มาถึงวันนี้ หากธุรกิจไหนไม่คำนึงถึงความยั่งยืน การลดคาร์บอน และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ก็คงถือว่าตกเทรนด์
แต่ที่จริงแล้วยังมีอีกเทรนด์หนึ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก นั่นคือประเด็น ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)’
คำนี้แปลง่าย ๆ ว่าความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งทุกวันนี้การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็น 1 ในวิกฤตการณ์ใหญ่ของโลก 3 ประการ ที่เรียกว่า ‘Triple Planetary Crisis’ ร่วมกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ
หากธุรกิจไหนที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประเด็นทั้ง 3 นี้ อาจถือได้ว่ามีวิสัยทัศน์แห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร การสร้างพื้นที่สีเขียวให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้อาศัยด้วย จะตอบโจทย์เชิงธุรกิจของโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างไร ในวันที่พื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นเงินเป็นทอง แล้วลูกบ้านจะได้ประโยชน์อะไรจากการมีแมลงหรือนกบนต้นไม้รอบบ้าน การที่โครงการต่าง ๆ ช่วยกันสร้าง ‘หย่อมป่า’ แห่งความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นมา จะมีข้อดีในระดับที่ลึกซึ้งกว่าที่ตามองเห็นอย่างไรบ้าง
วันนี้เราจะชวนทุกคนมาหาคำตอบผ่านก้าวแรกของโครงการ ‘หย่อมป่า’ ของ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยผู้ที่จะมาเล่าเรื่องราวนี้ให้เราฟังก็คือ วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ พร้อมด้วยที่ปรึกษาโครงการอย่าง ดร.พรวิวรรณ โพธาสินธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และ อุษณีย์ สุทธิวงษ์ จาก บริษัท อีโค่ คอมพาเนี่ยน คอนซัลแทนส์ จำกัด
มากกว่า ‘พื้นที่สีเขียว’ แต่เป็น ‘พื้นที่แห่งความหลากหลายทางชีวภาพ’
เราทุกคนคุ้นเคยกับคำว่า ‘สวนหย่อม’ ที่หมายถึงพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่สร้างความร่มรื่น ให้ออกซิเจน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่แนวคิด ‘หย่อมป่า’ คือขั้นกว่าของสวนหย่อม เพราะนอกจากสร้างความร่มรื่นแล้ว ยังรวมถึง ‘ความเชื่อมโยง’ พื้นที่ธรรมชาติที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ด้วย
“การสร้างหย่อมป่าคือการออกแบบพื้นที่เสมือนธรรมชาติ สังเกตว่าเวลาเราเดินป่าจะเห็นต้นไม้ที่มีความสูงหลายระดับชั้นเรือนยอดไม่เท่ากัน หลักการสำคัญของการสร้างพื้นที่แบบนี้ คือหนึ่ง เลือกปลูกพันธุ์ไม้พื้นถิ่น ซึ่งไม้พื้นถิ่นมีข้อดีเยอะมากนะ เช่น ทนทาน ดึงดูดสัตว์พื้นถิ่นได้ดี และเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นถิ่นไปในตัว และสอง เลือกปลูกชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย โดยมีความหลากหลายทั้งทางแนวตั้งและแนวนอน”
อาจารย์พรวิวรรณอธิบายถึงหัวใจการออกแบบหย่อมป่าที่ต่างจากสวนหย่อมทั่วไป โดยขยายความเพิ่มเติมว่า ความหลากหลายแนวตั้งคือการมีพืชไล่ระดับชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ไม้ยืนต้นสูง ๆ ไม้พุ่ม ไปจนถึงพืชคลุมดิน ส่วนความหลากหลายแนวนอนคือมีความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ในแต่ละจุด
“ยิ่งโครงสร้างพืชมีความซับซ้อนและหลากหลาย ก็จะยิ่งมีถิ่นที่อยู่ย่อยซึ่งเหมาะกับสิ่งมีชีวิตที่ต่างกัน”
ตัวอย่างเช่น ต้นไม้ที่ออกผล ดึงดูดนกกลุ่มกินผลไม้ เช่น นกปรอด นกตีทอง ส่วนต้นไม้ที่ดึงดูดแมลงก็จะดึงดูดนกที่กินแมลง เช่น นกกางเขนบ้าน นกกระจิบ นกอีแพรด ส่วนดอกไม้แต่ละชนิดก็จะดึงดูดสัตว์ต่างกัน บางชนิดดึงดูดนกกินปลี บางชนิดดึงดูดผีเสื้อ บางชนิดดึงดูดผึ้ง ส่วนดอกที่บานกลางคืนก็ดึงดูดค้างคาว แม้แต่ในกลุ่มผีเสื้อเอง แต่ละชนิดก็จะวางไข่บนพืชเฉพาะชนิดที่ตัวหนอนของมันกินเท่านั้น เช่น ผีเสื้อหนอนใบรักวางไข่บนใบของต้นรัก ผีเสื้อหนอนมะนาววางไข่บนใบของพืชกลุ่มส้ม มะนาว ฯลฯ
บางคนอาจสงสัยว่า แล้วเราจะสนใจความหลากหลายไปทำไม นกหรือแมลงเหล่านี้เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา
คำตอบแรก อาจารย์ชวนให้เรานึกภาพสวนที่มีต้นไม้ชนิดเดียวกันเรียงเป็นแถว ซึ่งปัญหาก็คือเมื่อพืชชนิดเดียวกันอยู่รวมกันเยอะ ๆ ก็จะดึงดูดแมลงศัตรูพืชบางชนิด สิ่งที่ตามมาคือการใช้สารเคมี
“แต่ถ้าเราปลูกต้นไม้พื้นถิ่นที่มีความหลากหลาย นอกจากไม้พื้นถิ่นจะทนโรคแล้ว พื้นที่นั้นก็จะมีสัตว์หลากหลายที่มีการควบคุมกันเอง ทำให้ไม่มีแมลงชนิดหนึ่งเยอะเกินไป และสารเคมีก็อาจไม่จำเป็น”
ประโยชน์ต่อมา คือเมื่อมีนกพื้นถิ่นหลายชนิดเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จำนวนนกพิราบที่สร้างปัญหาก็จะลดลง
ส่วนประโยชน์อีกด้าน คือสิ่งที่เรียกว่า ‘นิเวศบริการ’ (Ecosystem Service) ที่หมายถึงบริการที่สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมอบให้เราฟรี ๆ โดยไม่คิดค่า Service Charge
“การบริการทางนิเวศแบ่งเป็น 4 ด้าน หนึ่ง คือด้านการผลิต เช่น เป็นต้นกำเนิดน้ำ เป็นแหล่งอาหาร สอง คือการควบคุมกลไก เช่น ต้นไม้ช่วยกรองฝุ่น ดูดซับคาร์บอน ลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนของเมือง สาม คือด้านวัฒนธรรม เช่น ที่ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอาบป่า หรือการที่เวลาเราเห็นสีเขียวแล้วจิตใจจะสงบ และสุดท้าย คือด้านการสนับสนุน เช่น ป้องกันการพังทลายของดิน เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนกลับมาถึงประโยชน์ต่อมนุษย์”
มากกว่า ‘มีชีวิต’ แต่คือ ‘มีชีวิตชีวา’
นอกจากคุณค่าของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในเชิงนิเวศแล้ว อีกด้านที่ลืมไม่ได้คือมิติด้านจิตใจ มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่าการมองเห็นนกหรือการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ลดความวิตกกังวล ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงสุขภาพกาย
ณ โครงการ CENTRO บางนา และ CENTRO อ่อนนุช-ลาดกระบัง นอกจากเชิญนักวิชาการมาสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเชิญชวนลูกบ้านให้มาสำรวจธรรมชาติรอบโครงการพร้อมกับนักวิจัยด้วย
“ทุกคนแฮปปี้มาก พาลูก ๆ ออกมาสำรวจกัน แล้วเด็ก ๆ ก็สนุกกันมากในการมองหานก หาแมลง ทำให้การส่องนกไม่จำเป็นต้องไปเขาใหญ่อย่างเดียว และเด็ก ๆ ก็ได้หลุดออกจากการเล่นเกมมาเดินบนสนามหญ้ามาสู่พื้นที่ธรรมชาติ ผลตอบรับจากกิจกรรมนี้ทำให้รู้สึกว่าเรามาถูกทาง” คุณวิทการ ผู้บริหารบริษัทเอพี เล่าถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการนี้
ส่วนในมุมของการดำเนินธุรกิจ เอพีมองว่าการริเริ่มพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้าง หย่อมป่า เช่นนี้ไม่ใช่การเสียประโยชน์เชิงธุรกิจแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม โครงการหย่อมป่าเป็นแนวทางที่จะสร้างชีวิตดี ๆ ที่ยั่งยืนไปร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกบ้าน สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ และทางโครงการเองด้วย
“การสร้างพื้นที่สีเขียวคือการสร้างบรรยากาศที่ดีให้โครงการ เพราะจริง ๆ แล้วการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ถือเป็น High Investment เป็นการตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกเยอะมาก หลายคนเวลาไปดูบ้านอาจรู้สึกว่าชอบบ้านนี้ แต่ไม่รู้ว่าชอบอะไร หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือพื้นที่สีเขียว การเดินเข้าไปแล้วได้สัมผัสกับพื้นที่เขียวชอุ่ม มีร่มเงา ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยในการประกอบการตัดสินใจ หลายคนที่เข้ามาซื้อบ้านในโครงการของเราก็เพราะพื้นที่สีเขียว”
คุณวิทการเสริมอีกว่า ยิ่งถ้าพื้นที่นั้นไม่ได้เป็นแค่พื้นที่สีเขียวธรรมดา แต่เป็นพื้นที่สีเขียวที่มองออกมาหน้าบ้านไม่ได้เห็นแค่ต้นไม้ แต่ยังเห็นนก เห็นผีเสื้อ เห็นกระรอกบนต้นไม้นั้น ก็จะยิ่งสร้างความชุ่มชื่นจิตใจและรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ ตอบโจทย์ความโหยหาธรรมชาติของคนยุคปัจจุบัน
“จริง ๆ การสร้างพื้นที่เพื่อความหลากหลายไม่ต้องลงทุนเยอะอย่างที่คิด ถ้าเราได้คุยกับนักวิชาการ จะเห็นเลยว่าไม่ใช่เรื่องของต้นทุน แต่เป็นเรื่องขององค์ความรู้ เรารักษาสมดุลให้พื้นที่มีความสวยงาม ดูแลง่าย ไปพร้อม ๆ กับเอื้อประโยชน์ให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้”
ส่วนอาจารย์พรวิวรรณก็เสริมว่า การที่เรามองเห็นและได้ยินเสียงนก กระรอก และสัตว์อื่น ๆ ในระบบนิเวศเดียวกันกับเรา สิ่งที่เห็นไม่ใช่แค่การอยู่ร่วมกัน แต่คือสัญญาณที่บอกว่าระบบนิเวศนั้นสมบูรณ์และกลมกลืน เพราะการที่นกหรือสัตว์อยู่ได้ แปลว่าพื้นที่นั้นต้องมีต้นไม้ มีความร่มรื่น มีอาหาร ไม่มีมลพิษสูงเกินไป ซึ่งนั่นก็จะสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของเราเช่นกัน
มากกว่า ‘หย่อมป่า’ แต่คือ ‘หลายหย่อมป่าที่เชื่อมต่อกัน’
“หัวใจของหย่อมป่าคือ ‘การเชื่อมต่อ’ เพราะปัจจุบันเมืองใหญ่ทำให้ผืนป่าถูกตัดขาดจากกัน การสร้างหย่อมป่าเล็ก ๆ หลาย ๆ แห่งจะเป็นเหมือน Stepping Stone ให้นก แมลง ได้แวะพักอาศัยระหว่างเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่”
แล้วการที่นกหรือแมลงเดินทางจากพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่ได้สำคัญอย่างไร
อาจารย์พรวิวรรณเฉลยว่า คำตอบอยู่ที่การเพิ่ม ‘ความหลากหลายทางพันธุกรรม’ เพราะเมื่อนกจากหย่อมป่าหนึ่งได้มาผสมพันธุ์กับนกชนิดเดียวกันจากอีกหย่อมป่า ทำให้พันธุกรรมหลากหลายขึ้น ป้องกันปัญหาการผสมพันธุ์เลือดชิด ซึ่งจะนำไปสู่โรคทางพันธุกรรมและทำให้สิ่งมีชีวิตอ่อนแอลง ดังนั้นการสร้างหย่อมป่าในเมืองจะช่วยส่งเสริม ‘ความเชื่อมโยงทางนิเวศ’ การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง (Urban Biodiversity) มีส่วนสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ นอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติในสภาพแวดล้อมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ความเป็นอยู่ และความยั่งยืนของเมืองในระยะยาว
“ความหลากหลายทางชีวภาพยังแบ่งย่อยอีกเป็น 3 ระดับ คือความหลากหลายทางระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ และความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งหากเราอยากให้ความหลากหลายทางระบบนิเวศและความหลากหลายทางชนิดพันธุ์อยู่ได้ ก็จำเป็นต้องมีความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วย”
ส่วนคุณวิทการเล่าถึงจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของโครงการหย่อมป่าว่า เห็นต้นแบบจากบริษัทร่วมทุนที่ญี่ปุ่น คือบริษัท Mitsubishi Estate Group
“ทางญี่ปุ่นพัฒนาเรื่องนี้มาก่อนเรา เขาตั้งใจสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นทางเชื่อมให้นกบินข้ามเมืองโตเกียวได้ เขาลงรายละเอียดถึงขั้นเลือกชนิดพันธุ์พื้นถิ่นของแต่ละย่าน ชินจูกุก็แบบหนึ่ง อีกย่านก็อีกแบบ และไม่ว่าราคาที่ดินในโตเกียวจะแพงแค่ไหน เขาก็ยังแบ่งพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับนก และมีการเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่สาธารณะข้างบ้าน จัดกิจกรรมพาเด็ก ๆ ไปดูว่าแมลงจากพื้นที่ในโครงการเชื่อมมาถึงพื้นที่สาธารณะตรงนั้นได้”
จากแรงบันดาลใจนั้น ทางเอพีจึงเริ่มโครงการนำร่องที่ชื่อ ‘Biodiversity’ ช่วงปี 2018 – 2019 ในโครงการ Life สาทร เซียร์รา โดยออกแบบต้นไม้ให้มีระดับสูงต่ำ มีความหลากหลาย มีการติดตั้งบ้านนก จนกระทั่งกลางปี 2024 จึงมีการเชิญทีมผู้เชี่ยวชาญทางนิเวศมาเป็นที่ปรึกษาและเกิดคำว่า ‘หย่อมป่า’ ขึ้นมา
“โครงการแรก ๆ เราอาจยังไม่มีความรู้มากนัก แต่พอตอนนี้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาแล้ว เราก็ตั้งใจว่าโครงการต่อ ๆ ไปในอนาคตจะทำให้หย่อมป่าดีขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเราได้มีการจัดเวิร์กช็อปภายในให้ทีมภูมิสถาปนิก ซึ่งปีหน้าน่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น” คุณวิทการเล่าถึงก้าวต่อไป
“วิสัยทัศน์ของเอพีที่ว่า ‘ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้’ ไม่ควรถูกจำกัดแค่สำหรับคน แต่ต้องรวมไปถึงสัตว์โลกอื่น ๆ ด้วย ส่วนอาจารย์พรวิวรรณก็เสริมในมุมวิชาการว่า มีงานวิจัยมากมายที่กล่าวถึงปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของโลกที่จะส่งผลกระทบถึงมนุษย์ ซึ่งหากมองในภาพใหญ่คือ ‘เกิดการสูญเสียความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ’ ระบบนิเวศที่ขาดความหลากหลายมีความเปราะบางและฟื้นตัวได้ยากเมื่อเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกวันนี้ แค่ในเชิงปริมาณอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้องเป็นเชิงคุณภาพด้วย คือเป็นพื้นที่สีเขียวระดับพรีเมียมที่ออกแบบอย่างประณีตเพื่อสร้างความหลากหลาย เทรนด์โลกตอนนี้หันมาใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ อันเป็นมาตรการหนึ่งในการลดผลกระทบและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญคือความหลากหลายทางชีวภาพที่ส่งเสริมระบบนิเวศที่สมดุล สร้างความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับคนเมือง และสนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและยั่งยืนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในพื้นที่เมือง ‘คนเมืองเชื่อมโยงกับธรรมชาติ’ และ ‘ธรรมชาติเชื่อมโยงกับคนเมือง’ ”
คุณวิทการกล่าวทิ้งท้ายถึงความคาดหวังสูงสุดของโครงการนี้ว่า อยากให้แนวคิดหย่อมป่าไม่จำกัดอยู่แค่ในโครงการของเอพี แต่กระจายไปสู่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ รวมถึงคนทั่วไปด้วย
“แม้ว่าเราจะมีโครงการหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ แต่โครงการแต่ละแห่งก็ไม่ได้อยู่ใกล้กันขนาดนั้น ถ้าโครงการอื่น ๆ หรือเจ้าของบ้านทั่วไปมีวิธีคิดแบบเดียวกับเราและสร้างหย่อมป่าขึ้นมา เราก็จะมีพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ กระจายเต็มเมือง กรุงเทพฯ ก็จะน่าอยู่ขึ้น”