ธุรกิจ : สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราชและบริบุญ (Boriboon)

ประเภทธุรกิจ : จำหน่ายหีบศพ บริการฌาปนกิจครบวงจรและกิจการเพื่อสังคม

อายุ : 65 ปี 

ผู้ก่อตั้ง : พรเทพ สุริยเสนีย์ 

ทายาทรุ่นสอง : โกญจนาท สุริยเสนีย์ 

ทายาทรุ่นสาม : คณกฤษ สุริยเสนีย์

“ตอนเด็กพี่น้องเราเล่นซ่อนแอบกันในโลงศพ บางทีก็แอบในโลงเย็น”

ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์ ทายาทรุ่นสามของสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช บอกกับเราด้วยเสียงหัวเราะในวันที่เขาเข้ามาเรียนรู้กิจการหลังความตาย มี คุณพ่อโกญจนาท สุริยเสนีย์ เป็นโค้ชเคียงข้างลูกชาย

ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์ ทายาทรุ่นสามของสุริยาหีบศพ 2499

สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช เป็นต้นกำเนิดของธุรกิจจำหน่ายหีบศพและบริการฌาปนกิจแบบครบวงจร (One Stop Service) เจ้าแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่การฉีดยารักษาสภาพศพ ออกแบบและตกแต่งหีบศพ จัดดอกไม้และพวงหรีด ประกอบพิธีกรรมตามประเพณี (ไทย จีน ฝรั่ง) ของชำร่วย พิธีลอยอังคาร บริการเคลื่อนย้ายศพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้คำปรึกษาและการวางแผนฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ครบจบในที่เดียว

ความเชี่ยวชาญตลอด 65 ปี มาพร้อมสโลแกน ‘มาตรฐานงานหีบศพ’ ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อมือให้ประดิษฐ์หีบพระบรมศพตามประเพณีในพระราชพิธีหลวง อาทิ พระราชพิธีพระศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง), พระราชพิธีพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฯลฯ ตลอดจนบุคคลสำคัญ สมณเพศ และบุคคลหลากแวดวงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ณ วันนี้ธุรกิจจัดพิธีศพแบบครบวงจรเริ่มกลายเป็นเรื่องเอาต์ แต่ทายาทรุ่นสามกำลังพาสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช เดินก้าวล้ำหน้าอีกขั้นเหมือนตอนที่อากงของเขานำเทรนด์กิจการหีบศพเมื่อ 60 กว่าปีก่อน 

หลานชายก้าวเข้ามาในธุรกิจความตายของครอบครัวด้วยความตั้งใจทำเพื่อสังคมและคำนึงถึงการ ‘ให้’ เขาสร้างบริบุญ (Boriboon) แบรนด์ที่ช่วยเหลือสังคมและส่งต่อความรู้สึกดีของคนเป็นถึงคนตายผ่านการซื้อพวงหรีด

พวงหรีด 1 พวงเท่ากับบริจาคโลงศพ 1 โลงให้ผู้ต้องการใช้งานจริง ซึ่งโปร่งใส จริงใจ ตรวจสอบได้

เป็นเรื่องยากมากของกิจการหีบศพที่จะทำการตลาดโดยให้คนเข้าใจว่า ให้โลง ไม่เท่ากับ แช่ง แต่ความน่าสนใจของการตลาดที่หีบห่อใหม่นี้ ทำให้ฟีฟ่าสนทนากับลูกค้าได้มากถึง 4 ครั้ง และหวังครองใจระยะยาว

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

จากรับส่งศพ ถึงธุรกิจความตาย

เรื่องราวของศูนย์จัดจำหน่ายหีบศพแห่งแรกในประเทศไทยเริ่มจาก อากงพรเทพ สุริยเสนีย์ ขับรถตู้รับ-ส่งศพ เพราะบ้านอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช จนเวลาผ่านอากงและช่างหัดต่อโลงศพจำหน่ายเป็นสินค้ายุคบุกเบิก จนกระทั่งกิจการรุ่งเรืองขยับขยายและครบวงจรเช่นปัจจุบัน สมัยนั้นเป็นเบอร์หนึ่งและล้ำกว่าใครเพื่อน

อากงพรเทพยังรับบทบาทเป็นซินแสและทำพิธีกรรมศพแบบจีนโดยเฉพาะด้วย 

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

ความล้ำยุคของกิจการจัดงานศพครบวงจรมีตั้งแต่การประดิษฐ์โลงเย็น ใช้รถตู้เคลื่อนย้ายศพ โดยถอดเบาะหนังออกเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับใส่โลงศพ ในขณะที่ธุรกิจประเภทเดียวกันยังใช้รถกระบะเพื่อขนย้าย โดยอากงทำการตลาดยุคเก่าก่อนด้วยการตั้งใจทำงานให้มีคุณภาพสู่การบริการที่ดี เพื่อให้คนเกิดการกระซิบต่อปากต่อปาก

คุณพ่อโกญจนย้อนความสมัยวัยเยาว์ให้ฟังว่า สมัยก่อนโลงศพเป็นโลงไม้สี่เหลี่ยมธรรมดา มีเพียงสีไม้และสีขาว ยุคนั้นตระกูลไหนใช้หีบเทพพนมถือว่าหรูหราที่สุด ต่างกับปัจจุบันที่กลายเป็นหีบมาตรฐานธรรมดา ซึ่งจักรวาลของหีบศพมีมากนับไม่ถ้วน ถามใครก็ได้แต่ร้อง ‘โอ้โห’ ถ้าแบ่งอย่างง่ายจะมีหีบไทย หีบจีน และหีบคริสต์

“เราออกแบบหีบศพเองและเปลี่ยนรูปแบบเพื่อลดความน่ากลัว ให้ดูดีขึ้น เห็นแล้วสดชื่น ในตลาดหีบศพจะใช้ไม้อัด ไม้สังเคราะห์ ในการทำหีบศพ ถ้าท็อปที่สุดของเราเป็นไม้สักทอง ส่วนวัสดุเราอิงเรื่องสิ่งแวดล้อมหน่อยหนึ่ง พยายามใช้งานตกแต่งด้วยพลาสติกให้น้อยที่สุด เน้นงานผ้าแทน ข้อดีคือเผาได้ง่ายขึ้น

“ส่วนโลงเย็นเราทำมานานมากแล้วนะ เมื่อก่อนระบบเหมือนตู้แช่สเตนเลสตามร้านชำ ยุคหลังเปลี่ยนเป็นระบบแอร์ เราทำเพราะต้องการอำนวยความสะดวกให้คนต่างจังหวัด เขาอยู่ไกลและฉีดยารักษาสภาพศพได้ไม่ดี ถ้าไม่มีโลงเย็นสองวันศพก็เปลี่ยนสภาพ สิบถึงยี่สิบปีที่ผ่านมาโลงเย็นขายดีมาก” คุณพ่อเล่าด้วยเสียงสนุก

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

หลังจากส่งไม้ต่อให้ลูกชาย สุริยาหีบศพ 2499 ถูกทายาทรุ่นสองปรับภาพลักษณ์ ตราสินค้า รถตู้ต้องแปะสติกเกอร์สร้างการรับรู้ของแบรนด์ คนขับรถและคนทำพิธีกรรมต้องแต่งตัวเนี๊ยบ ผมต้องเตียน รองเท้าต้องเงา เพื่อความดูดีและสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานระดับมืออาชีพ โดยยังรักษาคุณภาพของการบริการที่ดีเช่นเดิม

“อย่างแรกปรับเรื่องคน เพราะหีบและพิธีกรรมเลียนแบบกันได้ แต่ความสามารถและประสบการณ์เลียนแบบกันไม่ได้ บุคลากรและเจ้าหน้าที่เราถือว่าเหนือกว่าที่อื่น เราบริการอย่างสมเกียรติให้กับผู้เสียชีวิต” คุณพ่อเล่า

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

จากชีวิต ถึงลมหายใจสุดท้าย

การทำงานกับความเชื่อและความรู้สึกของคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากแต่ชาย 3 คนที่ส่งมอบธุรกิจครอบครัวจากมือพ่อ ถึงมือลูก มีเคล็ดลับเทคนิคอยู่ตรงที่หัวใจ ใช่-พวกเขาใช้หัวใจขับเคลื่อนการทำงาน จากใจเรา ถึงใจเขา

“วิธีการทำงานด้วยใจ เราต้องคิดแทนญาติผู้เสียชีวิต การประคอง การใส่เสื้อผ้า หรือการจับศพ เราต้องทำด้วยความรู้สึกที่ดี ถึงเขาจะเป็นผู้เสียชีวิต แต่คนข้างๆ หรือญาติของเขาจะสัมผัสได้เองว่าเราให้เกียรติเขา”

“เขาต้องการอะไร เขารู้สึกอะไร ถ้าเรารู้สึกได้แบบนั้น เราจะรู้คำตอบ” คุณพ่อพูดด้วยรอยยิ้ม

“คนที่สูญเสียเขาจะอารมณ์อ่อนไหวมาก เราดูแลความรู้สึกลูกค้าได้ดีที่สุดคือทำตามหน้าที่ของเรา บางคนไม่ต้องพูด ไม่ต้องปลอบด้วยซ้ำ เราแค่ต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของเขาเท่านั้น” ลูกชายเล่าวิธีบริหารความรู้สึก

นั่นคือหัวใจของสุริยาหีบศพที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของช่วงเวลาที่ยากที่สุดของชีวิต

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

น้อยคนนักจะเกิดมาพร้อมกับธุรกิจมอดม้วย ทว่าสองคนพ่อลูกเกิดและเติบโตมาพร้อมกับลมหายใจสุดท้ายของชีวิต นั่นยิ่งทำให้เราฉงนและอยากรู้ว่าพวกเขามอง ‘ความตาย’ แบบไหนในมุมมองของ ‘คนเป็น’

“เป็นเรื่องปกติของทุกคนนะ ไม่ใช่แค่ของเรา พอทำงานแบบนี้เราเข้าใจแล้วก็ยอมรับมันได้ง่ายขึ้น เรามองความตายเป็นเรื่องที่เราต้องชิน เราเสียใจกับมันได้นะ แต่เราจมกับมันไม่ได้” ทายาทรุ่นสามชิงตอบคำถามก่อน

“ความตายเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราเห็นภาพคนสูญเสียเกือบทุกวัน บางวันไปรับศพเห็นเขาร้องไห้ เราใจจะขาด ทำใจไม่ได้เลยนะ เราดันชอบเปรียบเทียบกับตัวเอง ถ้าเกิดตรงนั้นเป็นคนที่เรารักคงแย่เลย แต่ที่แย่ที่สุดคือภาพที่เห็นพ่อไปรับศพลูก ภาพนี้สะเทือนใจเราที่สุด” คุณพ่อเว้นช่วงก่อนจะพูดต่อ “เราเตือนฟีฟ่าตลอด เรื่องพวกนี้ถ้าไม่เห็นเราจะไม่รู้สึกเลย ฉะนั้น การดูแลกันในระหว่างที่มีชีวิตอยู่เป็นเรื่องที่ควรทำและสำคัญที่สุด”

จากปากต่อปาก ถึงการตลาดออนไลน์

“เรารู้ตั้งแต่เด็กแล้วว่าต้องกลับมาทำ เรื่องศพ เรื่องผีเราไม่มีความกลัวเลย ซึ่งไม่ใช่ความชินด้วยนะ 

“แต่เป็นเหมือนชีวิตเราด้วยซ้ำ เพราะเราโตมากับสิ่งนี้”

ฟีฟ่า เป็นบัณฑิตหนุ่มจบหมาดจากสาขาการจัดการการท่องเที่ยวและบริการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วัยเด็กเขามีโลงศพเป็นสนามเด็กเล่น เห็นความเป็นไปของธุรกิจหลังความตายมาตลอด 25 ปี

“ตอนเป็นเด็ก หนึ่งวันลูกค้าเดินเข้าร้านสิบคน สิบห้าคน ซึ่งเยอะมาก บางทีจะไปเที่ยวต่างจังหวัดกัน ต้องออกจากบ้านสิบโมง แต่เที่ยงแล้วยังไม่ได้ออก เพราะแม่ต้องนั่งขายหีบ พอเราอายุสักสิบห้าเริ่มมีโทรศัพท์บ้าน คนเริ่มไม่เดินเข้าร้านแต่โทรศัพท์เข้ามาที่ร้าน โทรทั้งวันเลย พอเราเข้ามหาลัยก็เปลี่ยนมาเป็นคอมฯ ตามยุคสมัย

“สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือตัวเรา ยังขายวิธีเดิม ยังตั้งใจบริการและคาดหวังให้คนไปบอกกันเองว่าเราบริการดี ซึ่งหมดยุคให้คนอื่นไปบอกต่อแล้ว เราต้องเอาความสามารถของเราไปโชว์ให้เขาเห็น” ฟีฟ่ากำหนดจุดเริ่มต้น

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

“นั่นคือจุดที่คิดว่าธุรกิจจะต้องเปลี่ยน” เราถามย้ำ

“ใช่ โดยด่วน” เขายืนยันพร้อมเสียงหัวเราะ “ป๊าฟังเรานะ เขาเล่าย้อนว่าตอนเริ่มมาดูแลธุรกิจ อากงไม่ค่อยฟังเขาเหมือนกัน เป็นช่วงที่ป๊าคิดว่าวิธีของอากงไม่เวิร์กแล้ว จะต้องปรับ แต่อากงคิดว่าป๊ายังไม่มีวุฒิภาวะพอเลยไม่ฟัง ตอนหลังอากงวางมือเอง แล้วมาดูแลการทำพิธีกรรมอย่างเดียว ส่วนป๊าก็เข้ามาคุมโรงงานเต็มตัว”

“บางครั้งเราก็ต้องพูดตรงๆ ว่าวิธีเดิมมันใช้ไม่ได้แล้ว เราต้องปรับตัว ยิ่งเป็นธุรกิจครอบครัว การปรับตัวให้ทันเทรนด์มันควบคู่กับการสื่อสารภายใน เราต้องสื่อสารกันเองข้างในให้เข้าใจ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับข้างนอก”

การเข้ามา ‘เปลี่ยน’ ของเดิม ทายาทรุ่นสองว่ายังไงบ้าง-เราสงสัย

“เขารอดูอย่างเดียว ไม่ห้ามเลย ป๊าบอกว่าทำพลาดก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ถ้าจะล้มก็ล้มตอนที่ป๊าอยู่ จะได้พยุงไหว ถ้าล้มตอนเขาไม่อยู่แล้ว ไม่ได้ล้มแค่เรา แต่ล้มทั้งหมดเลย” (คิดยังไงกับคำของพ่อ) “ต้องแบบนี้แหละ” 

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

การไม่ห้ามกลายเป็นข้อดีของทายาทรุ่นสามหรือเปล่า

“ดีนะ เราไม่ได้อยากให้เขาห้าม เราอยากให้เขาเอาประสบการณ์ที่มีมาเป็นคำแนะนำให้เรา”

สิ่งที่ทายาทรุ่นสามมองเห็นว่าต้องปรับคือการทำการตลาด และเปลี่ยนความเข้าใจผิดที่ว่า สุริยาหีบศพแต่ละสาขาเหมือนกัน เป็นความเข้าใจถูกว่า สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช มีสาขาและเจ้าของเดียวเท่านั้น

โดยมี นิธิศ บัญชากร เป็นที่ปรึกษาการวางแผนการตลาดร่วมกัน ด้วยการชวนคุณพ่อและลูกชายจับเข่าคุยและถกประเด็น เพื่อทำความเข้าใจธุรกิจของครอบครัวอย่างคนรู้จริง ซึ่งทุกคนมุ่งตรงกัน ‘การตลาดออนไลน์’

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

“ผมคุยกับพ่อฟีฟ่าว่า การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการยอมรับตัวเองว่าเราไม่ได้เก่งที่สุด เราไม่ได้รู้ดีที่สุด หน้าที่ของผมจะเข้าไปขุดข้อดีข้อเสียของธุรกิจ แล้ววางแผนให้ธุรกิจสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด

“การทำตลาดออนไลน์ผมไม่พูดว่าเราครบวงจรหรือราคาถูกที่สุด เพราะความครบวงจรกลายเป็นพื้นฐานการตัดสินใจซื้อของลูกค้าอยู่แล้ว แต่เราจะพูดถึงการช่วยเหลือคนมากกว่า สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ Brand Loyalty จากคนบริจาคหีบศพ เพราะการบริจาคที่นี่เขาจะได้รับใบมรณบัตรยืนยันว่าโลงที่เขาบริจาคถูกเอาไปใช้งานจริง”

การเกิดขึ้นของการตลาดออนไลน์กำลังจะเปลี่ยนภาพจำใหม่ของสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

จากสุริยาหีบศพ ถึงบริบุญ

สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช มีกองทุนบริจาคโลงศพ กองทุนละ 1,500 บาท ซึ่งความคิดตั้งต้นของคนรุ่นพ่อไม่ได้ตั้งกองทุนเพื่อการตลาด แต่ทำเพราะอยากช่วยเหลือ ซึ่งมีคนใจดีเข้ามาบริจาคไม่ขาดสาย บางคนมาทุก 3 เดือน 6 เดือน บ้างมาบริจาคประจำทุกเดือนก็มี เพราะมีข้อมูลตรวจสอบได้ว่าถึงมือผู้ต้องการใช้งานจริง

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

“ซึ่งสุริยาไม่รู้ตัวเลยนะว่านี่คือการเก็บฐานข้อมูลลูกค้าที่ดีมาก เราเอาข้อมูลมาต่อยอดและประยุกต์ได้ มีประโยชน์ต่อ Digital Disruption ในปัจจุบัน เราเลยหาวิธีที่จะพูดสิ่งนี้ออกมา” นิธิศเล่าข้อดีเดิมของธุรกิจ 

ฟีฟ่าเสนอว่า ถ้าอยากให้คนรับรู้ว่าสุริยาหีบศพแต่ละที่ไม่ใช่ที่เดียวกัน ต้องผลิตสินค้าหนึ่งตัวที่ร้านอื่นไม่มี ทำให้คนเกิดความต้องการ แล้วเขาจะกลับมาหาเรา ซึ่งโลงศพกระดาษเป็นสินค้าที่ชายหนุ่มหมายมั่น

“เราตั้งต้นจาก IKEA ที่ต้องต่อเฟอร์นิเจอร์เอง เลยคิดโลงศพจากกระดาษลูกฟูก แต่ไม่เวิร์ก เพราะเราลองเอาตัวเองไปอยู่ในมุมคนซื้อ โอกาสที่คนคนหนึ่งอยากจะบริจาคโลงศพกระดาษน้อยกว่าความต้องการซื้อพวงหรีด เพราะงานศพมีทุกวัน โอกาสที่คนจะใช้พวงหรีดมีเยอะมาก เราเลยเลือกพวงหรีดมาเชื่อมกับการบริจาคแทน”

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

บริบุญ (Boriboon) เกิดขึ้นจากหยิบข้อดีของ Brand Loyalty มารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยจนงอกงามเป็นกิจการเพื่อสังคม ที่ชวนคนเป็นซื้อพวงหรีด 1 พวง สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช แถมโลงศพ 1 โลง ‘ให้’ คนตาย

บริบุญส่งต่อการให้ถึง 3 ต่อ 

หนึ่ง ให้โอกาสและกระจายรายได้ให้กับช่างฝีมือในชุมชน แถมวัสดุที่นำมาผลิตพวงหรีดเป็นวัสดุเหลือใช้จากโลงศพบริจาค ฟีฟ่ากระซิบว่า จากการออกงานศพมาหลายงาน เขาสังเกตว่าพวงหรีดดอกไม้สดลดลง มีพวงหรีดดอกไม้กระดาษและพวงหรีดประยุกต์ที่ประดิษฐ์จากข้าวของเครื่องใช้เพิ่มมากขึ้น นั่นแสดงว่าผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมและการลดขยะ แต่ต้องไม่ลืมเพิ่มลูกเล่นความสวยงามที่แปลกตาด้วย

สอง ให้บ้านหลังสุดท้าย โดยการซื้อพวงหรีด 1 พวงเท่าบริจาคโลงศพ 1 โลง ซึ่งพวงหรีดที่ซื้อจะใช้งานทันที ฝากบริบุญไว้ก่อนเมื่อถึงคราวจำเป็นค่อยยกหูโทรศัพท์ให้ส่งถึงที่ หรือบริจาคพร้อมกับโลงศพ ก็ได้เหมือนกัน

โลงศพที่บริจาคบริบุญจะส่งใบมรณบัตรของผู้เสียชีวิตให้กับผู้บริจาคทุกคน เพื่อความโปร่งใส

สาม ให้บุญกุศลและเป็นพื้นที่สบายใจให้ผู้บริจาคที่เชื่อว่าการทำบุญโลงศพเหมือนการต่ออายุ 

จากการบล็อกไลน์ ถึงการกลับมาซื้อซ้ำ

“เขาเพิ่มไลน์เราเสร็จเขาก็บล็อกเราแล้ว” 

นี่ไม่ใช่ประโยคบอกรักหลายเส้า แต่เป็นเรื่องจริงของธุรกิจความตายที่ไม่มีใครอยากกลับมาคุยเพื่อใช้บริการซ้ำสอง แต่การเกิดขึ้นของ บริบุญ ทำให้สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช มีโอกาสคุยกับลูกค้ามากถึง 4 ครั้ง

“ครั้งแรกเขาติดต่อมาซื้อ ครั้งต่อไปเราติดต่อเขาเพื่อทำพิธี ครั้งที่สามเป็นการส่งพวงหรีดและครั้งสุดท้ายเป็นการส่งใบมรณบัตรจากโลงที่เขาบริจาค ถ้าเรามีโอกาสติดต่อลูกค้าเยอะ แสดงว่ามีโอกาสที่เขาจะ Loyalty เราเยอะขึ้นด้วย” ฟีฟ่าเล่า ก่อนนิธิศเสริมต่อ “มันเป็นการทำตลาดแบบใหม่ ต่างกับการซื้อโฆษณาเฟซบุ๊กที่ลูกค้าเห็นครั้งเดียว แต่บริบุญทำให้อย่างน้อยลูกค้าต้องนึกถึงเราอีกครั้งหนึ่ง เป็นความยากของแบรนด์หีบศพเลยนะ”

“การทำบริบุญเราไม่ได้ทำมาเพื่อขายพวงหรีดให้ได้กำไรเยอะ แต่จุดประสงค์เพื่อให้คนรู้จักสุริยามากขึ้น เราถึงต้องรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อในวันที่เขาเสียใจที่สุดเขาจะกลับมาหาเรา” ฟีฟ่าเฉลยใจความสำคัญ

หัวใจของ Brand Loyalty คือการรักษาสัมพันธไมตรี ที่ได้ของแถมเป็นการเข้าไปอยู่ในใจลูกค้า

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

จากพ่อ ถึงลูกชาย

คุณพ่อเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวก็ตอนอายุราว 25 ปี ซึ่งพอดีกันกับอายุของฟีฟ่า

“เราว่าลูกคงซึบซับจากเราส่วนหนึ่งเหมือนที่เราซึบซับจากคุณพ่อ เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบนะ สำหรับเรามันเป็นอาชีพที่มีเรื่องให้เรียนรู้อยู่ตลอด” คุณพ่อสะท้อนความพยายามในวันที่อายุคราวเดียวกับฟีฟ่า

เราถามลูกชายว่าคุณพ่อถ่ายทอดวิชาทายาทให้อย่างไรบ้าง 

“ป๊าให้ทำสองอย่าง อย่างแรกให้ทำความเข้าใจกับความคุ้นเคย อย่างที่สองคือข้างนอกกับข้างใน ข้างนอกหมายถึงเวลาออกงานหรือเจอลูกค้า เราต้องสังเกต เป็นสกิลล์ตอนเรียนการโรงแรม ตาต้องละเอียด สังเกตทุกอย่าง ดูความเรียบร้อยว่าใครต้องการอะไร เช่น กำลังสวดศพ เราเห็นคนกำลังเศร้าต้องเดินเอาทิชชูกับน้ำไปให้

“ส่วนข้างในต้องใช้ความเข้าใจ อย่างขั้นตอนทำโลงศพ เลือกไม้ ทำสี บุภายใน และต้องรู้จักคนงานของเราด้วย นิสัยและลักษณะการทำงานเป็นแบบไหน เพื่อจะแบ่งงานให้ถูกกับคน บางอย่างที่เราไม่รู้ก็ต้องถามหัวหน้างานที่อยู่มายี่สิบสามสิบปี เขามีข้อมูลเยอะ ถ้าเราไม่ออกงานหรือไม่ถาม เราจะไม่มีวันรู้เลย” ฟีฟ่าเผยเคล็ดลับ

สุริยาหีบศพ : 65 ปีของธุรกิจบริหารความรู้สึกคนเป็น สู่การให้บ้านหลังสุดท้ายกับคนตาย

มือใหม่เล่าให้ฟังถึงพิธีกรรมอย่างจีนที่ต้องติดกรอบรูปบรรพบุรษบนผนัง เขาต้องวัดระยะห่างด้วยตลับเมตรดำแดง (ตลับเมตรฮวงจุ้ย) ความยากคือต้องวัดให้ระยะห่างตรงกับสีแดงทั้งหมด เพราะมีความหมายมงคล ซึ่งตรงกันข้ามกับสีดำ งานนั้นฟีฟ่ายืนเล็งและยืนวัดอยู่ 2 ชั่วโมงถ้วนกว่าจะได้ความหมายตามลูกค้าต้องการ

เมื่อถามถึงความคาดหวังของคนเป็นพ่อที่มีต่อลูกชาย – ‘ความไม่คาดหวัง’ คือคำตอบ

“ป๊าบอกว่าเราไม่ต้องทำให้ดีขึ้นกว่านี้ก็ได้ แค่รักษามันไว้ก็พอ แต่เราก็ไมได้อยากแค่ให้มันไม่เจ๊ง”

เป้าหมายของทายาทรุ่นสามของธุรกิจหลังความตายคืออะไร เราถามทันที

เขานิ่งคิดครู่ใหญ่ ก่อนจะมอบความท้าทายให้ตัวเอง 

“เป้าหมายของเราคือทำให้มันยั่งยืน” 

คำตอบของลูกชายทำให้ใบหน้าของคนเป็นพ่อและธุรกิจแห่งความโศกแต้มด้วยรอยยิ้ม

ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์ ทายาทรุ่นสามของสุริยาหีบศพ 2499

Writer

Avatar

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล