ในกรณีที่ต้องกันแสงแดด เรามักจะคิดถึงกันอะไรกันครับ

สำหรับบางคน กรณีกันแสงอาจจะนึกถึงเพลงดนตรีเสียงขลุ่ยเศร้าสร้อย (นั่นมัน ธรณีกรรแสง!) แต่ซึ่งถ้าถามผมที่เป็นสถาปนิก ก็จะต้องตอบว่านึกถึงแผงหลังคาที่ถูกออกแบบมาอย่างแข็งแรง ใช้วัสดุกระเบื้องที่เลือกสรรมาอย่างดี จึงจะกันแสงแดดอันร้อนแรงของเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

ในทางกลับกัน กรณีกันแสงกันความร้อนของคนทั่วไปที่ผมเห็นบ่อยๆ บ่อยมากจนต้องหยิบมาเล่าให้ฟังในคอลัมน์อาคิเต็ก-เจอตอนนี้คือ ‘กันสาดผ้าใบ’ ครับ

ตั้งแต่ตอนเช้าเวลาเดินไปตลาดหาข้าวกิน หรือตอนสายเวลาเดินผ่านตึกแถวไปทำงาน แม้กระทั่งนั่งวินมอเตอร์ไซค์ทะลุซอยกลับบ้าน ผืนผ้าใบสีฟ้าเข้มที่มาพร้อมกับตัวอักษรพ่นสีขาวที่แขวนยื่นเป็นหลังคาหน้าอาคาร หรือในบางทีที่มาในรูปแบบผ้าใบโฆษณา มักจะเป็นภาพที่คุ้นชินมากๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศเราก็มักจะเห็นภาพนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวราดแกงที่ปากซอย ร้านขายของชำต่างๆ ยันรถเข็นริมทางก็ยังมีหลังคาผ้าใบเล็กๆ ยื่นออกมา จนเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ว่าทำไมกรณีกันแสงด้วยผ้าใบกันสาดนี้ถึงเป็นที่นิยมและถูกใช้กันทั่วกัน  
กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ

ถ้าเรามาลองกลับมาดูนิยามของคำว่า ‘กันสาด’ ในเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว กันสาดหมายถึงชายคาอันแรกของอาคารที่มีไว้เพื่อป้องกันฝนและแดดสาดใส่ โดยจะมีหน้าตาเป็นหลังคามีความลาดเอียงเฉียงๆ ที่ยื่นออกมาจากอาคารหลัก ซึ่งการออกแบบกันสาดในสถาปัตยกรรมของประเทศไทยนั้น ก็จะมีให้เห็นได้ตั้งแต่เรือนไทยทั้งแบบเรือนประเพณีและเรือนพื้นถิ่นโบราณ ซึ่งกันสาดเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่นิยมมากๆ ในประเทศแถบร้อนชื้นที่มีทั้งแดดและฝนตกชุก โดยพื้นที่ถูกใช้งานอยู่ใต้กันสาด เราก็จะเรียกในศัพท์สถาปัตยกรรมว่า พื้นที่ ‘พาไล’ หรือ ‘พะไล’

แต่รูปแบบของหลังคากันสาดผ้าใบที่เราเห็นเต็มบ้านเต็มเมืองในปัจจุบันนั้น ถ้าเราไปยืนดูดีเทลรูปแบบการติดตั้งตัวของกันสาดดีๆ เราก็เห็นว่ามีลักษณะวิธีคิดและวิธีการออกแบบไม่เหมือนบ้านไทยในอดีตซะทีเดียว กันสาดผ้าใบส่วนมากพวกนี้นั้นมักจะอยู่ในรูปแบบของการต่อเติมแบบง่ายๆ ออกมาจากอาคารเดิม แสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่ไม่ได้ถูกคิดมาด้วยกันตั้งแต่เริ่มสร้างไม่เหมือนบ้านในอดีตเท่าไหร่นัก

แน่นอนว่าการต่อเติมนั้นก็มักจะเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ว่าฟังก์ชันของพื้นที่หน้าบ้านเดิมตรงนั้นไม่เวิร์กกับการใช้งานจริงหน้างาน เหมือนว่าบ้านที่เราอาศัยอยู่จะดูโอเคทุกอย่างในแรกเริ่ม แต่ต่อมาแล้วกลับกลายเป็นว่าเรามีฟังก์ชันความต้องการใหม่ๆ ขึ้นมาเสีย เช่น พออยู่ๆ ไปแดดก็อาจจะสาดเข้าหน้าบ้านจนน่ารำคาญ หรือเมื่ออยู่ๆ ไปแล้วแม่เราอยากจะเปิดหน้าบ้านเป็นร้านขายของ หรือแม้กระทั่งอยู่ๆ ไปแล้วเราดันไปถอยรถใหม่มาจอดหน้าบ้าน

กลายเป็นว่ากันสาดผ้าใบมักเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ถูกเลือกหยิบมาใช้ในการสอดรับฟังก์ชันที่งอกออกมาแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบค้ำยันยื่นออกมากันฝน หรือเป็นแผงผ้าใบที่ทิ้งดิ่งลงเพื่อกันแดด ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ ‘พาไล’ ในรูปแบบใหม่โดยเราไม่รู้ตัวนั่นเอง
กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ

และด้วยการติดตั้งที่ง่ายดายของกันสาดผ้าใบ ที่เพียงเรียกช่างไม่กี่คนมาตั้งดามขาเหล็กยื่นจากผนังหน้าบ้านให้เป็นสามเหลี่ยม ขึงผ้าใบกางออกมาและยิงน็อตสกรูไม่กี่ตัวลงบนผนังเสา แค่นี้เราก็จะได้กันสาดผ้าใบที่เข้าไปใช้งานข้างใต้ได้แล้ว ซึ่งสะดวกทั้งการขนย้ายและนำอุปกรณ์มาติดตั้ง บวกกับราคาที่ค่อนข้างประหยัดกว่ากันสาดจากวัสดุอื่นๆ ที่จริงจัง สิ่งเหล่านี้อาจนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลายเป็นที่นิยมและทำตามๆ กันมาเรื่อยๆ จนคล้ายเป็น City Element หรือองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเมืองของบ้านเราในปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อหลายๆ คนหรือหลายๆ ร้านค้าที่ต้องใช้พื้นที่ใต้กันสาดทำกิจการธุรกิจใดๆ ก็ตาม เราก็จะพบว่าข้อดีของกันสาดผ้าใบอีกเรื่องหนึ่งนั้นก็คือ วัสดุผ้าใบนั้นยืดหยุ่นในการใช้งานมากๆ เราสามารถตัดปะต่อเติมความกว้างใหญ่ของผืนผ้าใบได้หลากหลายวิธี ถ้าแดดหมุนมาสาดเข้าหน้าบ้านฝั่งขวาในตอนเช้า เราก็แค่ทำกันสาดต่อเพิ่มจากเดิมออกมาทางขวา หรือฝนที่ตกกระเด็นสะท้อนลอดจากใต้กันสาดเข้ามาได้ เราก็แค่เพิ่มม้วนผ้าใบทิ้งดิ่งติดพื้นต่อจากกันสาดเดิม แค่นี้ก็จะสามารถป้องกันสิ่งต่างๆ เพิ่มจากเดิมได้เเล้ว นับเป็นการปรับแต่งการใช้งานตาม UX ของเราได้อย่างอิสระ

และด้วยลักษณะความยืดหยุ่นของวัสดุผ้าใบที่สามารถม้วนหดและพับกางได้นั้น ก็ทำให้เราได้เห็นรูปแบบของกันสาดผ้าใบในหลากหลายนิสัยขึ้น ทั้งในรูปแบบการพับเก็บเป็นจีบที่สามารถหดกลับหาผนังได้ หรือการม้วนขึ้นลงเพื่อลดความเกะกะเมื่อเวลาไม่ใช้งาน หรือแม้กระทั่งการพับสวิงลงด้านล่างเพื่อคลุมป้องกันพื้นที่หน้าร้านหรือหน้าบ้าน ซึ่งรูปแบบการพับเก็บในวิธีต่างๆ เหล่านี้ก็ค่อนข้างสอดคล้องและเหมาะกับนิสัยการใช้พื้นที่ของเมืองไทยที่ค่อนข้างมีอย่างจำกัด
กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ

ตัวอย่างการใช้สถาปัตยกรรมผ้าใบกันสาดที่สามารถพับและกางได้ในเมืองไทยที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ‘ตลาดร่มหุบ ริมทางรถไฟสายแม่กลอง’ ซึ่งเป็นตลาดที่ตั้งอยู่บนทางรถไฟ สามารถพับหลังคากันสาดเก็บได้เมื่อรถไฟวิ่งตัดผ่านตรงกลาง และการพับเก็บหลังคาของตลาดนี้ก็กลายเป็น Unseen in Thailand ที่คนทั่วโลกต้องแห่กันเดินทางไปดูเวลาชาวบ้านทำขั้นตอนการพับหลังคาตลาด ซึ่งเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจความมหัศจรรย์การใช้งานพื้นที่ของตลาดนี้ก็คือ นิสัยและวิธีการใช้กันสาดผ้าใบที่ผ่านการใช้ UX แบบยืดหยุ่นๆ ตามที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้นนี่แหละ

กันสาดผ้าใบCredit : chillnaid.com
กันสาดผ้าใบ
Credit : chillnaid.com

และอีกตัวอย่างของการใช้ผ้าใบที่มีความน่าสนใจมากๆ ก็คือ การใช้ผืนผ้าใบขนาดใหญ่กางเป็นเต็นท์ในสวนลุมพินี กรุงเทพฯ ซึ่งถ้าใครที่เป็นนักวิ่งที่สวนลุมฯ แล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนก็คงมักจะเห็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบย่อมๆ กระจายอยู่ในพื้นที่สวน สิ่งที่น่าสนใจของการใช้ผ้าใบมากันแสงกันฝนในกรณีนี้ก็คือ หลังคาผ้าใบเหล่านี้ใช้โครงสร้างเสาค้ำเพียงนิดเดียว ที่เหลือของการติดตั้งจะถูกหิ้วลอยด้วยเชือกมาจากต้นไม้แทน ซึ่งถ้าเราไปยืนดูดีๆ เราก็จะเห็นความซูเปอร์ยืดหยุ่นของการใช้ผ้าใบกันแดดมากๆ ซึ่งผ้าใบในที่นี้สามารถจับจีบที่ปลายมุมและดึงปรับในทิศทางอิสระเพื่อหลบต้นไม้ในสวน อีกทั้งการติดตั้งทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำด้วยช่างมืออาชีพแต่เป็น Handmade สถาปัตยกรรมของคนที่อาศัยในสวนลุมฯ ด้วยนั่นเอง
กันสาดผ้าใบ

โดยที่จริงๆ แล้วการใช้ผ้าใบไม่ได้มีไว้เพียงแค่เป็นหลังคาคลุมกันแดดเพียงเท่านั้นนะครับ ถ้าเราเดินไปเข้าไปในพื้นที่อินทีเรียภายใต้หลังคาผ้าใบ บ่อยครั้งเราก็จะพบว่าผ้าใบนั้นสามารถนำมาหุ้มโต๊ะหรือทำเป็นม่านคลุมพื้นที่เล็กๆ ต่างๆ เพื่อป้องกันความสกปรกหรือความเปียกจากน้ำที่ไม่ใช่ฝนได้เช่นกัน รวมทั้งเรื่องการรีไซเคิลผ้าใบโฆษณาต่างๆ ที่เคยเป็นกันสาดม้วนกันแดด นำมาใช้ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น กั้นห้อง และปะซ่อมสิ่งต่างๆ ได้ด้วย โดยอยู่ในพื้นฐานการขึงและห่อหุ้ม
กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ

ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมยกตัวอย่างกรณีกันแสงด้วยกันสาดผ้าใบในรูปแบบต่างๆ มานั้น เราก็จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้ววิธีคิดในการสร้างพื้นที่กันแดดกันฝนในทางสถาปัตยกรรมนั้น ถือเป็นสกิลล์หนึ่งที่คนไทยมีติดตัวและมีความเข้าใจในการออกแบบกันเองโดยไม่ต้องถามดีไซเนอร์ใดๆ มาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เหตุหนึ่งอาจเพราะว่าสภาพแวดล้อมและอากาศเราบ้านเรานั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เราต้องเรียนรู้และต้องปรับตัวอยู่เสมอตลอดเวลามาตั้งแต่อดีต

ซึ่งการเลือกใช้กันสาดผ้าใบมาเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมในทุกวันนี้ ก็นับว่าเป็นกระบวนการคิดและแก้ปัญหาแบบพื้นถิ่นที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตโดยที่คนทั่วไปไม่รู้ตัว เป็น Urban Vernacular อย่างที่ผมพยายามศึกษาและสังเกตอยู่อย่างเป็นประจำนั่นเอง

ขอให้ทุกท่านมีพื้นที่ใต้ร่มผ้าใบให้ได้หลบร้อนจากแสงแดดกันในทุกกรณีนะครับ

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ


กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ กันสาดผ้าใบ

บรรณานุกรม

  1. https://www.silpa-mag.com/history/article_5280

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น