สำหรับคนอายุยี่สิบกว่าๆ น่าจะเคยเห็นผลงานของ try2benice จากหนังสือ Head รวมข้อเขียนสะกิดความคิด กับ Heart รวมข้อเขียนสั่นไหวความรู้สึก ของนิ้วกลม เล่มที่มีรูปเป็นต้นไม้อยู่บนพื้นหลังสีขาว หรือคาแรกเตอร์ก้อนเมฆที่ลายเส้นน่ารักแปลกตากันมาบ้าง ถ้าโตขึ้นมาหน่อยอาจจะทันเห็นโปสเตอร์งานเพะชะคุชะ (PechaKucha) ที่ทำร่วมกับ Bioscope เมื่อปี 2006

try2benice หรือ อาท-สุรัติ โตมรศักดิ์ คือกราฟิกดีไซเนอร์ที่ไม่เคยให้คำจำกัดความตัวเอง เขาเคยเป็นทั้ง Copywriter ในเอเจนซี่โฆษณา ไปจนถึงศิลปินที่กำลังมีงานนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศญี่ปุ่น 

ในปีที่สภาวะเศรษฐกิจอยู่ในขั้นวิกฤต อาทเดินออกจากวงการโฆษณาหลังทำมานานเกือบ 20 ปี เพื่อมาเป็นฟรีแลนซ์ทำงานด้วยตัวเอง จนเกิดเป็น try2benice Graphic Design Studio ที่ไม่ใช่แค่สตูดิโอด้านการออกแบบ แต่เขาใช้กระบวนการคิดแบบคนทำงานโฆษณาผสมจินตนาการของคนทำงานศิลปะ เพื่อให้ได้มาซึ่งงานดีไซน์ที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านทัศนศิลป์และธุรกิจ

อาทบอกว่า ตัวเองมี 3 บทบาท คือกราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ และศิลปิน ซึ่งไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตเขาอาจจะลุกขึ้นมาทำมิวสิกวิดีโอหรือหนังสักเรื่อง

นอกเหนือจากลิสต์ผลงานมากมาย เราสนใจมุมมองในการทำงานของเขา อยากรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่หล่อหลอมเขาไม่ใช่ให้เป็นสามบทบาทข้างต้น แต่ในฐานะคนใช้ชีวิตคนหนึ่งที่มีความรักในสิ่งที่ทำ และใช้ชีวิตโดยไม่มีข้อจำกัดได้อย่างสนุกมากคนหนึ่ง

try2benice กราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มไทยผู้อยากและลองเป็นศิลปินจนได้จัดนิทรรศการในญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง

01

ศิลปะ

อาทไม่ใช่คนเรียนเก่ง เรียกได้ว่าเป็นอันดับโหล่ในบรรดาพี่น้อง 5 คน เทอมแรกที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ก็สร้างความประทับใจให้ครูที่เคยสอนพี่สาวทั้งสองคนที่เรียนเก่งมาก ด้วยเกรด 1.5

“เรียนไม่เก่งจริงๆ และผมยอมรับนะ เหมือนผมไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ในห้องเรียน แต่ชอบวาดรูป ตั้งแต่จำความได้แม่ชวนวาดรูปมาตลอด วาดตามภาพในนิตยสารตั้งแต่เด็กๆ 

“บ้านผมเป็นสายส่งหนังสือประจำอำเภอ ผมเลยมีหนังสืออ่านทุกประเภท ตั้งแต่หนังสือมวย ไก่ชน ฟ้าเมืองไทย สกุลไทย บางกอก และที่สำคัญ มีหนังสือการ์ตูนอ่านทุกเล่ม ทำให้ได้ดูงานภาพประกอบดีๆ อย่าง ครูโต-ม.ล. จิราธร จิรประวัติ, อาจารย์เกริกบุระ ยมนาค, ใต้ถุน, คุณสุรเดช แก้วท่าไม้ หรือ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

“ผมชอบดูภาพประกอบมากจนเคยแอบฉีกไปห่อปกหนังสือหนังสือเรียนเล่มที่ปกไม่สวย ชอบดูหนังฟังเพลงเพราะเพื่อนรุ่นพี่บ้านติดกันที่สนิทมากเขาเอาเทป Pink Floyd เอา The Alan Parsons Project มาให้ผมฟังตั้งแต่ประถม และผมก็บ้าไปเลยเพราะเพลงแปลกและปกเทปก็สวยมากๆ ผมเลยชอบศิลปะแบบไม่รู้ตัว”

ศิลปะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขามาตั้งแต่นั้น ส่วนเรื่องการออกแบบ อาทได้อิทธิพลมาจากการที่ที่บ้านเป็นร้านขายส่ง มีของขายแทบทุกอย่าง เขาได้รับความไว้วางใจจากพ่อให้จัดวางของใส่กล่อง ทำให้รู้ว่าอะไรควรอยู่ตรงไหน ฉลากสีอะไร สวยหรือไม่ เขาแวดล้อมไปด้วยงานกราฟิกดีไซน์มาตลอดผ่านแพ็กเกจจิ้ง โลโก้ ไปจนถึงการออกแบบตัวอักษร ถึงขนาดเคยตัดสติกเกอร์ให้คนงานที่บ้านไปติดมอเตอร์ไซค์ตอนเรียนประถมฯ 

“เห็นเป็นเด็กแบบนี้ผมเรียนสายวิทย์นะ ทุกวันนี้ยังสอบเคมีไม่ผ่านเลย ข้อสอบวิชาเคมีโรงเรียนผมมี 7 ชอยส์ ข้อสอบวิชาเลขต้องส่งกระดาษทด ใครจะไปสอบผ่าน! (หัวเราะ) สมัยนั้นเขาจะติวคนไปเป็นหมอหรือวิศวกร แต่ข้อดีก็คือ มันทำให้ผมรู้จักตัวเองว่านี่ไม่ใช่ ผมควรเรียนสายอื่น ผมควรจะเรียนวาดรูป มันต้องมีอะไรที่ผมอยากเรียน”

หลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อนกว่าครึ่งห้องเอนทรานซ์ติดมหาวิทยาลัยต่างๆ เหลืออาทกับเพื่อนอีก 3 – 4 คน ที่ยังพยายามสอบเข้าคณะที่ตั้งใจ

“ที่ไหนก็ได้ แค่อยากเรียนศิลปะ”

ลองนึกภาพเด็กใส่เสื้อผ้ามือสองจตุจักร ถือเพลตวิ่งขึ้นรถเมล์ นั่นคือภาพนักเรียนศิลปะในตอนนั้น ส่วนอนาคตของคนเรียนศิลปะไม่ต้องพูดถึง น้อยคนที่จะมีเป้าหมายหลังเรียนจบว่าจะไปทำอะไรต่อ สุดท้ายเขาสอบเอนทรานซ์ครั้งที่ 2 ติดสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ตอนนั้นไม่เห็นอนาคตจริงๆ ว่าจะทำอะไรต่อ เรียนเพราะรักอย่างเดียว ถ้าไม่ได้เรียนศิลปะ ตอนนี้อาจจะกำลังทำหนังหรือเป็นนักดนตรี คงเป็นอะไรที่เกี่ยวกับศิลปะ ผมคงเป็นคนที่ถนัดในการใช้สมองซีกขวา 

“ตอนแรกผมอยากเรียนอาร์ตแบบ Pure Art เลย แต่พอไปเรียนครุศิลป์จริงๆ กลายเป็นว่าผมชอบ เพราะเขาสอนเรื่องจิตวิทยาจนถึงสานปลาตะเพียน เพราะอย่าลืมว่าเราเรียนเพื่อจะไปเป็นครูนะครับ โดยเฉพาะวิชาจิตวิทยาที่ผมเกลียดมากในตอนนั้น แต่มันกลับเป็นวิชาที่ใช้ได้จริงจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับคน การคุยกับคน การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย มันคือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ อยู่ร่วมกับโลก การเข้าใจคนอื่นด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การอ่านใจเขา มันมีประโยชน์มากกว่าการเรียนศิลปะเฉยๆ”

try2benice กราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มไทยผู้อยากและลองเป็นศิลปินจนได้จัดนิทรรศการในญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง
大好き daisuki นิทรรศการครั้งที่ 2 ในประเทศญี่ปุ่น

02

เป็ด

หลังเรียนจบ อาทสมัครงานในตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์ เริ่มตั้งแต่ไปช่วยพี่ๆ ทำ Annual Report ที่ใช้เวลาเกือบปีกว่าจะได้เห็นออกมาเป็นเล่ม หรือออกแบบโลโก้ที่ฟูมฟักกันหลายเดือนกว่าจะได้เห็นการใช้งานจริง 

“ตอนเป็นกราฟิกดีไซเนอร์เคยช่วยพี่ๆ เขาทำ Annual Report เล่มหนึ่ง ภูมิใจมาก เอาไปให้พ่อแม่ พี่สาว ดู แม่บอกว่า ‘นี่เราออกแบบตัวหนังสือเหรอ’ ก็ไม่ใช่ ‘วาดภาพประกอบเหรอ’ ก็ไม่ใช่ ‘งั้นแกทำอะไร’ เราตอบไม่ได้ ก็ออกแบบไง แต่พ่อกับแม่ไม่เข้าใจ แล้วหลังจากนั้นมีพี่คนหนึ่งชวนไปเป็นลูกมือทำงานในฝั่งโฆษณา ซึ่งงานโฆษณาจะต่างกันเลย คือทำงานวันนี้ เอาไปลงหนังสือพิมพ์พรุ่งนี้ คนก็เห็นแล้ว และมันเป็นสิ่งที่พ่อแม่ผมจับต้องได้ว่าเราทำอะไรอยู่ จนเริ่มได้รางวัลนิดๆ หน่อยๆ ให้เขาบอกญาติได้ว่าลูกคนนี้ทำมาหากินอะไร 

try2benice กราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มไทยผู้อยากและลองเป็นศิลปินจนได้จัดนิทรรศการในญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง
try2benice กราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มไทยผู้อยากและลองเป็นศิลปินจนได้จัดนิทรรศการในญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง
ナイス nice นิทรรศการครั้งที่ 3 ในประเทศญี่ปุ่น

“เราเคยทำมาหมดเลย เริ่มจาก graphic designer มาเป็น art director มานานจนวันนึงอยากเรียนรู้อย่างอื่นมั่ง เราชอบเขียนหนังสือ เลยเขียนไปปึกใหญ่มาก แล้วให้พวกพี่ๆ ที่เป็น Copywirter เก่งๆ เขาอ่าน โดยบอกพี่เขาว่า ‘พี่ตอบผมมาแค่คำเดียวว่า ผมเป็น Copywriter ได้หรือไม่ได้’ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้ ได้ก็ได้เลย ไม่ต้องได้มั้ง ก็ดีนะ ไม่ต้องเกรงใจกันครับ มีพี่คนนึงบอกว่า ได้ ผมก็เลยลองดู ผมเป็นคนอยากเรียนรู้ทั้งหมด ตอนเป็นนักเรียนก็เป็นเป็ด ครุศิลป์ก็เป็นเป็ด ต้องเรียนทั้งปั้น วาดรูป เพนต์สีน้ำมัน สีน้ำ ภาพพิมพ์ เรียนออกแบบ ผมเป็นเป็ด เพราะฉะนั้นผมต้องเป็นเป็ดที่โอเคที่สุด ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าวันนึงจะออกมาทำเอง เพราะวงการโฆษณายุคนั้นรุ่งเรือง และคิดว่าเราคงทำไปจนแก่แน่นอน”

อาทเป็นคนทำงานกราฟิกที่คิดถึงคนดูมาตลอด การขยับไปทำสายโฆษณาจึงค่อนข้างตอบโจทย์วิธีคิดของเขา เขาเป็นคนคิดตรง เข้าประเด็น และมองตัวเองเป็นเหมือนนักแสดงที่ต้องตีโจทย์และแสดงออกมาให้คนเข้าถึงได้ แต่ถึงวันนึงที่อาชีพที่คิดว่าจะทำไปจนแก่กลับไม่ตอบโจทย์ชีวิตเขา 

03

ความสุข

“ผมเริ่มคิดถึงความสุขเรียบง่ายของชีวิต เริ่มอยากมีความสุขด้วยตัวเอง อยากลองทำงานคนเดียว และพอดีกับตอนนั้นมันมี Wi-Fi ทำให้เราทำงานจากที่ใหนก็ได้ ส่งงานให้ลูกค้าดูได้จากทุกมุมโลก มันลงตัวกับชีวิตมาก เลยออกดีกว่า”

เกือบ 20 ปี ที่เขาทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา และด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในปีนั้นทำให้หลายๆ อย่างไม่เหมือนเดิม และด้วยอายุความคิดที่มากขึ้น เขาหันกลับมามองความสุขของตัวเองอีกครั้ง เพื่อพบว่ามันไม่ได้เกิดจากสิ่งนี้อีกต่อไป

“สภาพเศรษฐกิจยุคหลังค่าเงินบาทลอยตัวส่งผลกระทบกระเทือนไปทุกเอเจนซี่ ชีวิตการทำงานเริ่มเครียด เริ่มไม่มีความสุข เราทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาลูกค้าไม่ให้หลุด อยู่แต่ออฟฟิศกับห้างสรรพสินค้าใกล้ออฟฟิศ กินแต่อาหารที่สั่งมาส่งในห้องประชุม ชีวิตเราน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ ที่ตรงนี้อาจจะไม่ใช่ที่ของเราแล้ว 

นิ้วกลม
ปกหนังสือของนิ้วกลม

“แม้เงินเดือนจะลดลงหน่อย แต่มีความสุขในชีวิตมากขึ้น เราเลือกมีความสุขดีกว่า

“รู้ไหมว่านามบัตร try2benice พิมพ์เสร็จก่อน 1 ปี ตั้งแต่เรายังไม่ลาออกจากเอเจนซี่เลย (หัวเราะ) เราให้น้าๆ พี่ๆ ในเอเจนซี่ช่วยประสานงานพิมพ์ให้ บอกว่าเป็นของเพื่อน เราวางแผนเป็นฟรีแลนซ์ไว้ล่วงหน้าเกือบ 2 ปี ก่อนออกมาจากเอเจนซี่”

เขาบอกว่า ถ้าเอาตามความเป็นจริง ตัวเองไม่ได้เก่งมากพอที่จะออกมาทำเองทุกอย่าง แต่พอมานั่งใช้สติ และถามตัวเองให้ชัด คำตอบก็คือ เขารักงานกราฟิกดีไซน์ และรู้สึกว่าในตอนนั้นยังไม่มีงานกราฟิกสไตล์ในแบบของเขา จึงน่าจะเป็นช่องว่างที่เขาจะแทรกตัวเข้ามาในวงการนี้ได้ 

“งานของเราเป็นแบบง่ายๆ พูดกันตรงๆ แต่ต้องมีเสน่ห์ มีเรื่องของความรู้สึกเข้าไปเจือปนด้วย เราชอบงานที่ดูสบายๆ ให้รางวัลสายตาคนดู เราเลยคิดว่างานออกแบบในแนวทางนี้น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของวงการกราฟิกบ้านเราได้

“พอออกมาก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับพี่หมู (สุภาพ หริมเทพาธิป) ที่นิตยสาร Bioscope งานช่วงแรกๆ คือ โปสเตอร์เพะชะคุชะ (Pecha Kucha) ที่ทำกับ คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ และยังโชคดีที่ได้รู้จักกับ วิภว์ บูรพาเดชะ อดีต บ.ก. HAMBURGER ที่ลาออกมาทำนิตยสาร happening ในเวลาเดียวกันพอดี ทำให้เรามีโอกาสทำงานให้ทั้งสองนิตยสารในตอนนั้น”

Pecha Kucha
โปสเตอร์เพะชะกุชะ

Pecha Kucha คืองานที่ทำให้คนเริ่มรู้จัก สุรัติ โตมรศักดิ์ ในนาม try2benice มากขึ้น ถ้าเปรียบในวันนี้ เพะชะคุชะคงจะคล้ายๆ กับ TED Talks แต่ต่างกันตรงที่เป็นการนำเสนอเรื่องราวอะไรก็ได้ที่น่าสนใจ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ผ่านภาพสไลด์ 20 ภาพ ภาพละ 20 วินาที 

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสออกแบบปกหนังสือฉบับแปลของ ฮารูกิ มูราคามิ ปกหนังสือ หิมาลัยไม่มีจริง และ Homo Finishers ของนิ้วกลม รวมถึงโปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ประชาธิป’ไทย โดย เป็นเอก รัตนเรือง และอีกหลายๆ ผลงาน จนสไตล์ของเขาเป็นที่คุ้นเคยในวงการการออกแบบ

04

(ไม่มี) ข้อจำกัด

มาถึงตอนนี้ เขาได้เจอกับจุดสมดุลของการทำงานและชีวิตแล้วในระดับหนึ่ง ได้ทำงานที่บ้าน หรือทำงานที่ไหนบนโลกก็ได้อย่างมีความสุขตามที่คิดไว้ แล้วสุดท้ายก็จับพลัดจับผลูได้ไปแสดงงานที่ประเทศญี่ปุ่น 

“ผมเคยฝันอยากไปเรียนต่อญี่ปุ่นตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ แต่ว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก และเราไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย พอวันหนึ่งมีโอกาสเราก็คว้าเลย อาจเป็นเพราะว่าเราเป็นคนที่มีข้อแม้ในชีวิตน้อยมาก เราเชื่อว่าถ้าข้อแม้เยอะแล้วเราจะใช้ชีวิตไม่คุ้ม อะไรก็ตามที่มันไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อะไรที่เราทำได้ ก็วางแผนให้ดี คิดให้รอบคอบ แล้วทำเลย

“ตอนแสดงงานครั้งแรกเรายังสื่อสารไม่ได้ แล้วการจะทำงานศิลปะชิ้นใหญ่ในญี่ปุ่นนี่เป็นเรื่องใหญ่ หรือจะหอบไปจากไทยก็ลำบากมาก เราเลยคิดว่าจะแก้ปัญหายังไงให้งานศิลปะไม่วุ่นวาย ทุกคนซื้อกลับบ้านไปได้เลย ก็เลยทำเสื้อยืด กลายเป็นนิทรรศการเสื้อยืด ปรากฏว่าขายหมด คนญี่ปุ่นชอบ เพราะงานนี้เลยทำให้ได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวที่ญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ” 

ไม่ใช่เพราะเก่งมากหรือดีที่สุด อาทย้ำกับเราแบบนั้น แต่ด้วยวิธีคิดแบบไม่มีข้อแม้และไม่ยึดติดที่ทำให้เขาผันตัวจากการกราฟิกดีไซเนอร์ที่ทำงานในวงการโฆษณากว่า 20 ปี มาเป็นศิลปินที่มีงานนิทรรศการของตัวเองได้ในบางครั้งคราว ทำให้ตอนนี้เขามีถึง 3 บทบาท คือกราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ และศิลปิน 

“ว่ากันจริงๆ เราไม่ได้เป็นคนเก่งนะ งานดีไซน์เราก็ไม่ได้เก่งกาจ งานศิลปะเราก็ไม่ได้อื้อหืออะไรมาก แต่ว่าก็มีมาตรฐานระดับหนึ่ง เราแค่เป็นคนทำงานหนักเพื่อให้มันออกมาดีที่สุด ก่อนที่จะส่งโลโก้สักแบบให้ลูกค้าดู เราแค่ขยันมาก คิดมาก และงานของเราถ้าคนชอบก็ชอบเลย ไม่ชอบก็ไม่ชอบ แต่เราไม่เคยจำกัดตัวเอง วันหนึ่งอาจจะมีคนให้เราทำมิวสิกวิดีโอก็ได้ ถ้าเราคิดมาดีแล้วว่าทำได้ เราก็ทำ เท่านั้นเอง แล้วมันจะสนุก เราจะมีความสุขในการทำงาน”

05

ดีไซเนอร์ของโลก

การเป็นนักออกแบบที่มีโอกาสไปสัมผัสประเทศที่ใส่ดีไซน์ไปในทุกสิ่งอย่างแบบประเทศญี่ปุ่น เปลี่ยนมุมมองของเขาในหลายๆ เรื่อง มันหล่อหลอมให้เขาเข้าใจกระบวนการทางความคิดในอีกแบบหนึ่ง และส่งผลต่อกระบวนการคิดและการทำงานของเขา

“มันบันดาลใจเราทุกครั้งที่ไปเลยนะ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีดีไซน์เกือบทุกอย่าง อินทีเรียดีไซน์ในบ้าน ในห้องน้ำ ในซิงก์ ในของใช้ร้านร้อยเยน ในขนม ในบรรจุภัณฑ์ ในการนั่งรถไฟ เหมือนเราเปิดหนังสือดีไซน์ดูตลอดเวลา เราชอบ มันเปลี่ยนวิธีการทำงานเรา เราชัดเจนขึ้น และคิดรอบคอบมากขึ้น

“คนญี่ปุ่นที่มาดูงานเราก็สอนอะไรเราหลายอย่างเหมือนกัน อย่างเวลาไปแสดงงานที่เป็นตัวคาแรกเตอร์ เคยมีเด็กมาชวนคุยว่า ‘ทำไมนายทำตัวนี้เป็นสีเหลือง ผมชอบสีเหลืองนะ แต่ถ้าเป็นฟ้าจะหมายถึงอย่างนี้ใช่ไหม แล้วถ้าตัวสีแดงล่ะ…’ เขาจินตนาการไปไกลกว่าที่จะมาถามว่าเราวาดรูปนี้ทำไม เขาโตมากับวิธีคิดแบบนั้น แต่เราไม่ได้เอามาเปรียบเทียบกับคนไทย ไม่ได้บอกว่าใครดีกว่าใคร อย่างอาหารไทยกับอาหารญี่ปุ่นเราเปรียบเทียบกันไม่ได้ ต่างคนต่างมีดี เราจะไปซึมซับสิ่งที่เราขาด และเราก็จะเอาความเป็นไทยที่มีไปเติม โดยไม่ได้บอกว่าเราเป็นดีไซเนอร์ไทยหรือพยายามจะเป็นดีไซเนอร์ญี่ปุ่น เราแค่พยายามเป็นดีไซเนอร์ของโลกใบนี้”

เพราะจริงๆ งานดีไซน์ควรจะเป็นสากลอยู่แล้ว

“ใช่ เพราะมันคือการสื่อสารกับมนุษย์ ซึ่งหมายถึงทุกๆ คน ไอ้สิ่งที่เราออกแบบไม่ได้ให้คนไทยดูอย่างเดียวนี่ เราให้ฝรั่งดูด้วย ให้คนเวเนซูเอลาดูด้วย ให้คนซิมบับเวดูด้วย ถ้าคิดแบบนี้ ความคิดเปรียบเทียบจะไม่เกิดขึ้น”

โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ประชาธิป’ไทย กำกับโดยเป็นเอก รัตนเรือง

06

try2benice

try2benice สำหรับเขาคือความเป็นมิตร คือความรู้สึก คือการลดช่องว่างระหว่างงานดีไซน์กับคนดูให้ใกล้กันมากขึ้น เขาอยากให้คนมีอารมณ์ร่วมกับงานดีไซน์ รู้สึกถึงมันได้ จะชอบก็ได้ จะเกลียดก็ได้ เขาอยากให้กราฟิกดีไซน์เป็นส่วนหนึ่งของคนไทย

“ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราอยากจะจะลดช่องว่างระหว่างคนกับงานดีไซน์ คนกับงานออกแบบ คนกับคาแรกเตอร์ดีไซน์ คนกับกราฟิกดีไซน์ เราอยากจะลดช่องว่างตรงที่พอพูดถึงงานดีไซน์ปุ๊บแล้ว โอ้โห ดูไกลตัวเหลือเกิน เราอยากให้วันหนึ่งคุณถือถุงช้อปปิ้งก็รู้ว่า เนี่ย งานดีไซน์ คุณใช้บัตร BTS บัตร MRT นั่นแหละงานดีไซน์ อยากให้เขาวิจารณ์บัตร BTS บัตร MRT ออกมา มากกว่าจะเฉยๆ ยอมจำนน และยอมใช้ไปจะได้จบๆ”

อาทมองงานออกแบบว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและธุรกิจ การออกแบบเท่ากับการสื่อสาร ถ้าลองเข้าไปดูเพจของเขา จะพบคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการออกแบบเพื่อผลิตภัณฑ์มากมาย นั่นเป็นเพราะงานดีไซน์มีผลต่อความรู้สึกของผู้ซื้อมาก เขาอยากให้เจ้าของผลิตภัณฑ์สนใจในการออกแบบ และใส่ใจกับประสบการณ์ทุกวินาทีของผู้บริโภคเมื่อต้องใช้สินค้านั้นให้มากขึ้น อยากให้เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น มากกว่าการเอาแต่ใจตัวเอง และพูดแต่ในสิ่งที่อยากพูด โดยไม่สนใจว่าจะมีใครสนใจจะฟังหรือไม่

“เมื่อก่อนเราสนใจดีไซน์ในแง่ที่ว่ามันต้องอิมแพค เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่นั้น งานออกแบบในวันนี้ต้องดี อิมแพค และต้องขายด้วย Commercial กับ Art ต้องไปด้วยกัน และเรื่องขายนี่มันอยู่ในสัญชาตญาณของเราอยู่แล้ว เราทำโฆษณามานาน ทุกวันนี้ try2benice ทำงานกราฟิกดีไซน์ด้วยกระบวนการคิดของการทำโฆษณา และเรายังเป็นที่ปรึกษาให้ลูกค้าในเรื่องการสร้างแบรนด์ เรื่อง Design Strategy ลูกค้าที่มาหาเราจึงไม่ได้แค่งานออกแบบไปอย่างเดียว”

ยังจำเรื่องจิตวิทยาที่เขาเรียนตอนมหาวิทยาลัยได้ไหม แนวคิดแบบนั้นกลับมาอีกครั้งตอนทำงาน และยังจำเป็นมาตลอด สิ่งที่ try2benice สนใจมากในวันนี้ คือพฤติกรรมของผู้บริโภคและปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ

“อย่างเราสนใจอะไร” เขาถาม

“เบียร์ครับ” ช่างภาพที่ไปด้วยกันตอบ

“สมมติเราพานายไปกินเบียร์ มันไม่ใช่เรื่องของเหตุผลแล้วนะ เป็นอารมณ์ล้วนๆ ใช่มั้ย พอพูดถึงเบียร์ น้ำลายมารอแล้วใช่เปล่า นี่คือจุดที่เราสนใจ เพราะนายจะข้ามเรื่องที่ว่าเบียร์แก้วเท่าไหร่ ตรงนี้แหละมันเป็นจุดอ่อนของคน สมมติ โห… กระเป๋าใบนี้มันสุดยอด มีลายสนูปี้ที่ฉันชอบ เราพร้อมจะจ่ายตังค์เลย เรากำลังสนใจความรู้สึกตรงนี้ หรือจุดตายตรงนี้ของมนุษย์ สนใจวินาทีแรกของการ Fall in Love ของคนที่ตัดสินใจซื้อ 

“เหมือนเรื่องตลาดคาวาอี้ที่ในเมืองไทยไม่มีใครทำ ทั้งๆ ที่คนไทยพร้อมจะจ่ายเงินให้ความน่ารักพวกนั้น ในเมื่อตลาดตรงนี้มีมูลค่ามหาศาลมาก คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น คนไทยไปเที่ยวเกาหลี โอ้โห จ่ายให้ทุกความคาวาอี้ เป็นพัน เป็นหมื่น เราพูดถึงเรื่องนี้บ่อยมาก เพราะเรากำลังสนใจตรงนี้อยู่”

เราถามเขาตรงๆ ก่อนแยกกันว่า ในฐานะคนที่ศึกษาพฤติกรรมคนในเรื่องนี้ เขายังตกเป็นเหยื่อของสิ่งเหล่านั้นเวลาไปซื้อของอยู่หรือเปล่า

“ยังเป็นอยู่ๆ จุดตายเราคือ Sneaker เพราะเราก็ต้องพยายามศึกษาจากตัวเองด้วย ถ้าเรากำลังเรียนปริญญาเอก เราคงกำลังทำธีสิสเรื่องนี้อยู่แน่ๆ เรื่องจุดอ่อนมนุษย์ เพื่อเอางานดีไซน์ไปอุดช่องโหว่ เราสนใจจิตวิทยาของการเอื้อมมือหยิบของมาจ่ายตังค์ การตกอยู่ในภวังค์ และความรู้สึกเวลาที่กลับบ้านนอนแล้วถามตัวเองว่าทำไมเราไม่ซื้อมา”

เรากลับบ้านคืนวันนั้น นึกเสียดายที่ไม่ได้ซื้อถุงผ้าลดโลกร้อนลายหมาที่เจอเมื่อตอนกลางวัน เหมือนเรื่องที่อาทพูดเกี่ยวกับงานดีไซน์และพฤติกรรมของคนไม่มีผิดเพี้ยน

ใช่ จุดอ่อนของเราคือ หมา

try2benice กราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มไทยผู้อยากและลองเป็นศิลปินจนได้จัดนิทรรศการในญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง

นิทรรศการ ナイス nice เป็นการแสดงงานครั้งที่ 3 ในประเทศญี่ปุ่นของ try2benice รวบรวมภาพประกอบที่เปรียบเสมือนไดอารี่ที่ไม่มีตัวหนังสือ แต่เล่าเรื่องราวผ่านเป็นคาแรกเตอร์ สิ่งของ การใช้สี ใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นตอนนี้ ไปดูงานของเขาได้ที่ d-labo Annex 3F Gofukucho Japan ตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 กันยายน 2562

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน