“มาหาครูชิใช่มั้ยครับ”

“ครับ”

“ให้ผมไปเรียกให้มั้ยครับ”

“รบกวนด้วยครับผม”

ผมพยักยิ้มเป็นเชิงขอบคุณความจิตใจดีของหนุ่มน้อย ก่อนที่เขาจะถลาลงจากอาคารเรียน วิ่งลัดลานขึ้นไปยังอาคารฝั่งตรงกันข้าม ครู่เดียว อาจารย์ชิ-ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ก็โผล่มายิ้มแย้มต้อนรับจากริมระเบียงชั้นสอง พลางขอให้รออีกประเดี๋ยว แล้วกลับไปสะสางภารกิจติดพัน 

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก

ดูเหมือนว่าวันนี้ตลอดทั้งวันเขายุ่งอยู่กับการประชุมวางระบบโครงสร้าง และออกแบบหลักสูตรการศึกษาสำหรับชั้นเรียนมัธยมปลายที่กำลังใกล้จะเปิดสอนเร็วๆ นี้ ของโรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว แม่แจ่ม ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตชาติพันธุ์แห่งแรกของประเทศไทย หลังจาก 7 ปีก่อนหน้า เขาใช้เวลาอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในฐานะอาจารย์ประจำสาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และยังเป็นอาจารย์ปกาเกอะญอคนแรกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้อีกด้วย

ไม่เพียงบทบาทในแวดวงวิชาการ เพื่อนพ้องคนดนตรียังรู้จักเขาดีในนาม ชิ สุวิชาน ศิลปิน World Music ที่นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านปกาเกอะญอ ‘เตหน่ากู’ ออกบรรเลงขับขานให้พี่น้องชาติพันธุ์ คนเมือง และคนต่างแดนทั่วเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา ได้ซึมซับสุนทรียภาพผ่านจิตวิญญาณและเรื่องเล่าวิถีคนกับป่า รวมถึงเพิ่งคว้ารางวัล ‘Ostrana Price’ นักดนตรีผู้ใช้ภาษาแม่ยอดเยี่ยมจากอิตาลีมาหมาดๆ นอกจากนี้ เขายังทำงานขับเคลื่อนสังคมหลากหลาย อาทิ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ หรือริเริ่มโปรเจกต์สร้างสรรค์ข้าวแลกปลา ที่เชื่อมสะพานระหว่างชาวเลราไวย์กับชาวปกาเกอะญอในการแลกเปลี่ยนผลผลิตข้าวกับปลา เพื่อฝ่าวิกฤตขาดแคลนอาหารช่วงล็อกดาวน์ COVID-19 เมื่อปีกลาย

อาจารย์ชิกลับมาอีกครั้งพร้อมกับสวมเสื้อปกาเกอะญอสีน้ำตาลไม้สัก เขาเอ่ยชวนผมไปหามุมนั่งตรงชานกระท่อมไม้ไผ่ อาทิตย์คล้อยดวงแล้ว สายลมพัดแผ่วมาจากฟากฝั่งภูเขาเบื้องหน้า กาละและเทศะบอกได้เวลาเปิดบทสนทนา ผมจึงถามไถ่ตรงไปตรงมาถึงบทเรียนชีวิตตลอดเส้นทางของ ชิ สุวิชาน และการก้าวข้ามบทบาทศิลปิน นักเคลื่อนไหวทางสังคม สู่ตำแหน่ง ผศ.ดร.สุวิชาน ว่าเขามุ่งหวังผลอันใด ตลอดจนโปรเจกต์ใหม่ที่กำลังปลุกปั้นสร้างเขตชุมชนวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวชุมชนชายแดนจังหวัดตาก

น่าสนใจว่าคำตอบทั้งหมดล้วนเกี่ยวโยงกับธงที่เขาปักมันไว้ในจิตใจ ธงแห่งการเรียกร้องต้องการเปิดมุมมองโลกทัศน์ ให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงวิถีปกาเกอะญอบนความเป็นจริง และทำลายมายาคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งตัวเขาได้สัมผัสกับมันมาตั้งแต่เยาว์วัยในดินแดนต้นน้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ‘มือเจะคี’ 

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก

เด็กชายชิ

‘ชิ’ แปลว่า ตัวเล็ก ตั้งขึ้นตามสถานะลูกคนเล็กของครอบครัวที่มีพ่อเป็นครูโรงเรียนประจำหมู่บ้าน แม่เป็นฝ่ายสนับสนุนทุกอย่างในครัวเรือนให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ส่วนตากับยายเปรียบเสมือนเพื่อนเล่นและเทวดา ทุกคืนก่อนเคลิ้มหลับ เป็นช่วงเวลาที่เด็กชายชิสุดแสนจะปรีดากับการท่องโลกจินตนาการจากนิทานหลากรส ฟังบทเพลงทำนองเก่า และลำนำคำธา (บทกวีของชาวปกาเกอะญอ) ที่ขับผ่านน้ำเสียงละไมของยาย จนความทรงจำน้อยๆ บรรจุเต็มด้วยเรื่องเล่ามากมาย และทำให้เขากลายเป็นเด็กที่เล่านิทานได้คล่องแคล่วก่อนอ่านเขียน 

กลางคืนอิ่มอุ่น กลางวันซุกซนตามประสา กระทั่งโตพอจะรู้รับผิดชอบ เขาจึงมีหน้าที่ช่วยแม่ออกไปตักน้ำมาเก็บไว้ใช้สอย และบทเรียนชีวิตบทแรกของเด็กน้อยก็มาจากวิถีธรรมดาสามัญเช่นนี้

“ตอนเด็กๆ ทุกเช้า ผมต้องแบกตะกร้าใส่กระบอกไม้ไผ่ไปตักน้ำจากบ่อ ระหว่างทางขาไปกระบอกไม้ไผ่บนหลังจะกระทบกันเสียงดังโกร่งกร่าง แต่พอใส่น้ำกลับมาเสียงนั้นก็หาย พ่อสอนผมว่ากระบอกไม้ไผ่ที่มีน้ำจะไม่ดัง ฉะนั้น คนมีความรู้ย่อมไม่อวดตัว” 

แม้ในวันนั้นเขายังไม่อาจเข้าใจในสิ่งที่พ่อพูด กระนั้นเมื่ออายุครบ 6 ขวบ จึงมีโอกาสเริ่มต้นเรียนรู้ แต่สิ่งที่ทำให้เขาตื่นตะลึงกว่าการเปิดประตูสู่การศึกษา คือการรับรู้ว่าตนเองมีอีกชื่อ-สกุล 

“สุวิชาน ผมเพิ่งรู้ว่าตัวเองมีชื่อนี้ตอนเข้าเรียนชั้นประถมหนึ่ง ซึ่งทีแรกพ่ออยากตั้งชื่อผมว่าเด็กชายชินี่แหละ แต่ทางการไม่อนุญาตให้จดทะเบียนแจ้งเกิด เนื่องจากไม่มีความหมายในภาษาไทย พ่อเลยขอเขาช่วยหาชื่อใหม่จนมาได้ชื่อนี้แปลว่า ผู้มีความรู้ นามสกุลก็เหมือนกันจากเดิม ‘กัวะมู’ เปลี่ยนเป็น ‘พัฒนาไพรวัลย์’ หากลองสังเกตดู คนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บนดอยนามสกุลมักมีคำ อาทิ คีรี บรรพต พฤกษา หรือไพรวัลย์ เหล่านี้ล้วนเป็นนามสกุลที่รัฐตั้งให้ พร้อมตีตราเชิงนัยยะว่าเราเป็นคนดอย”

ไม่เพียงชื่อใหม่ นามสกุลใหม่ แต่ยังมีเรื่องภาษาใหม่ที่ต้องหัดท่องจำขึ้นใจโดยเฉพาะประโยคสำคัญ “คุณครูครับ ผมขออนุญาตไปดื่มน้ำปัสสาวะครับ” ที่พานให้เขาและเพื่อนต่างเคยผ่านประสบการณ์ฉี่ราดกางเกงกันทั่ว จนภาพโรงเรียนในหัวประหนึ่งพื้นที่แห่งความทรมาน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมโปรดอย่างการร้องเพลงนมัสการพระเจ้าก็ช่วยเยียวยาให้เขามีกำลังใจอยากมาโรงเรียนทุกๆ วัน และนับแต่นั้น บทเพลงและดนตรีก็กลายมาเป็นความเชื่อและความหวัง ยิ่งในวันที่เขารู้สึกแปลกแยกหลังก้าวเท้าเข้ามาเติบโตในสังคมเมือง

ทีเล่นทีจริง

ชิเลือกคว้าโควต้าช่างไฟฟ้าตามคำแนะนำของครู แม้ขณะนั้นทั้งหมู่บ้านยังไม่มีใครรู้จักปลั๊ก สวิตซ์ หรือสายไฟ 

การต้องทำความเข้าใจสิ่งใหม่ไม่ใช่อุปสรรคการเรียนสำหรับชิ เฉกเช่นการแปลกถิ่นที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวลำพัง ทว่าท่ามกลางบรรดาเพื่อนฝูงที่พร้อมเฮไหนไปด้วยเหล่านั้น เขากลับสัมผัสได้ถึงความแปลกแยกและแตกต่างจากบางท่าทีทีเล่นทีจริง นานวันยิ่งร้าวลึก สะท้าน และต้องการทางออก

“ผมรู้ว่าเพื่อนทุกคนรักผมนะ แต่บางเรื่องที่เขามองว่าแค่ล้อเล่นขำๆ พอโดนบ่อยเข้าเราก็รู้สึกเหมือนกัน เช่น ตอนไปซื้อแปรงสีฟัน เคยโดนล้อว่า ไอ้ยาง (กะเหรี่ยง ในภาษาเหนือ) นี่ใช้แปรงสีฟันแล้วโว้ย อยู่บ้านใช้ถ่านใช้ไม้ถูฟัน เดี๋ยวนี้มันก้าวหน้าแล้ว หรือตอนครูขานรายชื่อคนค้างค่าเทอมหน้าห้อง แล้วผมอยู่ในกลุ่มที่จ่ายครบ เพื่อนก็พากันหันมามอง และมีคนหนึ่งถามประมาณว่า พ่อผมต้องตัดป่าปลูกฝิ่นกี่ไร่ ถึงมีเงินมาจ่ายค่าเทอมให้ผม 

“ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ จนบางคราวผมพยายามสอบถามความคิดของเพื่อน ซึ่งบางคนเขาก็เชื่อแบบนั้นจริงๆ แต่พอถูกเราถามกลับบ้างว่ารู้ได้อย่างไร เคยเห็นกับตามารึยัง เขาก็ตอบว่า ไม่ แค่ฟังคนอื่นเล่ามา นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่ทำให้ผมเริ่มทบทวนว่า การเรียนช่างไฟฟ้าอาจไม่ตอบโจทย์ เพราะแทนที่จะใช้ไขควงเช็กไฟแล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป ผมควรหาเครื่องมืออย่างอื่นไหม ในการทำหน้าที่ของลูกหลานชนเผ่า บอกเล่าเรื่องราวอีกแง่มุมให้คนข้างนอกได้รับรู้ เพื่อไม่ให้ภาพพจน์ของคนบนดอยต้องถูกตีตราตามคำเล่าบอกต่อๆ กันมา จนเกิดเป็นมายาคติทางชาติพันธุ์”

หลังจบ ปวช. ชิตัดสินใจเบนเข็มไปเรียนต่อสายพัฒนาชุมชน ที่เขาหวังใจว่าจะนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็ได้พบเจอเครื่องมือที่ตามหา และตัวเขามั่นใจว่ามีแพสชันกับมันมากที่สุด นั่นคือศิลปะดนตรี 

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก

ศิลปินปกาเกอะญอ

“ฉันอยู่กับป่ามาตั้งแต่เกิด ถิ่นฐานบ้านเกิดฉันอยู่ตรงนี้

บรรพบุรุษฉันเคยทำกิน สายน้ำพงพีหล่อเลี้ยงชีวี

ฉันเรียกตัวเองว่าปกาเกอะญอ ซึ่งหมายความว่าฉันก็คือคน

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ… คนปกาเกอะญอก็มีหัวใจ”

‘ปกาเกอะญอก็มีหัวใจ’ คือบทเพลงแรกของชิที่ร้อยเรียงขึ้นในช่วงวัยหนุ่ม เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตและตัวตนของคนปกาเกอะญอ รวมถึงสะท้อนความน้อยเนื้อต่ำใจของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายอพยพคนออกจากป่า กระทั่งเมื่อเรียนจบ เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับชุมชนคนรักษ์ป่า ภายใต้มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ขันแข็งทำงานปลูกฝังความเข้าใจให้คนในเมืองรู้จักวิถีวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์มากขึ้น พร้อมลุยออกผลงานเพลงอัลบั้มแรกในชื่อชุด ‘นกเขาป่า’ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดาผู้ฟังและศิลปินรุ่นพี่ แต่ผลตอบรับนี้ยังไม่น่าพึงใจนักสำหรับเขา 

“ทุกครั้งที่ผมร้องเพลงมักมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าเสียงเพราะเหมือน พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ บ้าง หรือเล่นสนุกเหมือน พงษ์เทพ กระโดนชํานาญ ซึ่งทั้งสองคนเป็นไอดอลผมนะ แต่ผมไม่ได้อยากจะเป็นเขา แล้วมันก็ไม่ใช่เป้าหมายของเราด้วย ผมแค่อยากให้คนนึกถึงปกาเกอะญอ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงชิก็ได้ แค่อยากให้พูดว่านี่คือศิลปินปกาเกอะญอ”

ชิคิดไตร่ตรองเรื่องนี้อยู่นานจนเจอคำตอบ เขาจึงหอบเอาความฝันกลับไปหาพ่อ ผู้เป็นเมล็ดพันธุ์ศิลปินพื้นบ้านเมล็ดสุดท้ายในดินแดนมือเจะคี เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรี ‘เตหน่ากู’ หรือพิณปกาเกอะญอ

ว่ากันว่าการก่อเกิดเตหน่ากูมีอยู่ด้วยกัน 2 สำนวน สำนวนแรกเล่าว่า ในอดีตเตหน่ากูเป็นเครื่องมือปราบศัตรูของบรรพบุรุษ ด้วยเสียงอันพริ้งพรายของมันมีพลังสะกดศัตรูให้เคลิบเคลิ้ม เผลอไผล และแพ้พ่าย ส่วนสำนวนที่สองนั้นว่ามาจากวัสดุเหลือใช้ในไร่หมุนเวียน หลังการเผาไร่ ชาวบ้านคนหนึ่งเกิดเสียดายเศษไม้ เขาจึงเก็บมันมาแกะเกลาแล้วขึงสายกะทำเป็นเครื่องดีดไล่สัตว์ป่า แต่ผลปรากฏว่าได้เสียงหวานเลยต้องกลายร่างมาเป็นเครื่องดนตรี

 “ผมคิดว่ามันก็ตรงกับกระบวนการขับเคลื่อนและต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของเราในทุกวันนี้” อาจารย์ชิเปรียบเทียบมุมมองการเล่นดนตรีของเขากับสำนวนแรก “การเล่นเตหน่ากูของผมถือเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง โดยมีศัตรูคือมายาคติทางชาติพันธุ์ ผมต้องการทำลายสิ่งนี้ เพราะมันเป็นเชื้อของการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และศัตรูตัวสำคัญของโครงสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมไทย”

พร้อมเสริมว่าในสำนวนที่สองนั้น บ่งบอกได้ถึงวิถีการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลของคนปกาเกอะญอ “มีธาบทหนึ่งสอนว่า กินปลาให้รักษาลำห้วย กินเขียดให้ดูแลป่าและผัก จะกินกบให้ยั่งยืนอย่าไปหักกระดูกกบ จะกินปูให้ยั่งยืนอย่าไปหักกระดูกปู ผมคิดว่าเผ่าพันธุ์ที่มีวิธีคิดสอนลูกหลานแบบนี้เขาไม่มีหัวใจของการทำลายล้างหรอก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำลายเลย เพราะการใช้ประโยชน์ในแง่หนึ่งก็หมายถึงการทำลาย เพียงแต่เราคิดว่าจะทำลายอย่างไรให้กระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด นี่คือวิธีที่เราคิด”

เตหน่ากูกลายมาเป็นเครื่องดนตรีคู่กายที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของชิ ในฐานะศิลปินปกาเกอะญอ นอกจากนี้เขายังพัฒนาฝีมือไปอีกระดับ ด้วยการดัดแปลงเตหน่ากูให้ร้องเล่นตามคีย์มาตรฐานได้ ผสมผสานอัตลักษณ์เข้ากับความเป็นสากล โดยมี รังสรรค์ ราศีดิบ และ ทอดด์ ทองดี ช่วยแบ่งปันเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ และเปิดพื้นที่ในการเล่นดนตรีแนว World Music จนทำให้เส้นทางนักดนตรีของเขาค่อยๆ ไต่เต้าจากท้องถิ่นสู่ระดับโลก

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก
ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก

เปลี่ยนเป้า

พ.ศ. 2552 เป็นปีแรกที่ชิมีโอกาสตะลอนทัวร์คอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา เขาออกเทียวท่องรัฐข้ามรัฐ ตั้งแต่ เท็กซัสจรดชิคาโก ในวาระเปิดตัวอัลบั้มหิมพานต์ เซคกัน เวิลด์ (HIMMAPAN 2nd WORLD) ของ ทอดด์ ทองดี ที่มีเขาร่วมแจมเตหน่ากูอยู่สองบทเพลง 

หลังจบทัวร์ เขากลับมาชวนเพื่อนก่อตั้ง ‘มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธ์’ ทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม ป่าชุมชน และสืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนได้รับทุนจากมูลนิธิ Pestalozzi Children’s Foundation ให้ไปศึกษาต่อด้านการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หนึ่งปีในดินแดนแห่งขุนเขาไม่เพียงช่วยขยายมุมมองการจัดการปัญหาความขัดแย้งให้กว้างขึ้น แต่ชิยังได้พบเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์และเครือข่ายทางดนตรีมากมาย ที่เป็นสะพานเชื่อมต่อให้เขามีโอกาสพาเตหน่ากูออกไปขับขานเรื่องราวในแผ่นดินเกิดอีกหลายประเทศ อาทิ อิตาลี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น 

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมาผลงานอัลบั้มล่าสุด ‘Ta – ti Ta – taw’ (ต่าที ต่าเตาะ ภาษาปกาเกอะญอ หมายถึง อภิมหาธรรมชาติหรือสิ่งสูงสุดที่สถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากท่วงทำนองบทเพลงพื้นบ้านที่ยายเคยร้องให้ฟังครั้งวันวาน ก็ได้รับรางวัล Ostrana Price ของอิตาลี ซึ่งมอบแด่นักดนตรีผู้ใช้ภาษาแม่ยอดเยี่ยม

คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่าเส้นทางศิลปินของชิกำลังมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ กระนั้นเขาเองกลับเลือกเบนเข็มเปลี่ยนเป้าหมายสู่เส้นทางสายใหม่โดยไม่มีใครคาดคิด

“ผมไม่ได้คิดจะเป็นศิลปินตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่าผมต้องการสื่อสารและเลือกใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายมายาคติทางชาติพันธุ์ในหัวใจคน แต่ต่อมาเรารู้ว่าข้อมูลเชิงวิชาการก็สำคัญ เพราะมันเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้การสื่อสารของเรานั้นมีความแข็งแรง” อาจารย์ชิกล่าวต่อ “ผมว่าผมเป็นมนุษย์เหมือนแม่ผมนะ คือทำได้ทุกอย่าง หมายความว่าผมไม่ได้เลี้ยงชีพจากการสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ทำงานพัฒนา ทำงานต่อสู้ เขียนหนังสือ หรือเป็นศิลปินควบคู่กันไปด้วยได้”

เขาจึงโยกย้ายชีวิตสู่ชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเริ่มต้นเส้นทางสายวิชาการ ในตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก

ไร่หมุนเวียนมิติใหม่

“การเป็นอาจารย์มีหน้าที่หลักอยู่สี่ข้อ คือสอนหนังสือ ทำวิจัย บริการวิชาการ และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดผมพยายามใช้ฐานชุมชน ตลอดจนบูรณาการชุมชนเข้ากับเนื้อหาวิชาเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความแข็งแรงทั้งชุดความรู้ท้องถิ่นและชุดความรู้สมัยใหม่” 

“หมายความว่า เป็นกระบวนวิชาที่เน้นให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ชุมชนจริงเพื่อเรียนรู้โดยตรงด้วย” ผมวางความสงสัยลงในประโยคเสริมทับ

 “ใช่ครับ” อาจารย์ชินิ่งคิดแล้วเพิ่มเติมว่า “แต่ผมจะใช้คำว่า ‘เข้า’ ชุมชน และบอกกับนักศึกษาตลอดว่า ถ้าเราใช้ ‘ลง’ ชุมชน แสดงว่าวิธีคิดของเรากับชุมชนยังมีเรื่องของอคติอยู่ คือเราอยู่ที่สูงและลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งนี่เป็นวาทกรรมของนักพัฒนารุ่นเจ้าคนนายคน วิธีคิดของนักปกครองรุ่นแรก แต่พวกเราเป็นคนรุ่นใหม่ ฉะนั้น วิธีการพูดการใช้คำจึงต้องสื่อถึงความเท่าเทียมกันด้วย”

นอกเหนือจากการเรียนการสอน อาจารย์ชิไม่เคยทิ้งงานภาคประชาสังคม โดยปีที่ผ่านมาเขาผุดโครงการ ‘ข้าวแลกปลา’ ที่ช่วยให้ชาวเลราไวย์กับชาวปกาเกอะญอฝ่าวิกฤตขาดแคลนอาหารช่วงล็อกดาวน์ COVID-19 ด้วยการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างกัน 

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก

หรือโครงการ ‘พลังร่วมชุมชนชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ที่กำลังดำเนินงาน ชักชวนกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และชาวชุมชนขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) ตำบลท่าสองยาง จังหวัดตาก มาร่วมมือกันออกแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการพื้นที่จิตวิญญาณ และการจัดการเศรษฐกิจสมัยใหม่บนฐานคิดของไร่หมุนเวียน เพื่อสร้างสรรค์ระบบไร่หมุนเวียนมิติใหม่ เพาะปลูกพืชหลากชนิด และจัดแบ่งหมวดหมู่ผลผลิตออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลผลิตสำหรับบริโภค ผลผลิตสำหรับแลกเปลี่ยน และผลผลิตสำหรับจำหน่าย ซึ่งล่าสุดทางโครงการเพิ่งแลกเปลี่ยนฟักเขียวกับเครื่องเป่าลม รวมถึงเก็บเกี่ยวงาขาวจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘เทือกเขาเบ๊อบละตู’ ของชุมชน

“เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ คือต้องการผลักดันให้ที่นี่เป็นต้นแบบเขตชุมชนวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งมีองค์ประกอบครบทั้งสามเส้า เส้าแรกคือมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุล มีสิทธิในการเข้าถึง ใช้สอย และดูแลรักษา เส้าสองคือ มีพื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่ทางวัฒนธรรม ส่วนเส้าสามคือ มีพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมคิดว่าหากสามเส้านี้สมดุลกัน เราก็จะสามารถตั้งหม้อหรือตั้งชีวิตอย่างยั่งยืนได้”

ปัจจุบันอาจารย์ชิย้ายกลับมาประจำอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นรูปแบบออนไลน์ ควบตำแหน่งอาจารย์ ทุกวันนี้เขายังรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาร่วมออกแบบหลักสูตรการเรียนสำหรับชั้นเรียนมัธยมปลายของโรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว แม่แจ่ม โดยหลักสูตรดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 สายน่าสนใจ ได้แก่ สายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สอนเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงสร้างสรรค์ และสายการจัดการวัฒนธรรมร่วมสมัย มีให้เลือกระหว่างไผ่ร่วมสมัยกับผ้าร่วมสมัย ซึ่งอาจารย์ชิมองว่า นักเรียนที่จบจากหลักสูตรนี้นำเอาความรู้ไปต่อยอดได้ ทั้งด้านการออกแบบแฟชั่น ด้านสถาปัตยกรรม หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยังมีอะไรติดไม้ติดมือกลับไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก

คนในไซ

“ผมค่อนข้างเน้นการสร้างคนรุ่นใหม่และสร้างการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การแปลงร่างทางความคิด จากประชาชนคนเล็ก ๆ เราจะ Transform ตัวเองให้เป็นคนที่อธิบายชุดความรู้ อธิบายวิถีภูมิปัญญา และทำให้เกิดความชอบธรรมในการอยู่บนวิถีวัฒนธรรมของตัวเองได้อย่างไร ถ้าเราทำตรงนี้ได้เราจะกลายเป็นผีเสื้อที่มีอิสรภาพ ซึ่งนั่นหมายถึงการติดปีก หรือการเติมเรื่องของกระบวนการเรียนรู้” 

อาจารย์ชิเล่าว่า ในวันที่เขาถูกชักชวนให้มาเป็นอาจารย์ ถือเป็นอีกจังหวะชีวิตที่ค่อนข้างหนักใจ แต่เมื่อคิดไปถึงเด็กๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชนเผ่า กอปรกับนิทานเรื่องนั้นที่ยายเคยเล่า เขาจึงยากปฏิเสธ 

“ยายเคยเล่านิทานให้ผมฟังว่า วันหนึ่งมีเด็กหนุ่มในหมู่บ้านลงไปตักน้ำยังแม่น้ำที่เชี่ยวกราก ขณะก้มลงตักจู่ๆ กระบอกไม้ไผ่ก็ถูกกระแสน้ำพัด พลันตัวเขาก็พลัดตกตามไป สุดท้ายสายน้ำก็ได้หอบเอาร่างของเด็กหนุ่มให้เข้าไปติดอยู่ในไซ (เครื่องจักสานสำหรับดักปลา) ของยักษ์ ผมทบทวนนิทานเรื่องนี้และคิดว่าไซในชีวิตจริงของคนรุ่นใหม่อันหนึ่งคือระบบการศึกษา กระแสน้ำคือกระแสของการพัฒนาที่ถาโถมอยู่ทุกขณะ ส่วนยักษ์เปรียบเสมือนโรงงานอุตสาหกรรมและทุนนิยม มันดักรอเด็กๆ ที่พอเรียนจบปุ๊บก็จับไปป้อนบริษัท ป้อนโรงงาน โดยไม่คิดปล่อยคืนสู่หมู่บ้าน ซึ่งการจะทำให้เด็กเหล่านี้ปลอดภัยและออกจากไซของยักษ์ได้ก็คือ ต้องมีคนเข้าไปอยู่ในไซ แล้วสอนพวกเขาให้รู้จักวิธีเอาตัวรอด ฉะนั้น ผมจึงอยากเข้าไปอยู่ที่นั่นเพื่อช่วยลูกหลานของเราให้กลับคืนมา”

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ปกาเกอะญอ ศิลปินเตหน่ากูที่พาดนตรีท้องถิ่นไปทั่วโลก

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ