The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
The Cloud ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จังหวัดสุโขทัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร ทำโครงการศึกษาอัตลักษณ์ของเมืองสุโขทัยแล้วนำเสนอในมุมใหม่ เพื่อให้เห็นว่าจังหวัดสุโขทัยมีเรื่องราวที่น่าสนใจ น่านำมาต่อยอดในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และน่าเดินทางไปสัมผัสความพิเศษนี้

สุโขทัยถือเป็นเมืองที่ Reinvent หรือก่อร่างสร้างเมืองและต่อยอดตัวเองขึ้นจากมรดกที่สืบทอดจากคนรุ่นก่อน ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา งานฝีมือ รวมถึงงานช่างที่มีอัตลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว ด้วยเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและการขับเคลื่อนเมืองโดยนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาต่อยอดและพัฒนาโดยคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ทำให้สุโขทัยได้รับการประกาศรับรองโดยยูเนสโก เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน (UCCN) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562 อีกด้วย


เรื่องราวความน่าสนใจของจังหวัดสุโขทัยมีหลากหลายจนมหาวิทยาลัยนเรศวรเขียนรายงานออกมาได้หลายร้อยหน้า แต่น่าเสียดายที่พื้นที่ของเรารองรับได้ไม่หมด จึงขออนุญาตคัดสรรมาเป็น 12 สินค้า สิ่งของ และสถานที่ ที่จะทำให้ทุกคนได้พบเห็นสุโขทัยในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับสุโขทัยที่เราเคยรู้จักเลยก็เป็นได้
ย่านอำเภอศรีสัชนาลัย-ศรีสำโรง
01
Suntree ผ้าทอไทพวน

แบรนด์ผ้าทอในสุโขทัยแห่งย่านหาดเสี้ยว ทำโดยเหล่าผู้คนชาวไทพวนที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของประเทศลาว ย้ายมาสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำยมของสุโขทัยตั้งแต่ 188 ปีก่อน การทอผ้าที่ชาวไทพวนนำมาด้วยนั้นมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากผ้าทออื่นๆ ในย่านนี้ เพราะใช้วิธีเดิน ล้วง และจกเส้นด้าย ด้วยขนเม่นตามยุคสมัยก่อน ทำให้เกิดลวดลายที่เป็นลักษณะเฉพาะ 8 แบบ แบรนด์ Suntree (สุนทรี) โดย รวีวรรณ ขนาดนิด ได้นำเทคนิคเฉพาะของผ้าทอไทพวนมาออกแบบและผลิตสินค้าร่วมสมัย ซึ่งเหมาะสมกับตลาดในยุคสมัยใหม่มากขึ้น


อย่างการทำเสื้อผ้าที่ลดทอนการใช้สีสันสดใสที่เป็นเอกลักษณ์อย่างเขียว เหลือง แดง ให้กลายมาเป็นเสื้อผ้าสีเรียบเหมาะแก่การสวมใส่ในชีวิตประจำวัน การทำกระเป๋า เสื้อแจ็กเก็ต ชุดเดรส ไปจนถึงผ้าตกแต่งบ้านในรูปแบบต่างๆ ด้วยความประนีตของการทอ เย็บ และออกแบบ ทำให้น่าอุดหนุนกลับบ้านเป็นอย่างมาก

Suntree ยังมีศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมจะสอนให้เด็กๆ และคนที่สนใจมาลองทอผ้าด้วยเทคนิคของชาวไทพวนด้วยกี่หน้าตาน่ารัก ที่ใต้ถุนบ้านไม้เก่าของชาวไทพวนอันแสนสงบเงียบด้วยนะ
02
โมทนา เซรามิก

แบรนด์เซรามิกนี้ได้แรงบันดาลใจและเทคนิคจากงานสังคโลกดั้งเดิม เพราะมองเห็นคุณค่าของการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาให้มีคุณภาพในอนาคต มีการนำความรู้จากหลายๆ แหล่งทั้งในไทยและญี่ปุ่นมาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นเซรามิกที่มีเอกลักษณ์ ผ่านการพัฒนาทั้งในส่วนของดิน น้ำเคลือบ และเตาเผาของงานสังคโลก


ดินที่ใช้ปั้นเป็นดินในพื้นที่ของสุโขทัยเอง โดยเลือกดินจากเกาะตาเลี้ยงที่เกิดจากขุดลอกคูคลองออกไป เพื่อหลบเลี่ยงอินทรีย์วัตถุที่อยู่ด้านบน นำมาปรับปรุงเป็นวัตถุดิบหลักในการขึ้นรูป ซึ่งมีการขึ้นรูปทั้งแบบแป้นหมุนและแบบอิสระ

ในส่วนของการเคลือบยังคงเอกลักษณ์น้ำเคลือบผสมขี้เถ้าซึ่งเป็นด่าง แต่แก้ไขและหาวิธีทำให้น้ำเคลือบมีคุณสมบัติแตกต่างจากทั่วไป แล้วก็ดัดแปลงเตาเผาแบบสังคโลกดั้งเดิมที่เป็นเตาฝังอยู่ในดิน ให้ได้ผลแบบเดียวกันในเตาเผาแบบใหม่ เพื่อคงรูปแบบบางอย่างของสังคโลกไว้ งานแต่ละชิ้นจึงให้ความรู้สึกพิเศษ โดยเฉพาะลวดลายบนเซรามิกที่ดูได้ไม่รู้เบื่อ นอกจากนี้ ใครสนใจอยากทำเซรามิกแบบนี้ ก็มีศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้สนใจมาดูการทำดิน การทำเคลือบ การขึ้นรูป การเคลือบชิ้นงานได้
03
บ้านทองสมสมัย

นี่คือร้านทองโบราณที่สืบทอดการทำทองมากว่า 90 ปีของนายเชื้อ ช่างทองประจำจังหวัดสวรรคโลก ซึ่งรับจ้างทำทองตามลูกค้าสั่ง จากนั้นได้ถ่ายโอนกิจการมายังลูกสาวหรือคุณสมสมัย ด้วยความเป็นราชธานีเก่าจึงมีลูกค้าที่พบเครื่องประดับสำริดโบราณนำแบบมาให้ทางร้านผลิตตาม คุณสมสมัยจึงอยากศึกษาและรื้อฟื้นรูปแบบเครื่องประดับทองในยุคก่อน เริ่มจากถอดรูปแบบการถักทอของเส้นสำริด จนนำมาสู่การต่อยอดผลิตเครื่องประดับทองที่มีลวดลายแบบโบราณได้เป็นคนแรก


ความพิเศษของงานช่างทองสมสมัยอีกอย่างคือ ใช้ทักษะการผลิตด้วยมือทุกขั้นตอน ทั้งการถักทอ การฉลุลาย เดินลาย และนำเอาลวดลายสถาปัตยกรรมของโบราณสถานของศรีสัชนาลัยมาประยุกต์สร้างเป็นลวดลายเฉพาะของที่นี่
04
Pansataraplus ผ้าทอเมืองด้ง


พรรษาภาราภัทร (Pansataraplus) คือแบรนด์ผ้าทอมือจากชุมชนเมืองด้ง ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย มีที่มาจากการการรวมตัวกันของผู้ก่อตั้ง 3 คน ซึ่งย้ายกลับมายังบ้านเกิดหลังจากทำงานในเมืองหลวงหลายปี หลังจากได้ยินว่าชาวบ้านหลายคนกำลังจะเลิกทอผ้า พวกเขาจึงตัดสินใจรับซื้อผ้าทอจากชาวบ้านที่มีเทคนิคการทอที่แตกต่างจากที่อื่น เพราะต้องการรักษาวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวเมืองด้งให้คงอยู่ต่อไป


ผ้าทอเมืองด้งถูกหมักด้วยดินและต้มจนเกิดผิวสัมผัสที่นุ่มนวล ใส่แล้วสบายตัว ก่อนนำมาตัดเย็บใหม่ให้กลายเป็นเสื้อผ้าและกระเป๋าที่ร่วมสมัย ถูกออกแบบ ใช้สี ในลักษณะใหม่ โดยถอดแบบสีจากลักษณะภูมิศาสตร์ของย่านบ้านตึก กลายมาเป็นคู่สีที่มีความโดดเด่นเฉพาะ นอกจากนี้ แบรนด์พรรษาภาราภัทรยังมีบริการโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจในผ้าทอได้มาใช้ชีวิตและศึกษาเรื่องการทอผ้าอีกด้วย
เมืองเก่าสุโขทัย
05
Dorm of Happiness / ธาราบุรี

เริ่มต้นเมื่อปี 2005 โดยทำที่พักจากบ้านไม้เก่าที่ยกมาจากตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จนภายหลังขยายกิจการสร้างห้องพักแบบรีสอร์ต เน้นการตกแต่งด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันทุกห้อง ทั้งแบบจีน แบบญี่ปุ่น เพื่อถ่ายทอดความหลากหลายทางชาติพันธุ์เหมือนในสมัยยุครุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย


แม้จะมีรูปแบบการตกแต่งหลากหลาย แต่ก็ยังคงมีความเป็นไทยแทรกอยู่ในหลายๆ จุด อาทิ โคมไฟบ่อน้ำที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

ความพิเศษอยู่ตรงล็อบบี้โรงแรมที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ ผสมผสานองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น หลังคาดินเผา ประตูจีน งานกระเบื้องโมเสกลายอินเดีย และพื้นกระเบื้อง ถอดลวดลายมาจากฝาผนังและพื้นจากวัดศรีชุม (ที่ตอนนี้ปิดไม่ให้เยี่ยมชมแล้ว) ก่อนนำลวดลายเหล่านั้นมาสร้างเป็นลายกระเบื้องประดับ และหยิบไปใช้ตกแต่งในห้องพัก นี่จึงเป็นการหยิบเอามรดกทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีอยู่มากมายมาต่อยอดสร้างเอกลักษณ์ให้โรงแรม จนเกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
06
กะเณชา เซรามิก


แบรนด์เซรามิกที่นำเทคนิคและรูปแบบของเครื่องสังคโลกมาพัฒนาต่อยอดให้สินค้ามีความหลากหลาย และมีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบรับกับชีวิตในยุคใหม่มากขึ้น โดยยังคงใช้น้ำเคลือบที่มีส่วนผสมของขี้เถ้า มาพัฒนาจนได้สีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง อย่างสีคราม สีชมพูเขียว เขียวไข่กา และลวดลายทอง
พร้อมทั้งยังคงเทคนิคการวาดลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคโลกอย่างปลาตะเพียน ดอกบัว และกอผักกาด มาต่อยอดสร้างสรรค์พัฒนาลวดลายให้ร่วมสมัยขึ้น จนกลายเป็นเซรามิกที่เหมาะกับการใช้งานในปัจจุบัน ใช้กระบวนการทำงานด้วยมือเป็นหลักในเกือบทุกขั้นตอน ใช้เวลาตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการทั้งการขึ้นรูป การตากแห้ง การเผารอบแรก วาดลายน้ำเคลือบ ก่อนเผาอีกรอบจนสมบูรณ์ กว่า 45 วัน


นอกจากงานเซรามิก กะเณชายังทดลองขึ้นรูปงานในรูปแบบใหม่ๆ และสร้างงานศิลปะร่วมสมัย และมากกว่าเป็นแบรนด์ ที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการขึ้นรูปและเขียนลายสังคโลกให้ผู้สนใจ
07
ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย

ใครที่ผ่านมายังแถวสุโขทัยก็คงจะไม่พลาดการลองลิ้มชิมรสอาหารขึ้นชื่อที่มีชื่อเดียวกับจังหวัดอย่างก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแน่ๆ


ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยมีที่มาจากชาวจีนซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่มานาน ผ่านการดัดแปลงจนเกิดเป็นก๋วยเตี๋ยวแห้งที่ปรุงรสมาครบทั้งเปรี้ยว เค็ม หวาน ด้วยเครื่องปรุงที่เด่นในท้องถิ่น อย่างรสเค็มก็มาจากน้ำปลาที่ผลิตกันมากเพราะเป็นเมืองติดแม่น้ำ รสหวานจากน้ำตาลมะพร้าว ส่วนรสเปรี้ยวมาจากน้ำส้มสายชู พร้อมทั้งใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ละแวกนี้อย่างกุ้งแห้งและถั่วฝักยาวมาเพิ่มรสสัมผัสกรอบมัน ทำให้ได้รสที่อร่อยถูกปากผู้มาเยือน ตอนนี้หลายร้านก็ดัดแปลงต่อยอดเพิ่มส่วนผสมอื่นๆ ลงไปทั้งหมูยอ หมูกรอบ เพื่อให้ถูกปากของลูกค้ามากขึ้น
08
สุโขทัยพัฒนาเมือง

เป็นการรวมตัวกันของบรรดานักธุรกิจในเมืองสุโขทัย ที่อยากเห็นสุโขทัยเป็นจังหวัดที่ผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยพัฒนาปรับปรุงรถคอกหมูหรือรถบรรทุกดั้งเดิมของเมืองสุโขทัยให้มีระบบการจัดการแบบรถโดยสารประจำทางที่มาตรฐาน ทั้งในด้านเวลาการเดินรถและความถี่ เพื่อให้เป็นขนส่งสาธารณะทางเลือกอีกอย่างของคนสุโขทัย

นอกจากนี้ ทางสุโขทัยพัฒนาเมืองยังมีส่วนร่วมในการจัดงาน ‘Sukhothai Art Craft & Beyond’ ซึ่งเป็นเทศกาลประจำปีที่รวบรวมเหล่าผู้ผลิตงานหัตถกรรมจากทั้งจังหวัดมาจัดแสดงสินค้าร่วมกัน ที่ได้รับการตอบรับดีมากจากในสุโขทัยและจังหวัดข้างเคียง เพราะความเป็นผู้ผลิตที่ทำงานจริงและสินค้าที่มีคุณภาพภายในงานนั้นเอง
09
ว่าวพระร่วง

ถ้าใครมาสุโขทัยในช่วงปลายปีถึงต้นปีแล้วได้ยินเสียงว่าวสู้ลมอยู่นั้น ก็จงรู้เถิดว่านี่คือว่าวที่เป็นต้นแบบของว่าวหลากหลายในภาคกลางทั้งจุฬา ปักเป้า ซึ่งน่าจะมีมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ในสมัยก่อนคนสุโขทัยทำว่าวถวายแด่เจ้าเมืองราชวงศ์พระร่วง
รูปแบบของว่าวพระร่วงมีรูปทรงคล้ายว่าวจุฬาที่เราคุ้ยเคย แต่มีเอว รูปทรง และขาใหญ่กว่าว่าวจุฬา ว่าวพระร่วงจึงกินลมและส่ายมากกว่าเมื่อลอยขึ้นไปบนฟ้า ทำให้เกิดเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของว่าวพระร่วง

สุโขทัยมีลมน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ของไทย ฤดูกาลเล่นว่าวของสุโขทัยคือช่วงหลังการเก็บเกี่ยว คือเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ คนจะเล่นว่าวตั้งแต่เช้าตรู่ เริ่มต้นตอนตี 3 จนถึง 7 โมงเช้า และช่วงเย็น 4 โมงเย็นจนถึง 7 โมงเย็น
ครั้งหน้าถ้าใครมีโอกาสได้มาสุโขทัยในช่วงท้ายปีถึงต้นปี ก็มาดูและฟังเสียงของว่าวพระร่วง งานศิลปะที่กำลังจะสูญหายไปจากสุโขทัยกันได้
10
มะยงชิด

ของดีเด็ดในช่วงต้นปีที่หลายคนอาจไม่รู้ว่ามาจากสุโขทัยนั่นก็คือ มะยงชิด ผลไม้ที่ฮอตฮิตมากในช่วงปีที่ผ่านมา จนร้านอาหารใหญ่ๆ หลายร้านนำมะยงชิดมาปรุงเป็นอาหารคาวหวานเพิ่มมูลค่ากันอย่างมากมาย
มะยงชิดในประเทศไทยมีแหล่งปลูกหลักๆ อยู่ 3 ที่ด้วยกัน คือนครนายก สุโขทัย และพิจิตร ในสุโขทัยปลูกกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่เป็นการปลูกมะปรางก่อนราวๆ 20 ปีที่แล้ว ความจริงแล้วมะยงชิดคือมะปรางที่กลายพันธุ์จากมะปรางหวานและมะปรางเปรี้ยว ชื่อมะยงชิดนั้นก็มีที่มาจากรสชาตินี่แหละ เพราะว่า ยง หมายถึงเปรี้ยว ชิด คือหวาน
มะยงชิดของสุโขทัยมีรสชาติพิเศษตรงที่มีรสหวานนำเปรี้ยว และมีกลิ่นหอมของมะลิและใบเตยอยู่ตรงปลายลิ้น ซึ่งเป็นรสชาติที่หาไม่ได้จากมะยงชิดในแหล่งอื่น

แม้มะยงชิดจะออกผลในช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคม แต่ในช่วงเวลาอื่นๆ ก็มีร้านอาหารและคาเฟ่หลายๆ ร้านที่นำมะยงชิดมาถนอมอาหารและแปรรูปเก็บไว้ขายตลอดทั้งปี อย่างที่ร้านสุขเสมอที่มีขายทั้งมะยงชิดดลอยแก้ว น้ำมะยงชิดปั่น ซอร์เบต์มะยงชิดที่ทำจากเนื้อมะยงชิดสดๆ ปั่นกับน้ำแข็ง ไปจนถึงมะยงชิดโซดาที่เอาเนื้อมะยงชิดมาผสมกับน้ำตาลจนกลายเป็นไซรัปเข้มข้นผสมกับโซดา จนกลายเป็นเครื่องดื่มดับร้อนได้เป็นอย่างดี
นอกจากมะยงชิดแล้ว สุโขทัยยังมีผลไม้โดดเด่นอีก ไม่ว่าจะเป็นละมุด กระท้อน มะม่วง ทุเรียน ครั้งหน้าที่เดินทางผ่านสุโขทัย ลองเผื่อเวลาแวะหาผลไม้แสนอร่อยตามฤดูกาลมาเป็นของฝากดูก็น่าสนใจดีนะ
ย่านสวรรคโลก
11
สิบสองหน่วยตัด

ที่นี่นิยามตัวเองว่าเป็นห้องรับแขกของสวรรคโลก เจ้าของที่เป็นคนสวรรคโลกที่เคยทำงานในเมืองหลวงแล้วอยากย้ายกลับมาบ้านเกิดของตัวเอง เขารู้สึกว่าสวรรคโลกไม่มีอะไร เป็นเมืองที่ไม่พร้อมจะต้อนรับแขก เขาจึงเริ่มทำฟาร์มเมลอน และค่อยๆ พัฒนาพื้นที่เพื่อตอบสนองให้เป็นที่รับแขก ห้องนั่งเล่น ไปจนถึงจุดนับพบของชาวสวรรคโลก กลายมาเป็นร้านอาหาร สวนแสนร่มรื่น บึงน้ำ ร้านกาแฟ และต่อยอดพัฒนาจนมีห้องพัก


การตกแต่งและคอนเซปต์ของพื้นที่ทั้งหมดคือหาตัวบ้านเก่า เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่ง ในยุคที่สวรรคโลกเจริญรุ่งเรืองเป็นจังหวัดสวรรคโลก ในขณะที่สุโขทัยยังเป็นเพียงอำเภอ สวรรคโลกเป็นศูนย์กลางด้านพืชผลทางการเกษตรในย่านนี้ และเป็นเมืองที่กำหนดราคากลางของพืชผลหลากหลายเมื่อเกือบ 80 ปีก่อน ส่วนชื่อร้านนั้นมีที่มาจากชื่อลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอไทพวนซึ่งเป็นของพื้นถิ่น

การมีอยู่ของสิบสองหน่วยตัดจึงเป็นการจุดประกายให้คนสวรรคโลกได้เห็นถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในเมืองแห่งนี้ และถ้าคนในเมืองนี้ร่วมกันพัฒนา ก็อาจจะทำให้สวรรคโลกกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักเดินทางต่อไปในอนาคตได้
12
Street Art สวรรคโลก

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับบริษัท Assajan Collective สร้างการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านรูปแบบของการใช้งานศิลปะแบบสตรีทอาร์ต เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยมี 3 เมืองรองของประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือก คือ สวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เชียงราย และจังหวัดตราด


สวรรคโลกได้รับศิลปินจากประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา มาสร้างสรรค์ผลงานสตรีทอาร์ตบนอาคารโบราณในย่านตลาดเก่าริมน้ำของสวรรคโลก ทำให้ผู้คนที่เข้ามาในย่านนี้ต้องเดินลัดเลาะของตรอกซอกซอยต่างๆ เพื่อค้นหาและสำรวจงานสตรีทอาร์ตทั้งหกให้ครบ ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้เดินไปเจอกับกิจการและความเป็นชุมชนของย่านสร้างสรรค์แห่งนี้ด้วย
แม้งานจะมีเพียงแค่ 6 ชิ้นซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่เราก็ยังคาดหวังว่าจะมีการต่อยอดด้านสตรีทอาร์ตต่อไปในสวรรคโลก เพื่อเปลี่ยนให้สวรรคโลกกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางคิดถึงในอนาคต
ขอขอบคุณ
- ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา
- อาจารย์ธนพงษ์ บุญฤทธิ์
- ดร.คมกฤช ธาราวิวัฒน์
- อาจารย์ธีรพล เถื่อนแพ
- อาจารย์ธรรมศักดิ์ ค่วยเทศ
- สิวรีย์ เอี่ยมสุดใจ
- เนืองนิตย์ ชัยภูมิ
