกษาสักพันล้าน จะมีผู้คนอีกตั้งกี่คนที่มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนดี ๆ แต่ถึงอย่างนั้นคนขาดโอกาสก็มีมากมาย และเราต้องใช้เงินเยอะเกินไป ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่”

ซึ่งระบบที่ว่า ก็คือระบบของ Harbour.Space มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่เธอก่อตั้งในเวลาต่อมานั่นเอง

“ต้องขอบคุณการศึกษาจริง ๆ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉันได้มาทุกวันนี้ คิดดูว่าถ้าฉันไม่ได้รับโอกาสจากสามีของฉัน จากประเทศต่าง ๆ ที่ได้ไปเรียน ชีวิตคงผิดไปจากนี้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

“ฉันอยากสร้างโอกาสนี้ให้กับคนอื่น ๆ บ้าง”

Svetlana Velikanova อดีตเด็กยากจนยูเครน สู่นักพัฒนาการศึกษาผู้เชื่อมั่นในศักยภาพเด็กไทย

มหาวิทยาลัยระบบใหม่

Harbour.Space University โดดเด่นเรื่องระบบให้ทุน พวกเขามีทุน 100% เหลือเฟือให้กับนักศึกษาที่มีพรสวรรค์และมีพอร์ตโฟลิโอที่ดี หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้เจอคนเหล่านั้นผ่านการทำแคมเปญใน LinkedIn หรือช่องทางอื่น ๆ ก็จะนัดมาสัมภาษณ์เพื่อดูว่าสื่อสารภาษาอังกฤษได้แค่ไหน และหากสาขาที่ต้องการเรียนนั้นเป็นเชิงเทคนิค อย่าง Computer Science หรือ Data Science ก็จะต้องมีแบบทดสอบให้ทำก่อนรับเข้าเรียน

อีกระบบให้ทุนหนึ่งที่น่าสนใจ คือการที่ Harbour.Space ได้เป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทชั้นนำหลายที่ แล้วเสนอนักเรียนเก่ง ๆ ให้ไปช่วยบริษัทเหล่านั้นทำงานระหว่างที่กำลังเรียนอยู่ (และไม่ต้องมีสัญญาผู้มัดหลังเรียนจบ) โดยบริษัทจะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการศึกษาให้ นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่หลายคนจะได้โอกาสดี ๆ ในชีวิต

มื้อค่ำกับ Svetlana Velikanova CEO ของ Harbour.Space พูดคุยเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ที่ไม่ง่าย และแนวคิดแปลกใหม่ของมหาวิทยาลัย

ก่อนเราจะได้มาเจอ Svetlana เรามีโอกาสได้นั่งคุยกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับความพิเศษ 5 อย่างของ Harbour.Space ที่สร้างสรรค์มาจากประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดของ Svetlana นอกเหนือไปจากเรื่องทุนที่ได้กล่าวไป

อย่างที่ 1 Intensive Course : ผู้สอนไม่จำเป็นต้องจบ ป.โท หรือ ป.เอก แต่เป็นผู้มาจากอุตสาหกรรมนั้น ๆ จริง ๆ โดยนักศึกษาจะต้องเรียนทีละวิชา แต่ละวิชายาว 3 สัปดาห์ และเรียนทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง พอจบวิชาหนึ่งก็เรียนวิชาใหม่ต่ออีก 3 สัปดาห์ ซึ่งคลาสหนึ่งมีนักศึกษาแค่ 25 คน

อย่างที่ 2 Project-based Learning : นักศึกษาทุกคนจะถูกผลักดันให้คิดค้นโปรเจกต์ คิดสตาร์ทอัพของตัวเองขึ้นมาเมื่อเริ่มคลาสแรก แล้วนำสตาร์ทอัพนี้ไปพัฒนาต่อในคลาสต่อ ๆ ไป ซึ่งมีข้อดีตรงที่ผู้เรียนจะได้ใช้วิชาให้เป็นประโยชน์จริง ๆ

อย่างที่ 3 Global Environment : มหาวิทยาลัยมี 2 สาขา ได้แก่ สาขาบาร์เซโลนาและสาขากรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยนักศึกษาจากทั้งสองที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้

อย่างที่ 4 Interdisciplinary Skills : หากเรียนสาขาใดอยู่ แล้วไปสนใจศาสตร์ข้ามสาขา ก็ Take Course เพื่อเพิ่มทักษะได้

อย่างที่ 5 Customize Learning Plan : แต่ละปีจะมีคนให้คำปรึกษาว่าผู้เรียนรู้สึกชอบไม่ชอบวิชาอะไร ถนัดด้านไหน และช่วยวางแผนการเรียนต่อไป

มื้อค่ำกับ Svetlana Velikanova CEO ของ Harbour.Space พูดคุยเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ที่ไม่ง่าย และแนวคิดแปลกใหม่ของมหาวิทยาลัย
มื้อค่ำกับ Svetlana Velikanova CEO ของ Harbour.Space พูดคุยเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ที่ไม่ง่าย และแนวคิดแปลกใหม่ของมหาวิทยาลัย

“เราวางแผนจะให้อีก 1,000 ทุนในปีนี้” Svetlana บอกกับเรา “ฉันทำเพราะว่าฟินแลนด์ดีกับฉัน สเปนก็ดี สวิตเซอร์แลนด์ก็ด้วย พวกเขาให้โอกาสฉันได้เรียนหนังสือ ตอนนี้ฉันประสบความสำเร็จแล้วก็เลยอยากจะทำเพื่อคนอื่นบ้าง และหวังว่าสิ่งที่ฉันทำจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นเหมือนกัน”

ตอนนี้คุณมองการศึกษาในโลกนี้อย่างไรบ้าง? – เราถาม

“ความรู้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานะ แต่พวกเขาไล่อาจารย์คนเดิมออกไม่ได้” เธอหัวเราะดัง “บางทีก็คิดว่าทำไมวิชาบ้านี่ถึงยังสอนในมหาวิทยาลัยอยู่ได้ เชยมาก ๆ เลย”

แล้ววิชาอะไรล่ะ ที่คุณจะแนะนำเด็ก ๆ เจเนอเรชันใหม่ให้เรียน

“ภาษาที่น่าเรียนที่สุดตอนนี้คือ Coding” CEO ตอบทันควัน เธอบอกว่าตอนนี้กำลังทำโครงการสอนวิชา Coding และ Mathematics ให้กับเด็ก ๆ อายุ 10-18 ปี อยู่ด้วย “Design ก็อะเมซิ่งนะคุณ ไม่ใช่แค่ความงาม แต่มันคือกระบวนการ Design ที่ประยุกต์ใช้ได้กับทุกสิ่ง แม้แต่เวลาจะทะลายกรอบระบบการศึกษาเก่า ๆ เราก็ต้องใช้ดีไซเนอร์

“ฉันคิดว่า Coding, Design รวมถึง Leadership และ Enterpreneurship ด้วย ฉันอยากให้คนรุ่นใหม่ทำอะไรเป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปเข้า Google หรอก! ทำสิ่งที่ดีกว่านั้น!” Svetlana ยิ้มกว้าง

มื้อค่ำกับ Svetlana Velikanova CEO ของ Harbour.Space พูดคุยเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ที่ไม่ง่าย และแนวคิดแปลกใหม่ของมหาวิทยาลัย

หลังจากนั้น เราได้ฟังเธอเล่าอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการศึกษาในประเทศไทยในมุมของเธอ การเรียนการสอนออนไลน์ระหว่างที่มีวิกฤตการณ์โรคระบาด ไปจนถึงเล่าเหตุการณ์สนุก ๆ หลายอย่างที่เจอในการมาเยือนกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ กว่าจะแล้วใจเวลาก็ล่วงเลยไปถึง 4 ทุ่ม 

“ความหวังของฉันคือการที่ผู้มีอิทธิพลและมีทรัพยากรจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาการศึกษามากขึ้น มันไม่ได้ยากนะ ถ้าฉันเป็นนายกฯ ประเทศไทย ฉันรู้ว่าจะทำยังไง มันไม่ต้องใช้เงินมากมายเลย แค่เปลี่ยนวิธีคิด”

การได้นั่งคุยกับคนที่เปี่ยมไปด้วยแพสชันนี่ให้พลังดีจริง ๆ

มื้อค่ำกับ Svetlana Velikanova CEO ของ Harbour.Space พูดคุยเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ที่ไม่ง่าย และแนวคิดแปลกใหม่ของมหาวิทยาลัย

ภาพ : Almaz Aubakirov, Soopakorn Srisakul, Chaichoompol Vathakanon

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน