“คุณรู้ไหมว่าพระจันทร์สวยที่สุดอยู่ที่ไหน”

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ถามเรากลับขณะกำลังนั่งสัมภาษณ์เรื่องแนวคิดการทำงานด้านสถาปัตยกรรมของเขา ในบ้านแถวที่ห่อหุ้มด้วยแผ่นเหล็กสีดำ ที่ที่เป็นทั้งบ้าน และสำนักงานสถาปนิก Walllasia 

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia 
 ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

“ที่อินเดียเขาบอกว่า พระจันทร์ที่สวยที่สุดไม่ได้อยู่บนท้องฟ้า แต่พระจันทร์ที่สวยที่สุดอยู่ในน้ำ

“เพราะว่าพระจันทร์ที่อยู่ในน้ำนั้นทำให้เรารู้ว่า หนึ่ง พระจันทร์เปล่งแสงได้สวยงาม สอง น้ำนั้นสะอาด น้ำมันใส น้ำมันนิ่ง มันทำให้เราเห็นสองทั้งอย่างพร้อมกัน”

ส่วนหนึ่งจากแนวคิดการทำงานของสถาปนิกรางวัลศิลปินร่วมสมัยดีเด่นศิลปาธร พ.ศ. 2557 สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ประเภทสถาปัตยกรรม ดูเป็นนามธรรมและอาจไม่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคารสักเท่าไร แต่สุริยะกล่าวว่า วิธีการมองสิ่งต่างๆ ในแนวทางเช่นนี้ เป็นวิธีที่เขาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบทั้งหลาย เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ได้ไต่ระดับจาก ‘อาคาร’ ไปสู่ความเป็น ‘สถาปัตยกรรม’ ในทัศนะของเขา

สุริยะเป็นสถาปนิกที่ได้รับรางวัลสำคัญๆ มากมายทั้งในไทยและต่างประเทศรวมแล้วกว่า 10 รางวัล แทบทุกรางวัลนั้นเป็นรางวัลที่ให้กับงานออกแบบในเชิงพุทธศาสนา และอันที่จริง ผลงานสถาปัตยกรรมของเขาในนามบริษัท Walllasia ก็เกี่ยวข้องกับงานด้านศาสนาไปแล้วมากกว่าครึ่ง แต่นอกจากนั้น สำนักงาน Walllasia ก็ยังมีผลงานด้านสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีกมาก อย่างโรงแรม พิพิธภัณฑ์ รวมถึงบ้านพักอาศัย 

ก่อนหน้าการทำงานสถาปัตยกรรม สุริยะยังเคยทำงานวาดภาพทัศนียภาพ (Perspective) สำหรับงานสถาปัตยกรรมมาเป็นเวลานาน ร่วมกับการทำงานศิลปะส่วนตัวอีกมากหลาย อีกทั้งยังเคยทำงานออกแบบของที่ระลึกให้กับจิม ทอมป์สัน เคยทำงานจัดงานเอ็กซิบิชัน ไปจนถึงทำงานจัดสวนและออกแบบภูมิทัศน์ ซึ่งก็เป็นงานอีกภาคส่วนใหญ่ของสำนักงานที่แทบไม่เคยเผยแผ่ แต่ยังเป็นงานหลักที่เขาทำมาจนถึงปัจจุบัน

น่าสนใจว่า ผู้ที่ผ่านงานมาอย่างหลากหลายและยาวนานเช่นนี้ จะมีวิธีคิดเกี่ยวกับชีวิตและวิธีการทำงานอย่างไร จึงพาอาคารแสนสามัญอย่างกุฏิสงฆ์ไปได้รางวัลไกลถึงประเทศในอีกซีกโลกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

ค้นพบตัวเองด้วยศาสนา

“ผมตั้งคีย์เวิร์ดไว้ตัวหนึ่งตอนนั้นนะ ว่าผมอยากเผยแผ่ศาสนาผ่านสถาปัตยกรรม”

สุริยะเริ่มเล่าว่า จุดเริ่มต้นการทำงานวิชาชีพสถาปนิกของเขา เริ่มจากการออกแบบกุฏิพระชุดหนึ่งที่วัดเขาพุทธโคดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในช่วง พ.ศ. 2548 ในชื่อผลงานว่า ‘กุฏิ Monk’s Cell Community’

“หลานผมชื่อ โจ (ณัฐพล นิ่มละมัย) มาบวชที่นั่น แล้วเป็นปีที่ห้าจึงได้เริ่มสร้างกุฏิ ผมเข้าไปปฏิบัติธรรมในช่วงท้ายๆ แล้วก็ได้ไปเจอหลวงพ่อ ป.ญาณโสภโณ ท่านก็อนุเคราะห์ครอบครัวเรามาตลอด

“กุฏินี้คือฝีมือพระทำเองหมดเลย สังเกตว่างานมันจะมีราก มันจะมีความเป็นมือทำ วัสดุนี่คือของที่บริจาคทั้งหมด สีที่ใช้คือสีกันสนิมเดิมๆ เลย ผนังนี่คือซีเมนต์บอร์ด หลังคาลอนเล็ก ไม้นี่เป็นไม้บริจาค ยาวไม่เท่ากันสักอัน ทุกอย่างมันมาจากของพื้นฐานมาก”

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
  ภาพ : สมคิด เปี่ยมปิยชาติ

แม้จะเพิ่งทำงานเป็นงานชิ้นแรก แต่งานชิ้นนี้ก็ทำให้เขาได้คว้ารางวัลสำคัญจากต่างประเทศในทันทีในปีต่อมา คือรางวัล AR Awards for Emerging Architecture (2006) : Highly Commended จาก The Architectural Review ประเทศอังกฤษ ในฐานะที่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ที่เรียบง่าย แสดงให้เห็นการอยู่น้อย ใช้น้อย ตามแนวทางของพุทธศาสนา และยังเป็นผลงานที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับธรรมชาติของสถานที่ตั้ง

เป็นรางวัลที่เขากล่าวว่า ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่แม้กระทั่งจะเป็นผู้ส่งผลงานเพื่อไปประกวดด้วยตัวเอง แต่มีรุ่นน้องอย่างช่างภาพสถาปัตยกรรม ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน เป็นผู้ส่งผลงานให้จนเป็นที่รู้จัก

หลังจากงานชิ้นนี้ถูกเผยแผ่ออกสู่สาธารณะ สุริยะก็ได้ทำงานออกแบบในเชิงพุทธศาสนาเรื่อยมา พร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาซึ่งรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาคาร Walled Monk’s Cell หรือกุฏิรั้ว ณ วัดเขาพุทธโคดม ที่ได้ผสานที่อยู่อันสงบของสงฆ์เข้ากับที่ตั้งติดถนนที่เต็มไปด้วยความอึกทึก ซึ่งได้รับรางวัลเดียวกันอีกครั้งใน พ.ศ. 2553 

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : ศักดิ์ระพี นพรัตน์

หรือการเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Global Award For Sustainable Architecture (2012) โดย Locus Foundation under the Patronage of UNESCO ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงรางวัลกิตติคุณที่มอบให้กับตัวเขาเอง อย่างการได้รับเลือกเป็น New Trends for Emerging Architecture EUROPE and ASIA – PACIFIC 2008 – 2010 โดยมี โตโย อิโตะ (Toyo Ito) สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่นเป็นผู้เลือก ที่เขากล่าวว่าตกใจทุกครั้งและไม่เคยคิดว่าชื่อและผลงานของเขาจะไปปรากฏในหลายๆ ประเทศ

สุริยะเล่าว่า แม้รางวัลจะทำให้เขามีชื่อเสียง ได้ไปบรรยายงานในที่ต่างๆ และได้พบเจอผู้คนมากมาย แต่สำหรับเขา ผลงานทุกๆ ชิ้นก็มีความสำคัญในตัวเอง หากสิ่งที่สำคัญกว่า คือการที่ได้ทำงานกุฏิหลังแรกนั้นเป็นเหมือนประตูที่ทำให้เขาค้นพบสิ่งที่ตามหามานานที่อยู่ภายในตัว

“เราทำงานชิ้นนี้ชิ้นแรก แล้วมันทำให้เราเกิดขึ้นมา พอเรานึกย้อนไป เราไม่เคยทำงานสถาปัตยกรรมก็จริง แต่เราทำอย่างอื่นมาเยอะมาก เพราะฉะนั้น มันเหมือนเป็นพลังที่อยู่ด้านใน อัดอั้นมานาน แล้วถึงโอกาสมันก็เกิดออกมา

“มันสิบเจ็ดปีที่แล้วนะ ถ้าผมทำในยุคนี้อาจจะไม่มีคนสนใจก็ได้ สังเกตว่าช่วงเวลามันสำคัญขนาดไหน บางทีมานั่งดูเราก็คิดในใจ งงนะว่าเราทำไปได้ยังไงตอนนั้น (หัวเราะ) มันเป็นจังหวะ มันเป็นโอกาส เป็นเวลาของมัน ให้มาทำตอนนี้เราก็ไม่มีเวลาที่จะทำ เราก็อาจจะประดิดประดอยไปมากกว่านี้ ทุกอย่างมันมีเวลาของมัน”

เริ่มจากงานช่าง และศิลปะ

จากอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สุริยะเล่าว่า บ้านเกิดของเขาทำกิจการโรงสีข้าว เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตอนอายุราว 17 ปี ด้วยความตั้งใจที่อยากศึกษาทางด้านศิลปะ 

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

“ผมชอบสามอย่าง คืองานช่าง ศิลปะ และต้นไม้ แล้วสนใจปรัชญาด้วย ด้วยพื้นฐานของบ้านเราเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ เราก็อยู่กับงานช่าง อยู่กับเครื่องจักรกลอะไรพวกนี้มาตลอดชีวิต แล้วผมวาดรูปทุกวัน ที่บ้านของผมขายของนี่ สมุดทุกเล่มผมวาดใส่เกือบทั้งหมด

“เพราะฉะนั้น มีสองอย่างที่เราจะเรียน ก็คือศิลปะ แล้วก็งานช่าง ถ้าศิลปะเราก็ต้องไปจิตรกรรมเลย แต่เราโตมาจากทางสายช่างก่อน มันก็เป็นข้อดีที่ลงตัวมากอย่างหนึ่ง”

สุริยะฝึกฝนฝีมือด้านศิลปะและงานช่างด้วยตัวเอง​ ก่อนจะผลักดันตัวเองเข้ามาศึกษาต่ออย่างจริงจังในกรุงเทพฯ ที่ที่ช่วยฝึกฝนทักษะทั้งงานช่าง ศิลปะ และการออกแบบให้กับเขาในช่วงต้น

“ผมอยากเป็นศิลปิน แต่สุดท้ายตอนนี้ก็เป็นโอกาสของเราที่เราจะแทรกสิ่งนี้ไปในงานได้ตลอดเวลา” สุริยะว่า

“สิ่งที่เราคิดเนี่ย มันคิดไปในมิติตรงนั้นด้วย คือเราไม่ได้พยายามอะไร มันอยู่ในตัว แต่กระบวนการการทำมันเป็นงานช่าง คือเรากระโดดข้ามไป เราเอาวิญญาณมา แล้วมาบวกกับงานช่างเลย ขั้นตอนต่างๆ ตอนก่อสร้างเราเป๊ะเลย ที่เหลือก็เป็นวิญญาณ ล่องลอยอยู่ในอากาศ จับมาผนวกกัน”

โดยก่อนหน้าที่จะได้จับงานสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง สุริยะก็ได้ใช้ทักษะทางด้านศิลปะทำงานตั้งแต่สมัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยควบคู่กับการทำงานศิลปะอื่นๆ ไปด้วย โดยมีงานหลักคืองานวาดภาพทัศนียภาพ (Perspective) สำหรับงานสถาปัตยกรรม เป็นสีน้ำบ้าง สีโปสเตอร์บ้าง ให้กับบริษัทสถาปนิกต่างๆ ที่รวมแล้วเป็นเวลานานนับ 10 ปี และทำรายได้มากจนสามารถซื้อบ้านแถวหลังที่ใช้อยู่นี้ตั้งแต่ช่วงเรียน จนกระทั่งถูกปรับเป็นสำนักงานของ Walllasia ในปัจจุบัน

“ในยุคนั้นมันเป็นยุคที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ราคารูปมันประมาณหมื่นกว่าบาทถึงสามหมื่นกว่าบาทต่อรูป” สุริยะเล่า 

“เราใช้เวลาเขียนกันไวมาก ชิ้นละหมื่นกว่าบาทเราเขียนชิ้นละประมาณวันสองวันก็เสร็จ บางทีก็ทำกันสองคน ตอนหลังเราว่ารู้มันต้องใช้กำลังมาก ที่ทำได้มันก็เป็นช่วงวัยหนุ่ม

“แต่มันเป็นงานที่ยากมากนะ มันต้องมีพื้นฐานในด้านการเขียนภาพอย่างดีนะ ตอนนั้นมันไม่มีคอมพิวเตอร์ เวลาขึ้นภาพพวกนี้มันต้องมีการถ่ายสเกล ซึ่งเราก็ต้องมีอาจารย์ ทางสายผมก็มีอาจารย์ ชื่อ พี่เส (พัฒนเสรี นพรัตน์) เป็นคนฝึกให้เรา ผมใช้เวลาฝึกเขียนตีฟ (Perspective) ปีหนึ่ง ปีหนึ่งเต็มๆ นะ พอเราเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปุ๊บ เราก็เริ่มหางานทำ”

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

แต่อาชีพนักเขียนภาพทัศนียภาพของสุริยะก็ต้องหยุดไป ด้วยพิษเศรษฐกิจของยุคฟองสบู่แตกในช่วง พ.ศ. 2540 ตามงานออกแบบและก่อสร้างในประเทศที่เงียบหายจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากนั้นจึงเป็นช่วงที่เขาเริ่มงานหัดงานจัดสวน ได้งานออกแบบของที่ระลึกให้จิม ทอมป์สัน จากการชักชวนของมิตรสหาย ไปจนถึงงานออกแบบและจัดนิทรรศการ จนสุดท้ายจึงได้ยึดงานจัดสวนและออกแบบภูมิทัศน์จากการสนับสนุนของเพื่อน ไปจนถึงสถาปัตยกรรมอย่างจริงจังในเวลาต่อมา 

“ผมทำงานสถาปัตยกรรมเพราะผมชอบงานช่างมาก แล้วก็อยากทำศิลปะเพราะว่าผมชอบวาดรูปมาก บางวันผมก็เลื่อยไม้ ทำประติมากรรม ทำแกะสลัก ทำเล่นต่างๆ เยอะมาก ช่วงนั้นยังลังเลว่า ผมจะวาดรูปตลอดชีวิตดีหรือจะทำประติมากรรม แต่สุดท้ายสิ่งที่มันรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันคืองานสถาปัตย์กับแลนด์สเคป เพราะฉะนั้น มันต้องผสมผสานกัน งานที่ทำต่อไป ก็คือการผสมผสานระหว่างศาสตร์พวกนี้เข้าด้วยกัน”

สร้างสรรค์งานด้วยสัจจะ

“คุณรู้ไหมว่าทำไมซามูไรต้องมีอาจารย์เป็นพระ” สุริยะตั้งคำถามกลับกับเรา

“ในการรบของซามูไร เขาจ้องหน้ากัน แล้วฟันกันแค่ดาบเดียว ฝีมืออาจจะเท่ากัน แต่เวลาจ้องหน้ากันมันคือจิตวิทยา ฝีมือเนี่ยฝึกจากอาจารย์ดาบ แต่จิตวิทยาต้องฝึกจากพระ อันนี้แหละมันคือพลังภายใน จิตใจมันรบกัน”

สุริยะกล่าวว่า ความชอบในงานศิลปะนั้นติดตัวเขามาตั้งแต่จำความได้ เมื่อได้มาบรรจบกับการได้ศึกษาการปฏิบัติธรรมและพุทธศาสนาที่วัดเขาพุทธโคดม ทำให้เขาเข้าใจซึ่งบางสิ่งที่เป็นทั้งวิธีการที่เขาใช้ทำความเข้าใจชีวิต รวมถึงวิธีการสร้างสุนทรียะในผลงานการออกแบบในเวลาต่อมา

ดังที่เห็นได้จากอาคารปฏิบัติธรรมและที่พักอุบาสิกา วัดป่าวชิรบรรพต อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ที่เจ้าอาวาส พระอาจารย์มหาตอง ธมฺมวุฑฺโฒ ได้ให้โอกาส เป็นผลงานอาคารคอนกรีตสูงใหญ่ในท่ามกลางหุบเขาเหนือบึงน้ำกว้าง สร้างขึ้นด้วยแนวคิดการรักษาสัจจะของโครงสร้าง ปล่อยให้ธรรมชาติโดยรอบเป็นจุดเด่น และแสดงออกเพียงการแบ่งพื้นที่ในอาคารเป็นช่องๆ เป็นเหมือนการนับจังหวะเพื่อทำสมาธิ

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน

“ในงานชิ้นนี้มันจะมีการปล่อยและการไม่ปล่อย” สุริยะว่า “สังเกตว่าเสาด้านนอกเราไม่ได้ฉาบ แต่เสาด้านในเราฉาบ เพราะอาคารส่วนที่อยู่ด้านนอกมันไปเป็นทิวทัศน์เดียวกับภูเขาด้านนอก เหมือนเป็นสีของก้อนหิน เสาด้านในเราต้องการความเนี้ยบ เพราะมันทำให้รู้สึกว่า พื้นปูนที่มันดิบ มันดิบมากขึ้น มันเป็นความแตกต่างกันสุดขั้ว เหมือนเราเอาดอกไม้ไปวางบนสนิมเหล็ก

“หรือแม้กระทั่งน้ำบนระเบียงทั้งหมด มันก็ทำให้อาคารดูเบา น้ำทำให้เห็นลม เรามองไม่เห็นลมใช่ไหม แต่น้ำทำให้เรามองเห็น และน้ำก็คือราวกันตกที่มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นมันคือนิยามของการถูกซ่อนไว้ คล้ายๆ เป็นราวระเบียงที่ถูกซ่อน” 

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน

แนวคิดในลักษณะนี้ สุริยะกล่าวว่า มีแฝงอยู่ในงานออกแบบอื่นๆ นอกเหนือจากอาคารเชิงศาสนา ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Tiny Museum ที่เป็นการสร้าง ‘หีบเหล็ก’ เพื่อเก็บโบราณวัตถุให้กับวัดโสมนัสราชวรวิหาร ออกมาเป็นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์สีแดงในซอกข้างตึก ที่เขาว่า เป็นเหมือนการนำคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มาเจอกัน 

หรือโรงเรียนพอดีพอดี ที่ริเริ่มโดยวิภาวี คุณาวิชยานนท์ ในนามโครงการ Design for Disasters ที่สุริยะได้ร่วมออกแบบโรงเรียนชุมชนบ้านดอนตัน โดยนำแนวคิดความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและการดึงเอาทิวทัศน์ของภูเขาที่มีพระพุทธรูปใหญ่มาแฝงในมุมมองหนึ่งในอาคาร

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน

รวมถึงงานบ้านพักอาศัยขนาดใหญ่บนเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ที่กำลังจะแล้วเสร็จในเวลาอันใกล้นี้ อย่างโครงการ Lotus Residence ที่เขากล่าวว่าเป็นดังการทำ ‘นามบัตร’ ในรูปแบบสถาปัตยกรรมให้กับเจ้าของบ้านผู้เป็นเพื่อน ในงานนี้ เขาได้พยายามแทรกความโปร่งเข้าไปในโจทย์ที่เป็นบ้านสไตล์นีโอคลาสสิกที่เจ้าของบ้านชอบ รวมถึงการใส่บ่อน้ำที่มีต้นกระจูดอยู่ในใจกลางบ้าน เป็นตัวแทนของทะเลน้อย ทะเลสาบของเมืองพัทลุง ที่เป็นบ้านเกิดของเจ้าของบ้าน

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

ในการสร้างสรรค์งานทั้งหมดนี้ สุริยะกล่าวว่า แต่ละผลงานมักจะมีจุดเชื่อมโยงกัน ที่เขาเรียกว่าเป็นการใช้วิธีถอดรหัสและตีความ คืออาจดึงส่วนที่คล้ายจากงานหนึ่งสู่งานหนึ่ง หรือนำปรากฏการณ์จากสถานที่ต่างๆ ที่เขาพบเจอ มาวาดใหม่ในรูปแบบทางสถาปัตยกรรม โดยการจะทำเช่นนั้นได้ เขาอาจต้องมีเลนส์พิเศษในการรับรู้สิ่งต่างๆ มากกว่าปกติ

“ผมเคยออกแบบสำนักเรียนทางธรรมะที่หนึ่ง เขาบอกว่า สมมติเราเห็นขวดน้ำขวดหนึ่ง เขาจะไม่พูดว่าขวดน้ำ แต่เขาจะหาส่วนประกอบของขวดน้ำนี้ขึ้นมา” สุริยะเล่า 

“เขาจะไม่ไปทับศัพท์ว่านี่คือ ‘ขวดน้ำ’ ตั้งแต่ต้น มันมีข้อดียังไงรู้ไหม ข้อดีก็คือมันทำให้เราเห็นความจริงจริงๆ ว่ามันคืออะไร เพราะถ้าเกิดว่าเราไปตั้งชื่อมัน แต่ละชื่อแต่ละชาติ ความหมายมันก็แตกต่างกันไป

“แบบนี้ เราจะเข้าไปสู่เนื้อแท้จริงๆ ได้ว่ามันคืออะไร”

บริษัทผู้ออกแบบกำแพงและต้นไม้

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

“Walllasia มาจากคำสองคำ คือ Wall ที่แปลว่าผนัง กับ Lasia ที่มาจากสกุลชนิดหนึ่งของพืช” 

“เหตุผลที่ตั้งชื่อว่า Walllasia เพราะเราชอบที่จะทำรั้วก่อนที่จะทำสวน Lasia คือสกุลของผักหนาม เป็นรั้วที่กันคนได้ ดังนั้น มันคือการผสมผสานด้วยกันระหว่างรั้วกับต้นไม้”

การทำรั้วที่สุริยะกล่าวยังกินความหมายไปถึงการออกแบบวิธีเข้าถึงจากภายนอกสู่ภายใน และรวมถึงภาพภายนอกที่สุดของบ้านที่เขาเชื่อว่า หากโดยรอบของทุกบ้านร่มรื่นหรือดูดี ก็จะทำให้ทุกพื้นที่ในเมืองดีตามไปด้วย คล้ายเป็นจิ๊กซอว์

“จริงๆ แล้ว ผมทำงานสวนมามากกว่าทำงานสถาปัตย์หลายเท่าตัว” สุริยะเล่าต่อ

“สวนเนี่ย ผมเริ่มจัดกับพ่อตอนตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็ปลูกต้นไม้ทุกวัน ตอนนี้ก็ยังปลูกอยู่ เวลาปลูกนี่ก็เรียนรู้ไปด้วย เช่นว่า พอเรารู้จักต้นไม้ เราจะรู้ว่าตรงนี้สมควรจะใส่ต้นอะไร และด้วยความที่เราเคยเขียนตีฟ (Perspective) เราจะรู้ว่าเลเยอร์มันเป็นยังไง คนที่เก่ง สามารถใส่ต้นไม้หลากหลายพันธุ์แต่ดูแล้วไม่รก”

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

สุริยะยังเล่าต่อว่า เลเยอร์ของการจัดภูมิทัศน์นั้นยังมีมากกว่าแค่เรื่องการรับรู้ทางสายตา แต่พืชพันธุ์ทั้งหลายยังมีเรื่องของแสง เงา อุณหภูมิ และระบบราก ที่เป็นตัวกรองการเลือกพันธุ์ไม้ที่จะไปปรากฏในมุมต่างๆ ซึ่งย่อมหมายความว่า นักออกแบบต้องมีความเข้าใจในชีวิตพันธุ์ไม้แต่ละพันธุ์ พร้อมๆ กับการมีรสนิยมทางด้านศิลปะที่ดี

“ผมคิดว่าสวนก็คือส่วนที่ราบต่อเนื่องมาจากบ้าน แล้วก็มันต้องผสมผสานกับบ้าน เวลาผมลงต้นไม้ ทุกทีผมเอารูปตัดมาวาง เอาแปลนมาวาง มองจากต้นไม้เข้าไปสู่ในบ้าน จากในบ้านเข้ามาสู่สวน แล้วทุกห้องจะมองเห็นอะไร แต่ละระดับเห็นอะไร

“แล้วก็การคัดเลือกต้นไม้นี่ก็สำคัญ โทนสีของหลังคา ของบ้าน และโทนสีของใบ เปลือกผิวสีเป็นอะไร”

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สวนบ้านคุณนุชนารถ

สำหรับสุริยะเอง ความรู้ทั้งหมดนั้นมาจากการสั่งสมตั้งแต่เด็ก ประกอบกับการช่างสังเกตจนกลายเป็นสัญชาตญาณ รวมถึงการเสาะหาความรู้ที่ต่างๆ จากความสนใจ เช่น การเดินทางไปชมวิธีการปลูกต้นไม้ในแนวทางของ ปะหรน หมัดหลี หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ป๊ะหรน’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ในแนวทางการใช้ภูมิปัญญาที่เรียกว่า ‘เกษตรธาตุ 4’ หรือการปลูกต้นไม้ 4 ชนิดในหลุมเดียวกันเพื่อให้แต่ละชนิดไม่เบียดเบียนและเกื้อกูลกัน โดยคำนึงถึงระบบราก ความลึกของรากที่จะไม่แยกอาหาร ความสูงใบที่จะไม่บังแสงกัน รวมถึงการออกดอกผลที่ส่งเสริมกัน

ส่วนหนึ่งของวิธีคิดนี้ แน่นอนว่าได้ไปปรากฏในการจัดสวนต่างๆ ของบริษัท Walllasia ที่มีประสบการณ์การทำงานมานานกว่า 20 ปี และมี เล็ก-ประวิทย์ พูลกำลัง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำภูมิทัศน์เป็นพาร์ตเนอร์คนสำคัญ ที่สุริยะกล่าวว่า ทำมาอย่างยาวนานและมีจำนวนมากนับร้อยๆ สวน จนกระทั่งจำไม่ได้ว่าเคยจัดที่ไหนบ้าง ถึงขนาดถ้าได้ผ่านบ้านบางหลัง ก็อาจจำได้เพียงรางๆ ว่าอาจเคยได้มาจัดสวนให้ใครสักคนในอดีต

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สวนบ้านชมสิน

งานภูมิทัศน์ของ Walllasia จึงมีจุดเด่นที่พวกเขาไม่เพียงแต่ทำงานออกแบบ แต่ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้เป็นผู้ลงมือจัดสวนให้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะงานต้นไม้ใหญ่ ที่สุริยะกล่าวว่าเป็นงานยาก แต่เขาได้ฝึกเรื่องยากที่คนอื่นทำได้น้อยจนกลายเป็นสิ่งที่เขาและทีมงานถนัด เพื่อให้สามารถทำงานกับต้นไม้ใหญ่ ที่เขามองว่าเป็นดังประติมากรรมชนิดหนึ่งเมื่อถูกวางลงไปบนพื้นที่หนึ่งๆ นั้นได้อย่างชำนาญ

 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเดินมาสู่เส้นทางของนักออกแบบภูมิทัศน์มืออาชีพนี้ สุริยะก็ไม่ได้ฝึกฝนจากการผ่านโรงเรียนหรือตำราไหนๆ แต่เขาฝึกฝนและเรียนรู้จากสวนเล็กไปใหญ่ โดยนอกจากสวนในมุมต่างๆ ในบ้านของตัวเอง หนึ่งในนั้นสวนแรกๆ ที่เป็นสนามซ้อมนั้น คือสวนของบ้านพี่สาวที่กรุงเทพฯ

“มันเป็นเหมือนสวนญี่ปุ่นเลย แต่เป็นภาคภาษาไทย สวนนั้นเป็นสวนที่พลังงานเยอะ สวนเล็ก แต่พลังงานเยอะ” สุริยะเล่าให้ฟังปนชีวิตชีวาในน้ำเสียง

 “อายุสิบเก้าถึงยี่สิบ ผมว่าประมาณนั้นนะ แล้วผมจัดชิ้นนั้นคนเดียว ผมบ้าขนาดไหน ผมนั่งตุ๊กตุ๊กไปเอาก้อนหินมาลง ผมไปหาไม้ไผ่มา ผมไปหากกก้านธูปมา ข้างทางด้วยนะ ไปเซาะเอาข้างทาง คือมันมีความพยายามที่จะทำน่ะ แล้วก้อนหินนะ ผมก็ทำไม่เป็น ผมก็วางเอง ก่อปูนเปินอะไรผมก็ทำเองทั้งหมด” 

และนอกจากสวนที่ถูกจัดจากความหลงใหลส่วนตัว สวนแรกสุดที่นำมาซึ่งเส้นทางอาชีพที่ยาวนานนั้น เริ่มจาก

“พี่ขยายคือคนผลักดัน ให้เราทำงานสถาปัตยกรรม แล้วก็ผลักดันให้ผมทำแลนด์สเคป” สุริยะกำลังพูดถึง ขยาย นุ้ยจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสถาปัตยกรรม อีกหนึ่งพาร์ตเนอร์คนสำคัญที่ร่วมก่อร่าง Walllasia มาตั้งแต่ต้น

“พี่ขยายทำบ้านหลังหนึ่ง แล้วบังคับให้ลูกค้าบอกว่าต้องจ้างสุริยะทำ แล้วก็บังคับผมให้ทำด้วย ในช่วงฟองสบู่แตก

“มันก็เป็นสวนที่ดีที่สุดสวนหนึ่งที่เคยทำทีเดียว ผมบอกคุณเลยว่า ความตั้งใจนะ มันอาจจะเหนือกว่าความสามารถ

“การทำงานด้วยประสบการณ์ก็อย่างหนึ่ง แต่ทำงานด้วยความตั้งใจก็อย่างหนึ่ง มันจะมีวิญญาณมากกว่า การทำงานด้วยประสบการณ์ ได้คือได้เงิน แต่ทำงานด้วยความตั้งใจ มันได้ความรู้สึกที่ดีมาก งานชิ้นแรกที่เราทำเนี่ย มันเป็นงานที่มีคุณค่าเสมอ แล้วงานชิ้นแรกที่ไม่มีแรงจูงใจทางด้านการเงินมากำหนดนะ มันจะเป็นงานที่มีคุณค่ามาก

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สวนแห่งแรกที่จัด โดยมีขยาย นุ้ยจันทร์ เป็นสถาปนิกออกแบบบ้าน

“พอย้อนกลับไปดู ทำไมเราถึงสร้างกุฏิหลังแรกล่ะ ทำไมถึงสร้างสวนอันแรกขึ้นมา ส่วนหนึ่งคือมันมีบุคคลข้างเคียงที่ช่วยเรา มันไม่ได้เกิดจากเราคนเดียว มันทำให้เรารู้สึกว่า ที่วัดก็มีโจ-หลานผมซึ่งเป็นพระ แล้วก็หลวงพ่อซึ่งเราเคารพ มี ช่างนัน-อณัณ ยึนประโคน ที่ทำให้กุฏิเกิดขึ้นได้ พอมาภายหลังนี้ก็มีพี่ขยาย มีทางเล็กพาร์ตเนอร์ผม ที่สุดแล้วจะพบว่า มันมีบุคคลเหล่านี้อยู่เสมอ”

ผสมผสานศิลปะ ภูมิทัศน์ และสถาปัตยกรรม

สุริยะในวัย 50 ปีกล่าวว่า สำหรับเขา วิชาชีพสถาปนิกของเขาเพิ่งจะเริ่มต้นจริงๆ ได้เพียง 5 ปีเท่านั้น และยังมีอะไรที่เขาอยากทำอีกมาก โดยเฉพาะการสร้างงานสถาปัตยกรรมให้มากกว่านี้

“ผมประหลาดใจมากเลย ตอนผมเข้าวงการใหม่ๆ เขาเรียกผม สถาปนิกรุ่นใหม่ ผ่านไปแป๊บเดียว เป็นรุ่นใหญ่แล้ว (หัวเราะ) พอผ่านไปอีกแป๊บเดียว มีคนถามเรื่องการเกษียณแล้ว

“จริงๆ สถาปนิกต้องมีอายุสองร้อยปี เพราะว่าเวลาของคุณเริ่มต้นจริงๆ ที่สี่สิบห้าปี ก่อนหน้านั้นคือทดลอง”

ด้วยระยะเวลาของการพัฒนาตั้งแต่ออกแบบจนก่อสร้างที่ยาวนาน ทำให้กว่าสถาปนิกคนหนึ่งจะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ก็อาจกินเวลาไปแล้วกว่าครึ่งชีวิต โดยสำหรับสุริยะ เขากล่าวว่าสิ่งที่เขาปรารถนาที่สุดในปัจจุบัน คือการได้ทำงานที่จะรวมทั้งศิลปะ ภูมิทัศน์ และสถาปัตยกรรมไว้ด้วยกันได้อย่างเป็นภาพรวม

“เราน่าจะถนัดการผสมผสานระหว่างแลนด์สเคป สถาปัตยกรรม แล้วก็ศิลปะเข้าด้วยกันมากที่สุดบริษัทหนึ่งในเมืองไทย” สุริยะว่า

“เคยมีคนคนหนึ่งให้นิยามงานผมไว้ว่า เหมือนเป็น Invisible Landscape คือเป็นแลนด์สเคปที่มองไม่เห็น อย่างเวลาเราทำงานในวัด พอเวลาเราเห็นต้นไม้ เราก็จะออกแบบเพื่อให้แลนด์สเคปตรงนี้โดดเด่น

“เวลาเราทำแลนด์สเคปในกรุงเทพฯ เราต้องมองหาต้นไม้มาใส่ถูกไหมครับ แต่เวลาไปทำงานต่างจังหวัดไกลๆ และเต็มไปด้วยธรรมชาติ เราไม่ต้องหาซื้อธรรมชาติมาใส่ เราเพียงแต่ไปทำเฟรม เหมือนที่ผมทำอาคารปฏิบัติธรรม เราก็ทำเฟรมขึ้นมา แล้วธรรมชาติก็อยู่ในเฟรมนั้น”

“มันเป็นวิธีการมองที่กลับกัน ปกติคนอาจจะมองแค่อาคาร แต่เราจะมองต้นไม้ข้างๆ ที่จะไปเกาะกับเขาด้วย”

สุริยะยังกล่าวว่า ภูมิทัศน์สำหรับเขานั้นอาจไม่ใช่แค่เรื่องของต้นไม้ ก้อนหิน หรือลำธาร แต่ถ้าหากในบริบทมีองค์ประกอบที่มองไม่เห็นเช่นพระพุทธรูปบนภูเขาที่ไกลออกไป หรือสถานที่สำคัญที่เกี่ยวพันกับความทรงจำในพื้นที่แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ตรงนั้น เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่เขาชอบนำมาใช้ในงานออกแบบ และเป็นวิธีที่จะสร้างพลังในสถาปัตยกรรมได้

หรือกลับกัน สถาปัตยกรรมที่ทรงพลังนั้น อาจไม่ต้องมีอะไรยิ่งใหญ่ในตัวเอง แต่มันทำให้บริบทโดยรอบนั้นมีค่าขึ้นมา และจริงๆ แล้วก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญกว่า ในทัศนะของเขา

 “มันมีประโยคหนึ่งนะ คือสถาปัตยกรรมต้องส่งเสริมสิ่งที่มีอยู่ตรงนั้นให้มีคุณค่าขึ้น ทำภูเขาให้มันสวยขึ้น ต้นไม้ให้มันดูดีขึ้น แม่น้ำให้มันดูดีขึ้น พระจันทร์ให้มันสง่างามขึ้น เหมือนคุณเห็นทุ่งหญ้าที่สวย คุณเห็นกกก้านธูปข้างทาง มันสวยมากเลย แต่คุณจะเดินไปยังไง คุณก็ทำสะพานสวยๆ เดินไปเพื่อชมมัน

“ผมคิดว่าของแบบนี้มันรู้สึกได้ มันไม่ต้องไปอธิบายความ มันมีภาพตัวมันเองอธิบายเอง ไม่ต้องมีคีย์เวิร์ดด้วยซ้ำไป งานมันเป็นภาษาของตัวเขาเอง ไม่ต้องอธิบายด้วยคำ”

ในช่วงหลังมานี้ สุริยะกล่าวว่างานออกแบบเชิงศาสนาของเขาค่อยๆ ลดลงไป เพราะด้วยช่วงวัยและภาระหน้าที่ และที่ผ่านมาการทำงานออกแบบให้วัดต่างๆ ก็ล้วนด้วยจิตศรัทธาทั้งสิ้น สิ่งที่เขาสนใจในปัจจุบันจึงเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบอื่นที่จะผสานศิลปะ ภูมิทัศน์ และสถาปัตยกรรมไว้ด้วยกันได้ อย่างพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างโรงแรม

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
โรงแรม Oui J’aime
ภาพ : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน

อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายของงานทั้งหมดนี้และวิธีสร้างสรรค์งานที่อาจดูเป็นนามธรรม สุริยะกล่าวว่า อาจทำให้หลายคนมองเขาว่ามีลักษณะของศิลปินมากกว่าสถาปนิก แต่จริงๆ แล้ว สำหรับเขาเอง จะเป็นอะไรนั้นก็อาจจะไม่สำคัญ

“ผมเป็นคนธรรมดา จะนักออกแบบหรือศิลปินน่ะ ผมว่าผมไม่มีนิยามตรงนี้นะ” สุริยะว่า

“คนเขาก็คิดว่าผมน่าจะเป็นลักษณะของศิลปินเสียมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว คือผมไม่รู้หรอก ก็ด้วยความที่คุณทำมันตลอดคุณจะมองมันไม่เห็นนะ เพราะว่ามันเป็นชีวิตคุณ แต่ถ้าเกิดคนอื่นมาเห็นก็จะรู้สึกว่าคุณเป็นอะไร แต่ด้วยความที่คุณเป็นอย่างนั้นเยอะ คุณก็จะไม่รู้หรอก

“ตรงนี้มันอยู่ที่คนอื่นเขามอง คนที่เกาศีรษะตลอดเวลาเขาก็ไม่รู้ว่าเขาเกานะ คนอื่นมาบอกคุณว่าคุณเกาหัวตลอดนะ เพราะคุณเป็นตัวคุณไง คุณก็เลยไม่รู้ บางอย่างมันไม่ใช่เราตอบ แต่ต้องให้คุณเป็นคนมองเรามา

“แล้วคุณมองผมยังไงล่ะ”

5 ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และ Walllasia

กุฏิ Monk’s Cell Community (พ.ศ. 2548)

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : สมคิด เปี่ยมปิยชาติ

“จริงๆ ที่วัดเขาพุทธโคดม มันมีส่วนที่มองไม่เห็น ส่วนที่ไม่ได้ลงสื่อเต็มไปหมด ผมทำทางเดิน ผมทำทางระบายน้ำ ทำบันได ทำรางน้ำ ทำราวกันตก ผมทำเต็มไปหมดเลย คือคนมักคิดว่าเวลาเราไปทำกุฏิ แล้วเราทำกุฏิเลย จริงๆ ไม่ใช่ เราต้องรู้จักหลวงพ่อ มีกระบวนการของหลวงพ่อ แล้วเราค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าตอนหลังมันก็ล่มสลายไปแล้วนะ อย่างที่บอกว่าของพวกนี้คือคุณไม่ต้องไปยึด ถ้ามันไม่ล่มสลายเลยมันจะไม่มีราคา เหมือนดอกไม้ มันต้องอยู่ในช่วงฤดูของมัน”

Circular Monk Cell (พ.ศ. 2553)

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

“งานนี้เป็นบทสรุปของการทำงานวัดมาสิบกว่าปีของผม บทสรุปก็คือ จากคำสอนของพระพุทธเจ้า คือการอยู่ การปรับ แล้วก็คล้อยตามกับธรรมชาติ เช่นว่าระบบร่างกายกับระบบจักรวาลไปด้วยกัน ทีนี้พอเรามาทำงานสถาปัตยกรรม เรามีระบบแสงแดดมาเกี่ยวข้องด้วย คือเราแบ่งช่วงเวลา แบ่งเป็นแปดชั่วโมงแรกก็คือ พระตื่นตีสี่จนกระทั่งเที่ยง ต่อมาเที่ยงจนถึงสองทุ่ม ต่อมาสองทุ่มจนถึงตีสี่ แล้วกิจวัตรของสงฆ์ภายในนี้ก็จะเกี่ยวกับพระอาทิตย์ จากตื่นไปจนปักกลดเพื่อจำวัด”

สวนสำหรับบ้านพักอาศัยแห่งแรกที่จัดในหมู่บ้านปัญญา (พ.ศ. 2544)

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

“พี่ขยาย นุ้ยจันทร์ เป็นคนผลักดัน เราไม่กล้าทำ แกบอกต้องทำ พี่ขยายเป็นคนออกแบบ แกนัดลูกค้าไปเที่ยวกระบี่ แล้วให้ผมไปเที่ยวด้วย เพื่อจะได้เจอกัน เพื่อจะได้ทำความรู้จักกัน เพื่อจะได้ทำงานจัดสวน ตอนนั้นก็ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คิดว่าเขาคงจะมั่นใจในตัวเราด้วยส่วนหนึ่ง แล้วก็อยากเปิดโอกาสให้เรา มันก็เป็นสวนที่ดีที่สุดสวนหนึ่งที่เคยทำทีเดียว”

No Sunrise, No Sunset Pavilion (พ.ศ. 2561)

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพ : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน

“งานที่ทำให้กับ Thailand Biennale กระบี่ เป็นไอเดียของ พี่คามิน เลิศชัยประเสริฐ ความหมายคือ จริงๆ พระอาทิตย์มันอยู่กับที่ ไม่ได้ขยับ แต่โลกต่างหากที่หมุนเอง มันเลยทำให้เราเห็นดวงอาทิตย์มีขึ้นและลง เป็นงานที่เปลี่ยนความคิด เราได้เรียนรู้จากพี่คามิน เลิศชัยประเสริฐ ว่าเขาคิดอะไร ในแง่ของวิธีการมองเรามองเป็นสถาปัตยกรรมเกินไป พี่คามินเขาบอกว่า คุณทำงานสถาปัตยกรรมที่ใกล้จะเป็นศิลปะแล้ว แต่ให้คุณกลับกัน ให้คุณทำงานศิลปะที่ใกล้สถาปัตยกรรม แค่คุณมองต่างไปอย่างนี้ มันจะเปลี่ยนเลย”

Hotel at Kanchanaburi (พ.ศ. 2561 – ปัจจุบัน)

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก Walllasia  ศิลปิน และนักจัดสวน ผู้พากุฏิไทยไปไกลถึงอังกฤษและฝรั่งเศส

“เจ้าของเขาได้เห็นงานกุฏิของเราหลังแรกๆ นะ เขารู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ และเรามีคุณสมบัติบางอย่างที่เราไปโดนเขา คือเขาต้องการสถาปนิกที่ทำแลนด์สเคปได้ ซึ่งเราเนี่ยไม่ใช่แค่ออกแบบ คือเราทำด้วย พื้นที่เขาประมาณร้อยยี่สิบไร่ มันเป็นแลนด์สเคปน่าจะประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น มันต้องมองตัวสถาปัตยกรรมกับตัวแลนด์สเคปไปพร้อมกัน ไม่ได้แยกจากกัน”

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ