28 พฤศจิกายน 2019
15 K

ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวขึ้นหน้าหนึ่งของหลายสำนักข่าวเกี่ยวกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเอกชนชื่อดังย่านสาทรที่อนุญาตให้เด็กนักเรียนมัธยมแต่งตัวด้วยชุดไปรเวตมาเรียนได้อาทิตย์ละ 1 วัน เสียงตอบรับเกิดขึ้นอย่างท่วมท้นทั่วประเทศทั้งชื่นชมและตำหนิ 

หากแต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเรากลับไม่ใช่ภาพของแฟชั่นจากเด็กนักเรียน แต่กลับเป็นภาพของผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อ ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ หรือ ครูทอม ที่ขโมยซีนด้วยการแต่งตัวพูดคุยกับสื่อหลายสำนักในชุดผ้าฝ้ายม่อฮ่อมผสมกับโพกหัวด้วยผ้าขาวม้าแทนที่จะเป็นชุดสูทอย่างที่เราคุ้นเคย 

ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

หรือแม้แต่ในวันเปิดเทอมก็เป็นครูทอมนี่แหละที่แต่งตัวด้วยชุดนักเรียนมาต้อนรับนักเรียนทุกๆ คนด้วยตัวเอง ไม่แปลกใจที่แกจะเป็นคนชูประเด็นเรื่องของการไม่คิดแบบผู้ใหญ่เพื่อสื่อสารกับเด็ก และยังเน้นย้ำอีกว่าผู้ใหญ่เองก็ต้องเคารพเด็กให้เป็นด้วย สิ่งนี้แสดงออกถึงวิธีคิดทำงานแบบนอกกรอบของผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากการให้เด็กแต่งชุดไปรเวตแล้ว ครูทอมยังได้ร่วมกับทีมงานคนอื่นๆ ในโรงเรียนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนอีกหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนระบบการเลือกเรียนจากสายวิทย์-สายศิลป์ให้กลายมาเป็นระบบที่เรียกว่า Track จำลองรูปแบบการเรียนในคณะของมหาวิทยาลัยซึ่งมีทั้งวิชาสามัญผสมกับวิชาชีพเฉพาะทางมาให้เด็กได้ทดลองเรียน 

ไม่ว่าจะเป็น Track นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ที่มีการเรียนการเขียนบทและตัดต่อภาพยนตร์เบื้องต้น Track ศิลปะการประกอบอาหาร สอนทั้งการทำอาหารและทำธุรกิจร้านอาหารเบื้องต้น รวมทั้งหมดกว่า 15 แบบ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ทดลองเรียนรู้ถึงวิชาชีพที่คิดจะเรียนในอนาคตก่อนจะไปถึงรั้วมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ สำหรับคนที่รู้จักตัวเองแน่ๆ ว่าตัวเองจะเรียนต่อทางไหน ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนให้ครบทุกวิชาอย่างที่เป็นมา เช่นคนที่อยากเรียนวิศวะก็ไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาชีวะมากเท่าแต่ก่อน ไปจนถึงการสร้างวิชาการเรียนแบบใหม่ๆ ที่แค่ฟังก็รู้สึกสนุกไปด้วยไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษจาก Netflix การแสดงขั้นพื้นฐาน อาหารจานเดียว Young SME เป็นต้น 

ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

ยัง…ยังไม่พอ ก็เป็นครูทอมคนนี้แหละที่สนับสนุนและผลักดันให้เกิดโครงการมุ่งสู่อวกาศ BCC Space Program ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการสร้างและส่งดาวเทียมฝีมือเด็กในโรงเรียนให้เข้าสู่ห้วงอวกาศในเร็วๆ นี้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากนี้ ล้วนมาจากวิสัยทัศน์ของครูทอมที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนแห่งนี้ให้กลายเป็นสถานที่แห่งความสุข 

สำหรับเราที่เคยผ่านการเรียนการสอนแบบเดิมๆ มานั้นก็จินตนาการไม่ออก ได้แต่คิดว่าโรงเรียนและความสุข สองสิ่งนี้เป็นสองสิ่งที่ไม่น่าจะอยู่ร่วมกันได้ดังเช่นน้ำและน้ำมัน แต่ถ้าใครได้มีโอกาสเดินข้างๆ ครูทอมเข้าไปในโรงเรียนแล้วได้เห็นบรรยากาศการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องที่เจือทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ไปจนถึงเราเห็นคราบความคิดสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมที่ยังคงตกค้างอยู่ตามมุมต่างๆ ของโรงเรียน ไปจนถึงการที่มีเด็กวิ่งมาทักทายหยอกล้อกับแกอยู่เสมอนั้น ก็แสดงออกถึงสัญญาณที่ดีของการเป็นโรงเรียนแห่งความสุข 

ใช่ เพราะในขณะเดียวกันนี้เองก็ยังมีโรงเรียนบางแห่งที่เกณฑ์ให้เด็กทั้งโรงเรียนมาเข้าแถวตากแดดบนถนนเพื่อกราบกรานรอรับส่งท่าน ผอ. โรงเรียนขณะเดินทางอยู่เลย

แต่ก็อย่างที่ทุกคนรู้ว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เคยละเว้นหรือปรานีใคร แม้แต่ ผอ. ของโรงเรียนแห่งนี้ ด้วยเรื่องราวที่หลุดออกไปในข่าวหลายๆ สื่อนั้นทำให้ไม่มีใครรู้ว่า ผอ. ทอมจะยังคงได้สร้างสรรค์โรงเรียนแห่งความสุขนี้ต่อไปได้อีกหรือไม่ หรือจะพลิกหน้าที่กลับมาเป็นครูวิชาดนตรีแบบเดิม หรือตกงานเป็นครั้งแรกของชีวิตในวัย 50 ปี 

และพื้นที่ในหน้าเว็บแห่งนี้ก็คงไม่ใช่พื้นที่ที่เราจะคุยถึงเรื่องนั้นกันหรอก แต่เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องอื่นที่น่าสนใจกว่า ว่าครูทอม ผอ. โรงเรียนที่แหกขนบทั้งหมดแห่งการบริหารสถาบันการศึกษาคนนี้ต่างเคยผ่านมาหมดแล้ว ทั้งชีวิตการเป็นนักเรียนที่เรียนไม่เก่ง ไม่มีความมั่นใจ เข้าเรียนมหา’ลัยโดยปราศจากแพสชันแรงกล้าใดๆ เป็นนายกสโมสรนิสิตตั้งแต่ตอนปี 1

พอเรียนจบก็จับพลัดจับผลูมาเป็นครูสอนดนตรีในโรงเรียนที่ตัวเองเคยเรียน ทั้งที่ไม่เคยอยากจะเป็นครู เคยเบื่ออาชีพนี้จนเกือบจะลาออก ก่อนจะบิดมุมมองที่มีต่ออาชีพ ฉายแววความเป็นผู้นำจนได้ทุนศึกษาต่อเพื่อกลับมาบริหารโรงเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไม่น่าจะสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ได้ แน่นอน ผลงานที่ทำมาในช่วง 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการนี้เป็นที่กระจ่างชัดว่าโรงเรียนแห่งนี้เลือกคนไม่ผิด และนี่คือเรื่องราวชีวิต ทัศนคติ เป้าหมาย ของผู้อำนวยการโรงเรียนที่ชื่อ ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์

ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

ในสมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียน คุณเป็นนักเรียนแบบไหน

ผมว่าผมเป็นเด็กเรียนไม่เก่งที่ไม่มีอะไรโดดเด่น เรามองตัวเองเป็นเหมือนโนบิตะ ความภูมิใจตั้งแต่ช่วง ป.1 มามีแค่เรื่องเดียว คือความสูง ตอนเข้าแถวเราจะยืนอยู่ไม่เกินคนที่สาม เราก็แอบภูมิใจนิดๆ ว่าเราสูงกว่าคนอื่น แค่นั้นแหละ (หัวเราะ)

จากวันนั้นดูคุณอยู่ห่างไกลจากการเป็นผู้อำนวยการสถาบันทางการศึกษาชั้นนำในตอนนี้มากเลย 

เรามองตัวเองเป็นลักษณะนั้นตลอด เลยทำให้ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง พ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ทำงานที่เช้าตื่นมาเตรียมหุงหาอาหารให้ แล้วเราก็ไปโรงเรียน กว่าจะกลับถึงบ้านก็เย็น วันเสาร์พวกเขาก็ทำงานครึ่งวัน ทำให้โอกาสที่จะเจอกันมันน้อยมาก กลายเป็นว่าเราต้องรับผิดชอบตัวเองในการหาตัวเองขึ้นมา

แต่มันเกิดมีจุดเปลี่ยนสามจุดในชีวิต จุดแรกเกิดขึ้นตอน ป.5 เป็นจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ คือการสมัครนักเรียนเข้าชุมนุมดนตรี สมัยนั้นเวลาเลือกเด็กเล่นดนตรี เขาจะคัดจากความสูงด้วย ต้องร้อยห้าสิบเซนติเมตรขึ้นไป ตอนนั้นเราสูงร้อยห้าสิบสามเซนติเมตร ในห้องก็มีไม่กี่คน มันจึงกลายเป็นความภูมิใจที่ได้เข้าชมรมทั้งๆ ที่ไม่เคยเล่นดนตรีอะไรเลย 

แล้วพอดีว่าชุมนุมนี้ไม่ได้แค่สอนให้เล่นดนตรี มันมีการเซ็ตระบบ มีกรรมการดูแลน้องที่ซ้อม หากน้องไม่มาก็ต้องไปตาม มีระบบสอนน้อง ระบบการเป็นผู้นำของหัวหน้าวง มันเลยพัฒนาและฝึกวินัยให้ตัวเรา ทุกอย่างต้องเห็นภาพของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งเราได้จากตรงนี้เยอะ

จุดที่สองเป็นการถูกเรียกออกไปพูดหน้าชั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เคยทำเลยตั้งแต่เรียนมา เราจำได้ว่าเราพูดด้วยอาการสั่น เหงื่อแตก หน้าซีด พอพูดจบอาจารย์ก็บอกว่าเราทำได้ดีมาก เพราะคำนี้คำเดียวที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนเรา เพราะไม่เคยได้รับคำชมอะไรมาก่อน แล้วเราเก็บความรู้สึกนั้นไว้ตลอด นั่นจึงทำให้เราเกิดความมั่นใจขึ้นมาเล็กๆ เวลาที่ต้องพูด โดยเฉพาะพูดหน้าชั้น เราจะสมัครเป็นคนพูด ช่วงหลังๆ เวลามีงานนำเสนอของกลุ่มเราจะอาสาเป็นคนนำเสนอให้ กลายเป็นเรามั่นใจในตัวเองว่าเราทำได้ดี

จุดสุดท้ายคือตอนอยู่ ม.1 ในชมรมดนตรีเรามีตำแหน่งเป็นคนเล่นทรัมเป็ต แล้วในรุ่นนั้นไม่มีใครเล่นซูซาโฟน (เครื่องดนตรีขนาดใหญ่คล้ายทูบา) เพราะมันมีขนาดใหญ่มาก คนที่เล่นก็ต้องตัวใหญ่ตามไปด้วย ซึ่งการขาดคนเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้มันทำให้เพลงที่วงเล่นออกมาฟังไม่เพราะ ตอนนั้นเราคิดว่าเราเองก็เล่นทรัมเป็ตเก่งพอตัวแล้ว ไม่รู้จะเล่นต่อไปทำไม เลยขอย้ายมาเล่นซูซาโฟนเอง ปรากฏว่าเพลงมันเพราะขึ้นเมื่อเราไปเล่น เราก็แอบภูมิใจของเราอยู่คนเดียวว่าเพลงมันเพราะขึ้น แค่เพราะเรายอมเล่นมันเท่านั้นเอง 

ถึงจะหนักหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่มันก็สร้างความสับสนในชีวิตเหมือนกัน เพราะวิธีการเล่น วิธีการอ่านโน้ต การวางมือ มันกลับกันกับทรัมเป็ตทั้งหมด พอหัดเล่นซูซาโฟนไปสักพัก ทางโรงเรียนก็สั่งเครื่องทูบามาใหม่แทนซูซาโฟนเราก็ต้องมาหัดใหม่อีก มันทำให้เราคิดได้ว่าเราไปถึงจุดพีกสุดของดนตรีในด้านนี้ไม่ได้แน่ จุดเปลี่ยนตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกว่าการยอมเสียสละตนเองเพื่อคนอื่น ที่จริงแล้วมันไม่ใช่แค่ทำให้คนอื่นมีความสุข เราเองก็มีความสุขด้วย ต่อให้คนอื่นไม่ชื่นชมก็เถอะ ปัจจุบัน เราสอนเด็กทุกคนเสมอว่า ชีวิตคุณ คุณต้องอยู่เพื่อผู้อื่น อย่าคิดอยู่เพื่อตัวเองเป็นหลัก เพราะการอยู่เพื่อคนอื่นมันคือความสุขที่แท้จริงที่คุณจะได้รับ

ครูทอม ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

แล้วความคิดที่จะเป็นครูมันมาจากไหน

มันเกิดจากการจับผลัดจับผลู เด็กในสมัยนั้นถูกสภาพแวดล้อมบอกว่าคุณต้องเรียนหนังสือ มิฉะนั้นคุณจะไม่มีอนาคต ภาพนี้มันถูกฝังในหัวมาตลอด พอขึ้น ม.ปลาย เราก็รู้แล้วว่าเรากระเสือกกระสนเรียนสายวิทย์ไม่ได้ เต็มที่ก็ได้แค่ศิลป์-คำนวณ ฉะนั้น ตอนเลือกแผนการเรียน ณ ช่วงเวลานั้นก็ยังไม่เกี่ยวกับเรื่องของความชอบ แต่เลือกตามความสามารถด้านการศึกษาที่เราถูกประเมิน แล้วการสอบเอนทรานซ์ในสมัยนั้นมันเลือกได้หกอันดับ พ่อแม่บอกไว้ว่าไม่ให้ไปต่างจังหวัด เพราะเขากลัวเราเสียคนและทางบ้านก็ไม่มีเงินด้วย ซึ่งถ้าเอนทรานซ์เข้ามหา’ลัยรัฐบาลไม่ได้ก็ต้องไปเรียนรามฯ สถานเดียว ซึ่งเราก็ไม่อยากเพราะรู้สึกเสียฟอร์มก็เลยมาลองวางแผนดู

ตอนนั้นเราชอบและอยากเรียนวิชาบัญชีมาก แต่พอเห็นคะแนนที่สูงมากก็เลยเปลี่ยนเป็นเศรษฐศาสตร์สองอันดับแรก สองอันดับถัดมาเราเลือกเป็นของที่ถนัดคือดนตรี ซึ่งสถานที่ที่สอนและใช้ความสามารถด้านการเล่นทูบาก็มีอยู่แค่สองที่ คือจุฬาฯ กับ ม.เกษตรศาสตร์ เลยลงสองที่นี้ ส่วนสองอันดับสุดท้ายเป็นประวัติศาตร์ โบราณคดี เพราะสมัยนั้นคนเรียนคณะพวกนี้ยังมีน้อยอยู่ ผลออกมาก็สอบติดสาขาดนตรีสากล ภาควิชาศิลปนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผมเคยอ่านเจอว่าคุณทำกิจกรรมเยอะมากในช่วงเวลานี้ของชีวิต

ภาควิชาที่เรียนทั้งรุ่นมีกันอยู่เจ็ดคน เรียนกันโคตรสนุกเลยเพราะไม่ได้มีสอบเหมือนคณะอื่นๆ แต่นอกจากการเรียนแล้วเรายังสนใจเรื่องกิจกรรมด้วย คือเคยไปฟังวิทยากรที่มาบรรยายหลายท่านพูดว่าคุณอย่าเรียนอย่างเดียว กิจกรรมสำคัญมาก มันพัฒนาอะไรหลายๆ อย่าง ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ ได้ฟังกันรึเปล่า แต่สำหรับเราพอฟังแล้วก็เริ่มคิดกับตัวเองว่า เราเป็นคนเรียนไม่เก่ง เราต้องเอาสิ่งนี้มาทดแทน เลยกลายเป็นคนชอบและมีความสุขในการทำกิจกรรม และทำกิจกรรมเยอะมาก

ตอนปีหนึ่งเราไม่เคยอยู่ตึกภาควิชาเลย มาทำกิจกรรมอยู่ที่คณะตลอด แล้วยังมีไปสมัครชมรมโรตาแรคท์ที่ทำกิจกรรมบ้าบออะไรก็ได้ ขอแค่กิจกรรมนั้นพัฒนาความเป็นผู้นำของคุณ เข้าทางเราเลย เลยยิ่งได้ทำหลากหลายมาก ทำมากเสียจนเราเป็นนิสิตปีหนึ่งคนแรกที่ลงสมัครนายกสโมสรนิสิตแล้วได้รับเลือก ตอนนั้นคิดโครงการใหม่หมด ทำละครคณะ จัดการแข่งขันตอบปัญหาภาษาอังกฤษ เต็มไปหมดเลย

ครูทอม ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

ทำไมต้องทำกิจกรรมที่หลากหลายขนาดนั้นด้วย

พอเรามีความคิดว่าเราต้องอยู่เพื่อผู้อื่น มันกลายเป็นความรับผิดชอบของเราในฐานะนายกสโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์ ถ้าแค่มาเป็นแต่ไม่ได้ทำอะไรเลยมันไม่ใช่เรา เราก็พยายามมองว่าคณะมนุษยศาสตร์ทำอะไรได้บ้าง จริงๆ มันโคตรกว้างเลยนะ มันเหมือนคณะอักษรศาสตร์บวกกับดนตรีและนิเทศศาสตร์ เราก็เห็นแล้วว่ามีกลุ่มรุ่นพี่ที่เขาทำละครคณะ ทำค่ายอาสา อย่างอื่นที่ยังไม่ได้ทำก็แง่ของภาษาศาสตร์ เราจึงจัดแข่งขันตอบปัญหาภาษาอังกฤษขึ้นมา หรือประกวดวงดนตรีสตริงคอมโบ อีกอย่างคือเราชอบความภูมิใจที่ได้ทำงานต่างๆ ขึ้นมา คนอื่นจะชื่นชมไหมเราไม่สนใจ เรารู้และภูมิใจของเราเอง

หลังจากถูกเลือกมาเป็นนายกสโมสรฯ ตอนปลายปีหนึ่ง ได้ลงมือทำกิจกรรมพวกนี้ตอนปีสอง แต่ผลการเรียนของเราออกมาไม่ดี ติดโปรสูง (Probation หรือภาคทัณฑ์ในกรณีที่เกรดต่ำกว่า 2.00 ซึ่งอาจจะโดนรีไทร์) พอจบปีสองเราก็เริ่มคิดแล้วว่ากิจกรรมพวกนี้พอจบแล้วจะเอาไปสมัครงานได้รึเปล่า เลยบอกตัวเองให้กลับคณะไปเรียนต่อ และเพลาๆ กิจกรรมลง แต่ยังคงทำกิจกรรมของสโมสรโรตาแรคท์ควบคู่ไปด้วย

ตอนนั้นเราก็เริ่มคิดถึงอนาคตการทำงานด้วย ในสมัยนั้นการเรียนดนตรีมันช่างมืดมนเหลือเกิน ไม่รู้ว่าเรียนจบไปจะทำอะไรดี โดยเฉพาะความสามารถในการเล่นทูบา ก็เลยเริ่มฝึกและหัดเล่นเปียโนกับคีย์บอร์ด เพราะเราเองก็พอเล่นกีตาร์และเบสได้บ้าง เลยพยายามเล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นดู จึงเล่นได้หลากหลาย อาจจะไม่เก่งมาก แต่รู้ธรรมชาติของเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นเส้นทางในการเป็นนักแต่งเพลง เราก็เลยทุ่มเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้ แต่มันก็ยาก ตอนที่เรียนจบยังคิดเลยว่าอาจจะไปเล่นดนตรีตามผับ

แล้วคุณได้เป็นนักดนตรีตามที่คิดมั้ย

ไม่ ตอนเรียนจบเราก็เคว้งอยู่ ตอนปลายปีต้องเดินทางไปเกาหลี เลยยังไม่อยากสมัครงาน กลัวจะมีปัญหา ก็เลยเปิดสอนดนตรีที่บ้าน สักพักอาจารย์ประจำชมรมดนตรีที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนก็ติดต่อให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรี ซึ่งผมไม่เคยคิดอยากจะเป็นครูเลยนะ มันไม่เท่ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่น่าภูมิใจ (หัวเราะ) แต่ก็ลองไปทำดู อย่างแรกคือ ดีกว่าอยู่เฉยๆ อย่างที่สองคือ รู้สึกว่ามันท้าทาย ทำยังไงให้เด็กมันฟังเรา เพราะตอนที่เราเรียนครูบางคนโดนตั้งฉายาโน่นนี่นั่น พอเราเข้ามา เราบอกกับตัวเองว่าเราต้องไม่เป็นหนึ่งในนั้น

วันแรกที่เข้ามาสอนเราก็นึกย้อนไปถึงตอนที่เราเป็นเด็ก เวลาเราเจอครูเราท้าทายอะไรเขา เราเลยรู้ว่าเด็กต้องการอะไร ถ้าคุณเข้าไปสอนห้องเด็กเรียนเก่ง เขาจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงและสงสัยว่าครูเขารู้จริงรึเปล่า ตอนนั้นคิดอย่างเดียวเลยว่ากูต้องข่มมึงก่อน (หัวเราะ) เราเลยเข้ามาด้วยแนวการสอนที่ดุนิดหน่อย และใช้วิธีที่หลากหลายในการสอนให้สนุก และทำให้เขาเห็นว่าเรามาสอนได้เพราะเราเป็นของจริง พอเด็กยอมรับมันก็ง่ายขึ้น พอสอนจบพวกครูระดับหัวหน้าเขาชมเรา เขาเช็กเรตติ้งเราจากเด็กๆ เขาเห็นว่าเราทำได้ดี ควบคุมเด็กได้ และถ่ายทอดให้เด็กเข้าใจได้ ก็เลยโดนทาบทามให้มาเป็นอาจารย์ประจำเพื่อดูแลวงดุริยางค์

ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

จากที่ว่าทีแรกไม่อยากเป็นครูแน่ๆ อะไรทำให้คุณตัดสินใจมาเป็นอาจารย์ประจำแบบนี้

หน้าที่ของเราคือดูแลวงดุริยางค์ ซึ่งงานนี้มันจะเป็นช่วงเย็น เพราะฉะนั้น ช่วงกลางวันเราต้องคิดเองว่าจะทำอะไร เราก็เลยเบื่อและเคว้งมาก ส่วนหนึ่งคือเราไม่ได้ชอบอาชีพครูเลย โคตรเบื่อ ไม่รัก และไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ไม่มีกะจิตกะใจจะสอน เราเลยไม่อยากเป็นเพื่อนกับใคร เราคิดว่าเด็กเองก็รับรู้ได้เหมือนกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกเขารวมตัวมาต่อว่าเราด้วยซ้ำ

ถ้าให้มองย้อนกลับไปถึงช่วงที่เป็นนายกสโมสรนิสิตฯ เราก็เคยถูกเพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรมด้วยกันมาต่อว่าแบบนี้แหละว่าทำงานไม่เป็น อาจจะเพราะด้วยนิสัยส่วนตัวและการทำงานที่ไม่ตรงกัน ก็เลยมาคุยกันว่าจะทำยังไง เพราะถ้าเราลาออกมันต้องเลือกตั้งกันใหม่วุ่นวาย เลยตกลงกันว่าจะให้เพื่อนอีกคนมาทำหน้าที่แทน ส่วนเราเป็นแค่ในนาม แต่ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เพราะเราก็ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อ จนกระทั่งปลายปีเพื่อนคนนั้นมาพูดกับเราว่า เขายอมรับว่าถ้าเราไม่เป็นนายกฯ แล้วใครจะมาเป็น แค่นั้นเราก็รู้แล้วว่าเราพิสูจน์ตัวเองได้แล้ว

ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ตอนแรกเราถอดใจจะลาออกไปสมัครงานที่อื่นแล้ว แต่สุดท้ายก็มีคุณครูมาพูดกับเราว่าอย่าไปเลยอยู่ช่วย BCC ด้วยกันก่อน เท่านั้นแหละ ไม่รู้ทำไมนะ เราตัดสินใจไม่ไป เราเลยไปพิสูจน์ให้เด็กพวกนี้เห็นว่าเราไม่ใช่คนแบบนั้น และทุ่มเทมากขึ้นจนกระทั่งเด็กๆ ยอมรับ

คุณแก้ปัญหาความไม่ชอบและการไม่มีความสุขกับการทำอาชีพนี้ยังไง

เรานั่งคุยกับตัวเอง ตอนนั้นเรายังไม่ได้เก่งมากเรื่องดนตรี มันก็ไม่น่าจะมีโอกาสให้เราไปได้ มันมืดมาก แล้วเราจะทำยังไง เราจะอยู่แบบทรมานกับตรงนี้ไปตลอดชีวิตเหรอ ก็เลยเปลี่ยนความคิด ถ้าเรายังต้องอยู่ที่นี่ ต้องทำยังไงให้เรามีความสุข มันเหมือนเมฆดำๆ ที่มีรู แล้วมีแสงลอดออกมา เราเลยถามตัวเองว่าอยากทำอะไร อยากทำอัลบั้มเพลงเพราะชอบแต่งเพลง แล้วจะทำได้ยังไงในเมื่อเราเป็นครูอยู่ที่นี่ ทำได้สิ แต่มันจะเป็นเพลงอะไรแค่นั้นเอง แล้วถ้าไม่ได้แต่งเพลงข้างนอกแต่คุณได้ทำเพลงอยู่ดี คุณจะเอาไหม เอา…อย่างน้อยได้ฝึกประสบการณ์

เราเลยไปคุยกับอาจารย์คนอื่นๆ เกิดเป็นโครงการรวบรวมทำเพลงรุ่นเท่าที่จะหาได้ แล้วทำเรื่องของบโรงเรียนซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุดในยุคนั้นและแพงที่สุดในโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารก็ให้ แล้วเราก็ตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อรวมเพลงรุ่น คราวนี้เลยได้ฝึกเรื่อง Music Computer จริงจังเพราะมีอุปกรณ์ครบแล้ว

เรามองว่าถ้าเราพัฒนาตรงนี้ได้ เราก็คงเหมือนเป็นนักแต่งเพลงอิสระ นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความสุขในการทำงาน แล้วมันก็ไปได้เรื่อยๆ เลยนะ ตอนนั้นช่วงกลางวันก็เริ่มได้สอนวิชาศาสนกิจด้วย เราพัฒนาการสอนของเรา โจทย์ของเราคือเด็กไม่ฟัง ตอนที่ขึ้นสอนเราเลยพยายามใช้รูปแบบการสอนแบบใหม่ๆ ที่ทำให้เด็กสนใจ ฟังได้ตลอด พอทำแบบนี้เราเริ่มสนุกกับงาน ความรู้สึกเบื่อเมื่อก่อนตอนนี้มันหายไปแล้ว เราอยากให้ถึงวันจันทร์ โคตรอยากมาทำงาน

และพอดีว่าช่วงนั้นวงการดนตรีมันเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เราได้ฝึกหัดพัฒนาการทำเพลงอยู่อย่างสม่ำเสมอโดยใช้งานของโรงเรียน ซึ่งสุดท้ายโครงการรวมเพลงรุ่นมันก็ล้มเหลวไป แต่ก็มีคนมาจ้างเราให้ทำอัลบั้มเพลงของ ร.9 ผ่านทางโรงเรียน ช่วงนั้นเราเลยได้ฝึกเป็นโปรดิวเซอร์ เราต้องคุมการร้อง 

ไม่ว่าจะเป็น คุณต้อย-เศรษฐา ศิระฉายา, คุณวิยะดา โกมารกุล ณ นคร, คุณจิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว หรือ คุณชรัส เฟื่องอารมย์ เราผ่านมาหมดแล้ว ซึ่งซีดีชุดนั้นขายได้สองหมื่นแผ่น โคตรภูมิใจเลย หลังจากนั้นจึงเริ่มมีคนติดต่อให้แต่งเพลงให้หลายสถาบัน ตอนนั้นคิดในใจว่าเริ่มมีช่องทางแล้ว แต่อยู่ดีๆ โรงเรียนก็เรียกไปคุยว่าจะส่งเราไปเรียนเกี่ยวกับบริหารการศึกษาที่ต่างประเทศเพื่อกลับมาบริหารโรงเรียน จบเลย! เส้นทางวงการดนตรีทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมด (หัวเราะ)

ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

โรงเรียนเห็นอะไรในตัวคุณ ทำไมจึงเลือกให้คุณในฐานะอาจารย์ชมรมดนตรีไปเรียนต่อเพื่อมาบริหาร

เราเดินเข้าไปขอผู้บริหารตลอดเลยนะว่าเราอยากเรียนต่อ แต่ตอนนั้นตัวเรามันยังไม่เข้ากติกาของเขา ทีมบริหารจะดูคนที่มารับช่วงต่อการบริหารโรงเรียนอยู่ตลอด ซึ่งเรากลายเป็นหนึ่งในคนที่เขามองว่าหน่วยก้านใช้ได้ เพราะเราพยายามหากิจกรรมให้ชุมนุมดนตรีทำอยู่ตลอด ส่งวงดุริยางค์ไปบรรเลงคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก มีแม้กระทั่งตั้งวงออร์เคสตราด้วย เรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเราเบื่อการทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ และชอบทำอะไรใหม่ๆ ท้าทายอยู่ตลอด สิ่งพวกนี้มันก็คงจะไปเข้าตาทางผู้บริหารน่ะแหละ

พอผู้บริหารเรียกมาคุย ก็ให้โจทย์มาว่าไปที่ไหนก็ได้ แต่ต้องเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและนำกลับมาใช้ได้ โดยเราต้องหาข้อมูลและทำเอกสารด้วยตัวเองทุกอย่างจนต้องหยุดพักการทำเพลงไว้ก่อน ก็พอดีที่น้องคนหนึ่งโทรมาจากอเมริกา เขาแนะนำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยคริสเตียน และมีสาขาด้านการศึกษาชื่อว่า Educational Leadership เราสะดุดทันที เพราะเป็นสาขาที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก และเราเองก็สนใจแนวทางการเป็นผู้นำอยู่แล้ว 

ปรากฏว่ามันลงล็อกทุกอย่างก็เลยเลือกเรียนที่นี่ ซึ่งคือมหาวิทยาลัย Bob Jones University อยู่ที่ South Carolina เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคนรู้จักในระดับหนึ่ง และเป็นมหาวิทยาลัยที่มหัศจรรย์มาก เพราะมันเป็นมหาวิทยาลัยคริสเตียนและ Conservative ในเมืองนั้นแทบจะไม่มีผับหรือร้านเหล้า ทีวีเขาก็ไม่ค่อยดูกัน แล้วมันมีกฎระเบียบแปลกๆ เยอะมาก อย่างเช่นใส่กางเกงยีนส์ไปเรียนไม่ได้ รองเท้าแตะหรือกางเกงขาสั้นก็ห้ามใส่ หรือถ้าคุณจะจีบกันเนี่ยเขาโอเค คุณจะใกล้กันจนจมูกแทบจะชนกันเขาก็ไม่ว่า แต่ห้ามโดนตัวกัน เพลงเขาก็ห้ามฟังแนวสตริง ต้องฟังแนวออร์เคสตรา กฎพวกนี้ถ้าคุณฝ่าฝืนคุณจะถูกตัดคะแนน ถ้าถูกตัดคะแนนเกินสี่สิบเขาจะส่งคุณกลับประเทศ

การเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยมแบบนั้นมันสร้างการเป็นผู้บริหารที่คิดนอกกรอบได้ด้วยเหรอ

ได้ครับ (ตอบทันที) เราเป็นคนแนวแหกคอก ซึ่งพอเราเข้าไปสู่รั้วของมหา’ลัย Conservative แบบนี้ทำให้เราได้เข้าใจคำว่าคิดนอกกรอบมากขึ้น ไอ้การคิดนอกกรอบนี่มันจะทำได้ยังไงถ้าคุณไม่รู้ว่ากรอบคืออะไรบ้าง ซึ่งพอเราเข้าใจ การคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมามันก็จะไม่ได้นอกกรอบเสียจนคนอื่นรับไม่ได้ไง หลายคนไม่เข้าใจตรงนี้ สมมติคุณต้องทำวิทยานิพนธ์และต้องเป็นหัวข้อใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน คุณจะได้ยินอาจารย์ที่ปรึกษาบอกทันทีว่าให้ไปอ่านของเดิมให้หมด

นักศึกษาจะไม่เข้าใจว่าการอ่านของเดิมจะสร้างของใหม่ขึ้นมาได้ยังไง นั่นเพราะเขาไม่เข้าใจรากศัพท์ของคำว่า คิดนอกกรอบ นั่นเลยทำให้ผมสนใจคำว่า Cool มีคนไปค้นคว้าความหมายของคำนี้มา ซึ่งมันหมายถึงคนที่อยู่ในกรอบ แล้วพยายามที่จะออกนอกกรอบ แต่ก็ไม่ได้แหกคอกสิ่งที่อยู่ในกรอบไปเสียหมด มันเลยเป็นคำที่แปลได้ว่าเจ๋ง เพราะถ้าแหกคอกออกไปเลยอาจทำให้บางคนรู้สึกว่ามันเกินไปและรับไม่ได้ 

ปรัชญาการศึกษาของคุณคืออะไร  

การศึกษาคือการทำให้คนเข้าใจ รู้จักตัวเรา และรู้จักสังคม ทำยังไงให้สองภาคนี้เดินอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข มันจะมีคำว่า Balance ชีวิตเข้ามา ชีวิตเราอาจจะไม่ได้ทำงานที่เรารัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีความสุขไม่ได้ ทำให้วิธีการคิดและปรัชญาเหล่านี้ถูกวางทิ้งไว้ตั้งแต่ต้น คนทั่วไปเวลาพูดถึงการศึกษาก็จะไปเน้นที่คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทั้งที่ความรู้มีเยอะแยะมากมายในกูเกิล แต่ทำไมคุณไม่ทำให้คนในแวดวงการศึกษาหรือผู้ปกครองเข้าใจสิ่งที่เป็นพื้นฐานจริงๆ

ครูทอม ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

หลังจากเรียนจบครูทอมกลับมาทำหน้าที่อะไร เป็นผู้บริหารเลยไหม

ตอนเรียนจบกลับมาเขาให้เรารับผิดชอบหน้าที่ของทางศาสนกิจประมาณสามสี่เดือนเพื่อรอให้สิ้นปีการศึกษา หลังจากนั้นก็ย้ายไปเป็นคนดูแลโครงการ English Program รวมถึงดูแลพวกกิจกรรมพิเศษ เช่น งานเชียร์และแปรอักษร รวมไปถึงงานกีฬาอื่นๆ แล้วก็เริ่มมาดูแลเป็นฝ่ายบริหารตั้งแต่ตอนนั้น จนมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเมื่อสองปีที่แล้ว

การบริหารโรงเรียนของครูทอมเป็นยังไง

พอมองย้อนไปถึงตัวเองตอนเป็นครูสอนเด็กก็ทำให้ได้คิดหลายอย่าง เช่นการทำให้เด็กเจอตัวตนยิ่งเร็วยิ่งดี ซึ่งการที่เขาจะเจอตัวตนได้ เขาต้องรู้กระบวนการของการคิดให้เป็นก่อน การสร้างคำว่า ‘คิดเป็น’ ให้เด็กมันสำคัญมาก แต่โรงเรียนของเรา ณ ปัจจุบันมันยังไปไม่ถึง กลายเป็นให้เด็กไปผจญเอาเอง หลักสูตรทำให้เห็นแต่ภาพปลายทางของวิชาต่างๆ ว่าเรียนจบแล้วจะมีความรู้อะไรบ้าง แต่ไม่ได้มาพูดในลักษณะที่ว่าเด็กต้องมีความเป็นผู้นำ หรือการคิดเป็นคืออะไร

เราก็เลยต้องค่อยๆ เริ่มไป ซึ่งการได้มาอยู่ในตำแหน่ง ผอ. ก็เป็นการจับพลัดจับผลูมาอีกแล้ว เพราะผู้บริหารชุดก่อนเขาเห็นผมทำงานกิจกรรมเลยจะให้เป็นผู้จัดการ และ ดร.วัชรพงษ์ อภิญญานุรังสี ซึ่งมาจากครูสายวิชาการ ถูกวางตัวให้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการ สุดท้ายดันสลับตำแหน่งกัน กลายเป็นเราไม่ได้รับการยอมรับจากครูฝ่ายวิชาการ เพราะพวกเขาเก่งจริง กลายเป็นโจทย์ให้เราต้องพิสูจน์ตัวเอง 

เราต้องทำให้เขายอมรับให้ได้ว่าเราคือนักการศึกษารุ่นใหม่ เราจึงพยายามเอาความรู้ที่ได้มาผสมกับอ่านความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องและทำในแง่ที่ผู้บริหารต้องทำ ฟังดูเหมือนง่าย แต่ทำจริงๆ ไม่ง่ายเลย (เน้นเสียง) สิ่งที่เราเปลี่ยนอย่างแรกเลยคือ วิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ก่อนหน้านั้นยาวเหยียดแต่ไม่มีใครจำได้ 

ปีแรกที่เราเข้ามาร่วมทีมบริหาร (พ.ศ. 2550) เราจึงเปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น ‘โรงเรียนแห่งอนาคต’ ซึ่งสั้นลงจนใครๆ ก็จำได้ และมันเข้าใจง่ายมาก ถ้าใครจะทำโครงการอะไรใหม่ๆ ก็ไปดูเลยว่ามันสะท้อนอนาคตมั้ย จบสี่ปีมามาดูได้เลยว่าที่เราตั้งไว้ว่าจะเป็น School for the Future นี่เราเป็นได้จริงรึเปล่า เป็นจริงได้กี่เปอร์เซ็นต์

พอทุกคนเข้าใจคอนเซปต์ ทุกคนซื้อ วันรุ่งขึ้นเราคิดถึงวิสัยทัศน์ที่จะใช้ในอีกสี่ปีข้างหน้าทันที นั่นคือคำว่า ‘โรงเรียนแห่งความสุข’ นี่คือความรับผิดชอบและหน้าที่ของผู้บริหารในการหาวิสัยทัศน์ที่ท้าทายและสนุกให้องค์กร อย่างที่บอกว่าหลักการของเรา คือถ้าเราทำให้คนอื่นมีความสุขได้ เรายิ่งมีความสุขมากกว่าคนอื่น พอตั้งวิสัยทัศน์แบบนี้ คราวนี้มันไวขึ้นมาก เพราะครูทุกคนเริ่มเข้าใจหลักการ เราได้บอกเด็กๆ ไว้ว่าความสุขมันอยู่รอบๆ ตัวเรา เราจะหยิบคว้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ และมันเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องสอนให้พวกเขารู้จักวิธีไขว่คว้าความสุข

การเป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งเป้าหมายเป็นสถานที่แห่งความสุขดูเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกันรึเปล่า

แนวคิดเหล่านี้เราได้มาจากตอนเรียนที่อเมริกา เพราะเขาตีแผ่ให้เห็นเลยว่าระบบการศึกษาถูกเขียนขึ้นมาอ้างอิงจากรูปแบบสังคมและเศรษฐกิจในยุคนั้นๆ ยิ่งระบบการศึกษาในยุคหลังมันคือการผลิตแรงงานเพื่อป้อนเข้าไปในระบบการผลิตของโรงงาน การศึกษาต้องหล่อหลอมเด็กให้รู้ว่าเขาคืออะไร เขาอาจจะมีความสุขที่ถูกป้อนเข้าไปในระบบ แต่บางคนไม่ใช่ ต้องทำให้เขาอยู่ได้ ถ้าเขาอยู่ไม่ได้ก็ต้องไม่ทำให้เขาดูเป็นตัวแปลกประหลาดในสังคม

ระบบการศึกษาที่โด่งดังมากในตอนนี้อย่างฟินแลนด์ ไม่มีการบ้าน ไม่มีการสอบ เด็กนักเรียนเขาก็เลือกสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแค่สามสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายก็ค่อนข้างสูงด้วย ซึ่งในปัจจุบันปัญหาที่เราเจอคือภาวะซึมเศร้าแพร่หลายกันมากขึ้น 

เพราะฉะนั้น โจทย์มันจะไม่ใช่เรื่องการหาความสุขได้ยังไง ถ้าคุณไม่สอนให้ลูกหลานไขว่คว้าหาความสุขตอนนี้ พวกเขาจะมีปัญหาทันทีในอนาคต ถ้าเด็กเรายังอยู่ในวงจรที่ว่าคุณต้องประสบความสำเร็จในชีวิตก่อนจึงจะมีความสุข เราจะบอกพวกเขาว่านั่นคือวิธีคิดแบบเก่า คุณไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในชีวิตคุณก็มีความสุขได้ ถ้าคนที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจมีเงินเยอะแล้วมีความสุขจริง ทำไมเขาถึงยังฆ่าตัวตาย ฉะนั้น โจทย์ของครู คือเราต้องสร้างให้เด็กเห็นจริงๆ ว่าความสุขไขว่คว้าได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ประสบความสำเร็จ 

ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข
ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

ในแง่ของผู้บริหารการศึกษาโรงเรียนที่มีอายุยาวนาน การชูแนวคิดนี้ขึ้นมามันเป็นยังไงบ้าง

ก็โดนค้านบ้าง การที่เขาไม่เห็นด้วยก็ไม่ผิด เพราะเราเข้าใจว่าทีมบริหารของโรงเรียนในตอนนั้นอยู่ในช่วงไม้ผลัดใบ แล้วเราเป็นคนรุ่นใหม่ มันก็ต้องใช้เวลาทำให้คนอื่นๆ ยอมรับ เมื่อคุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง คุณจะใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าเลยไม่ได้ มันจำเป็นต้องใช้เวลา ส่วนจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับศิลปะของผู้บริหาร ซึ่งรูปแบบการบริหารในอนาคตมันจะต้องไม่ใช่ ผอ. มานั่งสั่งแล้ว แต่เป็นรูปแบบอัศวินโต๊ะกลมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ซักและค้านกันได้หมดด้วยการค้นคว้าทำการบ้านกันมา อย่างกรณีชุดไปรเวตใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะได้ดำเนินการ แล้วพอเราเริ่มทำโครงการต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกเพื่อสร้างความสุขแบบนี้แล้ว ปัญหาในโรงเรียนมันก็ลดลงจริงๆ

หลักสูตรในฝันของครูทอมเป็นยังไง

เราหาข้อมูล Top 10 Schools in the World แล้วศึกษาข้อมูลพวกนี้ก่อนทำเป็นหลักการในการทำโรงเรียนที่เหมาะสำหรับเด็กยุคใหม่ขึ้นมา เคล็ดลับที่จะไปถึงจุดนั้นได้คือคุณต้องเข้าใจคำว่า ‘ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง’ กันจริงๆ สักที แล้วก็ดีไซน์ออกมา ห้องเรียนมันจะเป็นสี่เหลี่ยมไม่ได้

ในกรณีของ BCC ผมกำลังทำโปรแกรม แต่ยังหาคำสวยๆ มาเรียกไม่ได้ เราใช้คำว่า ‘ซักผ้าไม่ง้อแดด’ หมายความว่า สมัยก่อนปลายทางของเด็กมัธยมคือการเข้าไปสร้างตัวตนในมหาวิทยาลัย แต่ในปัจจุบันคุณไม่จำเป็นต้องรอถึงตอนนั้น คุณก็ควรจะค้นพบตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องรอวิชาในมหาวิทยาลัย อย่างตอนนี้เราก็นำการสอน Young SME เข้ามาในโรงเรียน

 เรามีแผนที่จะทำ Thailand Research Center of Students ไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป แต่เป็นศูนย์งานวิจัยสำหรับนักเรียน เรากำลังคุยกับโรงงานไนโตรเจนเหลวเพื่อทดลองนำเอาไนโตรเจนเหลวที่ภาคครัวเรือนนิยมใช้ในการทำอาหารมาต่อยอด เรากำลังจะเป็นโรงเรียนที่มีลานสเกตน้ำแข็ง มีทีมฮอกกี้น้ำแข็ง เราก็เริ่มติดต่อกับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อหาช่องทางทำหลักสูตรธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมให้ตรงกับเด็กมัธยม หรือแม้แต่หลักสูตรรถ Formula 1 เพื่อให้เขาค้นพบตัวเองและประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่ต้องง้อมหาวิทยาลัย ซึ่งคราวนี้ก็จะเป็นโจทย์ให้มหาวิทยาลัยว่าคุณจะมีแค่คณะเดิมๆ ไม่ได้ คุณต้องปรับเหมือนกัน

คุณมีหลักสูตรรถ Formula1 ด้วยเหรอ

รถแข่ง Formula 1 เขาย่อธุรกิจให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนมานานแล้ว แค่ยังเข้ามาไม่ถึงโรงเรียนทั่วไป มีแค่โรงเรียนอินเตอร์ที่สนใจ เราก็คิดว่าน่าสนใจเพราะมันคือการให้เด็กได้ทดลองเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ทักษะด้านการสื่อสาร และการบริหารจัดการทีมแข่ง ไปจนถึงการแข่งขันในระดับนานาชาติด้วย 

ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

นอกจากเรื่องของหลักสูตรแล้ว เรายังได้ยินว่าคุณพยายามคิดระบบครูใหม่ด้วย

ประเทศเรามีคนที่เป็นครูที่มีคุณภาพได้เยอะมาก แต่ติดขัดเรื่องของวุฒิและอายุ อย่างนักธุรกิจหรือคนทำงานที่เกษียณหรือใกล้เกษียณ คนพวกนี้ถือเป็นครูชั้นดีหมดเลย ถ้ามีคอร์สอบรมให้เขารู้หน่อยว่าในแง่ของความเป็นครูมันควรมีหลักการอะไรบ้าง ที่โรงเรียนเราเองก็เคยลองแล้ว เราลองเอานักปั่นจักรยาน Touring มาสอนเด็ก เขาสอนดีกว่าครูทั่วไปเสียอีก เพราะเขารู้จริงและมีประสบการณ์ คนพวกนี้เขาอยากเป็นครูหมด แค่ไม่มีเวทีให้เขา แต่พวกเขาสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เด็กเห็นภาพได้

เราจะออกแบบสิ่งเหล่านี้ให้เข้ากับการเรียนยุคใหม่ อาจจะนั่งเรียนตรงไหนก็ได้ วิธีการประเมิน การบ้าน อาจยังต้องมี แต่ต้องตีความคำว่าการบ้านใหม่ ไม่มีการบ้านไม่ได้หมายความว่าจะให้แบบฝึกหัดเด็กไปทำไม่ได้ เขาจะทำไม่ทำเป็นเรื่องของเขา แต่อย่าไปหักคะแนน มันเป็นความรับผิดชอบของเขา ถ้าเขาทำคุณก็เอามาตรวจ ครูยุคใหม่เราจะใช้คำว่านั่งร้าน คือเด็กเป็นคนสร้างตึกของตัวเอง ครูทำหน้าที่เป็นนั่งร้านที่คอยพยุงไม่ให้ตึกล้มลงมา ซึ่งพวกนี้คือทฤษฎีที่มีมาตั้งนานแล้ว เราแค่เอามันมาทำให้เป็นรูปธรรม

แล้วอย่างโครงการอวกาศมันเกี่ยวพันกับเรื่องความสุขยังไง

หลายๆ โครงการที่เราทำมันเกี่ยวกับเรื่องความสุข แต่อีกหลายๆ โครงการอย่างโครงการอวกาศมันคือการพัฒนาศักยภาพของเด็ก เราเชื่อว่าเด็กไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานเกี่ยวกับอวกาศได้ ในเมื่อเรามั่นใจในศักยภาพของเขา ทำไมเราจึงไม่ดีไซน์หลักสูตรเพื่อสนับสนุนให้เขาได้มีโอกาส และศักยภาพของโรงเรียนมันทำได้ ถ้าคุณไม่ให้โอกาสเขาก็จะไปหาที่เมืองนอก

เราค่อนข้างมั่นใจว่าในอนาคตทุกๆ บริษัทจะมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง ถ้าคุณผลิตเด็กออกมาก่อนเขาจะไปได้ไกลถึงระดับนานาชาติ ซึ่งโรงเรียนของเรามันชัดเจนว่าไม่ใช่องค์กรธุรกิจ เพราะฉะนั้น เงินที่ได้มาคุณก็เอาไปพัฒนาต่อยอดด้านการศึกษาต่อไปได้ เด็กก็จะยิ่งมีโอกาสได้ทำมากขึ้น โรงเรียนอาจจะไม่ได้กำไรเป็นตัวเงิน แต่สุดท้ายประเทศชาติได้กำไรแน่ 

ตอนนี้คุณอาจจะต้องจ้างชาวต่างชาติประกอบดาวเทียม แต่อีกไม่นานคนที่ประกอบดาวเทียมได้จะเป็นคนไทย เงินทองไม่รั่วไหล สร้างความภูมิใจ ดาวเทียมที่ขึ้นไปผงาดบนอวกาศจะเป็นฝีมือของเด็กไทย มันเป็นเรื่องของการพัฒนาการศึกษา

คุณประกอบอาชีพครูมากี่ปีแล้ว

28 ปี

ความสุขในการเป็นครูสำหรับคุณคืออะไร

การเป็นครูมันไม่ใช่แค่มีความสุขนะ แต่มันโคตรเจ๋งเลย ถ้าคุณไม่ได้มาเป็นครูคุณจะไม่มีทางรู้หรอก คุณค่ามันคงไม่ต่างจากคนที่เขารักอาชีพนักโฆษณา นักแต่งเพลง นักบัญชี หรืออาชีพอื่นๆ หรอก แต่เวลาคุณได้ยินนักเรียนมาบอกว่าขอบคุณครับ มันเยอะกว่าการที่คุณขายของแล้วคุณได้ค่าคอมมิชชัน มันเยอะกว่าเป็นล้านเท่า หรือสมมติเราเจอคนที่เป็นก้อนดิน แล้วอนาคตเขากลายเป็นเพชร เรายิ่งโคตรมีความสุข หรือเราไปเจอลูกศิษย์ของเราถูกจับหรือไปข่มขืนคนอื่นเราก็ยิ่งเจ็บปวด เราว่านี่คือความสุขของความเป็นครูที่ประเมินค่าไม่ได้

ถ้าสุดท้ายคุณไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ต่อจะเป็นยังไง

ช่วงที่มีปัญหาเราน้ำหนักลงเยอะมากเพราะความเครียด แต่มีอยู่คืนหนึ่งที่เรานั่งคิดว่าถ้าเรามีความสุขไม่ได้ เราจะไปสอนเด็กได้ยังไง มันน่าอายว่ะ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเอาชนะความเจ็บปวดตรงนี้ด้วยความสุขให้ได้ ไม่ว่าปลายทางของเรื่องนี้จะเป็นยังไง ถึงเราจะแพ้ก็ตาม เราก็จะบอกกับทุกคนว่า จริงๆ ความสุขมันอยู่รอบตัวเรา ไขว่คว้ามาให้ได้

ครูทอม ผอ. กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด รร. แห่งความสุข

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan