คนกรุงรู้ไหม ภายในสิ้นปีนี้เรากำลังจะมีสวนสาธารณะเริ่ด ๆ แห่งใหม่ให้ไปเดินเล่น 

‘สวนสานธารณะ’ จะเป็นสวนบรรยากาศดีริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน บนที่ดินที่ กทม. ได้รับบริจาคชั่วคราวมาจากคนธรรมดาคนหนึ่งผู้ฝันถึงเมืองที่ดี มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวให้คนทุกวัยใช้ทำกิจกรรมได้

พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน

โครงการสวนสานธารณะ เป็นการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างชาวบ้านคลองสานทุกคน ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC), we!park, BMA, BIG Trees และ ยังธน หลังจากที่ทีมงานทำกระบวนการในพื้นที่ ทั้งพูดคุย จัดกิจกรรม ทำเวิร์กช็อปกันมาแรมปี ในที่สุดสวนสานก็ออกแบบเสร็จสมบูรณ์ และจะก่อสร้างเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นปี 2023

ในอนาคตอันไม่ไกลเท่าไหร่ สวนสานจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น ทั้งคนในชุมชนโดยรอบและคนนอกพื้นที่ เพราะมีลานให้ทำกิจกรรมทางกาย มีสวนให้พบปะพูดคุยปฏิสัมพันธ์กัน มีพื้นที่ให้ความคิดสร้างสรรค์โลดแล่น มีโอกาสให้ความรื่นเริงได้เข้ามาทักทายชีวิต และยังทำให้คนเดินเที่ยวย่านคลองสานได้ทะลุปรุโปร่งกว่าเดิม

คอลัมน์ Public Space รอบนี้ จะพาไปฟัง ยศพล บุญสม แห่ง Shma และ we!park เล่าเบื้องหลังการออกแบบอันไม่ธรรมดา รวมถึงบทเรียนสำคัญที่ทีมทำงานได้รับจากการทำโปรเจกต์สวนสานที่ไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน

พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน

หลังจากที่โครงการ Green Bangkok 2030 ประกาศนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ด้วยที่ดินของรัฐและเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เจ้าของที่ดินย่านคลองสานรายหนึ่งก็ได้ยินข่าวและสนใจจะมอบพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขามีในครอบครองให้ กทม. ใช้เป็นการชั่วคราว

คลองสานเป็นย่านที่น่าสนใจมาก ๆ ย่านหนึ่ง คำว่า ‘คลองสาน’ มาจากการที่มีคลองสานกันเยอะ สมัยก่อนเรือสินค้าก็จะสัญจรเส้นทางนี้กันมากมาย และแวะโหลดของเข้าโกดังแถวนี้ ซึ่งนอกจากนี้ โดยรอบก็มีศาลเจ้า โรงเกลือ โรงน้ำปลาตั้งอยู่ไม่ไกลด้วย

“จริง ๆ ในพื้นที่นี้ เมื่อก่อนมีคลองเล็ก ๆ อยู่ด้านข้างด้วยซ้ำ เรือเข้ามาโหลดสินค้าด้านในพื้นที่ได้เลย แต่ตอนนี้คลองโดนถมไป” ยศพลเล่าถึงที่ดินที่ได้มาทำพื้นที่สีเขียว ตอนนี้เหลือไว้แต่แม่น้ำเจ้าพระยาสายหลัก

พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน

เจ้าของที่ดินคนนี้อยู่ในแวดวงการทำงานพัฒนาเมืองและติดตามเรื่องพื้นที่สีเขียวมาตลอด ซึ่งที่ดินคลองสานที่ได้มานั้นเขาไม่ได้ใช้ทำอะไรเป็นพิเศษ นาน ๆ เข้าก็เลยขาดการดูแล กลายเป็นที่ทิ้งขยะ เริ่มไม่ปลอดภัย และเป็นแหล่งมั่วสุม หากจะพัฒนาพื้นที่ สถานการณ์เศรษฐกิจในตอนนี้ก็ไม่เอื้อให้เจ้าของที่ดินลงทุนทำอะไรนัก เขาจึงคิดว่าหากเข้าร่วมโครงการ ที่ดินของเขาก็คงสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อีกมากมาย

ในที่สุดเขาก็ติดต่อ กทม. ให้ทางทีมออกแบบเข้าไปช่วยดู และทำสัญญาให้ กทม. มีสิทธิเหนือการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นเวลาถึง 12 ปี 

และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สวนสาน’ สวนสวยบรรยากาศดีแห่งถัดไปของชาวกรุง

พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน

ขั้นตอนแรกหลังจากที่โชคดีได้ที่ดินสวย ๆ มาใช้อย่างเหนือความคาดหมาย ทีมทำงานก็เริ่มเข้าไปคุยกับชุมชนโดยรอบและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไร หากที่ดินตรงนี้จะกลายเป็นสวนในอนาคต

“ชุมชนเขามีความไม่แน่ใจ เจ้าของที่ดินให้จริงเหรอ จะเกิดขึ้นได้จริงไหม พัฒนาได้จริงรึเปล่า” เหมือนว่าทุกคนกลัวว่าใครจะมา ‘ขายฝัน’ ก่อนเฉลยว่าต้องแลกกับอะไรบ้าง การทำให้เชื่อมั่นจึงเป็นภารกิจหนึ่งที่ทีมทำงานจะต้องให้ความสำคัญ

พวกเขาเริ่มด้วยการจัดกิจกรรมกระตุ้น ในความร่วมมือของชุมชน สำนักงานเขต มหาวิทยาลัยในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มี Pop-up Park ด้วยทุนของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งนำไปสู่การระดมความเห็น มีการจัดเวิร์กช็อป ชวนนักศึกษาเข้ามาดูพื้นที่และทำแบบนำเสนอ บางกลุ่มก็เข้ามาจัดกิจกรรมเดินย่าน เล่าประวัติศาสตร์ย่าน ชวนเด็ก ๆ ในชุมชนมาเตะฟุตบอล มาทำกิจกรรมแยกขยะกับนักศึกษา บ้างก็ฉายหนังกลางแปลง บ้างก็ให้เยาวชนในย่านมาแสดงดนตรี

พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน
พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน

“เราดึงคนนอกมากระตุ้นคนใน พยายามดึงสิ่งที่ย่านมีมาเป็นองค์ประกอบในการสร้างสวน” ยศพลว่า

กิจกรรมเหล่านั้นมีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากทำเพื่อความคุ้นเคยกันแล้ว คนในย่านก็จะเริ่มเห็นศักยภาพในการทำกิจกรรมของพื้นที่สวน และเชื่อมั่นว่าโครงการจะเกิดขึ้นจริงได้ จากเดิมที่มีคนเข้าร่วมหารือสัก 10 คน ก็ค่อย ๆ เพิ่มมาเป็น 20 คนโดยที่ไม่ทันรู้ตัว ส่วนฝั่งทีมทำงานก็จะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วชุมชนต้องการอะไร

‘พื้นที่ไม่ปลอดภัย’ เป็น Pain Point แรกที่ทีมทำงานได้รู้จากการพูดคุยกับชุมชน อย่างที่ได้เล่าไปตอนต้นว่าพื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งมั่วสุม

‘ในชุมชนยังขาดพื้นที่ทำกิจกรรม Active และเล่นกีฬา’ ตามมาเป็นข้อสอง ตอนนี้ทุกคน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ต้องเดินไปใช้ที่สวนสมเด็จย่า ซึ่งที่นั่นก็เน้นกิจกรรม Passive มากกว่า

2 ข้อที่ว่า เป็นสิ่งที่ทีมทำงานจะต้องนำไปคิดต่อ ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ที่ผุดมานั้นมาจากคนนอกที่เห็นโอกาสของพื้นที่ เช่น นักศึกษา ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นักท่องเที่ยว หรือกลุ่มที่ทำเรื่องประวัติศาสตร์ย่านเห็นว่าตรงนี้จะเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ยึดโยงกับชุมชนได้ 

น่าตื่นเต้นว่ากลุ่มอื่น ๆ อย่างคนขี่จักรยานท่องเที่ยว คนทำร้านกาแฟ คนเล่นบอร์ดเกม ก็อยากจะมาจอยด้วยเหมือนกัน ทุกคนเห็นว่าสวนใหม่แห่งนี้จะสนุกไปได้อีกไกล

พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน

ยศพลบอกกับเราว่าสวนนี้เริ่มมาด้วยการมุ่งแก้ปัญหาให้กับชุมชนเป็นหลัก ทำให้มีพื้นที่ปลอดภัย มีพื้นที่ทำกิจกรรม ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในชุมชน แต่ด้วยโลเคชันที่ดีมาก ทั้งมีเรื่องราวที่เล่าได้และมีต้นทุนทางวัฒนธรรมให้เลือกสรร พื้นที่นี้จึงต่อยอดให้ผู้คนข้างนอกได้เข้ามามีประสบการณ์ร่วมกันได้ โดยยังให้ความเคารพกับวิถีชุมชนในพื้นที่

“คนในคือเจ้าบ้าน สร้างกฎ กติกา มารยาทในการใช้สวนได้ เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธคนนอก มันจะดีถ้าทำได้อย่างสมดุล”

‘สวนสาน’ เป็นชื่อที่เรียกกันตั้งแต่ทำกิจกรรมแรก ๆ ด้วยไอเดียว่าเป็นสวนในเขตคลองสานที่มีคลองสานกันมากมาย และหมายถึงสานสัมพันธ์ชุมชนให้มาทำงานร่วมกัน พอ ‘สวนสาน’ แล้ว ก็พ้องไปกับคำว่า ‘สวนสาธารณะ’ จึงออกมาเป็นชื่อเล่น ‘สวนสานธารณะ’ ในปัจจุบัน ซึ่งคงจะได้มีโอกาสตั้งชื่อจริงในโอกาสถัด ๆ ไป ตามความเห็นชอบของคนในพื้นที่

ตอนนี้ออกแบบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้นไม้เดิมอย่างต้นไทร ต้นจามจุรี ที่เก็บไว้ได้เกือบทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมรุกขกรรมไทยมาช่วยตัดแต่งอย่างเหมาะสม ทั้งยังเพิ่มสวนสมุนไพรสำหรับชุมชนเข้าไปในพื้นที่ด้วย

มีการนำลานอเนกประสงค์มาไว้ตรงกลาง ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นลานที่มีฟังก์ชันยืดหยุ่น ใช้ทำอะไรก็ได้ กิจกรรม Active เล่นกีฬาต่าง ๆ ที่เคยขาด ชาวชุมชนก็จะมาใช้ที่นี่ได้ กิจกรรมแห่งความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ก็จัดที่นี่ได้ ส่วนโซนอื่น ๆ ของสวนก็จะแบ่งไปตามประเภทการใช้งานและผู้ใช้งาน เช่น สวนนั่งพักผ่อน สวนของผู้สูงอายุ สนามเด็กเล่น

พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน
พลิกที่ดินบริจาคของผู้หวังดี เป็น ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำ ณ คลองสาน

ทีมภูมิสถาปนิกได้ออกแบบให้เปิดมุมมองไปสู่อาคารเก่าที่หลงเหลืออยู่ในไซต์และรอบไซต์เพื่อชูประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยนอกอาคารโกดังได้นำมาใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม เสวนางานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ด้วย

องค์ประกอบที่ทำให้สวนสานมีคาแรกเตอร์โดดเด่น จำง่าย ก็คือ ‘ลู่วิ่ง’ ที่จะพันเกี่ยวเลี้ยวลดไปตามไซต์ สมชื่อสวนสานที่ตั้งไว้ 

ไม่เพียงมีไว้รองรับคนฟิตที่ออกมาวิ่งเช้าเย็นอย่างเดียว แต่ลู่วิ่งจะเป็นตัวเชื่อมพื้นที่แต่ละหย่อมของสวนเข้าด้วยกัน ทั้งยังทำให้สวนไม่มีมุมอับ จะมุมไหนก็มีคุณพี่นักวิ่งไปสำรวจตรวจตราทั้งนั้น

“เราพยายามทำให้จุดที่อยู่ติดด้านแม่น้ำค่อนข้างเปิดโล่ง ไม่มีต้นไม้ปิดทึบ และรับลมจากแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มที่” ยศพลตอบคำถามว่าภูมิสถาปนิกได้ใช้ประโยชน์จากการที่ไซต์อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยายังไงบ้าง “แล้วข้อดีก็คือเราเปิดรั้วให้เชื่อมกับสวนริมแม่น้ำที่เขตเคยทำไว้ให้เป็นพื้นที่เดียวกัน”

“พี่ว่าคนทั่วไปที่มาสวนสานก็คงไม่ได้ตรงมาที่สวนนี้อย่างเดียว อาจจะลงเรือที่ท่าดินแดง แวะซื้อของกินอร่อย ๆ ในย่าน เดินมาสวนสาน แล้วก็ไปดูโรงเกลือข้าง ๆ ทะลุไปศาลเจ้าแม่ทับทิม ไปตรอกดิลกจันทร์ เดินไปสวนสมเด็จย่า แล้วก็ข้ามสะพานด้วนไปปากคลอง มันน่าจะเป็นเส้นทางที่มีทั้งสวน ชุมชน วัฒนธรรม ของกิน คนนอกน่าจะมองมันเป็นเหมือนทริปนะ”

นี่ก็คือจุดแข็งของสวนสานในมุมของยศพล

ฟังเบื้องหลังความร่วมมือของหลายภาคส่วน ในการพัฒนา ‘สวนสาน’ ตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ จนถึงการวางระบบดูแลสวนในระยะยาว

ถัดจากความท้าทายตอนแรกเริ่ม ซึ่งคือความเชื่อมั่นของชาวชุมชน สเตปต่อมาก็คือ “แล้วใครจะมาดูแลสวน”

เหมือนเป็นปัญหาเดิม ๆ ที่เราคุ้นเคย พื้นที่สาธารณะในประเทศไทยมักจะสวยงามเรียบร้อยตอนแรกเริ่ม แต่พอเวลาผ่านไปก็กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมด้วยระบบจัดการที่ไม่ดี

“ใครจะมาเป็นกรรมการสวน ถ้าคุณป้าไม่ไหว ให้เยาวชนในย่านทำ แล้วจะเป็นใคร ถ้าไม่มี เราจะมีภาคีในพื้นที่มาช่วยบริหารหรือให้คำแนะนำดีไหม” เขาไล่ลำดับการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีการพูดคุยหาแนวทางจัดการร่วมกับชุมชนต่อไป

ขณะนี้แบบสวนได้ส่งไปที่สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาได้หลายขั้นแล้ว คาดว่าปลายปีจะได้เริ่มก่อสร้าง และเราจะได้เข้าไปเดินเล่นชมนกชมไม้ในสวนที่เสร็จสวยงามกันภายในสิ้นปี

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากเจ้าของที่ดินที่เจตนาดี ผู้คนหลายวัยในย่านคลองสานที่มาร่วมเขียนประวัติศาสตร์ไปด้วยกัน และภาคีเครือข่าย ๆ ต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้สวนสานธารณะแห่งนี้เปิด็

ฟังเบื้องหลังความร่วมมือของหลายภาคส่วน ในการพัฒนา ‘สวนสาน’ ตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ จนถึงการวางระบบดูแลสวนในระยะยาว

ยศพล รวมถึงทีมงานทุก ๆ คนหวังไว้ว่าสวนสานจะเป็น Node ใหม่ของย่านคลองสาน และช่วยเสริมให้เกิดเป็นเน็ตเวิร์ก ให้คนเดินย่านกันได้ทั่วถึง ทะลุทะลวงมากกว่าเดิม เขาหวังให้สวนสานตอบแนวคิดสวน 15 นาที เพื่อให้คนในชุมชนได้ประโยชน์ และหวังว่าตำแหน่งของสวนจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ชุมชนโดยรอบมากขึ้น ทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสุขภาวะ โอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์ในชุมชน

ประเด็นสำคัญคือสวนสานจะต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี หากทำเพียงรดน้ำต้นไม้แบบพื้นฐาน ไม่มีกิจกรรม และขาดการบริการจัดการร่วมกับชุมชน สวนก็จะใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มศักยภาพ แต่หากจัดการได้ดี ก็จะเกิดเป็น ‘สวนสานโมเดล’ ที่หมายถึงการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเจ้าของบริจาคให้ใช้ชั่วคราว และมีกระบวนการในการพัฒนาและดูแลอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเกิดผลดีเป็นที่ประจักษ์ในภายหลัง

“มีคนที่ต้องการบริจาคให้ใช้ที่ดินชั่วคราวแบบนี้เยอะ แต่หลาย ๆ ครั้งเจ้าของที่ดินก็ไม่มั่นใจว่าถ้าให้ไปแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน”

ยศพลบอกว่าทางทีมทำงานก็ส่งภาพกิจกรรมและความคืบหน้าต่าง ๆ ให้เจ้าของที่ดินสวนสานตลอด เพื่อให้เขารู้สึกเชื่อมั่นว่ากิจกรรมทุกอย่างนั้นทำเพื่อชุมชนจริง ๆ และสุดท้ายพื้นที่ของเขาจะทำให้เมืองเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นตามที่เขาตั้งใจไว้แต่แรก ซึ่งเขาก็รู้สึกขอบคุณมาก ๆ เสมอกับสิ่งที่ทุกคนทำ 

ฟังเบื้องหลังความร่วมมือของหลายภาคส่วน ในการพัฒนา ‘สวนสาน’ ตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ จนถึงการวางระบบดูแลสวนในระยะยาว

หากจะแนะนำได้สักอย่าง ยศพลอยากให้ กทม. ตระหนักว่าควร ‘ลงทุน’ ให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ Hardware อย่างการให้งบสร้างหรืองบรดน้ำต้นไม้เท่านั้น แต่หมายถึง Software อย่างการออกแบบระบบและกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างละเอียดอ่อน สนับสนุนเรื่องกิจกรรมในพื้นที่ให้มาก

“ไม่อยากให้สวนสานเป็นสวนที่สวยงามแล้วหยุดนิ่ง แต่อยากให้เป็นสวนที่มีไดนามิกของกิจกรรม ของวิถีชีวิต ของคนในพื้นที่ ของคนนอกที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์” ยศพลกล่าว เขาพูดถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของคนทุกรุ่น ทั้งเยาวชน ทั้งรุ่นคุณลุงคุณป้า เขาอยากให้ที่นี่เป็นสวนร่วมสมัยที่ผู้คนภายนอกมีอิสรภาพในการใช้พื้นที่ร่วมกับชุมชนอย่างสมดุล

“อยากให้เป็นสวนที่มีชีวิต ปรับเปลี่ยนหรือทำอะไรได้หลากหลายเกินกว่าจะนึกไปถึง ให้สวนเป็นแค่พื้นที่กระตุ้นให้ผู้คนได้คิดฝันว่าอยากทำอะไรต่อไปในอนาคต”

ขอบคุณการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร, สำนักงานเขตคลองสาน, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), ภาคีเครือข่ายคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการออกแบบ (IDDC) มหาวิทยาลัยศรีปทุม, ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC), we!park, ยังธน, BIG Trees และสมาคมรุกขกรรมไทย

ภาพ : Shma, we!park, City Cracker

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน