วรรณคดีไทยกับเทคโนโลยีภาพเสมือน (Augmented Reality) อาจฟังดูไม่เข้ากันเสียเท่าไร แต่สองสิ่งนี้โคจรมาพบกันในพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ณ วัดเทพธิดารามวรวิหาร อย่างลงตัว ประจวบกับวาระวันสุนทรภู่ที่เวียนมาครบอีกครั้งในวันที่ 26 มิถุนายน เราจึงอยากขอเชิญชวนทุกคนไปเยี่ยมชมสถานที่สุดพิเศษแห่งนี้ด้วยกัน อีกทั้งพูดคุยกับ ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทพธิดารามและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ถึงที่มาที่ไปและแนวคิด ‘สุนทรภู่ never dies’ ที่จะส่งเสริมการส่งต่ออัตลักษณ์และความงดงามของภาษาไทยให้คนรุ่นใหม่ ผ่านทั้งเทคโนโลยีและการมีประสบการณ์ร่วมแบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

 ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวราภรณ์

หลวงพ่อมาต้อนรับพวกเราที่เรือน ‘มหากวีสามัญชน’ ซึ่งเป็นโซนแรกของพิพิธภัณฑ์ที่เปิดฉายวีดิทัศน์เล่าเรื่องประวัติของสุนทรภู่โดยสังเขป เป็นเรื่องที่เราหลายๆ คนคงได้เรียนรู้กันไปแล้วบ้างไม่มากก็น้อยที่โรงเรียน เล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่เกิดในย่านวังหลัง (ปัจจุบันคือแถวศิริราช) 

จากนั้นจึงได้เป็นกวีรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 2 จนได้รับพระราชทานตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร แต่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านถึงคราวตกอับ และต้องหนีบวชไปประจำวัดหลายแห่ง รวมกันกว่า 18 พรรษา โดยท่านมาพำนักอยู่ที่กุฏิของวัดเทพธิดารามนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2383 ภายใต้การสนับสนุนของ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ พระองค์เจ้าวิลาศ และได้สร้างผลงานชิ้นเอกอย่าง พระอภัยมณี ถวายพระองค์ ไปจนถึงรำพันพิลาป ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายที่ท่านแต่งก่อนลาสิกขาใน พ.ศ. 2385 เป็นที่มาของการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อระลึกถึงท่านในบริเวณนี้นี่เอง

พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

ท่านเจ้าคุณเล่าให้เราฟังว่า เมื่อก่อนกุฏิของสุนทรภู่เคยถูกทำเป็นห้องจัดแสดงขนาดเล็กเพียงห้องเดียว ส่วนกุฏิที่เหลือนั้นเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ สามเณร แต่พอทางสำนักงานทรัพย์สินฯ เข้ามาซ่อมเขตพุทธาวาสในวัดอยู่ 4 – 5 ปี เมื่อเรียบร้อยสวยงามจึงได้เข้ามาดูในส่วนนี้ ประกอบกับตอนนั้นมีทางพิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซติดต่อมาหาท่านจากทางโซเชียลมีเดีย บอกว่าต้องการสร้างรูปปั้นของสุนทรภู่ไว้ในมิวเซียมของเขาที่ลอนดอน เพราะท่านได้รับรางวัลเป็น The great poet of the world จาก UNESCO ใน พ.ศ. 2529 

“เราเลยเกิดแรงบันดาลใจ บอกทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ไปว่าวัดของเรามีของดีมากมาย น่าจะทำมิวเซียมจริงจังนะ แล้วเขาก็ตอบตกลง” โปรเจกต์การบูรณะและสร้างสรรค์ระดับมหากาฬจึงได้เริ่มต้นขึ้น

“เดิมทีเป็นคนที่ไม่สนใจ บอกตรงๆ เรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เนี่ยไม่ได้ชอบ” ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวราภรณ์เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนตนรับผิดชอบผลิตรายการทีวีในช่อง WBTV สถานีวิทยุโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติฯ วัดยานนาวา แต่เนื่องจากพระสงฆ์อีกท่านที่ต้องดูแลพิพิธภัณฑ์นี้มรณภาพไปเสียก่อน โปรเจกต์นี้จึงตกมาในมือท่านโดยปริยาย แต่แน่นอนว่าการสร้างงานในระดับนี้ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยฝ่ายเดียว

 ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวราภรณ์

 “ทางเราประชุมกัน 4 ฝ่าย อาตมาเป็นตัวแทนของทางวัด ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็มา มีกรมศิลปากรที่มาให้คำแนะนำเรื่องการทำงานกับโบราณวัตถุและโบราณสถาน และบริษัทรักลูกที่ดูแลการทำนิทรรศการด้วย ซึ่งเราก็มาคุยกัน เขาถามเราว่าชอบไหม? เราก็ขอเพิ่มนิดนี่หน่อย ประชุมกัน 2 เดือนครั้ง 3 เดือนครั้งอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาต้องถามเราเนื่องจากเราจะเป็นผู้ใช้งาน”

ความโดดเด่นของการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยปูชนียบุคคลที่อื่นซึ่งมักมีแค่ประวัติ แต่ที่นี่มีการเชื่อมโยงเข้ากับบริบทและยุคสมัยด้วย อย่างในห้องที่ 2 มีชื่อว่า ‘แรงบันดาลใจไม่รู้จบ’ นอกจากมีการแสดงไทม์ไลน์ชีวิตและผลงานของท่านแล้ว ยังเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นด้วย อาทิ พ.ศ. 2362 ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ด้วยเรือกลไฟ สุนทรภู่ก็กล่าวถึงเรือรบขนาดใหญ่ของโจรสุหรั่งในงานของท่าน 

พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

หรือการสมมติตัวละครชาวอังกฤษให้เป็นโจรสลัด แสดงให้เห็นอคติที่มีต่อชาวตะวันตกในฐานะนักล่าอาณานิคม จากเหตุการณ์อังกฤษยึดหงสาวดีใน พ.ศ. 2362 ผนังที่ติดกันก็พูดถึงการนำไปดัดแปลงต่อยอดของ พระอภัยมณี ในรูปแบบต่างๆ เช่น สุดสาคร ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของไทยใน พ.ศ. 2522 และหนังสือการ์ตูน อภัยมณี ซาก้า ใน พ.ศ. 2544 แถมยังมีเพลง คำมั่นสัญญา ของครูเพลง สุรพล แสงเอก ที่ดัดแปลงมาจากคำกลอนตอนพระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวงเปิดคลอให้ฟังอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีตัวเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่ทำให้เราสามารถเข้าไปอยู่ในฉากเดียวกันกับภิกษุภู่ ในอิริยาบถต่างๆ ในจอโทรศัพท์หรืออุปกรณ์แท็บเล็ตของเราอย่างน่าอัศจรรย์! โดยท่านเจ้าคุณเล่าว่า ในตอนแรกตั้งใจจะไม่เอาส่วนนี้ เพราะต้องใช้งบประมาณเป็นล้าน แถมยังต้องไปถ่ายทำในสตูดิโอเหมือนทำภาพยนตร์สั้น และต้องหาดารานางแบบมาสวมวิญญาณเป็นสุนทรภู่ เป็นองค์หญิงวิลาส ซึ่งตอนนั้นทางวัดได้ใช้เงินไปกับมัลติมีเดียส่วนอื่นไปเป็นล้านแล้ว จึงลังเลว่าจะแบกรับไหวไหม 

พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

“แต่ก็กลับมาคิดถึงจุดอ่อนของเราที่ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก มีไม่กี่ห้อง ก็เพิ่มไปอีกสักนิดดีกว่ามั้ง เพื่อความเอนเตอร์เทน เอาก็เอา เลยได้ AR มาเสริม ซึ่งตอนแรกได้แค่ถ่ายรูปอย่างเดียวนะ อาตมาอัพเดตให้ถ่ายวิดีโอเคลื่อนไหวได้ด้วย เรียกโปรแกรมเมอร์อีกคนมาช่วย ให้เหมือนที่เขาทำในต่างประเทศ”

เรียกได้ว่าเป็นการรับมือกับข้อจำกัดทางกายภาพของพื้นที่ด้วยการขยายสร้างพื้นที่โลกเสมือนเพิ่มเติมแทน “เราก็เลยใช้สโลแกนว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ไม่ใช่สถานที่ที่ตายแล้ว เหมือนไมเคิล แจ็กสัน เขาไม่เคยตายนะ หรือ เติ้งลี่จวิน ก็ยังกลับมาเปิดคอนเสิร์ตที่มาเก๊า ฮ่องกง ได้ อาตมาคิดว่าต่อไปสายัณห์หรือพุ่มพวงก็คงกลับมาได้ใน AR แล้วคนก็เข้าไปมีส่วนร่วมได้ด้วย”

เราถามท่านเจ้าคุณว่า เคยมีผู้ชมที่ตำหนิหรือบอกว่าการตีความนี้ไม่เหมาะสมหรือไม่

พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

“น้อยมาก” ท่านตอบด้วยรอยยิ้ม “มีเหมือนกันที่เขาตำหนิมาบ้าง แต่เราก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง เราอยู่ในทางพระก็ต้องเข้าใจ แล้วก็ไม่โกรธ แต่เราพยายามทำให้ดีขึ้นเท่าที่ได้” ท่านบอกต่อไปอีกว่ากระแสตอบรับโดยรวมดีมาก ถ้าไม่เชื่อ ท่านบอกว่าให้ลองไปดูในเพจเฟซบุ๊กของมิวเซียมได้

เมื่อได้คลุกคลีอยู่กับบทกวีและงานวรรณกรรมของสุนทรภู่หลายปีเข้า ท่านเจ้าคุณก็บอกว่าพิพิธภัณฑ์นี้ได้เปลี่ยนทัศคติของท่านต่อเรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ไปพอสมควร 

วัดเทพธิดารามวรวิหาร
วัดเทพธิดารามวรวิหาร

“ตอนนี้รู้สึกชอบมากขึ้น เริ่มอิน เริ่มสนุก ตอนแรกอึดอัดมาก กังวลว่าถ้าเขาให้เราร้องกลอนโชว์จะทำยังไง อย่างในห้องมณีปัญญา จะมีให้คนปะติดปะต่อรำพันพิลาป เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา หรืออันที่ยากมากๆ อย่างนิราศสุพรรณ เราก็พยายามไปโหลดมาฟังมาศึกษาจากยูทูบ แล้วพยายามทำเสียงตาม เลียนแบบเขาทุกวันอยู่เป็นเดือนๆ ให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะทำได้ โชคดีที่ว่าเราเป็นนักแหล่มาก่อน เราเลยพอทำเสียงขึ้นสูงต่ำ ขึ้นจมูกอะไรอย่างนี้ได้บ้าง” ท่านเจ้าคุณเล่า

“พอเราทำได้ปุ๊บ เราเลยคิดไอเดียขึ้นมาว่า ต่อไปนี้พอเอาจิ๊กซอว์มาวางเป็นกลอนแล้วเนี่ย ในการเฉลย ทุกคนจะต้องมาร่ายกลอนกับเรา เหมือนบังคับให้มาร้องกลอนกับเรา ซึ่งเราก็ต้องโชว์ให้มันสุดๆ เพื่อสร้างความประทับใจ” ว่าแล้วท่านก็ผายมือให้เราลองประกอบชิ้นส่วนกลอนและร่ายกลอนกับท่านบัดเดี๋ยวนั้น ซึ่งต้องบอกเลยว่าเสียงและเทคนิคการร้องการเอื้อนของท่านนั้นสุดยอดสมคำร่ำลือจริงๆ ในขณะเดียวกันเราก็สงสัยว่า แล้วถ้าเป็นชาวต่างชาติเขาจะร้องได้ไหม? ซึ่งอันนี้ท่านเฉลยว่า 

วัดเทพธิดารามวรวิหาร
วัดเทพธิดารามวรวิหาร

“ถึงแม้จะไม่มีเขียนเป็นคำอ่านภาษาอังกฤษ มีแค่บทอธิบายว่ากลอนบทนี้หมายถึงอะไร อาตมาให้เขาร้องตาม…ส่วนมากเขาก็ชอบนะ เจอคนหนึ่งเป็นนักร้องโอเปร่า โอโห เสียงทำเหมือนเราเปี๊ยบ!”

ในปีแรกท่านเจ้าคุณบอกว่าท่านไม่ได้ไปไหนเลย ประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เองและพานำชมเองทุกวัน แต่ 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีทีมงานที่ทำแทนได้ จึงเริ่มปล่อยวางได้ ยกเว้นเรื่องขับกลอนที่พวกเขายังต้องฝึกเพิ่มพอสมควร

ก่อนเข้าไปในโซนสุดท้าย ‘ใต้ร่มกาสาวพัสตร์’ หรือกุฏิที่เป็นไฮไลต์สำคัญของพิพิธภัณฑ์นี้ ท่านเจ้าคุณชี้ให้เรายืนโพสต์ถ่ายรูปกับ AR ข้างๆ ต้นชาหน้ากุฏิเสียก่อน โดนท่านเล่าว่า ต้นชาและต้นชมพู่หน้ากุฏินี้ถูกกล่าวถึงในรำพันพิลาป จึงทำให้รู้ว่าเป็นกุฏินี้เองที่ภิกษุภู่เคยจำวัดอยู่ ด้านในมีการจัดแสดงวัตถุโบราณที่เชื่อกันว่าท่านเคยใช้ในสมัยนั้น เช่น ตาลปัตรที่ทำจากใบตาล บาตร ปิ่นโต รวมไปถึงอัฐบริขารอื่นๆ ด้วย  

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

“เราคิดว่าในอนาคตเราอยากจะให้สังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ชาวบ้านรอบๆ วัด เด็กๆ รุ่นใหม่ อยู่ในโรงเรียนใกล้ๆ ก็อยากให้มาฝึกทำงานที่นี่ เป็นอาสาสมัครก็ดี มานำชมก็ดี เพราะเราเป็นวัดที่อยู่ในเขตพระนคร ที่นี่เป็นเขตการท่องเที่ยวเลย เรื่องอาหารการกินรอบๆ นี้ก็อร่อยระดับโลก มีทั้งเจ๊ไฝ มีผัดไทยทิพย์สมัย คอระฆัง ฯลฯ คือเราอยากให้ชุมชนมาสนใจ ส่งต่อให้เขา” 

ท่านเจ้าคุณฝากประชาสัมพันธ์ด้วยว่า ในงานวันสุนทรภู่ปีนี้ทางวัดจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในช่วงเช้ามีทำบุญให้ทานก่อน มีถวายเพลพระสงฆ์ 9 รูปร่วมกับแขกดาราคนดังมากมาย ช่วงบ่ายมีประกวดแต่งกลอน แต่งกายย้อนยุค วรรณกรรม วรรณคดี สุนทรภู่ แล้วก็ยังเชิญชาวบ้านที่เป็นแม่ค้ารถเข็นมาออกร้านฟรี ไม่เก็บค่าที่ด้วย

ก่อนจะกลับท่านเข้าไปในกุฏิเพื่อหยิบรางวัลการร่ายกลอนดีเด่นมาให้คนละหนึ่งชิ้น เป็นเข็มกลัดรูปองค์หญิงวิลาสพร้อมชื่อวัดเสร็จสรรพ ขณะที่ส่งมอบท่านบอกกับพวกเราว่าท่านอยากให้คนรุ่นใหม่มาย้อนดูว่าคนสมัยโบราณ ในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีให้ความบันเทิง ไม่มีทีวี ไม่มีซีรีส์ ให้ดูเหมือนทุกวันนี้ พอเขากลับบ้านมาจากการทำงานเหนื่อยๆ เขาก็ใช้โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน นี่แหละเป็นเครื่องบันเทิง มานั่งล้อมวงกันแต่งกลอน ดวลกลอนกัน เป็นวิถีชีวิตของไทยแต่เดิม ส่วนอีกอย่างคือเรื่องภาษาไทยที่อยู่กับคนไทยเรามานาน เราควรรู้วิธีใช้ภาษาอย่างไรให้สนุก แตกฉาน และได้ประโยชน์มากที่สุด

วัดเทพธิดารามวรวิหาร
วัดเทพธิดารามวรวิหาร

คำพูดของท่านทำให้เราตั้งข้อสังเกตว่ากาพย์กลอนในสมัยนั้นอาจจะไม่ต่างนักกับการแร็พในสมัยนี้กระมัง?

 “อาตมาว่ามันก็เป็นอะไรที่คล้ายๆ กันนะ คนชอบกันคนละแนว เป็นคนละอารมณ์ มีลักษณะพิเศษของเขา จะว่าไปสมัยที่สุนทรภู่แต่งกลอนเป็นนิยายเรื่องแรกก็โดนคนโจมตีมาก เพราะสมัยก่อนเขาจะแต่งกลอนก็เพื่อสอนธรรมะหรือเป็นโวหารจีบกัน แต่สุนทรภู่เป็นคนแรกที่บังอาจเอากลอนมาแต่งเป็นนวนิยาย คือ โคบุตร ซึ่งพอทำไปทำมากลายเป็นได้รับความสนใจมาก ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ มีภาษาที่สลวยสวยเก๋และเนื้อหาที่มีจินตนาการ มันแฟนตาซี เหมือน แฮร์รี่ พอตเตอร์ นะ มีนางยักษ์ นางฟ้า หรือแม้กระทั่งมีการประยุกต์เหตุการณ์บ้านเมือง ตัวละครชาวต่างชาติอย่างนางละเวงเข้ามาด้วย มันเป็นความลงตัว ทันสมัยมาก” 

กว่าจะรู้ตัวอีกทีอาทิตย์ก็เริ่มจะลับฟ้าเสียแล้ว ท่านเจ้าคุณเดินออกมาส่งเราที่หน้าพิพิธภัณฑ์และกล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า “สุนทรภู่ never dies นะ…ถึงตัวตายแต่ผลงานท่านยังทำงานแทนเสมอ เราก็ต้องทำพิพิธภัณฑ์ของเราให้ไม่ตายด้วยเช่นกัน” 

AR

ทั้งวิสัยทัศน์ในการนำ AR มาใช้ก็ดี ทั้งการเล็งเห็นความสำคัญของชุมชนในการช่วยสืบสานก็ดี เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นแนวทางที่ช่วยส่งต่อมรดกของสุนทรภู่ให้คงอยู่ไปได้ตราบนานเท่านาน แม้เราจะแต่งกลอนสดุดีให้ท่านไม่ได้ ก็ขอเป็นกำลังใจและฝากบทความสั้นๆ นี้ไว้ให้สักบทหนึ่งแล้วกัน

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล