The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

สุธีร์ ปรีชาวุฒิ คือคนดูแลต้นไม้และนักสังเกตการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติประจำสุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

เขาเรียกตนว่าอย่างนั้น เราเห็นชอบอย่างไม่มีข้อโต้แย้งหลังจากเดินชมหนึ่งในสวนผลไม้ออร์แกนิกที่โดดเด่นที่สุดของจันทบุรี ผลผลิตจากสวนขนาด 100 กว่าไร่ของเขาวางขายในร้านค้าสินค้าปลอดภัยต่างๆ อย่างเลมอนฟาร์ม, ปันอยู่ปันกิน ไปจนถึงส่งออกให้ชาวต่างชาติที่ใส่ใจอาหารปลอดสารพิษ

การค้นคว้าจริงจังของคนดูแลต้นไม้คนนี้ ทำให้สวนนี้เป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ทีี่เกษตรกรออร์แกนิกรุ่นใหม่สนใจเข้ามาปรึกษาเสมอ สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม ยินดีต้อนรับทั้งหน่วยงาน เกษตรกรรุ่นใหม่ และนักท่องเที่ยว ที่สนใจเรื่องออร์แกนิก ให้เข้ามาชม และพร้อมเสมอที่จะให้คำปรึกษา

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

สุธีร์เป็นลูกชาวนา ก่อนจะผันตัวเป็นลูกชาวสวน หลังจากคุณพ่อเปลี่ยนอาชีพมาปลูกผลไม้ เดิมทีคุณพ่อมีเนื้อที่ทำสวน 15 ไร่ สมัยนั้นเงาะราคา 15 บาท ค่าแรงงานวันละ 5 บาท ทำให้คุณพ่อมีเงินพอที่จะซื้อที่เพิ่มได้ ความโหดร้ายของอาชีพเกษตรกรคือแม้จะผ่านไป 50 ปี ค่าแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาท แต่เงาะยังราคาประมาณ 15 บาทเท่าเดิม

“เรียนอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การเกษตร” พ่อบอกสุธีร์ด้วยความหวังดีในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต

ใบปริญญาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล จึงเป็นของขวัญตอบแทนความหวังดีของคุณพ่อ แต่ลูกชาวสวนคนนี้รู้ตัวดีว่าจะต้องกลับบ้านไปทำสวน เขาค้นพบเรื่องนี้เมื่อฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรมแถวนิคมมาบตาพุด

“เราเจอว่าตอนกลางวันเราอยู่อย่างปกติ พอกลางคืนเรานอนแล้วตื่นมาหายใจไม่สะดวก ลองแคะขี้มูกออกมาแล้วเป็นสีดำ แสดงว่ามลพิษสูงมาก รู้เลยว่างานวิศวะเครื่องกลต้องวนเวียนอยู่แบบนั้น ไปไหนไม่รอด

“หลังเรียนจบได้ 2 – 3 ปี เราเที่ยวห้างบ่อยขึ้น ไปเดินแผนกผักและผลไม้มากขึ้น เราคิดว่าผลไม้น่าจะทำอะไรได้มากกว่าการขายแม่ค้า เราไม่รู้จักหรอกออร์แกนิก รู้แค่ว่า 30 ปีก่อนคุณพ่อเป็นลูกค้าชั้นดีของปุ๋ยเคมี จนกระทั่งเขาหมดแรงล้มลงในสวน คุณหมอบอกว่า ในร่างกายมีสารเคมีมากเกินไป นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เรากลับบ้านมาทำเกษตรอินทรีย์”

ชาวจันทบุรีหลายคนตั้งตัวจนมั่งคั่งได้จากสวนผลไม้ และชาวเมืองจันท์หลายคนก็เจ็บป่วยเพราะสารพิษในสวนผลไม้เช่นกัน สุธีร์เรียนรู้เรื่องนี้จากคนใกล้ตัว หนุ่มวิศวะเครื่องกลฯ จึงเลือกทำสวนที่ปลอดภัยต่อชีวิตและครอบครัวของเขาก่อนเป็นอันดับแรก

จากวันที่กลับบ้านมาทำสวนโดยไม่รู้สักนิดว่าออร์แกนิกคืออะไร เพียงอาศัยการทดลองและเรียนรู้ด้วยตนเอง จนปัจจุบันสวนผลไม้ 4 แปลงใหญ่บนเนื้อที่ 100 ไร่ เปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ด้วยการสร้างระบบนิเวศและสมดุลธรรมชาติ

ถ้าอยากรู้ว่าสุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม ทำได้อย่างไร ไปเดินกลางสวนผลไม้แล้วฟังพร้อมกัน!

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

โลกใบเล็กในสวนมังคุด

สุธีร์ชวนเรากระโดดขึ้นรถยนต์คู่ใจ ขับไปถึงสวนมังคุดแปลงที่ 1 ที่เพิ่งเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ คนดูแลต้นไม้ชวนเราดูใบต้นมังคุดเวลากระทบกับแสงแดด ใบมันวาวระยิบระยับ เป็นการส่งสัญญาณว่าต้นมังคุดสุขภาพดี

“เราเคยอ่านหนังสือของวนเกษตร เขาบอกว่า ในธรรมชาติที่ต้นไม้อยู่ร่วมกันจะมีการฟุ้งกระจายของแสง แสงมากระทบใบนี้แล้วส่งต่อไปให้ใบของต้นนู้น เป็นความเกื้อกูลกันของธรรมชาติ พอเรามามองก็มีความจริงอยู่”

ตลอดพื้นที่ของสวนมังคุดมีหญ้าสีเขียวขึ้นรกชัฏนั้นไม่ได้การันตีความขี้เกียจของชาวสวน แต่สุธีร์บอกว่าเขากำลังสร้างระบบนิเวศในธรรมชาติ เขาเลี้ยงหญ้าและใส่ปุ๋ยเพื่อให้แมลงดีและแมลงร้ายมาอยู่อาศัย แมลงดีคอยกินแมลงร้ายที่กัดกินใบและผลของต้นมังคุดอีกที  

“แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าหญ้าชนิดไหนมีประโยชน์” เราถาม

“ชนิดไหนก็ตามที่มีรอยแทะ แสดงว่าแมลงกินได้ก็มีประโยชน์ทั้งนั้นแหละ แมลงศัตรูพืชแทนที่จะกินใบมังคุดก็เลือกกินหญ้า เราเลยเลี้ยงหญ้าให้เขามาอาศัย ถ้าสวนเราไม่มีหญ้า ต้นไม้จะแย่ เราเลยไม่ตัดหญ้าเตียนถึงดิน จะเหลือไว้ 1 คืบเสมอให้แมลงพอมีใบไว้อาศัย สวนมังคุดแปลงนี้ตอนเราปรับเป็นอินทรีย์ ปีแรกเราแทบไม่เจอแมลงเลย แต่เราเจอหนอนเต็มสวน มังคุดขี้เหร่มาก ลูกเล็ก ใบหงิกๆ งอๆ ผลผลิตได้นิดเดียว
         “พอเข้าปีที่ 3 เราชวนรุ่นพี่ที่เป็นนักกีฏวิทยามาช่วยดูแมลงให้ ปรากฏว่าชนิดแมลงมีมากขึ้น อย่างปีแรกแมลงศัตรูพืชเข้ามา ปีที่ 2 แมลงดีเข้ามากินแมลงศัตรูพืช พอปีที่ 3 เลยเห็นผลว่าทุกอย่างเริ่มกลับเข้าสู่ความสมดุล แสดงว่าทุกอย่างส่งผลและสัมพันธ์กันหมด ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ก็ไม่ดี ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งน้อยเกินไปก็ไม่ดี” สุธีร์เล่า

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

ปรึกษาตัวเอง

เรากระโดดขึ้นรถอีกครั้งเพื่อเดินทางไปบริเวณป่าพรุที่เหลืออยู่แห่งเดียวในแถบหมู่บ้านขลุง เหตุที่เหลืออยู่แห่งเดียวเพราะพื้นที่อื่นถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้ไปหมดแล้ว แต่สุธีร์ชอบความสมบูรณ์ของป่าเกินกว่าจะตัดใจเปลี่ยนผืนดินนี้เป็นพื้นที่ธุรกิจได้ลง อากาศเย็นสบาย จนดอกกล้วยไม้ป่าสีขาวแอบขึ้นตามกิ่งของต้นเงาะให้เราเห็นอยู่ตลอดทางเดินเข้าไปในสวนกว้างสุดสายตา

ระหว่างทางเราเกิดคำถาม แน่นอนว่าทุกคนอยากทำการเกษตรที่ปลอดภัย แต่เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วการเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ต้องเริ่มอย่างไร

“แต่ละคนปัจจัยไม่เหมือนกัน ต้องประเมินตัวเองก่อนว่าต้องการอะไร ความต้องการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก ถ้าเราบอกว่าป่วย ต้องการรักษาตัวและต้องการหยุดใช้ยาเพื่อให้ร่างกายดีขึ้น ก็หยุดเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกัน ถ้าเรายังทำออร์แกนิกไม่เก่งหรือดินเราแย่มาก เราอาจจะต้องประเมินตัวเองว่าสภาวะที่เราทำอยู่ กับคนที่เขาทำออร์แกนิกมานานๆ มีความต่างกันอย่างไร ดินไม่ดีหรือต้นไม้ไม่โตเป็นเพราะอะไร
         “อย่างสวนของเราช่วงแรกมีปัญหาโรคและแมลง เพราะสมดุลธรรมชาติเราเสียมาก ฉะนั้น เราจะต้องยอมรับความพังในปีแรก การรับมือก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่ามีความรู้และประสบการณ์อย่างไร ถ้าเรารู้อีกอย่าง พื้นที่เป็นอีกอย่าง แสดงว่าความรู้คนละชุด ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ”

แล้วปีแรกของการเปลี่ยนมาทำออร์แกนิก สุธีร์ปรึกษาใคร เราถามต่อทันที

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

“ปรึกษาตัวเอง (หัวเราะ) ว่าพร้อมทำมั้ย เพราะพื้นที่แต่ละอำเภอยังต่างกันเลย ขนาดแค่เราเดินไม่กี่ร้อยเมตรวิธีการทำเปลี่ยนหมดเลยนะ แปลงนู้นกับแปลงนี้ไม่เหมือนกัน และต้องดูเจ้าของด้วยว่าขี้เกียจแค่ไหน เจ้าของชอบอะไร ดินเป็นแบบไหน ความชื้นมีมากน้อยเท่าไหร่ ถ้าขี้เกียจมากก็ปลูกป่า อาจจะเลี้ยงไก่ให้เดินในป่าด้วยก็ได้”

เสียงฝีเท้ายังคงขยับเป็นจังหวะ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทำให้เราได้ยินเสียงแมลงตัวจ้อยร้องอยู่ตลอดเวลา ระหว่างทางเราเจอหัวสับปะรด ต้นส้มมะปี๊ด ผักกูดต้นสูงอวบอ้วน ความผสมผสานกันทำให้เกิดสมดุล

“เราเป็นคนชอบทดลอง เราเชื่อว่าตำรา 1 เล่มคนที่เขียนก็จะมีความรู้เป็นของตัวเอง เราไม่เชื่อว่าคนหนึ่งคนจะสามารถไปอยู่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยหรือทั่วโลกได้ เพราะฉะนั้น ความรู้น่าจะแตกย่อยลงไปได้อีก เราไม่ได้บอกว่าคนเขียนหนังสือไม่เก่งนะ เราสามารถใช้เป็นแนวทางหรือชุดความรู้ได้ แต่เราก็ต้องทดลองเองด้วย พระพุทธเจ้าบอกให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่าไปเชื่อคำพูดที่ฟังมา หลายกรณีเป็นแบบนั้น แต่บางกรณีคนเขียนเขาเขียนถูกแล้ว (หัวเราะ) เราสนุกกับการรู้ว่าเราไม่รู้อะไร เพราะการรู้ว่าไม่รู้มันไปต่อได้ ถ้ารู้แล้วมันก็จบอยู่แค่นั้น”

เขายกตัวอย่างการทดลองให้ฟังว่าต้นไม้ต้องการเพื่อน แมลงต้องการเพื่อน นักดูแลต้นไม้เจอว่ามังคุดเป็นเพื่อนกับเงาะ อยู่ด้วยกันแล้วส่งเสริมกันเป็นอย่างดี เขาจึงไม่รอรีปลูกต้นมังคุดสลับต้นเงาะเป็นแนวยาวตลอดทั้งสวน

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

Don’t judge a fruit by its cover

เป้าหมายการมาเยือนสวนมังคุดแปลงที่ 2 และสวนเงาะแปลงที่ 1 คือการมาเห็นความต่างของสวนผลไม้อินทรีย์ที่มีระบบนิเวศสมดุล ต่างจากสวนมังคุดแปลงแรกที่เพิ่งเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ไม่นาน

ลูกมังคุดแปลงนี้อวบอ้วนกว่าแปลงก่อนหน้าชัดเจน น่าหม่ำเป็นที่สุด

แต่ยังอวบอ้วนไม่เท่าสวนมังคุดที่อัดฉีดสารเคมี ทั้งใส่ปุ๋ยในดินและฉีดสารอาหารทางใบ ให้ลูกมังคุดดกและใหญ่เบิ้มกว่าปกติ

ลูกมังคุดอวบอ้วนจากธรรมชาติปลอดสารเคมีไม่ได้ขายได้ราคาดีไปกว่าผลไม้ทั่วไปในท้องตลาด

“ในมุมของชาวสวน ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้งมันไม่ได้ดีกว่า ลูกเราเล็กกว่าเขา พอไปถึงคนกิน หลายคนเลือกลูกใหญ่เอาไว้ก่อน แต่คนที่หยิบลูกเล็กของเราเขาก็ยินดีจ่ายในราคาที่เท่าหรือสูงกว่าลูกใหญ่ เพราะผลไม้ของเราสุขภาพดีกว่าแน่นอน เราสนใจตรงนั้น เพราะเรายังต้องมีชีวิต เงินสำหรับเราเป็นเพียงน้ำมันหล่อลื่นให้สวนเราเดินหน้าต่อได้”

นอกจากสุธีร์จะต้องการผลไม้สุขภาพดี เขายังต้องรักษารสชาติของธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด

แน่นอน แม่ค้าย่อมอยากได้ผลไม้ลูกสวยไว้เป็นหน้าเป็นตา แต่ลูกค้าบอกสุธีร์ว่า เขากินเนื้อ ไม่ได้กินเปลือก

ขนาดหนังสือยังมีวลีบอกว่า ‘Don’t judge a book by its cover’ ผลไม้ก็เหมือนกัน ถึงลูกจะเล็ก มีรอยข่วนจนเป็นแผล ยางเลอะเปรอะผิวด้านนอก ก็อย่าเพิ่งตัดสินกัน ถ้ายังไม่ลองปอกเปลือกชิมเนื้อด้านใน บอกเลยถึงไม่สวยแต่อร่อย! แต่การจะทำให้คนกินเชื่อว่าผลไม่สวยแต่รสชาติอร่อยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

“สิ่งสำคัญคือการสื่อสารและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างคนปลูกและคนกิน การที่คนกินได้รู้ว่าเขากินผลไม้ของใครอยู่ แล้ววันดีคืนดีเขาอยากไปดูต้นเงาะที่เขากิน พอเขามาเห็นแล้วจะรู้ว่ามันยาก ทำไมขายแค่ 20 บาท 50 บาท ขาย 70 ก็ไม่เป็นไรหรอก ฉะนั้น เกษตรกรก็ควรทำหน้าที่เกษตรกรให้ได้ผลผลิตที่ดี แล้วก็ส่งต่อให้กับคนที่อยู่ในเมืองคอยช่วยกัน

“คนเมืองอาจจะเป็นทั้งคนกินและคนกระจายสินค้าที่มีคุณธรรม หมายความว่าถ้าคนเมืองมาซื้อผลไม้ของเราไปส่งต่อ โดยไม่ยอมบอกคนกินว่าผลไม้มาจากไหน เพราะกลัวว่าลูกค้าจะสายตรงมาหาเราเลย แบบนี้เราจะบอกราคาแพงไว้ก่อน แต่ถ้าใครที่บอกที่มาที่ไปว่าผลไม้มาจากเกษตรกรคนไหน เราจะส่งต่อให้เขาในราคาที่ทุกคนอยู่ได้ เราไม่ได้ต้องการชื่อเสียง เรารู้สึกว่าข้อมูลของเกษตรกรควรจะถูกส่งต่อให้กับคนกิน คนกินควรรู้ว่าเขากินของใคร แล้วเกษตรกรก็ควรรู้ว่าของเขาจะไปอยู่ในคนกลุ่มไหน การสื่อสารจะทำให้เกษตรกรกับคนกินเข้าใจกัน

“ย้อนไปเมื่อก่อนจะมีปัญหาข้อมูลถูกตัดตอน เช่น ธรรมชาติของมังคุดเป็นแบบนี้ ผิวอาจจะไม่สวย แต่แม่ค้าบอกว่าไม่ได้ต้องผิวสวย ถ้าไม่สวยขายไม่ได้ คนกินก็เข้าใจว่าไม่สวยแสดงว่าของไม่ดี แต่เนื้อในมันดีกว่าของสวยอีกนะ ทำให้เกษตรกรต้องใช้ยาฆ่าแมลง เป็นความจริงที่บีบให้เกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่ต้องทำแบบนั้น”

ความโปร่งใสตั้งแต่เริ่มปลูกถึงการขายถึงมือลูกค้า คือหนทางรอดที่ทำให้ทั้งคนปลูก คนขาย และคนซื้อ มีชีวิตที่ดีต่อไป

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

เปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนโลก

ปัจจุบันสวนผลไม้จำนวน 100 ไร่ 4 แปลง ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้ออร์แกนิก เปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยคอกขี้ไก่ และใส่ใจการสร้างสมดุลให้ธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่ยั่งยืนมากกว่าการปกป้องผลไม้ให้ปลอดศัตรูพืช

“ออร์แกนิกของเราคือการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ถ้าหยุดสารเคมีแล้วไปหาสารทดแทนจากธรรมชาติมาทดแทนเคมี มันเป็นวิธีคิดที่จะเอาชนะธรรมชาติ เอาชนะแมลง ถ้าเราตีความว่าออร์แกนิกคือการไม่ใช้สารเคมี แสดงว่าเวลาเจอโรคระบาด ‘ฉันจะเอาพริก เอาข่า มาฉีดมัน มันต้องตาย’ แต่สวนเราไม่ทำแบบนั้น

“ถ้ามีแมลงระบาด แสดงว่าแมลงอีกชนิดหายไป แล้วหายไปเพราะอะไร เราจะไปหาคำตอบแล้วก็แก้ปัญหา เพื่อให้สมดุลกลับมาเหมือนเดิม อาจจะต้องเอาต้นไม้บางชนิดมาปลูกให้แมลงมาอยู่ พอเขามาอยู่ในแปลงเราและไม่หายไป ก็จะไม่เกิดโรคระบาด มันเป็นการสร้างสมดุลธรรมชาติ เราพยายามดึงธรรมชาติออกมาให้ได้มากที่สุด”

การันตีได้จากต้นเงาะพุ่มสวย ใบมังคุดมันวาวระยิบระยับ และผักท้องถิ่นจากภาคใต้ ล้วนสุขภาพดีและออกดอกออกผลอุดมสมบูรณ์ จะชื่นชมดินจันท์ว่าดีงามก็ดูลำเอียง คนปลูกมือเย็นก็มีเหตุผล แต่ความครบเครื่องเรื่องธรรมชาติของจังหวัดจันทบุรีก็มีส่วนทำให้ดอกผลเจริญงอกงาม ทั้งแม่น้ำ ภูเขา และความชื้นจากทะเลที่ชวนให้ฝนตกตลอดทั้งปี

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

“เมื่อก่อนเราพยายามจะชักชวนคนให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ แต่เรารู้สึกว่าแต่ละคนมีความเชื่อมั่นเป็นของตนเอง แล้วทุกคนจะเชื่อเฉพาะสิ่งที่ตัวเองเห็นและรับรู้ เวลาคนที่เชื่อมั่นในตัวเองมากๆ มีคนมาบอกให้เขาทำแบบนี้ ทำแบบนั้น บางครั้งเขาก็ไม่เชื่อฟังนะ แต่สิ่งที่เขาจะเชื่อได้สนิทใจคือเขาเห็นจากสิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เราทำ

“ฉะนั้น เรายังไม่ต้องไปคิดว่าจะเปลี่ยนโลก คิดแค่ว่าเราเปลี่ยนตัวเองให้ชัดหรือยัง ถ้าเรายังไม่ได้มีชีวิตที่ดีก็อย่าเพิ่งไปชวนคนอื่นหรือตัดสินคนอื่นว่าต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น เพราะเรายังทำไม่ได้เลย ถ้าเราทำได้แล้ว เราไม่ต้องพูดอะไรมาก ไม่ต้องพูดจริงๆ นะ ไม่ต้องชวนด้วย เวลาไปคุยกับใครหรือเห็นใครใช้ชีวิต ทุกคนรับรู้ด้วยตัวเองว่าเขาเป็นยังไง เราคิดแค่นั้นเลย แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตอนนี้ทุกคนหันมาใช้ปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยเคมีแค่นี้เราก็ดีใจแล้ว”

ปัจจุบันเกษตรกรเมืองจันท์ที่โบกมือลาเกษตรเคมี หันหน้าเข้าหาวิถีเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดจันทบุรีเพิ่มขึ้นถึง 100 ครัวเรือน

“เราเริ่มกลับไปคิดถึงคนที่เข้ามาทำในระบบนี้ใหม่ๆ เพราะคนที่ทำใหม่สำคัญกว่าคนที่ทำเก่า คนทำเก่ามีพรรคพวกอยู่แล้ว แต่คนทำใหม่เขาเคว้งมากเลยนะ ถ้าไม่มีใครไปซื้อของเขา เขาเลิกทำได้เลย เกษตรกรที่เพิ่งปรับเปลี่ยนมาทำอินทรีย์แล้วความสมดุลระบบนิเวศยังไม่ได้ เขาจะไปขายให้ใครก็ยังไม่รู้ เราถึงบอกว่าไม่ต้องมาซื้อของเราก็ได้ ไปซื้อของคนที่เขาเริ่มทำอินทรีย์ ไปช่วยให้เขามีกำลังใจ มันเป็นการช่วยต่อโซ่ออกไปให้ไกลกว่าเดิม”

จากพ่อถึงลูกชาย

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

ลมเย็นเมืองจันท์พัดผ่านช่องภูเขา เมฆเปลี่ยนเป็นสีครึ้ม ไม่นานสายฝนก็โปรยปราย เราใช้สองมือป้องศรีษะพลางเดินตามหลังสุธีร์กลับไปขึ้นรถยนต์ที่จอดไว้บริเวณป่าพรุ ก่อนจะถึงจุดหมายเขาไม่ลืมเก็บผักกูดกำเล็กที่เด็ดวางไว้ระหว่างพาเราเดินชมสวนผลไม้ออร์แกนิก เสียงปิดประตูรถสี่ประตูดังพร้อมกัน ปัง!

สุธีร์ออกรถและขับไปตามทางสวนยางขนาดย่อมของครอบครัว เขาพูดด้วยน้ำเสียงชอบใจว่า

“เราขโมยผักทางใต้มาปลูกเยอะ ชอบทรัพยากรของเขา ผักอร่อย ในสวนยางเราก็ปลูกไม้ป่าแซม กระวานก็มี ผักเหลียงก็มี เดือนหน้าว่าจะเอาสะตอมาปลูก พอต้นสะตอสูงก็จะคลุมต้นไม้ของเราได้พอดี” พอไปถึงบ้านกลางสวนถึงรู้ว่าภรรยาของสุธีร์เป็นชาวนาจากจังหวัดกำแพงเพชร มีทายาทสุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม เวอร์ชันจูเนียร์เตรียมพร้อมไว้แล้วถึง 2 คน

“ทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องเป็นเกษตรกรก็ได้” ทายาทชาวสวนตั้งใจบอกลูกชายทั้งสองแบบนั้น พ่อเคยหวังดีอยากให้เขามีชีวิตที่ดีกว่า แต่เขาก็เลือกกลับมาอยู่ในสวนอยู่ดี

ในวันที่เป็นพ่อคน สุธีร์ไม่ได้คาดหวังว่าลูกชายทั้งสองคนจะต้องสืบทอดสายเลือดเกษตรกร เขาเพียงปลูกฝังความรู้สึกและความรัก สิ่งสำคัญคือจิตใจและความผูกพันที่เด็กชายพอดีและเด็กชายมีสุขโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ด้วยความสุข

ยิ่งกว่ามังคุดลูกโตหรือรายรับงดงามจากผลไม้ สิ่งที่ฟาร์มเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ตั้งใจปลูกคือชีวิตที่ดี

สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม

ที่อยู่ : ตำบลขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี 22110
ติดต่อ : 0812511244
Facebook : Sutee Organic Farm

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล