‘Suthee’ 

คือชื่อที่ แบงค์-สุธี ฤทธิ์ถาวร สไตลิสต์สัญชาติไทยผู้บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเติบใหญ่ในนิวยอร์ก ใช้เรียกตัวเองในแวดวงแฟชั่นที่นั่น

แบงค์คืออดีตพนักงานออฟฟิศฝ่ายพีอาร์มาร์เก็ตติ้งผู้ไร้ประสบการณ์ด้านแฟชั่นและสไตลิสต์ เขาพกเมล็ดพันธุ์แห่งความหลงใหลมาฟูมฟักในผืนดินมหานครแห่งแฟชั่นฟากอเมริกา เมืองซึ่ง “แค่ก้าวเท้าออกจากบ้าน อะไรก็เกิดขึ้นได้”

นิวยอร์กเปิดโอกาสให้เขาได้ฝัน และเป็นสไตลิสต์ชาวไทยมากฝีมือได้จริงตามฝัน ท่ามกลางกระแสธารแห่งอุตสาหกรรมความงามระดับสากลที่ไหลเชี่ยวกราก

สุธีชัดเจนเด็ดขาดในวิถีการทำงานจนได้ร่วมงานกับสื่อแฟชั่นระดับโลกมาแล้วหลายหัว หลากประเทศ ทั้ง Design Scene, Nylon Spain, Grazia Croatia, L’Officiel Baltics, Elle Bulgaria รวมถึงหัวไทยอย่าง GQ Thailand และ Harper’s BAZAAR Thailand หลังจากถ่ายแฟชั่นแอดิทเรียลให้นิตยสารฝรั่งเศส IRK magazine และได้รับทาบทามจาก Jackie Cox ให้ไปดูแลงานสไตลิ่งให้ในช่วง Press Week ของรายการ RuPaul’s Drag Race Season 12 ก่อนรายการออกอากาศ จนถึงดีไซน์ตุ้มหูแสนเก๋ให้เขาในลุคสุดท้ายตอน Episode Finale

นอกจากฝีมือในการจัดการเสื้อผ้าอันไร้ข้อกังขา อีกหนึ่งสิ่งน่าสนใจคือแนวคิดการทำงานของเขา แม้สุธีเที่ยวท่องอยู่ในวงการเครื่องแต่งกายระดับโลกที่มีเหล่าแบรนด์เนมเก่าแก่เป็นเจ้าตลาด ผูกขาดการกำหนดทิศทางและวางค่านิยมเอาไว้ แต่กลับเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์รุ่นเยาว์ แบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่อายุน้อยที่มีผลงานฉกาจฉกรรจ์เกินวัย ให้ได้มาอวดโฉมผ่านฝีมือการจัดการของเขา เอื้อโอกาสให้ได้เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน สร้างนิเวศแวดล้อมแฟชั่นให้น่าอยู่

คอลัมน์ In Design คราวนี้ จึงชวนเขามานั่งลงสนทนาทางไกล พูดคุยถึงเส้นทางชีวิต ความคิด และผลงาน ของสไตลิสต์ที่ถูกรู้จักอย่างกว้างขวางนอกประเทศไทยในชื่อ ‘Suthee’

Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก

01 State of Opportunity

“เราตัดสินใจไปนิวยอร์กเพราะต้องการค้นหาตัวเอง”

สุธีเล่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต หลังจากเกิดติดอกติดใจเมื่อได้ลองชิมลางงานสไตลิสต์ ผ่านคำแนะนำของพี่ในสายครีเอทีฟที่รู้จัก สมัยยังทำงานเป็นลูกจ้าง 

“เราอยู่กับสายธุรกิจมาจนอิ่มตัว จนรู้สึกว่าทำงานเป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ในบริษัทแล้วเขาไม่ให้ค่า อยากได้ศิลปะมาอยู่ในชีวิตบ้าง เลยเก็บเงินย้ายมานิวยอร์ก ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าต้องการอะไร รู้แค่เมืองไทยอาจไม่ใช่ที่ของเรา ความเปิดกว้าง ความหลากหลาย ความไร้เพศ ไร้อายุ คือสิ่งที่นิวยอร์กให้เราได้ มันเป็นเรามากกว่า”

เขาฉายภาพนิวยอร์กในความทรงจำจากการไปเที่ยวระยะสั้นครั้งหนึ่ง ก่อนตัดสินใจกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองเดิมอีกหน ควบอาชีพนักเรียนแฟชั่นที่ FIT (Fashion Institue of Technology) นักเรียนภาษา พนักงานพาร์ตไทม์ในร้านอาหารไทย 

วันหนึ่ง สุธีที่กำลังตามหาตัวตนใหม่ ได้พบกับเพื่อนช่างแต่งหน้าร่วมชาติ ผู้ชักชวนเขาไปทำงานสไตลิสต์ในการถ่ายเทสต์ ซึ่งเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นให้แบงค์ได้หัดเดินล้มลุก ลองผิดลองถูกได้อย่างไร้กฎเกณฑ์

Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก

“เราไม่ได้เรียนแฟชั่นมา ไม่มีพื้นฐาน แต่รู้สึกว่า เชี่ย แม่งต้องลองว่ะ โอกาสมาแล้ว ตอนนั้นถ่าย พี่กิฟท์ (ปิยวรรณ จิตสำราญ) ซึ่งท้าทายมากเพราะเราใหม่หมด ไม่รู้กระบวนการทำงานเลย เลยทำลุคคร่าว ๆ ไป แล้วเดินช้อปเสื้อผ้ามา ปรากฏออกมาดี จากงานนี้ก็มีรุ่นพี่ช่างภาพคนไทยติดต่อมาบ้าง เพื่อนของเพื่อนชวนไปถ่ายบ้าง ลงอินสตาแกรมปุ๊บก็เริ่มมีคนเห็นงาน มีทางไปต่อ นี่คือจุดเริ่มต้นของจริง เพราะเราไม่มีประสบการณ์จากไทยเลย คือศูนย์”

สุธีเสริมว่า หนึ่งปัจจัยที่เปิดโอกาสให้เขาได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ ‘ความเป็นนิวยอร์ก’ เมืองแห่งโอกาสธรรมชาติของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์แฟชั่นในนิวยอร์กที่เปิดกว้าง

“ที่นี่ หนังสือแฟชั่นไม่จำเป็นต้องเป็น Vogue จะมีหัวเล็ก ๆ อย่างนิตยสารอินดี้หรือหัวออนไลน์ คอยเลือกคอนเทนต์ที่เราส่งไปให้ จนเริ่มมีคนเข้ามาหาและเป็นที่รู้จักของคนในวงการมากขึ้น

“ส่วนหนึ่งเพราะนิวยอร์กเป็นเมืองที่ให้โอกาสทุกคน เราเคยดูหนัง Sex and the City มีภาพจำของนิวยอร์กจาก Devil Wears Prada เดินถือ Starbucks เข้าออฟฟิศ ก็เป็นอย่างนั้นจริง แต่ถ้าอยู่ไทยเราไม่มีโอกาสทำตรงนี้แน่นอน เพราะวงการแฟชั่นค่อนข้างคัดสรรและจำกัด ทุกคนรู้ว่ามันยาก ยากที่จะเป็นใครสักคน เพราะถ้าคุณไม่มีต้นทุนที่ดี ยิ่งไม่ได้เรียนแฟชั่น คุณไม่มีโอกาสเข้าถึงแน่นอน แต่ที่นี่โอกาสมันเข้าถึงง่าย ความพยายามความขยันพาคนไปสู่จุดจุดอื่นได้ เหมือนสโลแกนของรัฐ ‘State of Opportunity’ นิวยอร์กให้โอกาสทุกคนจริง ๆ”

Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก

พาร์ตสำคัญพาร์ตหนึ่งบนวิถีสไตลิสต์ของสุธี คือประสบการณ์การไปเป็นผู้ช่วยสไตลิสต์รุ่นใหญ่ ซึ่งทำให้เขาได้เข้าใจกระบวนการการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เทคนิคการดีลกับแบรนด์ใหญ่ การหาคนมาร่วมทีมแต่ละจ๊อบ จนถึงเคล็ดลับการตีโจทย์ของรุ่นพี่ในวงการ ก่อนนำมาเลือกรับปรับใช้ให้ตรงตามวิถีแห่งตน

“เราตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าตัวตนของเราเป็นแบบไหน เพราะเริ่มต้นจากการทำงานด้วยตัวเอง การไปเป็นผู้ช่วยจึงเป็นประสบการณ์ที่ดี ใช้โอกาสนั้นแหละ ค้นหาตัวเอง เราเชื่อว่าก่อนจะเป็นใหญ่เราต้องเป็นคนเล็กมาก่อน”

02 Suthee’ s Recipe

“แล้วแนวทางที่คุณค้นพบเป็นแบบไหน” – เราต่อบทสนทนาทันที

“ไม่รู้จะนิยามอย่างไรชัดเจน แต่นอกจากความสวยที่ใครก็สวยได้เหมือนกัน เราชอบการดึงความเท่ ดึงคาแรกเตอร์ของแบบออกมาให้มากกว่าความสวย แต่ดูแล้วรู้สึกว่าไม่พยายามมาก ถ้าชุดเยอะก็ไม่อยากให้โพสท่าเยอะ เพื่อประนีประนอมให้มันเป็นไปในทิศทางที่เราอยากได้”

ในเมืองซึ่งรวดเร็วเร่งรีบเหลือประมาณ ตลาดการค้าการแข่งขันเปิดเสรีจนน่าประหวั่นใจ สไตลิสต์ผู้พกประสบการณ์เป็นศูนย์จากไทยไปลับเหลี่ยมคมจนโตไกลกลางนิวยอร์ก พัฒนาตัวเองให้ฉับไวเท่าทันวงการผ่านทักษะพื้นฐานของมนุษย์ผ่านการตื่นมาเปิดอินสตาแกรม

“ดูงานทุกเช้า นั่งทำมู้ดบอร์ด พวกนี้เป็นแบบฝึกหัดของการทำงาน ทำบ่อย ๆ จะช่วยให้รู้ว่าแบบไหนควรหา แบบไหนควรใช้ แล้วต้องรีเสิร์ชว่ามีดีไซเนอร์หน้าใหม่คนไหนควรเข้าหา อะไรกำลังไฮป์หรือเป็นเทรนด์ จับกระแสนิยมให้ถูก ถ้าอยากไปถึงเป้าหมายก็ต้องทำการบ้าน แล้วก็ต้องออกไปข้างนอก ออกไปเจอคน ไปมิวเซียม

“ส่วนพาร์ตความคิดสร้างสรรค์ แค่ทำให้ตัวเองมีความสุขก็พอ” เขาตอบจริงจังเชิงเย้าเคล้าเสียงหัวเราะ ก่อนเล่าต่อไปถึงกระบวนการทำงานของตัวเองว่า

“เช่นเดียวกับการทำงานจริง ได้โจทย์มาก็มานั่งหาแบบอ้างอิง รีเสิร์ชว่าต้องใช้แบรนด์ไหน ประมาณไหน เลือกชุดให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ บางชุดธรรมดาก็อาจหาไอเดียเติมลูกเล่นเข้าไปในช็อต

Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก

“อย่างงานชุด ‘Coming Up Roses’ ที่ถ่ายกับ น้องญาดา (Yada Villaret) ได้ชุดมาจาก Prada ตอนเขาตอบอีเมลกลับมา เราแบบ Prada, Are you kidding me? (หัวเราะ) เพราะไม่คิดว่าจะได้ พอได้มาก็ดีใจ แต่ชุดไม่ได้เกี่ยวข้องกับดอกไม้ เราเลยเอาดอกไม้มาเป็นลูกเล่นเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ที่ต้องถ่ายกับดอกไม้ และเราจะขายเสื้อผ้าลายดอกไม้ทุกลุคไม่ได้ อาจเป็นชุดธรรมดาแล้วใส่ดอกไม้จริงมาในฉาก หรือชุดมีดอกไม้แล้ว ฉากไม่มีดอกไม้ก็ได้ หรือลองให้ชาวกองมายืนถือดอกไม้เป็นเฟรมรูป ก็ได้เป็นอีกผลลัพธ์หนึ่ง ประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่หน้างานให้ดีที่สุด”

Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก
Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก
ขอบคุณภาพชุด ‘Coming Up Roses’ จาก www.designscene.net/ 

“หรือชิ้น ‘Metamorphosis’” สไตลิสต์คนเก่งแชร์หน้าจอเปิดภาพผลงานอีกชุดประกอบพลางต่อเรื่อง

Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก
Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก

“โจทย์ที่เราคุยไว้กับช่างภาพคนญี่ปุ่นคืออยากเล่นกับร่างกาย ความหุ่น ความรูปร่าง อวัยวะส่วนต่าง ๆ อยากให้สัดส่วนมันผิดไป แขนขามีเกินกว่าปกติ ไหล่สูงขึ้น ใช้ของโน่นนี่มาเล่นกับเสื้อผ้าให้ภาพมันออกมาแปลก ๆ สร้าง Texture Optical Illusion”

“นี่ก็เป็นครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าเริ่มเป็นตัวเรามากขึ้น” เขายิ้มกริ่มผ่านจอเมื่อเล่าถึงงานชิ้นโปรด

Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก
Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก
ขอบคุณภาพชุด ‘Metamorphosis’ จาก sickymag.com/metamorphosis/ 

03 “ทำไมต้องปิดกั้นโอกาสคนตัวเล็ก เพื่อให้โอกาสคนที่มีมันอยู่แล้ว”

“แต่ชิ้นที่ท้าทายและสนุกที่สุดคือ ‘China Town’ ที่ทำให้ Harper’s BAZAAR Thailand

สุธีเปิดผลงานที่เขาเผยว่าสนุกตื่นเต้นและอยากเล่าให้ The Cloud ฟังที่สุด

Suthee พนักงานออฟฟิศไร้ประสบการณ์แฟชั่นทำตามฝัน บินลัดฟ้ามาเป็นสไตลิสต์ดังในนิวยอร์ก
ขอบคุณภาพชุด ‘China Town’ จาก www.harpersbazaar.co.th/FASHION/NEWS/cover-january-2021-highlight 

นี่เป็นอีกครั้งที่แบงค์ได้ร่วมงานกับกิฟท์ ดึงคาแรกเตอร์มนต์เสน่ห์ของย่านคนจีนกลางมหานครแห่งเสรีภาพ จุกลิ่นอายแห่งทวีปเอเชียดินแดนตะวันออกไว้ในคอนเซ็ปต์ ‘Lady of China Town’ สุภาพสตรีสาวชาวมังกรที่เก๋ไก๋ทันสมัย ผ่านผลงานออกแบบเสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ชาวจีนหน้าใหม่ เพื่อผลักดันความเป็นเอเชียในโลกตะวันตก ยิ่งได้ประสานพลังกับคนไทยในนิวยอร์ก ถ่ายทำทั้งภาพนิ่งและวิดีโอท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด แล้วผลตอบรับออกมาดีเกินฝัน ก็ยิ่งได้แรงบันดาลใจและพลังงานบวกให้กลับไปนอนยิ้ม

“งานชิ้นนี้ค่อนข้างอิมแพค เพราะจังหวะนั้นมีกระแส Asian Hate Crime งานเลยช่วยพูดเรื่องนี้ได้ด้วย

“แต่อย่างหนึ่งที่ชอบคือการทำงานกับดีไซเนอร์และนางแบบหน้าใหม่ อย่างคราวนี้ไม่ได้ใช้แบรนด์ใหญ่เลย มีแค่เครื่องประดับจาก Vivienne Westwood เน้นใช้ของนักออกแบบชาวจีน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่เป็นหลัก เพราะเราไม่ได้เบอร์ใหญ่ ถ้างานเขาได้เผยแพร่ เราก็มีที่แสดงฝีมือ เราโตเขาโต น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แบบนี้ดีต่อวงการมากกว่า ถ้าอยู่เมืองไทย ทุกคนคงวิ่งหา Gucci, Chanel กันหมด แล้วแบรนด์ใหญ่ ๆ เขาไม่ได้แคร์อยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้มีพาวเวอร์ในโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าใช้ของเป็น เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงเพื่อบอกสถานะเลย ของสวยคือสวย จบ”

สุธีตั้งธงในการทำงานอย่างชัดเจน เขาไม่ได้ต่อต้านการใช้ของแบรนด์ใหญ่อย่างสุดโต่ง ไม่ได้แอนตี้เครื่องหมายการค้าหรูหราในกระแสทุนนิยมโลก แต่ปรับทัศนคติให้เห็นแจ้งและรู้เท่าทัน ว่าสุนทรียะอันงดงามไม่จำเป็นต้องมาจากตรายี่ห้อหรูหราเสมอไป

เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส

“หลายครั้งไม่ได้ใช้แบรนด์ใหญ่เลยก็มี อย่างงาน ‘Headlight Sillhouette’ ที่ทำให้ L’Officiel Baltics ใช้ของธรรมดาจากดีไซเนอร์หน้าใหม่ทั้งนั้น เอามาทำเป็นชุดดำเล่นกับรถและแสงเงา ก็ออกมาสวย บางทีแมกกาซีนก็ต้องการแบรนด์ใหญ่เพื่ออิมเมจแหละ แต่แบรนด์เนมไม่ได้เป็นตัวแทนของงานที่ดี งานที่ดีคืองานที่ดี และทุกคนควรได้รับโอกาส เราเองยังอยากได้โอกาสเลย แล้วทำไมต้องปิดกั้นโอกาสคนตัวเล็ก เพื่อให้โอกาสคนที่มีมันอยู่แล้ว”

สไตลิสต์อีกซีกโลกตั้งคำถามชวนคิด

เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
ขอบคุณภาพผลงานชุด ‘Headlight Sillhouette’ จาก lofficielbaltics.com/editorials/headlight-silhouette 

04 “ที่นี่ไปถึง Non-binary แล้ว ที่ไทยยังถามอยู่เลยว่าเป็นกะเทยหรือเปล่า”

‘No Label’

คือชื่อผลงานชุดสำคัญอีกชุดที่สุธีตั้งใจเตรียมมาเล่าอวดเราอีกชิ้น เพราะนอกจากคอนเซ็ปต์คมคายที่สุธีสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างไร้กระบวนท่า ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นเครื่องชี้วัดความก้าวหน้าของวงการแฟชั่น และแรงกระเพื่อมต่อสังคมที่อาชีพสไตลิสต์สร้างขึ้นได้ผ่านงานออกแบบ

เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
ขอบคุณภาพผลงานชุด ‘No Label’ จาก models.com/work/various-editorials-no-label-nylon-spain 

“เป็นงานที่ทำให้นิตยสาร Nylon Spain ลงเป็นออนไลน์คอนเทนต์ช่วง Pride Month ปี 2019 ตอนคุยคอนเซ็ปต์กับช่างภาพสนุกมาก เราอยากเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศที่ไม่ต้องตะโกนว่า ‘ฉันเป็นกะเทย’ ‘ฉันเป็นทอม’ ‘ฉันเป็นดี้’ คือเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่มีความสุขและใช้ชีวิตปกติ

“เรารู้สึกว่าการเป็นเพศอะไรไม่สำคัญอีกแล้ว เพราะเราจะเป็นอะไรก็เรื่องของเรา เลยตีความให้ออกมาอยู่ในรูปเสื้อผ้า ผู้หญิงใส่กางเกงหรือดูบอย ผู้ชายแต่งหน้าใส่กระโปรง ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ควรมีใครถูกตีกรอบว่าเป็นเพศนี้แล้วต้องเป็นอย่างนี้ ชุดที่ถ่ายหรือว่า Statement ทุกอย่าง จึงใช้ความนิ่ง หญิงชายใส่ชุดธรรมดาสลับกัน ไม่อยากให้เหมือนทางคอมเมอร์เชียลที่บอกว่าเกย์ต้องแต่งหน้าด้วยซ้ำ

“การทำงานที่นี่ก็เหมือนกัน มันไม่มีเพศจริง ๆ ความเก่งไม่เกี่ยวกับอายุ ทำงานดีแค่ไหนก็คือแค่นั้นเลย เป็นเรื่องที่ไม่ต้องถามแล้วว่าคนนี้เพศอะไร ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปแล้ว และตอนนั้นอยู่นิวยอร์กมาสองปี มูฟเมนต์เรื่อง Pride Month ไม่ใช่เรื่องใหม่ จนตอนนี้ที่นี่ไปถึง Non-binary แล้ว ที่ไทยยังถามอยู่เลยว่าเป็นกะเทยหรือเปล่า”

เราจับเสียงคู่สนทนาได้อย่างแจ่มชัดว่าเขาตกหลุมรักนิวยอร์กเข้าอย่างจัง ไม่ใช่แค่ในฐานะผืนดินแห่งโอกาสและความฝัน ที่ให้ที่ทางเขาได้อบรมบ่มร่ำตัวเองจนเคี่ยวกรำแก่กล้า ประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างเสรีด้วยไฟที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นต้นกล้าที่หยั่งรากลึกแข็งแรงได้ด้วยความมานะพยายามส่วนตัว แต่ราวกับว่าเขาอยากอยู่ที่นี่

“มันเป็นระบบนิเวศที่ดีมาก ผมเพิ่งมารู้ตอนหลังว่า อย่างแฟชั่นสไตลิสต์ก็มีเอเจนซี่เหมือนนางแบบ ที่นี่มีแม้กระทั่ง Mother Agency หรือคนที่ไปสเกาต์จนเจอมา ช่างภาพ ช่างหน้า ช่างผม ขณะที่ในไทยส่วนใหญ่จะมีแค่นางแบบที่มีเอเจนซี่ ที่เหลือเป็นฟรีแลนซ์ งานมันเป็นระบบที่เอื้อต่อการทำงาน เมืองมันสนับสนุนให้กล้า กล้าคุย กล้าทัก ไม่ใช่กลัวไปก่อน ที่นี่ แค่ก้าวเท้าออกจากบ้าน อะไรก็เกิดขึ้นได้”

แปลว่ายังไม่อยากกลับไทย – เราถามสรุป

“ไม่นะ” เขาตอบตามโครงสร้างไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ แปลว่า ใช่ เขาไม่อยากกลับไทย

“ไม่รู้ว่าจะกลับไปทำอะไรที่ไทย อาจรับฟรีแลนซ์ได้ ถ้ามีโอกาสมีงานเข้ามาก็พร้อม ไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว แต่ถ้าให้กลับไปอยู่อันนี้ไม่มั่นใจเลย เพราะที่ไทยตลาดไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้ และโอกาสน่าจะน้อยเพราะแบรนด์ไม่เยอะ แฟชั่นที่นี่มีหลายแง่มุมมาก แฟชั่นไม่ใช่ความเท่ ไม่ใช่การไปสยามสแควร์ แล้วโอกาสของวงการแฟชั่นที่ไทยก็เหมือนที่บอกทีแรก”

สุธีส่งยิ้มกรุ้มกริ่มบอกเป็นนัย

5 ผลงานที่ Suthee อยากเล่าให้ผู้อ่าน The Cloud ฟัง

01 Lady of ChinaTown

เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส

ชอบมากที่สุดเลยชิ้นนี้ ตื่นมาดูทุกวันเลย รู้สึกว่ามันสร้างแรงบันดาลใจมาก แล้วเราได้ทำงานกับช่างภาพที่เราติดตามมานานตั้งแต่ช่วงแรกทำสไตลิ่ง ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้มาถ่ายกับเขา เพราะเราไม่กล้าออกไปหาคน ไม่กล้าคุยกับใคร แต่เราไม่รู้หรอกว่าโอกาสจะมาตอนไหน

02 Elle Bulgaria Digital Cover Story Camryn Lipman

เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
ภาพ : models.com/work/elle-bulgaria-elle-bulgaria-digital-cover-story-camryn-lipman 

งานนี้ทางบรรณาธิการของแอลล์เขาติดต่อมาผ่านช่างภาพที่สนิทกัน ชวนว่าสนใจไหม รู้สึกว่าโชคดีและเป็นโอกาสดีมากที่ได้ถ่ายลง Cover Story แม้ว่าจะเป็นแบบออนไลน์ก็ตาม แถมงานก็ออกมาน่าพอใจ

03 Utopia

เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
ภาพ : lofficielbaltics.com/en/editorials/utopia

ชิ้นนี้ถ่ายให้ L’Officiel Baltic นางแบบคนนี้สวยมาก แต่เราไม่ได้ขายสวย เราขายเท่ ให้สิ่งที่อยากสื่อสารออกมาผ่านดวงตา แววตา แล้วชุดมันยาก คนธรรมดาใส่แล้วยากแน่นอน แต่พอเขาใส่แล้วมันออกมาเป็นอีกคาแรกเตอร์หนึ่งเลย เป็นการเล่นกับชุด สร้างให้มันดูมีอะไรขึ้นมา มีเสน่ห์​มีการเล่าเรื่อง ยากและท้าทายตรงที่ตอนแรกคุยคอนเซ็ปต์กับช่างภาพแล้วไม่เคลียร์ รู้เลยว่าต้องแก้หน้างานเยอะมาก แต่สุดท้ายก็ออกมาดี

04 On the Earth

เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
ภาพ : flanellemag.com/on-the-earth-by-shiyu-tsai-for-flanelle-magazine/ 

ชิ้นนี้ทำให้นิตยสาร Flanelle พูดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติก ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา ที่ชอบเพราะเราพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าแฟชั่นมันสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกมาได้ด้วย

05 GQ Thailand

เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
เบื้องหลังชุดสวยเก๋ฝีมือ ‘Suthee’ สไตลิสต์ไทยที่จากบางกอกมาโตไกลถึงนิวยอร์ก มหานครแห่งแฟชั่น ความฝัน และโอกาส
ภาพ : www.gqthailand.com/ 

พี่เตชินทร์ (เตชินทร์ ไกรขจรกิตติ) เป็นดีไซเนอร์คนไทยที่นี่ เสื้อผ้าแบรนด์พี่เขาเป็นสูท Tailor-made เป๊ะมาก แต่เขาต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ดู Edgy และขายวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น ครั้งนี้เราเลยเล่าเรื่องให้เป็นเหมือนเป็นการเปิดบทใหม่ หยิบชิ้นออริจินัลมาผสมกับดีไซน์ใหม่ จากเดิมที่ขายเสื้อผ้าผู้ชาย รวยหน่อย ผู้ใหญ่หน่อย กลับมาเป็นเสื้อผ้าลายแพตเทิร์นแปลก ๆ ชาเลนจ์ประมาณหนึ่งเหมือนกัน และงานก็ออกมาดี ภาพออกมาสวยมาก

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey