จากข้อมูลของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มีผู้พิการทางการมองเห็นไม่น้อยกว่า 680,000 คน ในเมืองไทย

ในตัวเลขนี้ คนจำนวนมากยังไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาและทางอาชีพอย่างเต็มที่ โอกาสเข้าถึงงานศิลปะ หรือลงมือทำงานศิลปะยิ่งน้อยลงไปใหญ่

ขณะนี้มีนักเขียนพิการทางสายตากับนักเขียนบทละครเวที จับมือกันทำโครงการศิลปะการแสดงเกี่ยวกับผู้มองไม่เห็น เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้พิการและผู้ป่วยทางจิตเวชผ่านพื้นที่ศิลปะ รวมถึงสร้างการเชื่อมโยงโลกของผู้พิการกับสังคม ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจและปรับปรุงเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกัน

นักเขียนผู้มองไม่เห็น คือ พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนและนักจิตวิทยาปรึกษาผู้ไร้ดวงตา ซึ่งเขียนบันทึกประจำวันต่อเนื่องมามากกว่า 5 ปี ตัวอักษรของเธอทรงพลังเหมือนหมัดฮุค ต่อยทีไรก็เจ็บจุกไปถึงหัวใจ หญิงสาวออกหนังสือกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ 2 เล่ม คือ จนกว่า | เด็กปิดตา | จะโต และ ก ไก่เดินทาง นิทานระบายสี 

ส่วนนักเขียนบทละครเวที คือ สตางค์ – ภัทรียา พัวพงศกร Travel Editor ประจำ The Cloud ที่จบการศึกษาด้านศิลปการละคร และทำงานในวงการละครเวทีโรงเล็กมาตลอด ก่อนผันตัวมาเป็นบรรณาธิการบทความท่องเที่ยวและนักจัดทริปประจำ The Cloud

ละครเวทีเรื่องนี้ชื่อ Sunny Side Up : เกือบสุข สตางค์นำงานเขียนและบทสนทนาระหว่างพลอย และ ซันนี่ -โรฬา วรกุลสันติ นักแสดงผู้ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) มาเรียบเรียงเป็นบท และกำกับให้ทั้งคู่แสดง 

เป้าหมายของละครเรื่องนี้ไม่ได้อยากทำให้ผู้ชมรู้สึกผิดหรือเวทนาเพื่อนมนุษย์ แต่คือการสร้างงานศิลปะการแสดงที่สื่อสารเรื่องราวของผู้คนที่สังคมมองว่าไม่ใช่ ‘คนปกติ’ หรือ ‘คนทั่วไป’ อย่างจริงใจตรงไปตรงมา อย่างเพื่อนเล่าเรื่องเพื่อนที่เท่าเทียมกัน อย่างไม่เคลือบแฝงความเอ็นดูสงสาร และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา 

พิเศษไปกว่านั้น ละครเรื่องนี้ออกแบบให้ผู้พิการทางสายตาสัมผัสประสบการณ์ในโรงละครได้ ผ่านประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ เช่น การได้ยิน การดมกลิ่น และการรับรสชาติ

ข่าวดีของ Sunny Side Up : เกือบสุข คือละครเวทีเรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Performative Arts Festival 2019 จะจัดแสดงที่ห้องสตูดิโอชั้นสี่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ฺBACC) ซึ่งหอศิลป์กรุงเทพฯ ช่วยสนับสนุนพื้นการแสดง เนื่องจากเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Art for Disability ซึ่งทางหอศิลป์กรุงเทพฯ พยายามส่งเสริม

การแสดงจะจัดขึ้น 7 รอบภายใน 2 สัปดาห์ คือวันพฤหัสบดีที่ 12 – วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน และวันศุกร์ที่ 20 – วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 19.30 – 20.30 น. (วันอาทิตย์ เวลา 15.00 – 16.00 น.)

ส่วนข่าวที่ไม่ดีนักของ Sunny Side Up : เกือบสุข คือแม้จะได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่ แต่ละครเรื่องนี้ยังขาดเงินทุนสนับสนุนในการสร้างสรรค์การแสดงให้เกิดขึ้นจริง ทั้งค่าใช้จ่ายในการผลิตผลงาน จัดหาอุปกรณ์การแสดง และค่าตอบแทนบุคคลทั้งหมดที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานนี้ รวมทั้งหมด 180,000 บาท ซึ่งทีมงานหาเงินจำนวนนี้จากการขายบัตรละคร และการระดมทุน

The Cloud จึงขอช่วยส่งข่าวการระดมทุนนี้ ซึ่งเปิดรับทุนผ่านระบบ Crowdfunding หรือการระดมทุนสาธารณะหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ซื้อตั๋วไปจนถึงร่วมสนับสนุนเงิน แล้วรับผลงานงานศิลปะเป็นที่ระลึกตอบแทน

ก่อนตัดสินใจช่วยสนับสนุน ขอชวนทุกคนทำความรู้จักส่วนประกอบของละครเรื่องนี้

บทกรุบกรอบ

“ที่จริง ฉันอาจจะถูกกำหนดมาให้มีชีวิตอยู่บนโลกได้เพียงปีเดียว หรือสองปี แต่เพราะพ่อกับแม่ ญาติ และหมอ เอาดวงตาของฉันไปแลกกับชีวิต ฉันก็เลยได้ชีวิตเพิ่มจากนั้นต่อมาถึงตอนนี้ 

พอนึกไปแล้วก็รู้สึกมหัศจรรย์ ดวงตาคู่เล็กๆ ของฉันมีค่าเทียบเท่าเวลากว่ายี่สิบปี และยาวนานต่อไปอีก ไม่รู้ถึงเมื่อไร ฉันว่ามันเป็นการตัดสินใจแลกที่ใจกล้าบ้าบิ่นซะเหลือเกิน

คุ้มไหมล่ะ จู่ๆ ฉันก็ได้ยินเสียงในใจตัวเองถาม” 

นี่เป็นส่วนหนึ่งในบันทึกของพลอย สตางค์และพลอยพบกันในห้องเรียนวิชาบรรณาธิการสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แม้ผ่านประสบการณ์สัมภาษณ์คนมาหลายครั้ง เขียนบทความมาหลายหน จนพูดได้ว่าทำงานเขียนเป็นอาชีพ แต่ในบรรดานักคิดนักเขียนรุ่นเดียวกัน บุคคลที่สตางค์หวาดกลัวฝีมือที่สุดคือพลอย ไม่ใช่เพราะลีลาการเขียนฉกาจฉกรรจ์ ของแบบนั้นฝึกฝนพอไหว แต่มุมมองของเธอไม่มีใครเหมือน และเรื่องราวของเธอก็ไม่เหมือนใคร

ชีวิตเด็กหญิงหัวดี เรียนหนังสือเก่งอันดับต้นๆ ของรุ่นมาตลอดชีวิต ถูกจับโยนไปมาระหว่างความสงสารเห็นใจ ความคาดหวัง การสร้างแรงบันดาลใจ และยังคงดำเนินต่อไป

พลอยเล่าเรื่องราวของเธอผ่านตัวอักษรไปมากแล้ว สตางค์เลยอยากเล่าเรื่องพลอยผ่านการแสดง โดยให้เจ้าตัวมาเล่าให้ฟังจริงๆ

ตัวละครพร่องมันเนย

พลอยและซันนี่เป็นหญิงสาวเชื้อสายจีน อาศัยอยู่ในตึกแถว คนหนึ่งที่บ้านประกอบกิจการผลิตหมูแผ่นและหมูหยอง และอีกคนครอบครัวขายหมึกแห้งอบกรอบ พ่อบอกซันนี่ว่า กลิ่นปลาหมึกคือกลิ่นของเงิน 

พลอยกำลังเรียนปริญญาโท และฝึกงานเป็นนักจิตวิทยาปรึกษาให้เด็กๆ ในโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่ง ส่วนซันนี่เป็นนักแสดงอิสระที่เรียนจบจากโรงเรียนหญิงล้วนแห่งนั้น 

ทั้งคู่ไม่เคยพบกัน แต่ได้มารู้จักกันเพราะละครเรื่องนี้ เหตุผลที่ทั้งสองถูกจับคู่มาคุยกัน ไม่ใช่เพราะพวกเธอมีเชื้อสายจีน ที่บ้านทำอาหารแห้ง หรือเกี่ยวข้องกับโรงเรียนเดียวกัน

แต่เพราะพลอยเป็นนักจิตวิทยา ผู้มีสายตาพิการ และซันนี่เป็นผู้รับการบำบัดโรคไบโพลาร์มาหลายปี ทั้งคู่แบกรับภาพจำและความคาดหวังที่สังคมมีต่อผู้พิการทางกาย และผู้ป่วยทางใจมาตลอด ชีวิตที่ ‘เกือบสุข’ ไม่ได้ราบรื่นสวยงาม แต่ไม่ระทมขื่นขมจนหมดกำลังใจที่จะไปต่อ บทบาทที่ทั้งคู่ได้รับในเรื่องนี้ ดัดแปลงจากงานเขียนของพลอย และตัวตนของผู้หญิงทั้งสองคนจริงๆ 

ดีไซน์หอมอร่อย

เพราะเป็นละครเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตา Sunny Side Up : เกือบสุข จึงเป็นไม่ว่าใช้ตาดูหรือไม่ ก็สนุกกับละครได้ นอกจากดีไซน์ฉาก เสื้อผ้า แสงสีในการแสดงแล้ว งานนี้ ชลิดา คุณาลัย นักออกแบบกลิ่นผู้ออกแบบกลิ่นสินค้าทั่วเอเชีย และเคยทำงานศิลปะเพื่อคนมองไม่เห็นหลายครั้ง เช่น ออกแบบสีมีกลิ่นเพื่อให้คนตาบอดทำงานทัศนศิลป์ได้ ในนาม The Nose Thailand และ Classroom Makeover เปลี่ยนห้องสมุดโรงเรียนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา เป็นห้องเรียนทักษะชีวิตผ่านการดมกลิ่น เธอจะออกแบบกลิ่นสำหรับละครเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้ทุกคนสัมผัสประสบการณ์ละคร โดยใช้จมูกร่วมด้วย

ดมแล้วก็ต้องชิมด้วย ไหนๆ บ้านนักแสดงทั้งคู่ก็ขายของอร่อย งานนี้ผู้ชมจะได้เลือกชิมหมูแผ่นหรือหมึกแผ่น นั่งดูไปเคี้ยวไป นับเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงแบบไม่ผิดกติกา เพราะนักแสดงก็จะกินด้วย!

ศิลปะเพื่อศิลปะ

หากสนใจสนับสนุนการแสดงเรื่องนี้ ทีมงานไม่ขอรับบริจาค แต่ขอให้ผู้อ่านซื้องานศิลปะแลกเปลี่ยน เพื่อให้ Sunny Side Up : เกือบสุข ได้จัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบตลอด 7 รอบ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. ซื้อตั๋วละครเวทีใบละ 550 บาท

ผู้สนับสนุนเงิน 550 บาท จะได้รับตั๋วละครเวที Sunny Side Up : เกือบสุข 1 ใบ (เลือกรอบใดก็ได้)

จำนวนผู้สนับสนุนที่ต้องการ : ไม่จำกัด

2. สนับสนุนแพ็กเกจที่ 1 : น้ำหอม + ตั๋วละครเวที = 1200 บาท

ผู้สนับสนุนเงิน 1,200 บาท จะได้รับตั๋วละครเวที Sunny Side Up : เกือบสุข 1 ใบ (เลือกรอบใดก็ได้) และน้ำหอมจาก Nose Story ขนาด 30 มล. 1 ขวด ที่ออกแบบโดย Florent Di Marino นักออกแบบน้ำหอมจาก International Flavors & Fragrances (IFF) หนึ่งในบริษัทออกแบบกลิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จำนวนผู้สนับสนุนที่ต้องการ : 30 คน

3. แพ็กเกจที่ 2 : ภาพวาดตัวคุณ + ตั๋วละครเวที = 3000 บาท

ผู้สนับสนุนเงิน 3,000 บาท จะได้รับตั๋วละครเวที Sunny Side Up : เกือบสุข 1 ใบ (เลือกรอบใดก็ได้) และภาพวาด Portrait from Your Voice ขนาด A4 ฝีมือพลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ 1 รูป

กรุณาอัดเสียงของคุณ จะอธิบายลักษณะตัวเอง หรือเล่าเรื่องราวใดๆ ก็ได้ ความยาวไม่เกิน 1 นาที ส่งมาทางอีเมล พลอยจะฟังเสียงแล้ววาดรูปตัวคุณ หรือสิ่งที่สื่อถึงตัวคุณออกมา 

จำนวนผู้สนับสนุนที่ต้องการ : 20 คน

4. สนับสนุนแพ็กเกจที่ 3 : ภาพวาดตัวคุณ + น้ำหอม + ตั๋วละครเวที 4 ใบ = 5000 บาท

ผู้สนับสนุนเงิน 5,000 บาท จะได้รับตั๋วละครเวที Sunny Side Up : เกือบสุข 4 ใบ (เลือกรอบใดก็ได้) ภาพวาด Portrait from Your Voice ขนาด A4 ฝีมือพลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ 1 รูป และน้ำหอมจาก Nose Story ขนาด 30 มล. 1 ขวด 

จำนวนผู้สนับสนุนที่ต้องการ : 10 คน

หมายเหตุ* : หากผู้สนับสนุนแพ็กเกจต่างๆ ไม่สะดวกมาชมละครในวันเล่นจริง สามารถโอนสิทธิ์การชมละครให้ผู้พิการทางสายตาได้ โดยแจ้งในใบลงทะเบียนล่วงหน้า ทีมงานจะชวนผู้พิการทางสายตาที่สนใจมาชมละครตามจำนวนที่นั่งที่มอบสิทธิ์ให้*

วิธีสนับสนุน

  1. เลือกแพ็กเกจและรอบละครที่ต้องการ 
  2. กรอกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ อีเมล และรายการที่เลือก ที่นี่ 
  3. ทีมงานจะติดต่อกลับเพื่อยืนยันการจอง และรายละเอียดการโอนเงิน ทางอีเมล [email protected]
  4. เมื่อโอนเงินเรียบร้อยแล้ว โปรดส่งหลักฐานการชำระเงินทางอีเมล ทีมงานจะส่งของที่ระลึกไปให้ตามที่อยู่ของคุณ หากเป็นน้ำหอม จะส่งภายใน 30 วันหลังจากโอนเงิน หรือเลือกรับน้ำหอมที่หน้าโรงละครในวันชมการแสดงก็ได้ 
  5. หากเลือกรับภาพวาด จะส่งภายใน 30 วันหลังจากละครเล่นจบ (วันที่ 22 กันยายน 2562) 
  6. สำหรับตั๋วละคร โปรดแสดงอีเมลหลักฐานการโอนเงินที่หน้าห้องสตูดิโอชั้น 4 BACC แล้วรับตั๋วเข้าชมได้ทันที (หากโอนสิทธิ์ให้เพื่อนชมละครแทน โปรดอีเมลบอก [email protected] ล่วงหน้าด้วยนะ

7 รอบบนเวที

ละคร Sunny Side Up : เกือบสุข จะจัดแสดงจริงแน่นอนไม่ว่าจะระดมทุนได้ครบ 180,000 บาทหรือไม่ โดยผู้สนใจชมละครยังจองบัตรได้เรื่อยๆ จนถึงวันเล่น ราคาบัตรสำหรับบุคคลทั่วไป 550 บาท, นักศึกษา 350 บาท และผู้พิการ 350 บาท เข้าไปสอบถามรายละเอียดและจองบัตรได้ที่นี่ 

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ