เจ้าของบ้านหลังที่เรายืนอยู่นี้มีสร้อยพระนามว่า ปิยมหาราชปดิวรัดา-ภรรยาผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อพระปิยมหาราช

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมเหสีหลายพระองค์ แต่พระองค์ที่เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยนั้นมีไม่มากนัก

หนึ่งพระองค์ในจำนวนนั้นคือ ‘เจ้าสาย’ หรือพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา (พระยศเดิมคือ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์)

วิมาดา แปลว่า แม่เลี้ยง พระนามนี้ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 เป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ได้รับพระเกียรติยศจากพระมหากษัตริย์เช่นนี้

‘เจ้าสาย’ หรือพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พ.ศ. 2562 เป็นปี ‘ครบรอบ 100 ปี เสด็จขึ้นตำหนักสวนสุนันทา’

พระวิมาดาเธอฯ เสด็จเข้ามาประทับที่สวนสุนันทาเมื่อ 18 พฤษภาคม 2462 และสิ้นพระชนม์ที่นี่ในอีก 10 ปีต่อมา (พ.ศ. 2472) เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เจ้านายในวังสวนสุนันทาทรงแยกย้ายกันหลบหนีภัยการเมือง สวนสุนันทาถูกทิ้งร้าง ก่อนถูกพัฒนาเป็นโรงเรียน เป็นวิทยาลัย และปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

The Cloud มีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดลในสวนสุนันทา อดีต ที่นี่คือตำหนักสำคัญที่สุด เพราะเป็นที่ประทับของพระวิมาดาเธอฯ และพระธิดาองค์เล็ก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี หรือที่ชาววังขานพระนามว่า สมเด็จหญิงพระองค์น้อย) บริเวณนี้เคยเป็นเขตหวงห้าม อนุญาตให้ขึ้นแต่เฉพาะพระญาติสนิทและคุณข้าหลวงรุ่นใหญ่เท่านั้น

ที่นี่คือ ศูนย์กลางของราชสำนักฝ่ายในแห่งสุดท้ายของสยาม

01

ก่อนจะเป็นสวนสุนันทา

สวนสุนันทา คืออาณาบริเวณ 122 ไร่ ด้านตะวันตกของพระราชวังดุสิต ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์สร้างสวนป่าสำหรับสำราญพระราชอิริยาบถ เพราะทรงเห็นสวนป่าที่กษัตริย์ยุโรปใช้เป็นที่พักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์

เมื่อสร้างแล้วพระราชทานนามไว้ว่า ‘สวนสุนันทา’ โดยเชื่อกันว่าเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระมเหสีผู้เป็นที่รัก คือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือพระนางเรือล่ม

รัชกาลที่ 5 ทรงห่วงใยพระมเหสี พระราชธิดา เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ว่าถ้าเปลี่ยนรัชกาลแล้วจะไม่มีที่อยู่ (เพราะต้องออกจากพระบรมมหาราชวัง) จึงโปรดให้สร้างตำหนักและเรือนในสวนสุนันทา รวมแล้ว 32 หลัง เป็นเรือนไม้ที่สวยงามกลมกลืนกับสวนป่า มีคลอง สระน้ำ และพรรณไม้นานาชนิด แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จก็สวรรคตเสียก่อน

สวนสุนันทาสร้างเสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 6 พระวิมาดาเธอฯ ทูลขอพระบรมราชานุญาตมาประทับในสวนสุนันทาเป็นการถาวร เป็นจุดเริ่มต้นของวังสวนสุนันทาที่จะกลายเป็นชุมชนลักษณะพิเศษ คือมีแต่ผู้หญิง และเป็นสถานที่อบรมสั่งสอนวิชาต่างๆ ให้สาวๆ เหล่านี้

ช่วง 10 ปี ที่พระวิมาดาเธอฯ ประทับที่นี่ทำให้สวนสุนันทามีชีวิต เพราะพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5 ตามเสด็จเข้ามาพักอาศัย มีเรือนแยกเป็นสัดส่วน และมีข้าหลวงที่เป็นสตรีคอยถวายงาน รวมแล้วอีกหลายร้อยคน

กล่าวกันว่า ข้าหลวงวังสวนสุนันทานั้น ‘มีงานทำตลอดไม่ได้หยุด’ เพราะเมื่อเจ้านายทำ ข้าหลวงจะนั่งว่างๆ ได้อย่างไร

‘เจ้าสาย’ หรือพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
‘เจ้าสาย’ หรือพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

การมีงานทำอยู่ตลอดนี้เองทำให้สวนสุนันทากลายเป็นสถานที่ชุบตัวของลูกผู้ดีมีตระกูล ใครๆ ก็อยากส่งลูกสาวมาถวายตัวที่นี่ สาวๆ ข้าหลวงวัยรุ่นของสวนสุนันทา เป็นที่หมายปองของชายหนุ่มจากตระกูลสูง เพราะถือว่าได้รับการอบรมทั้งกิริยามารยาทและมีวิชาแม่บ้านแม่เรือนติดตัวมาครบ ทั้งงานครัว งานดอกไม้ งานเย็บปักถักร้อย

‘เจ้าสาย’ หรือพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

ส่วนข้าหลวงวัยผู้ใหญ่ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและต้องออกไปอยู่วังอื่น ไม่ต้องยื่นเรซูเม่ แค่บอกว่า “เคยอยู่ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ” ก็ทำให้เจ้านายพระองค์ใหม่ทราบทันทีว่ามีความสามารถระดับไหน

ในสมัยนั้นมีเจ้านายสตรีพระองค์อื่นๆ ที่มีวังแยกออกไป เช่น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ข้าหลวงแต่ละตำหนักก็จะมีความเชี่ยวชาญพิเศษตามอย่างเจ้านายของตน มีกิริยาอาการที่เห็นแล้วรู้ว่าเป็นข้าหลวงตำหนักใด

หนังสือ หอมติดกระดาน โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย กล่าวว่า “ข้าหลวงตำหนักพระวิมาดาเธอที่วังสวนสุนันทามีเอกลักษณ์คือ มักเป็นสตรีที่ว่องไวกระฉับกระเฉง ไม่ใคร่อ่อนช้อยนุ่มนวล เก่งทางบริการ มีฝีมือการทำอาหารเป็นเลิศ จัดครอบครัวดี เลี้ยงลูกดี มีความรู้พื้นๆ ไม่เปรื่องปราด แต่งตัวเรียบๆ เสงี่ยมเจียมตัว และมักชำนาญทางขับร้องดนตรีด้วย”

02

ชีวิตในวัง

คุณชนะภพ วัณณโอฬาร ภัณฑารักษ์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พา The Cloud เดินชมชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล คือบริเวณห้องบรรทม ห้องทรงพระสำราญ และห้องทรงงาน ในพระวิมาดาเธอฯ และสมเด็จหญิงพระองค์น้อย

หากเคยอ่านหนังสือ ชีวิตในวัง ของ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ แล้วมาเดินชมวังสวนสุนันทาจะสนุกมาก

ม.ล.เนื่อง ใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยสาวที่นี่ ท่านเล่าเรื่องราวชีวิตในวังไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่พระจริยวัตรของเจ้านายและการกินอยู่หลับนอนของคุณๆ ข้าหลวง การเรียนหนังสือ (ในวังมีโรงเรียนชื่อ ‘โรงเรียนนิภาคาร’ สำหรับให้ข้าหลวงเรียนจนจบชั้น ม.6) งานการต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของวังสวนสุนันทา ทั้งงานอาหาร งานดอกไม้ และงานฝีมือสารพัดอย่าง ไปจนถึงสาวชาววังหนีเที่ยว แอบขโมยดอกไม้ ผลไม้ของตำหนักอื่นๆ ลอบมีความรัก และมีเรื่องทะเลาะตบตีกัน ซึ่งเป็นธรรมดาเมื่อผู้หญิงอยู่รวมกันมากๆ

เมื่อมาที่นี่ก็ราวกับว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่ ม.ล.เนื่อง เล่าไว้ในหนังสือกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ในตำหนักที่ประทับของพระวิมาดาเธอฯ เครื่องเรือนหน้าตาเรียบง่ายจัดวางอยู่เหมือนบ้านคนธรรมดาที่มีฐานะ

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต
อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

“เวลาท่านประทับที่นี่ลักษณะก็เรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองอะไร เราจำลองสภาพที่ประทับจากคำบอกเล่าของคุณข้าหลวง เพราะมีการย้ายสิ่งของออกไปตอนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ชนะภพอธิบาย

เขาเดินนำไปยังบริเวณห้องนั่งเล่น “สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับพระวิมาดาเธอฯ ก็คือ พระสุธารสชา ที่ท่านเสวยตลอดพระชนม์ชีพ และพานพระศรี หรือพานหมาก เวลาท่านเสด็จไปที่แห่งไหน จะต้องมี 2 อย่างนี้ตามไปด้วยเสมอ”

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต
อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

มีพัดรองเก่าแก่วางตั้งอยู่ ชนะภพกล่าวว่า เป็นฝีพระหัตถ์การออกแบบของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในงานฉลองพระชันษาครบ 60 ปี ของพระวิมาดาเธอฯ ปักเป็นตราประจำพระองค์ ส.ส. ย่อมาจากพระนาม สายสวลีภิรมย์ ผู้ปักก็คือคุณๆ ข้าหลวงในพระวิมาดาเธอฯ นั่นเอง

พัดรองนี้ ม.ล.เนื่องเล่าไว้ในหนังสือเช่นกันว่า คุณข้าหลวงช่วยกันปักล่วงหน้าอยู่เป็นปี เพราะปักยาก ต้องปักดิ้นเงินทำหนุนให้เม็ดนูนออกมาเหมือนฝังเพชรจริงๆ พัดรอง 1 ชิ้นต้องช่วยกันปัก 2 คน

บริเวณใกล้กันมีพระแท่น (เตียง) องค์ใหญ่ของพระวิมาดาเธอฯ ตั้งอยู่ “ลักษณะห้องบรรทมตามคำบอกเล่าของคุณข้าหลวงก็คือมีพระแท่นบรรทมตั้งอยู่ตรงกลาง เหนือขึ้นไปมีพระวิสูตรหรือผ้าม่านกั้น 1 ชั้น เหนือพระวิสูตรก็มีพัดชัก แต่ละคืนจะมีคุณข้าหลวงที่ถวายอยู่งานอ่านหนังสือ ถวายอยู่งานพัดชัก สับเปลี่ยนกันไปในแต่ละคืน

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

“ท่านจะบรรทมหลังเที่ยงคืนไปแล้ว และตื่นบรรทมประมาณ 7 โมงเช้า ถ้าวันไหนอากาศเย็นมากๆ ก็ไม่ต้องพัด แต่ถ้าคืนไหนลมแรงมาก คุณข้าหลวงก็ต้องไปนั่งบังลม สมัยก่อนอากาศดี ส่วนพัดชักเนี่ยถ้าท่านบรรทมหลับแล้วคุณข้าหลวงก็หยุด ถ้าท่านตื่นขึ้นก็ต้องพัดต่อ”

นอกจากมีพนักงานพัดชักแล้ว ยังมีคุณข้าหลวงที่อ่านหนังสือถวายจนกว่าจะบรรทมหลับ จึงเลิกอ่าน บางครั้งคุณข้าหลวงเผลอหลับ เมื่อได้ยินเสียงพลิกพระองค์หรือทรงไอจาม ก็ตกใจรีบคว้าหนังสือมาอ่านถวายต่อ

พิพิธภัณฑ์นี้ยังจัดแสดงทุกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของวังสวนสุนันทา อย่างภาพเขียนสีน้ำที่ประดับอยู่ในตำหนัก ทั้งหมดเป็นภาพดอกไม้ เมื่อทอดพระเนตรเห็นดอกไม้งามๆ ก็รับสั่งให้คุณข้าหลวงวาดภาพเก็บไว้ ทุกภาพมีการระบุชื่อผู้วาด ชื่อพรรณไม้ และวันเดือนปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีค่ามากสำหรับศึกษาประวัติศาสตร์พรรณไม้ในวังสวนสุนันทา แต่ภาพของจริงอยู่ในระหว่างการอนุรักษ์

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

พระวิมาดาเธอฯ โปรดการปลูกต้นไม้ดอกไม้ ในสวนสุนันทาจึงเต็มไปด้วยพรรณไม้ต่างๆ และจะเสด็จลงชมสวนทุกวัน โปรดดอกกุหลาบและดอกกล้วยไม้เป็นพิเศษ ยามที่ราชสำนักมีงานเลี้ยงรับรอง หรือจัดถวายพระเจ้าอยู่หัว พระวิมาดาเธอฯ ทรงมีพระปรีชาในการจัดดอกไม้ได้งดงามเป็นที่ชื่นชมของอาคันตุกะต่างชาติ

ม.ล.เนื่องเล่าไว้ว่า เมื่อดอกไม้บานสวยงาม พระวิมาดาเธอฯ เสด็จลงมาทอดพระเนตร เป็นโอกาสให้เหล่าข้าหลวงเรือนอื่นได้หมอบกราบเป็นสิริมงคล แต่ข้าหลวงหลายคนจะพากันหลบทั้งๆ ที่ท่านมีพระทัยดี ด้วยเพราะข้าหลวงต่างกลัวเกรงพระบารมี รักเคารพเทิดทูนมากจนไม่อยากทำสิ่งใดให้ขัดพระทัย

ครั้งหนึ่งดอกลั่นทมที่กำลังบานสวยงามหายไป 2 ช่อใหญ่ พระวิมาดาเธอฯ เสียพระทัยมาก แต่จับตัวคนขโมยไม่ได้ เพราะดอกไม้ถูกสับละเอียดลอยตามน้ำไปเสียแล้ว

อีกมุขหนึ่งของตำหนักเดียวกัน เป็นที่ประทับของสมเด็จหญิงพระองค์น้อย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระธิดาองค์เล็กในพระวิมาดาเธอฯ)

นอกจากพระราชมารดา (พระวิมาดาเธอฯ) จะเป็นพระมเหสีที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระเมตตามาก สมเด็จหญิงพระองค์น้อยก็ทรงเป็นหนึ่งใน ‘ลูกสาวคนโปรด’ ของรัชกาลที่ 5 เช่นกัน และทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นราชเลขานุการิณีในพระองค์ ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ม.ล.เนื่อง เล่าไว้ว่า เครื่องเสวยมื้อเช้าที่เป็นอาหารฝรั่งนั้น สมเด็จหญิงพระองค์น้อยทรงแปลสูตรจากตำรากับข้าวฝรั่งมาให้ข้าหลวงหัดทำ

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

กิจวัตรประจำวันของสมเด็จหญิงพระองค์น้อยเมื่อเสด็จประทับในวังสวนสุนันทาก็คือ เวลาเช้าจะเสด็จเสวยอาหาร แล้วเสด็จออกมาที่ห้องรับแขก บางครั้งก็ทรงขิม ยามว่างจากการทรงงาน ตอนบ่ายเสด็จไปเรียนภาษาอังกฤษกับครูแหม่มที่ตำหนักเล็กริมน้ำ (ปัจจุบันถูกรื้อแล้ว) บางครั้งในเวลาเย็นก็ทรงจักรยานกับเจ้านายพระองค์อื่นๆ วัยเดียวกัน บางวันทรงเทนนิส ในช่วงหลังเสด็จไปทรงกอล์ฟที่สวนจิตรลดา ตอนกลางคืนบางวันก็เชิญเสด็จเจ้านายพระองค์ต่างๆ มาทรงบิลเลียด หรือชมภาพยนตร์ที่โปรดให้เข้ามาฉายในตำหนักที่ประทับ

ในห้องยังมีของโบราณอยู่ชิ้นหนึ่งคือ ตู้ไม้ยาวสำหรับเก็บฉลองพระองค์ เป็นของจริงตั้งแต่สมัยก่อน

“การแต่งกายของผู้คนในสวนสุนันทา ถ้าเป็นเจ้านายหรือคุณข้าหลวงรุ่นใหญ่ก็ยังแต่งกายเหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่ ยังคงสวมเสื้อแขนกระบอก ไว้ผมสั้นหวีเสยขึ้นไป และนุ่งโจง สไบ แพรแถบ แต่ถ้าเป็นเจ้านายรุ่นสาวๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล ท่านก็เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม เปลี่ยนจากนุ่งโจงเป็นนุ่งซิ่น ผมก็เริ่มไว้ยาวและดัดผม” ชนะภพอธิบาย

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

ม.ล.เนื่อง เล่าไว้ว่า เมื่อครั้งสมเด็จหญิงพระองค์น้อยจะเสด็จไปร่วมโต๊ะเสวยกับรัชกาลที่ 6 เพื่อทรงเลี้ยงต้อนรับเจ้านายฝรั่ง เหล่าข้าหลวงต่างหาเรื่องอยู่โยงบนตำหนักจนถึงหัวค่ำเพื่อรอชมพระสิริโฉม 

ในครั้งนั้นสมเด็จหญิงพระองค์น้อยทรงซิ่นไหมยกทอง (ผ้าเช่นนี้พับไม่ได้เพราะเส้นทองคำในผ้าจะหัก ต้องใช้วิธีม้วนแนบแกนกระดาษกลมโตแล้วเก็บในตู้) ประดับด้วยดวงดาวทำจากทองคำ และเครื่องประดับมรกตและเพชร อีกทั้งไม่ทรงเครื่องสำอาง ไม่เขียนคิ้วทาปาก แต่พระพักตร์งามมาก พระเนตรเหมือนสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือรัชกาลที่ 5

ชาววังดูแลรักษาฉลองพระองค์เจ้านายและเสื้อผ้ากันอย่างไร หลักฐานที่ยังหลงเหลือและจัดแสดงอยู่ที่นี่คือ ‘เครื่องอัดผ้า’

“คุณข้าหลวงจะมีหน้าที่แยกกันชัดเจน ใครทำอะไรก็ทำสิ่งนั้นไปโดยเฉพาะ อย่างคนทำความสะอาดดูแลเสื้อผ้า สมัยก่อน เตารีดเขาไม่มี แต่เขาใช้เครื่องอัดผ้า เป็นการบ่งบอกสถานะของผู้สวมใส่ ถ้าเห็นสตรีคนไหนผ้าขึ้นเป็นริ้วๆ แสดงว่ามีคนดูแลเครื่องแต่งกายให้ ถือเป็นสตรีชั้นสูง มีคนคอยอบร่ำผ้าให้หอม อย่างที่เรียกว่า หอมติดกระดาน” ชนะภพกล่าว

คำว่าหอมติดกระดานไม่มีใช้แล้วในปัจจุบัน เพราะกลิ่นหอมสมัยใหม่ส่วนมากได้จากสารเคมี หอมแล้วก็กระจายหายไปช้าบ้างเร็วบ้าง พื้นกระดานที่จะให้กลิ่นหอมติดก็ไม่มี กลายเป็นพื้นกระเบื้อง พื้นหินอ่อน

แต่สมัยก่อน ความหอมได้จากธรรมชาติ เช่น ชะลูด ลูกซัด ควันเทียน กระแจะ ดอกไม้สดสารพัดชนิดที่ใช้อบร่ำผ้าจนหอมซึมลึกอยู่ในเครื่องแต่งกายสาวชาววัง เมื่อนั่งอยู่ที่พื้นกระดานกลิ่นหอมจึงรวยรินติดอยู่ เป็นข้อแตกต่างชัดเจนประการหนึ่งระหว่างสาวชาววัง กับสาวชาวบ้านที่ไม่มีเวลา ทรัพย์สิน และปัจจัยแวดล้อมบริบูรณ์เท่าสาวชาววัง

ถัดจากตู้เสื้อผ้า มีโต๊ะทรงงานของสมเด็จหญิงพระองค์น้อย ชนะภพอธิบายให้ฟังว่า

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

“ด้านนี้เป็นโต๊ะทรงพระอักษร เป็นของที่ทำจำลองขึ้นจากคำบอกเล่าของคุณข้าหลวง แล้วก็มีจดหมายลายพระหัตถ์ท่านด้วย ท่านเขียนถึงกรมดำรงฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ลายพระหัตถ์ของจริง เป็นจดหมายที่เขียนที่นี่ เพราะหัวจดหมายเขียนว่า สวนสุนันทา

“สมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จหญิงพระองค์น้อยท่านเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ มีหน้าที่จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ท่านตรัสภาษาอังกฤษได้ ท่านให้ครูแหม่มเข้ามาสอนภาษาในนี้”

สมเด็จหญิงพระองค์น้อยโปรดการศึกษา เมื่อประทับในสวนสุนันทา โปรดให้จัดตั้งโรงเรียนนิภาคารขึ้น มีระบบการเรียนการสอนแบบโรงเรียนสามัญทั่วไปเพื่อให้คุณข้าหลวงได้เล่าเรียนกัน และรับสั่งถามถึงการเรียนของทุกคนเสมอ เมื่อเรียนจบ ม.6 แล้วก็ไปสอบไล่ที่โรงเรียนสายปัญญา โรงเรียนดำเนินกิจการมาจนถึงปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้เลิกไป

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

“ถัดมาเป็นห้องบรรทม เราจำลองขึ้นมาใหม่ มีห้องสรงในตัว ตอนนั้นมีน้ำประปาใช้แล้ว ด้านหลังห้องเป็นตู้เซฟเก็บทรัพย์สินมีค่า จะอยู่ในห้องนี้ทั้งหมดเลย เก็บในหีบสีดำ วางเรียงตั้งแต่พื้นถึงเพดาน แล้วก็มีคุณข้าหลวงถือกุญแจคอยนั่งเฝ้าไว้” ชนะภพกล่าว

อาคารสายสุทธานภดล พิพิธภัณฑ์ในเขตหวงห้ามที่จัดแสดงเอกลักษณ์วังสวนสุนันทาแต่อดีต

กลางห้องทรงพระสำราญมีโต๊ะบิลเลียดตัวใหญ่ตั้งอยู่

“กิจกรรมอย่างหนึ่งของเจ้านายฝ่ายในก็คือ ท่านทรงกีฬาด้วย ตรงบริเวณที่เป็นสนามฟุตบอลปัจจุบัน สมัยก่อนเป็นสนามเทนนิส ท่านทรงกอล์ฟที่จิตรลดา ที่นี่มีโต๊ะบิลเลียด แต่เดิมตั้งอยู่ชั้นล่างของตำหนัก พอตกเย็น เจ้านายตำหนักต่างๆ ก็จะมาเล่นบิลเลียดกัน กิจกรรมอื่นๆ ก็มี เช่น เล่นดนตรี ฉายภาพยนตร์” ชนะภพกล่าว

พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล

การฉายภาพยนตร์นั้น ม.ล.เนื่อง เล่าไว้ว่า ครั้งแรกที่ได้ดูหนังก็คือเมื่อมีหนังฝรั่งเรื่อง Ben-Hur มาฉายในวังสวนสุนันทานี่เอง แต่ไม่ทราบว่าใครจัดมาถวาย มีจอหนังขึงกลางสนามหน้าตำหนักใหญ่เบ้อเริ่ม ทั้งเจ้านายจากตำหนักต่างๆ ในสวนสุนันทา คุณข้าหลวง บ่าวของข้าหลวง พนักงานห้องเครื่องคาวหวาน คนขับรถ คนงานที่อยู่กำแพงวังชั้นนอก ต่างได้เข้ามาร่วมดูหนังทั้งหมด เป็นที่ครึกครื้นมาก

เครื่องว่างมื้อดึกวันนั้นเป็นอาหารใหม่ของสังคมไทย คือสุกี้ยากี้แบบญี่ปุ่น ที่ข้าหลวงท่านหนึ่งไปเรียนมา และพระวิมาดาเธอฯ โปรดให้มาสอนพนักงานห้องเครื่องให้ทำจนเป็น ปรุงรสด้วยน้ำปลาญี่ปุ่นกับเหล้าสาเก ตักใส่ชามมากินร้อนๆ กันหน้าจอเลยทีเดียว

บางครั้งสมเด็จหญิงพระองค์น้อยเสด็จทอดพระเนตรหนังที่โรงหนังพัฒนากร ซึ่งเป็นโรงหนังชั้นเยี่ยมของสมัยโน้นสำหรับเจ้านายและผู้ดี โดยทรงไปกับพระราชธิดาของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ

03

อาหารวังสวนสุนันทา

สวนสุนันทาขึ้นชื่อเรื่องรสมือ เพราะพระวิมาดาเธอฯ ทรงกำกับดูแลห้องเครื่องของรัชกาลที่ 5 แม้แต่ที่สวนสุนันทาก็มีคนมาขอประทานอาหารออกไปจัดเลี้ยงอยู่เสมอ ฝีพระหัตถ์ด้านการปรุงอาหารเป็นที่เลื่องลือทั้งคาวและหวาน

มุมหนึ่งของห้องทรงพระสำราญบนตำหนักในสวนสุนันทามีโต๊ะเสวยแบบตะวันตกตั้งอยู่ด้วย

ชนะภพอธิบายว่า “เจ้านายฝ่ายในถือเป็นสตรีกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มหัดใช้ช้อนส้อมแบบตะวันตกได้ และมีโอกาสสัมผัสความสมัยใหม่ แต่ก่อนเราเปิบข้าวด้วยมือ เจ้านายก็ต้องมีการฝึกฝน เวลามีพระราชพิธีสำคัญๆ เช่นเลี้ยงพระราชอาคันตุกะต่างๆ ก็จะมีหมายจากพระราชวังมาตามตำหนักต่างๆ หน้าที่ของเจ้านายฝ่ายในอย่างหนึ่งก็คือการไปนั่งงานรับรองต่างๆ จึงต้องมีการฝึกฝนเพื่อให้รับประทานอาหารแบบยุโรปได้”

ห้องหนึ่งบนตำหนักจัดแสดงเป็นห้องเครื่อง หรือห้องครัว

“จริงๆ แล้วห้องเครื่องไม่ได้อยู่บนตำหนัก อยู่แยกออกไป เป็นครัวคาว ครัวหวาน แต่ละห้องเครื่องมีนายห้องเครื่องคุม และมีนายห้องเครื่องใหญ่คุมอีกชั้นหนึ่ง และสูงที่สุดก็คือพระวิมาดาเธอฯ แต่ละวันต้องมีการจดรายการอาหารให้ทอดพระเนตร” ชนะภพอธิบาย

ม.ล.เนื่อง เล่าถึงอาหารและขนมในวังหลายอย่างที่ล้วนต้องใช้เวลาและความอุตสาหะในการทำ เช่น ดอกกุหลาบแก้ว ที่ต้องเอากลีบกุหลาบมอญชุบน้ำตาลเคี่ยวให้เคลือบเป็นเงาทีละกลีบ เอามาติดเป็นชั้นๆ ให้เป็นดอกกุหลาบ ปั้นขนมจีบ ปอกมะปรางริ้ว ผลไม้ที่จะตั้งถวายเจ้านายก็ต้องตระเตรียม ส้มต้องลอกเยื่อออกให้หมด อะไรมีเม็ดต้องคว้านเอาเม็ดออก

บางครั้งพระวิมาดาเธอฯ จะทรงจัดอาหารไปถวายเจ้านายพระองค์อื่นๆ ด้วยมีพระทัยกว้างขวาง โดยมากเป็นอาหารที่ทำยาก หากินยาก อย่างปลาตะเพียนทอด ที่ต้องเกณฑ์ข้าหลวงมานั่งแกะก้างออกให้หมดทั้งตัว (ปลาตะเพียนมีก้างเล็กๆ เยอะไปหมด) ใช้ทั้งเวลาและฝีมือ ทอดปลาแล้วห่อกระดาษมัดเชือกสวยงาม ประทับครั่งตีตรา ส.ส. (สายสวลีภิรมย์) ก่อนนำไปถวายเจ้านายตามวังต่างๆ และเจ้านายผู้หญิงฝ่ายในของวังสวนสุนันทา

ม.ล.เนื่อง เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งทรงจัดปลาทูทอดส่งไปถวายพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่เมืองเชียงใหม่ วิธีก็คือเอาปลาทูทอดอัดใส่ไห เทน้ำมันหมูลงไปให้ท่วม ปิดปากไห ยาด้วยซีเมนต์ ส่งไปถึงเชียงใหม่ให้มีเสวยตลอดปี โดยเอามาทอดใหม่ก่อน

สมัยนั้นปลาทูไม่ได้มีกินตลอดปีเหมือนเดี๋ยวนี้ ยิ่งเชียงใหม่อยู่ทางเหนือ ยิ่งยากมากที่จะมีปลาทะเลกิน

อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เล่าไว้ในหนังสือ ในกำแพงแก้ว ว่า คราวหนึ่งพระวิมาดาเธอฯ ทรงซื้อลูกเงาะร้อยผลราคาร้อยบาท เพื่อคว้านตั้งเครื่องต้นกับตั้งเครื่องสมเด็จหญิงผู้เป็นพระธิดาทุกพระองค์ ส่วนเครื่องของพระองค์เองไม่โปรดให้มีเงาะ เพราะแพงเกินไป

มีรับสั่งว่า “ขอให้ลูกให้ผัวสุขสบายก็เป็นที่พอใจแล้ว”

อาหารที่พระวิมาดาเธอฯ เสวยทุกวันคือซุปไก่ ใช้ไก่ทั้งตัวสับเป็นชิ้นใหญ่ใส่หม้อตุ๋น ไม่ต้องใส่น้ำ ตุ๋นให้น้ำในไก่ออกมาเอง รินเอาแต่น้ำใส่ถ้วย ปิดฝาเข้าตู้น้ำแข็ง เวลาเสวยจะโขกออกมาจากถ้วยใส่จานเป็นก้อนแข็งเหมือนวุ้น

เครื่องเสวยของพระวิมาดาเธอฯ และสมเด็จหญิงพระองค์น้อยที่ต้องทำจากห้องเครื่องคือ มื้อเที่ยง มื้อค่ำ และเครื่องว่าง เมื่อทำเสร็จต้องเชิญเข้าไปไว้ในกรงลวดใหญ่เพื่อกันแมลงวัน มีพนักงานนั่งอยู่ในกรงลวดคอยจัดเครื่อง และมีผู้เชิญขึ้นไปบนตำหนัก

ส่วนเครื่องเสวยตอนเช้าเป็นอาหารฝรั่งที่ทำบนตำหนัก มีซุป ไข่ไก่ลวก ขนมปังปิ้ง นมวัวอุ่น เนยสดที่ทำเอง และอื่นๆ

อาหารการกินของชาววังมีเอกลักษณ์คือละเมียดละไมใส่ใจรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่การเตรียม การปรุง และจัดเสิร์ฟ ม.ล.เนื่อง เล่าไว้ว่า 

“เจ้านายแต่ละพระองค์มิได้เสวยร่วมกันหมด จะต้องจัดเครื่องแยกกัน เฉพาะเครื่องพระวิมาดาเธอกับเครื่องสมเด็จหญิงพระองค์น้อยจัดใส่ถาดเงิน เครื่องก็เป็นอาหารไทยธรรมดา แต่ทำเป็นพิเศษหรูหราสักหน่อย มีอาหารจีน ฝรั่ง แทรกไปมื้อละอย่าง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือน้ำพริกปลาทู หมูหวาน ไข่เค็ม ผักสด จะเสวยหรือไม่ก็ต้องใส่ทุกมื้อประจำ”

04

งานฝีมือวังสวนสุนันทา

“ในวังนี้ ทุกคนต้องเป็นคนขยัน เพราะเจ้านายทรงขยัน มีงานให้ทำอยู่ตลอดเวลา เช่น ดอกไม้ หรืองานช่างต่างๆ ถ้าไม่มีการทำงานที่รวมกันเป็นหมู่ พวกข้าหลวงผู้ใหญ่ก็จะนั่งเย็บปักถักร้อยของตนไป ส่วนเด็กๆ ก็จะได้รับการสั่งสอนให้ทำการฝีมือ เช่นถักลูกไม้เพื่อติดคอเสื้อหรือปลอกหมอน และอื่นๆ” คุณแต้ว กุญชร ณ อยุธยา เจ้านายรุ่นเล็กที่เคยพำนักในวังสวนสุนันทากล่าวไว้

ม.ล.เนื่อง ก็เขียนเล่าไว้ว่า “ขึ้นชื่อว่าข้าหลวง ไม่เคยอยู่ว่าง คนในวังไม่รู้จักกับการนอนกลางวัน แต่การกินอิ่มหนำได้กิน 4 เวลาเต็ม”

‘เจ้าสาย’ หรือพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

ด้วยความที่วังสวนสุนันทาเก่งการฝีมือ วังอื่นๆ จึงมาขอประทานงานดอกไม้และงานเย็บปักถักร้อยไปใช้ประดับในงานต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้ข้าหลวงมีงานทำไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งงานของหลวง หรือทำให้ผู้มีเกียรติที่มาขอประทานจากพระวิมาดาเธอฯ

งานบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระศพสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ หรือสมเด็จวังบูรพา สมเด็จหญิงพระองค์น้อยทรงออกแบบม่านดอกไม้เป็นตาข่าย เป็นรูปพระอาทิตย์สีแดงโผล่ขึ้นจากน้ำทะเล เห็นระลอกคลื่น ใช้ดอกไม้สดทั้งผืน

เมื่อนำไปตกแต่งที่วังบูรพา พระเจ้าอยู่หัว (ขณะนั้นคือรัชกาลที่ 7) ทรงชมว่างามมาก และเหมาะสมกับพระนามสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ที่มีความหมายว่าดวงอาทิตย์ และตรัสถามว่าใครเป็นคนทำ จนทรงทราบว่าทำมาจากตำหนักพระวิมาดาเธอฯ

นอกจากนี้ ยังมีเจ้านายพระองค์อื่นๆ มาทูลขอประทานบุหงาสำหรับแจกงานทำบุญพระชันษาอยู่เสมอ พระวิมาดาเธอฯ ทรงเอาพระทัยใส่อย่างยิ่ง โดยทำบุหงาเป็นรูปสัตว์ตามปีนักษัตรที่เจ้านายพระองค์นั้นประสูติ

ที่ ม.ล.เนื่อง เคยเล่าไว้ก็มีรูปม้า รูปไก่ ซึ่งเย็บยากมากและมีหลายขั้นตอน ทั้งเย็บ เขียนหน้าตา แต่งเครื่องทอง แต่เมื่อเย็บและประกอบตัวเสร็จแล้ว งามมากชนิดไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

ม.ล.เนื่อง เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อถูกสั่งให้ร้อยมาลัยดอกพุทธชาด ซึ่งร้อยยากกว่าร้อยดอกมะลิ ท่านตกใจ เรียนไปว่าทำไม่เป็น จึงโดนผู้ใหญ่ดุว่า “คำว่าทำไม่เป็น ที่ตำหนักนี้พูดไม่ได้” ท่านต้องรีบไปหัดทำโดยด่วน

พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล

วังสวนสุนันทาในยุคที่พระวิมาดาเธอฯ ประทับอยู่จึงเป็นศูนย์รวมของสวยๆ งามๆ และอาหารอร่อย เป็นสถานที่ฝึกศิลปะชั้นสูงและกิริยามารยาทแก่สาวชาววัง เป็นชุมชนที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว

ศูนย์รวมจิตใจของบรรดาเจ้านายและข้าหลวงที่พำนักในชุมชนดังกล่าว ก็คือพระวิมาดาเธอฯ ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเรียกอย่างยกย่องว่า ‘เจ้าสาย’ เป็นสตรีที่มีคุณสมบัติงามเพียบพร้อมทั้งการบ้านการเรือน และพระหทัยที่เมตตาข้าหลวงที่อยู่ใต้ปกครอง

ม.ล.เนื่อง เล่าไว้ว่า เมื่อท่านป่วยหนัก ท่านย่าเฝ้าดูแลไม่ห่างจนไม่ได้ขึ้นไปรับเงินเดือนให้พนักงานห้องเครื่องตามหน้าที่ที่ต้องทำทุกเดือน ทำให้พระวิมาดาเธอฯ และสมเด็จหญิงพระองค์น้อยทรงทราบเรื่อง และส่งหมอฝรั่งชาวเยอรมันมาตรวจรักษาจนท่านรอดชีวิต

อีกทั้งเมื่อแรกเข้าวัง ข้าหลวงทุกคนจะได้ประทานเครื่องประดับ เช่น เหรียญทองสลักอักษรย่อพระนาม สร้อยคอทองคำ เข็มขัดนาก เมื่อใช้ชีวิตอยู่ในวัง หากทำคุณงามความดี ก็จะประทานเครื่องประดับให้เช่นกัน

ม.ล.เนื่อง ผู้ใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยสาวในวังสวนสุนันทานานถึง 20 ปี บรรยายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“พระวิมาดาเธอท่านพระทัยประเสริฐจริงๆ ข้าหลวงทุกคนใส่เพชรใส่ทองกันให้เต็มตัวด้วยของประทานให้ สมแล้วที่ท่านทรงมีทั้งอำนาจ วาสนา ทรัพย์สินเงินตรา ข้าทาสหญิงชาย ที่เต็มไปด้วยความจงรักภักดี กลัวเกรง ซื่อสัตย์ แทบจะถวายชีวิตได้

“ข้าพเจ้าก็ถ่ายทอดเลือดรักเจ้ามาไว้เต็มประตู ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้านาย จะรู้จักหรือไม่รู้จัก ก็เคารพเทิดทูนไว้ทุกพระองค์ พวกอยู่ในวังมีความรู้สึกอย่างนี้ทุกคน ทั้งอบรมลูกหลานให้รักเจ้าต่อๆ ไปด้วย…”

‘เจ้าสาย’ หรือพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

ขอขอบคุณ

คุณชนะภพ วัณณโอฬาร ภัณฑารักษ์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

หนังสืออ้างอิง

เนื่อง นิลรัตน์,. ชีวิตในวัง. ศรีสารา : กรุงเทพฯ, 2558

ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. เอส ซี พริ้นแอนด์แพค : กรุงเทพฯ, 2550

ลดา รุธิรกนก. ชีวิตรักเจ้าฟ้า 2. ดีเอ็มจี : กรุงเทพฯ, 2553ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. มติชน : กรุงเทพฯ, 2559

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan