สุโขทัย นามจังหวัดนี้คนไทยที่ได้ร่ำเรียนวิชาสังคมศึกษาคงจดจำในฐานะราชธานีเก่า ควบคู่กับพระพุทธรูป สถูป เจดีย์สมัยนั้น ที่บัดนี้ได้หักทลายกลายสภาพเป็นวัตถุโบราณในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ พลอยให้หลายคนเข้าใจว่า จังหวัดนี้คงเหลือแต่ร่องรอยวัฒนธรรมในอดีตที่ไม่อาจหวนคืน

ทว่าความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะแม้ว่าสุโขทัยจะสิ้นสถานะเมืองหลวงมานานกว่า 500 ปี หากวิถีชีวิต จิตวิญญาณหลายด้านของอาณาจักรสุโขทัยกลับได้รับการสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน

ที่เห็นได้ชัดคือการสร้างสรรค์ศิลปะจากก้อนดินอย่างเช่นเครื่องปั้นดินเผา สังคโลก พระพิมพ์ ซึ่งล้วนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวสุโขทัยทำขึ้นเพื่อใช้เอง และส่งขายเป็นรายได้สำคัญของหลาย ๆ ครัวเรือน

ปลายเดือนสิงหาคม 2565 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ชักชวนสื่อท่องเที่ยวไปเปิดโลกของดินเมืองพระร่วง อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Toursim) ซึ่ง อพท. กำลังผลักดันอยู่ในตอนนี้

นี่จึงไม่ใช่แค่ทริปเที่ยวชมเมืองหลวงเก่าธรรมดา แต่เป็นทริปเปิดโอกาสให้ชาวเมืองหลวงใหม่อีกหลายชีวิตได้เล่าเรียนวิชาภูมิปัญญาชาวบ้านโดยการทำงานศิลป์จากดินเหนียว ทั้งยังสร้างรายได้คืนสู่ท้องถิ่นตามแนวความคิดของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย

ปั้นและเขียนลายสังคโลกร่วมสมัย

ใต้ร่มไม้ใบบังของบ้านสวนอันร่มรื่นที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ‘โมทนาเซรามิก’ ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความรักของหนุ่มสุโขทัยกับสาวลำปางเมื่อ พ.ศ. 2542

ทั้ง อู๊ด-เฉลิมเกียรติ บุญคง และ ไก่-อณุรักษ์ บุญคง ต่างก็ไม่ใช่ศิลปินมืออาชีพ เมื่อครั้งยังศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งคู่ก็เลือกเรียนสาขาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างศิลป์อย่างนิติศาสตร์ แต่เพราะความสนใจในศิลปะมาแต่เดิม บวกกับการได้เล่นปั้นดินน้ำมันกับลูกสาวในวัยเยาว์ สองสามีภรรยาจึงเริ่มลงมือทำงานปั้น ลองผิดลองถูกอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เซรามิกกลางสวน

นานกว่า 23 ปีที่โมทนาเซรามิกได้แจ้งเกิดมา บ้านอิฐหลายหลังได้รับการสร้างขึ้นเป็นแหล่งผลิตควบคู่กับแหล่งเรียนรู้ มอบโอกาสแก่คนนอกให้มาเห็นเครื่องปั้น และลองทำงานปั้นดูกับมือตัวเอง ไล่มาตั้งแต่ศาลาทำดิน ห้องปั้น ห้องเขียนลาย ศาลาเคลือบ เตาเผา ไปจนกระทั่งพิพิธภัณฑ์และร้านค้า

เมื่อคณะของเราไปถึง พี่อู๊ดและพี่ไก่ยืนรอต้อนรับอยู่หน้าบ้านอิฐที่ผนังฝังเครื่องถ้วยชามสังคโลกหลากขนาด ลวดลาย และรูปร่าง ซึ่งเกิดขึ้นจากหัวศิลป์และการลงแรงของทั้งคู่ 

เรือนอิฐหลังนี้คือพิพิธภัณฑ์โมทนาที่ภายในลายตาไปด้วยเครื่องปั้นสารพัดประเภท ถ้วย โถ โอ ชาม แก้วน้ำ ถาดรอง และอีกหลายชิ้นที่ยากจะเฟ้นหาคำมาเรียก กระจายอยู่ทั่วทุกมุมห้องอย่างเป็นหมวดหมู่ ทั้งของโบราณและของเก่าคลุกเคล้ารวมกันอย่างงดงามลงตัว

ทั้งสองคนได้ให้ความรู้กับเราว่า ชื่อ ‘สังคโลก’ มาจากชื่อสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัย เดิมเคยเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรสุโขทัยและเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นชนิดนี้ ภายหลังชื่อนี้ได้เพี้ยนเป็นสังคโลก และถูกใช้เรียกเครื่องปั้นดินเผาของสุโขทัย ในขณะที่เครื่องปั้นดินเผาคืองานปั้นที่ผ่านการเผาไฟ ตรงกับคำว่า Ceramic ในภาษาอังกฤษ

ได้รู้จักเครื่องปั้นชนิดต่าง ๆ กันไปแล้ว พี่อู๊ดมอบหมายให้กรุ๊ปทัวร์ของเราแยกกลุ่มเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งให้ลองทำงานเขียนลาย อีกกลุ่มให้ลองทำงานปั้น

ในห้องเขียนลายที่เย็นสบายด้วยเครื่องปรับอากาศ โต๊ะญี่ปุ่นตัวเล็กถูกจัดวางไว้บนพื้น พร้อมด้วยดินสอ กระดาษ หมึก พู่กันหลากขนาด เหนืออื่นใดคือจานเซรามิกที่ให้ผู้คนได้ทดลองทำเวิร์กชอป

พร้อมกับเสียงน้ำไหลที่เปิดคลอไว้ให้เกิดสมาธิ พี่ไก่ซึ่งรับหน้าที่ผู้สอนได้ให้คำแนะนำว่า ควรใช้ดินสอร่างลายลงไปในกระดาษก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงนำลวดลายที่ร่างไว้ไปเขียนบนจาน ตบท้ายด้วยการใช้พู่กันที่เธอตระเตรียมไว้ให้ วาดทับลงไปบนลายเส้นดินสอนั้น

ขั้นตอนการทำเวิร์กชอปเขียนลายนี้ พี่ไก่มักจะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนลายตามเครื่องสังคโลก แต่หากอยากเขียนลวดลายตามใจชอบก็ย่อมได้เช่นกัน เมื่อเขียนเสร็จแล้ว เธอจะให้เจ้าของผลงานเขียนชื่อพร้อมที่อยู่ เพื่อที่เธอจะได้ส่งคืนเจ้าของได้ถูกที่ถูกคนหลังนำไปเคลือบและเผาไฟแล้ว

ตัดมาที่ห้องปั้นของพี่อู๊ด ลูกศิษย์รุ่นใหม่ต่างกำลังหน้าดำคร่ำเครียดกับการฝึกหัดขึ้นรูปภาชนะอยู่ แก้วน้ำเป็นภาชนะอย่างง่ายที่เขาชอบใช้เป็นแบบให้ลองทำ อาศัยนิ้วมือในการกดดุนทรง และไม้เป็นอุปกรณ์เสริม ก็จะได้รูปทรงของแก้วออกมาอย่างไม่ยากเย็นนัก

เสร็จจากเวิร์กชอปที่กินเวลานานกว่าชั่วโมง คณะทัวร์หลายคนเริ่มผุดเครื่องหมายปรัศนีบนหัว ว่าผลงานฝีมือพวกเราที่ทำเสร็จแล้วจะเดินทางไปไหนต่อ สองผู้ก่อตั้งโมทนาเซรามิกเลยอาสาพาพวกเราตรงดิ่งไปยังหลังบ้าน ซึ่งเป็นที่หมายปลายทางของงานปั้นทุกชิ้น

เตาเผาโมทนาเซรามิกคือคำตอบของคำถามเมื่อครู่ รวมถึงฉายา ‘สังคโลกร่วมสมัย’ ซึ่งที่นี่นิยามตนเอง เพราะแทนที่จะใช้เตาโบราณอย่างเตาทุเรียง พี่อู๊ดกับพี่ไก่เลือกที่จะนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างเตาไฟฟ้าที่ให้ความร้อนสูงแตะหลัก 1,000 องศาเซลเซียส

เมื่อเราไปถึง ก็ได้เวลาที่จะต้องเปิดเตาพอดิบพอดี พี่อู๊ดจึงนำผลงานที่เผาเสร็จแล้วออกมาอวดแก่สายตาผู้มาเยือนทุกคู่ ก่อนที่เครื่องปั้นทั้งหมดนี้จะถูกส่งไปให้ลูกค้าซึ่งเป็นรีสอร์ตแห่งหนึ่งในทะเลอ่าวไทย

ผู้ใดชื่นชอบงานเซรามิกรวมถึงเครื่องปั้นใด ๆ ของยี่ห้อโมทนา ที่นี่มีร้านค้าสำหรับจัดจำหน่าย หรือหากจะมาทดลองทำเวิร์กชอปทั้งปั้นดิน เขียนลาย ขึ้นรูป หรือเคลือบก็ย่อมได้ โดยมีค่าใช้จ่ายคนละ 750 – 1,000 บาท และต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ให้พี่ไก่กับพี่อู๊ดได้มีเวลาในการจัดเตรียมอุปกรณ์

กดลายพระพิมพ์ดินเผา

พระเครื่องซึ่งเป็นวัตถุมงคลในปัจจุบัน มีรากฐานมาจากพระพิมพ์ ซึ่งเป็นประติมากรรมขนาดเล็กรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดจากการนำวัสดุต่าง ๆ เช่น ดินเหนียวและผงว่านมงคลมากดลงในพิมพ์ 

อาณาจักรโบราณในดินแดนไทยล้วนมีคติการปั้นพระพิมพ์ไว้เพื่อสืบทอดพุทธศาสนาไว้ทั้งสิ้น คติความเชื่อนี้ตกทอดมาสู่อาณาจักรสุโขทัยที่ได้ประจุพระพิมพ์ดินเหนียวฝังไว้ในสถูปเจดีย์ ด้วยความเชื่อแบบพุทธว่าทุกสรรพสิ่งไม่จีรัง เจดีย์ที่สูงใหญ่ก็อาจพังทลายลงมาได้ในวันหนึ่ง เมื่อวันนั้นมาถึง พระพิมพ์ที่ซ่อนองค์อยู่ในกรุของซากปรักหักพังเจดีย์เหล่านั้นก็จะทำหน้าที่บอกเล่าพุทธประวัติผ่านอิริยาบถของพระพุทธเจ้าในพระพิมพ์เหล่านั้นต่อไป

เรื่องราวของพระพิมพ์โบราณผ่านหูผ่านตา กบ-ณรงค์ชัย โตอินทร์ มาแต่เยาว์วัย ด้วยชาติตระกูลเป็นถึงลูกหลานควาญช้างของเจ้าเมืองสุโขทัยร้อยกว่าปีก่อน เขาจึงซึมซับประวัติความเป็นมาของสุโขทัยตลอดทั้งชีวิต ก่อนเลือกเอาดีด้านงานพิมพ์พระเมื่อเติบใหญ่

ท่ามกลางผืนไม้ที่ขึ้นรกเป็นทุ่ง รถของทัวร์สื่อมวลชนบุกป่าฝ่าดงมาถึง ‘บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์’ ไม่ไกลจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หลานชายหญิงตัวน้อยของ ‘ลุงกบ’ ยิ้มร่าหน้าบานเมื่อพบกับคณะของเรา น้อง ๆ ทั้งสองเชื้อเชิญเราทั้งผองไปฟังบรรยายของผู้เป็นลุงที่เรือนไม้หลังเล็กที่แวดล้อมไปด้วยภาพวาดสะท้อนคติจักรวาลในพุทธศาสนาและแผนที่เมืองเก่าของสุโขทัย

ด้านหน้าของพวกเราคือตัวอย่างพระพิมพ์ฝีมือพี่กบแห่งบ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ ซึ่งมีถึง 850 พิมพ์ ทั้งหมดทำโดยนายช่างแห่งดินแดนพระร่วงผู้นี้

หลังจากให้ความรู้ด้านพุทธประวัติ ความเชื่อเรื่องไตรภูมิ รูปแบบเจดีย์ และพระพิมพ์พอหอมปากหอมคอแล้ว หนุ่มใหญ่ชาวสุโขทัยผู้ยังรักษาสำเนียงเหน่อแบบไทยกลางปนเหนือก็ถือไม้เท้าประคองร่างตนเองไปนั่งหน้าชั้นเรียน โดยมีหลาน ๆ พากันเชื้อเชิญให้แขกเหรื่อไปนั่งตามเก้าอี้ว่าง

ห้องทำเวิร์กชอปของพี่กบอยู่ใต้หลังคามุงจาก โต๊ะเรียนเป็นโต๊ะไม้ตัวยาวซึ่งทอดเรียงเป็นแถว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนจะได้รับพิมพ์อย่างน้อยคนละ 2 ชิ้น 2 ลาย กระปุกแป้ง และก้อนดินที่ใช้พิมพ์ ทั้งหมดจัดเรียงอย่างสวยงาม ประดับดอกลีลาวดี รวมทั้งมีผลไม้ตามฤดูกาล เช่น กล้วย เงาะ ที่พี่กบตั้งรอไว้ให้คนทำกิจกรรมได้เลือกกินได้ตามใจต้องการ

การสาธิตวิธีทำพระพิมพ์ของพี่กบเริ่มตั้งแต่นำดินเหนียวมาตำคลุกกับผงว่านมงคลและส่วนผสมทั้งหลายในครกให้ได้เนื้อดินตามคุณสมบัติ ก่อนนำดินที่ตำเสร็จแล้วไปกดลงกับพิมพ์ที่เตรียมไว้ ลบลายนิ้วมือที่ติดอยู่ด้านหลัง ก่อนจะมาถึงขั้นตอนสำคัญที่เขามักเน้นย้ำให้เจ้าของพระพิมพ์องค์นั้นหลับตาลง ตั้งจิตอธิษฐาน รำลึกถึงพุทธคุณและบุคคลที่พึงได้รับพระพิมพ์องค์นั้น

แม้ในระยะหลังอาการเจ็บป่วยในตัวพี่กบจะไม่ยินยอมให้เขาใช้ร่างกายซีกหนึ่งของตนเองได้ แต่ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต เขาก็ยังใช้ร่างกายอีกครึ่งที่เหลือในการตำดินและพิมพ์พระอย่างชำนิชำนาญเหมือนเคย

แกะดินออกจากพิมพ์ พระพิมพ์ที่เพิ่งพิมพ์ลายเสร็จใหม่สด ๆ ร้อน ๆ ยังต้องนำไปตากแดดให้ดินแห้งแข็ง เท่านี้ก็ได้พระพิมพ์เป็นอันสมบูรณ์

การสาธิตลุล่วงไปด้วยดี ทุกคนจึงแยกย้ายไปพิมพ์พระบนที่นั่งของตัวเอง ในรอบนี้พี่กบมอบหมายให้แต่ละคนพิมพ์พระองค์ใหญ่ขึ้น และพิมพ์ไปจนกว่าดินเหนียวในสำรับของตนจะหมด

คราวนี้อุปกรณ์ 2 สิ่งที่ทุกคนจะต้องหัดใช้เองคือแป้ง ซึ่งช่วยโรยให้เนื้อดินไม่ยึดกับพิมพ์ ทำให้แกะออกได้ง่ายขึ้น กับมีดคัตเตอร์ซึ่งกรีดลงบนดินตามจุดที่เห็นว่าบิ่น ล้ำ หรือไม่ได้ขอบรูปทรงที่สวยงาม

แล้วระหว่างรอการตากแดดอันนานโข เพื่อไม่ให้ผู้มาทำเวิร์กชอปเบื่อหน่าย พี่กบก็พาเราทุกคนมาเล่นกิจกรรมสนุก ๆ อีกอย่างหนึ่ง อย่างเกมยิงธนู ลูกธนูที่พี่กบกับหลานใช้ยิงเป็นแบบไม่มีหัว และใช้วิธีการยิงแบบล้านนาซึ่งมีการตั้งมือ เหนี่ยวคันธนูไม่เหมือนกับแถบยุโรป

ทั้งลุงและหลานผลัดกันสอนมือใหม่หัดยิงธนูไม่นาน ทุกคนก็เกิดความคุ้นชินและเพลิดเพลินกับการเล็งเป้า หลายคนยิงจนลืมเลยทีเดียวว่ากำลังรอให้พระพิมพ์ของตนแห้งอยู่

พี่กบเล่าด้วยสีหน้านิ่งเฉยเป็นนิจ หากน้ำเสียงเผยความภูมิใจว่า ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนที่มาเรียนทำพระพิมพ์กับเขา สามารถพิมพ์พระขาย สร้างรายได้กับตัวเองมากมาย คนที่มาฝึกเรียนวิชาพิมพ์พระกับเขาก็ไม่ได้มีเฉพาะคนไทย แต่ยังอุดมด้วยชาวต่างชาติมากมายหลายสัญชาติ ซึ่งช่วยให้พี่กบได้หัดพูดภาษาอังกฤษจนคล่อง และขณะนี้กำลังฝึกภาษาจีนอยู่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชุดใหม่ที่กำลังจะหลั่งไหลมาจากแผ่นดินมังกรในเร็ววัน

เช่นเดียวกับโมทนาเซรามิก บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ของพี่กบเปิดรับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ ไม่ว่าใครก็เข้าชมและทำพระพิมพ์ฝีมือตนเองได้ แต่ต้องนัดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน พร้อมกับค่าใช้จ่ายอีกคนละ 300 บาทเท่านั้น

ทริปนี้ให้แง่คิดกับเราหลายอย่าง และทำให้เรามองจังหวัดนี้ในมุมแปลกไปจากเดิม

ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนอาจเหลือเพียงแค่อดีต แต่พื้นความรู้ความสามารถของผู้คนยังสืบต่อมาถึงปัจจุบัน และจะเชิดหน้าชูตาให้แดนรุ่งอรุณแห่งความสุขนี้ต่อไปในอนาคต

ภาพ : อำนาจ เพ็งเอี่ยม

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย