“แตงโม แตงโม แตงโม แตงโม ลูกโตๆ รสหวาน” เผลอไม่ได้ เป็นต้องร้องออกมากทุกที

ทายาทรุ่นสองตอนนี้ ขอพาทุกคนมาพบกับทายาทแบรนด์เสื้อยืดแตงโม แบรนด์เสื้อยืดสีสดในความทรงจำ สู่การต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ในมือลูกแตงโม

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์เสื้อแตงโมอายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

ถ้าใช้ความทรงจำวัยเด็กเปิดดูตู้เสื้อผ้าของใครหลายคน เราจะได้เห็นเสื้อแตงโมลายทาง ลายดอก หรือลายแตงโมผ่าซีกพร้อมทาน อย่างน้อย 1 ตัว อยู่ในนั้น

ไม่ว่าจะเป็นเพราะสีเสื้อที่สดทนนาน หรือเนื้อผ้านุ่มหนาแต่ใส่สบาย ใช้เวลาคิดไม่นานก็พอจะรู้ว่าอะไรที่ทำให้คุณสถาปนาตนเป็นแฟนคลับแตงโม หรือ SUIKA เสื้อยืดสีสันสดใสสายพันธุ์ไทยแท้แบรนด์นี้

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์เสื้อแตงโมอายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

“เราฝันอยากให้มีเสื้อแตงโมสักตัวอยู่ในตู้เสื้อผ้าของคนไทย” อดิศร และอมรา พวงชมภู เจ้าของรุ่นบุกเบิก ประกาศความตั้งใจ

วันนี้ความสดใสของเสื้อเเตงโมก็ยังคงไม่ซีดจาง แม้จะเดินทางมาถึงปีที่ 41 ผ่านมือทายาทรุ่นที่สองอย่าง เซน-อดิศรา พวงชมภู ที่ตั้งใจสานต่อความสดใสและเพิ่มเติมสีสันอื่นๆ ให้แตงโมได้อยู่คู่คนไทยไปอีกนาน

“ทำยังไงให้คนไทยใส่เสื้อแตงโมแล้วมั่นใจ ให้คนอ้วน คนผิวคล้ำ หรือวัยรุ่น ใส่แล้วรู้สึกว่าเขาใส่สวย เราไม่ได้ลบเอกลักษณ์เดิม เพียงเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น ให้แตงโมเป็นเสื้อที่ไม่มีวันตาย” นี่คือโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงและปรับภาพลักษณ์แตงโมครั้งใหญ่ในมือของทายาทรุ่นสอง

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

ยิ่งฟังหลักการบริหารแบบเมล็ดแตงโม 7 เมล็ด ยิ่งไม่แปลกใจว่าอะไรทำให้แตงโมครองใจคนไทยได้ยาวนานขนาดนี้

หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านศิลปะจากประเทศอังกฤษ อดิศราเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยความรู้สึกลึกๆ ในหัวใจว่าต้องกลับมาสานต่อ ทั้งที่พ่อแม่ให้อิสระในเส้นทางชีวิต

ทำไมเด็กอาร์ตสุดติสท์ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินถึงกลายเป็นผู้บริหารสลับแม่ค้าขายเสื้อ

และเธอจะสานต่อธุรกิจครอบครัวอย่างไร

หลังทานแตงโมลูกแรกไปแล้ว แตงโมลูกต่อไปจะหวานหอมแค่ไหน ต้องลองชิม

อดิศร และอมรา พวงชมภู ทายาทรุ่นที่สอง เซน-อดิศรา พวงชมภู

บริษัท: บริษัท สยามแฮนด์ส จำกัด (พ.ศ. 2521)

ประเภทธุรกิจ: ผลิตและขายปลีก ส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูป

อายุ: 41 ปี

ผู้ก่อตั้ง: อดิศร และอมรา พวงชมภู

ทายาทรุ่นสอง: อดิศรา พวงชมภู

เมล็ดพันธุ์แห่งความผูกพัน แตกใบอ่อนเป็นทายาทรุ่นสองของแตงโม

เช่นเดียวกับทายาทรุ่นสองของธุรกิจอื่น อดิศราผูกพันกับเสื้อแตงโมตั้งแต่ยังเด็ก เธอวิ่งเข้าออกโรงงาน แวะแผนกเย็บ ดูแผนกพิมพ์ บางทีก็ไปเป็นแม่ค้าวัย 8 ขวบ ช่วยขายเสื้อที่ตลาดประตูน้ำ ไม่เพียงความผูกพันที่มีต่อธุรกิจของครอบครัว ความผูกพันกับคนงานแตงโมก็ฝังรากลึกในหัวใจของเธอ

“เราคลุกคลีกับพี่ๆ มาตั้งแต่เด็ก บางคนอุ้มเราตั้งแต่ยังเดินไม่ได้ การที่เราคลุกคลีกับเขามาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เราไม่รู้สึกกลัวเมื่อเข้ามาทำงานที่บ้าน” เธอเล่าระหว่างทักทายคนงานที่เดินสวนไปมาอย่างญาติมิตร

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

ด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่เป็นคนเปิดกว้าง พร้อมสนับสนุนลูกทุกคนให้ไปตามฝัน อดิศราและพี่น้องอีก 3 คน จึงได้เรียนในสาขาที่ตั้งใจ ไม่ว่าเธอจะอยากเรียนเต้นฮิปฮ็อป เปียโน หรือศิลปะ คุณแม่ก็จะส่งเสริมให้ได้เรียนอย่างจริงจัง อดิศราจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปินแต่เด็ก เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมที่ไทย เธอไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่ University of the Arts London (UAL) 4 ปี

“พวกเราค่อนข้างจะอิสระ ต้องการจะไปที่ไหนก็ได้ ตอนนั้นแอบคิดในใจว่าหากกลับมา ชีวิตที่เคยอิสระจะถูกจำกัดเหมือนอยู่ในกรงหรือเปล่า ลึกๆ ตั้งใจจะมารับช่วงต่ออยู่แล้ว แต่พอกลับจากอังกฤษก็ไม่เข้าโรงงานเลย ไปเล่นละครเวที ไปเต้นที่คอนเสิร์ต เข้าไปอยู่ในแวดวงนั้นหนึ่งถึงสองปี อยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าพอแล้ว จึงกลับมาทำงานที่บ้าน เวลาผ่านไปไม่ถึงปีคุณพ่อก็ป่วย” อดิศราเล่า

ทายาทรุ่นที่สอง เซน-อดิศรา พวงชมภู

เซน คือชื่อเล่นของอดิศรา มาจากวิถีแห่งธรรมชาติ วิถีแห่งซามูไร 

เธอจึงยึดถือความกตัญญูและการสนับสนุนผู้อื่นในใจตลอดเวลา แม้คนรุ่นพ่อแม่จะพร้อมขายกิจการหากลูกๆ มีเส้นทางอื่นในชีวิต แต่เธอสละเส้นทางที่ฝันกลับมาทำงานครอบครัว

อดิศร และอมรา พวงชมภู ทายาทรุ่นที่สอง เซน-อดิศรา พวงชมภู

“ในวันที่คุณพ่อคุณแม่ประสบปัญหา ไม่มีเงินจ่ายให้พี่ๆ คนงาน พวกเขาก็ไม่ทิ้งเราไปไหน หากธุรกิจนี้ไม่อยู่พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร บางคนเย็บเสื้อที่โรงงานสิบยี่สิบปี เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ถ้ามีอะไรที่พอจะทำได้เราก็อยากทำ พอดีกับที่คุณพ่อไม่สบาย เราจึงตัดสินใจเข้ามารับช่วงต่อเต็มตัว” ทายาทรุ่นสองแบรนด์แตงโมยิ้มยืนยัน

กลับไปเป็นนักศึกษาฝึกงาน

เพราะเคยแต่วิ่งเล่นในโรงงานเท่านั้น ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตและการบริหารของเธอจึงแทบเป็นศูนย์ อดิศราเริ่มต้นบทบาททายาทรุ่นสองของตัวเองด้วยการเป็นเสมือนนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่ง ฝึกวิชาการทำและขายเสื้อ 101

“เราพยายามเข้าไปดูทุกส่วนว่าพิมพ์ยังไง ทำบล็อกยังไง ไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่ไว้ใจและเคารพแบบที่พี่เขาทำมายี่สิบ สามสิบปี เราเพิ่งเข้ามาได้หกปี ประสบการณ์ไม่เท่าเขาอยู่แล้ว เหมือนเรามาช่วยเขาเชิงข้อมูลว่าโลกเปลี่ยนไปยังไงบ้าง มีอะไรช่วยผ่อนแรงเขาได้บ้าง คนรุ่นพี่ๆ ไม่ค่อยมีใครชอบการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่เราโชคดีที่เขายอมเปลี่ยน” อดิศราย้อนความหลังครั้งเริ่มเข้ามาศึกษางานอย่างจริงจัง

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน
ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

หากต้องการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ เธอจะวาดภาพที่คิดไว้แล้วปรึกษาทั้งพ่อแม่และคนงาน เมื่อเห็นภาพเดียวกันแล้วจึงเริ่มออกแบบได้

“อย่างลายหมูป่า เราถือสเก็ตช์เดินทั่วโรงงานถามว่าเห็นเป็นหมูป่ามั้ย หรือเห็นเป็นเม่น เขาก็บอก ยังเห็นเป็นเม่นอยู่ เราก็ต้องเติมเขี้ยวมากขึ้น เริ่มเห็นเป็นหมูป่าเยอะหน่อยก็ทำ” เธอเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะแต่แฝงด้วยความภูมิใจ

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

ไม่เพียงลงไปนั่งดูวิธีการผลิตในโรงงาน เธอยังเริ่มจัดสต๊อกและขายเองกับมือ จากที่ไม่รู้อะไรเลยจนเปลี่ยนหน้าที่มาฝึกพนักงานฝ่ายขายให้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกของแตงโมและวิธีการดูแลลูกค้า เธอยังเสริมอีกว่า ความรู้ด้านการตลาดมาจากการอ่านหนังสือ ศึกษาข้อมูล ศัพท์วิชาการทางการตลาด และลงเรียนเสริมทางอินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มความรู้ หวังเป็นที่พึ่งให้พี่ๆ คนงาน

ไม่ได้ขายเสื้อแค่เพียงสวย แต่อยากให้ลูกค้ามีวันดีๆ ที่มีสีสัน

อดิศรานิยามตัวเองว่าเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ ’พี่คนงานมากกว่าเป็น ‘ผู้เปลี่ยนแปลง’ 

หลักสำคัญคือการคงเจตนารมณ์ในการก่อตั้งแตงโมไว้มากที่สุด และปรับปรุงสิ่งที่คิดว่าทำให้ดีขึ้นได้ อย่างการเริ่มทำการตลาด การแทรกแนวคิดการออกแบบบางส่วนเพื่อให้เท่าทันโลก และการจัดระบบการผลิตให้เป็นไปตามขั้นตอนยิ่งขึ้น

เดิมแตงโมไม่ทำการตลาด เพราะคุณพ่อไม่ต้องการเพิ่มรายจ่ายให้ลูกค้าโดยไม่จำเป็น สิ่งที่คุณพ่อยึดถือเสมอคือการให้คุณภาพของเสื้อเล่าเรื่องเอง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป คนจดจ่อกับจอมือถือมากกว่าสิ่งรอบตัว เธอจึงเริ่มเล่าเรื่องแตงโมผ่านสื่อสมัยใหม่มากขึ้น

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

“สิ่งสำคัญที่สุดคือลูกค้าต้องการอะไร เขาอาจไม่ต้องการแบบคนอื่นแต่ต้องการแบบที่เราเป็น แค่เพิ่มแขนให้เขานิดหนึ่งได้มั้ย ถ้าเราเอาโซเชียลมีเดียมาแล้วลูกค้าไม่มั่นใจ เราก็รู้สึกว่านั่นไม่ใช่” เธอบอกถึงความตั้งใจ แม้จะเริ่มทำการตลาดทางสื่อออนไลน์ แต่สิ่งที่ยังเน้นเสมอคือการสื่อสารกับลูกค้าผ่านการขายหน้าร้าน เพราะต้องการให้ลูกค้าอย่างอาม่าอากงที่ไม่สันทัดโซเชียลมีเดีย ยังคงซื้อเสื้อแตงโมได้อย่างสะดวก

นอกจากเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางการตลาดแล้ว เธอยังเข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวคิดของร้านแตงโมตามสถานีเติมน้ำมัน ปตท. อีกหนึ่งช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญของแตงโม 

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

เธอเปลี่ยนร้านสีดำให้เป็นสีขาว เปลี่ยนจากพื้นกระเบื้องเป็นพื้นไม้ จากความต้องการเดิมที่จะขับความแสบสันของสีเสื้อให้จ๊าบสะดุดตาลูกค้า ก็เปลี่ยนเป็นสร้างความอบอุ่นเสมือนบ้านแทน

“เราไม่ได้ทำร้านเพื่อขายเสื้อแต่เพื่อเสริมให้การเดินทางในวันนั้นมีสีสันมากขึ้น ให้เขาได้พักผ่อนหย่อนใจจากการเดินทาง บางครอบครัวซื้อเเล้วเปลี่ยนเป็นทีมไปเที่ยวต่อ เราขอเป็นสีสดใสเล็กน้อยในวันที่ฝนตกก็ยังดี” แม้ไม่ได้เป็นนักเดินทาง แต่เเค่เห็นเสื้อแตงโมเราก็รู้สึกสดใสขึ้นได้จริงๆ

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

เธอสรุปการปรับปรุงภาพลักษณ์และผลิตภัณฑ์ให้เราฟังว่า “เราเข้ามาทำให้กระบวนการการทำงานเป็นระบบ เพื่อที่ว่าหากพี่ๆ คนงานไม่อยู่ โรงงานต้องเดินต่อได้ แต่ระบบนี้ต้องไม่ทับความเป็นแตงโมเดิม ยิ่งเราใช้ระบบมากเท่าไร ความเป็นคนก็จะน้อยลง”

สิ่งที่ทำให้อดิศรามั่นใจที่จะดูแลแตงโมต่อ และบอกตัวเองเสมอว่านี่คือเส้นทางชีวิตของเธอ คือการที่ทั้งคุณพ่อคุณแม่ พี่ๆ คนงาน และลูกค้า พึงใจและเห็นพ้องต้องกัน

แม่ค้าขายเสื้อ ศิลปินผู้ใช้ศิลปะในการบริหารงาน

สิ่งที่เธอเน้นย้ำตลอดการสนทนาคือ เธอไม่ได้เปลี่ยนแปลง และคล้ายจะดำเนินรอยตามคุณพ่อเสียด้วยซ้ำ แต่เราเชื่อว่าความเป็นศิลปินจะต้องแทรกอยู่ในการทำงานของเธอเป็นแน่ เมื่อต้องเป็นผู้บริหารสลับแม่ค้าขายเสื้อ เธอได้ใช้ศาสตร์แห่งศิลป์ที่รักบ้างหรือเปล่า เราถาม

“ทุกคนจะบอกว่าเรียนศิลปะมาก็ออกแบบลายได้สิ ถามว่าได้มั้ย ก็ได้ แต่ศิลปะกับการออกแบบไม่เหมือนกัน เราเป็นศิลปินมากกว่า ศิลปะคือการเห็นของเรา แต่เมื่อมาอยู่กับแตงโมมันต้องเกี่ยวกับลูกค้า ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเอง ถ้าออกแบบลาย เราจะเป็นคนวาดด้วยมือแล้วให้พี่เขาไปทำต่อในคอมพิวเตอร์ 

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

“และการที่เราเรียนศิลปะทำให้เราได้กระบวนการคิดมากกว่า เราผสานสิ่งที่ลูกค้าและเราต้องการเข้าด้วยกัน ถ้าออกบูทเราก็หยิบงบประมาณผสานความคิด วางแผนออกมาเป็นบูทที่เราต้องการ บางครั้งก็หยิบสีใบไม้ที่เปลี่ยนไปมาลองทำโทนสีใหม่ เปลี่ยนจากละเลงลงผ้าใบมาลงเสื้อแทน” เธอเล่าถึงการใช้ศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาประยุกต์กับธุรกิจครอบครัวด้วยรอยยิ้ม การันตีว่าศิลปะยังอยู่กับเธอเสมอ

เพราะยึดมั่นในคำของคุณพ่อที่ว่า “คนที่ใส่เสื้อแตงโมคือคนอารมณ์ดี” และ “แตงโมทำเสื้อให้ได้มาซึ่งรอยยิ้มของผู้ใส่” การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เธอทำจึงเป็นการเพิ่มสีเสื้อแตงโมให้หลากหลายเพื่อตอบสนองลูกค้าที่อาจไม่กล้าใส่เสื้อแตงโมเพราะสีที่ฉูดฉาด และตอบสนองสีผิวและรูปร่างของลูกค้าที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเพิ่มสีเอิร์ธโทน พาสเทล เพิ่มให้สีแต่ละสีมีหลายเฉด และลดรายละเอียดของลายเสื้อลง แต่ยังคงเอกลักษณ์แตงโมไว้

ทายาทรุ่นที่สอง เซน-อดิศรา พวงชมภู

“ทำยังไงให้คนไทยใส่เสื้อแตงโมแล้วมั่นใจ ให้คนอ้วน คนผิวคล้ำ หรือวัยรุ่นใส่แล้วรู้สึกว่าเขาใส่สวย เราไม่ได้ลบเอกลักษณ์เดิมเพียงเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น ให้แตงโมเป็นเสื้อที่ไม่มีวันตาย” นี่คือการเปลี่ยนแปลงและปรับภาพลักษณ์แตงโมครั้งใหญ่ เราจึงเห็นว่าเสื้อแตงโมมีหลากสีหลายแบบยิ่งขึ้น

7 เมล็ดของแตงโม หลักสำคัญในการทำงานตั้งแต่ผู้บริหารถึงลูกน้อง

นอกจากการทำเสื้อให้ได้มาซึ่งรอยยิ้มของผู้ใส่แล้ว การยึดมั่นในคุณธรรมทั้งเจ็ด นั่นคือขยัน อดทน ซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ประหยัด และกตัญญู ก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อและคุณแม่ในฐานะพี่ใหญ่ของน้องๆ และพ่อแม่ของลูกๆ สอนเสมอ

คุณพ่อเป็นคนยโสธรที่เข้ามาเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ จึงเข้าใจคนยากลำบากเป็นอย่างดี ทั้งสองท่านจึงดูแลคนงานเสมือนญาติพี่น้อง ตั้งแต่สร้างโรงงานหลังคาสีแดงให้เหมือนบ้านตามต่างจังหวัด ปลูกต้นไม้รายล้อมให้รู้สึกอบอุ่น เลือกวิวริมแม่น้ำซึ่งสวยงามที่สุดให้คนงานได้อยู่ จัดหาอาหารให้ 3 มื้อ ในราคาถูก สร้างหอพักให้อาศัยในราคาย่อมเยา หรือแม้แต่สร้างโรงจอดรถให้ได้หลบฝน ความรักที่ทั้งสองมีต่อคนงานจึงส่งไปถึงลูกค้าได้จริง

ท่านทั้งสองคอยบอกให้คนงานเย็บเสื้อเหมือนเย็บให้พ่อแม่ใส่ ให้ลูกค้าได้ใส่เสื้อสวยคุณภาพดี แต่ราคาถูก เพราะฉะนั้นเมื่อพี่คนงานคนไหนตะหงิดใจเพียงนิดว่าเสื้อตัวนี้เย็บไม่ดี พวกเขาจะแก้ใหม่ทันทีโดยไม่ต้องบอก หรือแม้กระทั่งการขายอาหารให้ลูกค้าในงานแตงโมแฟร์ แม้อดิศราจะอยากช่วยผ่อนแรงคนงานด้วยการซื้อเครื่องครัวดีๆ มาให้ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธเพราะภูมิใจที่ได้ขอบคุณลูกค้าด้วยฝีมือการทำอาหารของตน

สำหรับอดิศรา เธอยึดหลักทั้งเจ็ดขึ้นใจทั้งต่อลูกค้าและคนงาน แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 41 ปี แต่เสื้อแตงโมยังคงใช้เส้นด้ายและสีย้อมที่ดีที่สุด เพื่อให้คนไทยได้ใส่เสื้อคุณภาพดีในราคาถูก

“อากาศร้อนก็เปลี่ยนผ้า ลูกค้าอยากได้เสื้อแบบไม่ต้องรีดก็เปลี่ยนผ้า” เธอเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะว่า เธอเก็บข้อมูลที่ลูกค้าต้องการมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์เสมอ

เพราะเชื่อเสมอว่าแตงโมเป็นมากกว่าเสื้อยืดธรรมดา เธอเล่าว่า วงจรของเสื้อแตงโมแต่ละตัวหมุนวนอยู่ในชีวิตคนไทยทั้งหมด ตั้งแต่เงินเดือนคนงานที่ส่งกลับไปให้ครอบครัวที่ยังคงเป็นชาวนา หรือแม้กระทั่งลูกค้าขายส่งที่ได้มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว หลายครั้งได้ฟังว่าเสื้อแตงโมทำให้ลูกหลานพวกเขาจบปริญญาเอกได้อย่างไร

ไม่เพียงคนงานและลูกค้าขายส่ง แต่แตงโมยังนำกำไรที่ได้ไปช่วยพัฒนาสังคม ทั้งออกไปช่วยสร้างถนนที่ภาคใต้ สร้างโรงงานให้กลุ่มมุสลิมกายูบอเกาะ จากการรับเย็บเสื้อแตงโมไปเย็บฮิญาบ ขึ้นไปช่วยเหลือชาวเขา หรือแม้กระทั่งการช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดอุทกภัย

“เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอณูของแตงโม ยังคงหลักเดิมที่ว่า แตงโมไม่ได้ผลิตเสื้อเพียงเพื่อขาย แต่เราดูว่าเสื้อที่เราทำออกไปได้สร้างคุณค่าที่ไหนบ้าง เป้าหมายของธุรกิจคือกำไร แต่เป้าหมายของกำไรคืออะไร แตงโมมานั่งคิดว่าจะทำยังไงต่อมากกว่า” อดิศราเล่าถึงความตั้งใจของแตงโมที่เธอได้รับจากเจ้าของโรงงานรุ่นบุกเบิก

แตงโมลูกที่สองกับการรับช่วงต่อ

ถึงตรงนี้เราจึงสงสัยว่า ในบรรดาพี่น้อง 4 คน ทำไมจึงเป็นเธอที่กลับมาดูแล 

“ทุกคนต้องไปทำตามความต้องการของตนเอง แต่ท้ายที่สุดก็มีสิ่งที่ต้องทำด้วยกัน เราอาจต้องมาจุดนี้ก่อน ส่วนน้องๆ และพี่ชายอาจต้องทำตามฝันก่อนแล้วค่อยกลับมา จริงๆ น้องชายจะกลับมาช่วย แต่เราบอกให้เขาทำงานที่ต่างประเทศสักหนึ่งปีให้ได้ประสบการณ์และศึกษาระบบต่างๆ ก่อน เราเรียนศิลปะ เป็นนักเต้น แล้วมาทำธุรกิจเลย ไม่มีความรู้ที่จะมาช่วยได้จริงๆ ให้เราดำน้ำคนเดียวก็พอ ในฐานะพี่สาว น้องสาว เรามีความสุขแล้ว มันเป็นตัวตนของเรามากกว่า” เธอเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม ทำให้เราเชื่อได้จริงๆ ว่าเธอมีความสุขกับเส้นทางที่เลือกแม้ต้องละทิ้งความฝันในการเป็นศิลปิน สมกับชื่อ ‘เซน’ ของเธอไม่ผิด

ทายาทรุ่นที่สอง เซน-อดิศรา พวงชมภู

การบริหารงานในฐานะทายาทรุ่นสองของเธอเดินทางมาถึงปีที่ 6 แล้ว เมื่อถามถึงสิ่งที่เธอตั้งใจในการนำแตงโมเติบโตต่อไป เธอตอบเราว่า

“แตงโมคือแบรนด์ที่คนไทยพึ่งพาได้ ภาพที่คุณพ่ออยากเห็นคืออยากให้บ้านทุกหลังมีเสื้อแตงโม มีช่วงที่ตู้เสื้อผ้าบางตู้ไม่มีเสื้อแตงโม เราอยากเติมความฝันนั้นให้ทุกคนได้กลับมารู้จักว่า แตงโมยังอยู่ตรงนี้” คำตอบของเธอยังทิ้งร่องรอยของรุ่นบุกเบิกไว้เสมอ แต่ร่องรอยนั้นก็มีความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ในแบบเธอ

อดิศร และอมรา พวงชมภู

“ไม่ว่าจะเป็นทายาทต่อหรือสร้างธุรกิจใหม่เองก็เป็นเรื่องท้าทายของชีวิต ต้องดูว่าเรามีความสุข ณ จุดไหนมากกว่า ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันกับคุณพ่อคุณแม่หรือพี่ๆ ในฐานะคนรุ่นใหม่ เราต้องลดอัตตาลงเเล้วฟังเขาเยอะขึ้น เมื่อเราดูตัวเอง เราจะเข้าใจว่าทำไมคนนั้นเป็นอย่างนี้ ทำไมพ่อแม่ไม่ฟัง เพราะเราพูดไม่ชัดเจน หรือเข้าไปคุยตอนท่านอารมณ์ไม่ดีหรือเปล่า 

“เรามีเป้าหมายว่าต้องเก่งขึ้นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม การเป็นทายาทรุ่นสองเป็นการพัฒนาตนเองให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ถ้าคิดได้แบบนี้ เราจะมีความสุขมากขึ้น และตอนนี้เรามีความสุขดี” เพราะรอยยิ้มตาหยีและน้ำเสียงสนุกสนานของเธอตลอดการสนทนา ทำให้เราเชื่ออย่างสนิทใจว่า สีสันของแตงโมจะไม่ซีดจางเพราะศิลปินสาวนามอดิศรามีความสุขที่ได้เป็นทายาทรุ่นสองจริงๆ 

ทายาทรุ่นสองผู้ต่อยอดแบรนด์ เสื้อแตงโม อายุ 40 ปีให้เติบโตเป็นแตงโมลูกโตๆ รสหวาน

บริษัท สยามแฮนด์ส จำกัด (พ.ศ. 2521)

ย้อนกลับไปเมื่อ 41 ปีก่อน ขณะเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยต้องการเก็บเงินสร้างชีวิตคู่ คุณพ่ออดิศราและคุณแม่อมราจึงไปรับเสื้อยืดมาขาย ทั้งแบบที่พิมพ์ลายมาแล้วและซื้อเสื้อเปล่ามาพิมพ์เอง ในปีเดียวกัน คุณพ่อและคุณแม่ได้ฝากขายสินค้าที่ร้านกิฟต์ช็อปเม็ดทรายและได้ตั้งชื่อแบรนด์เป็นภาษาญี่ปุ่นขึ้นว่า ‘SUIKA’ ที่แปลว่า แตงโม เพราะคุณพ่อชอบทานแตงโม ส่วนคุณแม่เป็นนักเรียนทุนญี่ปุ่น

ด้วยแนวคิดที่เฉียบคมของคุณพ่อผสานกับกำลังแรงกายและแรงใจจากคุณแม่ แตงโมจึงตีตลาดเสื้อยืดได้ทุกวัยโดยเฉพาะวัยรุ่น “ตอนนั้นในท้องตลาดเป็นเสื้อใยสังเคราะห์ เสื้อคอตตอนขายในห้างและส่งออกเท่านั้น แต่เราชอบคอตตอนเพราะใส่สบาย ซับเหงื่อได้ และเราขายราคานักศึกษาแค่เก้าสิบเก้าบาท แถมพิมพ์ลายน่ารักๆ และปรัชญาเก๋ๆ” คุณแม่เสริมให้ฟังถึงกลยุทธ์ที่ทำให้แตงโมเป็นเสื้อที่ครองใจคนทุกวัย

ในปี 2528 ทั้งคู่ได้ตั้งบริษัท วาย แจแปน จำกัด เพื่อผลิตเสื้อแตงโมอย่างครบวงจร และเปิดร้านสำหรับขายเสื้อแตงโมสาขาแรกที่บางลำพูในปีถัดมา ต่อมาในปี 2532 จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท สยามแฮนด์ส จำกัด

ช่วงหนึ่งแตงโมเคยเน้นผลิตเสื้อเพื่อการส่งออกเพราะคิดว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่เมื่อดำเนินกิจการไปสักพักจึงคิดว่าการผลิตเสื้อให้คนไทยได้ใส่นั้นเหมาะกับแตงโมที่สุด ประกอบกับได้รับผลประกอบการที่ดีเกินคาดจากการขายส่งที่ตลาดโบ๊เบ๊ แตงโมจึงเน้นตลาดขายส่งตั้งแต่นั้นมา 

“วันนั้นเราเป็นวัยรุ่น เราจึงเข้าใจหัวใจวัยรุ่นว่าต้องการใส่อะไร แต่วันนี้ เราอายุขนาดนี้เรากลับไปตีตลาดวัยรุ่นไม่ได้แล้ว มีเซนเข้ามา จึงถือว่าแตงโมได้เกิดใหม่อีกครั้ง พ่อแม่ต้องวางอย่าติดยึดว่าฉันสำเร็จอย่างนี้มา เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและเคารพเขา ทุกอย่างเป็นประสบการณ์หมด มันเป็นมหาลัยของความเป็นจริง”

Facebook : SUIKA – เสื้อแตงโม

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู