เดี๋ยวนี้เวลาชาวไทยพุทธคนไหนอยากจะไปแสวงบุญ เรามักจะนึกถึงอินเดียเป็นอันดับแรก แต่ทราบกันหรือไม่ ว่าก่อนที่เราชาวไทยพุทธจะเดินทางไปแสวงบุญยังอินเดียเหมือนเช่นในปัจจุบัน เราเคยไปแสวงบุญที่ประเทศศรีลังกามาก่อน ไม่ทราบกันใช่ไหมครับ ถ้าเช่นนั้นเรามาทำความรู้จักกับเส้นทางแสวงบุญของศรีลังกากันสักนิดหนึ่งก่อน คิดซะว่าเป็นการเกริ่นนำ

ในประเทศศรีลังกานั้นมีเส้นทางแสวงบุญที่เรียกกันว่า ‘โสฬสมหาสถาน’ ซึ่งหมายถึง สถานที่ 16 แห่งที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมา โดยสถานที่ทั้ง 16 แห่งนี้กระจายอยู่บนเกาะศรีลังกา เชื่อกันว่าการไปนมัสการยังสถานที่เหล่านี้ก็ประหนึ่งว่าเราได้นมัสการสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นเส้นทางแสวงบุญของชาวลังกาที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งในบรรดาสถานที่ทั้ง 16 แห่งนี้มีสถานที่ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เป็นสถานที่ที่ชาวพุทธในศรีลังกาทุกเพศทุกวัยจะต้องไปนมัสการให้ได้สักครั้งในชีวิต นั่นก็คือ รอยพระพุทธบาทบนเขาสุมณกูฎ

สุมณกูฎ (อ่านว่า สุ-มะ-นะ-กูด) ภูเขาที่มีความสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศ ตรงยอดเขามีรอยบนหินที่มีลักษณะคล้ายรอยเท้า ซึ่งชาวพุทธเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าได้มาประทับตอนเสด็จเยือนเกาะลังกาครั้งที่ 3 (ตามคัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปยังเกาะลังกาทั้งสิ้น 3 ครั้งด้วยกันครับ) รอยพระพุทธบาทนี้จึงถูกเรียกในภาษาสิงหลว่า ศรีปาทะ

อย่างไรก็ดี ตามความเชื่อในศาสนาอื่นก็มีการตีความรอยพระพุทธบาทนี้ในมุมมองที่แตกต่างกันไป ชาวฮินดูเชื่อว่านี่คือ ศิวบาท หรือรอยพระบาทของพระศิวะ ในขณะที่ชาวคริสต์และชาวมุสลิมเชื่อว่านี่คือรอยเท้าของอดัม มนุษย์คนแรกที่เหยียบลงบนโลกหลังถูกขับไล่จากสวนอีเดน ดังนั้น ที่นี่จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Adam’s Peak แต่บางตำราก็ว่าเป็นรอยเท้าของนักบุญโทมัส หนึ่งในอัครสาวกของพระเยซู

การเดินทางขึ้นสุมณกูฎสามารถไปแบบโซโล่คนเดียว ไปเป็นคู่ หรือไปเป็นกลุ่มก็ได้ ในครั้งที่ผมไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมไปกับเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องคณะโบราณคดีรวม 4 คน โดยพวกผมไปนอนพักที่หมู่บ้านเดลเฮาส์ (Dalhousie) หมู่บ้านตีนเขา ล่วงหน้าก่อนวันหนึ่ง เพราะตั้งใจจะขึ้นสุมณกูฎตอนค่ำเพื่อจะได้ไปเช้าบนยอดพอดี จากข้อมูลที่เตรียมมาล่วงหน้า เส้นทางเดินนี้เป็นบันได 5,500 ขั้น มีระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร การเดินขึ้นจะใช้เวลาราวๆ 3 – 4  ชั่วโมง รวมการเดินและนั่งพักบ้างเพราะคาดกันว่าไม่น่าจะเดินขึ้นแบบรวดเดียวได้ คืนนั้นเราเลยเข้านอนกันเร็วกว่าปกติเพื่อเก็บแรงเอาไว้ใช้สำหรับการขึ้นเขา

ราวตี 3 พวกผมก็ตื่นมาเตรียมตัว บอกเลยว่าอากาศในห้องไม่เท่าไหร่ แต่พอออกมาข้างนอกปุ๊บ อากาศเย็นๆ ก็เริ่มเข้ามาทักทายปั๊บ แต่ยังอยู่ในระดับที่สบายๆ เพื่อความไม่ประมาท พวกผมต่างคนต่างหยิบอุปกรณ์กันหนาวติดตัวกันไป ผมสวมเสื้อกันหนาวกับเสื้อแขนยาวที่ใส่ประจำ คนอื่นก็มีอุปกรณ์ของแต่ละคน พอทุกคนพร้อมก็ Let’s Go

ศรีลังกา

ทางเดินช่วงแรกเป็นทางลาด จุดเริ่มต้นทางขึ้นจะมีซุ้มประตูกาล-มกรสีขาวแบบลังกาสไตล์ (ซุ้มประตูจะมีหน้ากาลอยู่ตรงกลาง มีมกร สัตว์ผสมช้าง จระเข้ และปลา ที่ปลายกรอบซุ้ม) พอผ่านประตูจะเจออาคารสำหรับลงชื่อเพื่อทำบุญ คล้ายๆ บ้านเราที่ตามวัดจะมีสมุดให้ลงชื่อและเงินบริจาค เงินบริจาคมีหลากหลาย มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน

ศรีลังกา ศรีลังกา

พอผ่านประตูเสร็จก็เริ่มเข้าสู่จุดเริ่มต้นของบันได บันไดในช่วงแรกจนถึงก่อนช่วงสุดท้ายจะเป็นบันไดขั้นไม่ค่อยสูง เดินขึ้นไม่ยากเท่าไหร่ ช่วงนี้พวกผมก็เดินกันชิลล์ๆ คุยเล่นกันบ้างเป็นช่วงๆ แถมพอเดินไปสักพักหนึ่งก็เริ่มจะเห็นสุมณกูฎมาทักทายในความมืด จะเห็นว่าไฟตามทางเดินขึ้นในช่วงสุดท้ายของสุมณกูฎเหมือนมาให้กำลังใจเราว่า จุดหมายเราอยู่ตรงนั้นนะ ยังไงเราก็จะไปถึงแน่

ศรีลังกา

ด้วยความที่ผมมาในช่วงเทศกาลขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท ระหว่างทางขึ้นจึงมีจุดพักเป็นระยะๆ สังเกตได้จากแสงไฟที่สว่างจนเห็นได้ชัดจากระยะไกลพอสมควร ตามจุดพักเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านขายน้ำเปิดไฟสว่างจ้า (และน่าจะเปิด 24 ชม. ในช่วงเวลานี้ของปี) เราสามารถแวะพักซื้อน้ำ ขนมขบเคี้ยว ได้เต็มที่ แต่ก็แน่นอนว่าราคาจะแพงกว่าในหมู่บ้านพอสมควร และยิ่งขึ้นไปสูงมากเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่พอขึ้นไปเกือบถึงยอด ราคาแทบจะแพงกว่าข้างล่างถึง 2 เท่า แต่โชคดีที่พวกผมติดน้ำติดขนมกันมานิดหน่อย เลยไม่ได้แวะบ่อยนัก มีแวะอยู่บ้างเล็กน้อยเพื่อที่จะนั่งพัก เพราะร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีโต๊ะและเก้าอี้อยู่มากพอควร  

นอกเหนือจากร้านค้าแล้ว ระหว่างทางก็มีสถานที่ที่พอจะแวะได้ 2 – 3 ที่ แต่เนื่องจากยังมืดมาก พวกผมเลยตัดสินใจจะเดินกันไปเรื่อยๆ และค่อยแวะตอนขาลงแทน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ระหว่างทางจะมีศาลแปลกๆ ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย ข้างในมีรูปเทวดาที่มีช้างอยู่ข้างหลัง เทวดานี้คือสุมณเทวดา (อ่านว่า สุ-มะ-นะ เหมือนชื่อภูเขา) เป็นเทวดาประจำภูเขาลูกนี้ หาใช่เทพเจ้าในศาสนาฮินดูแต่อย่างใด (แม้จะมีเทวาลัยเล็กๆ อยู่ก่อนจะขึ้นเขาก็ตาม)

ศรีลังกา ศรีลังกา

เดินไปได้สักครึ่งทาง พวกผมเริ่มพักบ่อยขึ้น อากาศเริ่มเย็นลงทีละนิด พร้อมกับความเหนื่อยล้าสะสมจากการเดินมาชั่วโมงกว่าๆ ที่เริ่มส่งผลทำให้พวกผมเดินช้าลง และเปลี่ยนมาใช้วิธีเดินสลับกับพักเป็นช่วงสั้นๆ สลับไปมาเรื่อยๆ ระหว่างนั้นผมสังเกตเห็นคนที่อยู่รอบๆ มีทั้งคนที่กำลังเดินขึ้นเหมือนกันกับพวกผม และคนที่กำลังเดินลงมา ซึ่งคาดว่าน่าจะขึ้นตั้งแต่หัวค่ำเมื่อคืน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนที่ขึ้นเขาในช่วงเวลานี้แม้จะมีชาวต่างชาติ เอเชียบ้าง ยุโรปบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ที่มาก็ยังเป็นชาวศรีลังกา ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคนครบทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ วัยกลางคน ไปจนถึงพ่อเฒ่าแม่เฒ่า ที่ต่างก็เดินขึ้นตามจังหวะของแต่ละวัย ที่เจ๋งที่สุดที่เจอคือ มีคุณลุงที่มาพร้อมกับไม้พยุงตัว ค่อยๆ เดินขึ้นเขาอย่างช้าๆ แสดงว่าสำหรับชาวศรีลังกาแล้ว ภูเขาลูกนี้คงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญมาก ที่ใครๆ ต่างก็พยายามจะมาให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

ยิ่งเดินขึ้นไป บันไดก็ยิ่งเล็กและแคบลงทุกที แล้วก็มาถึงช่วงสุดท้ายของการขึ้นเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเกาะศรีลังกาลูกนี้ บันไดแปรสภาพจากบันไดเดินสบายๆ ที่เดินมาตลอด กลายเป็นบันไดแคบที่เดินสวนกันไม่ค่อยได้ แถมยังชันกว่าเดิมมาก แม้จะมีราวเหล็กให้จับ แต่ก็เมื่อยหนักกว่าที่เดินมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เวลาค่อยๆ ล่วงเลย พระอาทิตย์กำลังเตรียมจะเดินทางมาสวัสดีชาวโลกแล้ว พวกผมเลยรีบจ้ำด้วยความเร็วที่มากกว่าเดิมเพื่อจะขึ้นไปให้ทัน

จนเมื่อไปถึงยอดเขา หลังจากหอบหายใจแรงๆ ไปหลายที สิ่งแรกที่เจอก็คือ ผู้คนจำนวนมหาศาลมายืนเบียดเสียดกัน แม้จะมีบ้างที่เป็นคนมารอเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาท แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวต่างชาติที่มีจุดประสงค์เดียวกันกับพวกผม คือการชมพระอาทิตย์ขึ้น พวกผมเลยถือโอกาสเข้าไปผสมโรงยืนเบียดเสียดกับเขาด้วย แต่สิ่งที่มาพร้อมกับคนจำนวนมหาศาลคือความหนาวที่ถาโถมเข้ามาพร้อมกับลมแรง หนาวจนผมต้องกระชับเสื้อกันหนาวที่ใส่มา แล้วรูดซิปขึ้นมาถึงคอเลยทีเดียว อ้อ บนนี้ใส่รองเท้าไม่ได้นะครับ แต่เขามีพื้นที่สำหรับวางรองเท้าเอาไว้ เท่าที่สังเกต ไม่ค่อยมีใครวางกันดีๆ เท่าไหร่ มาถึงก็ถอดไว้ระเกะระกะ จนตอนลงต้องมานั่งหาว่ารองเท้าที่ใส่มากระเด็นไปถึงไหน

และแล้วช่วงเวลาที่ผมรอคอยก็มาถึง พระอาทิตย์ค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้า ภูมิประเทศที่เคยถูกปิดซ่อนด้วยความมืดของราตรีก็เผยตัวออกมาให้เห็นอย่างช้าๆ ผมทั้งถ่ายด้วยมือถือ ถ่ายด้วยกล้อง ภาพนิ่งบ้าง วิดีโอบ้าง อยู่นานสองนาน จนสุดท้ายก็วางทั้งสองอย่างและเปลี่ยนมาซึมซับบรรยากาศทั้งหมดด้วยสองตาแทน แม้อากาศจะหนาวจนน้ำมูกเริ่มไหล แต่ภาพความประทับใจที่ได้เห็นบนนั้นมันสุดยอดจริงๆ แม้จะเบียดเสียดอึดอัดอยู่มากก็ตาม (ใช้คำว่าพอสมควรคงไม่ไหว เพราะจุดที่ผมยืนแน่นชนิดที่ว่าผมทำได้แค่ขยับตัวนิดหน่อยเท่านั้น ออกไปไหนไม่ได้เลย)

เมื่อเป้าหมายแรก การดูพระอาทิตย์ขึ้นลุล่วงไปแล้ว เป้าหมายที่ 2 และถือเป็นเป้าหมายหลักของผมนั่นก็คือ การนมัสการรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์แห่งสุมณกูฎ ซึ่งจุดที่ผมยืนเป็นบันไดทางเข้าไปสู่ยอดสูงสุด ที่ตั้งอาคารที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทเอาไว้ เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม หลังคารูปทรงเรียบง่าย มีทางขึ้นและทางลงแยกออกจากกัน ยิ่งใกล้ช่วงประตูเปิด คนที่มาจากข้างล่างก็เริ่มเบียดเข้ามา ทั้งชาวลังกา ทั้งชาวต่างชาติ จนอึดอัดกว่าเก่า บางคนอาศัยจังหวะที่ประตูแง้มเบียดตัวเองเข้าไปได้ก่อน ส่วนพวกผมที่โดนอัดเป็นปลากระป๋องอยู่ก็แทบขยับไม่ได้เหมือนกัน แต่ก่อนที่ประตูนี้จะเปิดต้อนรับพวกเรา จะมีการบรรเลงมโหรีพร้อมกับขบวนที่มีพระและญาติโยมบางส่วนเดินตามไปยังประตูมณฑป และมีการประกอบพิธีกรรมก่อนที่ประตูมณฑปพระพุทธบาทจะเปิดออก

พอพิธีกรรมเสร็จสิ้น ประตูด้านหน้าเปิดออกอย่างสมบูรณ์ พวกผมก็ไปต่อแถวเพื่อเข้านมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งแถวยาวมาก หางแถวแทบจะวนรอบก้อนหินบนยอดเขาเลยทีเดียว พวกผมค่อยๆ เดินตามคนข้างหน้าไป จนในที่สุดก็ได้กราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้เห็นรอยพระพุทธบาทนี้จริงๆ นะครับ เพราะเขานำผ้าปักลายรูปรอยพระพุทธบาทพร้อมลวดลายมงคลมาวางปิดรอยพระพุทธบาทจริงไว้ แต่แค่ได้เห็น ได้กราบตรงนั้น ความปีติก็เอ่อล้นอยู่ข้างในตัวผมแล้ว เป็นความประทับใจที่จนถึงตอนนี้ก็ยังจำได้อยู่ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่ขออภัยที่ผมไม่มีภาพส่วนนี้มาให้ชมนะครับ เพราะด้านบนห้ามถ่ายภาพไม่ว่าภาพนิ่งหรือวิดีโอครับผม

เป้าหมายสุดท้ายในการขึ้นมาบนยอดของสุมณกูฎนี้และถือเป็นอีกไฮไลต์ของที่นี่ก็คือ เงื้อมเงาแห่งสุมณกูฎ ซึ่งเกิดจากแสงอาทิตย์สาดส่องภูเขาลูกนี้จนเราสามารถเห็นเงาของสุมณกูฎตกลงที่ฝั่งตรงข้าม เป็นรูปสามเหลี่ยมตามรูปทรงของภูเขาอย่างชัดเจน เป็นภาพงดงามที่หาชมที่อื่นไม่ได้นอกจากบนนี้เท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งความพิเศษที่อธิบายเป็นคำพูดได้ยาก ต้องลองมาสัมผัสเองถึงจะรู้ เพราะขนาดผมรู้มาก่อนแล้ว เห็นภาพในอินเทอร์เน็ตมาก่อนแล้ว แต่การได้มาเห็นของจริงอยู่ตรงหน้ามันเหนือกว่าภาพที่ผมเคยเห็นมาก่อนหน้านี้เป็นร้อยเท่า

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจและความตั้งใจทั้งหมดของการมาขึ้นสุมณกูฎ ก็ถึงเวลาต้องจากลา การเดินลงไม่ยากเท่าตอนเดินขึ้นและใช้เวลาน้อยกว่ามาก แต่ความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตั้งแต่ตอนเช้ากลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเดินลงกินเวลาพอสมควร และยิ่งเวลาล่วงเลยไปมาก อากาศก็อุ่นขึ้น ไม่ได้เย็นสบายเหมือนตอนขาขึ้นเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ถึงกับร้อนมาก ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าขึ้นสุมณกูฎตอนเช้าแล้วลงมาตอนบ่ายจะร้อนกว่านี้แค่ไหน

ขาลงพวกผมได้แวะไปชมเจดีย์โลกสันติ (World Peace Stupa) เจดีย์ที่อยู่ช่วงตีนเขาสุมณกูฎ สร้างขึ้นเมื่อปี 2516 โดยพระภิกษุชาวญี่ปุ่นนามว่า นิจิ ฟูจิ (Ven. Niji Fuji) แม้จะสร้างโดยชาวญี่ปุ่น แต่รูปทรงก็ยังเป็นเจดีย์ทรงลังกา นอกเหนือจากเจดีย์นี้แล้ว สิ่งที่ผมเห็นระหว่างทางลงคือธรรมชาติอันงดงาม รวมถึงได้เห็นสุมณกูฎอย่างชัดเต็มตาอีกครั้ง หลังเห็นจากแถวที่พักเมื่อวันก่อน ซึ่งก็ยังสร้างความประทับใจให้ผม ไม่ว่าจะเห็นสักกี่ครั้งก็ตาม

ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นรู้สึกยังไง แต่สำหรับผม สถานที่นี้มีความพิเศษมากๆ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ ศาสนา และความศรัทธาของผู้คน เป็นไม่กี่สถานที่ที่ผมอยากจะกลับไปอีกถ้ามีโอกาส ผมเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถสัมผัสถึงความงามและความพิเศษของภูเขาลูกนี้ในมุมของแต่ละคนได้เหมือนกัน

สุดท้าย ขอขอบคุณพี่บอล พี่อาร์ม น้องมุก 3 ผู้ร่วมชะตากรรมในทริปศรีลังกาที่ยาวถึง 2 อาทิตย์และร่วมขึ้นเขาไปด้วยกันครับผม

เกร็ดแถมท้าย

  1. สุมณกูฎสามารถขึ้นได้ทั้งปี ถ้าไม่อยากเจอคนเยอะสามารถเลี่ยงช่วงวันเพ็ญ ช่วงกลางเมษายน และควรหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นในช่วงหน้าฝนเพราะมีโอกาสเจอฝนในระหว่างการเดินขึ้น ทำให้พื้นลื่นได้ (ใครอยากชมบรรยากาศสุมณกูฎในหน้าฝน สามารถดูได้จากรายการ หนังพาไป ซีซั่น 4 : EP.19 ศรีปาทะ รอยพระบาทแห่งพระพุทธ ได้ครับ)
  2. เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทจะเริ่มขึ้นหลังวันเพ็ญเดือนธันวาคมไปจนถึงวันเพ็ญเดือนเมษายน ในช่วงเวลานี้จะมีพิธีการนมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งเราสามารถร่วมนมัสการไปพร้อมกับชาวลังกาได้ ซึ่งส่วนตัวผมแนะนำให้มาในช่วงเวลานี้ครับ เพราะถ้ามานอกเวลานี้ คุณอาจเจอแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้น บรรดาร้านรวงระหว่างทางจะไม่เปิด ทำให้ทางเดินค่อนข้างมืด แต่ถ้าใครจะมาในช่วงนี้ก็อย่าลืมเตรียมร่มและไฟฉายมาด้วยนะครับ
  3. อีกเรื่องที่อยากแนะนำคือ ควรขึ้นในช่วงเช้ามืดเพราะจะขึ้นไปถึงยอดเขาตอนเช้าพอดี เราจะได้ชมพระอาทิตย์และเงาของสุมณกูฎได้ในช่วงเวลานี้ อีกทั้งอากาศระหว่างขึ้นและตอนขาลงก็ยังไม่ร้อนมาก แต่ถ้าขึ้นตอนเช้าก็อาจเจออากาศร้อนระหว่างการเดินขึ้นเขาได้ เริ่มขึ้นเขาตั้งแต่ตี 2 หรือจะขึ้นช่วงตี 3 เหมือนกับพวกผมก็ได้ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น ลองคำนวณดีๆ ครับผม
  4. การเดินทางมายังสุมณกูฎสามารถเดินทางได้จากหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นโคลัมโบ แคนดี้ เอลล่า และมีพาหนะให้เลือกหลายแบบ ทั้งรถทัวร์ รถไฟ หรือเหมารถมา ส่วนตัวแนะนำให้นั่งรถไฟโคลัมโบ–ฮัตตัน (Colombo–Hatton) หรือเอลล่า–ฮัตตัน (Ella–Hatton) เพราะเราจะได้ชมทิวทัศน์ที่สวยงามของเส้นทางรถไฟที่ถือกันว่างดงามที่สุดสายหนึ่งของเกาะลังกา พอไปถึงสถานีฮัตตันแล้วก็เหมารถหรือนั่งรถเมล์ไปยังหมู่บ้านเดลเฮาส์อีกประมาณ 1 ชั่วโมง (ตั๋วรถไฟสามารถมาซื้อที่สถานีได้ครับ เราจะได้เป็นบัตรแข็ง และได้บรรยากาศเหมือนรถไฟไทยที่ต้องวิ่งมาแย่งที่นั่ง อาจจะต้องเก้าอี้ดนตรีกันนิดหนึ่ง แต่ถ้าอยากนั่งจริงๆ แนะนำให้จองตั๋วล่วงหน้า จะจองที่สถานีก่อนสักหลายวันหรือจองทางอินเทอร์เน็ตก็ได้ครับ)
  5. หมู่บ้านเดลเฮาส์เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่แทบจะเรียกว่าใช้ในการขึ้นสุมณกูฎเพียงอย่างเดียวก็ว่าได้ ตัวเมืองมีที่พักและร้านอาหารหลายระดับให้เลือก ถ้ามาในช่วงเทศกาลแนะนำให้จองล่วงหน้าครับ ส่วนตัวอยากแนะนำ Singh Bro’s ที่ตัวเองไปพัก เพราะตั้งอยู่บริเวณใกล้กับทางขึ้นเขาพอดีและเจ้าของใจดีมาก
  6. ถ้าคุณยังรู้สึกฮาร์ดคอร์ไม่พอ สามารถเลือกเส้นทางการขึ้นสุมณกูฎจากเมืองรัตนปุระได้นะครับ การขึ้นจากฝั่งนี้จะยากกว่าขึ้นจากเดลเฮาส์พอสมควร คุณจะได้สัมผัสการขึ้นสุมณกูฎแบบดั้งเดิม และพบกับสายโซ่โบราณที่ในสมัยก่อนเป็นตัวช่วยเพื่อขึ้นสุมณกูฎ ดังปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งในประเทศไทย ที่พระจะเหนี่ยวสายโซ่นี้เพื่อขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ