พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า ‘กาก’ ไว้ 3 ความหมาย ได้แก่ สิ่งที่เหลือเมื่อคั้นหรือคัดเอาส่วนดีออกแล้ว หยากเหยื่อ หรือเดน ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้เป็นคำดูถูกคนที่ทำตัวไม่ค่อยเป็นประโยชน์ ไม่ได้เรื่อง

แต่ถ้าเพิ่มคำว่า ‘ภาพ’ ไว้ข้างหน้ากลายเป็นคำว่า ‘ภาพกาก’ ความหมายจะเปลี่ยนไปทันที ไม่ได้แปลว่าภาพที่ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด แต่หมายถึงภาพเขียนตัวประกอบของเรื่อง ที่แม้จะไม่ใช่ตัวเอก ไม่ใช่ตัวละครหลัก ไม่ได้ส่งผลต่อเนื้อเรื่องสักเท่าไหร่ แต่การมีภาพเหล่านี้อยู่ในฉากก็ช่วยให้ฉากนั้นมีความสมบูรณ์ มีชีวิตชีวามากขึ้น และช่วยให้ภาพนั้นน่าดูมากขึ้นไปด้วย

และภาพกากไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นนะครับ มีมานานควบคู่ไปกับภาพเล่าเรื่องเลยครับผม แถมยังมีพัฒนาการในตัวควบคู่ไปกับภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วย เพราะภาพกากที่เป็นตัวประกอบของเรื่องนั้นถือเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญมากของสังคมสมัยก่อน ในยุคสมัยที่ไม่มีภาพถ่ายว่าผู้คนใช้ชีวิตอย่างไร แต่งตัวแบบไหน บ้านเรือนหน้าตาเป็นอย่างไร หรือแม้แต่แทรกมุกตลก มุมขำขัน ท่าทางการแสดงออกที่ใช้กับตัวเอกไม่ได้ (ถูกบังคับว่าต้องเป็นนาฏลักษณ์) ก็จะถูกนำมาใช้กับภาพกากเหล่านี้ แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบัน ภาพกากก็ยังคงทำหน้าที่เดิม ทั้งเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับภาพ สะท้อนสังคมและแทรกมุกตลกเข้าไป แม้จะมีคนขำบ้าง ไม่ขำบ้าง เห็นบ้าง ไม่เห็นบ้างก็ตาม

ส่วนวิธีสังเกตภาพกากก็ง่ายมากครับ ขั้นแรกมองหาภาพหลัก ภาพสำคัญของเนื้อเรื่อง จากนั้นมองข้ามภาพเหล่านั้นไป แล้วมองไปยังสิ่งที่อยู่รอบๆ คุณก็จะพบภาพกากที่มาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งภาพกากในสมัยก่อนกับภาพกากในปัจจุบันมีความแตกต่างกันเยอะแค่ไหน เราลองมาให้ภาพมันเล่าเรื่องกันดีกว่าครับ 

ในระยะแรกภาพกากยังมีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะหลักฐานที่เหลือมาจนถึงปัจจุบันไม่ได้มากด้วย อีกส่วนเพราะงานจิตรกรรมหรือภาพเล่าเรื่องในช่วงนี้เน้นตัวละครเอกเป็นสำคัญ ดังนั้นภาพกากจึงยังมีน้อยและไม่หลากหลายมากนัก เช่น ฉากพระพุทธเจ้าทรมานช้างนาฬาคีรี วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี 

เราจะเห็นว่าฉากหลักของเรื่องนี้คือฉากที่พระพุทธเจ้าปราบช้างนาฬาคีรีที่อยู่ด้านบน ส่วนฉากข้างล่างที่เป็นภาพชาวต่างชาติแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์นั้นไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับภาพเลย แต่ช่างโบราณก็ยังวาดภาพนี้เอาไว้ เพื่อเติมเต็มฉากตลาดที่เป็นที่เกิดเหตุให้มีความสมบูรณ์และไม่ปล่อยที่ว่างไว้อย่างเปล่าประโยชน์ แถมยังบอกเล่าเรื่องราวในสมัยอยุธยาที่มีบาทหลวงชาวตะวันตกบางคนพยายามแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ในศาสนาพุทธเพื่อเผยแผ่ศาสนาของตนเองด้วย

ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ภาพกากเองก็เปลี่ยนตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของภาพกากเลยก็ว่าได้ เพราะภาพกากในช่วงเวลานี้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก และจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ยังมาพร้อมกับคุณภาพที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะมีความสมจริงมากขึ้น ทั้งท่าทาง การแต่งกาย และที่สำคัญที่สุดก็คือ การแสดงอารมณ์ของตัวละครที่มีอิสระมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แถมยิ่งเวลาผ่านไป ภาพกากก็ยิ่งสมจริงขึ้น บางทีฮามากขึ้นด้วย พูดแล้วไม่เห็นภาพ เราไปชมภาพกันกันดีกว่าครับ

ฉากมโหสถชาดก ตอนสงคราม 101 ทัพ จากวัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร ตัวละครเอกในซีนนี้มีแค่พระมโหสถกำลังกดบ่าเกวัฏพราหมณ์ตรงกลางฉากเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่ากลับเป็นภาพกากที่อยู่รอบๆ สองตัวละครเอกนี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพสองฝ่ายที่ตะลุมบอนกันอยู่ด้านล่างชนิดใส่สุดตัว หรือคนในกองทัพฝั่งมโหสถที่ยืนขำอยู่คนเดียวในขณะที่คนอื่นยืนดูเหตุการณ์อยู่เฉยๆ รวมถึงทหารรับจ้างชาวเปอร์เซียที่ร่วมมาในกองทัพ สะท้อนให้เห็นภาพการติดต่อกับชาวต่างชาติในช่วงระยะเวลานั้นด้วย

ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร

แถมให้อีกสักซีนแล้วกัน คราวนี้เป็นฉากยอดฮิตอย่างมารผจญ ซึ่งมีตัวละครหลักก็คือพระพุทธเจ้าที่ประทับใต้ต้นโพธิ์ มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมและกองทัพพญามารทั้งสองฝั่ง โดยฝั่งหนึ่งจะเป็นฝั่งบุก แต่อีกฝั่งเป็นฝั่งแพ้ 

ทีนี้ เรามองข้ามตัวเอกทั้งหมดไปแล้วลองมองไปที่กองทัพพญามารดู นอกจากทหารมารที่เป็นยักษ์แล้ว จะเห็นว่ามีชาวต่างชาติปะปนมาในกองทัพมารด้วย บ้างเป็นยุโรป บ้างเป็นอาหรับ ขนาดคนจีนยังมีเลย ซึ่งสิ่งนี้บอกให้เรารู้ว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติจากประเทศไหน เราเคยมองคนเหล่านี้เป็นมารทั้งนั้น 

แต่ฝั่งที่ถือว่ารวมภาพกากสายฮาไว้ ผมขอยกให้ฝั่งมารแพ้เลยครับ เพราะเราเห็นภาพสัตว์น้ำไล่กินกองทัพมารจนเห็นสิ่งที่ไม่ควรเห็น เห็นกองทัพมารที่นั่งก๊งเหล้ากันอย่างสบายใจชนิดไม่กลัวน้ำท่วม หรือแม้แต่ผีทะเลที่แอบมาเนียนกับกองทัพมารด้วยก็มี 

ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
วัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี
ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี
ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
วัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี

หรือจะเป็นภาพกากสุดฮิตอย่างภาพการเสพสังวาสที่มักจะเนียนอยู่ตรงนั้นที ตรงนี้ที เป็นซีนเล็กๆ ที่มักจะแอบอยู่ตามฉากแบบเนียนๆ จนถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็อาจจะไม่เห็น ขอบอกไว้เลยว่าการเสพสังวาสในงานจิตรกรรมไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่สัตว์เองก็มีเหมือนกันนะเออ ซึ่งช่างโบราณไม่ได้วาดภาพเหล่านี้เพื่อเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาพุทธแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของมนุษย์เท่านั้นเอง 

ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
วัดบางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร
ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง

พอเข้าสู่ยุคปัจจุบัน หลายวัดยังคงเลือกวาดภาพกากแบบดั้งเดิม แต่เราจะพบว่ามีภาพกากแบบใหม่ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นในยุคนี้ ซึ่งบางภาพนี่เรียกได้ว่าร่วมสมัยสุดๆ ก้าวข้ามขีดจำกัดแบบโบราณไปอีกขั้นหนึ่งเลย ไม่ว่าจะเป็นวัดสำปะซิว จังหวัดสุพรรณบุรี ที่แทรกทั้ง Doraemon, BEN10 หรือ Angry Birds เอาไว้บนฝาผนัง หรือวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่มีทั้งตัวการ์ตูน ตัวเอกจากภาพยนตร์หลากหลายเรื่อง ไม่เว้นแต่วัดไลย์ จังหวัดลพบุรี ที่บรรจุภาพเหมือนบุคคลจำนวนหนึ่งลงไปในกระทะทองแดง ซึ่งใครเป็นใครลองพินิจกันดูครับ 

หรือถ้าจะเอาเรื่องที่กลายเป็นกระแสล่าสุดอย่างสิตางค์ส้มหยุดที่วัดหนองเต่า จังหวัดอุทัยธานี ก็ใช่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคสมัยของเราทั้งสิ้น ซึ่งในอนาคตภาพเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งบันทึกและเครื่องยืนยันการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ในยุคสมัยของเราได้ด้วยครับ

ภาพ : www.painaidii.com
ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
ภาพ : www.painaidii.com
ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
ภาพ : www.painaidii.com
ภาพกาก หาใช่การดูหมิ่นศาสนา แต่เป็นวิธีเล่าชีวิตจริงผู้คนของช่างโบราณในยุคไร้กล้อง
ภาพ : www.komchadluek.net

เราจะเห็นว่าภาพกากเหล่านี้แทบจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่มีควบคู่กับจิตรกรรมฝาผนังมาแต่ไหนแต่ไร มีมากบ้าง น้อยบ้าง ดูสมจริงบ้าง ดูเฮฮาบ้าง เป็นภาพเล็กๆ ที่ไม่สลักสำคัญอะไร แต่ก็ช่วยเติมเต็มภาพให้สมบูรณ์สมจริงยิ่งขึ้น ดังนั้น ถ้าเรามองแบบขำๆ ภาพเหล่านี้ก็เป็นแค่มุมขำขันบนฝาผนังเท่านั้นเอง อย่าไปซีเรียสหรือโกรธเกลียดอะไรขนาดนั้นเลยครับ ภาพพวกนี้ไม่ได้ใหญ่โตจนไปบดบังฉากสำคัญของฝาผนัง แถมบางครั้งยังกลายเป็นจุดสนใจ จุดเด่นใหม่ ของวัดที่ดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่เข้าวัดกันเสียด้วยซ้ำ 

ผมคงได้แต่หวังลึกๆให้ดราม่าบนฝาผนังนี้เป็นดราม่าสุดท้าย และขอให้คนเสพข่าวหรือเสพงานศิลป์เข้าใจในเรื่องนี้ หรือถ้าจะวิจารณ์ก็ขอให้วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่สาดอารมณ์ใส่กันเลยนะครับ


เกร็ดแถมท้าย

  1. ถ้าใครรู้สึกว่า ภาพกากที่ผมยกตัวอย่างดูธรรมดาไป ดูคล้ายๆ กันหมด ผมขอแนะนำให้ลองไปชมจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านดูครับ ไม่ว่าจะพื้นบ้านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ยิ่งฝีมือช่างเป็นพื้นบ้านมากขึ้นเท่าไหร่ ภาพจะยิ่งมีความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น แปลกตามากขึ้น บางที่อาจจะเรียกว่าพีกมากขึ้นด้วย ลองไปชมดูครับ
  2. หรือถ้าใครมีภาพกากพีคๆ ลองแชร์ ลองแบ่งปันกันในโพสต์ของ The Cloud ดูก็ได้นะครับ 
  3. ส่วนถ้าใครอยากจะรู้เนื้อหาในงานจิตรกรรมฝาผนัง อ่านได้ในบทความเรื่องทริกในงานดูจิตรกรรมฝาผนังที่ผมเคยเขียนไว้ได้เลยครับผม

Writer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ