ช่วงเวลาของการแบ่งแยกดินแดน อินเดีย-ปากีสถาน ใน ค.ศ. 1947 คนอินเดียจำนวนมหาศาลต้องหาทางรอดในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการอพยพพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ตามประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย นำมาซึ่งอาชีพที่คุ้นหูคุ้นตาคนไทยกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะแขกขายถั่ว แขกขายมุ้ง แขกขายโรตี แขกเฝ้ายาม ซึ่งคนอินเดียกลุ่มนี้ มักจะเป็นกลุ่มที่มาจากทางฝั่งอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ส่วนถ้าเป็นแขกชาวอินเดียที่พอจะมีการศึกษาสูงหน่อย ก็นิยมทำธุรกิจขายผ้า

คอลัมน์แขกมาครั้งนี้ เราพามารู้จักกับชีวิตแขกขายตั๋ว ชีวิตของเขาผ่านมาทั้งช่วงเวลาของการวิ่งหนีระเบิด มุดลงตุ่มน้ำด้วยความตื่นกลัวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกือบเอาตัวไม่รอด ต้องปีนกำแพงวัดซิกข์หนีพวกทหารมุสลิมในช่วงสงครามแบ่งแยกดินแดนอินเดีย-ปากีสถาน โดยครอบครัวในรุ่นพ่ออพยพเข้ามาอยู่ที่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีการแบ่งแยกดินแดนอินเดีย-ปากีสถาน แล้ว

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

อ้อ แขกขายตั๋วที่ว่านี้ ไม่ใช่ตั๋วหนังตั๋วรถไฟนะคะ แต่ สุธรรม สัจจาภิมุข (ราจ สัจเดว์) เป็นเจ้าของบริษัท SS Travel Service จำหน่ายตั๋วเครื่องบินทั่วโลก และยังเป็นอดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย รวมทั้งเป็น 1 ใน 2 อดีตเด็กน้อยจากกลุ่มยุวชนทหาร บาลัก เซน่า (Balak Sena) เพื่อการกอบกู้เอกราชอินเดีย ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกำลังเสริมให้กับกลุ่มทหารชาติอินเดีย โดยเข้ามาตั้งแคมป์อยู่ตามประเทศต่างๆ รวมทั้งที่จังหวัดชลบุรีของประเทศไทย เพื่อรอวันกลับไปทวงคืนอิสรภาพจากอังกฤษ

 ฉันชอบความรู้สึกของการเดินเข้ามาในบรรยากาศของสำนักงานที่มีเอกสารกองพะเนินอยู่บนโต๊ะทำงาน จนแทบจะมองไม่เห็นเจ้าของโต๊ะอยู่แล้ว จะทักทายกันทีนี่ ต้องชะเง้อหน้ามองข้ามไปหลังกองกระดาษว่ามีคนอยู่ไหม 

“คุณสุธรรมจะทำยังไงต่อไปกับเอกสารเหล่านี้คะเนี่ย”

ฉันทักทายคุณสุธรรมด้วยความสงสัย เจ้าของกิจการ วัย 83 ปีได้แต่หัวเราะแห้งๆ แกหันไปก้มนับเงินค่าตั๋วโดยสารที่เพิ่งได้รับมาจากพนักงานวิ่งเอกสาร แกค่อยๆ พับเก็บธนบัตรเหล่านั้น ห่อไว้อย่างดีในกระดาษทิชชู

“COVID-19 ใครเป็นใครบ้างไม่รู้ จะเก็บอะไร ต้องระวังตัว”

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

คุณพ่อของคุณสุธรรม เรียนจบจากจังหวัดซิอัลกต (Sialkot) ซึ่งจังหวัดนี้ สมัยก่อนเป็นพื้นที่ของประเทศอินเดีย แต่วันนี้เป็นของประเทศปากีสถานไปแล้ว หลังเรียนจบมา พ่อและเพื่อนๆ ชวนกันอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย นั่งเรือเข้ามาทางชายแดนพม่า พอมาถึง พ่อก็มาเริ่มอาชีพขายผ้า ซึ่งตอนนั้น ย่านพาหุรัดยังเป็นแค่ท้องทุ่งอยู่เลย ไม่ได้มีถนนตัดผ่านเหมือนเช่นทุกวันนี้ การขายผ้าของคนอินเดียที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยในช่วงเวลานั้น เป็นการเดินทางออกไปขายตามต่างจังหวัด 

จนวันหนึ่ง พอพ่อเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ประจวบกับเริ่มมีถนนตัดผ่านเข้ามาในย่านพาหุรัด พ่อเลยมองหาลู่ทางสร้างตัวเอง ด้วยการเปิดร้านขายผ้าใกล้กับวัดซิกข์ ตัวคุณสุธรรมเป็นลูกชายคนแรกจากจำนวนพี่น้อง 8 คน น้องสาวคนที่ 4 ของคุณสุธรรมเสียชีวิตตั้งแต่แบเบาะ ในช่วงระหว่างที่แม่อุ้มหนีสงครามที่ประเทศอินเดีย

 เปิดร้านขายผ้าที่พาหุรัด มหัศจรรย์ระเบิดลงวัดซิกข์ ที่ไม่ระเบิด

“สมัยเปิดร้านขายผ้าที่พาหุรัด หน้าวัดซิกข์ พ่อใช้ด้านหน้าเป็นร้านขายผ้า ส่วนด้านหลังใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ตอนนั้นผมอายุเก้าขวบ เรียนอยู่ที่โรงเรียนภารตวิทยาลัย กำลังจะจบประถมสี่ เป็นช่วงสงครามญี่ปุ่นพอดี โรงเรียนถูกสั่งปิดกันหมด ศูนย์กลางของระเบิดในตอนนั้นชอบอยู่ตามโรงไฟฟ้ากับโรงพยาบาลกลางเมือง 

“พาหุรัดก็เป็นศูนย์กลางที่ระเบิดชอบมาลงกัน เพราะมีโรงไฟฟ้าใหญ่ตั้งอยู่ เสียงตู้ม ตู้ม ระเบิดกันทั้งวันล่ะ 

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

“ครอบครัวเราเลยต้องย้ายไปเช่าบ้านอยู่ตรงแถวสุขุมวิทซอย 19 กันชั่วคราว แถวนั้นมีแคมป์ทหารญี่ปุ่นมาปักหลักอยู่ ช่วงนั้นพ่อไม่ได้ค้าขายเลย อย่างเวลาผมจะเดินออกจากบ้านไปเรียนพิเศษที พอได้ยินเสียงระเบิด ก็ตกอกตกใจ วิ่งลงตุ่มน้ำไปกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ไอ้ขาลงก็ลงได้ล่ะ ไอ้ขาออกนี่ล่ะ ออกไม่ได้ ตะโกนโวยวายขอความช่วยเหลือ จนคนแถวนั้นต้องหาเครื่องมือมาช่วยกันทุบตุ่ม แล้วดึงพวกเราสองคนออกมา

“เสียงระเบิดสมัยก่อนมันต่างจากสมัยนี้นะ มันไม่มาเงียบๆ แต่เสียงมันดังมาตั้งแต่ช่วงที่ถูกทิ้งลงจากต้นทาง สะเทือนเลื่อนลั่นมาเลย ครั้งหนึ่ง ทหารต่างชาติตั้งใจทิ้งระเบิดลงการไฟฟ้า แต่มันพลาดมาลงที่วัดซิกข์ ระเบิดความสูงเท่าคนเจาะเพดานดาดฟ้าวัดซิกข์ลงไปถึงชั้นล่างของตัววัด แต่กลับเป็นระเบิดด้าน คือมันไม่ระเบิด เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก บ้านที่อยู่หลังโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ตอนนั้นเสียหายกันหมดด้วยแรงสะเทือนของระเบิดนี้”

เมื่อเด็ก 9 ขวบ จากกลุ่มบาลัก เซน่า ถือจดหมายขอความช่วยเหลือไปยื่นให้กับทหารญี่ปุ่น เพื่อร่วมกอบกู้เอกราชอินเดีย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนตายี สุภาช จันทรา โบส (Netaji Subhash Chandra Bose) นักต่อสู้และผู้นำกลุ่มอิสระเพื่อการกอบกู้เอกราชอินเดียออกเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อสร้างแคมป์ทหารชั่วคราวในการซ้อมรบให้กับทหารอินเดีย เพื่อรอวันกลับไปต่อสู้ทวงคืนอิสรภาพจากอังกฤษ ซึ่งนอกจากแคมป์ทหารแล้ว ยังมีค่ายยุวชนทหารที่เรียกว่า บาลัก เซน่า (Balak Sena) ยุวชนทหารกลุ่มนี้มีหน้าที่เป็นกำลังเสริม ส่งอาหาร ส่งน้ำ ให้กับทหารอินเดียรุ่นใหญ่ที่ตั้งแคมป์อยู่ในจังหวัดชลบุรี ตัวคุณสุธรรมเองก็เป็นสมาชิกค่ายยุวชนทหารด้วย

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย
ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

“ผู้นำเนตายีเป็นคนที่คนอินเดียนับถือกันเยอะมาก ได้รับเกียรติขนาดชื่อของท่านถูกตั้งเป็นชื่อสนามบินในเมืองโกลกาตา คือสนามบิน Netaji Subhash Chandra Bose เนตายีอยู่ในยุคสมัยเดียวกับมหาตมะ คานธี สองคนนี้มีแนวคิดเหมือนกันเรื่องการกอบกู้อิสรภาพให้อินเดีย แต่ความต่างคือคานธีมากับแนวคิดของอหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนเนตายี เป็นประเภทตาต่อตา ฟันต่อฟัน มีความเป็นนักรบ 

“เนตายีเดินทางออกจากอินเดีย ไปตั้งแคมป์ทหารและค่ายยุวชนทหาร บาลัก เซน่า ไว้ตามประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย ทั้งที่พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จนมาถึงที่จังหวัดชลบุรีของประเทศไทย 

“ไอเดียของเนตายี คือการฝึกให้เด็กยุวชนชาวอินเดียรู้จักความกล้าหาญ รักชาติบ้านเกิดของตัวเอง เป็นเด็กไม่ได้แปลว่าจะช่วยชาติไม่ได้ แต่จะช่วยในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง พอปิดเทอม เด็กๆ ก็จะไปอยู่กันที่ชลบุรี อาทิตย์ละ 4 – 5 วัน ไปกินอยู่กับพวกทหารรุ่นใหญ่นั่นล่ะ ช่วยงานเบ็ดเตล็ด เรียนรู้การฝึกทหารเล็กๆ น้อยๆ 

“วันหนึ่งมีการประชุมใหญ่ของพวกทหารอังกฤษ พวกนายพล คนใหญ่ๆ จากประเทศตะวันตกมากันหมดเลย ตอนนั้นเขาใช้พื้นที่แถวสภากาชาดไทยเป็นที่ประชุม 

“ที่งานนั้น เนตายีเลือกเด็กจากกลุ่มยุวชนทหารมาสองคน คือผมกับเพื่อน ให้เดินถือจดหมายลับไปส่งให้กับกองกำลังทหารอังกฤษที่ตั้งโต๊ะอยู่ตรงแถวพื้นที่การประชุมในบริเวณสวนอัมพร สิ่งที่ทหารฝั่งอินเดียบอกกับผมและเพื่อนคือ นี่เป็นงานสำคัญมากนะ จดหมายที่คุณถืออยู่นี่จะมีส่วนในการช่วยกอบกู้เอกราชอินเดียได้ 

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

“ตอนที่เราเดินถือจดหมายไปกับเพื่อน จะมีทหารอินเดียเดินประกบไปกับเราด้วย จนถึงจุดหนึ่งจากระยะไกลๆ ทหารอินเดียคนนั้นจะแค่ชี้ทางบอกเราว่าต้องเดินไปหาใครที่โต๊ะไหน จากนั้น ทหารอินดียเดินถอยกลับ และปล่อยให้เรากับเพื่อนเดินต่อไปเอง เพราะทหารอินเดียเองก็กลัวจะโดนทหารอังกฤษจับ แต่อย่างพวกเราเด็กๆ ทหารอังกฤษ เขาคงไม่ทำอะไรหรอก

“พอไปถึง เรายืนตะเบ๊ะให้พวกทหารอังกฤษที่มาตั้งโต๊ะอยู่ เราพูดกับทหารอังกฤษว่า แย-ฮิน (Jai-Hind) ซึ่งคำนี้เป็นคำที่ผู้นำเนตายีตั้งขึ้นมาในการเรียกร้องเอกราช มันแปลว่า ขอให้อินเดียชนะ

“ความรู้สึกในตอนนั้น เราไม่ได้รู้สึกกลัวนะ เพราะมีความเชื่อลึกๆ ว่า เราเป็นเด็ก เขาจะจับไปทำอะไรล่ะ”

เป็นคนอินเดียต้องรู้จักภาษาฮินดี กลับไปเรียนภาษาที่ประเทศรากเหง้า ในช่วงสงครามแบ่งแยกดินแดน อินเดีย-ปากีสถาน

 สำหรับคนอินเดียแล้ว เรื่องภาษาบ้านเกิดคือหัวใจในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดียในประเทศไทย ถ้าจะให้ดี ควรอ่านออกเขียนได้ ทั้งภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย 

วันหนึ่ง พ่อตัดสินใจส่งคุณสุธรรมที่เพิ่งเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 กลับไปเรียนภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ ที่เมืองดัสกา (Daska) ประเทศอินเดีย พอไปเรียนอยู่ได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนอินเดีย-ปากีสถาน คุณสุธรรมกับเพื่อนอีก 2 คนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อเอาชีวิตรอด ปีนหนีข้ามกำแพงวัดซิกข์ไปหลบอยู่ตามไร่อ้อย

“ที่คนอินเดียต้องส่งลูกหลานของตัวเองกลับไปเรียนภาษา เพราะกลัวว่าพอต้องติดต่อเรื่องธุรกิจการค้ากับคนอินเดียด้วยกันแล้ว จะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เราเป็นคนอินเดีย ถ้าเราไม่รู้ภาษาบ้านเกิดของเรา ก็ถือว่าแย่แล้ว 

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

“พอไปเรียนภาษาที่อินเดีย เรียนไปได้สี่ห้าเดือนก็เกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถาน สิ่งที่คนอินเดียทำกันในเวลานั้น คือเอาแก้วแหวนเงินทองไปซ่อนลงดินไว้ให้หมด อุ้มลูกอุ้มหลานไปซ่อนไว้ตามอาคารสูงๆ และในวัดซิกข์ เพื่อรอทหารฝั่งอินเดียมาช่วย จนพอพวกทหารฝั่งมุสลิมรู้ที่ซ่อนเท่านั้นล่ะ ก็ตามมาฆ่า

“จำได้เลย ตอนนั้นผมอยู่ในพื้นที่เขตปากีสถาน เพื่อตั้งใจข้ามฝั่งมายังอินเดีย โดยมีทหารอินเดียมาคอยดูแลผู้อพยพ ช่วงที่นั่งรถไฟมาตรงชายแดนกับพวกเพื่อนๆ เพื่อจะข้ามไปที่อินเดีย จนมาถึงสถานีอัมริตสา (Amritsar) พวกกลุ่มทหารที่อยู่บนขบวนรถไฟ ก็เกิดไปจับชาวมุสลิมที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำได้ พอจับได้เท่านั้นล่ะ ทหารอินเดียลากคนมุสลิมออกมา ฆ่าประจานตรงชานชาลาสถานีรถไฟนั่นเลย ใช้ดาบฟันคอหลุดกระเด็น 

“มันคือช่วงเวลาของการสูญเสียชีวิตท่ามกลางสงคราม ที่บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร อยู่ฝั่งไหน ตอนนั้น ผม แม่ และน้าชาย รวมทั้งชาวฮินดูและชาวซิกข์คนอื่นๆ เกือบสองร้อยคนเข้าไปซ่อนตัวในวัดซิกข์เพื่อแอบทหารฝั่งมุสลิม จนพอพวกทหารมุสลิมเข้ามาที่วัด ผมกับเพื่อนปีนกำแพงวัดหนีออกมาได้ก่อน ไปซ่อนตัวอยู่ตรงไร่อ้อยทางด้านหลังวัดทั้งคืน พอเช้ามา ย่องกลับไปดูว่าที่วัดเหลือใครอยู่บ้าง อ้าวเฮ้ย ถูกฆ่าตายหมดเกลี้ยง ศพเกลื่อน น้าชายผมก็ถูกฆ่าที่นี่ล่ะ

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

“ส่วนแม่หายไปแล้ว ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแม่ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า หรือหนีพวกทหารมุสลิมไปอยู่ที่ตรงไหน จนได้มารู้ทีหลังว่า มีทหารฝั่งอินเดียมาช่วยแม่กลับเข้าเดลีไปแล้ว

“น้องสาวคนที่สี่ของผมก็มาเสียเอาตอนที่แม่อุ้มหนีในช่วงสงครามครั้งนี่ล่ะ ต้องทิ้งศพลงที่แม่น้ำคงคา”

ครอบครัวล้มละลาย ขี่มอเตอร์ไซค์ขายของเงินผ่อน สร้างตัว จนเกิดแขกขายตั๋ว เจ้าของบริษัทจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน

 ในช่วงชีวิตที่ครอบครัวของคุณสุธรรมตกอยู่ในสถานภาพล้มละลาย เพราะพ่อซึ่งไม่ค่อยรู้ภาษาไทย โดนหลอกให้เซ็นเอกสาร ทำเอาหมดเนื้อหมดตัว คุณสุธรรมในฐานะลูกชายคนโตที่ไม่เคยทำงานอะไรมาก่อนเลย ก็ได้เรียนรู้ชีวิตผ่านหลายอาชีพ ที่ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะได้ทำ ทั้งหมดคือเส้นทางสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน SS Travel Service ที่เปิดกิจการมายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว

“จากที่บ้านเคยมีรถโรลส์-รอยซ์ คันใหญ่ๆ ผมก็ต้องเปลี่ยนมาโหนรถเมล์ ตอนช่วงอายุสักสิบห้า หลังเลิกเรียน ผมต้องไปขี่มอเตอร์ไซค์ขายของเงินผ่อน รับจ้างทำเอกสาร ต่ออายุหนังสือเดินทาง แปลงสัญชาติ 

กลุ่มเศรษฐีที่มาอยู่ในประเทศไทยสมัยนั้น เขาพยายามแปลงสัญชาติเป็นไทย ผมก็เป็นคนทำให้เกือบทั้งหมดล่ะ และไปรับจ้างแบกลังผ้าในสำเพ็งด้วย ประเทศไทยยุคนั้นยังไม่มีโรงงานทอผ้า เวลาเขาสั่งผ้ากัน ต้องสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ฉะนั้นต้องใช้แรงงานคนเยอะมากในการแบกหามลังพวกนี้ 

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

“คือทำทุกอย่างที่ขวางหน้าล่ะครับ เพราะเราเป็นพี่คนโต ต้องช่วยพ่อหาเงินมาส่งน้องเรียนหนังสือ 

“ทำไปทำมา เจ้านายเขาก็ให้มาช่วยดูแลโกดังเก็บผ้าในสำเพ็ง ทำอยู่สิบกว่าปี จากเงินเดือนหกร้อยบาท ขึ้นมาเป็นหมื่นกว่าบาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะนะ แต่ถ้าเทียบกับขายของเงินผ่อนแล้ว ขายของเงินผ่อนรายได้ดีกว่าเยอะ ผมก็เลยลาออกจากโกดัง จนได้มาเปิดร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าตรงสี่แยกบ้านแขก จากนั้น จับพลัดจับผลูมาเปิดบริษัทจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ซึ่งตอนนี้เราเป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินแอร์อินเดียแต่เพียงผู้เดียว”

2 ชั่วโมงของบทสนทนาที่เกิดขึ้น เต็มไปด้วยเรื่องราวของการเอาตัวรอดและวิ่งหนีสงคราม ประสบการณ์ชีวิตของคุณสุธรรมในบางช่วง เราไม่สามารถนำมาเขียนลงบทความได้หมด เพราะดูจะสุ่มเสี่ยงเกินไป 

คุณสุธรรมว่า สุดท้ายแล้ว การใช้ชีวิตในช่วงสงครามที่ยากที่สุด ไม่ใช่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามแบ่งแยกดินแดนอินเดีย-ปากีสถาน แต่คือสงครามของการเอาตัวรอดในช่วง COVID-19 ที่ยังไม่มีหนทางออกชัดเจนของโลกที่กำลังป่วยนี่ล่ะ 

 “อะไรก็เถอะ ผมคิดว่าตัวเองอยู่มาถึงขนาดนี้ได้ก็บุญแล้ว”

ชีวิตหนีสงครามของแขกขายตั๋ว สุธรรม สัจจาภิมุข อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย

Writer & Photographer

Avatar

พัทริกา ลิปตพัลลภ

นักเขียนและนักเดินทาง เจ้าของหนังสือชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก ที่ชาตินี้ยังคงใช้เวลาเดินทางไปกลับอินเดียอยู่บ่อยๆ จนเป็นเหมือนบ้านที่สอง