สุพิชา เทศดรุณ เป็นหัวหน้าวงและนักร้องนำวงดนตรีป๊อปร็อกที่มีสตูดิโออยู่ที่เชียงใหม่ – คณะสุเทพการบันเทิง 

ชายอายุ 40 เศษ ผมยาว สวมแต่กางเกงยีน และมักถอดเสื้อเล่นคอนเสิร์ตแทบทุกครั้งที่บรรยากาศในการแสดงได้ที่ผู้นี้ เป็นที่รู้จักของนักฟังเพลงส่วนใหญ่ในนาม ‘ชา ฮาโม

‘ฮาโม’ ไม่ใช่ชื่อแก๊งหรือชื่อสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตใด ๆ หากเป็นชื่อย่อของ ฮาร์โมนิก้า ซันไรส์ (Harmonica Sunrise) วงร็อกที่เคยวาดลวดลายจัดจ้านในซีนดนตรีเชียงใหม่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน 

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

ทุกวันนี้วงดนตรีวงนี้ไม่มีแล้ว แต่ทุกคนก็ยังเรียกเขาด้วยชื่อเล่นต่อท้ายด้วยชื่อย่อวงดนตรีวงเก่า – ชา ฮาโม

ชา ฮาโม เริ่มต้นคณะสุเทพการบันเทิงเมื่อ พ.ศ. 2561 ปัจจุบันมีสมาชิก 8 คน ออกอัลบั้มมาแล้ว 2 อัลบั้ม อัลบั้มแรกของวงมีชื่อว่า ‘ชุดรวมฮิต’ 

ใช่ แค่อัลบั้มแรก พวกเขาก็มีเพลงฮิตที่รวมเป็นอัลบั้มได้เลย 

คณะสุเทพฯ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังจากบทเพลงฟังสบาย ติดหู และชวนให้ลุกขึ้นเต้น ส่วนผสมระหว่างดนตรีป๊อปร็อก ลูกกรุง สามช่า และลูกทุ่งคลาสสิก เนื้อหาครอบคลุมความรักหลากมิติ การตกหลุมรัก ความคิดถึงคนไกล และการหวนไห้ถึงอดีต เพลงส่วนใหญ่มีมุมมองในแง่บวกและมีอารมณ์ขัน กระทั่งเพลงรักที่ไม่สมหวังก็ยังทำให้คนฟังยิ้มได้ 

ชาผู้เป็นคนเขียนเนื้อเพลงเกือบทั้งหมดของวง บอกเราว่าแต่ไหนแต่ไร เขาไม่เคยคิดจะเป็นศิลปินที่ทำอัลบั้มเพลงของตัวเองมาก่อน (เขาเรียนมาทางวิศวกรรมศาสตร์ เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ติวเตอร์สอนเลขและฟิสิกส์) เขาแค่ชอบฟังและเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ช่วงมัธยมปลาย ขณะเรียนที่โรงเรียนนครสวรรค์ เขาเคยตั้งวงดนตรีกับเพื่อนเพื่อไปประกวดดนตรีงานหนึ่ง ในรอบสุดท้าย เขาลองนำเพลงที่เพื่อนแต่งขึ้นมาแสดงให้คณะกรรมการฟัง ผลปรากฏว่าวงดนตรีของเขาตกรอบ

ชาไม่ได้เจ็บปวดจากการพลาดหวังครั้งนั้น แต่ที่ไม่เข้าใจคือ หลังจากลงเวที คุณครูโรงเรียนเขาเข้ามาพูดในเชิงตำหนิว่า ใครใช้ให้เอาเพลงตัวเองไปประกวดกัน 

ซึ่งนั่นล่ะ เขาไม่เข้าใจว่าทำไมวงดนตรีสักวงจะนำเพลงที่ตัวเองแต่งมาประกวดไม่ได้

“ผมว่ามันอาจเป็นปมหนึ่งในใจนะ พอย้อนกลับมาคิดเรื่องนี้ และมองสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ตอนนี้ มันก็เชื่อมโยงกันพอดี” 

ชาไม่ได้กำลังพูดถึงการทำเพลงกับคณะสุเทพการบันเทิง หากแต่เป็นโปรเจกต์ Chiang Mai Original โครงการที่เขาก่อตั้ง ด้วยหวังผลักดันศิลปินเชียงใหม่ที่ทำเพลงของตัวเองให้มีที่ยืนในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืนในเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ 

“ผมเริ่มเล่นดนตรีกลางคืนด้วยการคัฟเวอร์เพลงของศิลปินคนอื่น จนมาถึงจุดที่หันมาทำเพลงของตัวเอง และพบว่ามีศิลปินเชียงใหม่ไม่น้อยที่แม้หลายวงประสบความสำเร็จ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ยังไม่ถูกสปอตไลต์ส่อง กระทั่งยังไม่เป็นที่รู้จักของคนเชียงใหม่ด้วยซ้ำ ทั้งที่เพลงของพวกเขาดีมากเลยนะ” ชาเล่า

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

“พอเห็นแบบนี้ ผมก็เลยคิดว่าด้วยศักยภาพที่เมืองเรามี ผมอาจเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ทำให้วงดนตรีเชียงใหม่มีพื้นที่ทางธุรกิจของตัวเองได้”

นั่นล่ะ ไม่อ้อมค้อม บทความนี้ นอกจากเราจะคุยกับสุพิชาถึงชีวิตและเส้นทางดนตรีที่ผ่านมา คุยถึงแผนการที่จะทำให้เพื่อนร่วมอาชีพทำในสิ่งที่พวกเขารักได้ต่อไปได้ โดยหาใช่แค่ทำเพราะเป็นงานอดิเรกหรือแพสชันส่วนตัว ชากำลังพูดถึง ‘อาชีพศิลปิน’ ในเชียงใหม่ ความพยายามทำให้บทเพลงของคนเชียงใหม่กลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิต รวมถึงเข้าถึงหูคนฟังทั้งประเทศ ผ่าน Chiang Mai Original 

ผมนัดพบชาที่บ้านของเขาในซอยเล็ก ๆ บนถนนเลียบคลองชลประทาน ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บ้าน 1 ชั้น มีสวนด้านข้างและมีลานจอดเครื่องบิน… ของท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ อยู่ห่างจากหลังบ้านไม่ไกล บ้านหลังนี้เป็นทั้งสตูดิโอ ห้องซ้อม และห้องประชุมของคณะสุเทพการบันเทิง 

เนื่องจากผมคุ้นเคยกับชายผู้นี้อยู่บ้างแล้ว ทั้งในฐานะแฟนเพลงที่เคยไปชมคอนเสิร์ต รวมถึงเคยเรียนมัธยมที่นครสวรรค์เหมือนกัน การเริ่มต้นสนทนาจึงไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก โดยเราใช้ 1 ชั่วโมงแรกด้วยกันกับการให้เขาย้อนรำลึกถึงชีวิตที่นั่น 

“บางคนเข้าใจว่าผมเป็นคนชัยนาท จากเพลง ชัยนาทแดนสวรรค์ ที่ผมเขียน แต่จริง ๆ ผมเกิดและโตที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พ่อเคยเป็นทหารอากาศ ทำงานในยุคที่ GI มาตั้งฐานทัพที่ตาคลี ส่วนที่เขียนถึงชัยนาท นั่นเป็นบ้านที่แม่และพี่ชายเปิดร้านอาหารด้วยกัน ทุกวันนี้ถ้าผมกลับบ้านก็จะกลับชัยนาท ไม่มีใครอยู่ตาคลีแล้ว” ชาเล่า

ความที่พ่อเป็นทหารอากาศ ทำงานกับ GI บ้านของเขาจึงคลอไปด้วยเสียงเพลงจากตะวันตก ทั้ง Elvis Presley, Nat King Cole, The Shadow เป็นอาทิ ประกอบกับรสนิยมส่วนตัวของพ่อที่ชอบฟังเพลงไทยนิยมในยุคนั้น สุเทพ วงศ์กำแหง, สุนทราภรณ์, ชรินทร์ นันทนาคร รวมถึงเพลงลูกทุ่งของ ยอดรัก สลักใจ, พุ่มพวง ดวงจันทร์ และอื่น ๆ เหล่านี้คือพื้นเพสำคัญต่อการเขียนและสร้างสรรค์เพลงของเขาในปัจจุบัน

“ไม่ใช่แค่ผม พี่ชายก็ด้วย พอพี่ขึ้นมัธยมปลาย เขาเริ่มเล่นดนตรีกลางคืนหาเงิน เล่นมาเป็น 10 กว่าปี ผมก็ได้อิทธิพลการฟังเพลงป๊อปไทยจากพี่เยอะ ฟรุตตี้ เรนโบว์ จนถึง คาราวาน และคาราบาว ต่อมาถึงยุคผมก็เป็นนูโว ไมโคร หินเหล็กไฟ พวกนี้เก็บเงินซื้อเทปเองสมัยเรียนมัธยม” ชากล่าว

แม้ Reference ทางดนตรีจะเพียบขนาดนั้น แต่เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่สุพิชาในวัยเด็กเล่น กลับเป็น กลองแขก…

เดี๋ยวนะ กลองแขกมายังไง

สมัยมัธยมต้น ผมเรียนโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ เป็นเด็กเรียนดี เรียนอยู่ห้องคิง ยุคนั้น ถ้าคุณเป็นเด็กห้องคิง ถึงชอบเล่นดนตรีแค่ไหน ครูก็ไม่สนับสนุนให้เล่นหรอก เขาสนับสนุนให้เด็กที่ไม่เก่งด้านวิชาการไปเข้าวงดุริยางค์ ผมอิจฉาพวกนั้นชะมัด กระทั่งขึ้น ม.2 ครูสิทธิชัย พรหมประสิทธิ์ เขากลับมาฟื้นฟูชมรมดนตรีไทย ทีนี้เขาประกาศรับสมัครเด็กเข้าชมรม โดยไม่สนว่าเรียนเก่งไม่เก่ง ผมก็เลยสมัคร 

ความที่เราไปสมัครช้ากว่าเพื่อน พวกเครื่องดนตรีเท่ ๆ มีคนจองหมดแล้ว เหลือแต่กลองแขก เอาก็เอาวะ เลยได้เข้าสู่โลกดนตรีครั้งแรกจากการเล่นกลองแขก

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

นั่นคือการเล่นดนตรีครั้งแรกเลย

ใช่ ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนฟังเพลงอย่างเดียว ไม่มีทักษะการเล่นมาก่อน แค่รู้ว่าเราเคาะตามจังหวะได้และร้องเพลงเสียงไม่เพี้ยน ก็เริ่มฝึกเล่นดนตรีจากเพลงไทยเดิม จากกลองแขกก็ไปเล่นขลุ่ย เล่นระนาด พอขึ้น ม.3 พ่อเห็นว่าผมชอบเล่นดนตรี แกเลยซื้อคีย์บอร์ดให้ ก็ค่อย ๆ ขยับมาเล่นดนตรีสากลตามสมัยนิยมแบบวัยรุ่นยุคนั้น

แล้วเริ่มทำวงดนตรีกับเพื่อนตอนไหน 

ช่วง ม.ปลาย ผมเรียนที่โรงเรียนนครสวรรค์ เป็นเด็กสายวิทย์ เพื่อนเป็นเด็กเรียนกันหมด แต่โชคดีที่ได้เจอ กุ๊ก กับ ไนท์ สองคนนี้ชอบฟังเพลงเหมือนกัน เลยสนิทกันเร็ว ช่วง ม.4 ราว ๆ พ.ศ. 2537 Bakery Music เพิ่งตั้งค่ายเพลง และ Modern Dog มาแรงมาก ๆ ผมอยากเป็นแบบพวกพี่เขาบ้าง เลยชวนพวกมันตั้งวง ผมเล่นกีตาร์ ไนท์เล่นเบส กุ๊กตีกลอง เราเปิดหนังสือที่สอนเล่นดนตรีและจับคอร์ดตามเลย เล่นก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ไป พอเพื่อนคนอื่นในห้องรู้ก็ชวนกันรวมเงินเช่าห้องซ้อมให้พวกเรา จะได้เล่นในห้องซ้อมกัน พวกคนที่ออมเงินก็ผลัดกันร้องนำ เหมือนไปเที่ยวคาราโอเกะ แต่เป็นวงผมเล่นทำนองให้     

มีชื่อวงไหม

‘Le Blanc’ ไนท์เป็นคนตั้ง ไนท์ชอบดูฟุตบอล แล้วไปเห็นพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ฟุตบอลด้วยคำนี้ ผมก็ถามว่าแปลว่าอะไรวะ ไนท์บอกว่าเป็นสแลง แปลว่าไอ้พวกคนไม่ดี อะไรทำนองนี้

ผมก็เออ เป็นมงคลดีเว้ย 

มีอยู่ครั้งหนึ่ง วงของเราไปร่วมประกวดงานดนตรีต้านยาเสพติดอะไรสักอย่าง เราเอาเพลงตัวเองไปประกวด พอลงจากเวที ครูที่พาเรามาประกวดก็มาบ่นว่าทำไมเอาเพลงตัวเองไปประกวด เล่นไปก็ไม่มีใครรู้จัก ผมสงสัยมากว่าทำไมถึงทำไม่ได้ล่ะ ปรากฏว่าหลังจากนั้นก็มีวงดนตรีวงอื่นที่เขาเล่นเก่งกว่าเรา เดินมาหา บอกว่า เฮ้ย! พวกนายแต่งเพลงเองได้ด้วยหรอวะ โคตรเจ๋งเลย ซึ่งคุณนึกออกไหม สมัยนั้นวงผมนี่เด็กเนิร์ดมากเลยนะ แต่เจอพวกเด็กห้องท้าย ๆ ที่ดูเกเรแต่เล่นดนตรีอย่างเก่ง มาบอกว่าเราโคตรเจ๋ง มันทำให้ผมคิดว่า เออ การเล่นเพลงตัวเองนี่มันไม่ธรรมดานะ 

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

นั่นเป็นเพลงแรกที่คุณแต่งเลยหรือเปล่า

ไม่ เพลงนั้นเพื่อนสักคนในห้องแต่ง ชื่ออะไรผมก็จำไม่ได้แล้ว ผมไม่ได้เขียนเพลงเองเลยจนหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เพลงแรกที่ทำในนามวง Harmonica Sunrise ก็เป็นเพลงที่พี่ชายผม (ปิยะ เทศดรุณ) เขียนสมัยก่อน ชื่อเพลงว่า เหงา พี่ผมอัดเทปไว้ง่าย ๆ แล้วพอเริ่มวง ผมก็ไปขอเพลงนี้เขามา

ย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยม ตอนนั้นคิดถึงการเรียนต่อด้านดนตรีบ้างไหม

ไม่เลย เพื่อนร่วมห้องผมถ้าไม่ไปเรียนหมอก็วิศวฯ เหมือนถูกโปรแกรมมาแล้วว่าเด็กห้องคิงต้องเรียนต่อด้านนี้ ผมชอบดนตรีมาก ๆ แต่ก็เรียนฟิสิกส์และเลขได้ดี เลยเลือกเรียนวิศวฯ แต่ก็ตลกดี ตอนนั้นผมคลั่งไคล้ Modern Dog มาก และรู้ว่าพวกพี่เขาเรียนจุฬาฯ กัน เลยมุ่งมั่นว่า งั้นเราเอ็นทรานซ์เข้าวิศวฯ จุฬาฯ ดีกว่า

แต่คุณเรียนวิศวฯ มช.

เรื่องนี้เล่ายาวหน่อยนะ

ขอสั้น ๆ ก็ได้

จริง ๆ จะยื่นคะแนนจุฬาฯ แล้ว แต่สอบได้โควตา มช. ก่อน พอช่วงใกล้สอบเอ็นทรานซ์ ผมไปติวที่กรุงเทพฯ ด้วยความขี้เกียจหรืออะไรไม่รู้ สุดท้ายก็โทรบอกแม่ว่า ไม่สอบแล้วนะ เอาที่ มช. แล้วกัน ง่าย ๆ แค่นั้นเลย พี่ปงพี่ป๊อดกูไปไหนหมดแล้ววะ (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยพอเข้ามาเรียน มช. ผมมารู้ทีหลัง พี่ป๊อบ มือกีตาร์วงหินเหล็กไฟก็เรียนจบวิศวฯ มช. ผมก็ว่า เออดีเว้ย ไม่ใช่พี่ป๊อดยังมีพี่ป๊อบ อย่างน้อยไอดอลของเราอีกคนยังเรียนที่นี่ หาอะไรเชื่อมโยงไปเรื่อย

ว่าไปแล้ว นักดนตรียุคนั้นมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตผมไม่น้อย อย่างสอบโควตา มช. ได้ ผมก็ขอให้พ่อซื้อกีตาร์ให้ แกก็พาไปซื้อ ผมขอซื้อ Ibanez PGM สีขาว รุ่นเดียวกับที่ Paul Gilbert มือกีตาร์ของ Mr. Big ใช้ กะว่าเข้า มช. ไปกูต้องเป็นร็อกสตาร์แน่นอน ช่วงปิดเทอมก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ตะบี้ตะบันฟังเพลง เล่นกีตาร์ และพยายามจะเขียนเพลง

แล้วเป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้ไหม

ไม่เลย (หัวเราะ) พอเข้าปี 1 เราต้องเข้าร่วมประเพณีรับน้องใหม่ พอมองย้อนกลับไป ก็ไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมกูต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย โซตัสสุด ๆ รับน้องหนักทุกวัน กลับมาก็ไม่มีแรงเล่นกีตาร์เลย 

แต่ช่วงนั้นมีเรื่องที่จำได้ดีอยู่เรื่อง คิดว่ารุ่นพี่วิศวฯ บางคนก็ยังจำได้อยู่ มีอยู่วันหนึ่งแฟนผมสมัยนั้นเขาเห็นว่าผมชอบร้องเพลง เลยไปสมัครประกวดร้องเพลงที่เป็นงานของส่วนกลางมหาวิทยาลัย แต่เวลาประกวดดันตรงกับเวลาที่ผมต้องเข้าห้องเชียร์ ใจก็ไม่ได้อยากประกวด แต่แฟนไปสมัครให้แล้ว เลยตัดสินใจไปก็ได้วะ 4 โมงเย็น ต้องใส่ชุดนักศึกษาเข้าแถวรอเข้าห้องเชียร์ล่ะ ผมสวมเสื้อยืดกางเกงยีน ขี่มอเตอร์ไซค์ไปหาเพื่อน บอกว่ากูขอไปประกวดร้องเพลงนะ เพื่อนร่วมรุ่น 400 กว่าคนตอนนั้น หน้าตาเลิ่กลั่กกันหมด เพราะการโดดเข้าห้องเชียร์จะต้องโดนลงโทษรุนแรงมาก

นั่นล่ะ พอถึงเวลาเข้าห้องเชียร์ รุ่นพี่ก็เช็กชื่อ พบว่ารหัส 326 ซึ่งเป็นรหัสผมไม่มาเข้าห้องเชียร์คนเดียวจากทั้งรุ่น รุ่นพี่ก็ถามว่ามันหายไปไหน ไอ้เพื่อนข้าง ๆ บอกว่าไปประกวดร้องเพลงครับ

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

ตอนนั้นเอาเพลงอะไรไปประกวด

ห่างไกลเหลือเกิน ของ บอย โกสิยพงษ์ หาแบ็กกิ้งแทร็กเพลงนี้ไม่ได้ ก็ร้องสด ๆ เลย

ชนะไหม

จะเหลือหรอ เรียกได้ว่าสลดใจมาก ๆ ดีกว่า 

พออีกวันไปเข้าห้องเชียร์ก็โดนเลย แต่นึกแล้วตลกดี รุ่นพี่ที่คุมห้องเชียร์ถามผมว่า เมื่อวานมึงไปไหนมา เราตอบว่าไปประกวดร้องเพลง พวกเขาก็ตะคอกตอบกลับมา สมควรแล้วที่ตกรอบ เพลงเชียร์ที่คณะมีมึงทำไมไม่ร้อง นึกแล้วก็รู้สึกว่าวิธีการไซโคของพวกรุ่นพี่มันมีอารมณ์ขันดีนะ  

แล้วชีวิตมหาวิทยาลัยหลังจากนั้นเป็นยังไง มีส่วนในเส้นทางการเป็นศิลปินมากน้อยแค่ไหน

ส่วนใหญ่เมาน่ะ 

กินเหล้าอย่างเดียวเลย

เออ เรื้อนชะมัด สมัยก่อนเขายังไม่ห้ามให้กินเหล้าในมหาลัย เราก็ไปตั้งวงดื่มกันริมอ่างแก้ว ในวงเหล้ามีผมเล่นกีตาร์โปร่งให้เพื่อนร้องตาม แต่ก็เพราะเล่นกีตาร์ในวงเหล้านี่แหละ จึงได้ทักษะการเดาคอร์ดเพิ่มขึ้นมา เพราะเรากินเหล้ากันตอนกลางคืน ต้องจุดเทียนเพื่อดูคอร์ดในหนังสือเพลง มันไม่ชัด แต่เห็นคร่าว ๆ เราก็เล่นต่อได้เอง 

ตอนนั้นเริ่มเล่นดนตรีกลางคืนตามร้านเหล้าหรือยัง

น่าจะช่วงปี 3 – 4 ราว ๆ พ.ศ. 2542 เชียงใหม่เริ่มมีร้านเหล้าที่ไม่ใช่สเกลเล็ก ๆ มากขึ้น Warm Up Café เปิดแล้ว Monkey Club ก็เพิ่งเปิด และ MP3 ก็เข้ามาแล้ว ยุคนั้นคุณมีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไว้เปิดเพลง ก็เปิดร้านเหล้าได้ ขณะที่วงดนตรีเล่นสดไม่จำเป็นต้องใช้สเกลใหญ่ ผมกับเพื่อนที่ชื่อ ตี๋ อยู่คณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งแม่งเล่นกีตาร์เก่งมาก ๆ ก็ฟอร์มวงโฟล์กไปเล่นตามร้านเหล้า

เล่นที่วอร์มอัพฯ เลย

ไม่สิ ตอนนั้นโคตรโนเนม เขาไม่จ้างหรอก ตอนแรกไปเล่นที่ร้านอาหารของอาจารย์ที่รู้จักกัน จากนั้นตรงข้ามวอร์มอัพฯ มีซอยเล็ก ๆ ที่เราเรียกกันว่าซอยโลกีย์ มีเพื่อนไปเปิดร้านเหล้าในซอยนั้น ผมกับตี๋ก็รับจ้างไปเล่น

ตอนนั้นคิดอยากเป็นศิลปินหรือยัง

เริ่มคิดแล้ว เมื่อก่อนไม่กล้าคิด เพราะคิดว่าศิลปินหรือนักดนตรีต้องเป็นอาชีพเดียวจริงจัง จนกระทั่งค่าย Bakery Music เกิดขึ้น จึงรู้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า College Band อยู่ ผมเคยอ่านนิตยสารเกี่ยวกับดนตรีเล่มหนึ่ง มีบทสัมภาษณ์ พี่เอ พลกฤษณ์ มือกีตาร์วง Pause (พลกฤษณ์ วิริยานุภาพ) เขาเป็นนักศึกษา แต่มีบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในฐานะศิลปิน เราก็เพิ่งตระหนักว่า อ้าว ศิลปินไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ศิลปินอาชีพเดียวก็ได้นี่หว่า 

แล้วเรียนวิศวฯ ไม่คิดอยากเป็นวิศวกรบ้างหรือ

ไม่เลย จริง ๆ ผมชอบวิชาฟิสิกส์กับเลขมากนะ ทำได้ดีถึงขนาดเป็นติวเตอร์หาเงินได้เยอะระหว่างเรียน แต่พอเรียนแคลคูลัสลึก ๆ เข้า ก็พบว่าเราชอบอินทิเกรตแค่ 1 ชั้น พอไปชั้นที่ 3 เรากลับไม่ชอบแล้ว จินตนาการไปไม่ถึงตรงนั้น ผมเรียนจบช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่นไป 1 เทอม โชคดีมีเพื่อนสนิทที่กินเหล้าด้วยกันบ่อย ๆ คอยช่วยเหลือ หมอนั่นเรียนเก่งมาก แต่ดันมาทำโปรเจกต์จบการศึกษาคู่กับผม เขายอมกระทั่งให้ตัวเองจบช้าไป 1 เทอมโดยไม่ได้รับเกียรตินิยม เพื่อลากให้ผมเรียนจบมาด้วยกัน เป็นผู้มีพระคุณกับผมมาก ๆ  

เรียนจบแล้วคุณเล่นดนตรีกลางคืนอย่างเดียวเลย

ผมได้งานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ NECTEC ของ สวทช. เขามาตั้งสำนักงานอยู่ใน มช. แล้วก็สมัครเรียนปริญญาโทที่วิศวฯ ต่อด้วย ตกกลางคืนก็เล่นดนตรีตามร้านเหล้า

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

ไม่อยากเป็นวิศวกร แต่เรียนปริญญาโทวิศวฯ

พูดตรง ๆ คือติดสาวน่ะ ช่วงเรียนปริญญาตรีปีสุดท้ายไปจีบรุ่นน้องคนหนึ่งไว้ นั่นทำให้ผมไม่อยากย้ายออกจากเชียงใหม่ เลยหาเรื่องเรียนต่อและทำงานไปด้วย 

ลูปชีวิตตอนนั้นดีมาก ก๊วนกินเหล้ากระจายตัว เลยดื่มน้อยลง ตอนเช้าไปรับแฟน ส่งเขาเรียน เราก็เรียนด้วย ตอนบ่ายไปทำงานประจำ ตอนเย็นไปกินข้าวบ้านเขา ตกค่ำไปเล่นดนตรีกลางคืน เสาร์และอาทิตย์รับสอนพิเศษ ทุกอย่างลงตัว จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง คือการได้อ่านวรรณกรรม

วรรณกรรมเนี่ยนะ 

จริง ๆ ไม่ใช่เพราะหนังสือที่อ่านหรอก นั่นประมาณ พ.ศ. 2545 – 2546 ผมอ่านวรรณกรรม ปรัชญาหรือหนังสือแนวสังคมเยอะมาก แล้วมันมีความคิดต้องการค้นหาตัวเอง การต่อต้านระบบ การหลุดจากกรอบเดิม ๆ ของสังคม ซึ่งเป็นข้ออ้างให้ตัวเองขี้เกียจหรือใช้อารมณ์มาตัดสินใจเส้นทางชีวิตมากกว่า ช่วงนั้นก็ทะเลาะกับแฟนบ่อย กลับมากินเหล้าเยอะ และใช้เวลาส่วนมากกับการนอนคิดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ สุดท้ายแฟนก็เลิกและหนีไปเรียนต่อต่างประเทศ ผมลาออกจากปริญญาโท แล้วก็ลาออกจากงานประจำ หาเงินจากการเล่นดนตรีกลางคืน และเป็นติวเตอร์สอนพิเศษ ก็ลำบากเรื่องเงินพอสมควร เพราะหาเงินได้ ส่วนใหญ่เอาไปซื้อหนังสือกับกินเหล้า บางเดือนต้องโทรไปขอยืมแม่

ตอนนั้นเคยนึกอิจฉาเพื่อนที่จบวิศวฯ แล้วทำงานเป็นวิศวกรที่เริ่มหารายได้อย่างมั่นคงแล้วบ้างไหม

ไม่เลย อาจเรียกว่าเป็นทัศนคติแบบบิดเบี้ยวส่วนตัวของผมก็ได้ เหมือนตอนเป็นวัยรุ่นเชื่ออย่างผิด ๆ ว่ากินเหล้าเยอะ ๆ นี่ดี เป็นคนแข็งแรง (ยิ้ม) ตอนนั้นมีความคิดแอนตี้ยูนิฟอร์มประมาณหนึ่ง เพราะพวกมึงต้องตื่นแต่เช้า ใส่เครื่องแบบ นั่งรถตู้ไปทำงานที่โรงงาน เข้า 9 โมงเช้า ออก 6 โมงเย็น ตกเย็นวันเสาร์มึงก็จูงหมาเดินเล่นในสวน วันอาทิตย์พาครอบครัวไปเดินห้างหรือดูหนัง 

ส่วนกูมีเสรีภาพ จะกินเหล้ายันเช้าก็ได้ จะทำอะไรเวลาไหนก็ได้ 

ซึ่งแม่ง วิถีชีวิตแบบผมนี้ พูดตรง ๆ ก็คือเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อนะ   

ผมพบชาครั้งแรกราว 10 กว่าปีก่อน

ตอนนั้นไม่รู้จักกัน แค่บังเอิญดื่มเหล้าร้านเดียวกัน ซึ่งนั่นล่ะ ไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เราต้องรู้จักกัน

ร้าน Minimal Gallery ในตอนนั้นอยู่ย่านนิมมานเหมินท์ ตึกสีขาว 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านเหล้า ชั้นสองเป็นแกลเลอรีศิลปะ และชั้นสามเป็นสตูดิโอออกแบบ ส่วนตัวผมมองว่านี่คือร้านที่เปิดเพลงอินดี้ที่ดีที่สุดในเชียงใหม่ในยุคนั้น 

สุเมธ ยอดแก้ว เจ้าของ Minimal Gallery เป็นทั้งเพื่อนที่สอนวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันกับชา และเป็นเพื่อนนักดนตรีที่ร่วมบุกเบิกซีนดนตรีอินดี้ของเชียงใหม่มาด้วยกัน หลายคนในวงเหล้าของพวกเขา ทุกวันนี้กลายเป็นศิลปินที่ทำอัลบั้มในค่าย Minimal Records ของสุเมธ รวมถึงค่ายเพลงใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ และค่ายอิสระอื่น ๆ 

ชาระลึกความหลังให้ฟัง – ทั้งสุเมธและเพื่อนนักดนตรีที่แฮงก์เอาต์ด้วยกันที่มินิมอลแห่งนั้น คือส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เขาอยากทำเพลงของตัวเองจริงจัง  

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

คุณบอกว่าตัวเองเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แล้วเริ่มมีชีวิตเข้ารูปเข้ารอยตอนไหน

ทุกวันนี้ก็ไม่อาจเรียกว่าเข้ารูปเข้ารอยดีหรอก ตรงกว่านั้นคือ น่าจะมีเป้าหมายชัดเจนขึ้นมากกว่า

ช่วงนั้นราว พ.ศ. 2545 – 2546 ชีวิตผมนอกจากร้านเหล้าที่เล่นดนตรีกลางคืนประจำ ส่วนใหญ่ก็ไปขลุกอ่านหนังสือที่ร้านเล่า ไปนั่งดื่มที่สุดสะแนน แล้วก็วนเวียนอยู่กับเพื่อนนักดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งหลายคนเริ่มทำเพลงของตัวเองแล้ว อย่าง จุ๋ย จุ๋ยส์, Skarangers (Polycat ในปัจจุบัน) หรือ ETC พอเห็นคนรอบข้างเริ่มมีผลงานก็คิดว่า เออ จริง ๆ เราน่าจะทำอย่างเขาได้บ้างนะ 

ประกอบกับราว พ.ศ. 2547 อาจารย์ที่คณะวิศวฯ เขามีแผนจะเปิดวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเห็นว่าผมแต่งเพลงเป็น เขียนโปรแกรมได้ และมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ดี ก็เลยชวนให้ผมมาสอนเกี่ยวกับการทำดนตรีประกอบในสาขาวิชาแอนิเมชัน นั่นเองทำให้ผมพบสุเมธ (สุเมธ ยอดแก้ว) ที่เพิ่งจบคณะสถาปัตยฯ พอดี และมาสมัครเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยสื่อ สุเมธเล่นดนตรีเหมือนผม จึงถูกคอกัน

จนราว พ.ศ. 2549 สุเมธมาบอกว่าจะเปิด Minimal Gallery ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าแกลเลอรีอะไรของมึงวะ คือยุคนั้นคำว่ามินิมอลยังถือว่าใหม่ ส่วนแกลเลอรีนี่ผมไม่คุ้นเลย เพราะเวลานึกถึงที่แสดงงานศิลปะก็นึกถึงหอศิลป์ไปเลย แต่พอสุเมธเปิดก็เข้าใจแนวทางของมัน และเพื่อน ๆ ก็ไปรวมตัวกันตรงนั้น 

Minimal Gallery มีส่วนในการทำเพลงของคุณยังไง

พอสุเมธเปิดที่นี่สักพัก เขาก็มีแผนอยากรวบรวมวงดนตรีอินดี้ในเชียงใหม่ ทำโปรเจกต์แรกออกมาชื่อ No Signal Input เป็นอัลบั้มรวมเพลงของศิลปินหน้าใหม่ ได้รับผลตอบรับดีถึงขนาดนิตยสาร a day ที่ตอนนั้นดังมาก ๆ เอาไปเขียนรีวิว จนปีต่อมาสุเมธก็ทำ No Signal Input 2 เขาก็มาชวนผม

ตอนนั้นเพื่อน ๆ ที่ไปมาหาสู่กันและเล่นดนตรีกลางคืนเหมือนกันก็เริ่มทำเพลงในนามวงของตัวเองแล้ว เด๋อ-ณครินทร์ รอดพุฒ ทำวงชื่อ Derda Missyou (ปัจจุบันเป็น The Subtitle Project) โบ-ต้องจักษ์ ศุภผลศิริ ทำวงชื่อ Red King Palace (ปัจจุบันเป็นสมาชิกวง Foxy และคณะสุเทพการบันเทิง) ซึ่งเรายังไม่มีเพลงที่เขียนเสร็จเป็นรูปเป็นร่างเลย แต่เอาเพลง เหงา ที่พี่ชายแต่งมาทำต่อ ให้เด๋ออัดเสียงให้ ทำเสร็จ เพื่อนก็ถามว่าจะใช้ชื่ออะไร ผมตั้งใจไว้อยู่นานแล้วว่าจะชื่อ Harmonica Sunrise เลยเป็นชื่อนี้

ทำไมต้อง Harmonica Sunrise

ไม่มีเหตุผลเป็นพิเศษ สมัยนั้นเล่นกระทู้ใน Pantip ผมใช้ชื่อแอคเคานต์ว่า Harmonica ส่วน Sunrise มาจากชื่อค็อกเทล Tequila Sunrise แค่นั้นเลย เป็นวงที่เราตั้งขึ้นมาโดยมีผมคนเดียวเป็นสมาชิก มีรุ่นน้องคนหนึ่งเขียนโปรแกรมกลองให้ เด๋อเล่นเบสให้ จำได้ว่าใน No Signal Input จะให้แต่ละวงส่งเพลงมารวมอัลบั้มวงละ 2 เพลง ผมก็ส่งเพลง เหงา กับอีกเพลงที่เขียนใหม่ชื่อ สู้ ไป หลังจากรวม No Signal Input 2 เสร็จ เราก็ปั๊มซีดีไปขายที่งาน Fat Festival ปรากฏว่า 2 วันขายหมดเลย

ฟีดแบ็กดีมาก ๆ 

ไม่หรอก ทำมาน้อย 500 ชุดเองมั้ง แถมขายถูกมาก 50 บาทเอง เหมือนให้เปล่า เพราะได้สปอนเซอร์มา ผมก็ไปยืนช่วยขายที่บูท เพื่อน ๆ ก็มาซื้อไปเยอะ    

เหมือนว่า Harmonica Sunrise ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ

จะบอกอย่างนั้นก็ได้ แต่หลังจากนั้น ผมก็คุยกับสุเมธต่อว่า ไม่อยากให้โปรเจกต์นี้มันหายไป พอดีกับที่ พี่โหน่ง-สมชาย ขันอาษา เจ้าของร้านขันอาษา ชวนวงดนตรีจาก No Signal Input ทั้งหมดมาจัดมินิคอนเสิร์ตที่ร้าน ผมเลยรวบรวมเพื่อน ๆ ที่เล่นดนตรีมาด้วยกันมาร่วมวงฮาโม มี หลุยส์-กานต์ เศรษฐกร ต้น-กุลปราชญ์ ปัญญาชัย และ กานต์ กานตวนิชูกูร เป็นสมาชิกวงยุคแรก

โชว์ครั้งนั้นเป็นโชว์ครั้งแรกของวง สนุกมาก ๆ เหมือนเจอเพื่อนคอเดียวกันทั้งหมดในเชียงใหม่มาฟังเพลง เล่นดนตรีด้วยกัน พอเสร็จจากโชว์ ก็คุยกับสุเมธต่อว่า น่าจะทำโชว์แบบนี้ทุกเดือนดีไหม ใครรู้จักร้านเหล้าที่ไหนก็ไปติดต่อให้วงพวกเรามาทำการแสดง สุเมธเห็นดีด้วย และตั้งเงื่อนไขว่า อย่างนั้นทุกวงควรต้องทำเพลงใหม่ทุกครั้งที่ขึ้นโชว์ เป็นกติกาให้ทุกคนกลับไปทำการบ้านของตัวเองมาเรื่อย ๆ 

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

ตอนนั้นสุเมธตั้ง Minimal Records แล้วใช่ไหม

ยังนะ เขาตั้งในนามกลุ่ม No Signal Input ก่อน แต่ได้สุเมธนี่แหละที่ประสานงานห้องอัด มิกซ์ให้ รวมถึงหาคิวจัดแสดง มีไปแสดงในงานที่กรุงเทพฯ ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นการดีลร้านต่าง ๆ เพื่อให้วงเราได้แสดงฟรี คุณไม่ต้องจ้างเราหรอก แค่เลี้ยงเครื่องดื่มก็พอ พวกเราอยากเล่น และจะได้เอาซีดีหรือเสื้อวงไปขาย ใช้โมเดลแบบ Live House ที่ญี่ปุ่นเลย 

ซึ่งตอนนั้นซีนดนตรีเชียงใหม่คึกคักมาก พวกเราไม่ได้ดังระดับมีเพลงขึ้นชาร์ตวิทยุที่กรุงเทพฯ หรือออกรายการโทรทัศน์หรอก แต่มีคนติดตามเยอะ ไปเล่นที่ไหนในเชียงใหม่ก็มีคนร้องตามเพลงของเราได้ จากนั้นสุเมธก็ทำ No Signal Input รวมผลงานจากวงใหม่ ๆ ทุกปี จนสุดท้ายก็ทำค่าย Minimal Records ส่วนผมทำเพลงในนาม Harmonica Sunrise เรื่อย ๆ มีงานที่ไหนก็ไปเล่น งานแต่งงานเราก็รับ    

ชื่อ ชา ฮาโม ก็มาจากตอนนั้น

เชียงใหม่มันเล็กน่ะ รู้จักกันเกือบหมด แล้วก็เรียกนักดนตรีตามชื่อวง ชา ฮาโม, ขลุ่ย ไมเกรท (Migrate to the Ocean) หรือ โบ เรดคิง (Red King Palace) อะไรแบบนี้ เหมือนชื่อแก๊งเลยว่าไหม 

ทำ Harmonica Sunrise อยู่นานไหม

ถ้ายุคที่ทำอัลบั้มออกมาแล้วก็น่าราว 3 ปี น่าจะ พ.ศ. 2552 หรือ 2553 นี่แหละที่แยกย้าย ต้นลาออกไปทำวง Vajadai ก่อน มี เปิ้ลธันยภฤศ ฟองดาวิรัตน์ (ปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะสุเทพฯ) ซึ่งเป็นอาจารย์วิทยาลัยสื่อเหมือนกันเข้ามาเล่นกีตาร์แทน

ทำไมยุบวง

ทะเลาะกันน่ะสิ จริง ๆ วงเราฟีดแบ็กดีทีเดียว ต้องให้เครดิตกับหลุยส์ เขาใช้ดับเบิลเบสมาเล่นด้วย น่าจะเป็นวงร็อกวงแรกในไทยด้วยมั้งที่มีดับเบิลเบส แต่ปัญหาคือ เป็นผมเองที่ไม่ได้จริงจังกับวงมากพอ ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาโทอีกรอบ (คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และทำงานเป็นอาจารย์ จึงไม่ค่อยมีเวลาให้วง ขณะที่หลุยส์เขาทุ่มเทเต็มที่ ตรงนี้แหละที่จังหวะเริ่มไม่เท่ากัน สุดท้ายก็เลยไปต่อด้วยกันไม่ได้

เสียดายไหม

ก็ประมาณหนึ่ง แต่เพราะผมเองด้วย เอาจริง ๆ ช่วงก่อนยุบวง เราเหลือสมาชิกกัน 3 คน แนวโน้มมันดีทีเดียว มี พี่หนึ่ง Friday (เกรียงไกร วงษ์วานิช) มาโปรดิวซ์ให้ด้วย เพลง นิมมานเหมันต์ เป็นเพลงแรกที่วงทำร่วมกับพี่หนึ่ง แล้วก็เป็นช่วงที่เราเริ่มเขียนเนื้อเพลงจาก Reference เพลงลูกทุ่งและลูกกรุง คือตอนทำ Harmonica Sunrise ใหม่ ๆ ต้นเป็นคนทำซาวนด์มาก่อน ซึ่งทางต้นเขาร็อกมาก ผมก็เขียนเนื้อตาม ทิศทางการเขียนเพลงของผมมันยังไม่ชัดเจนดีหรอก จนมายุคหลัง ๆ ที่เราทำเพลงเริ่มจากการเขียนเนื้อร้อง ซาวนด์เลยออกมาแนวที่เป็นเราเอง ซึ่งเห็นได้ชัดก็ตอนมาทำคณะสุเทพฯ 

พอยุบวงไป เริ่มทำคณะสุเทพฯ เลยไหม

ไม่ หยุดไปพักใหญ่เลย ตอนนั้นผมสอนหนังสือเป็นหลัก เล่นดนตรีกลางคืนบ้าง และทำงานเป็นนักแต่งเพลง พวกเพลงแคมเปญองค์กร เพลงประกอบงานศิลปะของ พี่นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล รวมถึงเมโลดี้ประกอบเกมมือถือก็มีเยอะ เป็นงานที่สร้างรายได้เป็นชิ้นเป็นอันพอสมควร และเหมือนฝึกฝนตัวเองไปเรื่อย ๆ มาพบทีหลังว่า พอเราแต่งเพลงโดยไม่มีโจทย์ แนวทางเรามันมาทางไทยย้อนยุคหมดเลย 

ชา ฮาโม ผู้บุกเบิกซีนเพลงอินดี้เชียงใหม่สู่ Chiang Mai Original ผลักดันวงดนตรีสู่ธุรกิจยั่งยืน

เอาจริง ๆ ซีนดนตรีเชียงใหม่ไม่มีลูกทุ่งหรือลูกกรุงแบบภาคกลางอยู่ในระบบนิเวศเลยนะ อันนี้มาจากอิทธิพลตอนเด็กโดยตรงหรือเปล่า

ผมชอบฟังเพลงลูกทุ่งอยู่แล้ว เลยได้อิทธิพลมาเยอะมาก อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราชอบอ่านหนังสือด้วย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์, ชาติ กอบจิตติ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ประมาณนี้ เลยได้แรงบันดาลใจจากการคำศัพท์หรือประโยคในหนังสือมาเยอะ 

พอเขียนเพลงแบบตัวเองเยอะ ๆ เลยคิดกลับมาทำวงดนตรีใหม่ใช่รึเปล่า

น่าจะนะ ช่วงที่ไม่ได้ทำวงก็ไปเล่นตามร้านเหล้า หรือเดินสายเล่นโฟล์กตามเทศกาลต่าง ๆ คัฟเวอร์เพลงเพื่อชีวิต ลูกทุ่ง ลูกกรุง ผสมกับเพลงที่ผมแต่งเองบ้าง แล้วมีอยู่ช่วง เป็นงานสงกรานต์ที่นิมมานเหมินท์ ผมรวมวงกับโบ ต้องจักร, เพชร-เพชรสุวรรณ วรรณโชดก และ นล นาคนาคา ไปเล่นเพลงลูกทุ่งโจ๊ะ ๆ ที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่ง เน้นเพลงเต้นอย่างเดียว ตอนนั้นไม่คิดอะไรหรอก จนเจ้าของร้านมาบอกว่า พี่มาเล่นประจำเลยแล้วกัน ไอเดียเรื่องการกลับมาทำวงดนตรีเลยกลับมา หลังจากนั้นก็เริ่มเดินสายรับงานเพลงแนวประมาณนี้กับก๊วน 3 คนนี้ จนมาถึงจุดที่คิดจะทำอัลบั้มใหม่ในนามวงใหม่นี้

ชื่อ ‘สุเทพการบันเทิง’ เริ่มมาจากชื่อของไลน์กลุ่มที่ชาตั้งร่วมกับ โบ เพชร และนล 

ที่ตั้งเช่นนั้น เพราะเขาพบว่าสมาชิกในกลุ่มที่เล่นดนตรีด้วยกันส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้ถามเขาว่าคำว่า ‘สุเทพ’ นอกจากเป็นชื่อตำบลและชื่อภูเขา (ดอยสุเทพ) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของพวกเขานี่ ส่วนหนึ่งมาจาก สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินที่เขาได้รับอิทธิพลการฟังมาจากพ่อด้วยไหม 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ชาปักหลักกับวงนี้ เพื่อใช้รับจ้างแสดงดนตรีทั่วไปทั้งงานบวช งานแต่ง หรืออีเวนต์ต่าง ๆ อยู่หลายปี พวกเขาก็ตั้งชื่อวงดนตรีวงใหม่นี้อย่างเป็นทางการว่า คณะสุเทพการบันเทิง ก่อนที่จะเริ่มทำอัลบั้มเพลงของตัวเอง

ชีวิต ชา คณะสุเทพฯ เส้นทางดนตรี ซีนเพลงอินดี้ และ Chiang Mai Original ที่พยายามสร้างนิเวศเศรษฐกิจให้วงดนตรีเชียงใหม่

ไอเดียเรื่องทำอัลบั้มของคณะสุเทพฯ มาตอนไหน 

มาจากโบ เราเล่นด้วยกันอยู่หลายปี แล้วโบก็บอกว่าทำไมไม่ลองเอาเพลงที่เขียนมาอัดบ้าง เพราะผมเขียนเพลงเก็บไว้เยอะ ตลกดี พอโบพูดจบไม่นานก็เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งร้านเหล้าถูกบังคับให้หยุด พวกเราก็เลยว่าง จึงนัดรวมตัวกันขนอุปกรณ์ดนตรีมาที่บ้านผมหลังนี้ แล้วเริ่มอัดเพลงที่ผมเขียนทิ้งไว้ประมาณ 4 – 5 เพลงรวดเดียวในคืนนั้น เพลงในยุคแรกของคณะสุเทพฯ เลยถือกำเนิดขึ้นมาในคืนวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2561 

เป็นมงคลน่าดู

ต้องยกเครดิตให้ อ้นเกิดสุข ชนบุปผา (หัวหน้าวง Stereo Boy) อ้นเป็นนักดนตรีที่เคยเดินสายเล่นดนตรีโฟล์กด้วยกันกับผมในโปรเจกต์ ‘คณะพวงรักเร่’ ราว ๆ พ.ศ. 2558 หมอนี่เป็นนักอ่านเหมือนกัน และมักมีไอเดียเกี่ยวกับการเขียนเพลงมาเล่าระหว่างนั่งดื่มด้วยกันเสมอ อย่างเพลง ติดลมในกระแสเลือด ก็มาจากอ้น หรือ พี่ฮวก-อรุณรุ่ง สัตย์สวี เจ้าของร้านสุดสะแนน นี่แหละที่พูดขึ้น หรือไอเดียเกี่ยวกับโปรเจกต์ Chiang Mai Original ส่วนหนึ่งก็มาจากอ้น

อยู่มาวันหนึ่งอ้นก็มีดำริขึ้นมาว่าน่าจะจัดงาน Farewell CD เหมือนเป็นงานบอกลาการขายแผ่นซีดีที่ตอนนั้นเริ่มเป็นของหายากแล้ว โดยให้ศิลปินมาร่วมโชว์ที่สุดสะแนน และให้แต่ละวงนำซีดีของตัวเองมาขาย ก็รวมวงเพื่อน ๆ ที่เชียงใหม่ทำเทศกาลนี้ขึ้น จำได้ว่างานจัดปลายปี เป็นเหมือนการเร่งให้วงผมรีบอัดเพลงให้ครบอัลบั้มจะได้เอาซีดีไปขายในงานนี้ เริ่มจากคืนวิสาขบูชาช่วงกลางปีนั่นแหละ จากนั้นพอสมาชิกในวงว่างตรงกัน ก็เลยทยอยอัดจนครบ ขายทันงานปลายปีพอดี

ใช้ชื่ออัลบั้มว่า ‘ชุดรวมฮิต’ เลยใช่ไหม

ใช่ เริ่มอย่างเป็นมงคล ชุดแรกออกมาก็มีแต่เพลงฮิตเลย ชุดสองอยู่ไหนเดี๋ยวค่อยว่ากัน  

เคยมีความคิดจะทำเดโมไปเสนอค่ายเพลงใหญ่ ๆ เหมือนวงยุคก่อน ๆ บ้างไหม

สมัยทำ Harmonica Sunrise เคยส่งไปอยู่นะ ดีแล้วที่ไม่ผ่าน หลังจากนั้นก็พบว่า เชียงใหม่มีคนทำเพลงครบวงจรอยู่แล้ว ตั้งแต่แต่งเพลงไปจนถึง Mastering ซึ่งก็เพื่อน ๆ เราเองนี่แหละ คณะสุเทพฯ ก็ทำทั้งหมดจากสตูดิโอที่บ้านเราเอง เลยไม่ได้คิดถึงการเสนอค่ายใหญ่เลย

แต่ออกกับค่ายกรุงเทพฯ คุณอาจทำเงินได้มากกว่านะ 

ผมโตมาจากต่างจังหวัด เมืองใหญ่สุดที่เคยอยู่คือเชียงใหม่ ผมเคยไปกรุงเทพฯ แล้วพบว่ามันหนาแน่นเกินไป อยู่แล้วไม่สนุก เพื่อนนักดนตรีหลายคนก็คิดแบบนี้ เลยเลือกอยู่เชียงใหม่ เพราะนิสัยแบบนี้แหละ ทำให้ผมเกิดคำถามว่า แล้วจะทำยังไงดีวะที่จะทำเพลงเผยแพร่ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องไปสังกัดในกรุงเทพฯ มันก็กลับมาเป็นเรื่อง Music Business ก็กลับไปคุยกับสุเมธว่าค่าย Minmal Records มึงเป็นไงบ้างวะ เจอปัญหาอะไร มาแชร์กันหน่อย รวมถึงคนทำค่ายเพลงกลุ่มอื่น ๆ ในเชียงใหม่ ก็เลยกลับมาที่ไอเดียเรื่อง Chiang Mai Original ที่เคยนั่งคุยกับอ้นไว้เมื่อหลายปีก่อน

Chiang Mai Original คืออะไร

จริง ๆ มันเป็นชื่องานเทศกาลดนตรีเล็ก ๆ ก่อน แล้วก็ขยับมาเป็นโปรเจกต์ที่พูดถึงความยั่งยืนของธุรกิจดนตรีบ้านเรา ต้องเท้าความก่อนว่า หลังจากทำงาน Farewell CD ของอ้นเสร็จ วันต่อมาพวกเราไปขอสปอนเซอร์ พี่เหมาธีรวุฒิ แก้วฟอง (เจ้าของ My Beer Friend) มาจัดมินิคอนเสิร์ตที่ One Nimman ตั้งชื่อว่า Chiang Mai Original เป็นคอนเสิร์ตที่รวมศิลปินเชียงใหม่มาโชว์ในพื้นที่เดียวกัน มี เขียนไขและวานิช, เรืองฤทธิ์ บุญรอด, Yonlapa, Stereoboy, คณะสุเทพฯ และวงอื่น ๆ รวมทั้งแขกรับเชิญอย่าง จุลโหฬาร ทุกวงเล่นเพลงของตัวเองหมด เพราะเราอยากเสนอความเป็นออริจินัลของวงเชียงใหม่ คนเก็ตไม่เก็ตไม่รู้ แต่เสร็จปุ๊บ พวกเราก็ไม่ได้คิดอะไรกัน ต่างวงต่างแยกย้ายไปเล่นตามงานของตัวเองไป จนมา พ.ศ. 2563 ที่โควิด-19 แพร่ระบาดครั้งแรกนี่แหละ ที่ทำให้เราคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ชีวิต ชา คณะสุเทพฯ เส้นทางดนตรี ซีนเพลงอินดี้ และ Chiang Mai Original ที่พยายามสร้างนิเวศเศรษฐกิจให้วงดนตรีเชียงใหม่

เพราะโควิด-19 ทำให้พวกคุณไม่ได้แสดงดนตรีใช่ไหม

ใช่ ศิลปินหลายคนไม่ได้ทำอย่างอื่นนอกจากเล่นดนตรีอย่างเดียว หลายวงกำลังมือขึ้นก็โดนเบรกจนไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมาเล่นดนตรีอีก แล้วไอเดียนี้ก็เริ่มมาจากการเห็นวงเขียนไขและวานิช ตอนนั้นวงนี้กำลังดังมาก พวกเขาไม่ได้เงินจากการแสดงสด แต่ยังมีรายได้จากการขายซีดี แผ่นเสียง เสื้อวง และค่าลิขสิทธิ์จากสตรีมมิ่งต่าง ๆ ซึ่งวงเชียงใหม่หลายวงก็มีเพลงอยู่ในสตรีมมิ่งอยู่แล้ว เพียงแต่พอไม่ได้มีชื่อเสียงเท่าไหร่ เพลงจึงไม่ถูกเปิดฟัง รายได้ก็ไม่มาก 

ก็มาคิดว่ามีอะไรบ้างที่ศิลปินเชียงใหม่ยังขาด ทำไมเพลงถึงไม่ดัง ไม่ถูกเปิด เพลงใหม่จากแกรมมี่ออกมา แป๊บ ๆ เชียงใหม่เปิดหมดเลย แต่ทำไมเพลงเชียงใหม่มีอยู่ 200 – 300 เพลง ไม่ถูกเปิดในเมือง ทำไมขึ้นรถแดง ไปเดินตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งนั่งร้านเหล้า จึงไม่มีเพลงจากศิลปินเชียงใหม่ให้เราฟัง  

แต่เพลงของ จรัล มโนเพ็ชร กับ สุนทรี เวชานนท์ เขาก็เปิดอยู่บ่อย ๆ ตามห้างสรรพสินค้าหรือถนนคนเดินนะ

นั่นแหละ เราจะทำยังไงให้เพลงของศิลปินวงอื่น ๆ ถูกเปิดแบบนั้นบ้าง ยิ่งถูกเปิด คนจดจำ เพลงก็ดังขึ้น คุณก็มีโอกาสไปเดินสายโชว์หาเงินได้มากขึ้น ช่วงนั้นผมไปลงคอร์สเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาหลายคอร์สเลย ก็คิดว่า เออว่ะ จริง ๆ ประเทศเราเวลานักดนตรีคัฟเวอร์เพลงคนอื่น เราต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เขานะ คำร้อง ทำนอง เราต้องให้ เพราะมันคือผลงานจากการสร้างสรรค์ของศิลปินเจ้าของบทเพลง

ช่วงก่อนโควิด ผมมีโอกาสไปญี่ปุ่น ได้เพื่อนที่เรียนวิศวฯ มช. ซึ่งย้ายมาสอนที่ ม.โตเกียว พาไปตระเวนดูไลฟ์เฮาส์ในย่านชิโมคิตะซาวะ ซึ่งที่นั่นมีฮอลล์เล็กฮอลล์ใหญ่ที่มีการแสดงดนตรีสดอยู่หลายสิบแห่ง พวกเราซื้อบัตรเข้าชมประมาณ 800 บาท แลกเครื่องดื่ม 1 แก้ว เพื่อไปดูศิลปินท้องถิ่นเขาโชว์กัน บางรอบเป็นวงร็อก บางรอบเป็นศิลปินเดี่ยวมาเล่นเปียโน บางรอบเล่นโฟล์ก แต่ทุกคนเล่นเพลงของตัวเองหมด เล่นเสร็จเขาก็เอาของที่ระลึกกับซีดีอัลบั้มมาขาย

ผมมาทราบจากการคุยกับศิลปินคนหนึ่งทีหลังว่า ที่เขาไม่เล่นเพลงคัฟเวอร์กัน เพราะค่าลิขสิทธิ์เพลงแพงมาก ขณะเดียวกัน คนที่มาดูไลฟ์เฮาส์ เขาก็ไม่ได้อยากฟังเพลงคัฟเวอร์ เขาตั้งใจมาฟังเพลงออริจินัลของศิลปิน มาลองฟังเพลงที่ไม่เคยฟังมาก่อน เพราะหลายวงก็เป็นศิลปินที่ผู้ชมไม่เคยรู้จักด้วยซ้ำ  

กลับมาย้อนคิดว่านี่เป็นวัฒนธรรมที่กลับหัวกลับหางกับบ้านเราหมด สมมติอยู่ดี ๆ เราอยากเล่นเพลงของเราในร้านเหล้าที่เล่นประจำ ลูกค้าก็มองว่ามึงเล่นเพลงอะไรของมึง เจ้าของร้านก็ไม่แฮปปี้ แต่ในญี่ปุ่น ถ้าคุณอยากฟัง Ed Sheeran คุณต้องเก็บเงินไปดูคอนเสิร์ตของ Ed Sheeran หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องคอยฟังจากนักดนตรีเปิดหมวกริมถนน พื้นที่ตรงนั้นเขาเล่นได้ เพราะเขาถือว่าไม่ได้แสวงหารายได้มากมายอะไรจากเพลงของศิลปิน แต่นั่นแหละ ในเมืองไทย เรามีเพลง Ed Sheeran ให้ฟังในร้านเหล้าที่เล่นสดได้ทุกวัน 

แต่สมัยก่อนตอนที่คุณเล่นดนตรีกลางคืน คุณก็คัฟเวอร์เพลงคนอื่นเหมือนกันไม่ใช่หรือ

ผมไม่ได้ต่อต้านการคัฟเวอร์เพลงคนอื่นนะ ที่โฟกัสจริง ๆ คือการให้ค่าลิขสิทธิ์กับเจ้าของเพลง เราคัฟเวอร์เพลงของใคร ก็ควรให้ค่าลิขสิทธิ์ศิลปินคนนั้น หรือกระทั่งเพลงในอัลบั้มของเราเองที่จ้างคนอื่นเขียนเพลงให้ เวลาเราแสดงโชว์ก็ควรแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้คนเขียนเพลงนี้ด้วย ทุกวันนี้ วงอย่าง อภิรมย์ เขียนไขและวานิช หรือจุลโหฬาร เขาก็มีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าลิขสิทธิ์ด้วยกันแล้ว บางเพลงของจุลโหฬารได้สมาชิกของวงอภิรมย์ หรือ อ้น เกิดสุข เป็นคนเขียนเพลงให้ กระทั่งได้รายได้จากสตรีมมิ่งมา เขาก็แบ่ง เราอยากให้วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในเชียงใหม่ รวมถึงเป็น Norm ของบ้านเรา   

เข้าใจล่ะ ว่าแต่ Chiang Mai Original ทำอย่างไรกับโจทย์นี้ได้บ้าง

ในฐานะกึ่ง ๆ พี่เลี้ยงน่ะ เรามีเครือข่ายศิลปิน คนทำเพลง และเบื้องหลังครบอยู่แล้ว ถ้าศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำเพลงออกมาแล้วเขายังขาดอะไรอยู่ เราก็ไปช่วยให้คำแนะนำหรือสนับสนุน แล้วมาดูสเตปถัดมาว่า คุณมีเพลงของตัวเองแล้ว จะเผยแพร่ยังไงให้ดัง อย่างแรกจัดงานให้มีพื้นที่ในการเล่นดนตรีของตัวเอง มีเงินหรือยัง ทำแผ่นหรือยัง ถ้าไม่มี งั้นไปหาสปอนเซอร์กัน ขายได้เท่าไหร่ ใช้คืนก่อน ที่เหลือเอาไปหมดเลย ก็เซ็นสัญญากัน 

ชีวิต ชา คณะสุเทพฯ เส้นทางดนตรี ซีนเพลงอินดี้ และ Chiang Mai Original ที่พยายามสร้างนิเวศเศรษฐกิจให้วงดนตรีเชียงใหม่

แล้วต่างจากค่ายเพลงทั่วไปยังไง

เราไม่ใช่ค่ายเพลง เราแค่สร้างเครือข่ายให้มีการแชร์ทรัพยากรการทำเพลงร่วมกันมากกว่า และเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกัน โมเดลนี้เราเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2564 ที่ไปร่วมกับ One Nimman จัดงาน ‘โฮะ’ เป็นคอนเสิร์ตของวงดนตรีบ้านเรา ซึ่งมีไลน์อัปถึง 80 วง เพื่อโชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ผ่านตา หรือไปทำกับมูลนิธิของ จรัล มโนเพ็ชร ชวนศิลปินเชียงใหม่มาตีความเพลงจรัลใหม่ และทำอัลบั้ม Tribute ในวาระครบ 25 ปีการจากไปของจรัล ทำคอนเสิร์ตและขายซีดี รายได้ก็แบ่งให้กับทางครอบครัวคุณจรัลส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็แบ่งให้นักดนตรีไป  

Chiang Mai Original พยายามดีลกับองค์กรต่าง ๆ ที่เขาต้องการเพลง ค่ายหนังที่กำลังหาเพลงประกอบภาพยนตร์ ศูนย์การค้า ร้านเหล้า หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องมีการเปิดเพลงให้ลูกค้าฟัง บางวันคุณอาจเอาเพลย์ลิสต์ศิลปินเชียงใหม่ไปเปิดแซมบ้างนะ มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนไหนจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่หรือเลี้ยงรุ่น คุณเอาศิลปินเชียงใหม่ไปขึ้นแสดง แทนที่คุณจะจ้างวงดนตรีหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ส่วนกลาง คุณจ่ายให้คนเชียงใหม่ถูกกว่า แถมได้สนับสนุนคนบ้านเดียวกันเองด้วย

เหมือนคุณเป็นโปรโมเตอร์เพลงของศิลปินเชียงใหม่

นั่นแหละ น่าจะตรงที่สุด ผมเชื่อเรื่องการแชร์ทรัพยากรและถอดบทเรียน ไม่ได้คิดเป็นขาใหญ่มาคอยบอกวงรุ่นน้องว่า มึงควรทำแบบนี้หรือไม่ควรทำแบบนี้ แต่เรามีทรัพยากรที่แบ่งปันกันได้ เรามีบทเรียนให้เห็นจากวงที่ทำมาก่อน พร้อมให้คุณไปปรับใช้ จะเชื่อหรือไม่ก็เรื่องของคุณ แต่เป้าหมายคือการทำให้วงของคุณไปถึงคนฟังมากที่สุด ทำให้เพลงของคนเชียงใหม่ถูกเปิดในเชียงใหม่ให้มากที่สุด แล้วก็ค่อยคิดถึงการเผยแพร่ไปที่อื่น ๆ ต่อไป 

เปิด Chiang Mai Original เป็นบริษัทเลยไหม

ใช่ เราเพิ่งจดทะเบียนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) ไม่ใช่เงินผมเองหรอก ได้ ไนท์-นายแพทย์รัตนชัย ชาญชัย ที่เป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนโรงเรียนนครสวรรค์มาสนับสนุน ไนท์ที่เคยทำวง Le Blanc ด้วยกันนั่นแหละ ตอนนี้เขาย้ายมาเป็นหมออยู่ที่เชียงใหม่ ก็มีอุดมการณ์เดียวกันเรื่องการโปรโมตเพลงของคนเชียงใหม่

พอเป็นบริษัท คุณก็ต้องหากำไร มีวิธีคิดกับเรื่องนี้ยังไง

พาร์ตที่เห็นเงินชัดก็คือออร์แกไนซ์ ก็พยายามเอาตัวเองเข้าไปแตะงานออร์แกไนซ์ทางดนตรี แต่เงื่อนไขคือ วงที่ผมเอาไปแสดง ต้องเล่นเพลงตัวเองเท่านั้น มันอาจไม่ใช่งานเปิดตัวรถในมอเตอร์โชว์ แล้วเล่นเพลงคัฟเวอร์แบบเมื่อก่อนแล้ว

ชีวิต ชา คณะสุเทพฯ เส้นทางดนตรี ซีนเพลงอินดี้ และ Chiang Mai Original ที่พยายามสร้างนิเวศเศรษฐกิจให้วงดนตรีเชียงใหม่

โจทย์ยากเหมือนกัน

ตอนนี้พยายามเข้าไปถึงตัวศูนย์การค้าทั้งหลายของเมือง ให้เขาเห็นว่ามีมูลค่าบางอย่างในเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่โยนไปที่คุณ แล้วมันผลิดอกออกผลได้ทันที แต่ทุกคนต้องมาช่วยกันรดน้ำต้นไม้ ให้มันยั่งยืน ก็พยายามสื่อสารกับทุกคนอย่างนี้ 

ขณะเดียวกัน Chiang Mai Original ก็ทำเพลย์ลิสต์เป็นรายเดือนให้ผู้ประกอบการเลย เช่น เดือนนี้ 40 เพลง เมญ่าลองไปเปิด กาดฉำฉาลองไปเปิด เป็นรูปแบบขอความร่วมมือ ไม่ต้องเปิดทั้งวันก็ได้ เปิดสักช่วงหนึ่ง แทรกเข้าไปในเพลงภาษาอังกฤษที่คุณไปซื้อลิขสิทธิ์มา คุณซื้อปีละกี่หมื่นกี่แสนบาท ต่อไปคุณอาจจะไม่ต้องจ่ายเยอะเท่านั้นแล้ว เงินส่วนต่างเหล่านี้อาจจะทำให้ศิลปินในเชียงใหม่เราอยู่ได้ 

ในระยะยาว Chiang Mai Original จะขับเคลื่อนเรื่องไลฟ์เฮาส์ด้วยไหม

ไม่ยาวหรอก แผนของปีนี้ด้วยซ้ำ ผมว่ายิ่งมีไลฟ์เฮาส์เยอะ ๆ ยิ่งดี ทำให้เกิดวัฒนธรรม คุณอาจเคยจ้างคณะสุเทพฯ ไปเล่นที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง แต่อยากดูอีก คุณต้องขึ้นมาดูเราแสดงไลฟ์เฮาส์ในเชียงใหม่ อาจจะทำเป็นปฏิทิน ระบุว่าช่วงนี้วงเล่นที่ไหนบ้างในเชียงใหม่ เหมือนที่ญี่ปุ่นมีตาราง คืนนี้ไลฟ์เฮาส์ไหนมีวงไหนเล่นบ้าง นี่คือภาพฝันไว้นะ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริง ต่อไปอาจมีเทศกาลดนตรีเล็ก ๆ ของเราเองที่เชียงใหม่ซึ่งดึงคนจากทั่วประเทศมาดูก็ได้ แทนที่นักดนตรีกลางคืนจะขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปเล่นเพลงคัฟเวอร์คนอื่น ได้เงินคืนละ 450 บาท สัปดาห์หนึ่งคุณอาจมีโชว์ที่ไลฟ์เฮาส์สักแห่ง ได้เงินมา 2,000 – 3,000 บาท และมีเวลาพักผ่อน อ่านหนังสือ แต่งเพลง หาแรงบันดาลใจอะไรของคุณไป 

ยังมีแผนการอะไรอีกไหม 

ผมยังมองถึงการเล่นเปิดหมวกตามพื้นที่สาธารณะ ก็คุยกับเทศบาลเรื่องการขอใช้พื้นที่ อาจจะเปิดหมวกตามแลนด์มาร์กที่คนพลุกพล่านช่วงสุดสัปดาห์ แล้วก็ทำสื่อออนไลน์โปรโมตนักท่องเที่ยว เรื่องภาษาก็สำคัญ บางวงทำเพลงภาษาอังกฤษก็ช่วยได้เยอะ โดยพื้นที่นี้คุณไม่จำเป็นต้องเล่นเพลงตัวเองก็ได้ เอาเพลงคนอื่นที่ติดหูหน่อยมาคัฟเวอร์ก็ไม่เป็นไร ขณะเดียวกัน ตอนนี้ก็ทำกับ One Nimman ไปได้สักพักแล้ว ก็ดึงศิลปินเชียงใหม่มาเล่น หรือมีศิลปินจากที่อื่นหรือต่างประเทศมาขอแจมเปิดหมวก จากที่สำรวจมา เชียงใหม่มีวงดนตรีมากถึง 200 วงเลยนะ ที่นี่มีศักยภาพเป็นเมืองแห่งดนตรีได้ 

เชียงใหม่เมืองแห่งดนตรี… อันนี้เป็นเป้าหมายจริงๆ ของคุณเลยหรือเปล่า

ส่วนหนึ่ง ความฝันลึก ๆ คือเราอยากให้ทุกคนที่อยากเล่นดนตรีได้เล่นดนตรี ได้มีความสุขกับการทำเพลงของตัวเอง และมีชีวิตทำมาหากินอยู่ในเชียงใหม่อย่างไม่ลำบาก พอเป็นเมืองดนตรีได้จริง มันก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองได้อีกเยอะ 

ชีวิต ชา คณะสุเทพฯ เส้นทางดนตรี ซีนเพลงอินดี้ และ Chiang Mai Original ที่พยายามสร้างนิเวศเศรษฐกิจให้วงดนตรีเชียงใหม่

ทุกวันนี้นอกจากงาน Chiang Mai Original และคณะสุเทพการบันเทิง ชายังเป็นอาจารย์พิเศษด้านการทำสื่อที่มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น (เขาลาออกจากงานประจำที่วิทยาลัยสื่อฯ มาหลายปีแล้ว) รวมถึงเป็นอาจารย์ด้านการร้องเพลงและคณิตศาสตร์ให้โรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่งในอำเภอสันกำแพง เขายังคงเขียนเพลงสะสมไว้ต่อเนื่อง นาน ๆ ครั้งที่ออกไประลึกความหลังและพบปะผู้คน ด้วยการเล่นดนตรีกลางคืน 

ในช่วงที่เราคุยกัน ชาเพิ่งเสร็จจากการทัวร์คอนเสิร์ตของคณะสุเทพฯ ในต่างจังหวัด และอยู่ระหว่างการซุ่มทำอัลบั้มที่ 3 ของวง ซึ่งน่าจะได้ออกมาเร็ว ๆ นี้ 

ในวัย 40 เศษ ถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนด้วยกันมา ชาบอกว่าเขาไม่ได้มีรถหรู บ้านหลังใหญ่ หรือกระทั่งครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกตามมาตรฐานของคนชั้นกลางทั่วไป กระนั้นเขาก็มีความสุขดีกับชีวิตนักดนตรีและทุกสิ่งที่ได้ทำ และเลิกมองชีวิตเพื่อน ๆ ด้วยสายตาเสียดเย้ยของคนนอกกรอบอย่างที่เคยเป็นตอนเป็นวัยรุ่น – ไม่แม้กระทั่งมีความอิจฉาความมั่งคั่งที่คนอื่นในวัยเดียวกันมี 

เราคุยเรื่องแวดวงดนตรีในเชียงใหม่ในรอบ 20 ปีตั้งแต่ที่คุณเริ่มเล่นดนตรีกลางคืนที่นี่ ถึงทุกวันนี้ คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญอะไรบ้างไหม 

ผมว่าทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่มี ทำให้ทำเพลงง่ายขึ้นเยอะ นักดนตรี นักแต่งเพลงก็เยอะขึ้น ทำเพลงได้เร็วขึ้น และมีพื้นที่เผยแพร่ที่หลากหลายมากขึ้น เดี๋ยวนี้คุณเรียนแค่มัธยมปลายก็ออกอัลบั้มได้เองแล้ว ซึ่งนี่เป็นเรื่องดี 

ในอีกมุม สิ่งที่มันหายไปคือพื้นที่กลางหรือ Hub แบบสมัย No Signal Input หรือร้านขันอาษา เท่าไหร่แล้ว เพราะอย่างไรเสีย ถึงออนไลน์ทำให้ทุกอย่างสะดวก แต่ผมเชื่อว่าพื้นที่ในการแสดงสดยังจำเป็น ถึงแม้เมืองมีบาร์ที่เล่นดนตรีสดเฉพาะทางอย่าง Blues Bar, North Gate หรือ Thapae East แต่เพลงอินดี้ของวงรุ่นใหม่ก็ยังขาดอยู่เยอะ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งมาช่วยหา Supply ตรงนี้ให้วงรุ่นใหม่ด้วย

ชีวิต ชา คณะสุเทพฯ เส้นทางดนตรี ซีนเพลงอินดี้ และ Chiang Mai Original ที่พยายามสร้างนิเวศเศรษฐกิจให้วงดนตรีเชียงใหม่

คุณเคยทะเลาะกับเพื่อนร่วมวง Harmonica Sunrise เรื่องทัศนคติการทำเพลง ถ้าเอาตัวเองตอนนี้ไปอยู่ในเวลานั้น คิดว่าทัศนคติของคุณจะเปลี่ยนไปไหม

ไม่รู้สิ ลูปชีวิตผมก็ยังคล้าย ๆ เดิม ผมไม่ได้ทำเพลงแค่อย่างเดียว ก็ยังสอนหนังสือ ยังทำงานหลายอย่างอยู่ แต่ถามว่าจริงจังกับการทำเพลงไหม คงจริงจังในแง่ที่เราอยากทำเพลงตัวเองให้เจ๋ง ๆ ให้มีคุณภาพออกมา แต่ไม่ได้คิดว่าจะต้องหารายได้เยอะ ๆ จากมัน

ต้องเข้าใจก่อนว่าสมาชิกของคณะสุเทพฯ ทุกคนมีงานประจำ เราออกทัวร์เดือนละ 20 วันแบบวงดนตรีอาชีพวงอื่นไม่ได้ แต่พอทุกคนเล่นดนตรีด้วยกัน เราก็เต็มที่ เพราะฉะนั้น คณะสุเทพฯ ในปีนี้หรือปีต่อ ๆ ไปจะเป็นการรวมวงด้วยความสนุกเป็นหลัก ทุกคนมาเจอหน้ากัน ประชุมวงอาทิตย์ละ 2 ครั้ง มาแต่งเพลงด้วยกัน วันไหนไปทัวร์ อยู่บนรถตู้ก็กินเบียร์กัน แต่ต้องเอาความสนุก ส่งต่อให้น้อง ๆ เพื่อน ๆ ด้วย

ยังดื่มหนักอยู่ไหม

ไม่แล้ว ดื่มเฉพาะกับเพื่อนร่วมวง ทุกวันนี้ผมตื่น 6 โมงเช้ามารดน้ำต้นไม้ วิ่งออกกำลังกาย หาเวลาอ่านหนังสือและเขียนเพลง ซึ่งการได้เรียนวิศวฯ มาก่อนช่วยผมเรื่องการจัดระเบียบความคิดและ Critical Thinking ได้เยอะเลยนะ แต่เอาจริง ๆ ก็เพิ่งเป็นมาไม่กี่ปีมานี้  

อายุ 40 กว่าแล้ว คุณเคยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่มีงานมีการมั่นคงบ้างไหม

ก็เคยมี จริง ๆ อย่างที่บอกผมเคยใช้ชีวิตจนถึงจุดตกต่ำแบบต้องโทรขอยืมเงินจากที่บ้านมาแล้ว ตอนอายุ 30 กว่า ๆ ก็ยังเคยเป็นหนี้บัตรเครดิตและไม่มีเงินเก็บด้วยซ้ำ จนมาช่วงก่อนเข้าโควิด-19 นี่แหละที่เริ่มศึกษาในสิ่งที่คนชั้นกลางทั่วไปเขารู้กัน อย่างพวกการออมทรัพย์ เล่นหุ้น ซื้อกองทุน แล้วก็ทำงานแบบบ้าระห่ำเพื่อเก็บเงิน ซึ่งก็พอดีเลย พอโควิด-19 มา ชีวิตเลยไม่ค่อยลำบากเท่าไหร่ มองย้อนกลับไป ถ้าผมไม่เปลี่ยนตัวเอง ผมอาจต้องย้ายกลับไปอยู่กับแม่ที่ชัยนาทแน่ ๆ  

อะไรที่ทำให้คุณหันมาสนใจเรื่องนี้

ไม่รู้สิ อาจเพราะเราเคยจนมาก ๆ มั้ง แต่ก็ไม่ได้คิดว่าคุณอายุเท่านี้ คุณต้องมีบ้าน มีรถ มีลูก พอผมรอดพ้นมาได้ ก็อยากเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแชร์กับรุ่นน้องนักดนตรี ให้คิดถึงความยั่งยืนมากขึ้น 

ทุกวันนี้ผมยังคุยกับกลุ่มเพื่อนวิศวฯ ทุกคนแต่งงาน มีครอบครัว มีลูกกันหมด แต่ก็ยังคุยเฮฮา คุยเรื่องเพลง แชร์กันเหมือนเดิม ถามว่าแล้วนึกเปรียบเทียบกับเพื่อนไหม ก็ไม่นะ จริงอยู่ เงินที่ผมหามาได้ในแต่ละเดือน บางทีอาจเทียบไม่ได้ต่อรายจ่ายของบ้านพวกมันด้วยซ้ำ แต่ผมรู้สึกโอเคมาก ๆ กับที่เป็นอยู่ตอนนี้ หาเงินได้ก็เก็บออม ใช้เท่าที่จำเป็น และไม่ทำให้ตัวเองลำบาก ผมคิดถึงอนาคตเหมือนกัน พยายามเอาเงินไปลงทุนไว้ 5 ปีคืนเท่านี้ 10 ปีเท่านี้ คิดไว้ว่าถ้าเกิดอายุเกิน 70 ก็น่าจะพออยู่ได้ละวะ 

ลงตัวดีเลย

ใช่ แต่ Chiang Mai Original ก็ยังวุ่น ๆ กับมันอยู่ เพิ่งเริ่มด้วยแหละ เงินก็เข้าเนื้อตัวเองตลอด แต่พอคิดว่าถึงจะไม่สำเร็จ 100% อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่การได้เริ่มต้นมันก็ดีมาก ๆ แล้ว แค่นั้นเลย   

ชีวิต ชา คณะสุเทพฯ เส้นทางดนตรี ซีนเพลงอินดี้ และ Chiang Mai Original ที่พยายามสร้างนิเวศเศรษฐกิจให้วงดนตรีเชียงใหม่

ติดตามผลงานของชาและคณะสุเทพการบันเทิง ทาง www.suthepband.com และ
SUTHEP BAND : คณะสุเทพฯ รวมถึงความเคลื่อนไหวของ Chiang Mai Original ทาง Chiang Mai Original 

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ