ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกมาเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการตรวจสอบการจัดซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และการพาแพทย์ชนบทอาสามาช่วยปฏิบัติการกู้ภัยโควิดกรุงเทพมหานคร ตรวจเชิงรุกให้ประชาชนใน กทม. และปริมณฑล รวมถึงการลุยงานโควิดหลากหลายรูปแบบในพื้นที่อำเภอจะนะ

ก่อนหน้านั้นสักสองสามปี เขาคือผู้ที่ระดมทุนติดโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลจนประหยัดงบประมาณได้มหาศาล และกลายเป็นต้นแบบโรงพยาบาลทั่วประเทศทำตาม

ถอยไปอีก เขาคือหมอนักเคลื่อนไหว เป็นแกนนำต่อต้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย โรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ในระหว่างนั้น เขาก็เป็นขาประจำเรื่องการวิพากษ์การเมือง ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน จุดยืนของเขาคือ อยู่ฝั่งตรงข้ามอำนาจรัฐ ยืนหยัดอยู่ข้างชาวบ้าน

ย้อนประวัติเขากลับไปอีกนิด เด็กหนุ่มหัวดีจากสงขลาคนนี้ได้สอบติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. 2531

เรียนปี 3 เขาเป็นประธานชมรมค่าย สจม. -ค่ายอาสาสมัครที่เข้มข้นที่สุดของมหาวิทยาลัย

เรียนปี 4 เขาเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ -เขาเริ่มต้นงาน ‘ก้าวใหม่’ งานรับน้องมหาวิทยาลัย พาเด็กจุฬาฯ 700 คน ขึ้นรถไฟไปสัมผัสสชีวิตชนบทที่ราชบุรี ลองทำนา ฝึกใช้แรงงาน แบบค่ายอาสา แต่คนส่วนใหญ่ไม่อินด้วย ในปีต่อมาๆ จึงเข้มข้นน้อยลง จนกลายเป็นงานรับน้องทั่วไป

เรียนปี 5 เขาเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย-สู้กับรัฐบาลเผด็จการ

ประมาณ พ.ศ.​ 2538 เขาเรียนจบ แล้วไปเริ่มงานที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาบ้านเกิด ในตำแหน่งผู้อำนวยการ เพราะทั้งโรงพยาบาลมีหมอ 2 คน คือเขากับเพื่อน เพื่อนไม่อยากเป็น เขาก็เลยได้ตำแหน่งนี้

พ.ศ. 2542 เขาย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา แล้วก็ทำอะไรมากมาย อย่างที่ได้เล่าไป

เขาว่า จุดร่วมของงานทั้งหมดคือ ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบฐานราก ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีสิทธิ์และมีเสียง

เขาเป็นหมอ แต่ดูเหมือนงานเกือบทั้งหมดที่ทำ เกินขอบข่ายงานของหมอ

เปล่า, ไม่ได้เกินเลยแต่อย่างใด นั่นแหละงานของหมอ เจ้าของฉายาหมอเอ็นจีโอสรุปงานของหมอในมุมของเขาว่า

“รักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค”

หมอเอ็นจีโอ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ “หมอที่ดีต้องรักษาคนไข้ ไม่ใช่รักษาโรค”

ช่วงนี้คุณได้ไปราวนด์คนไข้บ้างไหม

น้อยลงมากครับ ชีวิตผมช่วงสามสี่ปีหลัง ตรวจคนไข้น้อยลงอย่างชัดเจน เพราะน้องๆ ให้อภัยแล้ว (หัวเราะ) เมื่อก่อนเราต้องอยู่เวรกลางคืน แต่ตอนนี้หมอเพิ่มขึ้นมาก ผมก็จะช่วยตรวจเฉพาะรายในวันที่หมอไม่พอ ตรวจ OPD บ้าง ไปราวนด์วอร์ดบ้าง หรือช่วยแก้ปัญหาเป็นรายๆ ไป พอไม่ได้ทำนานๆ ทักษะก็หายไปเยอะเลยครับ

ตอนนี้คุณคิดว่าตัวเองเป็นหมอ ผู้บริหารโรงพยาบาล นักรณรงค์ หรืออย่างอื่น

มีคนเรียกผมว่า หมอเอ็นจีโอ คำนี้น่าจะถูกแล้ว

นิยามของหมอเอ็นจีโอคือ

เป็นหมอที่อยู่นอกกรอบ อาจจะทำตัวเหมือนเอ็นจีโอ คือวิพากษ์รัฐ ทำงานพัฒนาที่แตกต่างจากรัฐ คนละทางกับรัฐ น่าจะประมาณนี้

ที่ผ่านมา คุณขับเคลื่อนหลายเรื่องมาก ทั้งการเมือง ค้านท่อก๊าซ ค้านนิคมอุตสาหกรรม ค้านโรงไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ มาจนถึงโควิด จุดร่วมกันของทุกเรื่องคืออะไร

ผมเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยรากฐานที่ต้องฟังเสียงประชาชน จุดเด่นอย่างหนึ่งของผมคือ ผมพูดแล้วเสียงดังกว่าชาวบ้าน เพราะผมมีหมวกเป็นหมอ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผมก็มักจะทำหน้าที่สื่อสารเอาเสียงของชาวบ้านออกสู่สาธารณะ ประชาธิปไตยรากฐานคือ ให้ผู้มีอำนาจฟังเสียงชาวบ้านบ้าง เรื่องนิคมอุตสาหกรรม ท่อก๊าซ เป็นการเอาเสียงชาวบ้านสู่สังคมเมือง ปัญหาโควิด บริหารวัคซีนไม่ดี ATK ก็เอาเสียงของคนเล็กคนน้อย ชาวบ้าน เสียงในพื้นที่ให้ส่วนกลางได้ยิน

ทำไมส่วนกลางต้องฟังเสียงเล็กเสียงน้อยเหล่านี้

เพราะนี่คือประชาธิปไตยรากฐานที่สุดเลย สมัยเรียนหนังสือและช่วงที่จบมาใหม่ๆ ผมทำเรื่องประชาธิปไตยเชิงโครงสร้างเยอะ อยากได้รัฐธรรมนูญดีๆ อยากได้โครงสร้างอำนาจรัฐดีๆ สนใจเรื่องอำนาจส่วนบน แต่พอมาทำงานในพื้นที่ ฝังตัวอยู่กับชาวบ้านเยอะ วิธีคิดของผมก็เปลี่ยนไปมาก 

ผมสนใจประชาธิปไตยโครงสร้างน้อยลงมาก แต่สนใจประชาธิปไตยฐานรากแบบประชานิยมเลย ซึ่งไม่ค่อยดีนะ คือ เสียงชาวบ้านถูกเสมอ ผมอยู่ข้างชาวบ้านแบบไม่สนใจเหตุผลเท่าที่ควร ถ้าสนใจหลักเหตุผล บางทีเราก็ไม่ควรอยู่ข้างชาวบ้านนะ อย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมจะมาตั้งที่สงขลา ถ้าไม่ตั้งที่จะนะ จะตั้งตรงไหน มันก็เหมาะสม แต่ชาวบ้านไม่เอา เราก็ยืนข้างชาวบ้าน

ถ้ามองการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ ฝั่งตรงข้ามของคุณคือใคร

โครงสร้างอำนาจรัฐ

ผู้นำรัฐด้วยไหม

ไม่ใช่ตัวบุคคลนะ เราสู้กับโครงสร้างอำนาจนั้น ผมไม่ได้มีปัญหากับประยุทธ์หรืออนุทินในนามบุคคล แต่เราสู้กับโครงสร้างอำนาจ ไม่ว่าใครมาเราก็ฟัด เราด่าทุกรัฐบาลที่เราคิดว่าไม่ใช่ ที่ผ่านมาแทบไม่มีนายกฯ คนไหนที่ไม่ถูกเราวิจารณ์ พูดง่ายๆ ว่าเราสู้กับโครงสร้างอำนาจที่กดทับชาวบ้านอยู่ ที่ไม่เห็นหัวชาวบ้าน ที่พัฒนาแบบรวมศูนย์

การสู้แบบเปิดหน้าแลกของคุณ โดนอะไรกลับมาบ้าง

ผมพยายามระวังตัวนะ ถึงจะเปิดหน้าแลกแต่ใช้หลักเหตุผล กระแนะกระแหนบ้าง แต่ไม่หยาบคาย ที่ผมโดนบ่อยๆ คือ ตั้งกรรมการตรวจสอบ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เราก็ชี้แจงไป โดนเตือน โดนทำให้ไม่ก้าวหน้าทางราชการ อันนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะผมไม่ได้อยากก้าวหน้าอยู่แล้ว ที่นี่คือฐานที่มั่น ถ้าย้ายผมไปอยู่จังหวัดที่ใหญ่โตขึ้น ผมจะสูญเสียฐานที่มั่น อันนี้ผมจะลำบาก

หมอเอ็นจีโอ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ “หมอที่ดีต้องรักษาคนไข้ ไม่ใช่รักษาโรค”

ชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้กับคุณ โดนลูกปืนกันบ้าง คุณเคยโดนหรือยัง

ยังไม่เคยนะ ขู่ตรงๆ ก็ยังไม่เคย ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

ทำไมยี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่มีใครย้ายคุณออกจากพื้นที่ได้

มีความพยายามจะย้ายผมอย่างจริงจังประมาณสามครั้ง แต่ย้ายไม่ได้ เพราะอะไรก็น่าสนใจนะ เราตัวเล็ก อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน พื้นที่ห่างไกลพอสมควร เป็นฐานที่มั่นที่ไกลที่สุดของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ผมก็ไปจากจะนะไม่ได้ เมื่อไหร่ผมไปจากจะนะ ผมก็ไม่สามารถทำแบบที่ผมทำได้ ที่นี่คือฐานที่มั่นของผม ผมมีมวลชน มีคนที่จะพร้อมช่วยผม ใครจะย้ายผมก็เหนื่อยหน่อย บวกกับจะย้ายไปไหนล่ะ นี่ก็อยู่ไกลแล้วนะ

ย้ายไปแขวนไว้ในกระทรวงก็ได้

หัวใจสำคัญคือ เราไม่ได้มีแต่ชาวบ้าน ผมทำงานกว้างขวางหลายประเด็นมาก มีคอนเนกชันกว้างขวาง

แบ็กดีว่างั้น

อนาคตอันใกล้นี้อาจจะโดนย้ายก็ได้นะ (หัวเราะ) ที่ผ่านมามีคนช่วยผมเยอะเวลาถูกสั่งย้าย ตอนผมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาประมาณ พ.ศ. 2559 รองปลัดกระทรวงโทรมาบอกผมว่า มีคำสั่งจากแม่ทัพภาคที่สี่ให้ย้ายผม ให้ผมอยู่เฉยๆ เงียบๆ ไปก่อน เขาจะไปปรึกษากันว่าจะทำยังไง ผมก็เครียดนะ คิดว่ารอบนี้โดนแน่ เพราะเป็นยุค คสช. ด้วย ผมก็ไปปรึกษาพี่ๆ แพทย์ชนบท เขาบอกว่าสบาย อยู่เฉยๆ เดี๋ยวจัดการให้ แล้วเขาไปโพสต์เฟซบุ๊กว่า ผมจะโดนย้าย ลงไปไม่ถึงสองชั่วโมง รองปลัดกระทรวงโทรมา ไหนบอกว่าจะอยู่เฉยๆ ไง ผมก็บอกว่า ผมอยู่เฉยๆ แล้ว แต่ไม่รู้ใครเขียน

ตอนนั้นผมก็สองจิตสองใจ จะสู้ด้วยกระแสสาธารณะ หรือจะสู้แบบล็อบบี้ คือเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ว่าอย่าย้ายผมเลย ผมก็แค่อย่างงั้นอย่างงี้ ยังคิดไม่ตกเลย แต่พี่ๆ เขาเลือกโพสต์เฟซบุ๊กต่อสาธารณะ ช่วยกันปั่นกระแสเซฟสุภัทร ปรากฏการณ์นั้นก็เหลือเชื่อนะ พอเป็นกระแสในสื่อผมก็รอด

คุณประท้วงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 อยากให้ช่วยพูดถึงวิวัฒนาการของการประท้วงในรอบสามสิบปีที่ผ่านมาหน่อย

เมื่อก่อนเป็นยุคหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์จะออกข่าวให้ เมื่อเราทำให้เป็นปรากฏการณ์ข่าว จะยื่นหนังสือก็ต้องรวมกันให้ได้เป็นร้อยคน มีป้ายใหญ่ๆ คำคมๆ พอมีโซเชียลมีเดีย เห็นชัดเลย กระบวนการสร้างการรับรู้หรือชี้ประเด็นกับสาธารณะเปลี่ยนไป ไม่ได้เน้นกำลังคนแบบเดิม แต่เน้นการใช้ปัญญา ใช้สมอง ใช้เทคนิค ทำกิจกรรมสองสามคนก็อิมแพคได้ หรือมีแค่แถลงการณ์ใบเดียวที่มาได้จังหวะเวลา และมีเนื้อหาคมพอ ก็มีพลังได้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว

เทคนิคในการเขียนเฟซบุ๊กให้กลายเป็นข่าวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคืออะไร

หัวใจ คือ จังหวะเวลา ถ้าจังหวะไม่ได้มันจะไม่ปัง แล้วก็ต้องไม่ใช่ชิ้นเดียว ต้องมีคนมาช่วยสร้างกระแส เราต้องทำเป็นกระบวนการ เรื่อง ATK ผมเขียนเฟซบุ๊กในนามชมรมแพทย์ชนบท ในนามกลุ่มชาวบ้านที่ช่วยทำเรื่องโควิด พอเราสร้างกระแส คนอื่นก็ต้องตาม สร้างประเด็นเพิ่มหรือขยายประเด็น ให้เกิดความเคลื่อนไหวเป็นชุด ถ้าเขียนชิ้นเดียวก็จบ

อย่างผมเขียนว่า ผมไม่อยากได้กำแพงป้องกันชายหาด เพราะมันทำลายหาดทรายสีขาวสวยงาม เขียนไปก็คงหายไปกับสายลม เพราะเวลาไม่ได้ แต่เมื่อไหร่มีรูปเครื่องจักร รถแทรกเตอร์ลงชายหาด รูปนั้นจะมีความหมาย เพราะจังหวะได้ แล้วเราก็ต้องไปทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาด้วย ปรากฏการณ์จะช่วยเสริมพลัง เราใช้เครื่องมือนี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่บอกว่า เราคิดยังไง

คุณสู้มาสามสิบปี คุณชนะศึกไหนบ้าง

ตั้งแต่สู้มา ยังไม่ชนะสักเรื่อง

หมอเอ็นจีโอ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ “หมอที่ดีต้องรักษาคนไข้ ไม่ใช่รักษาโรค”

ไม่ชนะ แล้วเคยแพ้ไหม

ไม่เคยแพ้สักเรื่องเหมือนกัน จริงๆ จะบอกว่าเราแพ้ก็ได้ แต่เราคิดว่าเราไม่แพ้นะ โรงแยกก๊าซจะนะเป็นศึกใหญ่มาก เป็นประสบการณ์แรกๆ ของผมในช่วงที่ผมอายุน้อยด้วย เพิ่งจบอายุยี่สิบปลายๆ สุดท้ายโรงแยกก๊าซก็สร้างสำเร็จ โรงไฟฟ้าจะนะที่เกิดตามมาหลังโรงแยกก๊าซสร้างเสร็จ ก็เอาก๊าซมาใช้ในโรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรมกำลังจะมา มันใหญ่มาก ตอนนี้ยันๆ กันอยู่ แบบไม่เห็นอนาคตว่า จะชนะได้ยังไงเหมือนกัน เราก็ไม่แพ้

เขาสร้างได้ ไม่เรียกว่าแพ้เหรอ

อันนี้น่าสนใจมาก ที่บอกไม่แพ้เพราะผมคิดสองมุมนะ มุมหนึ่ง อธิบายแบบเข้าข้างตัวเองนะ แม้โรงงานจะเกิดขึ้นได้ แต่ตัวโรงแยกก๊าซหรือโรงไฟฟ้ามันไม่ได้มาโดดๆ มันมาเป็นชุดโครงการ เราหยุดโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าไม่ได้ แต่เราหยุดนิคมได้

อธิบายแบบสวยๆ ได้อีกว่า เราได้ทำให้โรงงานทั้งสองแห่งกลายเป็นโรงงานที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง เพราะชาวบ้านเฝ้าตลอดเวลาว่า จะปล่อยควันดำ ปล่อยมลพิษไหม

อีกอย่าง สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ค้านโรงแยกก๊าซหรือโรงไฟฟ้าเป็นชิ้นๆ แต่เรากำลังนำเสนอชุดความคิดเรื่องทิศทางการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน และเห็นหัวประชาชนแบบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงชาวบ้าน ชุดความคิดนี้ได้เผยแพร่ไปไกล และเป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ มันคือชุดความคิดที่เคารพสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ฟังเสียงของนก เสียงของปลาบ้าง โลกนี้ไม่ใช่โลกของมนุษย์อย่างเดียว เราไม่ได้รู้สึกว่าแพ้ แค่ยังทำงานไม่สำเร็จเท่านั้นเอง เรายังยึดมั่นในชุดความคิดนี้อยู่ และพยายามถ่ายทอดออกมาให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่ อธิบายเข้าข้างตัวเองเกินไปไหม (หัวเราะ)

เป็นการนิยามความไม่แพ้ที่น่าสนใจ

สำคัญนะ ถ้าเราบอกว่าขบวนการเราแพ้ มันก็ห่อเหี่ยว ชาวบ้านจะสิ้นหวังต่างคนต่างอยู่ พอเราอธิบายแบบนี้ ชาวบ้านก็มีความสุข เจอโควิดก็มาสู้กับเรา แสดงว่าชุดความคิดของเขามาไกลแล้ว ไม่ได้สู้เรื่องโรงแยกก๊าซ หรือสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่มีชุดความคิดเรื่องทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

โควิดครั้งนี้ คุณลุยงานหลายแนวมาก มีงานไหนบ้างที่เพิ่งเคยทำเป็นครั้งแรกในชีวิต

ผมได้บริหารโรงพยาบาลในสภาวะวิกฤต ซึ่งท้าทายที่สุด เพราะมีผู้ป่วย มีโรคระบาดในอำเภอจะนะที่ผมดูแล ระบาดหนักด้วย เราจะเข้าไปควบคุมโรคยังไง ผมกับทีมก็ลงพื้นที่ไปตรวจในโรงงาน ไล่ Swab เจอก็เอามาแอดมิต อีกสัปดาห์เข้าไปใหม่ พอระบาดมาก ก็ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ต้องเคลียร์โรงพยาบาลจากที่มีตึกโควิดสี่สิบเตียง กลายเป็นร้อยสี่สิบเตียง โรงพยาบาลเท่าเดิม ทรัพยากรเท่าเดิม เจ้าหน้าที่เท่าเดิม แต่ต้องจัดการร้อยสี่สิบเตียงให้ได้ คนไข้สูงสุดคือห้าร้อยคน เราก็ต้องไปหาโรงพยาบาลสนาม ไปคุยกับชุมชน โรงเรียน ผู้นำศาสนา ก็เปิดโรงพยาบาลสนามได้ห้าแห่ง เป็นโรงเรียนสี่แห่ง ค่ายทหารหนึ่งแห่ง

แล้วก็ยังมีงานวัคซีน งานคัดกรอง ATK คัดกรอง RT-PCR ทุกวัน ในโรงพยาบาลก็มีผู้ป่วยทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่อการติดโควิดอีก เป็นงานบริหารระบบจริงๆ อันนี้สนุกที่สุด และไม่เคยทำมาก่อน

หมอเอ็นจีโอ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ “หมอที่ดีต้องรักษาคนไข้ ไม่ใช่รักษาโรค”
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทกับงานเอ็นจีโอค้านโรงไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ สู้โควิด และตรวจสอบรัฐบาล

หลายพี้นที่มีข้อจำกัดมากมาย ทำไมคุณจัดการหลายเรื่องได้ง่ายจัง

การอยู่นานสำคัญมาก ยี่สิบปีที่ผมอยู่ทำให้ผมมีคอนเนกชัน ผมรู้จักกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกคน โรงเรียนที่เปิดเป็นโรงพยาบาลสนามสามแห่งคือ โรงเรียนที่สู้กับเราในการค้านนิคมอุตสาหกรรม เขาไม่เอานิคม พอโควิดมา ก็ไม่ต้องคุยกันเยอะ เพราะรู้ทิศรู้ทางกันอยู่แล้ว เขาก็ช่วยเต็มที่

ทีมงานก็สำคัญมาก ผมไม่ค่อยได้ช่วยน้องๆ ตรวจคนไข้เท่าไหร่นะ ในโรงพยาบาลก็เน้นบริหาร เราต้องแก้ปัญหาให้เขาได้

นับถึงวันนี้ อะไรคือบทเรียนใหญ่ที่สุดที่โควิดทิ้งไว้ให้วงการสาธารณสุขไทย

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองศิวิไลซ์ แต่ระบบสาธารณสุขไม่พร้อมรับมือกับเรื่องที่มีความเร็วสูงแบบนี้ ในขณะที่โรงพยาบาลในอำเภอเล็กๆ ต่างจังหวัดรับมือได้ดีกว่าเยอะ แม้ว่าทรัพยากรน้อยกว่า หมอน้อยกว่า ทุกอย่างน้อยกว่า แต่รับมือได้ดีกว่ากรุงเทพฯ มาก แทบไม่มีใครตายที่บ้านเลยนะ ทุกคนได้ตายที่โรงพยาบาลเป็นอย่างน้อย ตายที่บ้านคือเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่เพราะไม่มีเตียงให้เขานอน อยากตรวจ ATK ก็ได้ตรวจ เป็นกลุ่มเสี่ยงก็ได้ตรวจจริง แต่กรุงเทพฯ ต้องต่อคิวตรวจยาวมาก

ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ไม่พร้อมจริงๆ เพราะไม่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้ เขตก็ไม่มีโรงพยาบาล กรุงเทพฯ มีห้าสิบเขต มีโรงพยาบาลสังกัด กทม. สิบเอ็ดโรง ซึ่งไม่พอ แขวงก็มี รพสต. (โรงบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ไม่ครบ ไม่มีโครงสร้างที่จะดูแลชาวบ้าน ลงไปลุยในชุมชน ไปคัดกรองโรค

บทเรียนอื่น รัฐบาลก็ไม่พร้อม องคาพยพภาครัฐก็ตอบสนองช้า ระเบียบก็แย่ อยากซื้อ ATK ยี่ห้อดีๆ ก็ซื้อไม่ได้ อยากได้วัคซีนดีๆ ก็ไม่ได้ เพราะวัคซีนดีๆ ต้องจ่ายเงินก่อนได้ของ ระเบียบและราชการไม่เอื้อในภาวะวิกฤตแบบนี้ คงต้องปฏิรูประบบราชการกันครั้งใหญ่ ถ้าเป็นไปได้

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทกับงานเอ็นจีโอค้านโรงไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ สู้โควิด และตรวจสอบรัฐบาล

คุณว่าหมอที่เก่งหรือไม่เก่งตัดสินจากอะไร

ถ้าเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย ก็ประเมินจากความสามารถในการตัดสินใจ ความยากของแพทย์คือการประมวลข้อมูลทั้งหมดแล้วตัดสินใจ ถ้าโรคไส้ติ่งมาชัดๆ ใครๆ ก็วินิจฉัยได้ แต่ความเจ็บป่วยที่น้อยๆ สีเทาๆ ไม่ชัด อาการไม่เหมือนในตำรา เราต้องประมวลข้อมูลที่มีภายใต้ข้อจำกัด แล้ววินิจฉัยโรคออกมาว่าเป็นอะไรกันแน่ อันนี้ยากนะ

อาจารย์บรรลุ ศิริพานิช เคยไปเยี่ยมลูกศิษย์จบใหม่ที่สระบุรี หมอรายงานว่ามีเคสนี้อยากปรึกษาอาจารย์ อาจารย์ถามว่า เจาะเลือดดูค่านี้หรือยัง ยังครับ ตรวจฉี่หรือยัง ยังครับ เอกซเรย์ยัง ยังครับ อัลตราซาวนด์ล่ะ ไม่ได้ทำครับ อาจารย์บอกว่า แล้วจะให้อั๊ววินิจฉัยยังไงวะ ไม่มีข้อมูลสักอย่าง ลูกศิษย์ก็บอกว่า ถ้าได้ทำที่อาจารย์ว่าทั้งหมด ผมก็วินิจฉัยเองได้ครับ ไม่ต้องปรึกษาอาจารย์หรอก ภายใต้ข้อจำกัดแบบนี้แหละที่จะวัดกึ๋นของแพทย์

มีทักษะอื่นอีกไหม

การพูดจากับคนไข้ก็สำคัญมากนะ ต้องสื่อสารให้คนไข้เข้าใจ ต้องเคารพความคิดของคนไข้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หมอเรายังค่อนข้างขาด เช่น เคารพสิทธิในการเลือกวิถีทางการตายของคนไข้ หลังๆ ก็ดีขึ้นแล้วนะ แล้วก็ต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจท่ามกลางข้อมูลที่น่าสับสน เช่น ถ้าเป็นมะเร็งน้อยๆ ก็น่ารักษา เป็นมากๆ ก็ง่าย ไม่ต้องรักษา แต่ระยะก้ำกึ่ง เราจะให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างไรว่าจะเอาไงดี เราต้องให้ข้อมูลทั้งเชิงวิทยาศาสตร์และเชิงสังคม ต้องร่วมคิด ช่วยตั้งคำถามให้เขาได้คิดกับตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่ารักษาไปแล้วจะดีกว่าจริงไหม นี่เป็นความสามารถที่หายาก และวัดความเก่งของแพทย์ด้วย

คุณคิดว่าตัวเองเป็นหมอที่เก่งไหม

ในเชิงการรักษาโรค ดูแลคนไข้ในฐานะแพทย์ทั่วไป ผมเชื่อว่าผมโอเค เพราะผมเป็นแพทย์ทั่วไป ไม่ได้เป็นแพทย์เฉพาะทาง โรคทั่วไปดูแลได้ กระดูกหักพื้นฐานก็พอจะต่อได้ ผมผ่าตัดได้นิดหน่อย ผ่าไส้ติ่งเป็น ทำหมันเป็น ทำได้แค่นี้ ผ่าคลอดทำไม่ได้แล้ว เพราะจบมาก็แทบไม่ได้ทำ 

ตอนหนุ่มๆ เรามีหมอสองสามคน ผมดูแลคนไข้เยอะมาก นี่คือฐานสำคัญที่สุดของผมที่อยู่จะนะแล้วชาวบ้านรัก เขาไม่ได้รักผมเพราะผมอยู่ข้างๆ เขาตอนประท้วง แต่รักผมเพราะผมเป็นหมอของเขา ดูแลแม่ยาย แม่เขา ลูกเขา เมียเขา ดูแลมายาวนานเพราะผมอยู่มายี่สิบปี ผมมีปัญหาเขาก็มาช่วย

ทำไมหมอที่เก่งอย่างคุณถึงพอใจแค่การเป็นแพทย์ทั่วไป ไม่เรียนต่อเฉพาะทาง

ผมเคยอยากเรียนนะ ผมอยากเป็นศัลยแพทย์ ผมมีฝีมือด้านการผ่าตัด ผมผ่าตัดสวย มือนิ่ง ใจเย็น สายตาดี แต่พอไปอยู่สะบ้าย้อยแล้วติดใจ ติดโรงพยาบาลชุมชน ผมมีโลกสองใบที่สับสน ช่วงต้นๆ ผมอยู่ในโลกที่เป็นหมอชนบท ตอนเรียนออกค่ายเยอะ ก็อยากทำงานพัฒนาชนบท 

อีกโลก ผมเรียนเก่ง ก็อยากมีโลกวิชาการ อยากเป็นอาจารย์หมอผ่าตัดเก่งๆ ในโรงเรียนแพทย์ เป็นสองโลกที่สู้กันในช่วงต้นของชีวิต สุดท้ายโลกการเป็นแพทย์ชนบทก็ชนะ

เป็นแพทย์ชนบทดีกว่าเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ตรงไหน

ส่วนหนึ่งเพราะมันสนุก ไม่จำเจ ที่ผ่านมาผมขับเคลื่อนหลายประเด็น ผมไม่ได้ภักดีต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ให้ผมเคลื่อนไหวแต่โซลาร์เซลล์ทั้งชีวิต ผมทำไม่ได้ ชีวิตในโรงพยาบาลชุมชนมันไม่จำเจดี ได้ทำหลายอย่าง ได้ทำมากกว่าเป็นหมอ หลังๆ ได้ทำตัวเป็นเอ็นจีโอด้วย เป็นโลกที่ผมเคยสนุกกับมัน 

ตอนออกค่ายเราก็มีความสุขกับชีวิตแบบนี้ ได้ฟังอภิปราย เสวนา มีความคิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องการแพทย์เท่านั้น ผมชอบไปเข้าวงเสวนามาก มันทำให้เรามีความคิดกว้างขวางหลากหลาย นั่นเป็นพื้นฐานให้ผมทำได้หลายประเด็น

คุณไม่ได้เรียนต่อเฉพาะทาง เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเล็กๆ มายี่สิบปี ถ้ามองจากสายตาคนนอก ดูจะไม่ก้าวหน้าขึ้นสักเท่าไหร่ คุณวางแผนความก้าวหน้าทางวิชาชีพของตัวเองเอาไว้แบบไหน

ผมได้ไปเรียนเมืองนอกเชียวนะ อั๊ยยะ ไปเรียนสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิตที่เบลเยียมปีนึง รุ่น ค.ศ. 2011 ตอนนี้เพื่อนๆ ประเทศอื่นที่เรียนด้วยกันบางคนเกือบจะเป็นรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงกันแล้ว เวลาอัปเดตกัน ผมก็อยู่ที่เดิม ถามว่าผมก้าวหน้าไหม ผมก็ก้าวหน้านะ แต่ผมไม่ได้คิดเรื่องความก้าวหน้าทางราชการไว้เลย ที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัย เป็นฐานที่มั่นของผม ให้เงินเดือนผม ทำให้ผมมีความมั่นคงในชีวิต ทำให้ผมได้ได้ทำเรื่องอื่นที่อยากทำ

ถ้าคุณไม่สนใจความก้าวหน้าในทางราชการ คุณสนใจความก้าวหน้าแบบไหน

ผมมีเสรีภาพในการแปลงความคิดมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม อันนี้สำคัญมาก แทนที่เราจะเป็นนักวิชาการเอาแต่เสนอให้เพื่อนทำ การที่เราเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผมแปลงความคิดเป็นรูปธรรมได้ด้วยเงิน ด้วยทรัพยากร ด้วยกำลังพลที่มี ช่วงโควิดผมคิดว่าเราน่าจะทำ Community Isolation นะ เราก็ทำได้เป็นแห่งแรกๆ ของประเทศเลย

ตอนสูู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน คนก็กระแนะกระแหนว่า ค้านโรงไฟฟ้าแล้วโรงพยาบาลไม่ใช้ไฟเหรอ งั้นทำไงดีวะ ก็ติดโซลาร์เซลล์ให้ดูก็แล้วกัน แปลงความคิดของเราเป็นรูปธรรมปฏิบัติให้ผู้คนเห็น ผมว่านั่นแหละคือความก้าวหน้า มันคือความสนุกของชีวิต ทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิต และสนุกในประเด็นที่ทำ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทกับงานเอ็นจีโอค้านโรงไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ สู้โควิด และตรวจสอบรัฐบาล
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทกับงานเอ็นจีโอค้านโรงไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ สู้โควิด และตรวจสอบรัฐบาล

ชมรมแพทย์ชนบทของคุณคืออะไร

เป็นการรวมตัวของก๊วนหมอเอ็นจีโอที่มีฐานคิดใกล้ๆ กัน เป็นชุดความคิดที่แตกต่างจากกระทรวงสาธารณสุขเจ้านายของพวกเรา ชุดความคิดของเราคือ โปรชนบท โปรชาวบ้าน โปรการกระจายทรัพยากรไม่ให้เหลื่อมล้ำ โรงพยาบาลผมไม่ได้สร้างตึกมายี่สิบปีแล้ว งบประมาณก็ลงนะ แต่ลงโรงพยาบาลใหญ่ๆ ลงไม่ถึงบ้านนอก น้ำไหลไปไม่ถึง ไอติมแท่งถูกดูด กว่าจะถึงเราก็เกือบหมดแท่งแล้ว พวกเรารู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ฐานคิดเดียวกับชาวบ้านที่โดนกระทำจากอำนาจรัฐ

แต่กำลังเข้าสู่ยุคที่ต้องปล่อยให้มันไปตามกาลเวลา เพราะน้องรุ่นใหม่ หมอรุ่นใหม่ เขาไม่รู้สึกเหมือนรุ่นเรา ชุดความคิดเขาก็ทำงานทางสังคมนะ แต่วิธีคิดวิธีทำงานไม่เหมือนกัน พวกเราเป็นรุ่นที่ยอมแบกองค์กร ทั้งที่รู้ว่า องค์กรที่แบกอยู่บางทีก็เป็นสิ่งปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ที่สมควรรื้อทิ้งได้แล้ว แต่คนรุุ่นใหม่มีจุดแข็งคือ เขาไม่แบกองค์กร ปรับเปลี่ยนรวดเร็ว พร้อมรวม พร้อมยุบ พร้อมเลิก แล้วก็มารวมกันใหม่ ยุบๆ เลิกๆ รวมๆ ก็เป็นจุดแข็งอีกแบบ อนาคตชมรมแพทย์ชนบทก็คงหายไปแล้ว

เวลานักศึกษาแพทย์จากในเมืองมาเรียนที่นี่ คุณสอนอะไรให้พวกเขา

ผมพาลงพื้นที่ไปเห็นของจริง ไม่ต้องสอนมาก ผมก็เรียนรู้จากการเห็นของจริงนะ ผมให้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) พาไปบ้านหลังสุดท้ายที่ไกลที่สุด จนที่สุด บ้านที่มีคนป่วยนอน ให้เขาไปคุย ให้เรียนรู้จากการสัมผัสความจริง แล้วก็มาสรุปกันว่าเห็นอะไร สิ่งที่เห็นไม่ใช่มิติทางการแพทย์ แต่เป็นมิติทางสังคม มิติอื่นๆ ได้เห็นว่าสิทธิแรงงานมีน้อยเหลือเกิน ไม่ใช่เห็นแต่โรค

ทำไมนักศึกษาแพทย์ต้องเห็นสิ่งพวกนี้

เพราะหมอที่ดีต้องรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค เขาต้องเห็นชีวิตผู้คน แล้วเขาจะเป็นหมอที่ดี ชาวบ้านจะรักเขา เขาจะอยู่ชนบทได้ด้วยนะ ถ้าเขารักษาแต่โรค อยู่ชนบทได้ไม่นานก็จะไปอยู่ในเมือง เพราะในเมืองเน้นรักษาโรค ปวดกระเพาะก็รักษากระเพาะ แต่ที่นี่เราซักไปซักมา อ้าว ที่บ้านยังมีคุณยายอีกคนไม่มีข้าวกิน เป็นอัมพาตไปไหนไม่ได้ แล้วจะช่วยยังไงดีให้เขามีชีวิตที่ดีกว่านี้ เรารักษามากกว่าโรค

ถ้าแนะนำนักศึกษาแพทย์ยุคนี้ได้หนึ่งอย่าง อยากบอกอะไร

ผมเป็นอย่างนี้เพราะผมออกค่าย ผมเรียนนอกห้องเรียนเยอะ เรียนรู้เองจากสิ่งที่เราอยากเรียน นักศึกษาแพทย์เดี๋ยวนี้เรียนหนักเกินไป เรียนวิชาการมากเกินไป ไม่ได้เรียนวิชาสังคม วิชาชีวิตจริง ไม่ได้เรียนความจริงจากโลกมนุษย์เลย เรียนแต่ตำรา จะบอกให้อาจารย์สอนน้อยๆ คงยาก น้องๆ ต้องหาเวลาจัดการตัวเอง เรียนน้อยๆ หน่อย แล้วออกไปสัมผัสความจริงในโลกเยอะๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องชนบทนะ ไปคุยกับคนอาชีพอื่นก็ได้ จะทำให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นหมอที่สมบูรณ์ขึ้น พูดง่ายแต่ทำไม่ได้นะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเดี๋ยวนี้นักศึกษาแพทย์ต้องสแกนหัวแม่มือตอนเข้าเรียนแล้ว แย่แล้วนะโลกมนุษย์เนี่ย

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทกับงานเอ็นจีโอค้านโรงไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ สู้โควิด และตรวจสอบรัฐบาล
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทกับงานเอ็นจีโอค้านโรงไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ สู้โควิด และตรวจสอบรัฐบาล

ถ้าพรุ่งนี้มีการเปลี่ยนแปลง ครม. แล้วคุณได้รับตำแหน่ง รมต.สาธารณสุข คุณจะทำอะไรเป็นอย่างแรก

เคยมีคนถามผมว่า ถ้าผมเป็นนายกฯ ผมจะทำอะไร ผมจะเซ็นยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ พอเซ็นเสร็จผมก็ลาออก อืม ผมจะทำอะไรอย่างแรก เชื่อเถอะ ผมทำอะไรไม่ได้หรอก ระบบราชการเราแข็งตัวมาก ทำอะไรได้ยากมาก อาจารย์ผู้ใหญ่ของเราได้เป็นรัฐมนตรีสองปี สามปี ก็ทำอะไรไม่ได้สักคน ผมไม่คิดว่าผมจะทำอะไรได้นะ อาจจะได้แค่นโยบายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้เลย อยู่ตรงนั้นทำอะไรไม่ได้หรอก เซ็นยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมจะนะยังทำไม่ได้เลย

อะไรคือสิ่งที่คุณอยากเปลี่ยนแปลงที่สุดในวงการสาธารณสุขไทย

ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจรัฐมากกว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ทำไมการสร้างอ่างเก็บน้ำที่สงขลา ต้องไปตัดสินใจที่กรมชลประทานที่กรุงเทพฯ ทำไมตัดถนนสักเส้นต้องตัดสินใจที่กระทรวงคมนาคม ทำไมโรงพยาบาลจะนะจะสร้างตึกสักหลัง ต้องไปตัดสินที่รัฐสภาว่าจะได้งบปีไหน แล้วไม่ได้งบสักที

สิ่งที่ควรทำเลยคือ เลิกโครงสร้างราชการส่วนภูมิภาค ให้เหลือแต่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นจะอยู่ยังไงไม่รู้ ต้องมานั่งคิดกัน แล้วอำนาจส่วนกลางให้มันเหลือนิดเดียว โยกงบประมาณทั้งหมดมาไว้ที่ท้องถิ่น จะเละเทะก็มาเละเทะกันตรงนี้ แล้วค่อยๆ สร้างฐานท้องถิ่นใหม่ 

แต่ที่ผมพูดทำไม่ได้หรอก มันขัดรัฐธรรมนูญ เราอาจจะไม่ต้องเป็นรัฐเดี่ยว เป็นมลรัฐก็ได้นะ มลรัฐอันดามันก็มีกฎกติกาของตัวเองที่ไม่เหมือนมลรัฐอ่าวไทย อย่างบริบทสามจังหวัดซึ่งเป็นมุสลิมแปดสิบ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เขาก็ควรจะมีกฎหมาย มีวิธีการต่างๆ เฉพาะของเขา ตอนนี้ผมโปรการกระจายอำนาจสุดขั้วมาก

ที่คุณนิยามตัวเองว่าเป็นหมอเอ็นจีโอ คุณคิดว่ามีสัดส่วนหมอกี่เปอร์เซ็นต์ เอ็นจีโอกี่เปอร์เซ็นต์

ผมว่าห้าสิบห้าสิบนะ ผมยังเป็นหมอเยอะอยู่ (หัวเราะ) แล้วก็เป็นเอ็นจีโอด้วย

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทกับงานเอ็นจีโอค้านโรงไฟฟ้า ติดโซลาร์เซลล์ สู้โควิด และตรวจสอบรัฐบาล

ภาพ : www.facebook.com/supathasuwannakit

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป