พ.ศ. 2563 นี้ กิจการเดินเรือของ สุภัทรากรุ๊ป (Supatra Group) จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี

เป็นกิจการครอบครัวที่มีผู้ก่อตั้งและรับช่วงต่อเป็นผู้หญิง ซึ่งแค่ได้ฟังเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแต่ละยุคก็ทำให้ตื่นเต้นมาก

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

จากกิจการเรือแจวข้ามฟากของ คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ อดีตนางกำนัลของเจ้าดารารัศมี ส่งต่อให้ คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ บุตรสาวอดีตนางกำนัลในวังของรัชกาลที่ 6 ดูแลการเรือ พัฒนาเป็นเรือยนต์ บริการเรือแท็กซี่ ก่อนรับสัมปทานให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา เส้นทางนนทบุรี-วัดราชสิงขร เรื่อยมาถึงยุคของทายาทรุ่นสาม คุณสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ที่ต่อยอดธุรกิจด้วยเห็นโอกาสจากการท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เติบโตสวนทางกับตลาดผู้ใช้ที่ลดลง ปัจจุบันอยู่ในมือของทายาทรุ่นสี่ คุณณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม และคุณฟาน ศรีไตรรัตน์ ผู้ต่อยอดธุรกิจครอบครัวด้วยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อนลุกขึ้นมารวมกลุ่มบริษัทในเครือเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

The Cloud ขอเชิญคุณตีตั๋ว ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ชมวิถีของผู้บริหารหญิงหัวก้าวหน้าที่พาธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านวิกฤตมากมายมาตลอดร้อยปี ตั้งแต่สงครามโลก วิกฤตน้ำมัน วิกฤตเศรษฐกิจ น้ำท่วม และแม้จะต้องเผชิญผลประกอบการที่ขาดทุนบ้าง แต่พวกเธอก็ไม่คิดจะล้มเลิกกิจการสักครั้ง 

ถ้าพร้อมแล้ว โปรดรอให้เรือจอดเทียบท่าจนสนิทก่อนก้าวเท้าลงเรือ ปิ๊ด (เสียงนกหวีด)

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

ธุรกิจ : บริษัท สุภัทรา จำกัด

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2463

อายุ : 100 ปี

ประเภท : ให้บริการเรือโดยสารประเภท เรือข้ามฟาก เรือด่วน เรือเช่า เรือในคลอง เรือข้ามฟาก เรือท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และร้านอาหาร

ผู้ก่อตั้ง : คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ (พ.ศ. 2463)

ทายาทรุ่นสอง : คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ (พ.ศ. 2475) 

ทายาทรุ่นสาม : สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม (พ.ศ. 2514)

ทายาทรุ่นสี่ : ฟาน ศรีไตรรัตน์ (พ.ศ. 2545) และ ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม (พ.ศ. 2554)

จากนางในวังสู่ผู้บุกเบิกธุรกิจเรือข้ามฟาก 

คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ 

จากอดีตนางกำนัลพระราชชายาเจ้าดารารัศมี คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ และหุ้นส่วนชื่อแม่เผือก บุกเบิกธุรกิจเรือแจวข้ามฟากครั้งแรกใน พ.ศ. 2463 จากเรือพายและเรือแจว 2 – 3 ลำ รับคนข้ามฟากไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ที่ท่าพรานนก และที่ท่าวัดมหาธาตุจนกิจการเริ่มดีตามลำดับ

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก
คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ 
สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

ทายาทรุ่นที่ 2

คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ

คุณหญิงสุภัทรา เป็นลูกสาวคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 6 คนของ พระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ) และคุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ ในวัยเด็กถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายในตำแหน่ง ‘คุณพนักงานอยู่งาน’ มีหน้าที่ตั้งเครื่องเสวยและเป็นนางกำนัลตามเสด็จฯ ออกรับแขก ในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายาในรัชกาลที่ 6 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 คุณหญิงสุภัทราออกจากวังมาช่วยกิจการของคุณหญิงบุญปั่นที่บ้านเต็มตัว รับหน้าที่ทำบัญชีและวุ่นอยู่กับการจัดหาเรือมาประจำที่ท่าพรานนกและท่าวัดมหาธาตุ ไม่นานคุณหญิงบุญปั่นก็สิ้น โดยคุณหญิงสุภัทราดูแลกิจการต่อ

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก
คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ

เจ้าแม่แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

คุณหญิงสุภัทราดูแลกิจการทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว เป็นทั้งผู้จัดการ เลขานุการ บัญชี ฝ่ายจัดซื้อ จากเรือพาย เรือแจว 3 – 4 ลำ เธอตัดสินใจขยายธุรกิจซื้อเรือยนต์ข้ามฟากลำแรกราคา 400 บาท ด้วยเงินทุนจากการจำนำหีบกระบะทอง มรดกที่คุณหญิงบุญปั่นทิ้งไว้ให้ มีชื่อเรียกว่า ‘เรือ สภ.1’ แล้วค่อยๆ ซื้อเรือเพิ่มทีละลำเมื่อพร้อม

บันทึกของคุณหญิงระบุว่า ช่วงปีนั้นกิจการเดินเรือแท็กซี่ขนาดเล็ก มีรายได้วันละ 10 บาท เดือนละ 300 – 400 บาท มีพนักงาน 10 คน เงินเดือนคนละ 15 บาท แล้วจดทะเบียนบริษัท สุภัทรา อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2506

ต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเริ่มใน พ.ศ. 2483 และลุกลามมาถึงเอเชียใน พ.ศ. 2485 สถานการณ์ตอนนั้น คุณหญิงเขียนเล่าในบันทึกว่าพนักงานมาขอลาออกเพราะกลัว แต่คนยังต้องการใช้เรือข้ามฟาก กลางวันคุณหญิงจึงเข้ามาคุมเดินเรือเองแม้กำลังตั้งท้องอยู่ โดยมีสามีมาช่วยคุมเรือเวลากลางคืน เก็บค่าโดยสารคนละ 25 สตางค์ ทำอยู่เช่นนี้จนสงครามจบลงใน พ.ศ. 2488

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

นักธุรกิจ นักกฎหมาย นักสู้เพื่อสิทธิสตรี

และด้วยเป็นเพียงผู้หญิงทำงานบริหารเรือเพียงลำพัง คุณหญิงสุภัทรามักจะต้องเผชิญหน้ากับนักเลงบ่อยครั้ง บ้างจับพลัดจับพลูไปเป็นกรรมการห้ามทัพคนตีกัน ซึ่งได้ใจผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเรื่อยมา

คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ทำตามฝันที่อยากเป็นนักกฎหมายตั้งแต่อยู่ในวังหลวง ด้วยการเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในปีการศึกษา พ.ศ. 2477 (และเรียนจบใน พ.ศ. 2482 ด้วยอายุ 29 ปี) ขณะที่ยังคงบริหารคุมเรือแท็กซี่

ระหว่างศึกษา คุณหญิงพบข้อกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เกี่ยวกับครอบครัว ว่าด้วยการจำกัดสิทธิหญิงที่มีสามีไม่ให้กระทำนิติกรรมใดๆ ก่อนได้รับอนุญาตจากสามี ไปจนถึงเรื่องการขออนุญาตประกอบอาชีพของหญิงที่มีสามี เรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูกรณีภรรยาที่มีบุตรถูกทอดทิ้ง ขณะที่ฝ่ายชายจดทะเบียนสมรสได้หลายครั้ง

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

เธอจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย สตรีควรมีสิทธิ์จัดการกับสินทรัพย์ส่วนตัวได้โดยไม่ต้องขออนญาตจากสามี สตรีมีสิทธิ์ฟ้องหย่าและได้รับค่าเลี้ยงดูหากสามีทำผิดนอกใจ ซึ่งใช้เวลาถึง 42 ปี (ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2519) โดยเธอยืนยันว่า 

เธอไม่ได้มาเพื่อเรียกร้องความเสมอภาค เพียงแค่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อลูกสาวและสตรียุคต่อไป

โดยระหว่างที่กิจการไปได้ดี คุณหญิงสุภัทราก็ทำงานสาธารณประโยชน์ ทั้งสอนวิชากฎหมายให้นักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ เป็นแกนนำรวบรวมบัณฑิตสตรีที่จบด้านกฎหมายชั้นนำซึ่งในยุคแรกเริ่มซึ่งมีไม่ถึง 100 คน จัดตั้งสมาคมทำงานให้ความรู้เรื่องกฎหมายกับผู้หญิงผ่านบทความและรายการวิทยุที่มีมาก่อนกาล ไปจนถึงเปิดสำนักกฎหมายว่าความให้ผู้หญิงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยต่อมาเปิดโรงเรียนสุภัทรา (พ.ศ. 2509) เพื่อต้องการผลิตผู้หญิงที่จะกลายผู้นำในอนาคต

ชีวิตที่เพลิดเพลินด้วยงานและการเรียน

“ท่าเรือที่แม่ทิ้งเอาไว้ให้ งานที่รักยิ่ง เป็นอาชีพและเป็นเกียรติ แสดงให้คนทั้งหลายเห็นถึงความสามารถ งานซึ่งสุภัทราโอบกอดด้วยแขนขวา วิชากฎหมายซึ่งใฝ่ฝันอยากเรียนมาตั้งแต่เล็กตั้งแต่น้อย” 

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก
สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

บางส่วนจากบันทึกของคุณหญิงที่เขียนเล่าถึงชีวิตที่เพลิดเพลินด้วยงานและการเรียน แม้ตลอดชีวิตจะมีผู้ใหญ่คอยแนะนำชายที่คู่ควรให้ แต่ก็ไม่มีใครทำให้คุณหญิงสุภัทราชนะใจได้มากกว่างานที่เธอทำเลย เป็นเหตุให้เธอครองตัวเป็นโสดตามคำสั่งเสียของแม่ ที่บอกว่าการแต่งงานเป็นทุกข์ หากไม่จำเป็นจริงๆ จงอย่าแต่งงาน

แต่แล้ววันหนึ่งก็ได้พบ คุณสอาด มีชูธน และแต่งงานกันใน พ.ศ. 2485 มีลูกสาว 2 คน ได้แก่ สุภาพรรณและภัทราวดี สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีเลี้ยงลูกที่ปล่อยให้เป็นอิสระล้ำกว่าคุณแม่คนไหนๆ 

คุณหญิงสุภัทราส่งสุภาพรรณไปเรียนที่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จากนั้นไปเรียนการโรงแรมที่ฮาวาย ก่อนกลับมาเรียนที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ส่งภัทราวดีไปเรียนการละครที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา กลับมาเปิดเวทีแสดงกลางแจ้งมาตรฐานบรอดเวย์ที่ซอยวัดระฆัง ซึ่งต่อมาคือบริษัทภัทราวดีเธียร์เตอร์แอนด์แดนซ์ ครั้งหนึ่งเคยต่อยอดธุรกิจร่วมกับลูกสาวเกิดเป็น Lex’s Showboat ภัตราคารลอยน้ำลำแรก พ.ศ. 2509 ซึ่งเป็นที่พูดถึงมากในยุคนั้น

เรือด่วนเจ้าพระยา

พ.ศ. 2514 คุณหญิงสุภัทรารับซื้อกิจการเรือด่วนจากรัฐบาล เนื่องจากเมื่อรัฐบาลริเริ่มโครงการขนส่งทางน้ำในนาม ร.ส.พ. รัฐบาลบังคับให้ท่าเรือข้ามฟากทุกท่าเปิดท่าให้เรือด่วนจอด ทำให้มีการกระทบกระทั่งแย่งที่จอดกันระหว่างเรือข้ามฟากและเรือด่วนมาตลอด เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เนื่องจากเรือด่วนเป็นของรัฐบาล จึงไม่ต้องเกรงใจท่าเรือข้ามฟาก เมื่อรัฐบาลประกาศขายกิจการเดินเรือ คุณหญิงสุภัทราจึงรับซื้อไว้ ทำให้เหตุการณ์ไม่ลงรอยของเรือทั้งสองประเภทจบลง

ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายจะเปิดท่าเรือทุกแห่งให้เป็นสาธารณะ มีการเดินเรือเสรี โดยมอบหมายให้กรมเจ้าท่าจัดระเบียบดูแลเรือเข้าออก ขณะที่คุณหญิงสุภัทราเป็นห่วงเรื่องนี้มาก เพราะการใช้ท่าเรือร่วมกัน จะทำให้เกิดการแย่งกันเข้าออก แย่งผู้โดยสาร จนนำไปสู่อุบัติเหตุที่อันตรายแก่ชีวิตเพราะละเลยความปลอดภัย โดยคุณหญิงสุภัทราเสนอให้มีการแยกแพโป๊ะเปิดท่าเรือหลายแห่งตลอดลำน้ำเจ้าพระยาแทนการแย่งกันเพื่อแก้ปัญหา

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

ปัจจุบันให้บริการในเส้นทางอำเภอปากเกร็ด-ท่าน้ำนนทบุรี-สาทร-วัดราชสิงขร-ราษฎร์บูรณะ 

นอกจากขยายธุรกิจเดินเรือเร็วแล้วยังพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีทายาทรุ่นที่ 3 เป็นลูกมือช่วยงาน และแม้จะเจอวิกฤตแค่ไหน คุณหญิงสุภัทราก็ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีผ่านไปได้ทุกครั้ง เช่น พ.ศ. 2516 ธุรกิจเจอวิกฤตน้ำมันขึ้นราคา แต่คุณหญิงสุภัทราไม่ยอมขึ้นค่าโดยสาร แต่ใช้วิธีหารายได้เพิ่มจากการเพิ่มรอบเรือในตอนเช้า และขยายตลาดด้วยการทำธุรกิจเรือทัวร์ไปต่างจังหวัด

ทายาทรุ่นที่ 3

สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม

“ความทรงจำตอนเด็ก เห็นคุณแม่ทำเรือข้ามฟาก เราเองก็ได้นั่งเรือข้ามฟากไปโรงเรียนทุกวัน จากบ้านข้ามมาท่าช้าง แล้วต่อด้วยรถรางไปโรงเรียนราชินี แม้ช่วงที่ย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำและเรียนต่อต่างประเทศจะใช้เรือน้อยลง แต่ก็เห็นกิจการคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น สมัยนั้นค่าโดยสารข้ามฟากเพียงสลึงเดียว”

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก
สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม

หลังเรียนจบปริญญาตรีทางด้านศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส จาก American University สุภาพรรณขอใช้ชีวิตอิสระ ทำงานเป็นเลขาฯ ผู้บริหารที่บริษัท Firestone หนึ่งปี ทำงานกับ อนุสาร อ.ส.ท. นิตยสารท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นกลับบ้านไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสุภัทราของคุณแม่ ก่อนเข้ามาช่วยงานธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยา

หลังจากอยู่ท่ามกลางผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่อง 12 ปี เจอกับวิกฤตน้ำมันขึ้นราคาและเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ สุภาพรรณตัดสินใจลาออก กลับไปทำงานประจำที่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้นานถึง 4 ปี ก่อนกลับมาอีกครั้ง บริษัทสุภัทราในมือของสุภาพรรณ ทายาทรุ่นที่ 3 เปิดตลาดนักท่องเที่ยว มีเรือท่องเที่ยวจากท่ามหาราชไปบางปะอิน แวะดูโครงการศิลปาชีพ ศิลปหัตถกรรม ซึ่งมียอดจองเต็มทุกรอบ เธอมีวิธีคิดอย่างไร มาฟังพร้อมกัน

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

สมัยเป็นคุณครูที่โรงเรียนสุภัทรา คุณเป็นคุณครูแบบไหน

ตอนนั้นอายุมากกว่าเด็กนักเรียนนิดเดียว เวลาพวกเขามีปัญหาครอบครัวจะมาขอคำปรึกษา เพราะคิดว่าครูจะช่วยได้ แต่เรากลับช่วยเหลืออะไรเขาไม่ได้ จึงบอกคุณแม่ว่าขอทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่น เพราะไม่อยู่ในภาวะที่พร้อม หนึ่ง คือไม่มีประสบการณ์ชีวิตมากพอ และสอง อาชีพครูเป็นอาชีพที่เสียสละมาก ขณะที่ชีวิตเรายังไม่มีอะไรสักอย่าง คุณแม่ก็เลยให้มาทำงานเรือ จำได้แม่นว่าเป็นวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2514 วันเดียวกับที่เริ่มต้นธุรกิจเดินเรือด่วนเจ้าพระยา จริง ดิฉันคิดว่าทุกคนคงคิดเหมือนกัน ไม่มีใครอยากทำงานกับพ่อแม่หรอกค่ะ

เพราะอะไรถึงไม่อยากทำงานกับพ่อแม่

เรารู้สึกว่าเรือมันโบราณ ทุกอย่างมันดูโบราณไปหมดเหมือนอยู่กันคนละยุค จึงไปปรึกษาคุณอมเรศ ศิลาอ่อน ผู้ใหญ่ที่เคารพว่าควรทำอย่างไรดี เพราะงานนี้มันเชย เราไม่อยากทำ ทำไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไร คำตอบของท่านเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาล 

ท่านบอกว่า “ความเชยความโบราณอยู่ที่ผู้บริหาร คุณอยากทำเรือทันสมัยก็ทำสิ มันขึ้นอยู่กับคุณ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกิจการ คุณคิดให้มันดีๆ อยากจะให้มันสมัยใหม่ สวิงจัด คุณก็ไปจัดสิ ทำไม คุณต้องบ่น การที่คุณอยู่กับสิ่งเดิมๆ ก็แสดงว่าคุณไม่เคยคิดจะเปลี่ยน” ดิฉันขนลุกเลย จากนั้นก็สิ่งที่คิดว่าเชย จนตอนนี้ไม่เชยแล้ว

คุณเปลี่ยนความเชยนั้นอย่างไร

เปลี่ยนที่ความคิดเรา เมื่อก่อนเราไม่คิด เราก็อยู่อย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ เวลาเสนอคุณแม่ขอต่อเรือสี่ลำ ท่านก็จะบอกให้ทำทีละลำ เพราะเรามีเงินไม่มาก สมัยทำงานเป็นลูกน้องท่าน ท่านเก่งมากเราก็ไม่กล้าทำอะไรมาก จนเมื่อท่านเสียก็ตัดสินใจทำร้านอาหาร โรงแรม เรือท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาในช่วง พ.ศ. 2540

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก
สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

ความทันสมัยสำคัญกับธุรกิจอย่างไร

ความทันสมัยคือการเปลี่ยนไปตามที่ลูกค้าต้องการนะ เราเป็นใครไม่สำคัญ เช่น เราชอบสีชมพูจังเลย แต่เราไม่ใช่ลูกค้านะ ต้องพยายามหาตลาดให้เจอซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ทำได้เพราะเรามีทีมงานเก่ง ดิฉันทำงานเองทั้งหมดไม่ได้ ทำได้เพียงกำหนดวิสัยทัศน์ เขาต่างหากที่เก่งทำตามในสิ่งที่ดิฉันคิด และเพราะคิดตรงกันว่าอยากเห็นการพัฒนา

เกิดอะไรขึ้นช่วงที่บริษัทขาดทุน 12 ปีเต็ม

วิกฤตขาดทุนน้ำมัน จากค่าเงินที่ผันผวนและการควบคุมราคาค่าโดยสารของรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด น่าแปลกที่พวกเรากลับไม่คิดเลิกกิจการ ทั้งๆ ที่มีเหตุการณ์หลายอย่างสนับสนุนให้เลิกทำ แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาควบคุมต้นทุนแต่คุมรายได้ เป็นการทำงานที่ผิดสูตร ดิฉันตอบได้เลยว่าบริการโดยสารสาธารณะหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ เรือเมล์ หรือแม้กระทั่งเรือบิน มีปัจจัยที่ทำให้เขาอยู่ยาก อย่าเอาเราเป็นหลักเลย ลองดูตัวอย่างจากสายการบินแห่งชาติ มีปัจจัยที่ทำให้เขาเคลื่อนปรับตัวลำบาก ปิดตัวก็ไม่ได้ เปิดไว้ก็ขาดทุน

กิจการครอบครัวผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาด้วยวิธีอะไร

ตอนนั้นเรามีธุรกิจอื่นๆ ด้วย 

อย่างตอนนี้ที่มีไวรัส ช่วงแรกของโรคระบาดกระทบธุรกิจเรือท่องเที่ยวและท่ามหาราช เพราะเดิมมีลูกค้าชาวจีนเยอะ ขณะที่ไม่กระทบธุรกิจร้านอาหารและที่พัก เพราะลูกค้าหลักคือชาวยุโรปและอเมริกา เมื่อกระจายความเสี่ยงก็จะทำให้เราไม่เจ็บมาก อันนั้นไม่อยู่ อันนี้ก็ยังเลี้ยงตัวอยู่ได้ แต่ก็ต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือสืบเนื่องกันนะ

ตลอด 49 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจครอบครัวในมือของคุณเจอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอะไรบ้าง

จากค่าโดยสารหนึ่งบาท มีผู้โดยสารไม่กี่พันคน มีเส้นทางเดินเรือด่วนจากนนทบุรีถึงวัดราชสิงขร แต่เพียงแค่รถเมล์ย้ายสายหรือหน่วยราชการย้ายที่ทำการ ก็ทำให้ตลาดเปลี่ยนเพราะคนหายไป และเราไม่อาจเรียกทุกอย่างกลับคืนมาได้ รวมกับบ้านเมืองที่เจริญขึ้นตามลำดับ มีสะพานข้าม มีทางด่วน ความเจริญของเส้นทางการจราจรทางบกก็ทำให้ความต้องการสัญจรทางน้ำลดลง ดิฉันเชื่อเสมอว่าการเดินทางทางน้ำไม่ใช่พระเอก และทุกคนย่อมเลือกเส้นทางที่สะดวกที่สุด ไม่ต้องต่อรถเมล์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เพื่อไปถึงจุดหมาย 

แต่กลายเป็นว่าเส้นทางเดิมมีนักท่องเที่ยวหลั่งใหลเข้ามา เป็นโอกาสให้เราเปิดบริษัท Chao Phraya Tourist Boat หรือเรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา ให้บริการนักท่องเที่ยววัดและวังรอบเกาะรัตนโกสินทร์แปดแห่ง พร้อมบริการผู้นำเที่ยว ตามมาด้วยธุรกิจบริการ Boat Wrap ติดสติกเกอร์เรือเหมือนรถเมล์ รถไฟฟ้า เกิดบริษัทโฆษณา เกิดร้านอาหาร เกิดโรงแรมต่างๆ เหล่านี้ กิจการทั้งหมดอยู่ภายใต้คำว่า ‘แม่น้ำ’ เราไม่เคยจากแม่น้ำไปไหนเลย เราอยู่ที่เดิม พัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำงานเชื่อมต่อจากการเดินทางทางน้ำ การท่องเที่ยวทางน้ำ ไปสู่การกินอาหารริมน้ำ สู่การนอนพักจนเกิดโรงแรม และศูนย์การค้าท่ามหาราช

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

ความเป็นธุรกิจเก่าแก่ทำให้รู้สึกมาถึงทางตันบ้างไหม และคุณมีวิธีรับมือกับเหตุการณ์ที่กระทบธุรกิจอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เคยทำให้รู้สึกว่าธุรกิจมาถึงทางตันเลย เพราะเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ค่าบริการเรือข้ามฟากวันนี้สามบาทห้าสิบสตางค์ เทียบกับค่าบริการห้องน้ำสาธารณะซึ่งมีราคาห้าบาท ขณะที่เรือต้องใช้น้ำมัน เรายังใช้แรงงานคน ต้องดูแลเขาอย่างดี ไม่มีทางที่ธุรกิจจะอยู่ได้ เพราะคนข้ามฟากน้อยลง และตลาดไม่ได้เติบโตขึ้น นับตั้งแต่เปิดใช้สะพานพระปิ่นเกล้าเมื่อ พ.ศ. 2516 ทำให้ผู้โดยสารลดลงสี่สิบเปอร์เซ็นต์และมีแนวโน้มจะลดลงอีกเรื่อยๆ เพราะคนย้ายไปอาศัยในเมือง กลายเป็นนักท่องเที่ยวซึ่งไม่เคยเห็นแม่น้ำอยากมาเห็นแม่น้ำ ตามมาด้วยคนไทยกลับมาใช้เพราะสถานที่ท่องเที่ยวและศูนย์การค้าริมแม่น้ำกลับมาเป็นที่นิยมในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แม่น้ำกลับมาเป็นความภูมิใจอีกครั้ง 

และเมื่อรู้ว่าชาวต่างชาติชอบเรือโบราณ คนไทยชอบเรือสมัยใหม่ เราก็เปลี่ยนเรือเป็นเรืออะลูมิเนียมทั้งหมด ใช้นักออกแบบเรือและวัสดุจากต่างประเทศ มาตรฐานเทียบเท่าออสเตรเลีย นิวยอร์ก ลอนดอน เราไม่เคยถึงทางตัน ตราบใดที่มีทีมเวิร์ค มีปัญญา มีเวลา มีเงินทุน เราทำได้เพราะสิ่งนี้ไม่ได้ใช้พลังมาก

รู้สึกอย่างไรกับธุรกิจร้อยปี ตัวเลขนี้มีผลต่อคุณแค่ไหน

ธุรกิจเรือแจวในยุคคุณยาย วันหนึ่งมีลูกค้าสามสิบคนถือว่าเก่งมากแล้ว มาวันนี้เรารับคนสิบกว่าล้านคนต่อปี ถามว่าตัวเลขนี้มาอย่างไร ก็จากหลากหลายธุรกิจที่เราทำ เรือท่องเที่ยว เรือข้ามฟาก เรือด่วนเจ้าพระยา ซึ่งไม่นับเรือที่เราให้บริการตามโรงแรม และสำหรับธุรกิจเล็กๆ ที่มีระยะเพียงแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าเยอะมาก

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่ยืนยาวเป็นร้อยปี

เพราะพ่อแม่เราสอนมาดี ท่านสอนว่าให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นคนมีเงิน อยู่ดีกินดี ก็อย่าทำตัวไม่เป็นประโยชน์ ดิฉันและน้องสาว (ภัทราวดี มีชูธน) ถูกสอนให้ไม่อยู่เฉย ไม่นิ่งดูดาย หากพัฒนาหรือทำอะไรเพื่อประโยชน์ของสังคมและครอบครัวได้ จงทำทันที ถามว่าแล้วเมื่อไหร่ถึงจะหยุด ก็เมื่อเราไปไม่ไหวซึ่งอายุไม่ได้เป็นตัวตัดสิน

อะไรคือหลักคิดในการทำงานที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

บทเรียนจากคุณแม่ ผู้หญิงจะทำธุรกิจได้ต้องมีคุณสมบัติสองประการ นั่นคือ ขยันกับประหยัด หนึ่งความขยัน ความขยันจะทำให้กิจการเจริญรุ่งเรือง สอง ต้องประหยัด ชีวิตส่วนตัวอาจจะสุรุ่ยสุร่ายถ้าเป็นเงินส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ แต่ถ้าทำธุรกิจคุณต้องประหยัด เพราะคุณไม่รู้ว่าสิ่งที่คุณได้มาวันนี้ วันหน้าจะยังมีไหม เขาเรียกว่าไม่ประมาท

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

ข้อดีของการเป็นเป็นธุรกิจครอบครัวที่ผู้ก่อตั้งและรับช่วงต่อเป็นผู้หญิงมาโดยตลอดคืออะไร

ผู้หญิงเป็นคนที่ละเอียดมาก ลงดีเทลทุกจุด เป็นคนที่ระมัดระวัง ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่เป็นคนใจถึงเมื่อเทียบกับผู้ชาย และยังมีความเป็นแม่คุ้มครองและดูแล พวกเราไม่ตบตีเพราะทำไม่เป็น เมื่อไม่คิดจะทำร้าย ทั้งยังออกโรงปกป้อง พวกเขาก็จะไม่ทำร้ายเราและยังอยู่กับเรา เกษียณแล้วยังไม่ให้ออกเลยนะ ใครคนเกษียณบริษัทยังจ่ายเงินปกติ จ้างต่อจนกว่าเขาจะขอไม่ทำ แล้วให้เช่าบ้านริมน้ำริมคลองในราคาสองร้อย ห้าร้อยบาท อันนี้เราเอื้อเพราะเรามีและก็ทำได้ หลายครอบครัวจึงทำงานอยู่กับเราทั้งรุ่นพ่อรุ่นลูกเลย

สุภัทรากรุ๊ปมีวิธีรักษาคนอย่างไร

หนึ่ง ไม่เอาเปรียบเขา ต้องแฟร์ พูดคำไหนคำนั้น ซื่อสัตย์ ทั้งซื่อสัตย์ต่อคำพูด ต่อเขา ต่อพนักงาน และต่อผู้โดยสาร เมื่อเขาเชื่อ เขาศรัทธา บารมีก็จะเกิด ถ้าคุณไม่มีสิ่งเหล่านี้ คุณขี้โกง เอาเปรียบทุกอย่าง คุณก็ One Shot ได้แล้วเลิกกันไปเลย

วิธีทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมไอเดีย

ดิฉันจะถามก่อนว่าบริษัทเรามีเงินไหม ถ้าพอมีและพร้อมจะสูญเสียเงินส่วนนี้ได้ก็จะไม่ขัด ดิฉันไม่ได้มองว่าโปรเจกต์นั้นคืออะไร แต่พิจารณาว่าเขาเป็นคนลักษณะอย่างไรมากกว่า เขาสู้งานไหม เป็นคนล้มเลิกง่ายหรือเปล่า เป็นคนทำจริงหรือเปล่าหรือเพ้อฝันไปวันๆ ถ้าเขาพร้อมที่จะทุกข์ทรมานกับธุรกิจนั้นๆ ก็ปล่อยให้ทำไปเลย เพราะยังไงเราก็ไม่ได้อยู่ดูเขาทุกข์ทรมานอยู่แล้ว 

หลายครอบครัวมีปัญหาลูกหลานไม่อยากรับช่วงต่อธุรกิจ คุณมีคำแนะนำอย่างไร

เรื่องนี้ตอบแทนทุกคนยาก เพราะเกิดจากหลายเหตุผล บางทีเป็นเพราะพ่อแม่ด่าทุกวันลูกก็ไม่อยากทำ หรือบางทีพ่อแม่เป็นคนเก่งมาก ดูถูกลูกว่าเก่งจริงหรือเปล่า อย่าไปทำอะไรเลย บั่นถอน คำแรกก็ไม่ให้กำลังใจจะไปทำได้อย่างไร ถูกไหมคะ เราอาจจะเก่งก็ได้แต่เราอาจจะไม่รู้ตัวเองจนกว่าจะมีโอกาส ดิฉันว่าสำคัญคือโอกาส จนรวยไม่สำคัญ โอกาสที่จะแสดงไม่มี ไม่มีเวที ก็ไปไม่ได้

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

ทายาทรุ่นที่ 4

ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม และ ฟาน ศรีไตรรัตน์

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก
ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม

“ตอนเด็กๆ คุณแม่บอกว่าต้องว่ายน้ำให้เป็น ซึ่งทุกคนในบริษัทว่ายน้ำเป็นเพราะเป็นบริษัทเดินเรือ” ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม ผู้เห็นเรือด่วนวิ่งเต็มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่จำความได้ เล่าความทรงจำของเธอ

หลังเรียนจบด้านการโรงแรมจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ต่อด้วยด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ณัฐปรีกลับมาเริ่มทำงานกับครอบครัวในช่วง พ.ศ. 2554 เริ่มจากรับผิดชอบงานในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรือ เพราะชอบงานในส่วนที่ได้ศึกษาหาโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดูแลบริหารโรงแรม Riva Surya Bangkok และท่ามหาราช ก่อนกลับมาดูธุรกิจหลักก็คือ เรือ ในช่วงพ.ศ. 2561

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก
ฟาน ศรีไตรรัตน์

ขณะที่ญาติผู้พี่อย่างฟาน ก็เล่าความทรงจำที่มีต่อธุรกิจครอบครัวให้ฟังว่า ในอดีตคนทั่วไปเข้าใจว่าครอบครัวพวกเขาทำธุรกิจเรือภัตตาคาร

“ในอดีตคนทั่วไปเข้าใจว่าครอบครัวพวกเขาทำธุรกิจเรือดินเนอร์ เราก็ได้อธิบายว่า เราให้บริการเรือโดยสารรับใช้ประชาชนมาตั้งแต่สมัยคุณทวด เป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบจากครอบครัวซึ่งสอนให้รับใช้ประชาชน” 

ฟานเติบโตและใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ตั้งแต่อายุเพียง 9 ปี เขามีความสนใจด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ จึงเลือกเรียนด้านระบบการจัดการสารสนเทศหรือ Management Information System (MIS) เป็นกลุ่มแรกที่ได้รู้จักอินเทอร์เน็ตในยุค .com จากนั้นกลับเริ่มทำงานกับธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาเรื่องเทคโนโลยีชื่อบริษัท Arthur Andersen ดูแลงานส่วนธุรกิจเคเบิลทีวีที่ประเทศไทย ต่อมาเรียนต่อด้านธุรกิจและการตลาดที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วกลับมาช่วยคุณสุภาพรรณผู้เป็นป้า ดูแลริเวอร์แมนชั่น ธุรกิจอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ซึ่งต่อมาเขาปรับปรุงให้กลายเป็นธุรกิจโรงแรม Riva Surya Bangkok

ทายาทรุ่นที่ 4 กับธุรกิจร้อยปี

ไม่บ่อยที่เราจะได้พูดคุยกับทายาทธุรกิจร้อยปี ยิ่งเป็นธุรกิจครอบครัวสัญชาติไทยด้วยแล้ว เราถามพวกเขาถึงความกดดันที่ซ่อนอยู่ในตัวเลขหลักร้อยนี้

“ผมมองว่าตัวเลขร้อยปีเป็นจุดเริ่มต้น นี่เป็นครั้งแรกที่บริษัทลุกขึ้นมาประกาศตัวและสิ่งที่ทำจริงจัง จึงเป็นก้าวแรกของการพัฒนาและทำสิ่งต่างๆ ต่อไป ซึ่งยังมีอะไรที่เราทำได้อีกเยอะมาก” ฟานบอกส่วนที่ทำให้บริษัทอยู่ยืนยาวเป็นร้อยปีได้ เพราะเป็นองค์กรที่มีผู้บริหารหญิงดูแลมาตั้งแต่วันแรก

“ผู้หญิงจะมีความรอบคอบ ดูแลทุกคนเหมือนดูแลครอบครัว เป็นสิ่งที่ทำให้ช่วยเหลือและต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ต่อให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นผู้หญิงก็จัดการได้เก่งกว่า ในชีวิตที่ได้มีโอกาสเห็นผู้หญิงเก่งๆ มาตลอดจึงเข้าใจว่าเรื่องนี้สำคัญแค่ไหน”

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

ท่ามหาราช

ฟานและณัฐปรีบอกว่างานของทายาทรุ่นสี่ คือการต่อยอด 

ทั้งพัฒนาและปรับปรุงสิ่งที่มี สร้างสินค้าบริการใหม่ๆ เติมเต็มกันและกัน

“ในอดีตเราเป็นธุรกิจเดินเรือโดยสาร และเริ่มทำธุรกิจหลากหลายขึ้นในรุ่นคุณแม่ เราใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งในยุคคุณยายเป็นเพียงพื้นที่จอดเรือหรืออู่ต่อเรือมาก่อน เป็นการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจหลักมาที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ณัฐปรีเล่า นอกจากให้บริการเดินเรือแล้ว ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการเปิดพื้นที่ท่าเรือให้ผู้ประกอบการเช่าทำธุรกิจเล็กๆ เช่น ขายอาหารและน้ำดื่ม ขายของที่ระลึกบ้าง 

ทั้งฟานและณัฐปรีต่างรู้ดีว่าทั้งคู่ไม่ได้เชี่ยวชาญการจัดการเรือ สิ่งที่พวกเขาถนัด คือการบริหารจัดการสินทรัพย์ สร้างมูลค่าเพิ่ม หาตลาดใหม่ให้ธุรกิจ เมื่อได้รับมอบหมายให้พัฒนาที่ดินท่ามหาราช โดยมีโจทย์ว่าต้องรอด พวกเขาก็พร้อมเดินหน้าเต็มที่

“เราใช้เวลาศึกษาข้อมูลเป็นปีๆ ก่อนตัดสินใจทำ แม้จะเห็นโอกาสแต่ก็ต้องรู้ความเสี่ยง รู้กลุ่มลูกค้า รู้ตลาด โชคดีที่ได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญในวงการ มีสิ่งให้เรียนรู้ระหว่างทางเยอะมาก ประเมินสถานการณ์และปรับแผนกันอยู่ตลอด” ณัฐปรีเล่า ก่อนฟานจะเสริมว่า นอกจากการปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือมหาราช ยังมีท่าวังหลัง ท่าพระอาทิตย์ ที่เมื่อสะอาดขึ้น คนมาใช้มากขึ้น ก็มีรายได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ดีขึ้นตามไปด้วย

Shuttle Boat

นอกจากงานพัฒนาที่ดินของครอบครัวแล้ว ทายาทรุ่นสี่ยังเห็นโอกาสมากมายจากธุรกิจท่องเที่ยว ปรับปรุงและตกแต่งเรือไม้โบราณ ซึ่งเคยใช้งานจริงในอดีตให้กลับมาสวยงาม ก่อนออกให้บริการเช่าเรือโดยสารแก่โรงแรมและคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ที่มี

“ในการทำงานจริงนั้น จากแผนธุรกิจที่คิดไว้ จริงๆ มีปัจจัย มีทางเลือก มีหุ้นส่วน มีองค์ประกอบมากมาย คุณป้าท่านสอนให้ลองมองหลายๆ ทาง ลองคุยกับหลายๆ คน เพื่อดูว่าเขามีความคิดเห็นหรือข้อเสนอต่อเรื่องนั้นอย่างไร เราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น หรือเจอโอกาสใหม่ๆ จากความต้องการของลูกค้า เช่น โรงแรมบอกว่าอยากใช้บริการเรือ ก็ทำให้ง่ายต่อการเสนอผู้ใหญ่ในบริษัทเพราะยืนยันได้ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน” ฟานเล่า เขาเห็นโอกาสใหม่ๆ จากการต่อยอดสิ่งที่มี พร้อมๆ กับที่ดูแลงานส่วนโฆษณาของเรือและท่าเรือ จนขยายธุรกิจมาเป็นอีกบริษัทในเครือได้สำเร็จ

สูตรสำเร็จจากตำราในห้องเรียนบริหารเรื่องไหนที่ไม่อาจทำได้จริงเสมอไป เราถาม

“ในหลักสูตรมีบทที่สอนให้หาเงินหรือกู้ยืมเงินมาขยายธุรกิจ ขณะที่ครอบครัวไม่เห็นด้วย ตอนแรกก็ไม่เข้าใจ จนเมื่อเห็นว่าในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจมีความเสี่ยง หรือฝืดเคืองจุดไหนและอย่างไร จนเมื่อเรียนรู้ว่าเมื่อนานมาแล้วเราเคยมีหนี้ และปลดหนี้จนสำเร็จ ผ่านวิกฤตต่างๆ มาด้วยความยากลำบากแค่ไหนตลอดร้อยปีนี้ จึงได้เข้าใจว่าการไม่มีหนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าวิกฤตต่างๆ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่” ณัฐปรีกลั่นกรองอย่างช้าๆ 

“จริงๆ เราไม่ได้เดือดร้อนกับการหาเงินทุน แต่จุดประสงค์หนึ่งของการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน คือเราอยากสร้างเครดิตของทีมเรา ของบริษัทเรา ว่าเราเป็นลูกค้าที่ดี จ่ายหนี้ตรงเวลา ทั้งพิสูจน์ได้ว่าโครงการที่เสนอไปนั้นทำได้จริงในเวลาที่กำหนด ซึ่งเมื่อก่อนถ้าคุณป้าเป็นคนออกหน้าไปกู้ ธนาคารก็พร้อมให้สินเชื่ออยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นพวกเราไปกู้ธนาคารก็อาจจะปฏิเสธได้ นั่นเป็นเหตุผล หากวันหนึ่งมีเหตุจำเป็นเราจะได้กู้เงินในนามบริษัทได้ 

“อีกเหตุผลคือ เราอยู่ในโลกความเป็นจริงของธุรกิจ จริงอยู่ถ้ายืมเงินพวกเรากันเองดอกเบี้ยจะถูกกว่า แต่นี่เป็นการพิสูจน์ศักยภาพทีมงานว่าบริหารจัดการได้ดีแค่ไหน” ฟานสรุป

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

Supatra Group

งานสำคัญที่ทายาทรุ่นสี่กำลังทำอยู่ คือการรวมกลุ่มบริษัท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งต่อไป ประกอบด้วย ธุรกิจเรือข้ามฟากและเรือเช่าเหมาลำ  (บริษัท สุภัทรา จำกัด) เรือด่วนเจ้าพระยา (บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด) เรือท่องเที่ยว Hop On Hop Off (บริษัท เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท จำกัด) บริษัทโฆษณา (บริษัท แอดซ์ เจ้าพระยา จำกัด) ท่ามหาราช ท่าวังหลัง โรงแรม 2 แห่ง (Riva Surya และ Riva Arun) และร้านอาหาร 1 ร้านในกรุงเทพฯ (สุภัทรา ริเวอร์ เฮ้าส์ ) ร่วมด้วยรีสอร์ท 1 แห่ง และร้านอาหารทะเล 1 ร้านที่หัวหิน (สุภัทรา หัวหินรีสอร์ทและสุภัทรา ริมทะเล)

จากที่ก่อนหน้านี้แต่ละหน่วยต่างดำเนินกิจการในแนวทางตัวเอง ก็เริ่มเชื่อมสัมพันธ์กันในกลุ่มบริษัท ซึ่งฟานและณัฐปรีไม่ลืมที่จะดูแลธุรกิจหลัก รักษาคุณค่าที่บริษัทมีต่อสังคม เช่นเดียวกับความยึดมั่นที่บรรพบุรุษมีมาตั้งแต่วันแรก โดยเฉพาะการบริการและมาตรฐานความปลอดภัยว่าแม้คิดค่าบริการเรือหลักเพียงสิบบาท แต่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก

“เป็นวิสัยทัศน์ของคุณป้าที่พาบริษัทเข้าเป็น Interferry องค์กรที่รวมผู้ประกอบการเรือทั่วโลก แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เทคโนโลยีเรือใหม่ๆ การออกแบบเรือ และการบริการระดับสากล เป็นสมาชิกมานานนับสิบปี ซึ่งทางสุภัทรากรุ๊ปได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมปี 2023 ด้วย” ฟานเล่าทิ้งท้าย

สุภัทรา กิจการเดินเรืออายุ 100 ปีของไทยที่หาโอกาสใหม่ได้ในทุกวิกฤต, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ