“อั๊ดช่ะ” (Accha) ฉันไม่ได้ยินคำนี้จากปากคนอินเดียมาหนึ่งปีเต็มๆ แล้ว อั๊ดช่ะ เป็นคำตอบรับการสนทนา เทียบกับภาษาไทยก็ประมาณคำว่า อ้อๆ อือๆ เข้าใจๆ โอเคๆ
“อั๊ดช่ะ” พนักงานชาวอินเดียในร้านอาหารมังสวิรัติ Suananda Vegetarian garden cafe ซึ่งกำลังยืนคุยโทรศัพท์กับปลายสายอยู่ที่มุมหนึ่งของร้าน พูดปิดการสนทนาอีกครั้ง ก่อนจะวางสายและหันไปทำความสะอาดร้าน เพื่อเตรียมเปิดร้านในช่วงเวลา 11 โมงเช้า
บรรยากาศของร้าน Suananda (สุอนันดา) ทำให้ฉันนึกถึงร้านอาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองเดลีที่ชื่อ Café Turtle ไปเดลีทีไร ฉันจะไปนั่งที่ร้านนี้เป็นประจำ ทั้งสองร้านคล้ายคลึงกันด้วยบรรยากาศความร่มรื่น มีส่วนผสมของไม้กระถางและไม้เลื้อยที่ทางร้านปลูกเอาไว้ กลมกลืนไปกับผิวสัมผัสของเฟอร์นิเจอร์งานไม้ ผนังบางด้านทาด้วยสีสด สร้างความรู้สึกเป็นมิตร พนักงานของร้านเองก็ไม่มาวุ่นวายจุกจิกกับเรา ขณะเดียวกันก็พร้อมเสมอที่จะให้บริการ


เกินครึ่งของลูกค้าที่มากินอาหารมังสวิรัติที่ร้าน Suananda เป็นลูกค้าประจำ กลับมาแล้วกลับมาอีกด้วยความเชื่อใจในคุณภาพและรสชาติ ส่วนใครที่ไม่เคยรู้จักที่นี่มาก่อนเลย เวลาเดินผ่านทางเข้าซึ่งตั้งอยู่บนถนนปั้น พอมองเข้าไปในตรอกของร้านที่เต็มไปด้วยไม้เลื้อย ก็อาจจะยืนลังเลนิดหนึ่งว่า ในตรอกแคบๆ นี้มันมีร้านอาหารอยู่จริงเหรอ แลดูเหมือนทางเข้าบ้านคนเสียมากกว่า
“เคยมีลูกค้าใหม่ที่เดินเข้ามานั่งกินในร้านเรา เขาบอกว่า เราเป็น Hidden Gems”

สุเกช จันทร์ศรีชวาลา เจ้าของร้านชาวอินเดีย จากเมือง Mandi ในเขต Himachal Pradesh ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย บอกฉัน
ได้ยินชื่อสุเกช (Sukesh) แล้ว ฉันนึกสงสัยว่าชื่อของเธอแปลว่าอะไร เพราะชื่อคนอินเดียส่วนใหญ่มักให้ความหมายที่เราไม่คาดคิดเสมอ
“สุ แปลว่า สวยหรือดี เกช มาจากคำว่า เกศา ที่แปลว่าผม แปลรวมแบบสันสกฤตก็คือ ผมสวย น่ามอง”
คำถามแรกของฉันในการเปิดบทสนทนา ทำเอาเจ้าของร้านมีท่าทีเขินอยู่ไม่น้อย เธอพยายามหัวเราะเสียงดังกลบเกลื่อนความเขินนั่น ขณะเดียวกันเธอก็ดูเป็นคนเปิดเผย บอกถึงบุคลิกของความเป็นคนอินเดียโดยแท้ คือทันทีเมื่อเราละลายพฤติกรรมในสถานะของคนแปลกหน้ากับเขาได้ภายใน 2 นาทีแรกของการสนทนา เขาจะไม่มีกำแพงในการพูดคุยกับเราอีกต่อไป
อันนี้จากประสบการณ์การเดินทางในอินเดียของฉันนะ
สมัยเด็กๆ คุณสุเกชเรียนหนังสือที่โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในเมือง Mandi จนพออายุ 16 ในช่วงเริ่มต้นของการเรียนมหาวิทยาลัย เธอก็ต้องเข้าพิธีหมั้นและแต่งงานตอนอายุ 18 ตามธรรมเนียมของวัฒนธรรมการแต่งงานในอินเดีย โดยมีพ่อแม่เป็นผู้จัดการหาคู่ครองให้
สำหรับคุณสุเกชแล้ว คำว่าคลุมถุงชนด้วยการบังคับ กับคำว่าพ่อแม่เลือกคู่ครองให้ มันคนละความหมายกันเลย
คลุมถุงชน คือการจับแต่งงานโดยไม่สนใจว่าลูกจะรู้สึกยังไง แต่ในสถานการณ์ของเธอ การที่พ่อแม่หาคู่ครองให้ ก็ต้องได้รับการยอมรับจากลูกสาวด้วย ซึ่งการแต่งงานในช่วงอายุ 18 นั้น ทำให้คุณสุเกชต้องหยุดความฝันที่อยากจะเป็นหมอไว้ก่อน โดยเธอเป็นนักศึกษาแพทย์ได้แค่ 2 ปี ก็ต้องลาออกมาแต่งงาน

“แบบที่เราแต่งมันไม่ใช่การคลุมถุงชน ไม่มีการบังคับ พ่อแม่เลือกคู่ให้เราจากวิถีชีวิตของสองบ้านที่มีความใกล้เคียงกัน ความเหมือนกันระหว่างสองครอบครัวจะทำให้เราไม่รู้สึกอึดอัดในการต้องปรับตัวอะไรมาก สำหรับคนอินเดียแล้ว เราเห็นวัฒนธรรมการที่พ่อแม่เป็นคนเลือกคู่ให้มาตั้งแต่เกิด เป็นวัฒนธรรมที่ถูกยอมรับโดยทั่วไป พวกเราเชื่อว่าพ่อแม่คือผู้ที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตเรา และเวลาที่เขาเจอคู่ที่เหมาะสมกับเราแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเขาจับเราแต่งงานเลยทันที แต่จะมีญาติพี่น้องเรามาช่วยกันดูให้อีกที จากนั้นพ่อแม่ก็จะอธิบายกับเราด้วยเหตุผลถึงความเหมาะสม ไม่ใช่เดินมาสั่งว่า เอาล่ะ เตรียมเก็บกระเป๋าเลยนะ พรุ่งนี้เธอต้องแต่งงานแล้ว
“วันที่เรากับสามีนัดเจอหน้ากัน เขาให้เวลาพวกเราเดตแค่ชั่วโมงเดียวเองนะ ไม่เหมือนยุคนี้ที่หลายคู่มีโอกาสเดตกันเป็นเดือนๆ ก่อนจะแต่งงาน”
คุณสุเกชแต่งงานกับสามีมา 40 ปีแล้ว ภายหลังจากแต่งงานในเดือนแรก เธอย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตามสามีชาวไทยเชื้อสายอินเดียก่อน 1 เดือน จากนั้นทั้งคู่เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่ย่านควีนส์ในนิวยอร์ก 2 ปี เพราะสามีของเธอต้องไปเรียนปริญญาโทด้านการเงินที่นั่น
2 ปีในนิวยอร์ก สามีของคุณสุเกชทั้งเรียนหนังสือและใช้เวลาไปกับการหาช่องทางธุรกิจ เพื่อส่งสินค้าเข้ามาขายยังประเทศไทย ส่วนคุณสุเกชทำหน้าที่เป็นศรีภรรยาเต็มตัวตามแบบฉบับของผู้หญิงอินเดีย เธอดูแลบ้าน เธอหุงหาอาหารให้สามี เธอสื่อสารภาษาอังกฤษได้น้อยมาก แต่ก็เสริมความรู้ด้วยการไปเข้าคอร์สตามโรงเรียนสอนภาษา
และที่นิวยอร์กนี่เอง เธอค้นพบเรื่องสำคัญบางเรื่องที่เธอไม่เคยรู้มาก่อนเลย
แม่บ้านผมสวยชาวอินเดียผู้เกิดและโตในเมืองที่แวดล้อมด้วยวิถีของผู้คนซึ่งกินมังสวิรัติ รวมทั้งครอบครัวของเธอเองก็กินมังสวิรัติมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ได้พบกับโลกของความจริงว่า ไม่ใช่ทุกคนในโลกนี้จะกินมังสวิรัติเหมือนกับเธอ แต่ยังมีคนอีกจำนวนมหาศาลเหลือเกินที่นิยมกินเนื้อสัตว์ (Non Vegetarian)


“ฉันช็อกมากเลยนะ เฮ้ย โลกนี้มีคนกิน Non Veg มากขนาดนี้เลยเหรอ มันเป็นไปได้ยังไง โลกใบที่ฉันเกิดมา คนรอบตัวฉันกินมังสวิรัติกันหมดเลย ครอบครัวฉัน พ่อแม่ฉัน ทุกคนกินมังสวิรัติหมด ฉันก็เลยเหมารวมว่าคนบนโลกนี้ทั้งหมดกินมังสวิรัติ บ้านเกิดในเมือง Mandi ของฉัน ก็มีคนที่กินกินเนื้อสัตว์อยู่บ้างล่ะ แต่น้อยมากๆ อย่างในมหาวิทยาลัย อาหารประจำวันก็เป็นมังสวิรัติหมด จะมีเนื้อให้บ้างก็แค่อาทิตย์ละหนึ่งมื้อเท่านั้น สำหรับนักศึกษาที่มาจากต่างถิ่น”
คุณสุเกชตกอยู่ในอาการ Culture Shock ถนนหนทางในนิวยอร์กเต็มไปด้วยร้านอาหารที่ขายอาหารซึ่งมีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ตั้งเรียงราย สลับกับร้านอาหาร Junk Food
ภาพเหล่านี้ จุดประกายให้แม่บ้าน Full Time ชาวอินเดีย อยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อกู้โลก
“ฉันสัญญากับตัวเองเลยว่า คอยดูนะ วันหนึ่งฉันจะสอนโลกใบนี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการกินอาหารมังสวิรัติ ถ้าคุณเข้าใจวิถีการกินอาหารมังสวิรัติอย่างถูกต้อง คุณจะเข้าใจเลยว่า แม้ไม่กินเนื้อสัตว์ คุณก็ได้รับโปรตีนจากพืชชนิดอื่นๆ ได้ คนอินเดียในประเทศเรากินแบบนี้กันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว”
ตลอดเวลา 25 ปีที่กลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทย คุณสุเกชยุ่งอยู่กับการทำหน้าที่แม่และภรรยา จนไม่มีเวลาที่จะต่อยอดความฝันในแผนกู้โลกของตัวเองสักเท่าไหร่ ซึ่งถ้าใครมีเพื่อนเป็นแม่บ้านชาวอินเดีย ก็คงเข้าใจดีว่า ลองผู้หญิงอินเดียแต่งงานแล้ว พวกเธอจะทุ่มสุดตัวกับการอุทิศเวลาให้กับสามีและลูก
สิ่งที่คุณสุเกชพอทำได้ คือการใช้เวลาส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ไปกับการศึกษาปรัชญาอายุรเวทและการฝึกโยคะ เธอใช้ความสามารถการทำอาหาร ฝึกทำอาหารมังสวิรัติด้วยภูมิความรู้ใหม่ๆ ตามหลักการของอายุรเวท
อายุรเวท คือศาสตร์การแพทย์ทางเลือกเก่าแก่ของการมีอายุยืนตามปรัชญาอินเดียโบราณ ที่มีมายาวนานกว่า 5,000 ปีแล้ว โดยมีความเชื่อว่า ถ้าเราควบคุมสมดุลของจิตใจ ร่างกาย และความคิดได้ ก็จะเกิดพลังงานไหลเวียนที่ดีในการดำเนินชีวิต ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบของความสมดุลที่ว่านี้ ก็คือเรื่องของการกิน


“ตอนนั้น ใจก็อยากไปเรียนโยคะ อยากไปเทกคอร์สเรียนอายุรเวทที่อินเดียนานเป็นปีๆ แต่มันทำไม่ได้ เพราะเราต้องดูแลลูกกับสามี หน้าที่ตรงนี้ต้องมาก่อน ช่วงนั้นฉันก็เลยใช้วิธีศึกษาเอาเอง ฉันอ่านหนังสือเยอะมาก และบางทีก็มีครูโยคะจากอินเดียมาสอนให้ที่บ้าน โยคะมันไม่ใช่เรื่องของอาสนะ แต่คือเรื่องของการใช้ชีวิตที่สัมพันธ์และเคารพในธรรมชาติ โยคะเป็นเรื่องของร่างกายและความคิด ส่วนอายุรเวทคือการเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับร่างกาย กินยังไง ดำรงชีวิตยังไงให้สมดุล ไม่ใช่ปวดหัวก็จะคว้าแต่พารา เราอยากมีโอกาสสอนคนให้รู้จักอาหารยาตามศาสตร์อินเดียโบราณ การทำโยคะและการกินอาหารในแนวทางของอายุรเวท จะทำให้เราห่างไกลจากโรคเครียดและโรคร้ายที่เกิดจากความป่วยของโลกในยุคนี้”
40 ปีผ่านไปนับจากวันแต่งงาน คุณสุเกชเริ่มมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น เพราะลูกๆ ของเธอโตหมดแล้ว เธอกลับมาดูแลความฝันที่ถูกทอดทิ้งมายาวนานเหลือเกิน กับความปรารถนาที่อยากจะสอนโลกใบนี้ให้ได้รู้จักกับเรื่องของอาหารมังสวิรัติและหลักปรัชญาของอายุรเวท โดยมีลูกทั้งสามและสามีคอยเป็นกำลังใจสำคัญ

ถึงเวลาแล้วสินะ ที่แม่บ้านสุเกชจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ในสิ่งที่เธอเชี่ยวชาญจริงๆ
มา ตามสุเกชมาค่ะ
“Let’s do something” แม่บ้านสุเกชพูดกับตัวเองด้วยแววตาเป็นประกาย
ในช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ คุณสุเกชใช้พื้นที่เล็กๆ ส่วนหนึ่งของอาคารห้องแถวให้เช่าบนถนนปั้น ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว เปิดคลินิกอายุรเวท มีบริการทรีตเมนต์นวดผ่อนคลาย และรักษาโรคด้วยศาสตร์ของอินเดียโบราณ แต่ทำไปได้ 2 ปี เธอพบว่ามันไม่เวิร์ก ก็เลยปรับปรุงพื้นที่สำหรับสอนโยคะแทน ขณะเดียวกัน เธอก็เปิดร้านอาหารมังสวิรัติ Suananda Vegetarian garden cafe ที่ตั้งใจให้ความรู้กับคนทั่วไปเพื่อการมีสุขภาพและชีวิตที่ดี
Suananda (สุอนันดา) แปลความหมายในภาษาสันสกฤตได้ว่า ความสุขโดยสมบูรณ์แบบ
“การรักษาโรคด้วยศาสตร์อายุรเวท จะเข้าไปฆ่าเชื้อร้ายที่รากที่ต้นเหตุ ทำให้สุขภาพเรากลับมาเป็นปกติตามที่ธรรมชาติเขาออกแบบมาให้เราอยู่แล้ว แต่การกินยาแผนปัจจุบัน มันแค่ทำให้อาการหายไปเฉยๆ เดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่ ฉะนั้น แนวทางในการให้ความรู้ของฉัน ฉันให้ความสำคัญที่เรื่องของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ”
Suananda ในช่วงเริ่มต้น มีโต๊ะบริการลูกค้าเพียงโต๊ะเดียว แต่ละวันที่ผ่านไปของแม่บ้านสุเกช คือการขลุกตัวอยู่ในครัว หรือไม่ก็นั่งอยู่ที่โต๊ะอาหารกลางร้านโต๊ะเดียวนั่น เพื่อคิดค้นสูตรอาหารมังสวิรัติใหม่ๆ ทั้งจากสูตรอาหารตามตำรับอินเดียโบราณที่เธอได้รับช่วงต่อมาจากครอบครัว และการผสมผสานพัฒนาสูตรให้เหมาะกับยุคสมัยของโลกที่ดำเนินไป

เมนูแรกและเมนูเดียวที่เสิร์ฟในยุคนั้น คือ Suananda Ayurvedic set ประกอบด้วยดาล แกงแห้งน้ำเต้า มะระผัดกับน้ำมันดอกทานตะวัน ยำถั่วงอก โยเกิร์ตสด แผ่นแป้งจาปาตีและปาปาดัม ข้าวหอมมะลิผสมข้าวมันปูและขิง ซึ่งปัจจุบันเมนูนี้ยังคงเป็นเมนูยอดนิยม รวมทั้งเธอยังใช้ภูมิความรู้ในศาสตร์ของอายุรเวทสร้างสรรค์อาหารจานใหม่ๆ ในรูปแบบของฟิวชันกับการผสมอาหารต่างสัญชาติเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะอาหารอินเดีย
วิธีการกินอาหารเซ็ตนี้ คุณสุเกชว่า ต้องเริ่มจากการกินขิงเข้าไปก่อน จึงค่อยตามด้วยอย่างอื่น เพราะความร้อนของขิงจะเป็นตัวกระตุ้นน้ำย่อยและระบบการย่อยอาหาร
การกินอาหารตามหลักอายุรเวทจะต้องมีครบ 6 รสในหนึ่งมื้อ คือ หวาน เผ็ด เค็ม เปรี้ยว ขม ฝาด โดยไม่มีการใช้สารปรุงแต่งรสชาติใดๆ


“อะไรก็ตามที่คุณกินเข้าไปมันจะต้องย่อย ถ้าไม่ย่อยแสดงว่าร่างกายผิดปกติ มีประโยคที่เขาพูดกันว่า You are what you eat. จริงๆ มันไม่ใช่หรอก มันต้อง You are what you digest. ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยแฟชั่น คนชอบทำอะไรตามๆ กัน ฉันยังนึกอยู่ว่า ถ้ามีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์หันมาสนใจเรื่องของสุขภาพได้มากพอที่จะทำให้อายุรเวทกลายเป็นเรื่องของแฟชั่นได้ เมื่อนั้นโลกและผู้คนจะได้รับการเยียวยา”
ปัจจุบัน นอกจาก Suananda Vegetarian garden cafe จะขายอาหารมังสวิรัติแล้ว คุณสุเกชยังเปิดคอร์สเพื่อการบำบัดที่จะทำให้คุณได้เข้าใจความหมายของการดำเนินชีวิตในแนวทางของศาสตร์อายุรเวท รวมไปถึงแม่บ้านผมสวยคนนี้ยังเปิดสอนทำอาหารมังสวิรัติสำหรับผู้ที่สนใจด้วย

Suananda Vegetarian garden cafe (แผนที่)