The Cloud x Designer of the Year

หลังการประกาศรางวัล Designer of the Year 2019 สาขา Honor Awards ตกเป็นของ สุพัตรา ศรีสุข 

หลายคนคงไม่รู้จักและไม่แม้แต่จะเคยได้ยินชื่อ อย่าว่าแต่ประชาชนคนทั่วไปเลย แม้แต่ในแวดวงนักออกแบบเองก็ไม่ใช่ทุกคนจะรู้จัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะด้วยภาระหน้าที่ คุณอ๋อย-สุพัตรา ศรีสุข เป็นเหมือนคนเบื้องหลัง เป็นคนทำงานนอกแสงไฟที่ส่องไฟไปยังบรรดานักออกแบบไทยทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ให้ชาวโลกได้รู้จัก

ชีวิตคุณอ๋อยบนเส้นทางการออกแบบเริ่มต้นจากการเรียนจบสถาปัตย์ เข้ามาทำงานรับราชการกระทรวงพาณิชย์โดยที่คนรอบข้างก็ไม่รู้ว่ามาทำอะไร ในยุคที่ประเทศนี้ยังไม่รู้จักการออกแบบ การลอกเลียนแบบจึงเป็นคำตอบของทุกสิ่ง ทั้งผลักและทั้งดัน ไปจนถึงใช้กลยุทธ์มากมาย จนกระทั่งงานออกแบบเริ่มเป็นที่ยอมรับและเติบโตขึ้นในบ้านเมืองเรา

สุพัตรา ศรีสุข ผู้ไม่เคยออกแบบ แต่เป็นผู้ริเริ่มงานแสดงสินค้า จุดเริ่มต้นของวงการออกแบบไทย

แม้คุณอ๋อยจะเกษียณราชการไปตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แต่นอกจากความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในวงการนักออกแบบแล้ว คุณอ๋อยยังเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดงานแสดงสินค้าในประเทศที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน

ทั้งงาน BIG+BIH หรืองานสินค้าตกแต่งบ้าน TIFF งานแสดงเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของไทย Bangkok Gems and Jewelry Fair งานค้าส่งสินค้าเครื่องประดับ งานประกวดของบรรดานักออกแบบทั้งมืออาชีพและดาวรุ่งอย่าง Talent Thai and Designers’ Room และอีกมากมายเกินกว่าจะนับได้ ภายใต้หัวโขนของผู้อำนวยการศูนย์บริการออกแบบ (Design Service Center) กรมส่งเสริมการส่งออก (ชื่อปัจจุบันคือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ)

 BIG+BIH หรืองานสินค้าตกแต่งบ้าน TIFF งานแสดงเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของไทย Bangkok Gems and Jewelry Fair งานค้าส่งสินค้าเครื่องประดับ งาน Talent Thai and Designers' Room

และนี่คือเรื่องราวของนิสิตสถาปัตย์ ผู้ไม่เคยได้ทำงานออกแบบตามที่เรียนมา แต่กลับเป็นลมใต้ปีกที่คอยผลักดันและสนับสนุนนักออกแบบไทยมากมายให้มีที่ยืนบนเวทีโลก

สถาปนิกในกระทรวง

คุณอ๋อยเล่าให้เราฟังว่า ตัวเองเลือกเรียนสายวิทย์ แต่สนใจการแต่งกลอนและเขียนหนังสือ ตอนเอนทรานซ์จึงคิดแต่เรื่องการสอบเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ไม่ก็คณะอักษรศาสตร์ แต่จุดพลิกผันในชีวิตเกิดขึ้นช่วงก่อนสอบ เพราะญาติที่เรียนสถาปัตย์มานั่งเขียนแบบให้เห็นอยู่ทุกวัน ทำให้คุณอ๋อยแนบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงไปเป็นตัวเลือกอันดับสาม และคุณอ๋อยก็ได้เป็นนิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ สมใจ

หลังจากเรียนจบคุณอ๋อยใช้เวลาหางานอยู่หลายเดือน ด้วยสภาพสังคมและการงานในสมัยนั้นไม่เอื้อ และไม่มีที่ทางให้สถาปนิกผู้หญิงเท่าไรนัก ญาติจึงฝากคุณอ๋อยให้ช่วยงานที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และนี่คือก้าวแรกในการทำงานเป็นผู้ผลักดันงานออกแบบของไทย

สุพัตรา ศรีสุข ผู้ไม่เคยออกแบบ แต่เป็นผู้ริเริ่มงานแสดงสินค้า จุดเริ่มต้นของวงการออกแบบไทย

“เป็นงานที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับสถาปนิกเลย คือสถาปนิกที่รับราชการจะมีตำแหน่งรองรับอยู่แค่ไม่กี่ที่ อย่างกรมประกันภัยฯ ไม่ก็กรมโยธาฯ ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่คน ตอนที่อยู่กรมการค้าต่างประเทศก็คอยดูแลเรื่องปริมาณการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการชาวไทย ซึ่งก็ช่วยงานอยู่หลายเดือนจนมีตำแหน่งว่างที่กรมเศรษฐสัมพันธ์ (ปัจจุบันคือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) ที่ดูแลเรื่องของงานจัดแสดงสินค้า จึงได้เข้าไปทำที่กรมนี้

“งานแรกที่ทำคือออกแบบโลโก้ให้กรม หลังจากนั้นก็ออกแบบแบบฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการรวบรวมข้อมูล และออกแบบพื้นที่จัดแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นก็จะมีที่เยอรมนี อเมริกา” คุณอ๋อยเล่าย้อนไปถึงสมัยทำงานที่แรก

รูปแบบคูหามาตรฐานที่มีในตอนนั้นสร้างภาพลักษณ์อันดีต่อการนำเสนอสินค้าไม่ได้ แต่งบประมาณที่มีก็ไม่มากพอให้ลงมือออกแบบใหม่ ในวิกฤตนั้นมีโอกาสอยู่เสมอ และภาระหน้าที่ของคุณอ๋อยในครั้งนี้จึงไม่เพียงทำให้เป็นคนลุยสู้งาน แต่ยังทำให้ได้เข้าไปรื้อค้นโกดังเก็บของ หาคูหาที่ยังพอใช้ได้มาใช้งาน

สุพัตรา ศรีสุข ผู้ไม่เคยออกแบบ แต่เป็นผู้ริเริ่มงานแสดงสินค้า จุดเริ่มต้นของวงการออกแบบไทย

จากสถาปนิกสู่นักออกแบบผลิตภัณฑ์

“หลังจากที่ทำงานไปสักพักหนึ่ง พี่ก็เริ่มรู้สึกว่าความรู้ที่มีมันไม่พอสำหรับการทำงานอีกแล้ว เพราะตอนได้มีโอกาสไปร่วมงานจัดแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ แม้พี่จะเรียนจบจากโรงเรียนฝรั่งมา แต่ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ในการคุยกับคนต่างชาติ ทำให้ไม่กล้าจะสื่อสารด้วย สรุปว่าการเดินทางไปงานแสดงสินค้าต่างประเทศนั้นเราไม่ได้คุยกับใครเลย ก็เลยเกิดความคิดที่จะไปเรียนต่อขึ้นมา” 

คุณอ๋อยเล่าให้เราฟังว่า ความโชคดีอีกอย่างหนึ่งในการทำงานคือ มีเจ้านายที่ดีที่เชื่อมั่นในตัวเด็กจบใหม่คนหนึ่ง และสนับสนุนให้ได้มีโอกาสลาไปเรียนต่อต่างประเทศ แม้ว่าสิ่งที่เจ้านายอยากให้เรียนจะเป็นสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ Industrial Design แทนที่จะเป็นด้านสถาปัตยกรรมตามที่เรียนมา เพราะหน่วยงานต้องการบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มากกว่า 

“ที่กรมหว่านล้อมให้ไปเรียนด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะถ้าจบโทด้านสถาปัตย์มาอีกก็จะไม่มีโอกาสได้ใช้ความรู้นี้ ซึ่งในยุคนั้นการเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์แทบจะเป็นวิชาที่ไม่มีคนรู้จักเลย (เน้นเสียง) หลังจากที่เรียนไปและเริ่มรู้วิธีการคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ ตอนทำวิทยานิพนธ์พี่ก็เลือกออกแบบคูหาจัดแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้า ซึ่งออกแบบหลายยูนิต ซึ่งนำมาประกอบและใช้งานแบบผสมผสานกันได้ หรือที่เรียกว่า Modular System” คุณอ๋อยเล่าย้อนถึงสมัยเรียนปริญญาโท

 BIG+BIH หรืองานสินค้าตกแต่งบ้าน TIFF งานแสดงเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของไทย Bangkok Gems and Jewelry Fair งานค้าส่งสินค้าเครื่องประดับ งาน Talent Thai and Designers' Room
 BIG+BIH หรืองานสินค้าตกแต่งบ้าน TIFF งานแสดงเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของไทย Bangkok Gems and Jewelry Fair งานค้าส่งสินค้าเครื่องประดับ งาน Talent Thai and Designers' Room

จากนักออกแบบผลิตภัณฑ์สู่ผู้ผลักดันการส่งออก

หลังจากเรียนจบใน พ.ศ. 2515 คุณอ๋อยก็เดินทางกลับมาทำงานที่ศูนย์บริการส่งออก ดูแลในส่วนงานแสดงสินค้าและพื้นที่นิทรรศการที่จัดไว้ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั้งข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ และกฎระเบียบที่ควรรู้ก่อนทำการค้าขาย ซึ่งทางกรมก็เริ่มพาผู้ประกอบการไปจัดแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นการส่งเสริมการส่งออกครั้งแรกๆ ของไทย

“สินค้าชุดแรกๆ ที่เราส่งออกไปคือพวกเสื้อผ้า ของเล่น ตุ๊กตา ซึ่งหลายครั้งสินค้าที่เอาไปมันขายไม่ได้ หลายคนบอกว่าลูกค้าไม่ซื้อเพราะรสนิยมมันไม่ตรงกัน พี่ในฐานะที่มีความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็คิดว่านี่น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้เริ่มออกแบบและผลิตสินค้าเองแล้ว มันควรจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการให้สินค้าที่ทำมีคุณภาพดีขึ้นและขายได้” คุณอ๋อยพูดถึงวันที่เริ่มเป็นคนดูแลฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ศูนย์บริการส่งออก

 BIG+BIH หรืองานสินค้าตกแต่งบ้าน TIFF งานแสดงเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของไทย Bangkok Gems and Jewelry Fair งานค้าส่งสินค้าเครื่องประดับ งาน Talent Thai and Designers' Room

งานแรกของคุณอ๋อยคือติดต่อสำนักงานต่างประเทศของกรม เพื่อนำสินค้าที่หลากหลายประเทศส่งออกไปขายกันทั่วโลก มาจัดแสดงให้ผู้ประกอบการที่ไทยได้เห็นคู่แข่งในตลาดโลก เพราะในตอนนั้นผู้ประกอบการไทยจำนวนมากเลือกใช้วิธีการลอกแบบสินค้าจากยุโรปและอเมริกา ก่อนผลิตขายในราคาถูก ด้วยผู้ประกอบการไทยในเวลานั้นยังไม่สนใจพัฒนาสินค้าด้วยการออกแบบ 

คุณอ๋อยคิดถึงการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการส่งออกเพิ่มเติม จึงตัดสินใจสมัครไปประจำการที่สำนักงานของกรมที่เยอรมนี และดูแลตลาดการส่งออกในละแวกยุโรปทั้งหมด นอกจากนี้ยังช่วยพาผู้ประกอบการไทยไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และรับผิดชอบเรื่องจัดหาคนมาออกแบบคูหาในงาน ซึ่งการประจำอยู่ที่เยอรมนีถึง 5 ปี ทำให้คุณอ๋อยได้เรียนรู้กลยุทธ์ในการส่งเสริมการส่งออก และรู้ความต้องการของผู้ซื้อหลากหลายรูปแบบ

 BIG+BIH หรืองานสินค้าตกแต่งบ้าน TIFF งานแสดงเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของไทย Bangkok Gems and Jewelry Fair งานค้าส่งสินค้าเครื่องประดับ งาน Talent Thai and Designers' Room
 BIG+BIH หรืองานสินค้าตกแต่งบ้าน TIFF งานแสดงเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของไทย Bangkok Gems and Jewelry Fair งานค้าส่งสินค้าเครื่องประดับ งาน Talent Thai and Designers' Room

“พี่พยายามคิดโครงการใหม่ๆ อยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือการเชิญฝ่ายจัดซื้อจากห้างใหญ่ทั่วทั้งยุโรปมาดูสินค้าถึงแหล่งผลิตในไทยและดำเนินการซื้อขายกัน เพราะการพาผู้ประกอบการไปร่วมงานแสดงสินค้าต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายแฝงสูงมาก จึงคิดมุมกลับว่า ถ้าเราพาคนซื้อมาไทยแทนล่ะจะเป็นยังไง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการจัดงานในลักษณะนี้”

จากผู้ผลักดันการส่งออกมาสู่ Design Promoter

เมื่อคุณอ๋อยหมดวาระจากกรมที่เยอรมนี ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการเสนอเรื่องเข้าไปยังคณะรัฐมนตรี เรื่องการจัดตั้งศูนย์กลางการบริการออกแบบแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งผ่านมติใน พ.ศ. 2533 

คุณอ๋อยจึงถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ดูแลศูนย์กลางการบริการออกแบบแห่งนี้ และเริ่มออกแบบศูนย์บริการออกแบบหรือ Design Service Center โดยใช้แนวทางการจัดตั้งจากการศึกษาที่ได้รับความช่วยเหลือจาก EEC-Thai Cooperation ทางยุโรป โดยกรมให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณ ในศูนย์ประกอบไปด้วยห้องสมุดงานออกแบบ ส่วนจัดแสดงงานออกแบบผลิตภัณฑ์จากนักออกแบบดังๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รู้ว่างานออกแบบที่ดีมีลักษณะอย่างไร

“ความยากในการทำงานของพี่ในฐานะผู้ดูแลศูนย์ออกแบบแห่งแรกในไทยก็คือ ไม่รู้จะไปหานักออกแบบและผู้ประกอบการที่อยากทำงานด้วยกันจากที่ไหน ด้วยความที่เป็นหน่วยงานใหม่และไม่เป็นที่รู้จักมากนัก พี่เลยคิดหาวิธีรวบรวมเหล่านักออกแบบในไทยให้ทางภาครัฐและผู้ประกอบการได้เห็น โดยอาศัยการเชิญเหล่านักออกแบบชื่อดังจากหลายประเทศทั่วโลกมาบรรยายที่ศูนย์การออกแบบแห่งนี้ จากการไปสัมมนาในต่างประเทศ เพื่อจะเรียกบรรดานักออกแบบมารวมตัวกัน และบรรดานักออกแบบไทยที่สนใจมาฟังนักออกแบบเหล่านั้นก็เริ่มเห็นความตั้งใจจะพัฒนาสินค้าด้วยการออกแบบของรัฐมากขึ้น

สุพัตรา ศรีสุข ผู้ไม่เคยออกแบบ แต่เป็นผู้ริเริ่มงานแสดงสินค้า จุดเริ่มต้นของวงการออกแบบไทย

“ต่อมาพี่จึงเริ่มจัดการประกวดออกแบบเพื่อเฟ้นหานักออกแบบเก่งๆ เข้ามาร่วมงานกับผู้ประกอบการ เพื่อผลิตสินค้าที่ดีด้วยกระบวนการออกแบบ ผ่านการคัดเลือกจากกรรมการที่ก็เป็นนักออกแบบด้วยกัน โดยในช่วงแรกๆ นั้น ทางภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าจ้างของบรรดานักออกแบบด้วยซ้ำ เพราะผู้ประกอบการไม่เชื่อและไม่มีงบ” คุณอ๋อยเล่าถึงกลยุทธ์ในการดึงตัวนักออกแบบออกมา

คุณอ๋อยบอกเราว่า ในช่วงนั้นมีงานประกวดการออกแบบเยอะมาก และการประกวดเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราได้เพียงสินค้าที่ออกแบบดี แต่กลายเป็นว่าเราได้นักออกแบบที่เก่งมากขึ้น หลายคนได้ไปแสดงงานในต่างประเทศ หลายคนได้ร่วมงานกับบริษัทต่างชาติ หลายคนกระโดดมาทำสินค้าของตัวเอง ทำให้เหล่านักออกแบบเริ่มเติบโตและเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับเป็นจุดเริ่มต้นของวงการออกแบบในไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมีนักออกแบบแล้ว ผู้ประกอบการก็สนใจเรื่องการออกแบบ และนักออกแบบก็ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการจนเกิดเป็นสินค้าที่ดี ถ้าไม่มีตลาด ทุกอย่างที่ทำมาก็คงจะไม่เกิดผล

ความน่าสนใจอีกจุดหนึ่งก็คือ จุดเริ่มต้นของวงการออกแบบไทยนี้ก่อให้เกิดงานแสดงสินค้าในไทยเป็นครั้งแรก แม้คุณอ๋อยจะออกตัวว่าเป็นแค่ความบังเอิญ แต่งาน BIG+BIH (Bangkok International Gift Fair and Bangkok International Houseware Fair), TIFF (Thailand International Furniture Fair), Bangkok Gems and Jewelry Fair และอีกหลายต่อหลายงานก็ถือกำเนิดขึ้นมา และมีนักธุรกิจมากมายจากทั่วโลกมาร่วมงานเพื่อสั่งซื้อสินค้ากลับไปขายต่อยังต่างแดน

“สมัยที่กรมพาผู้ประกอบการไปแสดงสินค้าที่งานแฟร์ต่างประเทศ ด้วยเงินที่เรามีมันทำให้พาไปได้แค่ไม่กี่ราย เพราะในงานแสดงสินค้า เราไม่ได้แค่เช่าพื้นที่จัดแสดงอย่างเดียว แต่ต้องเช่าห้องประชุมสำหรับทำการซื้อขาย เช่าโกดังจัดเก็บ จ่ายค่าขนย้าย ซึ่งทั้งหมดนี้มีราคาสูงมาก 

สุพัตรา ศรีสุข ผู้ไม่เคยออกแบบ แต่เป็นผู้ริเริ่มงานแสดงสินค้า จุดเริ่มต้นของวงการออกแบบไทย

“พี่ก็นึกย้อนไปก่อนหน้านี้และคิดในมุมกลับว่า ถ้าอย่างนั้นเราเชิญชวนผู้ซื้อให้มาซื้อที่บ้านเราน่าจะง่ายและประหยัดกว่า เงินจำนวนเท่ากันแต่ผลักดันผู้ประกอบการได้เยอะกว่ามาก จึงเกิดเป็นงานแสดงสินค้าในไทยเป็นครั้งแรกที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ และเป็นครั้งแรกๆ ในละแวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่โอเค มีคนมาพอสมควร ในช่วงที่ส่งออกดีๆ เราเคยดูแลงานแสดงสินค้าประมาณสิบสองงานในหนึ่งปี และหลายๆ งานก็ยังคงจัดต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้” ผู้ก่อตั้งงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยเล่าย้อนถึงไอเดียในการจัดงาน

ผมนั่งนึกไปถึงยุคก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ประเทศเรายังคงคล้ายจีนในช่วงก่อนหน้านี้ อาศัยค่าแรงต่ำผลิตสินค้าราคาถูกส่งออกไปแทบทุกที่บนโลก โดยไม่มีความเชื่อในการออกแบบเท่าไรนัก แล้วความเชื่อแบบไหนที่ทำให้คุณอ๋อยลงแรงผลักดันการออกแบบจนกลายมาเป็นแบบทุกวันนี้ได้กัน

“พี่เชื่อเรื่องงานออกแบบในทุกสาขา ว่ามันจะทำให้วิถีชีวิตของคนดีขึ้น สถาปนิกออกแบบบ้านก็ทำให้คนในบ้านหลังนั้นมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น สินค้าต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการของความคิดสร้างสรรค์มาแล้วอย่างดี ทำให้มีความสวยงาม ใช้งานได้ดี คนใช้ก็มีชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน

“และสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงาน คือพี่ต้องทำให้คนอื่นๆ เชื่อในสิ่งเดียวกับพี่ด้วย” คุณอ๋อยทิ้งท้าย

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan